ฟินแลนด์ตัดสินใจยุติการทดลองจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน หรือ Universal Basic Income ในปีนี้

นับแต่ต้นปี 2017 ชาวฟินแลนด์ 2,000 คน ได้รับเงินจากรัฐบาล 560 ยูโร (21,5000 บาท) ในแต่ละเดือน กินระยะเวลานานสองปี (ปี 2017-2018) กลุ่มทดลองเหล่านี้มีอายุระหว่าง 25-58 ปี ทั้งหมดคือคนว่างงานซึ่งถูกสุ่มมาโดย Kela ซึ่งเป็นสถาบันประกันสังคมของฟินแลนด์ และหากใครสามารถหางานทำได้ในระหว่างการทดลองนี้ พวกเขาก็จะยังได้รับเงินก้อนดังกล่าวอยู่

การทดลองนี้มาจากแนวคิดเรื่องการจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน หรือ Universal Basic Income ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฮือฮามาก่อนหน้านี้แล้ว และการเริ่มต้นทดลองใช้จริงในฟินแลนด์ก็กลายเป็นข่าวที่ทำให้หลายประเทศตื่นเต้นและติดตาม

แต่หลังจากทดลองมาได้หนึ่งปี ดูเหมือนว่ารัฐบาลฟินแลนด์จะไม่ซื้อไอเดียนี้ และปฏิเสธให้งบเพิ่มเติมแก่ Kela ที่จะนำไปใช้ขยายระยะเวลาทดลองที่เดิมคาดว่าจะขยายผลไปสู่กลุ่มคนมีงานทำด้วย และยืนยันว่า การจ่ายเงินสำหรับผู้เข้าร่วมการทดลองปัจจุบันจะยุติลงในเดือนมกราคมปีหน้า

แนวคิด UBI เริ่มแพร่หลายในแวดวงการเมืองฝ่ายซ้ายในฟินแลนด์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s หลักๆ เพื่อเป็นหนทางในการรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลง เพื่อให้อิสระกับบรรดานักเรียน ผู้สูงอายุ พ่อแม่ที่ต้องอยู่ที่บ้าน และคนทั่วไป ได้มีโอกาสออกไปทำสิ่งที่มีประโยชน์กับสังคม เช่น การเป็นอาสาสมัคร

ปัจจุบัน แนวคิดนี้ไม่เพียงดึงดูดใจฝ่ายซ้ายซึ่งเชื่อว่า UBI จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่อาจจะเป็นหนทางรับมือกับภัยคุกคามในอนาคตที่เกิดจากการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้ตำแหน่งงาน 1 ใน 3 ในโลกตะวันตกหายไปภายใน 20 ปี

ผู้ประกอบการที่แสดงท่าทีสนับสนุน UBI ก็อย่างเช่น อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ คริส ฮิวจส์ ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก และเรย์ เคิร์ซเวล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมแห่งกูเกิล

แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การทดลองในฟินแลนด์นี้ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น UBI อย่างที่สื่อหลายๆ แห่งถ่ายทอดออกไป

“การทดลองจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบ จะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันหลายๆ กลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มคนว่างงานเท่านั้น และยังต้องทดสอบรายได้ขั้นพื้นฐานในหลายระดับ และดูปัจจัยต่างๆ ภายในท้องถิ่นด้วย

“โครงการนี้ที่จริงแล้วเป็นการดูว่ารายได้ขั้นพื้นฐานที่ได้รับมาอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อกลุ่มคนว่างงานเหล่านี้ ในด้านอัตราการมีงานทำ” มาร์กุส คาเนร์วา ผู้ชำนาญการด้านสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ แห่งสำนักนายกรัฐมนตรีในเฮลซิงกิ กล่าว

การทดลองนี้เริ่มขึ้นโดยรัฐบาลฝ่ายขวาซึ่งใช้งบประมาณราว 20 ล้านยูโร โดยที่จริงแล้ว มีจุดมุ่งหมายหลักๆ มุ่งไปที่การตัดลดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมและลดอัตราการว่างงานของฟินแลนด์ที่สูงถึง 8% โดยคาดหวังว่าการให้รายได้ขั้นพื้นฐานนี้จะดึงดูดให้ประชาชนออกไปหางานทำ มากกว่าจะคอยรับแต่สวัสดิการด้านต่างๆ ของรัฐ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมองว่าสูงเกินไปจนทำให้คนไม่อยากหางานทำ เพราะกลัวเสียสิทธิที่มี

ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้อาจจะยังแคบอยู่ ผู้ออกแบบโครงการมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้มาจะตอบคำถามด้านนโยบายทางสังคมที่สำคัญหลายประการ เช่น บันทึกการรับบริการด้านสุขภาพอาจแสดงให้เห็นว่ารายได้ที่ได้มาอย่างไร้เงื่อนไขเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อความกังวล การใช้ยา และการเข้ารับการรักษากับแพทย์

นอกจากนี้ข้อมูลนี้อาจทำให้รัฐบาลสามารถนำไปออกแบบโครงการประกันสังคมฟินแลนด์ที่แสนซับซ้อนในปัจจุบันเสียใหม่ จากเดิมที่มีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันมากถึง 40 อย่าง อันไม่สอดคล้องกับรูปแบบตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมักจะเป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา สัญญาจ้างแรงงานระยะสั้น หรือการทำงานแบบสตาร์ตอัป

“ประเทศเรามีสิทธิประโยชน์หลายแบบเกินไป ประชาชนไม่เข้าใจว่าพวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง และทำอย่างไรถึงจะได้รับสิทธิเหล่านั้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่เข้าใจเลย ยกตัวอย่างคนที่ทำงานอิสระ เป็นเรื่องยากมากที่จะเข้ามาอยู่ในระบบสิทธิประโยชน์นี้ เพราะคุณต้องพิสูจน์รายได้ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า” มารยุกกะ ตูรูเนน (Marjukka Turunen) หัวหน้าแผนกกฎหมายแห่ง Kela กล่าว

นอกจากจะไม่ต่ออายุการทดลอง UBI เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐสภาฟินแลนด์ยังออกกฎหมายที่นำระบบสวัสดิการของประเทศไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยกำหนดว่า คนว่างงานที่กำลังหางานทำจะต้องทำงานอย่างน้อย 18 ชั่วโมงในช่วงสามเดือน ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียสิทธิประโยชน์บางอย่างไป อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังวางแผนโครงการใหม่หลังจบการทดลองนี้

“เราจะทดลองระบบ Universal Credit” เปตเตรี ออร์โป (Petteri Orpo) กล่าวอ้างอิงถึงระบบที่ใช้อยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งรวบรวมสิทธิประโยชน์รูปแบบต่างๆ และเครดิตภาษีของประชาชนมารวมไว้ในบัญชีเดียว เพื่อลดความซับซ้อนของการสมัครและลงทะเบียน รวมทั้งยังลดงบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยมีในระบบสวัสดิการที่แตกต่างกัน

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Tuomas Forsell

ที่มา:

Tags: , , , , , ,