Wikipedia เป็นที่รู้จักในฐานะสารานุกรมออนไลน์ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีพันธกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่พาณิชย์ ก่อนที่ North Face จะละเมิดต่อจรรยาบรรณของ Wikipedia โดยการแอบโฆษณาผ่านการอัพโหลดรูปภาพที่เป็นสาธารณะ

จุดเริ่มต้นของการก้าวล่วงต่อ Wikipedia เกิดจากเอเจนซี่โฆษณาในเครือ Leo Burnett ที่รับหน้าที่บริหารจัดการสื่อโฆษณาของ North Face ได้นำภาพของนางแบบที่สวมใส่อุปกรณ์ของแบรนด์ลงบนหน้า Wikipedia ที่เกี่ยวกับประวัติและลักษณะของสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางต่างๆ มากถึง 15 แห่ง อาทิ Guarita State Park,  Mampituba, Cuillin ฯลฯ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมค้นหาข้อมูลใน Google ก่อนการเดินทางระยะไกล โดยภาพจาก Wikipedia ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญและเป็นภาพที่ Google มักจะแสดงผลในลำดับต้นๆ ของการค้นหา ดังนั้น การนำเอาสินค้าของแบรนด์ไปจัดวางอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะส่งผลเหมือนกับการแฮคเข้าไปในเสิร์ชเอนจิ้นเพื่อข้ามขั้นสู่ตำแหน่งบนสุด

โดยบริษัทได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่อวดอ้างว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความสามารถที่ทำให้อันดับของเสิร์ชเอนจิ้นดีขึ้นอย่างพรวดพราดและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนบริษัทโดนประณามอย่างรุนแรงและกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกออนไลน์ และถูกตำหนิโดยตรงจาก Wikipedia

Wikipedia ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและดูแลสารานุกรมออนไลน์ เปิดเผยว่า แคมเปญดังกล่าวผิดต่อจรรยาบรรณของ Wikipedia “สิ่งที่พวกเขาทำก็คล้ายกับการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ” และ  “การเพิ่มเนื้อหาที่มีไว้เพื่อการโฆษณาเชิงพาณิชย์ขัดต่อวัตถุประสงค์และพันธกิจของ Wikipedia ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ที่เป็นจริงและเป็นกลางกับโลก”

การวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ North Face ออกมาขอโทษ โดยเปิดเผยผ่านทาง Twitter ว่า “เราเชื่อมั่นในภารกิจของวิกิพีเดียอย่างลึกซึ้งและขออภัยในพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเหล่านั้น” พร้อมชี้แจงการสิ้นสุดแคมเปญและสร้างความมั่นใจว่าจะมีการอบรมทีมงานเกี่ยวกับนโยบายของพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ โฆษกของ North Face ซึ่งประจำอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เผยว่า วิดีโอดังกล่าวผลิตโดย Leo Burnett Tailor Made ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท  Leo Burnett และได้รับการอนุมัติจากทีม North Face ในบราซิล ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอิสระที่มีสิทธิ์ แต่เพียงผู้เดียวในการขายและทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของ North Face ในภูมิภาค ซึ่งต่อมา Leo Burnett Tailor Made ในบราซิลก็ได้ออกมาชี้แจงเช่นกันว่า วิธีการที่บริษัทใช้เป็นวิธีการที่ไม่เหมือนใคร แต่ก็ได้เรียนรู้ว่ามันเป็นทำงานที่สวนทางกับแนวทางของ Wikipedia

ที่มา

https://www.bbc.com/news/technology-48472808

https://www.nytimes.com/2019/05/30/business/north-face-wikipedia-leo-burnett.html