“คนปล่อยปลาเป็นใครไม่รู้ แต่คนรับกรรมก็ประมงแถวนี้แหละ”
ชาวบ้านรายหนึ่งพูดขึ้นจากเพิงพักริมทาง ที่หากเดินต่อไปไม่ไกลนักก็จะเจอ ‘อดีต’ บ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาของชาวบ้าน ที่ปัจจุบันน้ำที่เคยเจิ่งนองทั่วบ่อกลับเหือดแห้งไปจนเห็นดินทั้งผืน คันดินที่เคยมีชาวบ้านช่วยกันลงกุ้ง บัดนี้ถูกแทนที่ด้วยรถแบ็กโฮทั้งขุดทั้งไถจนหน้าดินเรียบเตียนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม
“บ่อนี้เป็นของยายไล เมื่อก่อนก็เป็นบ่อกุ้งนี่แหละ แต่พอปลาหมอคางดำมากินกุ้งหมด ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องขายที่ดิน พอที่ดินไม่มีคนซื้อก็ขายดินกิน” ปัญญา โตกทอง อดีตชาวประมงบ่อกุ้งเล่าให้ฟัง พร้อมเสริมว่า ที่ดินแต่ละผืนถูกขายในราคาถูก เพราะหากขายแพงเกินไปจะไม่มีใครซื้อ
11 กิโลเมตรจากระยะถนน คือความห่างของชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับตำบลยี่สาร จุดพบปลาหมอคางดำครั้งแรก โดยมีคลองน้ำธรรมชาติเชื่อมต่อกันระหว่างคลองบางยาว คลองดอนจั่น และคลองหลวงที่ล้อมรอบศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของเอกชน
บริษัทธรรมาภิบาลในละแวกดังกล่าว ได้รับการอนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำจากคณะกรรมการว่าด้วยความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ หน่วยงานภายใต้กรมประมง ปี 2553 เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไขจำนวน 2,000 ตัว
ก่อนที่ปลาหมอคางดำจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในคลองดอนจั่น คลองหลวง และคลองบางยาว กัดกินลูกหอย ลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกปู อันเป็นทุนการประมงของชาวบ้านเกลี้ยงบ่อ และปัจจุบันแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างกินพื้นที่แล้วกว่า 19 จังหวัด อ้างอิงข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567
The Momentum นัดหมายชาวประมงและอดีตชาวประมงบ้านแพรกหนามแดง ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดพบว่า มีบางอย่างไม่ตรงกับข้อมูลจากภาครัฐ
ราคารับซื้อไม่เหมือนโฆษณา
เมื่อปลาหมอคางดำระบาดเข้าขั้นวิกฤตและขยายวงกว้าง รัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน ออก 5 มาตรการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ได้แก่
1. การควบคุมปลาหมอคางดำทุกพื้นที่
2. การกำจัดปลาหมอคางดำด้วยการปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาวและปลาอีกง
3. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูป และจำหน่ายให้โรงงานปลาป่น
4. สำรวจเฝ้าระวังการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามพื้นที่กันชนต่างๆ
5. ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
สำหรับมาตรการที่ 3 มีกระบวนการย่อยคือ การประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำทั่วประเทศในราคากิโลกรัมละ 15 บาท รวมจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ส่งให้โรงงานผลิตปลาป่น และเป็นมาตรการที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่าง CPF รับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวประมงในแต่ละพื้นที่
จากการสอบถามความคืบหน้าการรับซื้อปลาหมอคางดำ ในพื้นที่แพรกหนามแดงพบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำปลาหมอคางดำที่หาได้ตามบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่งขายให้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่น การยางแห่งประเทศไทยและกรมประมง ส่วนภาคเอกชน CPF ก็ได้ประกาศความร่วมมือรับซื้อปลาหมอคางดำในราคาเดียวกันคือ กิโลกรัมละ 15 บาท
ทว่าจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ มูลค่ารับซื้อจริงกลับสวนทาง
ปัญญาแจงประเด็นการรับซื้อปลาหมอคางดำของหน่วยงานภาครัฐว่า มีความแตกต่างกันระหว่างมูลค่าปลารับซื้อจากเงื่อนไขการรับเงิน แบ่งออกเป็น 2 บริบท โดยบริบทแรกชาวประมงผู้จำหน่ายปลาหมอคางดำให้แก่หน่วยงานภาครัฐประสงค์รับเงินเชื่อ (การซื้อขายสินค้าที่ยังไม่ได้รับเงินทันที) จะได้รับราคาซื้ออยู่กิโลกรัมละ 15 บาทดังเดิม แต่ในบริบทที่ 2 หากชาวประมงผู้จำหน่ายปลาหมอคางดำประสงค์รับเงินสด ณ ที่จ่ายทันที มูลค่าปลารับซื้อจะลดลง 3 บาท เหลือราคาเพียง 12 บาทเท่านั้น
“ที่สมุทรสาครเขาจ่ายเงินสด ได้เงินเพียง 12 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ตอนแรกเขาบอกว่าจะรับซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าใครจะขายปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ 15 บาทต้องรอเงินครึ่งเดือน แต่นี่เรารอมา 1 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้เงิน ผมเองไม่รู้ว่า เพราะอะไรทำไมเป็นแบบนั้น อยากรู้ต้องไปถามกรมประมงเอา”
ข้อมูลของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. (หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับมอบหมายให้โยกเงินจากกองทุนรับซื้อ ‘ยางพารา’ มาใช้ซื้อปลาหมอคางดำ) และจากกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐทั้งสองหน่วยงาน ระบุชัดว่า ได้รับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 15 บาท แบบไร้เงื่อนไขประเภทการรับเงินของผู้จำหน่ายปลาหมอคางดำในประกาศ เช่น อ้างอิงประกาศการปิดโควตารับซื้อปลาหมอคางดำของ กยท.ซึ่งหยุดรับซื้อปลาหมอคางดำแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2567 โดยสรุปว่า กยท.ประกาศหยุดรับซื้อปลาหมอคางดำในการรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท ครบตามงบประมาณ 50 ล้านบาทแล้ว
ประกอบกับข้อมูลของกรมประมงในแผนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ในรายละเอียดมีการการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท โดย บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ประกอบกับการสืบเสาะข้อมูลยังไม่พบว่า มีเงื่อนไขหรือประเภทของการรับเงินที่แตกต่าง เช่น เงินสดหรือเงินเชื่อแต่อย่างใด
“ปลาหมอคางดำก้อนแรก การยางแห่งประเทศไทยประกาศรับซื้อ 50 ล้านบาท แต่ซื้อปลาหมอคางดำจริงแค่ 14 ล้านบาท เงินที่เหลือก็เป็นค่าถัง ค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่างๆ นานาของเขา บอกว่าซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ว่าชาวบ้านได้เงินจริงๆ แค่ 15 บาท และถ้าอยากได้เงินสดก็เอาไปแค่ 12 บาท ถ้าไม่เอาเงินสดก็ให้เรารอเงิน 1 เดือน นี่ก็รอกันมาเดือนกว่าๆ แล้ว โดยสรุปคือยังไม่มีใครได้เงิน” ปัญญาระบุ
อีกหนึ่งปัญหาคือ การดำเนินการซื้อ-ขายปลาหมอคางดำปิดช้า ชาวประมงแพรกหนามแดงสะท้อนว่า ตนขายปลาไปให้แล้วเกือบครึ่งเดือน ทว่ายังไม่ได้รับเงินจากการซื้อ-ขายจนถึงปัจจุบัน
ไม่เพียงหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น บริษัทเอกชนผู้ร่วมหนุนมาตรการรับซื้อปลาในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ก็รับซื้อปลาจริงในราคาเพียง 12 บาทเท่านั้น อ้างว่ามีส่วนที่ต้องหักเป็นค่าบริหารจัดการ
“เอกชนเจ้าหนึ่งที่มารับซื้อปลาหมอคางดำ ตอนประกาศบอกซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท พอซื้อจริงแค่ 12 บาทต่อกิโลกรัม บอกว่าหักค่าดำเนินการไป 3 บาท แล้วที่บอกว่ารับซื้อ 2 ล้านกิโลกรัมนั่นก็ไม่ใช่อีก เพราะก่อนหน้านี้เขาซื้อปลาหมอคางดำประมาณ 6-7 แสนกิโลกรัมในราคา 7-8 บาทเอง มาตอนนี้จะประกาศว่า รับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาทได้อย่างไร”
ซื้อปลาหมอฯ ไม่เท่ากับเยียวยา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการตั้งแต่ขอนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น กระทั่งเสร็จกสิ้นกระบวนการใช้ปลานำเข้า ต้องอยู่ในสายตาของกรมประมงหรือหน่วยงานภายในกรมประมง ข้อมูลที่มีอยู่ยังคงมัดตัวกรมประมงว่า เป็นผู้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเจ้าแรกและเจ้าเดียวของไทย นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการศึกษาวิจัยสัตว์น้ำภายในฟาร์ม
หลังจากพบปลาหมอคางดำในคลองธรรมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2555 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากรมประมงต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อแก้ปัญหา หรือป้องกันการแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าวไม่ให้กระจายสู่แหล่งน้ำโดยรอบ กระทั่งการระบาดครั้งใหญ่ในปี 2559 และระบาดหนักที่สุดในปี 2567 ที่ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 19 จังหวัดล้มทั้งยืน
ทั้งรัฐบาล ประมง และเอกชนผู้นำเข้าจึงริเริ่มมาตรการขั้นสุดคือ การจับปลา ปล่อยปลาผู้ล่า สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำกับทุกภาคส่วน
แต่ไพ่ใหญ่ที่สำคัญที่สุด และกรมประมงไม่ยอมทำคือ การประกาศให้พื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำเป็น ‘เขตภัยพิบัติ’ เพื่อเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากอย่างจริงจังนับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
“หน่วยงานอะไรนะ ที่เขาไม่ยอมประกาศว่า พื้นที่ที่เราอยู่เป็นเขตประสบภัยพิบัติ เอ็งอยู่ห้องแอร์จะไปรู้อะไร เอ็งต้องออกมาดูข้างนอกนี่” ลุงรื่น อดีตชาวประมงบ่อกุ้ง เผยความในใจ
ผลกระทบจากความเมินเฉยต่อเขตการระบาดของสัตว์น้ำเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ คือขาดการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
จากการพูดคุยกับชาวประมงตำบลแพรกหนามแดง บางส่วนใช้เงินออมซึ่งเป็นรายได้เมื่อครั้งบ่อเพาะเลี้ยงยังไร้การปรากฏตัวของปลาต่างถิ่นสายพันธุ์รุกราน ชาวบ้านได้ซื้อลูกสัตว์น้ำราคาแตะแสนบาท ลงบ่อหวังคืนกำไรท่ามกลางวิกฤต โดยมากผลผลิตไม่เป็นไปตามหวัง ไม่ว่าจะลงทุนนำกุ้งหรือปลาลงไปในบ่อมากเท่าไร ก็จบด้วยทุนถูกกินหายเข้าท้องปลาหมอคางดำ
“ผลผลิตขึ้นอยู่กับปลาหรือกุ้งที่ปลาหมอคางดำกินเหลือในบ่อ ซึ่งปลาหมอคางดำมันกินจนเหลือน้อย บางทีถ้าเหลือ ก็ได้เงินจากส่วนที่เหลือ ถ้าไม่เหลือก็ไม่ได้เลย เพราะปลาหมอคางดำมันกินหมด รายได้ก็ไม่แน่นอน บางที 1-2 เดือน เงิน 1,000-2,000 บาทยังไม่ได้เลย ทั้งที่เราปล่อยเชื้อกุ้งไปประมาณ 3 แสนบาท แสนบาทได้อยู่ 3,500 ตัว แต่ลุงปล่อยมา 3 ครั้งแล้ว ปล่อยแล้วไม่ได้อะไรกลับคืนมาลุงจึงได้เลิกทำไป” ลุงรื่นเล่าให้ฟังถึงความหวังก้อนสุดท้ายในการทำประมง
“กรมประมงไม่เยียวยาอะไรเลย เพราะไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ คนที่เขาหวังเอาเงินเยียวยาไปลงค่าเช่าที่ดินเพื่อลงกุ้ง ลงปลา ก็ยังไม่เห็นมีประกาศภัยพิบัติ มาช่วยกระตุ้นเขาสักหน่อยเถอะคนไม่มีจะกินกันอยู่แล้ว”
เมื่อไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคส่วนอื่นใด ที่พึ่งเดียวของชาวบ้านแพรกหนามแดงคือ การกู้ยืมจากกองทุนในพื้นที่ บ้างกู้ไว้สร้างหวังซื้อกุ้งซื้อปลาลงบ่อเลี้ยง บ้างกู้ไว้ทดแทนรายได้ที่สูญหาย หรือกับบางคนกู้เงินจ่ายค่าเช่าที่ดินยื้อเวลาให้ตัวเองได้เอนกายในบ้านหลังเก่า นั่นทำให้หนี้ของคนในชุมชนยิ่งสะสมสูงขึ้น บางคนเริ่มขาดส่งกองทุน เนื่องจากขาดรายได้ประจำจากการขายกุ้ง ออกหาปลาแล้วกลับมามือเปล่า หนำซ้ำขายปลาหมอคางดำยังได้ราคาถูกไม่พอกิน จึงขอให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ดังกล่าวและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกหลังคาเรือน
“ผมจะพูดให้ฟังนะ น้ำท่วมนาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ มีลมพายุประกาศภัยพิบัติ ตั๊กแตนลงประกาศภัยพิบัติ แต่ปลาหมอคางดำระบาดกลับไม่ประกาศมา 10 กว่าปีแล้ว แล้วภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาตินะ ประมงเป็นคนสร้างช้ำกว่ามันมาเองอีก ดังนั้นมันควรเยียวยาหน่อยไหม ตั้งกี่ปีมาแล้ว”
เมื่อหายนะเกิดขึ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ กระทบต่ออีกหลายชีวิตที่หากินบนลุ่มน้ำ การหาตัวผู้รับผิดชอบจึงเป็นสิ่งที่ปัญญาและชาวประมงบ้านแพรกหนามแดงมุ่งมั่นตามหา ไม่ว่าผู้สร้างความเสียหายเหล่านั้นจะเป็นรัฐหรือเอกชน
น่าสนใจว่า ชาวแพรกหนามแดงล้วนผ่านประสบการณ์เดินเข้าหน่วยงานภาครัฐขอให้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในบ้านของตน เพราะต้องการเยียวยาจากภาครัฐในปัญหาที่พวกเขาและธรรมชาติไม่ได้เป็นผู้ก่อ อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้กลับมาจากองค์กรและหน่วยงาน เช่น กรมประมงมีเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่มีเงินช่วยเหลือ”
สิ่งที่ชาวแพรกหนามแดงบอกกับเราในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเพียงการมองเห็นของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้ทั้งหมด แม้ว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนกับการสร้างปัญหาเลยแม้แต่น้อย หากแต่ต้องกลายเป็นผู้รับเคราะห์ภัยจากคนกลุ่มอื่น
“ภัยพวกนี้ไม่ได้มาจากธรรมชาติ มันคือภัยมนุษย์สร้าง มนุษย์นี่ละตัวร้าย นายทุนเป็นคนสร้างโดยมีราชการเป็นคนอนุญาต ตอนนี้ชาวบ้านเป็นคนรับผิดชอบกันอยู่ จริงๆ ราชการนั่นแหละที่ต้องลงมารับผิดชอบก่อน นี่คือสิ่งที่เราร้องมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว”
การต่อสู้ของปัญญาร่วมกับชาวประมงผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 (เมื่อวานนี้) ณ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฟ้องบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ในฐานะผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพียงหนึ่งเดียวของประเทศ เป็นจำนวนเงินกว่า 2,400 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทธรรมาภิบาลดังกล่าวยังคงปฏิเสธว่า ตนมิใช่ต้นเหตุการณ์ระบาดของปลาหมอคางดำจนถึงทุกวันนี้
Tags: Feature, อัมพวา, รัฐบาล, สัตว์น้ำต่างถิ่น, ชาวประมง, สมุทรสงคราม, หนี้สิน, กรมประมง, ปลาหมอคางดำ, CPF, เครือเจริญโภคภัณฑ์, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน