ในประเทศไทย ยามกวาดตาไปทางใดก็พบว่า ทุกพื้นที่มีแต่ ‘หมา’ เป็นดั่งอุปกรณ์ประกอบฉาก กำลังเดิน นั่ง หรือนอนอยู่ตามที่สาธารณะ จนดูเหมือนว่าหมาจรจัดกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม
แต่แท้จริงแล้ว สิ่งมีชีวิตไร้บ้านที่กระจายตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 2 แสนตัวเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติจริงๆ หรือ
จากข้อมูลการสำรวจประชากรสุนัขและแมวประจำปี 2568 รอบที่ 1 โดยศูนย์บัญชาการเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขกว่า 6.65 ล้านตัว โดยสัดส่วนสุนัขไม่มีเจ้าของอยู่ที่ประมาณ 1.98 แสนตัว แต่รู้หรือไม่ว่า มีประเทศชั้นนำอย่างเนเธอแลนด์หรือเยอรมนีมีจำนวนหมาจรจัดเท่ากับ ‘ศูนย์’
แล้วเหตุใดปัญหานี้ถึงเกิดขึ้นในสังคมไทย จนประชากรหมาแทบรวมกันได้เท่ากับคนใน 1 จังหวัด วันนี้ The Momentum จะพาไปดูการจัดการหมาจรจัดในต่างประเทศ และกลับมาย้อนดูว่า อะไรทำให้ปัญหาหมาจรจัดในประเทศไทยไม่สามารถแก้ปมได้สักที
เพราะหมาไม่ได้เกิดมาเพื่อจรจัด แต่คนต่างหากที่ผลักให้เป็น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาหมาจรจัดในไทยสะสมมาเป็นเวลานาน หลายคนน่าจะเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับหมาจรจัดในทางลบไม่มากก็น้อย อย่างรุมขย้ำเด็ก กัดสัตว์เลี้ยงชาวบ้าน หรือสร้างความรำคาญใจทั้งกลิ่นและเสียง แม้ว่าหมาจะเป็นสัตว์ที่เยียวยาจิตใจมนุษย์และมีความน่ารักในตัว แต่ในอีกมุมหนึ่งหมาก็เปรียบเสมือนเด็ก หากเลี้ยงดูไม่ดีก็ย่อมมีปัญหาตามมา
แต่เหตุที่หมาจรจัดเกลื่อนเมืองเช่นนี้ ก็เพราะการถูกปล่อยปละละเลย หรือทิ้งขว้างจากมนุษย์ที่ ‘หมดรัก’ อาจกล่าวได้ว่า หมาจรจัดเป็นปัญหาของคน และคนก็เป็นปัญหาของหมา บางคราวเราก็จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าต้นตอมาจากอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ทั้งหมาทั้งคนต่างเดือดร้อน และเจ้าสัตว์สี่ขาดูเหมือนจะเจอปัญหามากกว่าคนด้วยซ้ำไป
ประเทศชั้นนำจัดการหมาจรจัดอย่างไร
เริ่มจากประเทศที่จำนวนหมาจรจัดเป็น ‘ศูนย์’ อย่างเนเธอร์แลนด์ ผู้ถือเป็นประเทศแรกที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เป็น ‘ประเทศไร้หมาจรจัด’
โดยภาครัฐจะกำหนดอัตราการเลี้ยงสัตว์สำหรับการซื้อหมาจากร้านค้าในอัตราสูง ประมาณ 4,500 บาทต่อตัวต่อปี เป็นผลให้คนหันมารับเลี้ยงสัตว์จากสถานสงเคราะห์เพราะถูกกว่า หมาจรจัดในประเทศจึงถูกรับเลี้ยงดูแลอยู่เรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังมีโครงการ CNVR ได้แก่ รับ (Collect) ทำหมัน (Neuter) ฉีดวัคซีน (Vaccinate) และส่งคืน (Return) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการฝังไมโครชิปให้สัตว์ทุกตัว และบัญญัติกฎหมายสถานหนักสำหรับคนที่ละทิ้งและทารุณกรรมสัตว์ โดยผู้ใดที่ทอดทิ้งหรือละเลยสุนัขมีโทษปรับมากถึง 18,539 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6 แสนบาท) และจำคุกสูงสุด 3 ปี
ประเทศถัดมาที่ไม่มีหมาจรจัดคือ เยอรมนีซึ่งกำหนดอัตราการเลี้ยงสัตว์สูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ประมาณ 5,400-6,200 บาทต่อตัวต่อปี และหมาทุกตัวจำเป็นต้องฝังไมโครชิป
หากมีหมาหลุดจะถูกนำไปยังศูนย์พักพิงภายในเวลา 48 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มติดต่อกับเจ้าของผ่านการสแกนไมโครชิป ถ้าเจ้าของไม่มารับกลับภายใน 15 วัน สัตว์จะอยู่ในสถานะที่ผู้อื่นสามารถรับเลี้ยงได้
การละทิ้งสัตว์ของเยอรมนีมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 เดือน และปรับ 52-2,000 ยูโร (ประมาณ 1,945-7.5 หมื่นบาท) และหากกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี จะได้รับโทษ 2 เท่า หรือละเมิดอย่างรุนแรงอาจปรับสูงสุด 1.25 หมื่นยูโร (ประมาณ 4.7 แสนบาท)
นอกจากนี้คนเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ดุร้ายอย่างพิตบูลล์ ต้องขอใบอนุญาตจากตำรวจและเข้ารับการฝึกอบรมนิสัย เพื่อป้องกันความปลอดภัยของคนรอบข้างเวลานำออกไปข้างนอก ซึ่งครอบคลุมทั้งความปลอดภัยของเจ้าของและบุคคลที่ผ่านมาผ่านไปด้วย
มาดูประเทศแทบเอเชียอย่างญี่ปุ่นกันบ้าง หลายๆ คนที่เคยไปญี่ปุ่นก็จะพบว่า ไม่ค่อยเห็นหมาจรจัดเพ่นพ่านนัก โดยมีมาตรการเน้นไปที่การคุ้มครองสัตว์และป้องกันการค้าที่ผิดกฎหมาย อย่างการบังคับให้ร้านค้าสัตว์ฝังไมโครชิป ห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยงเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือประเมินความพร้อมของผู้รับเลี้ยงก่อนซื้อขายสัตว์
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการ TNP คือดักจับ (Trap) ทำหมัน (Neuter) และปล่อยคืน (Release) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโครงการของเนเธอร์แลนด์
แต่ความต่างในการจัดการสุนัขจรจัดที่ญี่ปุ่นต่างจาก 2 ประเทศที่ว่ามาคือ การปลิดชีพหมาในสถานพักพิง แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีหมาจรจัดเพ่นพ่านข้างถนนก็จริง แต่การจัดการหมาเหล่านั้นก็ดูจะหักดิบไปหน่อย เพราะทุกๆ ปีต้องมีหมาจรจัดโดนปลิดชีพจำนวนมาก ซึ่งยังเกิดการเรียกร้องจากเหล่าคนรักสัตว์ในประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
ประเทศชั้นนำที่จัดการหมาผ่านการปลิดชีพคล้ายๆ กันก็คือ สหราชอาณาจักรจะกระทำผ่านการการุณยฆาต โดยทีมเทศบาลจะนำสัตว์ไปยังศูนย์พักพิง เมื่อศูนย์พักพิงไม่สามารถรองรับสัตว์จรจัดเพิ่มได้ และไม่มีเจ้าของมารับสุนัขกลับ หรือรับไปเลี้ยงดูแล้ว ก็จะปลิดชีพสัตว์เพื่อลดจำนวนลง ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสงสารและหดหู่ใจอยู่ไม่น้อย
กลับมาทางฝั่งเอเชียอย่างประเทศสิงคโปร์ ก็ถือเป็นประเทศที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยภาครัฐมีโครงการจัดการหมาจรจัดอย่าง TNRM คือดักจับ (Trap) ทำหมัน (Neuter) ปล่อยกลับ (Rehome, Release) และจัดการ (Manage) โดยมีหมาจรจัดกว่า 80% ในประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการ จากทั้งหมดประมาณ 7,000 ตัว รวมถึงมีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเลี้ยงโดยต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องไม่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เพื่อประกันความปลอดภัยที่หมาอาจทำอันตรายต่อเด็ก
อีกทั้งคนที่ต้องการเลี้ยงสุนัขจะต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ที่อยู่อาศัย เอกสารการเสียภาษี รวมทั้งเอกสารให้เลี้ยงสุนัขในพื้นที่ เพื่อแสดงความพร้อมในการเลี้ยงสุนัขอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การจัดการเกี่ยวกับสุนัขจรจัดในประเทศชั้นนำมุ่งเน้นและให้ความสำคัญทั้งทางกฎหมายอันเป็นการควบคุมต้นเหตุ และนโยบายในการเชิงปริมาณอันเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แม้ว่าในประเทศบางกลุ่มจะมีวิธีการลดจำนวนที่น่าหดหู่ใจและอาจขาดความเมตตาต่อเพื่อนสัตว์โลกก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็เพื่อยกมาเป็นกรณีศึกษาว่า ประเทศชั้นนำจัดการกับหมาจรจัดอย่างไรเท่านั้น จึงทำให้ปัญหาในประเทศของเขาบางเบากว่าที่ไทยมาก
แล้วไทยมีนโยบายจัดการสุนัขจรจัดอย่างไร
สำหรับนโยบายในการจัดการสุนัขจรจัดพบว่า การดูแลในเขตกรุงเทพฯ โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุนโยบายปัญหาสัตว์จรจัดในระยะยาว 4 ด้าน ได้แก่
1. จัดชุดออกปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุกอย่างมียุทธศาสตร์ ผ่านการร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ คลินิกเอกชน และคณะสัตวแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัย
2. เปลี่ยนสุนัขจรจัดเป็นสุนัขชุมชน โดยขึ้นทะเบียนและติดสัญลักษณ์หลังจากมีการทำหมันฉีดวัคซีนแล้ว และมีประชาชนหรือชุมชนช่วยกันดูแลในละแวก
3.ปรับปรุงศูนย์พักพิงของ กทม.และกำกับดูแลศูนย์ของเอกชนให้มีมาตรฐาน
4. ส่งสัตว์จรจัดกลับสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt Not Shop) ผ่านการมีบ้านและเจ้าของใหม่ที่มีความพร้อม ด้วยขั้นตอนการสมัคร การสัมภาษณ์ ตลอดจนการดูความพร้อมของเจ้าของ
ในปัจจุบันจำนวนสุนัขจรจัดใน กทม.จึงเหลือเพียง 168 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี มีจำนวนสุนัขจรจัดถึง 1,073 ตัว, ปทุมธานี 5,982 ตัว และสมุทรปราการ 5,423 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่าแม้จะอยู่ในละแวกใกล้เคียงก็ตาม
สิ่งนี้กำลังบอกอะไรแก่เรา
อาจบอกได้ว่า การกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในแต่ละจังหวัด เป็นผลให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพต่างกัน ทั้งๆ ที่เขตปริมณฑลมีความเจริญไม่ต่างจากเมืองหลวง แต่เหตุใดจำนวนหมาจรจัดในจังหวัดนั้นถึงมากกว่ากรุงเทพฯ เหตุเพราะทุกอย่างเกี่ยวโยงกับงบประมาณ คุณภาพ ความอิสระในการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย หรือการปกครองในส่วนต่างๆ ด้วย
นั่นจึงทำให้กรุงเทพฯ ต่างจากที่อื่น เพราะมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ และมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมันจะดีกว่าหรือไม่ หากทุกจังหวัดสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระและมีแผนงานที่ชัดเจนอย่างเมืองหลวง เมื่อถึงเวลานั้นหมาจรจัดจะยังมากขึ้นอย่างนั้นหรือ
ยังไม่นับการบริหารจากต่างจังหวัด ที่เทียบจำนวนหมาจรจัดแล้วส่วนใหญ่มีจำนวนมากกว่า 1,000 ตัวขึ้นไปอีก เช่น กาญจนบุรีมี 5,148 ตัว, นครสวรรค์มี 4,494 ตัว, พิษณุโลกมี 4,246 ตัว, เชียงใหม่มี 2,138 ตัว, ตากมี 2,402 ตัว, ศรีสะเกษมี 3,681 ตัว, ประจวบคีรีขันธ์มี 2,156 ตัว, สงขลามี 9,256 ตัว หรือนครราชสีมามี 11,495 ตัว ซึ่งมีจำนวนเยอะที่สุดในประเทศ
โดยแผนดำเนินงานเกี่ยวกับสุนัขจรจัดในจังหวัดต่างๆ นี้แทบไม่พบข้อมูลหรือนโยบายการจัดการเลย ราวกับว่าแผนงานเป็นเรื่อง ‘ใต้ดิน’ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือดูได้อย่างไรอย่างนั้น
ทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลัก ในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดตามพื้นที่ของตน ครอบคลุมไปถึงการจับ ทำหมัน และจัดหาที่พักพิง แล้วเหตุใดเทศบาลที่ควรเป็นหน่วยงานที่ชาวบ้านเข้าถึงง่ายที่สุด ทั้งในเรื่องข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการร้องเรียนปัญหาจึงไม่สามารถจัดการปัญหาหมาที่ง่ายกว่าคนได้เช่นนี้
เราจึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้ว่าฯ ในจังหวัดนั้นๆ มีแพลนจะจัดการปัญหาหมาอย่างไร เรื่องมีความคืบหน้าไปถึงไหน นโยบายที่ทำให้ประชาชนมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นแผลใหญ่ที่ทำให้ปัญหาหมาจรจัด รวมถึงปัญหาอื่นๆ สำหรับประชาชนในต่างจังหวัดยังเหลื่อมล้ำกว่าอยู่ดี
ปัญหาหมาจรจัดจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่คนให้ข้าวหมา หมาโดนคนทิ้ง หมากัดคน หรือคนตีหมา แต่เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ทุกภาคส่วนจะจัดการกับมันอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต้นตออย่างกฎหมาย รวมถึงปลายเหตุในการจัดการและควบคุมปริมาณ ไม่ใช่การโยนภาระให้กับชาวบ้านและจำกัดด้วยกรอบแห่งความเมตตาอารีเช่นนี้
ก็เพราะที่ไทยยังมีวัดให้ปล่อย มีคนใจบุญคอยช่วยให้ข้าวให้น้ำ มีการบริหารจัดการที่ไม่ครอบคลุมความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน หรือกฎหมายที่ยังไม่เด็ดขาดมากพอในการลงโทษคนที่ขาดความรับผิดชอบ หมาจรจัดจึงยังเป็นสิ่งที่ไม่หายไปจากสังคมไทย เพราะคนไทยก็เพียงแต่ ‘รับรักแต่ไม่รับเลี้ยง’ หมาจรจัดตาดำๆ เท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://kristikeller876.medium.com/how-one-country-has-eliminated-its-stray-dog-problem-d2d72d418cba
https://www.koktailmagazine.com/2023/09/24/netherlands-stray-dogs/
https://www.brandthink.me/content/japanese-dog-control-measures
https://www.globalgiving.org/projects/putting-an-end-to-pet-euthanasia-in-japan/
http://pawer.jp/en/current-status-of-euthanasia/
https://www.chadchartofficial.com/policy/6217be204e43cd8b4760bca2
https://www.sanook.com/campus/1389313/
https://agenda.co.th/socieverse/homeless-dog/
https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/Sub_Jun/3journal/b247.pdf
http://www.rabiesonedata.ku.ac.th/
Tags: ปัญหาหมาจรจัด, หมาจรจัดในต่างประเทศ, หมาจรจัดไทย, การจัดการ, กฎหมาย, หมาจรจัด, นโยบายต่างประเทศ, หมาจร, Untitled Dog