“ช่วยเก็บ ผ้าเช็ดหน้าของฉันหน่อยได้ไหม? เพราะฉันทำมันตก~”
หลังจากปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ โดยค่ายหนังอารมณ์ดี จีดีเอช (GDH) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแส Y2K ‘ฉบับไทย’ ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาแค่เรื่องแฟชั่น แต่เป็นการเปิดกล่องความทรงจำ ทำให้ใครหลายคนที่เกิดทันเป็นวัยรุ่นยุค 2000 ได้ชุ่มชื้นหัวใจและย้อนคิดถึงที่ช่วงเวลาที่สวยงาม ตะโกนร้องเพลงของวงไทรอัมพ์คิงดอม (Triump Kingdom) กลางเยาวราชได้แบบไม่กลัวแก่ เพราะ ‘ยุคของเรากลับมาแล้ว’
ก่อนหน้านี้คำว่า ‘Y2K’ แทรกซึมอยู่ในกระแสโลกมาได้ปีกว่าๆ โดยถูกพากลับมาผ่านวัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) และวงการแฟชั่นแบบไร้ที่มาแน่ชัด รู้ตัวอีกทีก็เห็น เบลลา ฮาดิด (Bella Hadid) เริ่มใส่กระโปรงเอวต่ำ ทำผมชี้ตั้ง ทาลิปกลอส เนื่องด้วยความปกติของการหมุนวนเทรนด์ในโลกแฟชั่น ที่มักจะย้อนมาหยิบของเจ๋งๆ ในอดีตไปผสมผสานเพื่อสร้างเทรนด์ใหม่ บวกกับความมีเอกลักษณ์ของยุค Y2K ทำให้การแต่งตัวสไตล์นี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงเท่านั้น กระแส Y2K เพิ่มความปังขึ้นไปอีก จากการเดบิวต์ของศิลปินเคป็อปน้องใหม่มาแรงอย่าง นิวจีนส์ (NewJeans) ที่ใช้มู้ดบอร์ดยุค Y2K เป็นคอนเซปต์หลักของวง แนวการแต่งตัว ถ่ายภาพ องค์ประกอบศิลป์สไตล์ Y2K จึงกลายเป็นที่นิยมแบบฉุดไม่อยู่ และล่าสุดได้กลายเป็นคำสแลงที่สื่อความหมายถึงความเท่ คูล หรือความเป็นตัวแม่ไปแล้ว
‘ส้มตำ Y2K’
‘กินแบบ Y2K’
‘ล้มแบบ Y2K’
‘จริตตัวมัม Y2K’
‘Y2K’ คืออะไร?
Y2K คำเรียกยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านจาก ‘แอนะล็อก’ ไปสู่ ‘ดิจิทัล’ กับปัญหาทางเทคโนโลยีระดับมนุษยชาติ
Y2K เป็นตัวย่อของคำว่า ‘Year 2000’ ที่ไม่ใช่แค่การเรียกปีคริสต์ศักราช แต่เป็นชื่อของวิกฤตการณ์ทางเทคโนโลยี ‘Y2K Problem’ หรือ ‘Millennium Bug’
ย้อนกลับไปเดือนธันวาคม 1999 คนทั่วโลกเริ่มมีความตื่นกลัวกับการมาถึงของปี 2000 เนื่องจากในยุคนั้นระบบการเก็บข้อมูลทั้งแบบดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์และอนาล็อก ใช้ระบบการนำเลขปีแบบย่อคือ 2 ตัวท้าย เช่น 85 หมายถึงปี 1985 ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสำหรับคอมพิวเตอร์ยุคเก่า หน่วยความจำมีมูลค่าสูงมาก ต่างจากปัจจุบันที่มีฮาร์ดไดรฟ์ 1 เทเลไบต์ หรือคลาวด์ (Cloud) ให้คนทั่วไปซื้อใช้ในราคาย่อมเยา ดังนั้น การพิมพ์เลขปีครบ 4 ตำแหน่ง จึงเปลืองพื้นที่ความจำของคอมพิวเตอร์มาก โลกจึงเลือกใช้ระบบตัวย่อมาตลอด ทำให้การบันทึกข้อมูลไม่เคยมีปัญหามานานกว่าร้อยปี
กระทั่งปี 2000 ใกล้เข้ามา ผู้คนจึงเริ่มหวั่นกลัวว่า หากพิมพ์เลข 00 เข้าไปในคอมพิวเตอร์ ระบบจะเข้าใจว่านั่นคือปี 1900 และข้อมูลทุกอย่างจะพังพินาศ หลายประเทศจึงทุ่มงบประมาณเพื่อป้องกันปัญหา Y2K ที่อาจเกิดขึ้น เช่น สหรัฐฯ ใช้เงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท) จัดตั้งหน่วยงานที่คอยดูแลระบบคอมพิวเตอร์และคลังข้อมูลของประเทศ
ถึงอย่างนั้นผู้คนก็ยังไม่สบายใจ มีคนจำนวนมากในสหรัฐฯ ออกมาต่อแถวถอนเงินจากธนาคารเพราะกลัวว่าหากคอมพิวเตอร์ตีความเลข 00 เป็น 1900 จริง เงินฝากในบัญชีของพวกเขาจะหายไป แต่พอย่างเข้าปีใหม่จริงๆ ก็แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จนภาครัฐและภาคเอกชนออกมาเคลมว่า เป็นเพราะการทุ่มเงินดูแลระบบข้อมูลมหาศาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ปกป้องผู้คนจากหายนะ Y2K ไว้ได้
เมื่อไม่มีปัญหาอะไรร้ายแรง โลกก็เดินหน้าเขาสู่ยุค 2000 อย่างเต็มตัว ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากมาย คอมพิวเตอร์ที่เคยเป็นของใช้เฉพาะสำนักงาน เริ่มถูกผลิตในฐานะ Personal Computer ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เทปบันทึกเสียงถูกแทนที่ด้วยแผ่นซีดี และโทรศัพท์ก็มีขนาดเล็กลง
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย เรื่องใหญ่ในยุค Y2K ของบ้านเรา นอกจากการเตรียมรับมือกับเทคโนโลยีดิจิทัล เห็นจะเป็นการพยายามฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังจาก ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 ในเวลานั้นมีธุรกิจจำนวนมากปิดตัว หลายธุรกิจเกิดใหม่ แต่ท่ามกลางความหม่นทางบริบทสังคม Pop Culture ยุคนั้นกลับสดใส จี๊ดจ๊าด จนทำให้ยุค 2000 โดดเด่นในความทรงจำของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
เราจึงอยากพาผู้อ่านย้อนวันวานไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในยุค Y2K ผ่านไอเท็มที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเรื่องราววัยหวานของใครหลายคน
นิตยสาร a day เล่ม 001
ก่อนการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพจ คอนเทนต์ให้อ่านเป็นโพสต์ และทุกคนสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านสเตตัสได้ มนุษย์เคยก้มหน้าหมกมุ่นกับ ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ มาก่อน หากอยากรู้ข่าวสารก็ต้องรอรับหนังสือพิมพ์ตอนเช้า แต่หากเป็นคอนเทนต์เฉพาะ เช่น เทรนด์แฟชั่น บทสัมภาษณ์ศิลปินดารา หรือบทความต่างๆ ก็ต้องตามซื้อ ‘นิตยสาร’ ซึ่งหากพูดถึงนิตยสารแนวไลฟ์สไตล์ภาพสวย เนื้อหาดี ที่วัยรุ่น Y2K ตามเก็บ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นนิตยสาร a day
นิตยสาร a day เกิดขึ้นจากการร่วมมือของ 3 บุคคล ได้แก่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, นิติพัฒน์ สุขสวย และภาสกร ประมูลวงศ์ โดยเล่ม 001 วางแผงครั้งแรกในเดือนกันยายน 2000 และใช้ธีมชื่อว่า ‘New Age’
นิตยสาร a day เล่มแรก ได้ ธนกร ฮุนตระกูล, เรย์ แมคโดนัลด์, วนิดา เฟเวอร์ และปราบดา หยุ่น มาขึ้นปก ทำให้นิตยสารขายหมดเกลี้ยงทุกแผงใน 2 สัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย จนต้องพิมพ์ซ้ำอีกรอบ ปัจจุบันนิตยสาร a day อยู่คู่กับนักอ่านชาวไทยมาจนถึงเล่มที่ 251 แล้ว
iPod
สำหรับสายดนตรี การจะดื่มด่ำบทเพลงแบบพกพาในยุค Y2K ทำได้หลายแบบ ทั้งการเปิดซีดีในวอล์กแมน (Walkman) เครื่องเล่นเทปจิ๋ว หรือดาวน์โหลดไฟล์เพลงใส่เครื่องเล่น mp3 แต่ไอเท็มที่เท่ห์และล้ำที่สุดคงหนีไม่พ้น iPod จากแบรนด์แอปเปิล (Apple) อุปกรณ์ที่ปฏิวัติการฟังเพลง เนื่องจากหน่วยความจำ 5GB ที่ถือว่าสูงมากในยุคนั้น และระบบการดาวน์โหลดเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์จาก Apple Music แก้ไขปัญหาเพลงเถื่อนแพร่ระบาดจากการดาวน์โหลดและซื้อแผ่น mp3 อีกทั้งยังสามารถจัดการคลังข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเองผ่านโปรแกรม iTunes
iPod รุ่นแรกวางขายเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2001 ราคา 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 บาท) จึงไม่แปลกหากผู้ที่ใช้ไอพอดในยุคนั้นจะถูกจับจ้อง เพราะถือเป็นสินค้าราคาสูง แต่เมื่อแอปเปิลเปิดตัว iPhone รุ่นแรกในปี 2007 พร้อมฟังก์ชันการฟังเพลงที่เหมือนกันทั้งหมด ยอดขายของ iPod ก็เริ่มลดลง จนในวันที่ 27 กรกฎาคม 2017 แอปเปิลประกาศเลิกผลิต iPod ทุกรุ่น และเหลือ iPod Touch วางขายในร้าน iStudio เท่านั้น ถือเป็นการสิ้นสุดยุคของ iPod อย่างเป็นทางการ
ไพ่ยูกิ
ยังจำการรวมกลุ่มกลางห้องเรียนช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียนได้ไหม? เสียงประกาศชื่อการ์ด การปล่อยพลังโจมตี และเสียงโอดครวญของผู้พ่ายแพ้ ต้นเหตุความสนุกของเด็กไทยในยุคนั้นมาจาก ‘ยูกิโอ เทรดดิงการ์ดเกม’ (Yu-Gi-Oh! Trading Card Game) หรือ ‘ไพ่ยูกิ’ นี่เอง
ยูกิโอเป็นเกมการ์ดสะสมจากมังงะเรื่อง ‘ยูกิโอ เกมกลคนอัจฉริยะ’ วางขายครั้งแรกในปี 1999 โดยบริษัท โคนามิ (KONAMI) ประเทศญี่ปุ่น การ์ดเกมยูกิโอในประเทศไทยยังไม่ได้มีลิขสิทธิ์แปลเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่มีการนำเข้าการ์ดลิขสิทธิ์แท้จากต่างประเทศ เป็นการ์ดภาษาญี่ปุ่น และมีการนำเข้าการ์ดภาษาอังกฤษ มาขายตามความต้องการของผู้ค้าปลีก สิ่งนี้จึงแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยในยุคนั้น ‘เล่นอย่างจริงจัง’ เพราะพวกเขาต้องทำข้อมูลเกี่ยวกับการ์ดแต่ละใบเป็นอย่างดี จนจดจำได้แม้จะไม่มีภาษาไทยกำกับ ปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่หันไปเล่นอย่างอื่นแทน แต่การ์ดยูกิก็ยังเป็นไอเท็มในความทรงจำ และยังเป็นที่ต้องการของนักสะสมอยู่
กล้องวิดีโอแฮนดีแคม
จากซีนคุณแม่ยกกล้องวิดีโอแฮนดีแคม (Handycam) ถ่ายลูกสาว เรจินา จอร์จ ในงานแสดงวันคริสมาสต์จากภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls สู่ บัน ฮีซู ตัวละครลับในมิวสิกวิดีโอเพลง Ditto ของสาวๆ วงนิวจีนส์ (NewJeans) ที่เดินถ่ายเพื่อนไปทั่วโรงเรียน คงจะพอทำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของกล้องวิดีโอกับความทรงจำของคนยุค 90-2000 ได้ไม่น้อย
เดิมทีกล้องวิดีโอแฮนดีแคมรุ่นแรกๆ ใช้ระบบบันทึกสัญญาณอนาล็อกลงในวิดีโอเทป ต่อมาในปี 2006 จึงมีการพัฒนาให้สามารถบันทึกแบบดิจิทัลได้ด้วยสื่อจัดเก็บข้อมูล เช่น มินิฮาร์ดไดรฟ์ (Mini HD), แผ่นไมโคร (Micro DVD) และเมมโมรีการ์ด ซึ่งความพกพาสะดวกและคุณภาพความละเอียดที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้องแฮนดีแคมเป็นที่นิยมมาจนถึงปลายยุค 2010 แต่เพราะการถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ และกระแสโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนสะดวกที่จะถ่าย จัดเก็บ หรืออัพโหลดวิดีโอจากอุปกรณ์ตัวเดียวกัน จึงไม่ค่อยพบเห็นการใช้งานกล้องแฮนดีแคมแล้ว
แผ่นดิสก์เกต (Diskette) หรือฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk)
สมัยเรียนมัธยม ใช้อะไรเซฟไฟล์งาน?
ถ้าคำตอบเป็นกูเกิลไดรฟ์ (Google Drive) ยินดีด้วย คุณยังเด็ก แต่ถ้าเป็นแผ่นดิสก์ ซีดี หรือแฟลชไดรฟ์ นั่นหมายถึง ‘คุณไม่เด็กแล้วนะ’ อย่างที่เล่าไปข้างต้นถึงเรื่องวิกฤต Y2K ว่า หน่วยความจำคอมพิวเตอร์สมัยก่อนมีราคาสูงมาก หลายบริษัทต้องมีห้องสำหรับตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ แต่พอก้าวเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพาให้คนทั่วไปซื้อหามาใช้งานกันได้
ฟลอปปีดิสก์วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1971 โดยบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ในชื่อว่า ‘IBM 23FD’ มีลักษณ์เป็นแผ่นพลาสติก ที่มีรูวงกลมตรงกลาง ทำหน้าที่เป็นสื่อบันทึกข้อมูลแบบแม่เหล็ก (Magnetic Storage) ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘IBM Diskette’ สาเหตุที่ดิสก์ประเภทนี้เป็นที่นิยมยาวนานมาจนถึงยุค 2000 เนื่องจากเป็นวัตถุที่เบา บาง และบางรุ่นสามารถเขียนข้อมูลซ้ำได้ แต่ด้วยความจำที่ไม่มากเท่าแผ่นซีดี และคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่มีช่องเสียงฟลอปปีดิสก์แล้ว ทำให้มันเลือนหายไปตามกาลเวลา
ตู้สติกเกอร์
การถ่ายรูปจากตู้สติกเกอร์ (Photo Booth) คืออีกสิ่งจากยุค Y2K ที่กลับมาฮิตจนน่าตกใจ อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่อยากเก็บภาพความทรงจำในการนัดเจอเพื่อนๆ หรือหวานใจ ที่จับต้องได้กว่าการยกโทรศัพท์ขึ้นมาเซลฟี่ หรือรู้สึกสนุกตื่นเต้นจากการต้องหาท่าทางโพสต์ให้ทันเวลานับถอยหลังของกล้อง เกิดเป็นกิจกรรมกลุ่มที่น่ารักไม่น้อย
ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1925 โดยเริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกา ที่ถนนบรอดเวย์และไทม์สแควร์ แต่ตู้ที่เข้ามาตีตลาดการถ่ายรูปประเทศไทยในยุค 2000 คือตู้พุริคุระ (Purikura Booth) ของประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากจะถ่ายรูปออกมาได้ฟุ้งหวานแบบสุดๆ ยังสามารถตกแต่งพื้นหลัง กรอบรูป และวางตัวการ์ตูนน่ารักๆ ลงไปได้ ทำให้มันกลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตของวัยรุ่นสยามสแคว์ในเวลานั้น
ต่อมาในปี 2019 แบรนด์ไทยอย่าง Sculpturebangkok ก็ผลิตตู้ Photoautomat มาวางตามสถานที่ต่างๆ และเทรนด์การถ่ายรูปในตู้ก็กลับมาอีกครั้ง จนหากลองเดินย่านสยามสแควร์ในช่วงวันหยุด ก็จะพบเห็นคนจำนวนมากต่อแถวรอถ่ายกันไม่ขาดสาย
ร้าน Route66
สมัยนี้ถ้าพูดถึงย่านอาร์ซีเอ (RCA) วัยรุ่นยุคใหม่อาจไม่คุ้นหู บางคนที่เคยผ่านไปมาก็อาจมองว่ามันเป็นแหล่งที่ตั้งของร้านอาหาร ร้านนั่งดื่ม หรือคอนโดมิเนียม แต่สำหรับวัยรุ่นยุค 90 ถึงยุค 2000 แล้ว ที่นี่คือย่านของผับ บาร์ และการปาร์ตี้แบบสุดเหวี่ยงไม่แพ้ถนนข้าวสาร และหนึ่งในร้านที่เป็นจุดนัดพบของนักศึกษาทั่วกรุงเทพฯ ในทุกค่ำคืนคงหนีไม่พ้น ‘Route66’
Route66 เปิดให้บริการความบันเทิงในปี 1996 มีที่มาจากชื่อถนนสายหลักของสหรัฐอเมริกา เป็นถนนความยาว 4,000 กิโลเมตร ตัดผ่าน 8 รัฐ ที่นี่จึงหยิบยืมคอนเซปต์ดังกล่าวมาใช้ และเปรียบตัวเองเสมือนจุดนัดพบของคนจากทั่วทุกสารทิศที่ผ่านไปมา
โทรศัพท์ฝาพับ
หากใครเป็นคอละครโทรทัศน์ จะมีช่วงหนึ่งในยุค 2000-2010 ที่พระนางในละครใช้โทรศัพท์ฝาพับบางเฉียบยี่ห้อ Motorola V3 หรือ V3i กันถ้วนหน้า จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความโก้เก๋ กระทั่งผู้เขียนก็ต้องไปหาซื้อมาใช้ตามเช่นกัน ซึ่งพอลองมาค้นหาข้อมูลดูก็พบว่าแบรนด์ Motorola เป็นเจ้าแรกที่ผลิตโทรศัพท์ฝาพับ
ย้อนไปในวันที่ 3 มกราคม 1996 Motorola เปิดตัวโทรศัพท์ฝาพับรุ่น StarTAC ในราคา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 หมื่นบาท) ทำลายภาพจำของมือถือแบบเดิมที่ดูแข็งทื่อ ให้มีลูกเล่นน่าใช้มากขึ้น จึงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย โดยมียอดการซื้อกว่า 60 ล้านเครื่องทั่วโลก และเริ่มปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง
บัตรเติมเงินโทรศัพท์
เมื่อมีโทรศัพท์ Y2K แล้ว ก็ต้องมีบัตรเติมเงินโทรศัพท์ Y2K เช่นกัน เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีแพ็กเกจค่าโทรรายเดือน หรือโทรศัพท์หลายรุ่นก็ยังไม่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ การต้องคอยซื้อบัตรเติมเงินจึงเป็นหนึ่งสิ่งที่ผูกติดกับวิถีชีวิตคนในยุคนั้น
ข้อมูลจากบล็อกดิต (Blockdit) อธิบายว่าระบบโทรศัพท์แบบใช้บัตรในเมืองไทยนั้นเริ่มทดลองใช้เมื่อปี 1987 และเปิดบริการให้ใช้จริงในปี 1991 โดยเริ่มต้นจากในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หาดใหญ่ จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วประเทศ สำหรับบางคน บัตรโทรศัพท์ไม่ได้เป็นเพียงบัตรแข็งที่นำไปใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นของสะสมอีกด้วย เนื่องจากลวดลายและรูปที่ใช้บนบัตร ที่ถูกออกแบบให้เข้ากับช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น รูปของสถานที่ท่องเที่ยว บุคคลสำคัญ หรือภาพตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์แท้ ต่อมาพอก้าวเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือ ค่ายใหญ่เจ้าของเครือข่ายก็พยายามออกแบบบัตรเติมเงินให้สามารถสะสมได้เช่นเดิม
เครื่องเล่นเกม PSP
ขยับจากยุคเกมการ์ด ตู้เกม หรือเพลย์สเตชั่นขึ้นมา อีกสิ่งที่ต้องเคยผ่านมือเกมเมอร์วินเทจมาก่อนคือเครื่อง PSP หรือ PlayStation Portable เครื่องเกมพกพาตัวแรกของ PlayStation จากค่าย Sony วางจำหน่ายรุ่นแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2004
PSP เป็นเครื่องเล่นเกมขนาดพกพาพร้อมหน่วยความจำและหน้าจอใหญ่สะใจ ความละเอียด 720p เล่นเกมได้ผ่านแผ่น UMD (Universal Media Disc) ซีดีขนาดเล็ก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพกพาเกมที่ครั้งหนึ่งเคยต้องเสียบเครื่อง เปิดโทรทัศน์ พร้อมสายระโยงระยาง ไปกับตัวเองได้ทุกที่ จึงกลายมาเป็นไอเท็มที่อยู่ติดมือเกมเมอร์ยุค 2000 อย่างยาวนาน จนกระทั่งยุติการผลิตลงในปี 2014
สำหรับใครที่ทั้งเกิดทันหรือไม่ทัน แต่หลงใหลในเสน่ห์ของยุค Y2K ก็สามารถลองตามเก็บไอเท็มที่กล่าวมา เพื่อให้ของเหล่านี้พาคุณกลับไปยังยุคกึ่งดิจิทัล กึ่งอนาล็อก ที่เต็มไปด้วยความทรงจำสีสดใสและความอบอุ่นแห่งวัยเด็ก ถือเป็นการหยุดพักจากโลกที่เดินเร็วจนตามไม่ทันของโลกปัจจุบันได้ดีทีเดียว
Tags: Feature, Y2K