การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือการเรียนระดับ ‘มหาวิทยาลัย’ ยังคงเป็นความฝันของเด็กไทยหลายคนที่ต้องการศึกษาปูทางไปสู่การมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่สดใส ทว่าหลายครั้งที่ระบบการคัดเลือกเข้าสู่ระบบกลับกลายเป็น ‘ปัญหา’ ขัดขวางเส้นทางของเด็กๆ เสียเอง

นับตั้งแต่ที่ระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากระบบ ‘แอดมิชชัน’ (Admission) มาเป็นระบบ TCAS ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งดำเนินการโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตลอดเวลากว่า 8 ปีเกิดดราม่าถึงการคัดเลือกให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะด้วยตัวระบบเองก็ดีหรือข้อสอบเองก็ดี

อย่างล่าสุดกับกรณี TCAS68 ที่มีกระแสเรียกร้องจากนักเรียน Dek68 ว่า ต้องการให้ ‘เลื่อน’ การสอบรายวิชา TGAT และ TPAT 2-5 ทั้งประเทศออกไปก่อน จากเดิมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-9 ธันวาคม 2567 เป็นวันที่ 21-23 ธันวาคม 2567 แทน เนื่องจากโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางดึกของวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ทปอ.ออกมาแถลงมติ ‘ไม่เลื่อน’ การจัดสอบทั้งประเทศ เพียงแต่เลื่อนการจัดสอบใน 4 สนาม ทั้งสนามสอบโรงเรียนสตรียะลา สนามสอบโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ รวมถึงสนามสอบโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง ในจังหวัดยะลา และสนามสอบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งให้เหตุผลในประเด็นที่นักเรียนหลายคนให้ความเป็นกังวลถึง ‘ความเป็นธรรม’ ของข้อสอบไว้ว่า 

“ประเด็นความเป็นธรรมเรื่องข้อสอบ ทปอ.ได้มีการบริหารความเสี่ยงในการจัดการข้อสอบ โดยการสร้างข้อสอบ 2 ชุดให้ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยมีตารางวิเคราะห์ข้อสอบ (Test Blueprint) เพื่อกำหนดสัดส่วนของคำถามแต่ละหัวข้อ และสัดส่วนของข้อสอบที่มีความยากง่าย (Diffculty Levels) เหมือนกัน 

“อีกทั้งยังกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อสอบทั้ง 2 ชุดเพื่อความถูกต้องและความชัดเจน ทั้งก่อนและหลังการสอบ เพื่อความเป็นธรรมให้กับผู้สอบทุกคน” ถ้อยแถลงที่ ทปอ.ระบุออกมา

แม้มีการออกมาชี้แจง แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ยังคงคุกรุ่นที่คงไว้ซึ่งข้อสงสัยแก่นักเรียนไม่ต่างกับปีก่อนหน้า วันนี้ The Momentum รวบรวม ‘ดราม่า’ ย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ระบบการคัดเลือก’ เข้ามหาวิทยาลัยตลอด 8 ปีว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้าง

TCAS61: ปัญหา ‘กั๊ก’ ที่นั่ง

ในปีการศึกษา 2561 นับเป็นปีแรกที่ระบบการคัดเลือกเปลี่ยนจากระบบแอดมิชชันมาเป็นระบบ TCAS เพื่อหวังแก้ไขปัญหากั๊กที่นั่ง จากเดิมที่นักเรียน 1 คนสามารถสอบติดได้หลายมหาวิทยาลัย ผ่านการจำกัดให้นักเรียนสามารถเลือกที่นั่งได้สูงสุด 4 อันดับ อีกทั้งยังหวังว่า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการสอบคัดเลือกรอบที่ 3 (รอบ Admission 1) ที่ให้สิทธินักเรียนที่คะแนนสูงสามารถเลือกคณะและมหาวิทยาลัยได้ในทุกอันดับที่สอบติด ผลกระทบที่ตามมาปรากฏว่า นักเรียนที่มีคะแนนสอบสูง ‘กัน’ ที่นั่งในคณะที่ตนไม่ได้หวังมาก ส่งผลให้นักเรียนที่มีคะแนนน้อยกว่าไม่สามารถสอบติดได้ในรอบที่ 3

เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ นักเรียน A มีคะแนนสูงยื่นสอบจนสามารถติดอันดับที่ 1-4 ตามที่เลือกไว้ ทำให้มีสิทธิเลือกเรียนได้ทุกอันดับที่ติด และเมื่อนักเรียน A รับสิทธิในอันดับที่ 1 ทำให้คณะลำดับที่ 2-4 ว่างลงไป และระบบจะไม่สามารถเรียกลำดับสำรองเข้ามาแทนที่ว่าง แต่จะนำที่ว่างส่งต่อไปยังรอบที่ 4 (รอบ Admission 2) แทน

TCAS63: วารสารฯ ธรรมศาสตร์ คำนวณคะแนนสอบ ‘ผิดพลาด’

ดราม่ามหากาพย์ที่เป็นปมเซ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลัง

เมื่อการประกาศผลการคัดเลือกรอบ 3 ใน TCAS63 ประกาศผลออกมา ปรากฏว่านักเรียนที่มีคะแนนสอบวิชา GAT และวิชา PAT ที่มีคะแนนสูงกว่านักเรียนคนอื่น กลับไม่ติดอันดับในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยรับเข้าของมหาวิทยาลัยมีการดึงคะแนนคำนวณผิดพลาด ได้มีการนำเอาคะแนน PAT 7.7 (วิชาเกาหลี) มาคำนวณ แต่ไม่ได้นำคะแนน PAT 7.1-7.4 เข้ามาร่วมด้วย

ทำให้ ทปอ.ประกาศผลนักเรียนที่มีสิทธิเข้ารับการศึกษาในรอบ 3 ทั้งหมด 87 คน ต่อมามหาวิทยาลัยได้มีการปรึกษากับ ทปอ. โดยตัดสินใจให้สิทธิกับผู้สมัครที่มีคะแนนสูงกว่าเข้ารับการศึกษาทั้งหมดเพื่อเป็นการเยียวยา

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็น ‘ข้อกังวล’ ของอาจารย์ในคณะฯ ถึงคุณภาพการเรียนการสอน เพราะจากเดิมศักยภาพของคณะฯ สามารถรองรับนักศึกษาได้เพียง 220 คนต่อปี แต่ใน TCAS63 ทำให้มีนักศึกษามากถึง 400 คน

TCAS65: ค่าสอบไม่เห็น ‘แพง’ เลย

“ค่าเลือกอันดับคณะมหาวิทยาลัย 10 อันดับ อู้ย 900 บาทไม่แพงเลย ถูกมาก” คำพูดของ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ.และผู้จัดการระบบ TCAS ที่ออกมาแถลงต่อกรณีที่สังคมตั้งคำถามถึง ‘ความแพง’ ของอัตราค่าสมัครยื่นเข้าสมัครมหาวิทยาลัย 10 อันดับ เมื่อปี 2564

ย้อนกลับไปในปีนั้น เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่หนัก ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของหลายครอบครัว ทำให้เกิดกระแสความเป็นกังวลว่า ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นสูงเกินไปหรือไม่

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาตั้งข้อสังเกตกับสำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) ว่า ทปอ.มองนักเรียนเปรียบเสมือนลูกค้า อีกทั้งยังไม่รับฟังความเห็นเพราะเป็น ‘ผู้ผูกขาด’ ในตลาดแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งยังระบุอีกว่า ประเทศต้องพัฒนาคน ดังนั้นจะมองการศึกษาเป็นธุรกิจไม่ได้

“ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วหรือแม้แต่ประเทศที่เป็นทุนนิยมจัดยังไม่ทิ้งนักเรียนเช่นนี้” อาจารย์คณะครุศาสตร์กล่าวต่อไทยพีบีเอส

ดราม่าใน TCAS 65 ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ ยังมีการตั้ง #แบนทปอ. ในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย ภายหลังการตอบคำถามของแอดมินเพจ Mytcas.com เมื่อมีนักเรียนเข้าไปถามว่า หากติดโรคโควิด-19 และยังไม่หายดีทันการสอบต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า แอดมิน ทปอ.กลับให้คำตอบว่า “สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ”

จนทำให้นักเรียนหลายคนออกมาตั้งคำถาม ถึงความเหมาะสมของการตอบคำถามดังกล่าว และเรียกร้องให้มีมาตรการการจัดการที่ดีกว่านี้

TCAS67: ชุดข้อสอบ ‘ผิดพลาด’

ภายหลังการประกาศคะแนนสอบ A-Level 67 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 มีการตั้งคำถามกับคะแนนสอบในสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า ชุดข้อสอบมีปัญหา ไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือแม้กระทั่งข้อสอบยากเกินหลักสูตร อีกทั้งเมื่อคะแนนสอบออกมาปรากฏว่า ผู้ที่ไม่ได้เข้าสอบกลับมีคะแนนในระบบ ทำให้ในวันถัดมา ทปอ.ออกแถลงชี้แจงถึงความผิดพลาดของข้อสอบไว้ว่า

1. ผู้เข้าสอบรายหนึ่งโพสต์ว่า ขาดสอบวิชาคณิตศาสตร์ 1 แต่กลับมีคะแนน 18/100 ตรวจสอบแล้วพบว่า มีผู้เข้าสอบชื่อเดียวกัน 2 รายในห้องสอบ แต่นั่งสอบผิดที่ ต่อมาเมื่อทราบจึงย้ายที่นั่งสอบไปยังที่ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามกระดาษคำตอบที่นั่งผิดถูกส่งเข้าระบบตรวจ ทำให้ปรากฏคะแนน 18/100 ตามที่รายงานผลสอบ ตอนนี้ได้แก้ไขผลสอบให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว

2. ผู้เข้าสอบรายหนึ่งโพสต์ว่า ขาดสอบวิชาคณิตศาสตร์ 2 แต่กลับมีคะแนน 9/100 ตรวจสอบแล้วพบว่า มีผู้เข้าสอบรายอื่นนั่งสอบผิดที่ ส่งผลให้คะแนนตนเองกลายเป็นขาดสอบ และผู้เข้าสอบที่ขาดสอบกลายเป็นมีคะแนน 9/100 ตอนนี้ได้แก้ไขผลสอบให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว

3. ผู้เข้าสอบรายหนึ่งโพสต์จากการประกาศผลสอบ A-Level 67 ว่า ตนได้คะแนนเท่ากับ A-Level 66 จากที่เข้าสอบ 7 วิชา ตรงกัน 4 วิชา ตรวจสอบแล้วพบว่า มีผู้เข้าสอบได้คะแนนเช่นนั้นจริง ส่วนอีก 3 วิชาที่เหลือ ได้คะแนนแตกต่างจากปีก่อนหน้า

ขณะที่ความผิดพลาดของข้อสอบ ทาง ทปอ.ชี้แจงไว้ว่า

1. วิชาฟิสิกส์ ข้ออัตนัยที่โจทย์ไม่ได้กำหนดค่าคงที่ คณะกรรมการออกข้อสอบพิจารณาให้มีคำตอบที่ถูกต้องเป็นไปได้ 6 คำตอบ ตามค่าคงที่ที่ผู้เข้าสอบอาจใช้ความละเอียดไม่เท่ากัน

2. วิชาชีววิทยา ข้อ 12 ในชุดที่ 1 และชุดที่ 2 โจทย์ถามถึงระดับออกซิเจนในเหงือกปลา เนื่องจากตัวอักษร A-B-C พิมพ์ไม่ชัดเจนในข้อสอบ คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS มีมติให้ยกข้อสอบฟรี ให้คะแนนทุกคน

3. วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ข้อ 9 ชุดที่ 1 และข้อ 10 ชุดที่ 2 โจทย์กำหนดสาร NH4 แต่พิมพ์ไม่ตรงกันในตัวเลือกเป็น NH3 คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS มีมติให้ยกข้อสอบฟรี ให้คะแนนทุกคน

4. วิชาสังคม ข้อ 7 ชุดที่ 1 และข้อ 2 ชุดที่ 2 คณะกรรมการออกข้อสอบ พิจารณาคำร้องแล้ว จึงมีมติให้มีคำตอบถูกสองคำตอบคือ ตัวเลือก 3 และ 5

5. ข้อสงสัยเรื่องการออกข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ 2 เกินหลักสูตร คณะกรรมการออกข้อสอบพิจารณาแล้วลงความเห็นยืนยันว่า ไม่เกินหลักสูตรแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ TCAS61-TCAS67 ความผิดพลาดของระบบการคัดเลือกเข้าสู่ระบบการศึกษายังปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กไทยหลายคนต้องมานั่งปวดหัวกับระบบ

คำถามที่สำคัญชวนให้ ทปอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำกลับไปขบคิดคือ จะทำอย่างไรให้ ‘ระบบการคัดเลือก’ ที่เป็นที่พึ่งพิงของเหล่าเยาวชน นั้นมีมาตรฐานและได้รับความน่าเชื่อถือเสียที

เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องพลาดโอกาสกับการศึกษาตามความฝันที่วางไว้

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/thailand-52721778

https://www.mytcas.com/news/43/

https://www.thaipbs.or.th/news/content/307214

Tags: , , , , ,