หากให้กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมของทุกปี ส่วนใหญ่แล้วเรามักนึกถึง ‘การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แต่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่บางคนอาจรู้ บางคนอาจไม่รู้ หรือบางคนอาจรู้แต่หลงลืมไปแล้ว คือเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปีนี้กำลังจะครบรอบ 19 ปีของเหตุการณ์

เราอาจเคยได้ยินเรื่องของการครบรอบความรุนแรงในเหตุการณ์ต่างๆ เราอาจเคยได้ยินถึงเรื่องของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เราอาจเคยได้ยินว่างบประมาณในการจัดการความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้หมดไปแล้วกี่แสนล้าน รวมถึงได้ยินว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ถูกต่อไปอีก 1 เดือน

แต่เสียงจาก ‘ผู้สูญเสีย’ กลับเป็นเสียงที่เบาบาง

ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นนิทรรศการที่กำลังเล่าว่า ‘เสียงเหล่านี้ยังมีอยู่’ กล่าวคือ มีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นั้น แต่เสียงของครอบครัวผู้สูญเสียเหล่านั้น กลับถูกลดทอนให้เป็นเสียงเงียบที่ไม่มีใครได้ยิน

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ Deep South Museum จัดนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ (Heard the Unheard: Takbai 2004) ในระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม-30 กันยายน 2566 เพื่อให้เราได้ทำความเข้าใจกับ ‘เสียง’ ที่ ‘ถูกทำให้เงียบ’ ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากจำหรือแม้แต่ให้ความสนใจ

 

‘ตากใบ’: เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้

‘ตากใบ’ เป็นชื่ออำเภอเล็กๆ ชายแดนไทย-มาเลเซีย ในจังหวัดนราธิวาส (ซึ่งเป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่บ่อยครั้ง และเป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู-มุสลิม)

เช้าตรู่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 หนึ่งในวันธรรมดาที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ มีผู้คนนับพันคนมารวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ปล่อยตัว ‘ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน’ 6 คน ที่ถูกคุมตัวและสอบสวนมามากกว่าสัปดาห์ เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับ ‘อาวุธ’ ที่หายไป 

เวลาราว 08.00 น. เจ้าหน้าที่เจรจาให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่ไม่เป็นผล ต่อเนื่องมาถึงช่วง 09.00 น. ที่เริ่มมีเฮลิคอปเตอร์มาบินวนบริเวณในที่ชุมนุม เริ่มมีเสียงปืนยิงขึ้นตั้งแต่ช่วง 10.00 น. แต่ผู้คนยังคงอยู่จนกระทั่งไปละหมาดช่วงเที่ยงวัน

ต่อมาในช่วงบ่าย เริ่มมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และมี ‘คำสั่ง’ ให้ ‘สลายการชุมนุม’ โดยเริ่มจากการฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาตอบโต้กว่า 30 นาที จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุถึง 7 คน

หลังจากที่ ‘เจ้าหน้าที่’ เริ่มคุมเหตุการณ์ได้แล้ว จึงสั่งให้ผู้ชุมนุม ‘ถอดเสื้อ’ แล้ว ‘มัดมือไพล่หลัง’ พร้อมทยอยพาผู้ชุมนุม 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกประมาณ 22 คัน ในลักษณะ ‘นอนซ้อนทับกันไป’ ผ่านระยะทางกว่า 140 กิโลเมตร เพื่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  

เมื่อถึงจุดหมายพบว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่างเดินทาง 77 คน

เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ผลการชันสูตรศพระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ‘ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ และไตวายเฉียบพลัน’

ทั้งหมดส่งผลให้ ‘ตากใบ’ กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ ‘รัฐ’ ใช้อำนาจกระทำต่อ ‘ประชาชน’ 

โดยที่ไม่สามารถ ‘จับมือใครดม’ ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งที่แท้จริง

 

‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ (Heard the Unheard: Takbai 2004)

ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคณะผู้จัดทำโครงการนี้ กล่าวว่า นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ จังหวัดชายแดนใต้’ โดยมีจุดมุ่งหมายแรกเริ่มคือ มองว่าการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพที่จะต้องบันทึกข้อมูลความรุนแรงเอาไว้

โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของการทำหอจดหมายเหตุในพิพิธภัณฑ์ ปกติแล้วจะทำหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หากแต่ที่นี่ ‘ความรุนแรงยังคงอยู่’

ทางคณะผู้จัดทำจึงเริ่มลงสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลว่า ‘คนในพื้นที่สามจังหวัดฯ มีความคิดเห็นอย่างไร หากจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หอจดหมายเหตุ’ ซึ่งสิ่งที่ค้นพบคือ คนในสามจังหวัดฯ ไม่ต้องการให้มีสิ่งเหล่านี้ในพื้นที่ เพราะรู้สึกว่า จะมาเล่าความเจ็บปวดของเขาซ้ำไปซ้ำมาที่นี่ทำไม คนที่ควรต้องรับรู้ถึงความเจ็บปวดของพวกเขา คือ ‘คนอื่นๆ’ ในประเทศไทย ต่างหาก

นั่นจึงจุดประกาศไอเดีย ‘ขยับประเด็น’ ผ่าน ‘พิพิธภัณฑ์สัญจร’ เฉกเช่นนิทรรศการนี้ คือการจัดนิทรรศการเวียนไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดครั้งแรกที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และขยับมาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติดังเช่นตอนนี้

 

ทำไมถึงเป็น ‘เสียงเงียบ’?

“19 ปีมันคือเมื่อวาน” หนึ่งในคณะผู้จัดทำเล่าถึงประโยคหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ขึ้นมา

ดังที่กล่าวไว้ช่วงต้นบทความว่า เหตุการณ์ตากใบถูกพูดถึงในหลายครั้งก็จริง แต่มักไม่ค่อยมีการนำเสนอในส่วนของ ‘เสียงของผู้สูญเสีย’ ดังนั้น ‘เสียงเงียบ’ จึงเป็นนิยามที่ดีที่สุดของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ที่เขาต้องเสียบุคคลที่รักในครอบครัวไป

อันที่จริง เสียงในชีวิตประจำวันของคนที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวดมาตลอด 18-19 ปี แทบไม่เคยถูกเล่าออกมา สิ่งที่มักถูกเปิดเผยเมื่อพูดถึง ‘ตากใบ’ ก็มักเป็น ความอยุติธรรม การต่อสู้ในคดีความที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ ‘ความเจ็บปวด’ ที่เป็น ‘ความรู้สึก’ ที่แท้จริงของพวกเขาแทบไม่เคยถูกเปิดเผยออกมาเลย

จึงเกิดเป็นธีมหลักของงานนี้ ที่นำเอา ‘วัตถุสิ่งของ’ ที่เป็นเหมือน ‘ของดูต่างหน้า’ ของบุคคลสำคัญ มาเป็นภาพแทนความทรงจำที่สามารถบอกเล่าต่อได้ผ่านประสบการณ์ อารมณ์และความรู้สึก

 

‘วัตถุสิ่งของ’ ในฐานะ ‘ภาพแทนความทรงจำ’

ที่จริงแล้ว วัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในที่แห่งนี้ เป็นเพียงของธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำและประสบการณ์ที่เขารำลึก เมื่อนึกถึงคนสำคัญที่เสียชีวิตในเหตุการณ์

ยกตัวอย่างเช่น ‘โสร่งและชานบ้าน’ ของ ‘มามาสุกรี’ ชายหนุ่มผู้เป็นพ่อของลูกชายอายุ 4 ขวบ เขาทำงานรับจ้างที่โรงงานยางและรับจ้างทำนา ซึ่งในขณะนั้น ภรรยาของมามาสุกรีกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองได้เพียง 4 เดือน

“เขาเป็นคนขยันทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เป็นคนที่ไม่พูดมาก ถามคำตอบคำ ชอบไปละหมาดที่มัสยิดและช่วยเหลือผู้อื่นตลอด

วันหนึ่งที่ฝนตก เขาบอกว่าเขาจะไปเที่ยวที่ตากใบ เราฝากเขาซื้อชุดรายอและมะตะบะเจ้าอร่อยสำหรับแก้บวช

ตอนเย็นเขาก็ยังไม่กลับมา ก็เป็นห่วงมาก

วันรุ่งขึ้นน้องสาวเขาส่งข่าวมาบอกว่า เขาเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวเขาเป้นคนไปรับศพ

ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก ศพของเขาฝังไว้ที่กุโบร์บ้านแม่ หลังจากนั้นกลับมาที่บ้านก็ร้องไห้ เหมือนชีวิตจะหมดสิ้นทุกอย่าง” นี่คือส่วนหนึ่งจากคำบรรยายใต้สิ่งของ

หรือรูปภาพ ‘บานประตู’ ของ ‘อับดุลการิม’ ที่เสียชีวิตตอนอายุ 28 ปี หลังจากแต่งงานได้เพียง 1 สัปดาห์

“วันนั้นไม่รู้ว่าลูกไปไหน เขาไม่กลับบ้าน ได้ข่าวว่ามียิงกันที่ตากใบ

ผ่านไปประมาณสามวัน มีคนมาบอกว่าลูกเสียชีวิตอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธฯ

แม่เหมารถคนในหมู่บ้านไปรับศพ ตอนนั้น หน้าลูกเราก็จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่กางเกงที่เขาใส่

วันก่อนยังเห็นลูกอยู่ในสภาพที่ดี แต่ลูกกลับมาในสภาพที่จำไม่ได้

ช่วงนั้นครอบครัวกลัวทหารมาก ทหารมาถึงบ้านไม่มีคนอยู่ เลยงัดประตูบ้านเสียหาย

เข้าไปรื้อค้นในบ้าน งัดประตูห้องนอน เป็นอะไรที่เจ็บปวดมากตอนนั้น

ความรู้สึกแม่ไม่เคยลืมลูกเลย ยังคงคิดถึงเสมอ”

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ ‘ประตูบานนั้น’ สะท้อนความรู้สึกทั้งความคิดถึงลูกชายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ และความรู้สึกเจ็บปวดที่เจ้าหน้าที่ทหารงัดประตูบุกบ้านได้เป็นอย่างดี

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ‘กระเป๋าสตางค์’ ของ ‘อาดูฮา’ หนึ่งในผู้เสียชีวิตที่อายุเพียงแค่ 20 ปี และกำลังอยู่ในช่วงเตรียมเอกสารเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศจอร์แดน โดยของชิ้นนี้เป็นกระเป๋าที่อาดูฮาใช้ทุกวันในห้วงเวลานั้น

“วันเกิดเหตุ ลูกบอกว่า จะไปละหมาดกับเพื่อนในหมู่บ้านที่ตากใบ

เย็นแล้วลูกยังไม่กลับมา เพื่อนบ้านมาบอกว่ามีเหตุการณ์ที่ตากใบ

พวกเราดูโทรทัศน์ช่วงประมาณห้าโมงเย็น เห็นว่ามีการประท้วง และเห็นเพื่อนของลูกในโทรทัศน์ด้วย

อีกใจหนึ่ง เราคิดว่าเขาอาจหนีไปมาเลเซีย 

วันที่สามหลังเหตุการณ์ พ่อกับที่บ้านไปค่ายอิงคยุทธฯ คิดว่าถ้าเสียชีวิตจะพากกลับบ้านเลย

พอไปถึงดูรูปศพ ก็จำไม่ได้ ไม่มีลูกในรายชื่อผู้เสียชีวิตและรายชื่อผู้ถูกคุมขัง

ต่อมาทางอำเภอให้ไปดูรูปผู้เสียชีวิตก่อนที่จะฝังศพ วันที่ฝังศพพ่อและพี่ชายก็ไป

และเชื่อแน่ว่าลูกถูกฝังอยู่ที่นั่น แม่รับไม่ได้ที่ลูกเสียชีวิต ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงลูกอยู่ตลอดเวลา”

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าตัวบุคคลจะไม่อยู่แล้ว แต่วัตถุยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงทำให้ระลึกถึง รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ ‘ย้ำเตือนใจ’ ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น ที่พรากลมหายใจของคนคนหนึ่งไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ 

ตอนหนึ่งระหว่างชมนิทรรศการ ผู้เขียนมีความคิดทำนองว่า ถึง ‘วัตถุ’ จะไม่สามารถส่งเสียงได้ แต่ ‘เรื่องที่บรรจุในวัตถุ’ นั้นอาจพยายามส่งเสียงออกมา

ถึงแม้จะเป็นเพียงความทรงจำของ ‘ปัจเจก’ แต่กลับยึดโยงเราไว้กับเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างดี ผ่านเรื่องธรรมดาๆ ของสิ่งของในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นการเว้นช่องให้ผู้ชมตีความเพิ่มเติมผ่านประสบการณ์และวัตถุ

หรืออาจกล่าวได้ว่า วัตถุความทรงจำเหล่านั้นกำลังสะท้อนถึงภาพของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดฯ ไม่ว่าจะเป็นผ้าโสร่ง ชานบ้าน กระเป๋าเงิน แก้วน้ำชา ทุกอย่างล้วนบอกเล่าเรื่องราวของมันเอง

 

“การพูดเรื่องความทรงจำถือเป็นเรื่องการเมือง”

เหตุการณ์นี้ถึงจะไม่ได้อยากจำ แต่ก็เป็นเรื่องที่ลืมได้ยาก

ความรุนแรงในสามจังหวัดฯ​ ยังคงมี และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังคงดำเนินต่อไป

ความสูญเสียเหล่านี้ที่ยังไม่มีการคลี่คลายใดๆ ก็ยังเป็นเหมือนคดีอาชญากรรมที่ยังหาตัวอาชญากรที่แท้จริงไม่เจอ

แต่การนำเอา ‘ความทรงจำ’ มาผลิตซ้ำและเผยแพร่ต่อให้เห็นหลายด้าน และการ ‘เลือกจำ’ ก็เป็นกระบวนการต่อสู้ในรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้

และเราก็คงต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ ‘เสียง’ ของเราถูกเปล่งให้ดังขึ้นเฉกเช่นเดียวกัน

 

Tags: , , ,