‘การนวด’ นับว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่มีเอกลักษณ์และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนวดในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมาก หากมองจากจำนวนร้านนวดที่มีแทบทุกมุมทั้งในและนอกเขตเมือง ทั้งรูปแบบการนวดเพื่อแก้อาการหรือนวดเพื่อผ่อนคลาย
‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร’ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ ‘วัดโพธิ์’ ถือเป็นหนึ่งในปูชนียสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่ทรงคุณค่าระดับโลก และยังเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์การนวดในประเทศไทย
อีกทั้ง ‘จารึกวัดโพธิ์’ ยังถือเป็นต้นตำรับแพทย์แผนไทยแขนงโบราณที่บันทึกทั้งเรื่องราวทางการแพทย์ และเป็นหนึ่งใน ‘มรดกแห่งความทรงจำโลก’ ของไทย ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
อย่างไรก็ดี แม้การนวดแผนไทยของที่นี่จะเป็นการนวดแก้อาการและรักษาโรคทางการแพทย์ ซึ่งมีทั้งสภาการแพทย์แผนไทยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพรองรับ แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับการแพทย์ทางสากลทั่วไป
คำถามสำคัญคือ นอกจาก ‘วัดโพธิ์’ และ ‘นวดวัดโพธิ์’ จะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในแง่ของการซึมซับมรดกวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เราจะสามารถยกระดับการนวดไทยโบราณนี้ให้กลายเป็นการรักษารูปแบบหนึ่งทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลได้หรือไม่?
The Momentum มีโอกาสชวน เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มาพูดคุยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ศาสตร์การนวดแผนโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ การเรียนสอนนวดไทย ความสัมพันธ์ระหว่างวัดโพธิ์และโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงโอกาสของการยกระดับการนวดและแพทย์แผนไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
‘นวดวัดโพธิ์’ มีความเป็นมาอย่างไร
ชื่อเต็มของโรงเรียน คือ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ หลักสูตรหลักคือการนวดเพื่อสุขภาพ รวมถึงการนวดเพื่อรักษาแก้อาการ เป็นวิชาชีพนวดไทยที่ขึ้นชื่อ ภายหลังการนวดแตกขยายไปค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นจะแบ่งหลักๆ เป็นการนวดเพื่อสุขภาพที่จะดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข และการนวดเพื่อประกอบวิชาชีพที่จะได้ใบประกอบที่ดูแลโดยสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะเป็นคนละหน่วยงานกัน
จุดเริ่มต้นของการนวดในประเทศไทยเป็นไปเพื่อการแพทย์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการผ่อนคลาย
ในวัฒนธรรมโบราณ มีธรรมเนียมที่เด็กๆ จะต้องนวดให้คุณปู่คุณย่า มิติของการนวดเพื่อดูแลสุขภาพเบื้องต้นจึงเกิดจากตรงนี้ หากเรามองออกนอกบ้าน ในส่วนของหมอตำแย หรือแม่ที่ดูแลเด็ก แม่จะนวดให้ลูกโดยเฉพาะทารก เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ลูกและให้ลูกไม่นอนผวา
อีกกรณีหนึ่ง คือ เวลาหมอตำแยทำคลอดจะต้องดูว่าแขนขาของเด็กโอเคไหม เขาจะนวดและดัดขาเด็กให้เข้าที่ ที่โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ก็มีหลักสูตรนวดทารกเช่นกัน เป็นการนวดเพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย ให้เด็กหลับสนิท แก้ท้องผูก กระตุ้นการย่อยของอาหารและไล่ลงไปสู่กระเพาะอุจจาระเพื่อให้ถ่ายออกมา ซึ่งในส่วนนี้มักไม่ค่อยได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะมีการบันทึกในภาพตามวัด อย่างเช่นในวัดโพธิ์ก็จะมีภาพที่นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นการนวดเพื่อคลอดลูก นวดเพื่อช่วยให้คลอดง่าย และนวดเพื่อให้ผ่อนคลายสำหรับหมอที่อยู่ในราชวัง
นอกจากที่โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ยังมีต้นตำรับการนวดที่อื่นอีกไหม
การแพทย์แผนไทยหรือการนวดแผนไทยเป็นองค์ความรู้ที่อยู่คู่เรามาตลอด เพราะฉะนั้นตามชนบทหรือตามชุมชนต่างๆ จะมีหมออยู่แล้ว หลายคนอาจจะไม่ใช่หมอนวดโดยตรง แต่อาจจะเป็นหมอผี หมอเมือง หรือหมอไสยศาสตร์ ส่วนหมอนวดที่อยู่ตามชุมชนก็มีเยอะ
ถ้าได้ไปดูงานการนวดของกรมการแพทย์แผนไทยที่เมืองทอง จะเห็นว่ามี ‘การนวด 4 ภาค’ เราจึงสามารถเรียนการนวดของแต่ละภาคที่สำคัญและมีเอกลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันได้ ดังนั้น การนวดจึงมีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว เพราะการนวดเป็นวิธีการรักษาโรคที่ง่ายที่สุดโดยไม่ต้องใช้ยา และช่วยให้หลายอาการหายได้
หลักสูตรของที่นี่มีอะไรบ้าง หากจบหลักสูตรไปจะสามารถประกอบอาชีพได้เลยไหม
หลักสูตรของเราแบ่งออกเป็นสองประเภท ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อการรักษา แต่จะเป็นประเภทที่ยึดโยงกับองค์ความรู้ของการแพทย์แผนไทยโดยตรง ที่เรียกว่า ‘เส้นสิบ’ หรือจุดตามตำราที่อยู่ในวัดโพธิ์ จะเป็นการนวดไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อผ่อนคลาย นวดเพื่อแก้อาการ รักษาอาการ และการนวดโดยใช้ลูกประคบสมุนไพร
นอกจากนี้ยังมีการนวดโดยการใช้น้ำมันไพล ซึ่งเป็นตัวยาหลักรองลงมาจากลูกประคบ การนวดแบบนี้จะมีข้อดีคือ ในสปาสมัยใหม่ที่เป็นพื้นที่ปิด การใช้ลูกประคบหรือการใช้หม้อนึ่งจะใช้ไม่ได้ เราจึงดัดแปลงเป็นการใช้น้ำมัน ซึ่งจะมีน้ำมันไพล น้ำมันที่เป็นอโรมา แม้กระทั่งน้ำมันกัญชา โดยเราจะใช้ควบคู่กับเส้นนวดหรือจุดนวดตามตำราแพทย์แผนไทย แม้กระทั่งการนวดเท้าก็นำมาผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนจีนกับการนวดตามแนวจุดที่ช่วยให้ผลดีมากยิ่งขึ้น
ช่วยขยายคำว่า ‘เส้นสิบ’ ให้ฟังหน่อย
‘เส้นสิบ’ คือ แนวเส้นหลัก หรือที่เรียกกันว่า ‘เส้นประธานสิบ’ เส้นนวดนี้มีคนกล่าวอ้างว่ามีเส้นย่อย 2,000 หรือ 20,000 กว่าเส้น ในขณะที่เราใช้เส้นหลักคือ ‘เส้นสิบ’ ประกอบด้วย อิทา ปิงคลา สุมนา กาลทารี สหัสรังสี ทวารี จันทภูสัง รุชำ นันทกะหวัด และ สิกขิณี
‘เส้นสิบ’ คือประธานของเส้น เป็นการมองเห็นทั้งด้านซ้าย ด้านขวา การได้ยินทั้งหูซ้าย หูขวา การได้กลิ่นจมูกซ้าย จมูกขวา และก็มีเส้นที่เป็นเส้นทั้งตัวในการเคลื่อนไหว และสุดท้ายคือเส้นการย่อยอาหาร เส้นของการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ เส้นพวกนี้จะเป็นเส้นที่ผ่านรอบกาย บางคนบอกว่าเริ่มจากสะดือและวิ่งขึ้นมา ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับอวัยวะภายในที่ทำงาน ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การชิมรส การเคลื่อนไหว และการขับถ่ายทั้งหนักและเบา
ร้านนวดเหล่านี้ก็จะช่วยกระตุ้น และช่วยให้การทำงานของเส้นและอวัยวะดีขึ้น การนวดจะช่วยกระตุ้นธาตุน้ำและธาตุลมที่เป็นธาตุเคลื่อนไหวในธาตุทั้ง 4 ตามหลักการแพทย์แผนไทย เราเชื่อว่ามนุษย์มี 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่เป็นหลักของอายุรเวทซึ่งจะต่างกับการแพทย์ของจีนที่จะแยกธาตุดินออกมาเป็นไม้กับทอง ธาตุดินของเขาจะเป็นธาตุที่มีคุณสมบัติที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นการนวดก็จะช่วยสร้างสมดุลของธาตุที่เคลื่อนไหว
ตามหลักแพทย์แผนไทย ความเจ็บป่วยเกิดจากการที่ธาตุทั้งสี่ทำงานไม่ปกติ บางทีมากเกินไปก็จะเรียกว่าธาตุกำเริบไม่สมดุลกัน หากน้อยเกินก็จะเรียกว่าหย่อน หากไม่มีเลยก็จะเรียกว่าพิการ การรักษาเบื้องต้นคือการปรับสมดุลของธาตุ หลังจากนั้นหมอที่มีความรู้ก็จะให้ยาเพื่อกระตุ้นธาตุต่างๆ ให้ทำงานได้ดีขึ้นและเข้าสู่สมดุล สิ่งไหนที่ขาดไปก็พยายามเพิ่มขึ้น สิ่งไหนที่น้อยเกินไปก็จะปรับมัน
หลักสูตรที่นี่ หากเรียนจบแล้วจะสามารถประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนโบราณได้เลยไหม
หากเป็นหลักสูตรการแพทย์เพื่อสุขภาพ เมื่อจบแล้วก็จะได้ทำงานขึ้นทะเบียนที่กรมสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ และทำงานในฐานะที่เป็นผู้ประกอบอาชีพนวดเพื่อสุขภาพ เมื่อขึ้นทะเบียนก็สามารถทำงานได้ตามร้านนวดตามสปาทั่วประเทศไทย
อีกส่วนหนึ่งคือ เมื่อจบแล้วสอบใบประกอบนวดศิลปะ อันนี้จะทำงานตามคลินิกหรือโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย โดยสองกลุ่มนี้จะดูแล อาณาเขตประเทศไทย แต่ส่วนของเราที่มีชื่อเสียงค่อนข้างเยอะก็จะมีอยู่ 20 หลักสูตร มีหลายหลักสูตรที่ต่างประเทศรับรอง ทั้งรับรองบางส่วนหรือรับรองทั้งหมด
ยกตัวอย่าง ในประเทศสหรัฐอเมริกา บางรัฐใช้ 300 ชั่วโมงในการทำงาน บางรัฐต้องใช้ 800 ชั่วโมงในการทำงาน แต่ของเราจบที่ 60 ชั่วโมงหรือ 150 ชั่วโมงก็จะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา และหมอนวดที่ต้องการทำงานในประเทศนั้นก็จะไปเรียนเพิ่มเติม เมื่อครบตามองค์ประกอบที่ต้องการก็จะไปสอบ หากสอบผ่านก็จะได้เป็น Massage Practitioner
ในต่างประเทศมีสาขาแพทย์แผนไทยแยกไหม หรือแพทย์แผนไทยมีแค่ในประเทศไทย
ต่างประเทศจะนับการนวดไทยเป็นวิชาเลือก คือเราจะต้องนวดในรูปแบบที่เขารับรองเป็นหลัก เช่น อเมริกาจะเรียกหมอนวดว่า Health Practitioner จะไม่เรียกว่านวดไทย โดยที่ Health Practitioner ต้องนวดได้ตามมาตรฐานของเขา
ในแง่ของความนิยมในปัจจุบัน การนวดยังได้รับความนิยมไหม
ตอนนี้หลายคนที่มาเที่ยววัดโพธิ์หรือมาเที่ยวเมืองไทยก็มักมาลองการนวดไทย แต่ถ้าไม่สะดวกมาก็ยังมีร้านนวดที่อื่นค่อนข้างเยอะ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองเข้าร้านนวดที่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องและมีหมอนวดที่ผ่านมาตรฐานได้เช่นเดียวกัน
คิดว่าการนวดเป็น Soft power ที่แข็งแกร่งของไทยไหม
ผมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยที่แข็งแกร่งมาก ตอนนี้มีเทรนด์ที่นักเรียนที่ต้องการไปต่างประเทศจะมาเรียนนวดไทย เพราะหากคุณพูดภาษาอังกฤษไม่เก่งแล้วไปเสิร์ฟอาหารเขาก็มักจะไม่รับแล้ว แต่อาชีพหมอนวดไม่ต้องการให้คุณพูดภาษาอังกฤษเก่ง คุณมี Reception ที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อยู่แล้วว่าต้องการนวดแบบไหน และหากขึ้ื่นชื่อว่าเป็นการนวดไทย คนต่างชาติก็จะรู้สึกว่าเป็นของแท้
ถ้าใครไม่ได้มีญาติพี่น้องที่ต่างประเทศก็อยากให้มาเรียนนวดไทยไว้ มันสร้างคุณภาพชีวิตให้กับนักเรียนที่ทำงานต่างประเทศได้ค่อนข้างดี เราพยายามสอนให้เขาทุกอย่าง เมื่อถึงเวลาเขาก็จะเป็นตัวแทนของการนวดไทย ตัวแทนของการดูแลวัฒนธรรมไทย เหมือนเราไปสร้างวิถีวัฒนธรรมของไทยในต่างประเทศ
มองภาพการเติบโตของการนวดไทยอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง
ความจริงการนวดไทยโตอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะตามทันไหม เราจะได้ประโยชน์หรือจะนำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ของเราใส่เข้าไปในนั้นเพื่อให้โครงการนี้สูงขึ้นและได้รับการตอบรับในเชิงวิชาการรักษามากขึ้นอย่างไร
ผมทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2540 เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ ช่วงนั้นการนวดไทยตีคู่มากับ ‘มวยไทย’ จากนั้นเราก็เริ่มเห็นมวยไทยขยับขยาย เดี๋ยวนี้นักมวยฝรั่งมาชกทุกอาทิตย์เลย ทุกเวทีต้องมีการถ่ายทอดสดและมีคนต่างชาติมาต่อย
ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาร่วมกัน การนวดไทยก็จะไม่อยู่ยืนยาวนาน เพราะเราไม่มีพลังทางด้านเศรษฐกิจหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลเหมือนรัฐบาลจีน
ยกตัวอย่างรัฐบาลจีนเมื่อ 10 ปีก่อน ถ้าคุณจะไปทำเรื่องการนวดแผนจีนหรือการรักษาแบบฝังเข็ม คุณสามารถกู้เงินรัฐบาลจีนได้เลย 10 ปี และไปประเทศไหนก็ได้ รัฐบาลจะเป็นคนช่วยเอง
ปัจจุบันนี้การนวดจีนมีการช่วยเหลือและการผลักดันที่มากกว่าแพทย์แผนไทยค่อนข้างมาก ทุกวันนี้หลายมหาวิทยาลัยมีการเปิดแพทย์แผนจีนสอนฝังเข็มสำหรับหมอแผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนจีนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย รวมถึงเปิดเป็นวิชาเลือกแบบแพทย์แผนตะวันออก
ที่เขาสามารถทำสิ่งที่แพทย์แผนไทยทำไม่ได้เพราะเราไม่มีระบบช่วยเหลือเหล่านั้น แต่ว่าเราก็โตไปตามความสามารถของเรา ค่อยๆ แทรกซึมลงไปอยู่กับชุมชนและทำให้ต่างชาติยอมรับ ค่อยๆ เติมเต็มไปเรื่อยๆ ว่าจะทำอย่างไรให้มีทิศทางและสร้างการยอมรับให้กับทั่วโลกได้ เพราะหากไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลหรือทางการในที่นั้นๆ ก็ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมหรือชุมชนหรือคนในประเทศนั้น
สุดท้ายมีอะไรอยากฝากเกี่ยวกับการนวดไทยไหม
ผมสนใจว่าจะทำอย่างไรให้การนวดไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และทำอย่างไรจะพัฒนาให้การนวดไทยเป็นการดูแลสุขภาพอันดับ 1 ใน 3
ผมสนใจว่าทำอย่างไรที่นักเรียนอายุน้อยหรือเรียนจบม.6 จะมาเรียนการนวด เพื่อมีจุดมุ่งหมายที่จะประกอบอาชีพนี้และพัฒนาต่อไป เพื่อเราจะได้พัฒนานักเรียนและองค์ความรู้ควบคู่กันไป ให้วิชาการนวดลงลึกขึ้น และอยู่ในวงวิชาการในระดับที่ทำงานควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันหรือการรักษาแบบอื่นในโรงพยาบาลได้
การนวดไทยไม่ใช่แค่บีบๆ นวดๆ แต่คือวิถีชีวิต คือเรื่องของร่างกายและจิตใจ ถ้าคนที่รู้สึกลึกซึ้งมาก เขาก็จะลงไปถึงการปฏิบัติ การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ หรือฤาษีดัดตนก็จะเป็นรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นรูปแบบของการนั่งกรรมฐาน
หากพัฒนาไปถึงตรงนั้น ก็จะช่วยให้เรามีบุคลากรที่ทำงานร่วมกับคนต่างชาติ นานาชาติ หรือระบบสุขภาพในปัจจุบันได้ดี และเป็นพัฒนาการที่ช่วยยกระดับการนวดหรือการนวดเพื่อสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น และทำรายได้มากขึ้น
Tags: นวดแผนโบราณ, แพทย์แผนไทย, นวดวัดโพธิ์, วัดโพธิ์