ในกรุงเทพฯ ภาพสุนัขจรจัดเดินเรียงรายตามข้างถนน วนเวียนแถวตลาดสด หรือนอนหลับพักอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อคงไม่ใช่ภาพที่แปลกตานัก ปัญหาสุนัขจรจัดฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานาน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสุนัข จากการขาดความรับผิดชอบของมนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญ
ทั้งนี้วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศไทย: ศึกษากรณีบทบาทของเจ้าของสุนัข ผู้ประกอบกิจการเพื่อจำหน่ายสุนัข และหน่วยงานรัฐ’ (2562) วิเคราะห์ว่าสาเหตุของปัญหาสุนัขจรจัดในไทยมีหลายปัจจัย ตั้งแต่การถูกเจ้าของทอดทิ้ง การปล่อยสุนัขจากฟาร์มเพาะพันธุ์ ไปจนถึงการขยายพันธุ์กันเองในหมู่สุนัขจรจัด
สุนัขจรจัดส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสงสาร เมตตา อาศัยคนให้ข้าว ให้น้ำดำรงชีวิตอยู่ไปวันต่อวัน ทว่าไม่มีใครรับผิดชอบต่อการกระทำของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสกปรก หรือก่อความรำคาญจนเริ่มสร้างความรู้สึกเดือดร้อนก็ตาม
ปัญหาเบาะแว้งระหว่างผู้ให้อาหารสุนัขจรจัด และชุมชนเป็นข้อพิพาทมานานจนนับแทบไม่ได้ว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด ฝ่ายผู้ให้ก็บอกว่าคนที่ไม่ให้อาหารนั้นไร้จิตเมตตา สัตว์ก็หิวเป็น ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า หากสงสารนักทำไมไม่นำกลับไปเลี้ยงที่บ้านเอง
งานวิจัย ‘การศึกษาปัญหาสุนัขจรจัดในบริบทชุมชนเมืองสู่แนวทางการแก้ปัญหาด้วยสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก’ (2565) พบว่า การให้อาหารแก่สุนัขจรจัดนั้นสร้างปัญหาให้แก่ชุมชนจริง ทั้งในแง่สุขอนามัย และทัศนียภาพในแหล่งชุมชน การวางถาดข้าวหน้าบ้าน หรือทิ้งเศษอาหารในตรอกซอกซอย ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการสร้างความสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ และทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเสื่อมเสียไปด้วย
แม้ว่าการให้อาหารสุนัขจรจัดจะพอช่วยให้สุนัขเหล่านั้นพอประทังหิวไปได้วันต่อวัน แต่นี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การทำหมัน และฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขให้ทันการณ์
ในความเป็นจริง ‘การให้อาหาร’ อาจไม่ใช่ต้นเหตุทั้งหมดของการสร้างสุนัขจรจัด ทว่ากลับสะท้อนให้เห็นช่องว่างจากการไร้ความสามารถในการสร้างระบบการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวไว้ในบทความ “ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ” เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย? เมื่อปี 2560 ว่า การให้อาหารสัตว์อย่างไร้กฎเกณฑ์ไม่ใช่ต้นเหตุของการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัด แต่กลับเป็นจุดที่ทำให้สุนัขจรจัดกลายเป็นปัญหาต่อสายตาผู้อื่นต่างหาก
อีกทั้งโรเจอร์ยังเสนอแนวทางอย่างการเปลี่ยนบทบาทของผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดให้กลายเป็นอาสาสมัครชุมชน ขึ้นทะเบียนให้เป็นสุนัขจรจัดในความดูแล ควบคุมพฤติกรรมสุนัขและพฤติกรรมตนเอง ให้อาหารเป็นจุดๆ เมื่อถึงเวลาก็คอยชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่จับไปทำหมัน ฉีดวัคซีน
ด้านกทม.อัปเดตสถานการณ์สัตว์จรจัดในหนังสือพิมพ์ครบรอบ 3 ปี กทม. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ว่า ทางกรุงเทพฯ เดินหน้าทำหมันฟรีให้กับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ในชุมชนต่อเนื่องพร้อมออกข้อกำหนดการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 กำหนดให้เลี้ยงตามบ้านหรือตามห้องชุดได้ 2 ตัวหรือ 3 ตัวและเลี้ยงได้มากที่สุด 6 ตัวตามขนาดพื้นที่ที่กำหนด ลดโรคระบาดในคนและสัตว์ แก้ปัญหาสัตว์จรตั้งแต่ต้นทางด้วยการลงทะเบียนฝังไมโครชิปสัตว์ หรือหากเลี้ยงไม่ไหวกทม. พร้อมเข้าช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ที่สามารถรองรับหมาได้ประมาณ 1,000 ตัว และแมวประมาณ 300 ตัว พร้อมให้ประชาชนได้เข้าไปรับเลี้ยงสัตว์ได้
อย่างไรก็ตาม ความยากของการจัดการไม่ได้อยู่ที่นโยบาย แต่อยู่ที่พฤติกรรมและคุณค่าทางศีลธรรมของคนในสังคมไทยที่ยังมีความเข้าใจผิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคำว่าเมตตา ผู้ให้อาหารจำนวนไม่น้อยยืนกรานกับตัวเองว่าตนคือคนดี เพราะได้ช่วยชีวิตสัตว์จากความหิวโหย แต่กลับไม่เคยถามตัวเองว่า สุนัขตัวนั้นถูกผลักไปอยู่ตรงไหนของชุมชนหลังจากอิ่มข้าวแล้ว
ความเมตตาเหล่านี้กลายเป็นต้นตอของความขัดแย้งที่วนเวียนไม่รู้จบในชุมชน การแก้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การห้ามให้อาหาร หรือการขับไล่สุนัขออกจากชุมชน แต่อยู่ที่การจัดระบบความรับผิดชอบร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
สุนัขจรจัดกัดคน ใครต้องรับผิดชอบ?
สุนัขจรจัดที่คนให้อาหารด้วยความเมตตา ไม่ว่าจะให้เป็นครั้งคราว หรือให้เป็นประจำ แน่นอนว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบชีวิตของสุนัขจรจัด จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขจรจัด
ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือกรมปศุสัตว์ มีหน้าที่บริหารจัดการดูแลสุนัขจรจัดโดยตรง เนื่องจากสุนัขถือเป็นสัตว์ควบคุม ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
เมื่อเกิดเหตุสุนัขจรจัดไปกัดคน หรือทำลายทรัพย์สินแล้วหน่วยงานไม่จัดการอย่างเหมาะสม จนเกิดความเสียหายขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน ตามมาตรา 67 และ 68 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เนื่องจากเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมและจัดการสัตว์จรจัดตามที่กฎหมายกำหนด
สุนัขจรจัด ปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย
ต้องบอกว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเพิ่งเห็นปัญหา บ้านเราได้ดำเนินการกำจัดสุนัขจรจัดมาตั้งแต่ปี 2498 เพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและลดความเดือดร้อนของประชาชน ต่อมาในปี 2535 ได้มีพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งนิยามให้สุนัขเป็นสัตว์ควบคุม โดยกำหนดให้เจ้าของต้องควบคุมไม่ให้ปล่อยปละละเลยจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด แต่นโยบายของรัฐกลับเน้นไปที่การควบคุมโรคมากกว่าการแก้ปัญหาทางสังคม เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์อย่างไม่ได้มาตรฐาน เลี้ยงสุนัขแบบไม่มีการขึ้นทะเบียนทำให้ผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลยสัตว์ได้อย่างไร้ความรับผิดชอบ
แม้ว่ากรุงเทพฯ ได้มีการประกาศใช้ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ทว่าภาคประชาชนกลับไม่เห็นด้วย และแสดงความคิดเห็นไปในเชิงลบว่า ‘ถ้าเป็นแบบนี้ แทนที่คนจะช่วยกันอุปการะแมวจร กลับจะเอาแมวหมาไปปล่อยเพิ่ม’ หรือ ‘ออกกฎแบบนี้ที่จะเดือดร้อนคือคนรักสัตว์เท่านั้นแหละ’
ปัญหาสุนัขจรจัดจึงกลายเป็นสิ่งที่แก้ไขก็ไม่ได้ ปรับปรุงก็ไม่ดี เพราะหากพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับการร่วมมือจากภาคประชาชน ก็นับว่าเป็นการยากที่จะจัดการให้ได้อย่างยั่งยืน ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทในห่วงโซ่ของปัญหา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธความรับผิดชอบหรือเพิกเฉย ผลที่ตามมาก็จะอยู่ในวังวนเดิม
ในขณะเดียวกัน ความเมตตาก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปราะของปัญหา บางคนเชื่อว่าการให้อาหารสุนัขจรจัดคือความดีงามทางศีลธรรม ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่าเป็นการโยนภาระให้ชุมชนโดยไม่รับผิดชอบ ทั้งสองฝั่งยืนยันว่าตนเองถูกต้องแล้ว จึงนำไปสู่ความขัดแย้งเรื้อรังที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสัตว์จรจัด หากแต่เป็นการชนกันระหว่างชุดความเชื่อ ศีลธรรม และนโยบาย
ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาสุนัขจรจัดคือภาพสะท้อนโครงสร้างทางสังคมที่ไม่ยอมรับว่าสัตว์คือส่วนหนึ่งของเมือง หากไม่สามารถสร้างระบบที่ทำให้คนเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิดชอบในระยะยาว ไม่สามารถควบคุมฟาร์มเพาะพันธุ์ จัดการผู้ละเลยการเลี้ยงดู หรือแม้แต่ทำให้การให้อาหารสุนัขจรจัดอยู่ภายใต้ระบบที่มีวินัย ก็จะไม่สามารถมีเมืองที่ปลอดภัยทั้งสำหรับคนและสัตว์ได้เช่นกัน
ที่มา
https://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2562/b207780.pdf?utm
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sujthai/article/view/257800?utm
https://www.posttoday.com/politics/480737?utm
https://lawdivision.kku.ac.th/3127/
https://www.bbc.com/thai/thailand-43459718
https://www.facebook.com/share/16PQ9AgVyo/
https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2021/TU_2021_5608031125_11991_21823.pdf?utm
Tags: หมา, สัตว์เลี้ยง, ทำหมัน, สุนัขจรจัด, ฝังไมโครชิพ, สัตว์จรจัด, หมาจร, Untitled Dog, รับรัก ไม่รับเลี้ยง