เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นักศึกษาสาขา นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตั้งเครื่องปั่นไฟในพื้นที่หอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) สำเร็จ พร้อมติดตั้งเครื่องปั่นไฟเรียบร้อย เตรียมพร้อมงาน Whiplash นิทรรศการแสดงรวมธีสิสของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มีกำหนดการแสดงในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยห้ามจัดแสดงนิทรรศการของนักศึกษา โดยให้เหตุผลว่างานมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง พร้อมทั้งล็อกประตูหอศิลป์ฯ และตัดน้ำตัดไฟ ไม่ให้นักศึกษาเข้าติดตั้งชิ้นงาน ทั้งที่มีกำหนดการจะแสดงผลงานในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 โดยหลังจากนักศึกษาเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ และยังไม่มีความคืบหน้า ช่วงเย็นวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษา และอาจารย์บางส่วน ได้ร่วมกันเข้ายึด หอศิลป์ มช. ด้วยการตัดโซ่คล้องกุญแจ และนำเครื่องปั่นไฟเข้าติดตั้ง พร้อมกับเรียกเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการ Occupy หอศิลป์

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานเสวนา ‘ทวงคืนหอศิลป์! ทวงคืนเสรีภาพ! ที่หอศิลป์ มช. เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (17 ตุลาคม 2564) ตอนหนึ่งถึงเหตุการณ์ Occupy หอศิลป์ว่า เหตุการณ์นี้ ทำให้ตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นของใคร รับใช้ใคร และนักศึกษา อยู่ตรงไหนของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ นักศึกษาที่จ่ายเงินเข้ามา ไม่ได้เรียนฟรี หากแต่เข้ามาซื้อสินค้าที่เรียกว่าความรู้ แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติกับนักศึกษาวันนี้ ล้วนเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ปิ่นแก้ว บอกอีกว่า ชนชั้นนำที่กุมทิศทางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในขณะนี้ กระหายที่จะพาสถาบันไปสู่แนวหน้า ไปแข่งขันกับสถาบันอื่นๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยากไปอยู่แถวหน้าของประชาคมนานาชาติ แต่ในทางปฏิบัติกลับพยายามทำตัวเป็น ‘เด็กดี’ ของเผด็จการ

“เราได้ยินคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ในม.นี้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ล้านนาสร้างสรรค์ และอื่นๆ ผลักดันให้คณาจารย์ตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ ล่าสุด ต้องการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี 2573 อยากโลกาภิวัตน์กับเขา อยากเป็นสถาบันนผลิตผลงาน สร้างความรู้ ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยากที่จะเป็นแขนขาของระบอบอำนาจนิยม”

สิ่งที่สะท้อนชัดก็คือความพยายามเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการถูกตรวจตรา และถูกควบคุม อย่างเรื่องที่นักศึกษาโดนเซนเซอร์งานนั้น ก็เข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลสั่งการลงมา แต่เป็นสิ่งที่อยากทำเอง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ เพราะฉะนั้น หากรัฐเผด็จการข้างนอกทำอย่างไร ก็ก็อปปีเข้ามาทำ เพื่อจำกัด และ กำจัดเสรีภาพของการแสดงออก

แต่ปิ่นแก้วยืนยันว่า ทั้งสองสิ่ง ไม่สามารถไปด้วยกันได้ เพราะในมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้น เสรีภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และในเวลาเดียวกัน ผู้บริหารก็อยากทำตัวเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้ง

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชนชั้นนำ หรือ elite ที่บริหารมหาวิทยาลัย ก็ hypocrite หรือ หลอกลวงผู้คน เอาสิ่งที่ไม่จริง มาทำให้จริงไปวัน เราพบรายงานบอกว่า มหาวิทยาลัยสนับสนุนเสรีภาพทุกระเบียดนิ้ว เข้าถึงความเป็นธรรม แล้วก็ก็อปรูปนักศึกษาจัดม็อบ มาบอกว่าเป็นผลงานตัวเอง คำถามสำคัญก็คือจะบอกว่า มหาวิทยาลัยจะสนับสนุน SDGs แต่หนึ่งในเป้าหมาย คือการผดุงความเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรม หนึ่งในความเป็นธรรม คือคนจะต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่เรื่องเหล่านี้ ข้อเท็จจริงกลับไม่มีเลย”

ปิ่นแก้ว ยังย้ำด้วยว่า ยิ่งสังคมภายนอกหดแคบลงขนาดไหน ในการรับฟังความเห็นแตกต่าง มหาวิทยาลัย ยิ่งจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ในการรับฟัง และการโต้เถียงของผู้คนที่เห็นต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะขวาจัด หรือมีแนวคิดอนุรักษนิยมเพียงใด ก็ควรจะเก็บไว้ในฐานะรสนิยมส่วนตัว ผู้บริหารที่ดี ต้องเปิดรับศิลปะทุกแขนง ต้องโต้เถียงกัน และสอนให้นักศึกษามองเห็นความแตกต่าง – หลากหลาย มากกว่าจะแบนทุกผลงานที่ไม่เข้าตา

“คณบดี ผู้บริหารคณะ ควรเข้ามาวิพากษ์ ถ้าไม่เห็นด้วยกับงานศิลปะ หรือหากไม่เป็นไปตามรสนิยมทางการเมืองตัวเอง ก็ควรมาวิจารณ์ ให้เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร นี่คือสิ่งที่คณะวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นโรงเรียนศิลปะ ควรทำ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้ว คณะนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนศิลปะ ก็ทำได้อย่างมาก คือเป็นแค่โรงเรียนสอนช่างลอกเลียนงาน ทำได้อย่างมาก ก็ได้แค่ผลิตคนที่ออกไปผลิตงาน copy & Paste สร้างเครื่องจักรในการผลิตงานช่าง ไม่ได้สร้างคนที่มีจินตนาการ เห็นความต่าง การคิด และการวิพากษ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะไม่ทำให้พื้นที่นี้ถูกดูดกลืน จนกลายเป็นโรงงานผลิตช่างลอกลาย”​

ขณะที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามขัดขวางงานศิลปะ ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ หรืองานศิลปะ ที่ไปกระทบต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบ ตลอดเวลา และในเวลาเดียวกัน ก็สนับสนุนงานศิลปะแบบ ‘เหลืองอร่าม’

“งานศิลปะแบบเหลืองอร่าม คือถ้าคุณมองเข้าไป จะเห็นแต่ความเป็นไทย งดงาม เต็มไปด้วยความเมตตา ถ้าเป็นชาติ ผู้คนก็จะมีแต่ลักษณะโอบอ้อมอารี งานสีทองๆ งานแบบนี้ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นงานที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบ ก็จะเป็นงานที่ถูกคุมขัง ถูกปิดกั้น เข้ามาบั่นทอนโดยรัฐเสมอ”

ทั้งนี้ งานที่นักศึกษาทำจำนวนมาก ล้วนเป็นงานในลักษณะที่ตั้งคำถาม และทำให้คนมองเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในเชิงตั้งคำถามมากขึ้น นำไปสู่คำอธิบายใหม่ๆ มากขึ้น จึงมีความพยายามจากรัฐในการขัดขวางงานศิลปะลักษณะนี้ตลอดมา

สะท้อนให้เห็นว่า ในแง่หนึ่ง รัฐได้ใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือที่กล่อมให้ผู้คนอยู่ภายใต้อำนาจตัวเองแบบเชื่องๆ แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ ที่มีงานศิลปะที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจนั้น ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทำให้รัฐประสบปัญหาในการจัดการ เพราะที่ผ่านมา งานศิลปะในไทยเป็นส่วนใหญ่ ล้วนอยู่ใต้การโอบอุ้มของอำนาจรัฐ และไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับการตั้งคำถามกับอำนาจรัฐมาโดยตลอด

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ศิลปิน และงานศิลปะจำนวนมาก ก็ไม่สามารถอยู่ในตลาดงานศิลปะไทยได้ เพราะตลาดนี้ ในสังคมไทยขายไม่ได้ รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะจิตรกรรม ภาพยนตร์ หรือดนตรี ล้วนต้องออกไปหาตลาดอื่น

“เพราะตลาดในเมืองไทยมันเล็กเกินไป อำนาจรัฐ จึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางงานศิลปะ ทำให้มีจุดยืนแบบไม่ใหญ่มาก ถ้าเมื่อไรเป็นปัญหากับอำนาจรัฐ วิจารณ์อำนาจรัฐ นี่คือปัญหาที่จะตามมา

“รัฐอาจจะพยายามรักษาอุดมการณ์แบบจารีตไว้ในสังคมปกติ แต่พอเข้ามาในมหาวิทยาลัย ผมคิดว่าเข้าใจได้ยากมาก เพราะหลักพื้นฐานของมหาวิทยาลัย คือต้องเป็นพื้นที่เปิดให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย นี่คือหัวใจสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะงานศิลปะ แต่มหาวิทยาลัยต้องการเสรีภาพในการแสดงความเห็น ถ้ามหาวิทยาลัยต้องการความงอกงาม ต้องการแสวงหาคำตอบที่แตกต่างกว่าเดิม หรือคำตอบที่ดียิ่งขึ้น ถ้าไม่มีการถกเถียง เข้ามาเมื่อไร ก็สอนแบบท่องจำ 20 ปีที่แล้ว สอนอย่างไร ก็สอนอยู่อย่างนั้น มหาวิทยาลัยก็งอกงามไม่ได้”

ทั้งนี้ สมชายยืนยันว่า หากคณาจารย์เห็นว่างานของนักศึกษามีปัญหา ก็ควรลงมาดู และถกเถียง รวมถึงควรเลิกใช้อำนาจบาตรใหญ่ โดยเฉพาะการแจ้งความนักศึกษา ได้แล้ว อีกทั้งยังเห็นว่า ผู้บริหารของคณะชุดนี้ ไม่มีคุณสมบัติในการทำงานนี้มากพอ

ภาพ: Whiplash Exhibition