“เขตแดนเป็นเรื่องสมมติ แต่ชีวิตจริงคือเรื่องของมนุษย์ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องมนุษยธรรม”
ท่ามกลางสถานการณ์ดุเดือดทั้งในชายแดนและโลกออนไลน์ จากกรณีข้อพิพาทกลุ่มปราสาทตาเมือนและช่องบก หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา บริเวณช่องบก ชายแดนของ 2 ประเทศเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน จนเรื่องราวบานปลายไปสู่ ‘มหากาพย์ศาลโลก 3.0’ หลัง สมเด็จ ฮุน เซน (Hun Sen) และสมเด็จ ฮุน มาเนต (Hun Manet) ผู้นำสองพ่อลูก ประกาศกร้าวพร้อมทวงคืน 4 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย และพื้นที่มอมเบ โดยหวังนำเรื่องขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court Justice: ICJ) เพื่อบรรลุข้อพิพาทครั้งนี้เหมือนในอดีต
นอกจากเจรจาหาทางออกระดับรัฐ และพึ่งพากลไกระหว่างประเทศ บทสนทนาจากวงวิชาการก็เป็นส่วนสำคัญในการหยุดไฟแห่งความขัดแย้ง ผ่านการทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง เพื่อวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา สู่การหาทางออกได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมทั้ง 2 ประเทศเกิดความแตกแยก เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และความโกรธแค้น ทำให้การใช้วิจารณญาณเสพข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการเปิดรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร้อคติ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2025 สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และโครงการ ‘ศิลป์เสวนา’ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดวงเสวนาทางวิชาการ ‘ช่องบก-ตาเมือน: ข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา บนกระดานการเมืองและเวทีศาลโลก’ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและอาจารย์ประจำ Center for Southeast Asian Studies จาก Kyoto University และรองศาสตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์จากสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นวิทยากรให้ความเห็น ขณะที่ผู้ดำเนินรายการคือ พงศธัช สุขพงษ์ ผู้ดำเนินรายการทันโลก กับ Thai PBS และสฏฐภูมิ บุญมา อาจารย์พิเศษสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพิธีกร
อ่านเกมการเมืองบนศาลโลกกัมพูชากับดุลยภาค
‘อัตลักษณ์เชิงอาณาเขต’ หรือ ‘Territorial Identity’
เป็นคำศัพท์จากโพสต์ของฮุน มาเนต ผู้นำกัมพูชา บน Facebook เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งดุลยภาคอยากให้ทุกคนตั้งข้อสังเกต รวมไปถึงทางการไทยต้องศึกษาเพิ่มเติม แม้จะเป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นหู แต่จริงๆ แล้ว วาทกรรมดังกล่าวมีความสำคัญ และสามารถบอกเล่าความขัดแย้งทั้งหมดได้ว่า กัมพูชาให้ความสำคัญกับอาณาเขตเชิงดินแดนผ่านอัตลักษณ์ หรือการส่งอารมณ์ความรู้สึกออกไปยึดติดดินแดนใดดินแดนหนึ่งว่า เคยเป็นของกัมพูชามาก่อน
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่า การขยับโยกของกัมพูชาในการนำข้อพิพาทขึ้น ICJ ประกอบด้วยเหตุผลทั้ง 2 อย่างคือ เหตุผลด้านการเมืองภายใน เพื่อปลุกปั่นกระแสชาตินิยมผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรม การยั่วยุทางทหาร และการใช้กลไกของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อทำให้คะแนนเสียงของฮุน มาเนตเพิ่มขึ้น
ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งคือ เป้าหมายการขยายอาณาเขตผ่าน ‘ยุทธศาสตร์ 2 ขา’ คือการเพิ่มพื้นที่ทางบก ได้แก่ ช่องบก-ตาเมือน-สามเหลี่ยมมรกต เพื่อทำให้อาณาเขตคร่อมเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งอาจกระทบหลายจังหวัดทางชายแดนประเทศไทย ขณะที่อีกขาหนึ่งคือ การเพิ่มพื้นที่ทางทะเล ผ่านการขีดเส้นแบ่งมาในจุดที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก อย่างเกาะกูด จังหวัดตราด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างให้กัมพูชาเป็นรัฐที่มีอำนาจมากขึ้น
อย่างไรก็ตามดุลยภาคเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวด้านชาตินิยมของกัมพูชา เป็น ‘ดาบสองคม’ กล่าวคือ ผู้นำได้ประโยชน์จากกระแสความเกลียดชัง เพราะพลังชาตินิยมทำให้ประชาชนภาคภูมิใจในระบอบฮุน เซน ซึ่งหากกัมพูชาได้อาณาเขตเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งส่งเสริมพลังทางอำนาจและความนิยมทางการเมือง แต่บั่นทอนบูรณภาพของอาเซียน ด้วยการทำให้เพื่อนบ้านกลายเป็นศัตรู และเกิดภาวะหวาดระแวงต่างชาติ (Xenophobia) ภายในประเทศ
เมื่อถูกถามว่า ทำไมกัมพูชาจึงอยากยื่นเรื่องสู่ ICJ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มธ.เชื่อว่า เป็นเพราะกัมพูชามั่นใจที่เคยชนะคดีในปราสาทเขาพระวิหารมาก่อน ซึ่งจงใจใช้ผลคดีที่ชนะเป็นธงหลักเพื่อเพิ่มอาณาเขต ดังที่เคยทำตั้งแต่ยุครัฐบาลสฤษดิ์-สีหนุ, ฮุน เซน-ยิ่งลักษณ์ จนถึงปัจจุบัน
แนวทางดังกล่าวต่างจากไทยที่ใช้พยายามใช้การทูตทวิภาคีแก้ไขปัญหา เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission: JBC), คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) และคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GPC) ซึ่งดุลยภาคมองว่า กัมพูชาจะคุยในวงนี้เฉพาะประเด็นที่ ‘สบายใจ’ เท่านั้น แต่ประเด็นหลักอย่างการปรับแนวเขตแดนเพื่อขยายอาณาเขต ยังคงพึ่งพากลไกระหว่างประเทศอย่าง ICJ อยู่
หากกลับมาประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยต่อการตอบรับความขัดแย้งครั้งนี้ ดุลยภาคนิยามว่า ‘ช้าไป แต่ก็ไม่สายไป’ โดยตนเห็นด้วยกับเสียงสังคมไทยว่า รัฐบาลทำงานช้า เพราะอาจจะ ‘เมาหมัด’ หรือตกใจรัฐบาลกัมพูชาที่มีความสัมพันธ์อันดีว่า เพื่อนกันจะทำแบบนี้จริงๆ เหรอ ซึ่งตรงนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้ามองในแง่บวก ผู้นำทั้ง 2 ประเทศสามารถต่อสายคุยกันได้โดยตรง แต่ในอีกแง่หนึ่งรัฐบาลก็อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า ผลประโยชน์ของไทยอยู่ตรงไหน มีอะไรที่ผู้นำคุยกันบ้าง
ดุลยภาคมองว่า กัมพูชากำลังอาศัยชิงจังหวะเล่นก่อน แต่สถานการณ์ไทยดีขึ้น หลังประชุมสภาความมั่นคงระหว่างรัฐกับกองทัพ ซึ่งมีการแบ่งขอบเขตของงาน ทำให้การทำงานมีเอกภาพมากขึ้น แต่ตนยังอยากให้รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมรับมือ ด้วยการตั้ง War Room และคณะกรรมการหลายฝ่าย เพื่อวางแนวทางตอบโต้ทั้งทหาร กฎหมายระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมกับกัมพูชา เพราะดูเหมือนฮุน มาเนตและฮุน เซน ยังไม่ยุติแต่เพียงเท่านี้ และพร้อมปฏิบัติตอบโต้กับไทยหลายมิติ ดังจะเห็นได้จากข้ออ้าง ‘ปรับกำลังพล แต่ไม่ได้ถอนทัพ’
ขณะประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การสนับสนุนของจีนต่อกัมพูชาด้านความมั่นคง อย่างการซ้อมรบของ 2 ประเทศในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กัมพูชาฮึกเหิม โดยดุลยภาคแสดงความเห็นว่า ทางการไทยก็ต้องพิจารณาว่า เหตุการณ์นี้เป็นการยั่วยุทางทหาร และบั่นทอนสันติภาพด้วยหรือไม่ เนื่องจากวันถัดมาจะมีการประชุม JBC ขณะที่ไทยเองก็ต้องสื่อสารกับจีนว่า ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และแสดงสัญญะว่า จีนไม่ควรสนับสนุนกัมพูชาในช่วงนี้ เพราะทำลายสันติภาพของอาเซียน แต่หากไทยทำอะไรไม่ได้ การมองหาพันธมิตรอื่นๆ อย่างกลุ่ม QUAD ที่มีสหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
สำหรับประเด็นบทบาทของอาเซียนในข้อพิพาทนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ทำหน้าที่เป็น ‘กาวใจ’ ตามปกติ ทว่าความบาดหมางระหว่างไทยกับกัมพูชา อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขวิกฤตเมียนมา หลังมีข้อเสนอให้ตั้งทูตพิเศษ 3 ปี โดยมีชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกเสนอและมีการทาบทามฮุน เซนมาช่วยแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งปรากฏว่า ผู้บารมีของทั้ง 2 ประเทศกลับตีกันเอง
ดุลยภาคทิ้งท้ายว่า อาเซียนมีหลักการทำให้ภูมิภาคเป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพ และเป็นกลาง แต่ครั้งหนึ่งนักการทูตสิงคโปร์เคยเสนอให้ ‘ขับไล่’ กัมพูชาออกจากอาเซียน เพราะใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป จนทำให้อาเซียนขาดความเป็นกลาง ซึ่งแผนซ้อมรบกับจีนในครั้งนี้ อาจกลับมาตอกย้ำประเด็นนี้อีกครั้ง โดยทางการไทยก็ต้องพิจารณาว่า กัมพูชารักษาสันติภาพ อดทนอดกลั้น และตอบสนองหลักสันติภาพของอาเซียนหรือไม่
ชาตินิยมและตระกูลการเมือง: ภาพสะท้อนความขัดแย้งไทย-กัมพูชาจากมุมของปวิน
สำหรับความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ปวินเริ่มต้นว่า เรื่องราวดังกล่าวไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของเขา โดยเฉพาะในปี 2003 ในฐานะนักการทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศไทย มีโอกาสเดินทางไปกรุงพนมเปญเพื่อทำ MOU ทางการค้าร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนั้น กรณีข่าวปลอม กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ดาราไทยทวงคืนนครวัด ได้ปลุกเร้ากระแสชาตินิยมในกัมพูชารุนแรง แต่เขาก็ไม่คิดว่า สถานการณ์จะเลยเถิดถึงขั้นเกิดเรื่องเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เป็นเหตุให้ทักษิณเปิดปฏิบัติการโปเชนตง เพื่อนำคนไทยในกัมพูชากลับบ้าน
ปวินคิดว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สอนใจตนเองในเรื่องกระแสชาตินิยม โดยมองว่า ทั้ง 2 ประเทศใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการเมืองภายในพอๆ กัน เพื่อปิดบังความล้มเหลวในการบริหารประเทศ เช่นเดียวกับปัจจุบันที่กัมพูชาปลุกกระแสดังกล่าว ขณะที่ทางการไทยก็ตอบรับ
ปวินตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้ง 2 ชาติอยู่ใน ‘จุดพีก’ แบบแง่บวก กล่าวคือ รัฐบาลเป็นมิตรกัน ไม่ใช่แค่ในมิติของเพื่อนบ้าน แต่ยังรวมถึงความผูกพันในแง่ตัวบุคคล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายพยายามแสดงออกทางสาธารณะ ต่างจากความขัดแย้งในปี 2008 ที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีขนาดนี้ ตนจึงรู้สึกประหลาดใจว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวของ 2 อดีตผู้นำ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่ เพราะเหตุใดสถานการณ์จึงเลยเถิดเช่นนี้ แล้วความสัมพันธ์ของทักษิณกับฮุน เซนอยู่ตรงไหนในความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม หากต่อยอดประเด็นอิทธิพลของจีนต่อกัมพูชา ปวินเห็นด้วยกับดุลยภาคว่า นี่คืออีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลฮุน มาเนต ซึ่งความสัมพันธ์ 2 ประเทศสร้างผลกระทบให้กับอาเซียนมานานแล้ว เห็นได้ชัดเจนจากการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2012 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) เพื่อสรุปรายละเอียดการประชุม เนื่องจาก 4 ประเทศในอาเซียนคือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน หยิบยกข้อพิพาททะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากใช้การทูตทวิภาคีกดดันจีนไม่ได้
แต่กัมพูชาในฐานะเจ้าภาพอาเซียนขณะนั้น กลับไม่สนับสนุนจุดยืนของอาเซียน เป็นเหตุให้หาข้อสรุปและออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ ซึ่งสถานการณ์เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของจีนในกัมพูชา โดยที่หากมองภาพรวมภูมิภาคอินโดจีน เขาก็ตั้งคำถามต่อว่า หากเกิดความขัดแย้งจริงๆ จีนจะเลือกไทยหรือกัมพูชา เพราะแม้ไทยจะมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า แต่ในแง่ความเป็นจริง จีนสามารถควบคุมกัมพูชาได้โดยตรง ต่างจากไทยที่ยังพึ่งพาสหรัฐฯ อยู่
ปวินยังอยากให้ทุกคนจับตามองเวียดนามในความขัดแย้งครั้งนี้ โดยเปรียบบริบทว่า ที่ผ่านมา กัมพูชาถูก ‘แนบขนาบ’ หรือ ‘Sandwich’ ระหว่างไทยกับเวียดนามมาตลอด หากกัมพูชาต้องเลือกสักประเทศใดต่อกร ก็มักจะเลือกสู้กับไทยเสมอ เพราะบาดแผลทางประวัติศาสตร์ 2 ชาติลึกกว่า ขณะที่ชนชั้นนำกัมพูชาสนิทกับผู้นำเวียดนาม แม้เราจะเห็นว่า ทักษิณมีความสัมพันธ์อันดี และลงทุนในกัมพูชาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอำนาจ
เหล่านี้สะท้อนจากเหตุการณ์ในปี 2003 หลังฮุน เซนถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า ยอมให้เวียดนามเข้ามาแทรกแซงในการเลือกตั้งปีดังกล่าว ซึ่งข้อกล่าวหานี้รุนแรงกว่าการคอร์รัปชัน ทำให้อดีตผู้นำกัมพูชาเลือกใช้กระแสชาตินิยมโจมตีไทย เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวทางการเมือง
ส่วนประเด็นว่า ทำไมกัมพูชาจึงตัดสินใจไป ICJ มากกว่าพึ่งพากลไกอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหา ปวินมองว่า กัมพูชามั่นใจกับคำตัดสินในอดีตกับกลไกระดับโลกมากกว่าอาเซียน แม้จะมีกลไกหรือหน่วยงานที่แก้ไขปัญหานี้ แต่กัมพูชามองว่า ประเทศของตนจะเสียเปรียบไทย เพราะเป็นประเทศเล็ก อีกทั้งไทยเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในอาเซียนมากในฐานะผู้ก่อตั้ง
“อาเซียนอาจจะไม่ใช่ของโปรดของทุกคน แต่จะลดบทบาทไปไม่ได้” ปวินย้ำว่า อาเซียนควรมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ดังที่เคยทำในช่วงพายุไซโคลนนาร์กิส หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างชาติของติมอร์
อย่างไรก็ตามปวินมองว่า ทางออกของปัญหามีมากกว่าการพึ่งพา ICJ เช่น การพึ่งพากลไกของ JBC แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีการระบุหน้าที่หรือภารกิจในการทำงานอย่างชัดเจน และทางการไทยต้องแก้ไขปัญหาแบบบูรณาภาพทุกฝ่าย มีการประสานการทั้งกองทัพและกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งตนไม่คิดว่า สงครามจะสร้างผลดีกับกองทัพเท่าไร เพราะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของทหารไทยแย่ลง ขณะที่ชายแดนไร้เสถียรภาพ
หากมองต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้ง ปวินคิดว่า ปัญหาไทย-กัมพูชา ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะทั้ง 2 ประเทศยังหาข้อสรุปเรื่องพรมแดนไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการลากเส้นแบ่งเขตแดน ที่บอกว่าใครได้หรือเสียประโยชน์ เป็นเรื่องน่าลำบากใจในความสัมพันธ์ทวิภาคี บางครั้งจึงเป็นเรื่องดีกว่า หากจะปล่อยให้ปัญหาคลุมเครือ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทางการทูต
ปวินยังทิ้งท้ายถึงเรื่องกระแสชาตินิยมว่า ทุกคนต้องคิดดีๆ กับคำดังกล่าว เพราะการที่คนหนึ่งคนวิจารณ์ชาตินิยม ไม่ควรถูกตีความว่า ไม่รักชาติ แต่เพราะคนคนนั้นอาจจะมีสติกว่าคนทั่วไป แม้ชาตินิยมอาจจะนำไปสู่ความร่วมมือ แต่มีแนวโน้มทำลายล้างมากกว่า โดยบางครั้ง ชาตินิยมก็หมายถึงการพยายามบ่ายเบี่ยงการเมืองภายใน และกลบความล้มเหลวของรัฐไทย โดยตนมองว่า รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอาจจะอยู่ในจุดที่แสดงออกมากไม่ได้ แต่ใช้ชาตินิยมบ่ายเบี่ยงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน
สำหรับตน การดับไฟชาตินิยมเป็นเรื่องยาก และประโยค ‘ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว’ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ชาตินิยมเป็นเรื่องเชย เพราะโลกในยุคปัจจุบันมีกลไกแก้ไขปัญหาเยอะมาก และการอ้างเขตแดนและอธิปไตยเป็นเรื่องสมมติทั้งหมด แต่ชีวิตคนสำคัญที่สุด
“อีกอันที่อยากทิ้งท้ายไว้ เขตแดนการอ้างอธิปไตยเป็นสิ่งสมมติ ซึ่งมีคนเอาไปด่าว่า เป็นคนชังชาติ กล้าพูดได้ยังไงเป็นเรื่องสมมติ แต่มันเป็นเรื่องจริง เราสมมติตลอด ทั้งหมดนี้ ชาตินิยมคือจินตนาการ เขตแดนเป็นเรื่องสมมติ แต่ชีวิตจริงคือเรื่องของมนุษย์ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องมนุษยธรรม เราต้องใช้สติเยอะๆ ในการพูดถึงความขัดแย้ง พรมแดน และอธิปไตย” อดีตนักการทูตทิ้งท้าย
Tags: กัมพูชา, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ทักษิณ ชินวัตร, ดุลยภาค ปรีชารัชต์, ไทย, แพทองธาร ชินวัตร, ฮุน เซน, ฮุน มาเนต, ICJ, เขมร, ช่องบก, ปราสาทตาเมือน