ทั่วโลกจดจำ ‘อองซาน ซูจี’ ได้ในฐานะหนึ่งในเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากพม่า แต่เวลานี้ ท่าทีของเธอและพรรคเอ็นแอลดีที่มีต่อปัญหาโรฮิงญา ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกผิดหวัง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 ก.พ.) ผู้หญิงเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากสามประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์เหนือ อิหร่าน และเยเมน เดินทางไปเยี่ยมผู้หญิงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพที่บังกลาเทศ เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกใส่ใจปัญหาที่หญิงชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกทหารพม่าทรมานและข่มขืน
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้งสามคน ได้แก่ ไมรีด แมคไกวร์ (Mairead Maguire) จากไอร์แลนด์เหนือ ชิริน เอบาดิ (Shirin Ebadi) จากอิหร่าน และทาวัคโคล การ์มัน (Tawakkol Karman) จากเยเมน เดินทางไปยังค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศเมื่อวันเสาร์ (24 ก.พ. 2561) ที่ผ่านมา เพื่อประเมินระดับความรุนแรงต่อผู้หญิงโรฮิงญาและสถานการณ์ในค่ายผู้อพยพ ตามความเห็นของกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Women’s Initiative) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006
ในค่ายผู้อพยพใกล้กับคอกซ์บาซาร์ มินารา เบกัม หญิงสาวอายุ 25 ปีเล่าว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้งสามเข้ามากอดและร้องไห้ไปด้วยระหว่างที่เธอเล่าถึงการถูกข่มขืนและทรมาน
“พวกเธอร้องไห้ไปกับพวกเรา และกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่” เบกัมกล่าวถึงแขกที่มาเยี่ยม
สำนักข่าว AP รายงานถึงจดหมายของทาวัคโคล การ์มัน เจ้าของรางวัลโนเบลชาวเยเมน ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงมากมายตกเป็นเหยื่อซ้ำสองรอบ หนแรกคือ เป็นผู้หญิง หนที่สองคือเป็นโรฮิงญา
ผู้หญิงยังคงทุกข์ทรมานจากประสบการณ์ที่เธอได้รับ “ความต้องการของหญิงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพมีความเฉพาะและไม่ได้รับการตอบสนอง มีเพียง 20% ของผู้หญิงไร้ถิ่นฐานในค่ายผู้อพยพที่รอดพ้นจากความรุนแรงทางเพศ และสามารถเข้าถึงการเยียวยาหลังจากถูกข่มขืนได้” การ์มันระบุในจดหมาย
องค์กร ฮิวแมนไรท์ วอทช์ รายงานว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมากถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศทั้งก่อนและหลังจากทหารโจมตีหมู่บ้าน
อองซาน ซูจี ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลด้วยเช่นกันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงที่ไม่ยอมกล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาหรือตำหนิทหาร
อย่างไรก็ตาม เอบาดิ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวอิหร่านเห็นว่า คณะกรรมการไม่ควรเพิกถอนรางวัลจากซูจี “เธอสมควรได้รับ”
“พฤติกรรมของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพหลังจากได้รับรางวัลไปแล้วไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการตัดสิน มันขึ้นอยู่กับว่าผู้ได้รับรางวัลให้เกียรติรางวัลนี้หรือไม่ ซึ่งซูจีไม่ได้ทำแบบนั้น” เอบาดิให้สัมภาษณ์กับ DW เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาไม่นานนัก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ครบรอบ 6 เดือนนับจากเหตุการณ์ที่ทหารบุกรัฐยะไข่ในพื้นที่ซึ่งชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ในเมียนมาร์อาศัยอยู่ ชาวมุสลิมกว่า 700,000 คน ต้องอพยพออกพม่ามาที่บังกลาเทศตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ทั้งสองประเทศต่างก็ไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาว่าเป็นพลเมืองของประเทศ
องค์การสหประชาชาติอ้างว่า การกระทำของทหารพม่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทหารพม่าถูกกล่าวหาว่ากระทำความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญามากมาย ทั้งฆ่า ข่มขืน และเผาบ้านเรือน
ทหารพม่าอ้างความจำเป็นในการปฏิบัติการว่า เพื่อจัดการกับกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army) กลุ่มต่อต้านใต้ดินที่โจมตีทหารในรัฐยะไข่ การกวาดล้างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของชาวพุทธ พุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่หนาแน่น
องค์กร Save the Children ในบังกลาเทศกล่าวว่า มีเด็กชาวโรฮิงญานับหมื่นคนยังทุกข์ทรมานอยู่ องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ผู้อพยพกว่า 5,600 ครอบครัว มีเด็กๆ เป็นผู้นำครอบครัว
แม้ว่าบังกลาเทศและพม่าลงนามในข้อตกลงเพื่อผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่กระบวนการล่าช้าเพราะขาดการเตรียมการและยังมีความกังวลด้านความปลอดภัย
ที่มา:
- http://www.dw.com/en/rohingya-women-female-nobel-laureates-highlight-myanmar-sexual-violence/a-42732050
- https://www.nytimes.com/aponline/2018/02/24/world/asia/ap-as-bangladesh-nobel-laureates.html