เมื่อเอ่ยถึงกีฬาสุดฮิต หลายคนน่าจะนึกถึงกีฬาสามัญอย่างฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือบาสเกตบอล แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีกีฬาที่แปลกแหวกแนวต่างไปจากนั้น คือ ‘แข่งตบหน้า’ หรือ ‘Slap Fighting’ กีฬาสุดมันที่ตบกันจนหน้าหัน แก้มบวมปูด
ต้องเกริ่นนำก่อนว่า Slap Fighting เป็นการแข่งขันที่ใช้การออกแรงตบสุดตัว เพื่อให้คู่ต่อสู้แสดงอาการเจ็บปวดมากที่สุดหรือลงไปกองนอนกับพื้น แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ถูกบรรจุเป็นกีฬาสำหรับแข่งขันตามข้อบัญญัติของการกีฬาแห่งประเทศไทย ถึงกระนั้น ก็ยังโดดเด่นในวงการกีฬาใต้ดิน โดยมีเหล่านักสู้หาญกล้าสมัครท้าประลองวัดกำลังกันต่อเนื่อง
The Momentum มีโอกาสพาทุกคนไปสัมผัส Slap Fighting อีกหนึ่งการแข่งขันกีฬาสุดตื่นเต้นและท้าทาย พร้อมสัมผัสบรรยากาศสุดดิบเถื่อนจากเหล่านักสู้ใต้ดินผู้ใจกล้าบ้าบิ่น ถึงขั้นต้องนิยามการแข่งขันนี้ว่า ‘ตบเอามัน’
‘Slap Down Fight 2’ หรือการแข่งขันตบหน้าครั้งที่ 2 ของประเทศไทย จัดขึ้นภายในร้าน Hillary 1 สุขุมวิทซอย 4 กรุงเทพฯ และเป็นประเทศแรกของทวีปเอเชียที่มีการจัดการแข่งขันลักษณะนี้
“ผมเป็นโปรโมเตอร์กีฬา Boxing มวยไทย และ MMA เห็นเด็กหลายคนมาแข่งชกมวย รู้สึกว่าเป็นอันตรายมาก และต้องใช้ทักษะ ใช้การฝึกซ้อม แต่หากเป็นแข่งตบหน้า เด็กสามารถเล่นได้ และได้เงินช่วยเหลือครอบครัว”
Mr. Dean ซีอีโอบริษัท แบล็คบูล (ไทยแลนด์) จำกัด (Black Bull Thailand) ผู้จัดการแข่งขัน Slap Down Fight 2 เล่าถึงการนำการแข่งขันประเภทนี้เข้ามาจัดที่ประเทศไทย เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ก็น่าลอง เพราะอยากให้เด็กที่มีความฝัน และชื่นชอบกีฬาแนวต่อสู้มีพื้นที่สร้างชื่อเสียงและหารายได้ พร้อมทั้งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้คนภายนอกสัมผัสกับบรรยากาศความตื่นเต้นเร้าใจ และลุ้นไปกับการยืนหยัดของนักสู้บนเวที
“Blue! Red!”
“น้ำเงินๆๆ แดงๆๆ”
เสียงเชียร์จากคนดูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บริเวณขอบสนามดังกระหึ่มทั่วทั้ง 4 มุม เมื่อพิธีกรเปิดการแข่งขัน Slap Down Fight 2 อย่างเป็นทางการ ก่อนจะขานชื่อผู้เข้าแข่งขันที่ยืนประจันหน้ากันบนเวที
ไม่ช้ากรรมการบนเวทีเริ่มอธิบายกติกา ขณะที่มือยื่นที่อุดหูแก่ผู้เข้าแข่งขันเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน พลางเทวอดก้าให้นักสู้ดีเดือดดื่มย้อมใจฝั่งละ 1 ช็อต ก่อนจะหันมาถามความพร้อมจากเหล่าผู้ชมที่ใจจดจ่อนั่งมองอยู่ขอบสนาม
“ยกที่หนึ่ง ฝั่งน้ำเงินเริ่มได้!”
สิ้นเสียงนับจังหวะของกรรมการจบลง เสียงตบจากฝั่งน้ำเงินดังขึ้น พร้อมเสียงโห่ไล่หลังจากคนดูตามมา อาจเพราะแรงตบนี้คงน้อยเกินไป เมื่อผู้เล่นฝั่งแดงยังยืนหยัดและไม่แสดงอาการซวนเซหลังถูกตบ ทั้งยังเพิ่มความฮึกเหิมให้แก่ฝ่ายแดงที่พร้อมง้างมือตบในรอบต่อไป
“ฝั่งแดงเริ่มได้!”
สิ้นเสียงจากกรรมการรอบที่ 2 เสียงฝ่ามือพิฆาตก็ดังขึ้นมาแทนที่ พร้อมผงแป้งฟุ้งกระจายด้วยแรงตบรุนแรง เสียงเชียร์จากผู้ชมดังกระหึ่มเช่นเคย ขณะที่ฝ่ายน้ำเงินออกอาการซวนเซจนเกือบล้มลง ถึงขั้นที่แพทย์และผู้ช่วยกรรมการที่รออยู่ข้างสนามต้องเข้าชาร์จทันที
“แพทย์สำคัญมาก ไม่ใช่แค่แพทย์สนามแต่ต้องเป็นอาจารย์แพทย์ที่ชำนาญ เพราะเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน มีหลายอย่างที่ถูกปรับให้มันเซฟขึ้นและซอฟต์ลงเมื่อนำมาจัดแข่งที่ไทย”
ข้างต้นคือคำอธิบายของ Mr. Dean ใจความว่า การจัดการแข่งขันตบหน้ามีความท้าทายและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการแข่งขันตบหน้า คือการตบเข้าไปที่หน้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องของการแพทย์ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่มากเกินไป
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถเข้าร่วมได้หลายวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ จึงจำต้องมีการแบ่งคลาสน้ำหนักที่เท่ากัน เพราะทางผู้จัดมองว่า นี่คือเวทีที่เปิดโอกาสทุกคนที่มีเลือดนักสู้เฉิดฉายพละกำลังเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกติกาเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขันเช่นกัน
เดิมทีการแข่งขันตบหน้าที่จัดขึ้นในต่างประเทศ มีกฎการแพ้ชนะ คือต้องผลัดกันตบจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ แต่ทางผู้จัด Slap Down Fight 2 มองว่าค่อนข้างเป็นกติกาที่รุนแรง และอยากทำให้การแข่งขันนี้เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับในไทย ดังนั้นจึงเปลี่ยนกติกาให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น
โดยกติกาที่มีการปรับเปลี่ยนคือผลัดกันตบทั้งหมด 3 ยก และในการตบลักษณะมือของผู้เล่นจะต้องไม่งอมือ ต้องแบมือ และตบเข้าที่ใบหน้าเท่านั้น ไม่ตบเข้าที่ช่วงหู ช่วงใต้กราม หรือดวงตา หากทำผิดจะถือว่าฟาวล์ทันที โดยระหว่างการแข่งขันจะมีคณะกรรมการคอยให้คะแนน สังเกตจากอาการหลังถูกตบ
นอกจากนี้ บนสนามจะมีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาวให้ผู้เล่นยืนอยู่ หลังการตบหากผู้เล่นคนไหนที่เซออกจากสี่เหลี่ยมถือว่าแพ้ รวมถึงในขณะที่กำลังจะตบห้ามยกเท้าขึ้น ด้านเงินรางวัลผู้ชนะจะได้รับ 3,000 บาท หากแพ้จะได้รับ 2,000 บาท
กติกานี้สร้างความเป็นมาตรฐาน และช่วยกำหนดให้แรงส่งจากฝ่ามือผู้เล่นให้ไม่รุนแรงเกินไปจนพลาดพลั้งเกิดบาดเจ็บระหว่างแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่ต้องการขึ้นไปตบต่อ แพทย์จะประเมินตามความสมควร และหากประเมินแล้วว่าผู้เข้าแข่งขันยังไหวทางแพทย์จะแจ้งให้พักการแข่งขันสักครู่ก่อนลุยกันต่อ
“ตอนที่แข่งครั้งแรกกลัวแพ้มาก เพราะไม่เคยโดนตบจังๆ มาก่อน โดนตบครั้งแรกน้ำตาไหลเลยเพราะเจ็บมาก แต่พอหลังๆ เริ่มชินก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร”
AKA ‘Mookmanee’ สาวใจสู้ผู้ชื่นชอบกีฬาอันเดอร์กราวนด์เล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ลงแข่งขัน คือเพื่อเป็นคู่แข่งให้พี่คนหนึ่ง แต่เมื่อสัมผัสความสนุกนี้แล้วก็กลับมาแข่งขันต่อในครั้งที่ 2 มีการเตรียมตัวโดยฝึกคาบเชือก เพิ่มความแข็งแรงส่วน ‘กราม’ เพื่อยืนหยัดในการตบจนยกสุดท้าย
เธอเล่าให้ฟังต่อว่า การแข่งขันตบหน้าเป็นที่สุดของความตื่นเต้น เพราะต้องลุ้นว่าคู่แข่งเป็นใคร ฝึกซ้อมอย่างไร ใจสู้แค่ไหน และการวัดความสามารถของคู่แข่งขันไม่อาจมองได้ด้วยตา ต้องสัมผัสความเจ็บปวดก่อนจึงท้าทายและน่าลองสุดๆ และเมื่อคว้าชัยมาถึง 2 ครั้ง ครั้งต่อไปก็คงไม่พลาด
เช่นเดียวกับ อีม ผู้พัน หรือ AKA ‘Naeem phuphan’ ที่เข้าแข่งขันแบบจับพลัดจับผลู หลังครั้งแรกตั้งใจมาดูการแข่งขัน แต่ด้วยความที่รู้จักกับทางผู้จัด ซึ่งเห็นว่าอีมหน่วยก้านดีจึงแนะนำให้เขาลงแข่งสนุกๆ สักครั้ง โดยพื้นเพอีมเป็นนักชกมวยใต้ดินมาก่อน ดังนั้นเมื่อเห็นการแข่งขันสุดมัน สัญชาตญาณนักสู้ในตัวจึงเดือดพล่าน และไม่ลังเลตกปากรับคำเชิญชวนทันที
“มันคงเป็นพรหมลิขิตที่ให้ผมเป็นผู้ชนะ
“ตอนแรกกะว่ามาดูเพื่อนตบ แล้วทีนี้รู้จักกับบังแซม (หนึ่งในทีมผู้จัด) เขาเลยให้ผมลองลงแข่งขัน จากนั้นผมก็ชนะ เป็นกีฬาที่สนุกและท้าทายดี เหมาะกับวัยรุ่นที่ชอบอะไรแนวนี้ มีที่ให้ปลดปล่อยความรุนแรงอย่างถูกสถานที่ แถมได้เงินและชื่อเสียง” อีมกล่าวด้วยรอยยิ้มหลังเขาเพิ่งคว้าชัยชนะมาหมาดๆ
อีมบอกเล่ากับเราเพิ่มเติมว่า สำหรับตนเองการแข่งขันนี้นับเป็นกีฬาได้ เพราะมีกฎกติกาที่ชัดเจน คนทุกอาชีพสามารถเข้าร่วมได้ อีกทั้งยังเหมาะเป็นที่ให้วัยรุ่นปลดปล่อยพลัง การมีพื้นที่ให้วัยรุ่นแสดงออกดีกว่าการใช้กำลังโดยเปล่าประโยชน์ในสังคม
หลายคนอาจสงสัยว่า คนใส่แว่นเข้าแข่งขันตบหน้าได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนแว่นจะเป็นอุปสรรคสำหรับการแข่ง
“ตอนแข่งตบผมก็ถอด พอตาผมตบผมก็ใส่แว่น ชิลครับ ไม่ยุ่งยากอะไร”
‘Ewa khan’ AKA อีกหนึ่งผู้คว้าชัยในการแข่งขัน Slap Down Fight 2 เล่าอย่างสบายๆ ว่าการเป็นคนใส่แว่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับตน พอมองดูแล้วการใส่แว่นก็เหมือนกับการเพิ่มสกิลในเกม ที่ทำให้ผู้เล่นอย่าง Ewa khan ชนะทั้ง 3 ยก
“ผมตระเวนแข่งมา 3 รอบหลายรายการ ไม่ว่าครั้งไหนก็ตื่นเต้น และยิ่งเป็นคนชอบแบบนี้เลยอยากให้เกิดการยอมรับ จริงๆ แล้วเป็นกีฬาที่ไม่ได้รุนแรงมาก หรือน่ากลัว มองว่ามวยเจ็บกว่า”
Ewa khan เล่าเพิ่มว่าชอบกีฬาอันเดอร์กราวนด์มาก และมองว่าการแข่งขันกีฬาตบหน้าเป็นสิ่งที่ตื่นเต้น และอยากให้เกิดการยอมรับให้เป็นกีฬา เนื่องจากทางผู้จัดมีการสร้างข้อกำหนดกติกาต่างๆ ใหม่ ตนมองว่าเป็นกีฬาที่อันตรายน้อยกว่ามวย และไม่เจ็บตัวฟรี เพราะแค่เข้าแข่งขันไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ได้เงิน
หลังซัดกันจนหน้าปูดหน้าบวมกันไปหลายคู่ ก็มาถึงของคู่ไฮไลต์เรียกเสียงฮือฮา โดยเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อเรียกเรตติงด้วยหัวข้อการเผชิญหน้าระหว่าง ‘แฟนเก่ากับแฟนใหม่’ ที่เรียกเสียงเชียร์ได้เป็นอย่างดี
หญิง 2 คนแต่ต่างสถานะความสัมพันธ์ คนหนึ่งคือคนที่ความรักจบไปแล้ว และอีกคนคือคนที่กำลังอิ่มเอมกับความรัก ตาต่อตาฟันต่อฟัน พวกเธอผลัดประเคนฝ่ามือใส่แก้มอีกฝ่ายเน้นๆ เสียงดังฟังชัด แต่ทั้งคู่ก็ยืนหยัดจนถึงยกสุดท้าย ก่อนที่ฝ่ายแดงซึ่งเป็นแฟนเก่าจะคว้าชัยไป
“จริงๆ แล้วมาตบเพราะอยากหาค่านมให้ลูก มีคนชวนมาเป็นคอนเทนต์ก็เลยลองดู ไม่ได้ติดใจเรื่องแฟนใหม่ของแฟนเก่า แต่ตอนนี้ติดใจการแข่งตบหน้ามากกว่า (หัวเราะ)
“ทีแรกก็ยังรู้สึกตื่นเต้น แต่ยอมรับว่าแฟนใหม่มือแรงมาก ตบจนเราหน้าชาเลย (หัวเราะ) จริงๆ การแข่งขันแบบนี้ก็แอบเสี่ยงอยู่ แต่ก็อยากเข้าร่วมอีก”
Tawmel นักสู้สาวแม่ลูกสอง เล่าแกมหัวเราะถึงตัวเอง ที่ตัดสินใจแข่งตบหน้าในวันนี้ เพราะทางผู้จัดติดต่อให้มาเป็นคู่คอนเทนต์แฟนเก่า-แฟนใหม่ ซึ่งทางตนไม่ได้ติดใจในเรื่องของความสัมพันธ์กับอดีตแฟนหนุ่มเพราะจบกันด้วยดี ขณะเดียวกัน ชัยชนะครั้งนี้นับว่าคุ้มค่ากับเงินจำนวนหนึ่งที่เธอพร้อมนำไปเลี้ยงดูลูก
แม้ว่าการแข่งขัน Slap Fighting ยังไม่เป็นที่นิยมและยอมรับในไทย เนื่องจากการแข่งขันชนิดนี้ยังไม่ได้รับการรองรับจากหลายประเทศ เพราะถูกมองว่าเป็นการแข่งขันที่มีความรุนแรง และการตบเข้าที่ใบหน้าสามารถเกิดความเสี่ยงและอันตรายจนถึงชีวิตได้
ถึงกระนั้น ความตื่นเต้น เร้าใจ และแปลกใหม่ ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนที่มีความใจกล้าเข้าแข่งขันไม่ขาดสาย อีกทั้งการแข่งขันในไทยมีการปรับเปลี่ยนกติกาหลายอย่างให้เป็นมาตรฐานและปลอดภัยมากขึ้น ผู้ชื่นชอบกีฬาอันเดอร์กราวนด์ทั้งหลายจึงคาดหวังว่า กีฬาชนิดนี้จะได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในไทย จนกลายมาเป็นกีฬาที่สร้างเศรษฐกิจให้คนไทยเหมือนกีฬายอดฮิตชนิดอื่นๆ
Slap Down Fight เพิ่งจัดขึ้น 2 ครั้งภายใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ทางผู้จัดกระซิบกับเราว่า ตอนนี้มีคนเข้ามาชมคลิปการแข่งขันและสนใจมากขึ้น จึงอาจสามารถจัดการแข่งขันได้มากขึ้น และหากมีสปอนเซอร์เพิ่มมากขึ้น เงินรางวัลจะมากขึ้น และสถานที่จะถูกจัดในโดมสเตเดียมเพื่อให้ผู้ชมสนุกได้อย่างเต็มที่และมีผู้เข้าแข่งมากกว่าเดิม
Fact Box
สำหรับใครที่ต้องการเข้าร่วมหรือเข้าชมการแข่งขันสุดมันนี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://www.facebook.com/SlapDownFight