ภาพยนตร์สารคดี Nanook of the North โดย โรเบิร์ต เจ. ฟลาเฮอร์ตี (Robert J. Flaherty) นักสำรวจชาวอเมริกัน ผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ลูกผสมที่มีลักษณะของเรื่องแต่งกับสารคดี ออกฉายเมื่อปี 1922 ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของชนเผ่าท้องถิ่นอินูอิตในแถบขั้วโลกเหนือ ผ่าน ‘นานุค’ ตัวละครหลักและครอบครัว ประกอบไปด้วยภรรยาสองคน และลูกเล็กอีกสามคน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันหนาวเหน็บ ปกคลุมไปด้วยหิมะและก้อนน้ำแข็ง
เราได้เห็นกิจวัตรประจำวันของนานุคและครอบครัว ทั้งหมดต้องทนต่อสู้กับธรรมชาติที่โหดร้ายนี้เพื่อให้ตนเองและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่าวอลรัสและแมวน้ำมาเป็นอาหาร การสร้างที่พักกระท่อมน้ำแข็งด้วยมีดพกเพียงด้ามเดียว เรื่องราวเหล่านี้สร้างความตื่นตาตื่นใจและคำชมอย่างล้นหลาม
อันที่จริง ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เคยถูกสร้างขึ้นแล้วในปี 1916 แต่ถูกไฟไหม้ ฟลาเฮอร์ตีจึงหาทุนสร้างขึ้นใหม่ จากเวอร์ชันเก่าที่คล้ายบันทึกท่องเที่ยว เป็นวิวขั้วโลกเหนือ เห็นชาวอินูอิตเพียงเล็กน้อย แต่เวอร์ชันใหม่ เขามีโอกาสกลับไปถ่ายทำอีกครั้ง ก็อยากทำให้มันสนุก และน่าสนใจกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางคำชมเชย ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความจริง’ ไม่ว่าจะเป็นฉากที่นานุคใช้หอกเป็นอาวุธ ทั้งที่ในความเป็นจริง ช่วงเวลานั้น เผ่าอินูอิตใส่เสื้อสเวตเตอร์ ใช้ปืนไรเฟิล และใช้เรือยนต์กันอย่างแพร่หลายแล้ว
“สารคดีเป็นตรรกะในการรวบหลักฐานขึ้นมาประกอบสร้างเป็นเรื่องเล่า เพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อในมุมมองที่คนทำภาพยนตร์พยายามจะนำเสนอ”
“ภาพยนตร์สารคดีที่ถือว่าเป็นเรื่องแรกๆ ของโลกยังถูกประกอบสร้างขนาดนี้ ฉะนั้น มันถึงถูกตั้งคำถามตลอดเวลาบนสายธารประวัติศาสตร์ว่า สารคดีที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ มันจริง-แต่ง แค่ไหนกัน” ณฐพล บุญประกอบ คนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งข้อสังเกต
ณฐพล เพิ่งเรียนจบด้าน Social Documentary Film ที่ School of Visual Arts จากนิวยอร์ก ชวนคุยถึงความสัมพันธ์ของ ‘สารคดี’ กับ ‘ความจริง’ ว่ามันถูกประกอบสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
ภาพแทนของความจริง
ณฐพลมองถึงความสัมพันธ์ของสารคดีกับความจริงว่า มันถูกประกอบสร้างขึ้นมา โดยเราต้องไม่ลืมว่า ความจริงแต่ละส่วน ย่อมยึดโยงกับประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว รวมถึงอคติของใครบางคนเสมอ
ในอดีต มนุษย์เลือกถ่ายทอดบางสิ่งบางอย่างผ่านการวาด จดบันทึก ปั้น ซึ่งล้วนเป็นการสร้างอดีตในมุมมองของมนุษย์ผ่านการเลียนแบบธรรมชาติด้วยเครื่องมือต่างๆ จนเมื่อมนุษย์มีกล้องถ่ายรูปเข้ามาเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเรื่องราว ทำให้ขอบเขตของการบันทึกและเลียนแบบสิ่งรอบตัวขยายออก สิ่งที่อยู่หน้าเลนส์ถ่ายทอดเรื่องราวหรือความจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะมีคุณสมบัติที่เรียกว่า ‘ความจริงในเชิงดัชนี’ ซึ่งเป็นเหมือนการบันทึกโดยไม่ต้องผ่านกลั่นกรองของสมอง มันยังไม่มีความหมายถ้าไม่มีความรู้แขนงอื่นเข้ามาประกอบ เช่น ภาพเอ็กซเรย์ที่ต้องอาศัยความรู้ทางการแพทย์ถึงจะสามารถใช้งานได้
“ภาพของกล้องวงจรปิด จริงๆ ก็ไม่ใช่สารคดีหรอก เป็นแค่ภาพบันทึกเหตุการณ์ แต่เมื่อไหร่ที่มันไปอยู่ในรายการเรื่องจริงผ่านจอ มันก็จะมีมุมมอง นั่นแหละเป็นตรรกะที่ใช้ในการเล่าเรื่อง สารคดีเป็นตรรกะในการรวบหลักฐานขึ้นมาประกอบสร้างเป็นเรื่องเล่า เพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อในมุมมองที่คนทำภาพยนตร์พยายามจะนำเสนอ”
ณฐพลเปรียบเทียบคนทำภาพยนตร์สารคดีเป็นทนายความที่มีหลักฐานมากมาย นำไปโน้มน้าวผู้พิพากษาให้ตัดสินใจเชื่อ เพื่อให้ลูกความของต้วเองชนะคดีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบรรดาข้อมูลที่ถูกยกขึ้นมาในศาลอาจเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว และผ่านการบิดมุมมองเพื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือที่สุด
เช่นกันกับภาพยนตร์สารคดีที่เต็มไปด้วยภาพ ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งจะสนับสนุนการเล่าเรื่อง เพื่อไปสู่วัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนั้นจริยธรรมของคนทำภาพยนตร์สารคดีอาจสำคัญไม่แพ้ทนายความ
ณฐพลยกคำพูดของ จอห์น เกรียสัน (John Grierson) บิดาแห่งภาพยนตร์สารคดี ที่พูดถึง ‘The Creative Treatment of Actuality’ หรือ การจัดการความจริงอย่างสร้างสรรค์ ว่าเป็นเหมือนใบอนุญาตให้คนทำภาพยนตร์สารคดีสามารถใช้จินตนาการปรับแต่ง หรือประดิษฐ์คิดค้นความหมายใหม่ ทำให้ความจริงสนุกกว่าเดิม โดยที่ ‘actuality’ นั้นยังคอยย้ำเตือนให้ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการนำเสนอ
เส้นแบ่ง
ณฐพลให้เราแยกแยะว่า ภาพยนตร์ไหนเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง โดยพูดถึง เจเน็ต มัลคอล์ม (Janet Malcolm) นักเขียนชาวอเมริกัน ที่กล่าวเปรียบเทียบว่า เรื่องแต่ง เป็นเสมือนการเป็นเจ้าของบ้าน เราสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะไม่กระทบกับใคร เป็นงานที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาทั้งหมด ส่วนเรื่องจริง เป็นเสมือนการเช่าบ้าน เราสามารถเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์แล้วจัดวางใหม่ได้ก็จริง แต่ต้องเคารพกฎของเจ้าของบ้าน เป็นงานที่ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ดี การแบ่งเรื่องจริง เรื่องแต่ง แบบนี้อาจใช้ไม่ได้กับงานทุกประเภท ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนพยายามท้าทายเส้นแบ่งของเรื่องจริง-เรื่องแต่งอยู่ตลอดเวลา
เรื่องจริง เป็นเสมือนการเช่าบ้าน เราสามารถเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์แล้วจัดวางใหม่ได้ก็จริง แต่ต้องเคารพกฎของเจ้าของบ้าน
สำหรับความพยายามถ่ายทอดความจริงในภาพยนตร์สารคดีนั้น บิลล์ นิโคลส์ (Bill Nichols) นักวิชาการชาวอเมริกันมองว่าภาพยนตร์สารคดีจำแนกได้หลายแบบ เช่น ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี การทำภาพยนตร์ยังต้องบันทึกเสียงแยกกับภาพ ภาพยนตร์สารคดีจะเน้นให้ความรู้คนดูแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต่อมา ภาพยนตร์สารคดีจึงเน้นความรู้สึก อารมณ์ สุนทรียะ การสร้างสรรค์ และจินตนาการ มากกว่าข้อมูล ซึ่งสะท้อนมุมมอง การตีความของผู้กำกับออกมาได้อย่างโดดเด่น
นอกจากนี้ ในหลายกรณี คนทำภาพยนตร์สารคดีเป็นเหมือนคนคอยสังเกตการณ์ ไร้ตัวตน ไม่ใส่ความคิดเห็นลงไป เพียงเอากล้องไปตั้งไว้แล้วนำสิ่งที่ได้มาเรียบเรียง ตัดต่อ อย่างไรก็ดี การตั้งกล้องไว้นั้น ตัวกล้องก็กลับมีส่วนเปลี่ยนแปลงความจริง เพราะตัวละครย่อมมีปฏิกิริยากับอุปกรณ์ เราจึงได้เห็นภาพยนตร์สารคดีที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทำกับตัวละคร รวมถึงการที่ตัวละครตัดสินใจทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเอง
ทั้งหมดนี้ เป็นอีกวิธีค้นหานิยามของความจริงซึ่งถูกท้าท้ายอย่างต่อเนื่องบนสายธารประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สารคดี และแน่นอนว่าเส้นแบ่งเรื่องจริง-เรื่องแต่งของแต่ละคนไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดียวกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่จะให้นิยามภาพยนตร์แต่ละเรื่องว่าเป็นอะไร ส่วนคนดูอย่างเรา ก็หนีการตั้งธงในใจตั้งแต่แรกเริ่มได้ยาก
ภาพประกอบหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
อ้างอิง:
http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/ClassicItem/23741