ก่อนอื่น ท็อปลิสต์นี้เลือกจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเท่านั้น โดยพยายามเลือกจากหนังที่สร้างในช่วงปี 2017 – 2019 ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ทั้งในโรงปกติ เทศกาลภาพยนตร์ แกลเลอรี่ต่างๆ รวมถึงเว็บสตรีมมิ่งในประเทศไทย โดยลิสต์นี้เป็นจัดทำขึ้นจากความชอบส่วนตัวของผู้เขียนมากกว่าการชี้วัดคุณงามความดีของภาพยนตร์เรื่องใดๆ

  1. Season of the Devil (2018, Lav Diaz, Philippines)

ภาพยนตร์ที่เป็นดังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางศิลปะของ Lav Diaz ที่มีต่อการเรืองอำนาจของประธานาธิบดีดูแตร์เตและการประกาศสงครามยาเสพติดของเขาที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอนผู้คนจำนวนมาก หนังเล่าถูกย้อนกลับไปในขวบปีอันยากเข็ญใต้กฎอัยการศึกของมาร์กอส เจ้าหน้าที่รัฐไล่ฆ่าผู้คนตามหมู่บ้านแปะป้ายว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ปล่อยข่าวว่ามีผีดูดเลือดอยู่ในป่า ชาวบ้านตายลงอย่างลึกลับเพราะภูติผีออกอาละวาด หน่วยทหารตั้งอยู่ในหมู่บ้านเผยแผ่เกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของท่านผู้นำ

ฮิวโก้เป็นกวีดาวรุ่งที่เดินทางมาหมู่บ้านเพื่อตามหาคนรักที่มาเป็นหมออาสาแล้วหายตัวไปเขาผูกสัมพันธ์กับหญิงบ้าที่สูญเสียลูกและสามีในเหตุประท้วงเดือนมีนาคม และปัญญาชนประจำหมู่บ้านที่มีเพียงหนังสือและปากกาเป็นอาวุธ ในโลกที่ทหารมีปืน มีอำนาจจะทำให้ใครหายไปก็ได้ ด้วยวิธีการใดก็ได้

หนังเป็นทั้งถ้อยแถลงและโศกนาฏกรรม ที่รุนแรงสุดขีดคือหนังเป็นหนังเพลง ตลอดทั้งเรื่องทุกตัวละครจะไม่พูด แต่ร้องเพลง เพลงที่แต่งขึ้นใหม่โดยตัวเขาเอง เพลงสรรเสริญเผด็จการ เพลงที่เป็นเสียงครางอันเจ็บปวดของผู้คน เพลงที่เป็นแถลงการณ์อันไม่ยอมจำนนในหนังเรื่องนี้ 

กวีพบว่าบทกวีจะไม่มีอำนาจอะไรเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ศิลปินไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่ถูกควบคุมโดยปีศาจได้หรือเปล่า การสำรวจตรวจสอบภาวะของศิลปินว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ ไม่ใช่เพียงเพราะไม่มีคนรัก แต่เพราะไม่มีความดีงามเหลืออยู่ในโลกนี้ ถึงกระนั้นก็ตามกวีก็ต้องทำงานของตนต่อไป งานของเขาคือการประกาศความจริงว่าเราอยู่อาศัยในยุคสมัยของปีศาจ ในหนังเรื่องนี้มีเพียงบทกวี และถ้อยแถลงของท่านผู้นำเท่านั้นที่ไม่ถูกใส่ท่วงทำนอง มีเพียงสิ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกันเท่านั้นที่ไม่ใช่เสียงคร่ำรวญ และนั่นคือพลังของกวี ของศิลปะ

  1. The End of The Track (1970, MOU Tun-fei, Taiwan)

ผู้คนโดยเฉพาะชาวเอเซียอาจรู้จัก Mou Tun-Fei ในฐานะของคนทำหนังบ้าระห่ำจากฮ่องกง เจ้าของหนังอย่าง จับคนมาทำเชื้อโรค (Men Behind The Sun) หนังที่ชวนขยะแขยงที่สุดเรื่องหนังของโลกที่ว่าด้วยกองทัพญี่ปุ่นจับชาวจีนมาทดลองโดยมุ่งเน้นขายภาพสยองขวัญของการทำการทดลอง หรือ Lost Souls หนังว่าด้วยแรงงานอพยพที่เต็มไปฉากรุนแรงทั้งการฆ่าและการข่มขืน Mou Tun Fei เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปีนี้ มันอาจพิลึกประหลาดที่โลกจดจำเขาแบบนั้น แต่ก่อนที่จะตายไปโดยไม่ตอบคำถาม โลกได้จดจำเขาในแบบอื่นด้วย

เขาทำหนังในไต้หวันสองเรื่องนั่นคือ I Didn’t Dare To Tell You (1969) และ End of the Track (1970) โชคร้ายที่หนังสองเรื่องนี่ไม่เคยได้รับการฉายอย่างเป็นทางการในไต้หวันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยความผิดหวังในวงการภาพยนตร์ เขาออกจากไต้หวันไปเดินทางโดยไม่ได้กลับมาอีก จนถึงปี 1977 เขาย้ายไปอยู่ฮ่องกง กำกับหนังให้ Shaw Brothers ซึ่งโดยมาเป็นหนังแกงค์สเตอร์ หนังโหดเหี้ยมตื่นเต้นเหล่านี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างที่เขาเป็น 

ว่ากันว่าหนังสองเรื่องในไต้หวันของเขานั้นขึ้นบัญชีหนังสูญหายไปตลอดหลายสิบปี ร่องรอยเดียวที่มีคือการที่หนังถูกเขียนถึงในนิตยสารภาพยนตร์เล่มหนึ่งเพียงชิ้นเดียว และอาจจะมาจากเพื่อนพ้องที่มีโอกาสได้ดูหนังของเขาก่อนที่มันจะออกฉายแล้วไม่ได้ฉายเพราะโดนแบน โดนตัดต่อแก้ไขโดยที่ไม่มีเหตุผลชัดแจ้งถึงการแบน บางคนบอกว่า อาจจะเพราะหนังมีบรรยากาศโฮโมอีโรติก บางคนบอกว่าแม้หนังจะไม่ตรงไปตรงมาแต่ก็มีท่าทีวิพากษ์รัฐบาลก๊กมินตั๋ง 

ไม่มีใครรู้ Mou ไม่เคยปริปาก อันที่จริงเขาไม่เคยพูดถึงหนังสองเรื่องนี้ หลายปีต่อมาจากงานเขียนชิ้นนั้น นำไปสู่การค้นพบฟิล์มของหนังสองเรื่องนี้ในหอภาพยนตร์ไต้หวัน ว่ากันว่าตลอดสี่สิบปี คนที่ได้ดูคงมีเพียงคนที่เช็กฟิล์มในหอภาพยนตร์เท่านั้น หนังถูกนำมา digitalize อีกครั้ง Mou ที่ตอนนี้อยู่อเมริกา เป็นคนประหลาด ทีมงานเทศกาลหนังสารคดีไต้หวัน TDIF พยายามติดต่อเขาเพื่อนำหนังมาฉายแต่เขาไม่ยอมตอบอะไรมากนัก ไม่รับเชิญมางานฉายหนัง ไม่ได้ต้องการค่าฉาย เขาบอกเพียงดีใจที่หนังได้ฉาย และอนุญาติให้ฉาย หนังจึงออกเดินทางไปกับโปรแกรมหนังทดลองของไต้หวันในช่วงปี 2018 และเพิ่งฉายไปในไม่กี่ประเทศเท่านั้น

และนี่คือหนังที่งดงามที่สุด จนน่าเสียใจที่หนังไม่เคยถูกพบเห็นเลยตลอดสี่สิบปีมานี้

หนังเล่าเรื่องของ หย่งเซิน และไช่ถัง คู่หูวัยแรกรุ่น คนหนึ่งเป็นลูกชายร้านบะหมี่ อีกคนเป็นลูกชนชั้นกลาง สองคนแทบจะตัวติดกัน ทั้งในเวลาเรียน และหลังเลิกเรียน ครึ่งแรกของหนังติตดามความสัมพันธ์ของเพื่อนรัก ที่อวลไปด้วยกระอายความโฮโมอีโรติก ทั้งคู่ชอบเข้าไปเล่นด้วยกันในเหมืองร้างข้างๆ โรงเรียน ไปทะเล น้ำตก เปลือยกายเล่นน้ำวิพากษ์เรื่องก้นของกันและกัน คลุกคลีต่อยตีกอดรัดในโคลน บนชายหาด ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของลูกผู้ชายที่เหมือนทั้งโลกมีแค่กันและกัน จนวันหนึ่งด้วยอุบัติเหตุบางอย่างพวกเขาพลัดพรากจากกันทิ้งไว้เพียงความสำนึกบาปอันท่วมท้นจนชดใช้ไม่หมด

หนังเคลือบคลุมด้วยบรรยากาศโฮโมอีโรติก โดยไม่ยอมขยับลงลึกไปกว่านั้น ความสูญเสียนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเป็นพลเมืองดีที่ก๊กมินตั๋งกำกับให้นักเรียนสมัยนั้นท่องจำดังค่านิยมสิบสองประการ แต่ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นคือการชดใช้ของตัวละครที่มีต่อเพื่อนต่างชนชั้นของเขา ยังฉายภาพทางตันของการเข้าแทนที่ของชนชั้นกลางที่อยากไถ่บาปแทนชนชั้นล่างซึ่งไม่สามารถทำได้อีกด้วย 

หนังเข้าฉายสองครั้ง ครั้งแรกในโปรแกรมพิเศษที่หอภาพยนตร์ศาลายา และอีกครั้งในเทศกาลสารคดีไต้หวันครั้งที่สอง 

  1. Srbenka (2018, Nebojša Slijepčević, Croatia)

หนังสารคดีที่ว่าด้วยกระบวนการทำละครเวทีในโครเอเชีย หนังเริ่มจากการสัมภาษณ์คนเซอร์เบียที่โดนบุลลี่ในโครเอเชีย สองประเทศที่ขัดแย้งรุนแรงในสงครามช่วงต้นเก้าศูนย์ส่งผลให้คนเซอร์เบียโดนเกลียดชังและถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรงในโครเอเชียจนถึงปัจจุบัน 

ตัวหนังเกือบทั้งหมดคือการติดตามการซ้อมละครที่สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ว่าด้วยคนโครเอเชียบุกเข้าไปในบ้านคนเซอร์เบียแล้วฆ่ายกครัว หนังทั้งเรื่องไม่มีการพูดย้อนถึงเหตุการณ์นั้น แต่เราจะได้เห็นการซักซ้อมของผู้กำกับกับนักแสดง ความคับข้องใจของนักแสดง การประท้วงของคนโครเอเชียชาตินิยมที่มองว่าการขุดเรื่องนี้คือการทำลายชาติ หนังค่อยๆ เปิดเผยว่าผู้กำกับพยายามบีบคั้น รีดเค้นนักแสดงอย่างบ้าคลั่ง ด้วยถ้อยคำ ท่าทางและการตอบโต้ของนักแสดงกระบวนการซักซ้อม การย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์เพื่อตีความตัวละครของนักแสดง กลายเป็นการตีความประวัติศาสตร์ ตีความชาตินิยมฮิสทีเนียที่ทำให้คนลงเอยก้วยการฆ่ากันได้ 

หนังมีนักแสดงคนหนึ่งที่มาทดสอบบทและค่อยๆ เปิดเผยว่าเธอเป็นคนเซิร์บ และผู้กำกับถามว่าเธอกล้าไหมที่จะพูดว่าตนเป็นคนเซิร์บต่อหน้าผู้ชมบนเวที มันอาจเป็นภัยต่อเธอ และมันเป็นการยอมรับประวัติศาสตร์บาดแผลด้วย หนังชวนผู้หญิงที่โดนสัมภาษณ์คนแรกมาดูการแสดง และทำให้เห็นว่าเราสามารถเห็นร่องรอยอคติ เห็นโลกจำลองอันบ้าคลั่งของการเหยียดมนุษย์ด้วยกันเองในเรื่องที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเช่นการซ้อมละคร

หนังไม่ให้เราดูละครจริงๆ ด้วยซ้ำ หนังจ้องรีแอคชั่นของผู้กำกับที่จะต่อสู้กับอคติต่างๆ  การพยายามเอารีวิวด่าทั้งที่ยังไม่เล่นมาต่อสู้บนเวทีและทำให้นักแสดงสงสัยว่านี่คือการต่อสู้ทางความเหยียดผิวหรือการสู้เพื่ออัตตาตัวเองกันแน่

ฉากจบของหนังเป็นการตามนักแสดงหญิงชาวเซิร์บออกจากโรงละครเป็นฉากง่ายๆ ที่เศร้าและทรงพลังมากๆ เมื่อเราเห็นเธอเดินคนเดียวลับไปจากสายตากล้องในท้องฟ้ายามเย็น

หนังฉายในเทศกาล Signes de Nuit in Bangkok ครั้งที่ 5 

  1. My Echo, My Shadow and Me (2019, วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย, ไทย)

สารคดีที่ต่อยอดจากโครงการ Connect Klongtoey ที่ครูในชุมชนคลองเตยชวนศิลปินเข้าไปสอนเด็กๆ ในชุมชน มีสามคอร์สคือ แรป ออกแบบเสื้อผ้า และถ่ายรูป ซึ่งเป็นโครงการที่งดงามมากๆ เพราะมันเป็นการทดลองการศึกษาทางเลือกว่าเด็กทุกคนไม่ควรต้องเรียนเหมือนกัน โดยไปเริ่มในชุมชนที่เด็กๆ ยากลำบากมากๆ ดีกว่าเริ่มจากเด็กที่มีฐานะ แล้วยิ่งฉายให้เห็นประกายของผู้คนว่ามีอยู่ในทุกที่จนชีวิตและความทุกข์จะค่อยๆ พรากไป

ตัวสารคดีคือการเอาภาพถ่ายจากเวิร์กช็อปที่แจกกล้องเด็กไปถ่ายชุมชนของตัวเอง มาวางทาบกับ การสนทนาของคนทำหนังกับเจ้าของภาพ ซึ่งน่าตื่นเต้นมากๆ เพราะคนทำเข้าใกล้ผู้คนที่เขาสัมภาษณ์มากๆ พูดคุยเหมือนเพื่อน แล้วซับเจคต์ก็พรั่งพรูสิ่งต่างๆ ออกมาอย่างตรงไปตรงมาและงดงาม บทสนทนาในเรื่องตัดข้ามความยากจน ยาเสพติด การตกงาน ความรุนแรงไปหมด เพื่อเปิดเผยชีวิตจริงๆ ของเด็กวัยรุ่นที่มีเลือดเนื้อ 

จากบทสัมภาษณ์แรก พอชิ้นที่สองก็ให้เด็กอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนซึ่งก็เขียนออกมางดงามเช่นกัน แล้วค่อยๆ คุยกันถึงสิ่งที่เขียนออกมา ชีวิตก็ค่อยๆ ซึมออกมาจากบทสนทนานั้น ส่วนอันที่สามเจ็บปวดสุดขีดเพราะเป็นภาพถ่ายของเด็กที่ตอนนี้ไม่อยู่ในชุมชนแล้ว เด็กลูกครึ่งแรงงานอพยพที่ถูกเลี้ยงเข้มงวดเพื่อให้ก้าวพ้นจากความจน จนตัดสินใจหนีไปตายดาบหน้าแทน เสียงจึงเป็นการคุยกับครูที่สนิทกับเด็กคนนั้นแทน กลายเป็นเสียงเล่าของเด็กที่ไร้เสียงเหลือเพียงสายตาผ่านภาพที่เขาบันทึกไว้ในกล้องเป็นเครื่องยืนยันว่าเขาเคยดำรงอยู่

เรื่องที่ทำให้ยิ่งเจ็บปวดคือการที่ชุมชนคลองเตยกำลังโดนรื้อไล่ที่ในอีกปีสองปีนี้ ภาพของหนังที่เป็นการถ่ายเล่นเลยเป็นการบันทึกภาพชุมชนที่กำลังสาบสูญไปเพื่อความรุ่งเรื่องของเมืองเทวดา ภาพเหล่านี้จะเป็นหลักฐานสำคัญในอนาคต

  1. หน่าฮ่าน (2019, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ, ไทย)

เรื่องของยุพินและผองเพื่อนแกงค์ผู้สาวขาเลาะวัยมัธยมปลาย ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก้าวข้ามจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ เทอมสุดท้ายของมัธยมปลาย หลังจากใช้ชีวิตดิบๆ ดีๆ ตามหน่าฮ่านหมอลำมาตลอด และสัญญากันว่าจะเต้นหน่าฮ่านไปจนกว่าใครสักคนจะมีลูกมีผัวไป ซึ่งก็มีคนมีลูกไปจริงๆ พวกเธอจึงสัญญากันว่าจะไปเต้นหน่าฮ่านเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจบม.ปลายที่งานหมอลำใหญ่ในตัวเมืองอุดร

กล่าวตามจริง เราอาจนับได้ว่านี่คือหนัง road movie ที่บันทึกห้วงชีวิตของวัยรุ่นชาวบ้่านในอีสานยุคร่วมสมัย ในความเป็นหนังเดินทาง หนังมุ่งหมายบันทึกความรื่นรมย์ของชีวิต ความสนุกสนาน บ้าบอและทรงพลังของการเป็นวัยรุ่นซึ่งทุกๆ คนจะเป็นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องมีเส้นเรื่องที่มากกว่านั้น หน่าฮ่านจึงเป็นหนังที่เคลื่อนออกจากการเป็นหนังตลกวัยรุ่นสู่หนังที่คุกรุ่นอัดแน่นไปด้วยพลังของการฉายภาพชีวิตผู้คนตลาดล่าง ในฐานะของคนที่ไม่ได้ดีหรือเลวร้ายไปกว่าคนตลาดบน เพียงแค่พวกเขา เชื่อ ใช้ชีวิต และมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกันกับคนที่ครอบครองเรื่องเล่ากระแสหลักของสังคมนี้เท่านั้นเอง

  1. Stranger From Hell (2019, Lee Chang-hee, South Korea) TV Series 10 EP

เด็กหนุ่มเข้ามาหางานทำในโซล แต่ด้วยความยากจนเลยไปลงเอยที่หอพักราคาถูกที่มีพื้นที่กว้างกว่าโลงศพเพียงเล็กน้อย เพื่อนร่วมแฟลตก็ดูมีท่าทางแปลกๆ แล้วก็มีคนหายไป แล้วดูเหมือนเขาจะถูกคุกคามจากทุกคนในนั้นที่พร้อมจะเป็นฆาตกรโรคจิตได้ทั้งสิ้น ที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานไม่ชอบขี้หน้า เจ้านายที่เป็นรุ่นพี่ก็ดูเหมือนตั้งใจจะเรียกเขามาช่วยงานเพื่อขโมยแฟนสาวของเขา ตัวแฟนสาวก็ห่างเหินเย็นชา เมื่อไม่มีพื้นที่ทั้งที่ทำงานและบ้านเขาจึงเหมือนตกอยู่ในห้องลงทัณฑ์ตลอดเวลา เขาต้องควบคุมตัวเองตลอดเวลา ตระหนักรู้ตัวเองตลอดเวลาแม้ในยามนอน การไม่มีพื้นที่ทั้งทางกายภาพและทางใจให้ผู้คนได้ปลดปล่อยตัวเองจากการถูกจ้องมอง ย่อมขับเคลื่อนผู้คนไปสู่การสูญเสียตัวเอง

นรกคือคนอื่น คนอื่นทั้งที่มีร่างและเป็นเพียงเรือนร่างไร้องคาพยพ อำนาจที่เป็นเหมือนมือที่มองไม่เห็น กำกับ กดดัน ควบคุมปัจเจกชนซึ่งไร้แรงขืนต้านในสังคมทุนนิยมที่ชูความเป็นปัจเจกเพื่อสูบเลือดเนื้อจากกปัจเจกโดยตรง Stranger From Hell ภายใต้การเป็นหนังสยองขวัญฆาตกรรมเลือดสาด จึงเป็นแบบจำลองที่น่าตื่นเต้นยิ่งสำหรับสังคมเกาหลีใต้ ไปจนถึงสังคมอื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงสังคมเผด็จการสังวาสทุนนิยมแบบสังคมไทยด้วย 

  1. Midnight Traveler (2019, Hassan Fazili, USA, QATAR, CANADA, UK)

Hassan Fazili เป็นคนทำหนังชาวอัฟกานิสถาน เขาและ Fatima ภรรยาเปิดอาร์ตคาเฟ่ในกรุงคาบูล ในปี 2015 มีคนร้องเรียนคาเฟ่ของเขาว่าผิดหลักศาสนา คาเฟ่ถูกปิด ตาลีบันขึ้นบัญชีจับตายเขาในฐานะผู้ต่อต้านศาสนา เขาและครอบครัวที่นอกจาก Fatima ซึ่งเป็นนักแสดงและคนทำหนังเช่นกัน ยังมี Nargis และ Zahra ลูกสาวสองคน หอบหิ้วหนีตายข้ามไปอาศัยในบ้านมิตรสหายในทาจิกิสถาน พวกเขาพยายามทำเรื่องลี้ภัยไปยุโรปแต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไรก็ไม่เป็นผล 

สิบสี่เดือนผ่านไป ทางการส่งตัวพวกเขากลับอัฟกานิสถานซึ่งก็คือส่งไปตาย หนังเริ่มต้นตรงนี้ ภายใต้สงครามชีวิตที่รุนแรงหนักหน่วง หนังที่บันทึกกันเองภายในครอบครัวอาจชวนให้จินตนาการถึงเรื่องราวหดหู่ การต้องได้เห็นเด็กหญิงสองคนเร่ร่อนไปยังที่ต่างๆ เติบโตขึ้นต่อหน้ากล้อง หรือการมองเห็นชีวิตที่แทบไม่เหลือคำว่าชีวิต หนังควรจะเจ็บปวดทุกข์เศร้า หม่นหมอง

หนังเป็นเช่นนั้น เจ็บปวดหม่นหมองหากในขณะเดียวกันมันก็กลับเต็มไปด้วยประกายของชีวิตตลอดเวลา เป็นเหมือนดอกไม้ที่จะบานในทุกหนแห่งไม่ว่าดินจะแห้งแล้งเพียงไร 

สำหรับเขาในฐานะศิลปิน ภาพยนตร์เรื่องนี้คือสิ่งเดียวที่เขามี คือหลักฐานยืนยันว่าเขามีตัวตนจริง เขาลี้ภัยการเมืองจริงๆ เขาและครอบครัวเป็นคนมีเลือดมีเนื้อจริงๆ ไม่ใช่มวลผู้อพยพไร้ใบหน้า ไม่ใช่คนมุสลิมพหูพจน์ ภาพยนตร์กลายเป็นอาวุธชิ้นเดียวที่เขาเอาไว้ต่อสู้กับโลกทั้งใบเพื่อปกป้องครอบครัว เพื่อพาพวกเขาเข้าไปสู่ที่ที่ปลอดภัยกว่านี้ ที่ที่จะไม่ต้องตาย เพียงเพราะคิดต่างเชิงศาสนา หรือเพราะเป็นศิลปิน

  1. An Elephant Sitting Still (2018, Hu Bo, China)

คนหนุ่มที่ลอบคบชู้กับเมียเพื่อนสนิทจนต้องตาย ชายเฒ่าที่ถูกลูกหลานผลักไสไปบ้านพักคนชราที่เลี้ยงหมาไม่ได้ เด็กหนุ่มที่พ่อด่าว่าอยู่ไปก็รกโลก วันแล้ววันเล่าถูกไอ้หัวโจกแกล้งที่โรงเรียน และเด็กสาวที่มีสัมพันธ์ลับๆ กับครูเพื่อหนีจากแม่ที่ไม่มีแรงจะใส่ใจเธออีกต่อไป และช้างตัวหนึ่งที่เล่าลือกันว่ามันนั่งนิ่งทั้งวันในห้องมืดมิดของคณะละครสัตว์ ราวกับว่าถูกตะปูตอกตรึงขาไว้อย่างนั้น มันอาจจะไม่มีที่ไป หรือบางทีไม่มีความหวังที่จะหนีไปอีกแล้ว

ใน Elephant Sitting Still ตัวละครไม่ได้สิ้นหวังจากภายในเช่นนั้น โลกของพวกเขาไม่น่าอยู่ก็จริง แต่สิ่งที่ทำให้มันชั่วร้ายจนไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้คือตัวสังคมที่ปราศจากความเอื้ออารีต่อกันนั่นต่างหาก ตลอดทั้งเรื่องไม่มีใครเลยที่จะมอบความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ทุกคนมีชีวิตเพื่อตัวเองและตัวเอง ไม่เคยเป็นคนผิดที่ต้องรับผิดชอบใดๆ หนังฉายภาพสังคมแบบเอาแต่ได้ ปกป้องตัวเอง ซึ่งดูเหมือนหนังไม่ได้บอกว่ามันเป็นสังคมชั่วร้าย แต่หนังฉายให้เห็นว่าสังคมแบบนี้ สังคมที่คนพร้อมจะกระโจนลงไปเอาผิดคนอื่นก่อนที่จะมองดูเหตุและผลจริงๆ นี้นั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ชะตากรรมของตัวละครสะท้อนจากสภาพสังคมนี้ ย้อนกลับไปฉายให้เห็นว่าสังคมแบบนี้ก่อร่างขึ้นมาได้อย่างไร โลกมันจึงสิ้นหวังมากๆ ที่ชะตากรรมผลิตผู้คน และผู้คนผลิตสังคมเหล่านี้ออกมา เมื่อไรก็ตามที่ตัวละครใดๆ ในเรื่องพยายามทำเพื่อผู้อื่น ปกป้องความยุติธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาจะถูกสังคมถล่มลงมาใส่ทันทีราวกับว่าเมื่อเธอยอมรับผิดเท่ากับฉันไม่ต้องรับผิดใดๆ

ตัวละครตัวหนึ่งบอกว่าที่เราต้องรู้คือโลกมันสิ้นหวัง พอเราไปจากที่นี่มันก็เป็นแค่การไป เจอกับปัญหาใหม่ความสิ้นหวังใหม่ๆ และทุกอย่างก็จะวนกลับมาที่เดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นทั้งนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน สัจนิรันดร์ของความสิ้นหวังนั้นเป็นจริงเสมอ แต่ความหวังนั้นมีความหมายเหมือนแสงเรืองเล็กน้อย หาความสิ้นหวังคือการพ่ายแพ้ การกลายเป็นช้างที่อยู่ในห้อง เรียนรู้ที่จะไม่หวัง เพราะความหวังคือความสิ้นหวัง จำนนและอยู่กับโลกเลวร้ายอย่างแก้ไขอะไรไม่ได้ ดีกว่าออกไปพ่ายแพ้บาดเจ็บให้กับความสิ้นหวังครั้งใหม่ หนังเลือกจบในจุดที่งดงามที่สุดคือการเดินทางที่ยังไปไม่ถึง ไม่รู้จะไปถึงไหม หรือจะถูกทิ้งอยู่ในความมืด เสียงของช้างจากที่ที่ไม่มีใครรู้ โลกสิ้นหวังนั้นเป็นของแน่ แต่ความหวังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะสิ้นหวังหรือยังหวังได้ 

  1. Parasite (2019, Bong Joon-ho, South Korea)

เราอาจบอกได้ว่ามันเป็นเรื่องของคนชั้นล่างที่พากันปลอมแปลงตัวเข้าไปปะปนกับคนชั้นบนทำตัวเป็น ‘ปรสิต’ ที่ดูดกินน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตจากคนชั้นบน คนชั้นล่างพวกนี้ เป็นเหมือนแมลงสาบ พวกคนยากจนอยู่ชั้นใต้ดินเสมอในหนังเรื่องนี้ บ้านตระกูลพัคปลูกบนเนินสูงที่ต้องเดินไต่ขึ้นเนินไป ยามเมื่อพวกเขาเข้าแทนที่คนงานดั้งเดิม พวกเขาต้องไต่เนินขึ้นไป ในฉากหนึ่งภรรยาตระกูลคิมเปรียบเทียบสามีของตนและโลกที่ตนอยู่เหมือนกับแมลงสาบ หรือหนู ที่เมื่อเจ้านายไม่อยู่ก็จะออกมาเพ่่นพ่าน (แบบเดียวกับที่พวกเขานัดมาปิคนิคในบ้านเจ้านาย) แต่พอไฟถูกเปิดเจ้านายโผล่มาพวกเขาก็จะต้องแตกกระเจิง หลบไปไม่ให้เห็น หลบหนี ‘ลงใต้ดิน’ 

ในเวลาต่อมานี้เองพวกเขาต้องหนีออกจากบ้าน เราจะเห็นพวกเขา เดินลง เดินลง และเดินลง ลงจากเนินสูงชัน แล้วลงบันไดไป มุดลอดอุโมงค์ใต้ดิน เมื่อโผล่มาปากทางบ้านพวกเขาก็เดินลงบันไดไปอีก และเมื่อพวกเขากลับถึงบ้านเพื่อจะเห็นว่าน้ำท่วมทุกอย่างไปหมด หนังถ่ายจากมุมสูงให้เห็นพวกเขาเหมือนหนูหรือแมลงสาบที่ขึ้นมาจากท่อตอนฤดูฝน แตกกระเจิงตามความเปรียบที่ถูกพูดไว้ก่อนหน้า 

หากหนังเรื่องนี้ไม่ใช่สงครามชนชั้นของคนรวยกับคนจน ชนชั้นนำกับชนชั้นล่างแต่อย่างใด ชนชั้นนำในเรื่องไม่ใช่คนชั่วร้ายด้วยซ้ำ พวกเขาเป็นเพียงคนที่มีเงิน มีเงินมากพอที่จะได้รับสิทธิ์ที่จะไร้เดียงสาและนิสัยดี ดังในบทสนทนาของผัวเมียตระกูลคิมว่าชีวิตของคนพวกนี้ไม่รอยยับย่นเลยสักนิด เพราะเงินช่วยรีดให้เรียบสวย หรือการบอกว่า พวกเขานอกจากจะรวยแล้วยังนิสัยดีอีกด้วย ไม่ใช่เลยที่จริงเพราะพวกเขารวยต่างหาก พวกเขาเลยนิสัยดี ถ้าฉันรวยฉันก็จะนิสัยดีเหมือนกัน พวกคนอีลิทร่ำรวยไม่ได้ชั่วช้า พวกเขาไม่ได้กดขี่แรงงานคนชั้นล่าง เพราะพวกเขาจ่ายทุกอย่างตามที่กำลังทรัพย์มี พวกเขาไม่ได้เกลียดกลัวคนชั้นล่าง เพราะคนชั้นล่างไม่มีวันจะทำอะไรพวกเขาได้ 

สิ่งที่คนชั้นบนเหล่านี้กลัวมีเพียงเรื่องเดียวคือการรักษาสถานะความเป็นคนชั้นบนอันผุดผ่องของพวกเขาเอาไว้ สิ่งที่พวกเขากลัวคือการสูญเสียสถานะนี้ในหลายๆ มิติ ไม่ใช่เพียงแค่เงินหมดจนกระเด็นไปอยู่รูหนู แต่เป็นกระทั่งเรื่องเล็กน้อยอย่างเช่น การไม่กล้าแม้แต่จะพูดตรงๆ กับคนรับใช้ถึงเหตุผลที่ต้องให้ออกจากงาน ในขณะที่คนชั้นล่าง ถามหาแผนกันตลอดเวลา แผนอันกระเบียดประเสียร คำนวณมาอย่างดีว่าจะต้องทำอย่างไร (แล้วก็เสียแผนอยู่เรื่อย) แผนของคนชั้นบนมีเพียงเรื่องเดียวคือจะปั้นคำพูดอย่างไรให้คนที่พวกเขาไม่ไว้ใจอีกแล้วออกไปจากชีวิตของพวกเขาโดยไม่เสียน้ำใจ  

แต่ถ้าความจนเป็นสิ่งที่ปกปิดได้ สิ่งเดียวที่ปิดไว้ไม่มิดคือกลิ่น กลิ่นของคนจนหรือความจนเป็นรูปธรรมอย่างสุดขีดในหนัง กลิ่นที่ไม่ได้มาจากน้ำยาซักผ้า หรือ สบู่แต่มาจากการอาศัยอยู่ใต้ดิน กลิ่นที่เหมือนกับพวกที่ขึ้นรถไฟใต้ดิน ชนชั้นล่างไม่ได้เพียงอยู่ติดดิน แต่อยู่ต่ำกว่าดิน อยูในห้องใต้ดิน ทำสงครามกันเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งคนรับใช้ของคนชั้นนำ ครึ่งหลังของหนังจึงวนเวียนอยู่ในห้องใต้ดิน สงครามชนชั้นสำหรับโลกทุนนิยมไม่ใช่ชนชั้นล่างสู้รบกับชนชั้นนำ แต่คือชนชั้นล่างที่ห้ำหั่นกันเองเพื่อเป็นข้ารับใช้คนชั้นบนที่ไม่ต้องสอดมือยุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่รับรู้ว่ามีสงครามเกิดขึ้น ด้วยวิธีนี้เท่านั้น สังคมปรสิตจึงดำรงคงอยู่ต่อไปได้ 

  1. ฮาวทูทิ้ง (2019, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, ไทย) 

จีนกลับมาจากสวีเดนหลังจากไปเรียนและทำงานอยู่หลายปี จีนเป็นนักออกแบบสาย ‘น้อยแต่มาก’ เธอเชื่อในความว่างโล่ง พื้นที่ที่เปิดกว้าง ขาวสะอาดราวปราศจากเชื้อ เธอแตกต่างจากคนอื่น สวมเครื่องแบบนักออกแบบเป็นเสื้อกางเกงโอเวอร์ไซส์สีขาวและดำแบบน้อยแต่มาก เธอกลับมาเมืองไทยหลังจากทิ้งไปหลายปี ที่บ้านของเธอ ตึกหัวมุมถนนที่เคยเป็นร้านรับซ่อมเครื่องดนตรี ตอนนี้กองสุมด้วยข้าวของ แม่กินนอนในห้องนั่งเล่นชั้นล่างพี่ชายทำงานขายเสื้อในอินเทอร์เน็ต ห้องแคบของเขาประจุด้วยแถวราวแขวนเสื้อและจักรเย็บผ้า เธอวางแผนจะรื้อชั้นล่างใหม่ทั้งหมด เอาของทั้งมวลออกไปจากบ้าน เพื่อให้ทุกอย่างว่างโล่ง เธอต้องทิ้งทั้งหมด และหนังทั้งเรื่องดำเนินอยู่กับกระบวนการจัดการความทรงจำนี้ การทิ้ง ทอดทิ้ง ถูกทิ้ง และความพยาบาทของความทรงจำ

การ ‘มูฟออน’ ของหนังจึงเป็นเพียงข้ออ้างของการ ‘มูฟเอาท์’ สิ่งที่ขัดขวางต่ออนาคตที่ตนปรารถนาและ ‘มูฟอิน’พื้นที่/แผ่นดินในฝันของตนเข้าไปแทนที่ ปรารถนาในสิ่งที่ตนปรารถนา หากไม่ปรารถนา ก็จัดหา ‘สตอรี่’ ของความปรารถนาชนิดใหม่มาให้

  1. Where We Belong (2019, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ไทย)

จริงๆ เราอาจพูดได้ว่ามันคือหนังในท่วงทำนองแบบ เด็กสาวสองคนในเมืองเล็กๆ แบบเดียวกับหนังญี่ปุ่น นุ่มนวลพอๆ กับการเป็นหนังฤดูร้อนสุดท้ายการสิ้นสุดของวัยเยาว์ที่จบลงพร้อมกับการจบการศึกษาชั้นมัธยม ถ้าเด็กสี่คนจาก ตั้งวง หนังปี 2013 ของคงเดช เปลี่ยนผ่านท่ามกลางควันปืน คาวเลือดและการแตกหักอย่างถึงรากถึงโคนของผู้คนในปีนั้น หกปีต่อมา เด็กอย่าง ซู เบลล์ มิว หยก ก็เปลี่ยนผ่านตัวเองท่ามกลางความมืดมนในสังคมยุคคสช. เด็กวัยรุ่นที่เกิดไม่ทันความรุ่งโรจน์และร่วงหล่นของทักษิณ ชินวัตร เด็กเกินกว่าที่จะมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมืองใดๆ ความไม่สงบมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านพ้น เด็กๆ ที่เริ่มจดจำได้ก็พบว่าตัวเองอยู่ในสังคมเผด็จการ ที่ทุกอย่างสงบเงียบเรียบร้อยจนผิดสังเกต 

ผู้คนบอกให้คุณเป็นตัวของตัวเอง แต่คุณไม่สามารถพูดทุกสิ่งที่คุณคิดออกมาได้ คุณคิดว่าคุณโตพอแล้ว แต่คุณไม่เคยโตพอ เหมือนที่คุณมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่คุณไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนเลย หรือพูดให้ถูก ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คุณไม่เคยเห็นการเลือกตั้งจริงๆ เลยสักครั้งด้วยซ้ำ คุณอยู่ในเมืองที่ทุกอย่างเหมือนเดิมมาตั้งแต่คุณเกิด ราวกับว่าความเจริญอยู่หนอื่น และคุณไม่รู้มาก่อนว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร คุณรู้แค่ว่าโลกข้างในบ้านนี้ ในเมืองนี้ และอาจจะในประเทศนี้ ไม่ใช่ที่ของคุณ 

มันจึงเป็นภาพจำลองของผู้คนจำนวนมาก ทั้งวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงหรือเพศไหนๆ คนที่เลือก หรือพยายามที่จะเลือก พวกเขาจะถูกข่มขู่จากความกลัวของตนและของผู้อื่น ถูกล่ามไว้ด้วยพันธนาการจากคนที่ตนรัก หรือถูกบังคับให้ยอมรับว่าตนเองสังกัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่งและต้องเสียสละตนเข้าธำรง status quo เก่าๆ นั้นเอาไว้ โลกมอบกระเป๋าเดินทางสามล้อพิกลพิการให้ และให้เราหาทางจัดกระเป๋าออกจากบ้าน โดยรู้อยู่แต่ต้นว่าไม่ได้จะให้ไปจริง

มันอาจจึงไม่มีแห่งไหนให้ดวงใจของเธออยู่โดยแท้จริง เพราะการอยู่หรือการไปในสังคมที่พยายามจะแช่แข็งทุกอย่างไว้มีแต่จะมอบบาดแผลให้กับเธอไม่ต่างกัน 

  1. The Rider (2018, Chloe Zhao, US)

เบรดี้อาศัยอยู่กับพ่อไม่เอาไหนและน้องสาววัยรุ่นที่เป็นเด็กพิเศษ ชีวิตที่ไม่ได้เรียนหนังสือทั้งหมดของเขาอุทิศให้กับม้า เขาเป็นทั้งครูฝึกม้าและนักแข่งโรดิโอ้ เพื่อนรุ่นพี่ที่เขาเคารพที่สุดคนหนึ่งเคยเป็นคนหนุ่มหล่อเหลารุ่งโรจน์ หากหลังจากประสบอุบัติเหตุจากการเแข่งโรดิโอ้ เขากลายเป็นคนพิการพูดไม่ได้ เบรดี้หาเลี้ยงตัวเองกับน้อง หากหลังจากประสบอุบัติเหตุในการแข่งเขาก็ทำไม่ได้อีก ความฝันทั้งมวลสูญดับ เขาอ้วกเรื่อยๆ และมือก็เกร็งจนคลายไม่ออกตลอดเวลา เขาลองเปลี่ยนกลับไปฝึกม้า ค่อยทำให้ม้าที่ตื่นกลัวสงบลง ค่อยๆ ประนีประนอมกับความฝันที่ไม่ยอมสงบลง แม้จะกลับไปไม่ได้อีกแล้ว

The Rider คือหนังที่ฉายให้เห็นว่าเราไม่สามารถจะเป็นทั้งผู้ที่เอาชนะปัจจัยทางเศรษฐกิจ และไม่อาจเป็นผู้ที่เสียสละตัวเองเพื่อจิตวิญญาณสูงส่งของความใฝ่ฝัน ไม่แม้แต่จะเป็นคนที่สามารถประนีประนอมและหาทางออกให้กับชีวิตได้โดยง่ายด้วยซ้ำ ที่เราทำ คือทำดีที่สุดและพ่ายแพ้ไปเรื่อยๆ

  1. Doctor Sleep (2019, Mike Flanagan, US)

ภาคต่อของ The Shining ที่กลับไปสู่รากเหง้าดั้งเดิมของนิยายของสตีเฟ่น คิง การพูดถึงผู้มี ‘แสงส่อง’ ที่ต้องหลบซ่อนจากคนจำพวกเดียวกันที่ต้องการสูบกินพลังชีวิตจากพวกเดียวกันเอง เพื่อสร้างชีวิตอมตะ ชายหนุ่มคือผู้มีแสงส่องซึ่งรอดตายจากโรงแรมผีสิงกินคนที่กินเอาพ่อแม่เขาไป เขาอยู่อย่างหลบซ่อนเพราะรู้ว่าพลังของตนจะเป็นอันตรายต่อตนเอง จนกระทั่งเหล่าผู้มีพลังตามล่าตัวเด็กหญิงคนหนึ่งที่สื่อสารกับเขาได้ เขาพบว่าทางเดียวที่จะต่อสู้คือกลับไปยังที่ดูดกินพลังของทุกผู้คน โรงแรมผีสิงที่เขาหนีมาตลอด

ด้วยความสามารถของ Mike Flanagan หนังที่พร้อมจะเป็นหนังเชยๆ เรื่องนี้กลับเต็มไปพลังพิเศษที่น่าตื่นเต้น มันทั้งน่ากลัวแบบหนังสยองขวัญ สนุกแบบหนังเมนสตรีมซูเปอร์ฮีโร่และมีหัวจิตหัวใจในฐานะของกลุ่มหนังเด็กซึมเศร้าที่ต้องต่อสู้ระดับแลกชีวิตกับผีร้ายอันเป็นธีมหลักของหนังของ Mike Flanagan มาตลอดหลายปี 

และอาจบอกได้ว่านี่คือหนังที่เพลิดเพลินที่สุดในปีนี้