การไปดูหนังเก่าๆ ที่หอภาพยนตร์เป็นประสบการณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว และเนื่องจากมติ ครม. ที่ให้โรงภาพยนตร์งดให้บริการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โรงฉายของหอภาพยนตร์ก็หยุดให้บริการเช่นกัน 

แต่ถึงแม้จะไปดูหนังในโรงไม่ได้ หอภาพยนตร์ยังคงเอาใจแฟนหนังและผู้สนใจประวัติศาสตร์ภาพเคลื่อนไหวของไทย ด้วยการจัดเพลย์ลิสต์  ‘ห่างกันสักพัก ช่วง COVID-19’ ทางยูทูบ สำหรับใครที่อยากดูหนังโปรแกรมเฉพาะของหอภาพยนตร์ในช่วงโรงหนังปิด รวมถึงผู้ชมหลายคนที่ต้องอยู่ติดบ้าน และอยากเปิดโลกภาพยนตร์ไทยสมัยเก่าดูบ้าง

เพลย์ลิสต์ ห่างกันสักพัก ช่วง COVID-19 คัดสรรภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้มาให้ได้ชมทั้ง หนังเรื่อง หนังข่าว หนังสารคดี รวมไปถึงหนังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยรายชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดที่มีอยู่ในเพลย์ลิสต์ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2020 ได้แก่

สันติ-วีณา (2497) 

หนังไทยที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติได้เป็นเรื่องแรก อีกทั้งฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้เคยหายสาบสูญไปนานกว่า 60 ปี ก่อนที่หอภาพยนตร์จะค้นพบ และนำมาบูรณะใหม่ เปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อ พ.ศ. 2559 และนี่เป็นครั้งแรกที่หอภาพยนตร์เปิดให้ชมหนังเรื่องนี้ฟรีทางออนไลน์อย่างถูกต้องในคุณภาพคมชัด

รางวัลที่ สันติ-วีณา ได้รับมาจากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2497 ประกอบด้วยรางวัล ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้เป็นอย่างดี

หนังเล่าเรื่องราวของ สันติ เด็กชายตาบอดผู้ถูกพ่อส่งไปให้เรียนรู้พระธรรมและอาศัยอยู่กับหลวงตาภายในถ้ำ โดยมี วีณา เด็กหญิงวัยไล่เลี่ยกันคอยดูแลปกป้องเขาจาก ไกร ผู้หาเรื่องแกล้งสันติอยู่เสมอ เมื่อพวกเขาโตขึ้น สันติและวีณาได้กลายเป็นคู่รัก ท่ามกลางความอิจฉาริษยาของไกร วันหนึ่ง ไกรได้ให้พ่อแม่ของเขาไปสู่ขอวีณาถึงบ้าน วีณาจึงตัดสินใจหลบหนีไปพร้อมสันติด้วยความหวังว่าจะได้ไปใช้ชีวิตครองรักด้วยกัน

มวยไทย (2506)

หนึ่งในผลงานชุด ‘มรดกของไทย’ เป็นภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.

แม้จะมีสถานะเป็นภาพยนตร์สารคดีเงียบ แต่ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ปรากฏใน มวยไทย สามารถสื่อสารแก่ผู้ชมและเห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้าง ในการรวบรวมองค์ความรู้และบรรยากาศต่างๆ ของวงการกีฬามวยไทยขณะนั้นเอาไว้ และตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในฐานะ ‘ตำรามวยไทย’ ในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องแรกเท่าที่มีการค้นพบ 

ในภาพยนตร์เต็มไปด้วยภาพบุคคลสำคัญของวงการมวยไทยในอดีต ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของกีฬาอันเป็นเอกลักษณ์และมรดกของไทย ซึ่งเคยอยู่ในความฝันและลมหายใจของเด็กหนุ่มน้อยใหญ่ทั่วประเทศเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

พรายตะเคียน (2483)

ภาพยนตร์ผีของไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน และเป็นตัวอย่างที่ทำให้ได้เห็นถึงลักษณะของภาพยนตร์สั้นที่ใช้ฉายประกอบภาพยนตร์ขนาดยาวในอดีต 

สร้างโดยบริษัท ศรีบูรพาภาพยนตร์ ของผู้สร้างหนังยุคบุกเบิก สดศรี ภักดีจิตต์ หรือชื่อจริงว่า สดศรี ภักดีวิจิตร เล่าเรื่องราวผีนางพรายตะเคียนที่มาหลอกชาวบ้าน ฉากตัวละครวิ่งหนีผีกระจัดกระจายในเรื่องนั้นถือเป็นต้นแบบสำคัญของหนังผีไทยในยุคต่อๆ มา 

ภาพยนตร์โฆษณาสี่คิงส์ (2502)

ภาพยนตร์โฆษณาหนังไทยเรื่องนี้ ออกฉายเมื่อปี 2502 ซึ่งเป็นยุคที่ภาพยนตร์ไทยมีการแข่งขันทางการตลาดสูงมาก แต่ละเดือนมีหนังไทยออกมาฉายจำนวนมาก จึงต้องมีการโฆษณาแข่งกันอย่างดุเดือดในทุกสื่อเท่าที่มี และโฆษณาในโรงหนังคือหนึ่งในช่องทางนั้น 

ภาพยนตร์โฆษณา สี่คิงส์ เป็นตัวอย่างอันดีและหายาก ของแบบฉบับการโฆษณาหนังไทยยุค 16 มม. ซึ่งทำให้เราเห็นทั้งบรรยากาศความคึกคักของโรงหนังในยุคนั้น เห็นวิถีชีวิตการดูหนังในฐานะมหรสพมวลชนของสังคมไทย และเห็นรสนิยมของหนังไทยแท้ๆ 

บอกตรงตรง เห่าดง ดีจริงจริง (2501)

สืบเนื่องจากการแข่งขันอันดุเดือด ฟุตเทจนี้ฉายให้เห็นบรรยากาศเบียดเสียดของผู้ชมหน้าโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ที่เปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง เห่าดง ของ ไทยไตรมิตรภาพยนตร์ ฉายวันแรกวันที่ 22 ตุลาคม 2501 

เห่าดง เป็นอีกหนึ่งหนังดังของยุคนั้นโดย แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นคนทำโฆษณาหนังเรื่องนี้ เมื่อปี 2501 ซึ่งเพลงโฆษณาเรื่อง เห่าดง ได้นำทำนองเพลง Wear My Ring Around Your Neck ของ เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งกำลังโด่งดังทั่วโลกในเวลานั้นมาใส่เนื้อไทย กลายเป็นเพลงโฆษณาหนังไทยที่ฮิตติดใจและปากคนไทยทั่วประเทศ และหลังจากนั้นผู้สร้างหนังไทยรายอื่นๆ ดำเนินรอยตามการประชาสัมพันธ์เช่นนี้จนเป็นขนบไปอีกนับสิบปี

ปิดทองหลังพระ (2483) (เศษที่เหลืออยู่)

‘ไทยฟิล์ม’ คือโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ และเศษภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ เป็นตัวอย่างผลงานภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์มที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อนำมาเทียบกับเศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งเป็นผลงานของโรงถ่ายภาพยนตร์คู่แข่งอย่าง ‘เสียงศรีกรุง’ ที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกัน ทำให้เห็นถึงลักษณะภาพยนตร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่าย รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก และไม่อาจหาดูได้จากเศษภาพยนตร์ เลือดชาวนา  

ความยาวเพียง 10 นาทีของภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ ที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลังนี้ จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทย จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยวได้

กะเทยเป็นเหตุ (2497) (ฉบับบูรณะใหม่)

กะเทยเป็นเหตุ ภาพยนตร์สมัครเล่นแนวตลก ผู้สร้างคือ ‘คณะ LEDGER ธณาคารมณฑล’ ถ่ายทำด้วยฟิล์มรีเวอร์ซัลขาวดำ 16 มม. ความยาวประมาณ 12 นาที โดยใช้กลวิธีการเล่าแบบหนังเงียบ คือมีตัวอักษรบรรยายเหตุการณ์และบอกบทเจรจาขึ้นแทรกตลอดทั้งเรื่อง 

กะเทยเป็นเหตุ เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องกะเทยและใช้เป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ แม้จะทำออกมาให้ดูตลกขบขันอย่างที่พบกันได้กลาดเกลื่อนจากสื่อบันเทิงไทยทั่วไปมายาวนาน แต่การมีอยู่ของภาพยนตร์สมัครเล่นเรื่องนี้ได้ทำให้เห็นว่า กะเทยได้รับการยอมรับในสังคมไทยว่า ‘สวยเหมือน’ หรือ ‘สวยกว่า’ ผู้หญิงมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 ปี จนกลายเป็นศึกชิงนางอันชุลมุนในเรื่อง และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับกะเทยที่มีสถานะเป็น ‘คู่หมั้น’ นั้น ยังเป็นการนำเสนอที่ก้าวหน้า อย่างที่แม้แต่ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถไปถึง

ฟังเสียงมิตร ชัยบัญชา ในหนังตัวอย่าง เงิน เงิน เงิน (2508)

เงิน เงิน เงิน อำนวยการสร้างโดย ละโว้ภาพยนตร์ สร้างโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือเสด็จพระองค์ชายเล็กของวงการหนังไทยในยุคนั้น นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชาและ เพชรา เชาวราษฎร์ คู่พระนางยอดนิยมสูงสุด ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ทั้งยังมีนักแสดงประกอบเกือบทั้งวงการภาพยนตร์ไทย โดยรวมเหล่าดารานักแสดงไว้มากมายกว่า 60 คน

ภาพยนตร์ใช้คำโฆษณาว่า ‘เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน’ และยังมี 14 เพลงไพเราะจาก 15 ยอดนักเพลงของยุคนั้น เงิน เงิน เงิน นับว่าตัวแทนภาพยนตร์ไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชัดเจน โดยทำหน้าที่ปลอบประโลมใจคนยากคนจนให้มีความหวัง จากการได้เห็นพระเอกในฝัน หนุ่มหล่อ ลูกมหาเศรษฐีมาช่วยเหลือ มาหลงรักนางเอกผู้ยากไร้และครองรักกันไปอย่างชื่นมื่น

ไฟเย็น (2508)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นโดยการสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ให้ชาวไทยเห็นภัยร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศ ซึ่งแทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลายความสงบสุขของชาติไทย 

โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ว่า 

“ไฟเย็น เป็นชื่อเรียกการเล่นแกล้งกันของเด็กๆ โดยจุดไม้ขีดให้ติดไฟแล้วเป่าดับ ในขณะที่ยังคุในก้าน ก็เอาไปจ่อเพื่อน บางทีไปจ่อเพื่อนที่เผลอหลับ ให้สะดุ้งตื่น การนำเอามาเป็นชื่อหนังไทยพิเศษเรื่องหนึ่งในสมัยสงครามเย็น สงครามที่ดูเหมือนไม่มีการยิงรันฟันแทง แต่สู้กันที่ความคิด ความเชื่อ ความกลัว  เป็นสงครามระหว่างสองความเชื่อใหญ่ของโลก เสรีประชาธิปไตยทุนนิยม และเผด็จการคอมมิวนิสต์ หนังนี้ทำขึ้นเพื่อฉายให้คนไทยดู เพื่อตระหนักกลัวภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นไฟเย็นมาจ่อให้คนไทยตกใจกลัว”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2554 ส่วนวิธีการของ ‘ไฟเย็น’ ที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร ต้องไปติดตามชม

 

ข้อมูลจาก หอภาพยนตร์

เข้าชมภาพยนตร์ในเพลย์ลิสต์ได้ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=VsDCxfSDgds&list=PLvc284hzb2J8gzLc37m6MugXo78tTnX1F 
Tags: , ,