“เราก็อยากให้คำตัดสินมันอีกนานไปเลย ให้เขาสร้างให้เสร็จ ให้เขาเห็นว่า สร้างเสร็จแล้วก็อยู่ร่วมกันได้” คือเสียงจากผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ศาลเจ้าท่ามกลางโครงการพัฒนาตึกสูงกลางที่ดินของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ
ท่ามกลางตึกสูง ไซต์ก่อสร้าง และมหาวิทยาลัย ศาลเจ้าที่นี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนเซียงกง กำลังดิ้นรน เพื่อหาที่ยืนท่ามกลางการพัฒนาเมืองไม่เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชุมชน
“สมัยก่อนตรงนี้เป็นชุมชนที่คนอยู่เยอะมาก อลังการมาก ขายอะไหล่รถยนต์ทั้งมือหนึ่งและมือสอง คนแห่มาซื้ออาหารที่ร้านตรงนี้ทุกร้าน ไม่มีร้านไหนที่ไม่มีนิสิตจุฬาฯ เข้ามานั่งกิน หลายร้านเปิดโต้รุ่งเลยก็ว่าได้” เพ็ญประภา สวนส้ม หรือที่เหล่านิสิตเรียกกันว่า ‘พี่นก’ ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม เล่าให้ฟังถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของชุมชนเซียงกง ที่ปัจจุบันเหลือเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ยังยืนหยัดอยู่เท่านั้น
“ตี 5 จะมีชาวบ้านละแวกนี้มาเคาะหน้าต่างเพื่อขอไหว้เจ้าทุกวัน พี่ก็ต้องตื่นไปเปิดประตูให้เขาเข้ามาแล้วค่อยไปนอนต่อ (หัวเราะ)” ความผูกพันและเคารพศรัทธาของชุมชมเซียงกงต่อศาลเจ้าแม่ทับทิมสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าร้อยปี จากความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าแม่ทับทิมที่เมื่อชาวบ้านขอสิ่งใดก็มักสมปรารถนา โดยเฉพาะการขอลูก แต่ส่วนมากจะได้ลูกสาวเท่านั้น เพราะองค์อาม่าเป็นผู้หญิง
แต่หลังจากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ไล่ที่ชุมชนเซียงกงออกไปเพื่อทำเป็นอาคารพาณิชย์และคอนโดมิเนียม ความเป็นชุมชนก็ได้สลายหายไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง กลายเป็นร่องรอยสุดท้ายของชุมชน จากการยืนหยัดว่าจะไม่ย้ายไปไหน ไม่ว่าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากครอบครัวพี่นกถึง 4,600 ล้านบาทก็ตาม
ผลของการฟ้องไล่ที่สร้างปฏิกิริยาตีกลับจากสังคมจนเกิดกระแสแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ทำให้สังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองมากขึ้น
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ชื่อของศาลเจ้าแม่ทับทิมก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังจากสารคดี ‘Last Breath of Samyan’ สารคดีที่ตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของพี่นกและนิสิตนักศึกษา เพื่อรักษาศาลเจ้าแม่ทับทิม เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ House สามย่าน สามย่านมิตรทาวน์
เดือนมิถุนายน 2563 สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนพัฒนาที่ดินบริเวณหมอน 33 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน ทำให้ต้องรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเช่าที่ดินบริเวณนี้มากว่า 35 ปี และหมดสัญญาเช่าไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อทำเป็นพื้นที่สีเขียว ขนาบข้างด้วยคอนโดมิเนียมและอาคารของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ และมีการย้ายศาลไปไว้ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ข้าง I’m Park แทน
“เรายังอยากอยู่ตรงนี้ เราอยากเห็นว่าการสร้างของเขาจะเป็นจริงอย่างที่พูดไหม แต่พอเขาสร้างเสร็จมันไม่เหมือนเลย ขนาดความกว้างเขาก็ย่อให้เล็กลง เสาก็ไม่เหมือนเดิม แบบทุกอย่างคือไม่เหมือนเดิมเลย” พี่นกกล่าวขึ้นอย่างเจ็บใจ เมื่อพูดถึงศาลใหม่ที่ทางสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ รับปากว่าจะสร้างออกมาให้ตรงตามศาลเจ้าเก่ามากที่สุด แต่กลับออกมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ต่อมาพี่นกและครอบครัวถูกโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายถึง 4,600 ล้านบาท จากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ หากไม่ยอมย้ายออกก่อนเดือนสิงหาคม 2563 ทว่าจนถึงบัดนี้ก็ยังต้องต่อสู้อยู่ในชั้นศาลเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิที่จะรักษาศาลเจ้าแม่ทับทิมไว้ต่อไป
วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) จะมีการนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายของศาลชั้นต้น เพื่อนำไปประกอบคำตัดสินว่า ท้ายที่สุดแล้วจิตวิญญาณแห่งชุมชนแห่งนี้ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองได้หรือไม่
บรรยากาศเงียบเหงา แดดร้อนๆ พร้อมด้วยลมพัดเอื่อยๆ เสียงก่อสร้างที่ดังก้องขึ้นเป็นระยะ ผสมปนเปกับกลิ่นธูปที่คละคลุ้งอยู่จางๆ ชวนให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าแห่งนี้
รูปภาพเก่าและสถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋วตามเสา กำแพง และเพดาน ชวนให้นึกถึงอดีตอันอุ่นหนาฝาคั่งของศาลเจ้าแห่งนี้ ในวันที่สามย่านยังอุดมไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณของชุมชน
รูปปั้นองค์เจ้าแม่ทับทิมและองค์อื่นๆ อีกหลายองค์ตั้งตระหง่าน พร้อมให้ผู้คนเข้าสักการะบูชาและห่มผ้าแพรถวาย นอกจากนั้นยังมีกระถางธูปพร้อมลายประทับ จปร. ที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ถวายเป็นสังเค็ดเนื่องในโอกาสสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เก่าแก่โบราณของศาลเจ้าแม่ทับทิม
“มีของเก่า ของโบราณในนี้ที่น่าศึกษา อีกอย่างหนึ่งคือถ้าไม่มีที่ตรงนี้แล้ว มีแต่รูปภาพ แล้วของจริงจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อของจริงไม่มีให้ดูก็จะมีแค่ในหนังสือภาพเท่านั้นละ” พี่นกพูดขึ้นเมื่อถามถึงสาเหตุที่นิสิต นักศึกษาจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม
เป็นสถานที่สุดท้ายแล้วจริงๆ ที่นิสิต นักศึกษาจะได้มีโอกาสศึกษาและทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนโดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แม้ว่าพี่นกจะต้องดูแลศาลไปด้วยและต่อสู้บนชั้นศาลกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ไปพร้อมกัน แต่พี่นกก็ยังมีกำลังใจและความหวังอยู่เต็มเปี่ยม ส่วนหนึ่งมาจากเหล่านิสิต นักศึกษา ที่ตั้งแต่มีประเด็นคัดค้านรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมเมื่อปี 2563 ก็มาให้กำลังใจพี่นกและร่วมคัดค้านการรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมมาโดยตลอด
“ตอนแรกท้อมาก ร้องไห้เกือบทุกวัน ไม่รู้จะคุยกับใคร ใครเข้าศาลเจ้ามาเราก็ระแวงไปหมด เพราะเราโดนบีบจากทุกทาง พอมีน้องๆเข้ามาก็ดีขึ้น กำลังใจตอนนี้โอเคเลย
“หวัง หวังมากเลยว่าสักวันจะเปลี่ยนใจไม่รื้อถอนเรา ไม่ทำลายวัตถุโบราณที่มีมาก่อนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ อยากให้เขาเห็นว่ามันก็อยู่ร่วมกันได้ ทางสำนักทรัพย์สิน (จุฬาฯ) เขาน่าจะภูมิใจนะ ว่ายังมีศาลเก่าแก่ที่เหลือไว้ตรงนี้ ถ้าทุบทำลายไปก็ไม่มีแล้ว เพราะเหลือตรงนี้เป็นที่เก่าแก่อยู่ที่เดียวแล้ว เพราะที่อื่นก็โดนไล่ โดนทุบไปแล้ว” พี่นกพูดถึงความหวังของเธอ
ยังไม่แน่ชัดว่า การคำตัดสินจะออกมาเมื่อไร แต่ถ้าคำตัดสินออกมาว่าต้องรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมจริงๆ ชุมชนสามย่านจะเสียมรดกทางวัฒนธรรมอายุนับร้อยปีไป พร้อมกับจิตวิญญาณของชุมชน ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทดแทนไม่ได้ไปตลอดกาล
“ถ้าศาลมีคำสั่งให้รื้อ ก็ต้องเดินหน้ายอมรับความจริง เราสู้มาได้ขนาดนี้แล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ถ้าโดนสั่งรื้อจริงๆ ก็คงจะหาอะไรทำกับลูกนี่ละ” พี่นกบอกกับเรา
Tags: ศาลเจ้าแม่ทับทิม, สำนักงานทรัพย์สินจุฬา