‘ภาคการท่องเที่ยว’ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยพึ่งพาอย่างต่อเนื่องมาหลายปี มีสัดส่วนในการสร้างรายได้สูงถึงกว่า 18% ของขนาด GDP ต่อมาเมื่อประเทศเจอกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวนี้ดับไปชั่วคราว ก่อนจะกลับมาไต่ระดับดีขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2567 นับว่าเป็นปีที่การท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัวกลับเข้าใกล้จุดพีกเมื่อปี 2562 (ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 39.2 ล้านราย) โดย ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสูงกว่า 35.04 ล้านราย สร้างเม็ดเงินกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาสูงถึง 6.67 ล้านราย แม้ว่าจะยังไม่เทียบเท่าในปี 2562 ที่เคยสูงถึง 11 ล้านราย เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังซบเซา 

ขณะที่ตลาดการท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตที่ดีคือ ‘อินเดีย’ ที่มีสัดส่วนสูงถึง 2.1 ล้านราย เป็นผลโดยตรงจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงการบรรลุข้อตกลงด้านการจัดสรรการบินไทย-อินเดีย ทำให้มีที่นั่งบนเครื่องบินเพิ่ม 7,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ จาก 2 เหตุผลจึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเพิ่มสูงขึ้นถึง 130% จากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ตามเมื่อมองที่การจัดเก็บรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ปี 2567 สามารถเก็บได้เพียง 1.88 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่า ‘พลาดเป้า’ จากที่ ททท.เคยคาดหวังว่า ภาคการท่องเที่ยวจะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่า 2 ล้านล้านบาท (เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ) โดยอ้างว่า เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา สงครามตะวันออกกลาง ตลอดจนการจัดเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ไม่ครอบคลุมช่องทางออนไลน์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2568 ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง อาจอยู่ที่ 37.5 ล้านราย จากมาตรการฟรีวีซ่าที่อำนวยความสะดวก รวมถึงการแข่งขันในธุรกิจการบินที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินมีแนวโน้มทรงตัว อีกทั้งในปีที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airlines) มีการขยายเส้นทางมายังประเทศไทย ช่วยให้ต้นทุนการเดินทางถูกลง

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยังมี 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ได้แก่

  1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
  2. นักท่องเที่ยวสนใจไปท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางใหม่ๆ อีกทั้งหลายประเทศยังแข่งขันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางไปยังประเทศของตนมากขึ้นเรื่อยๆ 
  3. ภาพลักษณ์ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและคุณภาพบริการ จากกรณีที่เกิดขึ้นกับนักแสดงชาวจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกการเดินทางมายังประเทศไทย
  4. ความผันผวนของทิศทางค่าเงิน ที่แม้ค่าเงินบาทในปี 2568 จะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังต้องพิจารณาเปรียบเทียบทิศทางค่าเงินในแต่ละตลาดกับค่าเงินจุดหมายปลายอื่น

ขณะเดียวกันศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีธนชาติ (ttb analytics) วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว โดยมีสาเหตุหลักดังต่อไปนี้

  1. นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาหรือจะไม่กลับมา เพราะไม่มีความดึงดูดให้กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่เข้าถึงง่าย มีค่าใช้จ่ายต่อทริปไม่สูง ทำให้ไทยเป็นจุดหมายแรกของการท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาแล้ว อาจตัดสินใจไม่กลับมาอีก

อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังมีปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ประสบการณ์ถูกเอารัดเอาเปรียบ คุณภาพขนส่งมวลชน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อนักท่องเที่ยวจีนมีอายุและรายได้ที่มากขึ้น จึงทำให้มองหาทางเลือกในการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น จึงนับว่าเป็นการ ‘ตัดโอกาส’ ในการกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

2. การใช้จ่ายต่อทริปในประเทศไทยยังไม่สูง โดยในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ในสัดส่วนกว่า 30% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเฉลี่ยไม่สูงมาก จึงส่งผลต่อกำลังซื้อ รวมถึงจำนวนวันพักแรมที่น้อยกว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มภูมิภาคอื่น

ttb analytics จึงมองว่า การตั้งเป้าในเรื่องเชิงปริมาณของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าด้านปริมาณ โดยสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืนคือ ควรเน้นเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าเชิงปริมาณ

3. โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มายังประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงเดินทางมากรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่กว่า 90% ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดการท่องเที่ยวในเมืองอื่นๆ ที่ยังมีศักยภาพต่ำกว่ากรุงเทพฯ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวและมีการใช้จ่ายท่องเที่ยวได้มากขึ้น หากมีระบบการเดินทางที่ครอบคลุมเชื่อมโยงมากขึ้น

ดังนั้นเมื่อมองการท่องเที่ยวไทยที่อยู่บนทรัพยากรที่จำกัด ttb analytics มองว่า ภาครัฐและผู้ประกอบการควรเร่งปรับลดข้อจำกัด ลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง ยกระดับคุณภาพ ลดการเน้นปริมาณ เพื่อยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เป็นทางเลือกลำดับแรกๆ และคุ้มค่าที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

ทั้งนี้จากปัญหาภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความจำเจของสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศหรือค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูงมากของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องสร้างความน่าสนใจให้กับการท่องเที่ยวของประเทศอีกครั้ง จากคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ข้อที่ 7 ระบุว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่คือ การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) ซึ่งหมายรวมถึง ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ (Entertainment Complex) เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ ก่อนจะส่งต่อให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งต่อให้ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในขั้นตอนถัดไป

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์จาก Citigroup ธนาคารพาณิชย์จากสหรัฐอเมริกา ระบุผ่านบทความของ Nikkei Asia ว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลไทยมองไว้ รายได้จากคาสิโนถูกกฎหมายของไทยจะสร้างรายได้สูงถึง 3.15 แสนล้านบาท ทำให้ ‘ไทย’ กลายเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากคาสิโนเป็นอันดับสามของโลก รองจากมาเก๊าและลาสเวกัสของสหรัฐฯ ภายในปี 2574 อีกทั้งยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากถึง 17%

อย่างไรก็ตาม ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ ยังถูกหลายฝ่ายประเมินว่า จะเป็นผลเสียต่อประเทศมากกว่าจะสร้างผลดี ไม่ว่าจะเป็นข้อกังวลที่ห่วงว่าจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน รวมถึงกลายเป็นแหล่งของทุนสีเทา จึงต้องมีการกำกับดูแล รวมถึงออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุม ขณะเดียวกันยังเพิ่งอยู่ในช่วงตั้งไข่ ร่าง พ.ร.บ.ยังไม่เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ ก็ต้องรออย่างน้อยจนถึงปี 2572 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

หากมองที่การปรับตัวของประเทศคู่แข่งทางการท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคเดียวกัน จะพบว่า ‘เวียดนาม’ กำลังชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นแบบไทยเช่นเดียวกัน ขณะที่ ‘ญี่ปุน’ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกจังหวัดด้วยการส่งเสริมเมืองรองและสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ในส่วนของ ‘เกาหลีใต้’ ใช้วัฒนธรรมเกาหลี (K-Culture) เป็นแก่นหลักในการกระตุ้นการท่องเที่ยว

มาวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักของการสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศสูงถึง 18% ของ GDP กำลังประสบกับข้อท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน หรือความดุเดือดของตลาดการท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น เป็นผลให้นักท่องเที่ยวมีตัวเลือกมากขึ้น

แปลว่า ‘บุญเก่า’ ที่เคยได้ผ่านภาคท่องเที่ยวกำลังค่อยๆ เหือดหายไป สิ่งใหม่ที่กำลังสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น หรือการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขยาย ‘เมืองรอง’ ใหม่ๆ ก็ยังคงต้องใช้เวลา

เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องเร่งเครื่อง เพราะหากช้ากว่านี้เครื่องยนต์สำคัญเครื่องยนต์สุดท้ายอาจเป็นเครื่องยนต์ที่ดับมอบในที่สุด

Appendix

https://asia.nikkei.com/Spotlight/ASEAN-Money/Stakes-rise-in-Southeast-Asia-s-casino-race-as-Singapore-s-rivals-place-bets

https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/ttba-foreign-tourists-2025

https://www.kasikornresearch.com/Pages/ftp-handler.aspx?token=71e55a96-06c9-44ed-9f0f-a76b10e69bb0

Tags: , ,