กลายเป็นท่าทีที่เกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีต่างๆ ที่ออกมาแล้ว ‘ขัดใจ’ ในเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ ในเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

เพราะเศรษฐามักจะออกมาแสดง ‘ความไม่พอใจ’ และ ‘ความหงุดหงิด’ เพื่อให้บรรดาองคาพยพกลับไปเสนอมาใหม่ หรือในอีกด้านหนึ่งอาจเป็นการ ‘โยนหินถามทาง’ เพื่อแสดงออกให้ข้าราชการเห็นว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสนองนายกฯ

คำถามสำคัญที่มักจะอยู่ในการถกเถียงของสาธารณชนก็คือ เป็น ‘เรื่องปกติ’ หรือไม่ ต่อกรณีที่นายกฯ จะแสดงท่าทีเหล่านี้ออกมา เพราะเอาเข้าจริง นายกฯ ก็คือหัวโต๊ะในคณะรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล และจุดสูงสุดของห่วงโซ่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง การที่นายกฯ แสดงออกถึง ‘ความไม่พอใจ’ ในแง่หนึ่งคือการแสดงออก ‘จุดอ่อน’ ออกมาหรือไม่ แล้วแทนที่จะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา เพราะเหตุใดถึงเลือกแสดงอาการ ‘ไม่สบายใจ’ ออกมา

The Momentum รวบรวมความไม่พอใจ-ความไม่สบายใจในรอบ 4 เดือนของเศรษฐา ที่แสดงออกสู่สาธารณชนว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่น่าสนใจ แล้วความไม่สบายใจนั้นถูกแก้ไขและคลี่คลายออกไปอย่างไรได้บ้าง

1. ค่าไฟแพง

วิธีแก้ไข: อุ้ม ‘ค่าไฟ’ ต่อ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าไฟในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

เป็นการขึ้นค่าไฟทันที จากก่อนหน้านี้ที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลดค่าไฟในห้วงเวลาเริ่มแรกจากการรับตำแหน่งให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

ทันทีที่ กกพ.มีมติ เศรษฐาบอกทันทีว่า “โอ๊ย รับไม่ได้” เพราะเป็นราคาที่สูงเกินไป และจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมาได้ ‘อุ้ม’ ค่าไฟต่อไป โดยให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริง เพราะในเวลาเดียวกัน กระทรวงพลังงานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน ทำให้ภาระหนี้ของ กฟผ.จะสูงขึ้นหลังจากนี้

หากยังไม่มีการ ‘ปรับโครงสร้าง’ ค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ก็แน่นอนว่ารัฐบาลอาจต้องอุ้มหนี้นี้ต่อไป และยังต้องหาเงินชดใช้หนี้ของ กฟผ.ที่ตอนนี้แบกไว้เกิน 1 แสนล้านบาท นับตั้งแต่การอุ้มค่าไฟในห้วงเวลารัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

2. ค่าแรงขั้นต่ำถูก 

วิธีแก้ไข: ตีกลับค่าแรง-เตรียมปรับค่าแรงอีกรอบ

เรื่องนี้มาจากมติคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบไปด้วยผู้แทน รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของปี 2567 สูงสุดอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต 370 บาท กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 360 บาท ต่ำสุดอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ 330 บาทต่อวันเท่านั้น

หลังจากรับทราบข่าว เศรษฐาตอบทันทีว่าไม่สบายใจที่ค่าแรงขั้นต่ำ ‘ขึ้นน้อยไป’ และต้องขอ ‘ทบทวน’ ใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขึ้นเพียง 2-3 บาทเท่านั้น เป็นเหตุให้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา วันที่ 12 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดึงเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อกลับไปทบทวนอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ‘ฐาน’ การพิจารณาปรับค่าแรงคิดคำนวณจากภาวะเศรษฐกิจช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้การปรับขึ้นค่าแรงไม่เป็นธรรมนัก

กระนั้นเอง เมื่อรัฐมนตรีดึงเรื่องกลับไปก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยกฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเห็นตามคณะกรรมการไตรภาคีเท่านั้น สุดท้าย คณะรัฐมนตรีจึงต้องเห็นชอบไปก่อน และเศรษฐา-รัฐบาลต้องประกาศว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบในปี 2567 โดยพยายามจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์

3. ดอกเบี้ยเงินกู้สูง ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ

วิธีแก้ไข: ยังไม่ชัดเจน

ความไม่พอใจดังกล่าวระเบิดขึ้นภายหลัง สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดังโพสต์เรื่อง ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย’ ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์กำไรสูงลิ่ว และอาจเป็นผลจาก ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่ปีที่แล้วมีการปรับสูงถึง 8 ครั้ง ขณะเดียวกัน การที่กำไรธนาคารพาณิชย์สูงในเวลาที่ประชาชนเงินสดขาดมือ และการขอสินเชื่อเป็นไปอย่างยากเย็น อาจหมายถึงการที่แบงก์ชาติด้อยประสิทธิภาพในการควบคุมธนาคารพาณิชย์ 

ทั้งหมดนี้มะรุมมะตุ้มกับการที่เศรษฐาไม่พอใจ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นทุนเดิม หลังจากเศรษฐพุฒิออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย ‘แข็ง’ เกินไป 

หลังจากเกิดการ ‘เคลียร์ใจ’ ระหว่างเศรษฐากับเศรษฐพุฒิที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุป และคาดว่าแบงก์ชาติก็คงไม่เปลี่ยนท่าที

เป็นสภาวะ ‘ตึง’ ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลยาวๆ ต่อไป

4. จับ ‘หมูเถื่อน’ ไม่สำเร็จ

วิธีแก้ไข: ย้ายอธิบดีดีเอสไอ

“ผมสั่งการแล้ว ทำไมไม่ทำ” 

ภาพของเศรษฐา ‘ฉุน’ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ห้องรับรองสนามบินสุวรรณภูมิ กลายเป็นภาพที่ปรากฏไปทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 โดยในเวลานั้น ข่าวเรื่องการลักลอบนำเข้า ‘หมูเถื่อน’ จากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ห้อมล้อมรัฐบาลและโยงใยว่า อาจเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในรัฐบาล ขบวนการอาจอยู่ร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย

ท่ามกลางความพยายามของดีเอสไอในการทลายขบวนการหมูเถื่อน ขั้นตอนการสืบสวน-สอบสวน กลับเป็นไปอย่างล่าช้า ราวกับว่าเมื่อสืบแล้วอาจ ‘เจอตอ’ บางอย่าง และเมื่อเวลาผ่านไป กระบวนการก็ไม่ได้คืบหน้านัก จึงเป็นแมตช์ที่นายกฯ ออกอาการฉุนต่อหน้าสาธารณชนอย่างชัดเจน

ถึงที่สุด วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 พันตำรวจตรีสุริยานำกำลังบุกไปยัง ‘แม็คโคร’ เพื่อตรวจสอบ เพราะพบการ ‘วางบิล’ จากสยามแม็คโครในฐานะหนึ่งในผู้ซื้อหมูเถื่อน และในเวลาต่อมา 1 วันหลังจากนั้นก็ปรากฏคำสั่งของ ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ายอธิบดีดีเอสไอพ้นจากตำแหน่งไปยังตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมทันที

แม้ความไม่สบายใจของเศรษฐาทำให้ได้อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ ทว่าขบวนการสอบสวนหมูเถื่อนยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และแม้จะมีชื่อคน ‘หลุด’ ออกมา แต่ปลายทางก็ยังคงไม่ชัดเจนว่าจะได้ผู้กระทำผิดเมื่อใด

Tags: , , , ,