คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่า ในปัจจุบัน ภาครัฐมีนโยบายด้านการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอย่างไม่มีทางเลือก 

คำถามที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงนี้คือ ‘ทำไม’ ทำไมสังคมไทยจึงยังประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่ ในเมื่อเด็กมีสิทธิ์ได้เรียนฟรีแล้ว 

คำตอบของเรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด เพียงแค่ได้ ‘สิทธิ์’ ในการเรียนฟรีไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะอยู่ในระบบการศึกษาได้เสมอไป แต่ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ระบบ และองคาพยพอื่นๆ ซึ่งเป็นบริบทที่แวดล้อมตัวเด็ก ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้หาจุดจบไม่ได้

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองโฟกัสไปที่ ‘นักเรียนยากจนพิเศษ’ ในโครงสร้างระบบการศึกษาไทย คำนี้ใช้อธิบายเด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับรุนแรง ทั้งอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการไปโรงเรียนได้ เช่น ค่าเครื่องแบบ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ เกี่ยวกับการเรียน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ถึงแม้พวกเขาจะได้ ‘สิทธิ์’ ในการเข้าถึงระบบการศึกษาภาครัฐได้เป็นเวลา 15 ปี ก็ตาม แต่ต้นทุนอื่นๆ ในการ ‘เรียน’ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับครอบครัวเด็กๆ นักเรียนยากจนพิเศษได้ 

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของการดึงเด็กออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยทำงาน หรือเด็กอาจจะสมัครใจเองเนื่องด้วยไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว รวมถึงรู้สึกว่าการทำงานหาเงินเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่ตนเองกำลังประสบ ผลที่ตามมาก็คือ การที่เด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างไม่มีทางเลือก เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สะสมและหยั่งรากฝังลึกถึงโครงสร้างสังคมไทยอย่างยากที่จะแก้ไข

หลายคนอาจจะเคยชินกับกิจกรรม ‘การให้ทุนการศึกษา’ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับเด็กที่เปราะบาง ไม่ว่าจะจากบุคคลหรือภาคเอกชนที่ต้องการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ การช่วยเหลือในรูปแบบนี้อาจจะได้ผลจริง แต่ก็จัดเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น ทั้งยังต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยจัดการปัญหาเด็กเปราะบางเหล่านี้หลุดออกจากระบบก็คือ ‘การสร้างกลไกความร่วมมือ’ ที่เหมาะสมและยั่งยืน ภายใต้ความเข้าใจและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในท้องที่ 

จากปัญหาในเชิงโครงสร้างสังคมดังกล่าวที่ส่งผลกระทบกับเด็กๆ เหล่านี้ ประกอบกับความเชื่อมั่นว่าทุกคนควรได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียมในทุกแง่มุม รวมไปถึงวิสัยทัศน์ที่มองว่าการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเด็กและเยาชนให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ‘บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)’ จึงประกาศพันธกิจใหญ่ผ่านโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ด้วยการระดมทุนจากหุ้นกู้จำนวน 100 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อต้นปี 2565 โดยวางแผนให้ ‘จังหวัดราชบุรี’ เป็นโมเดลต้นแบบของการจัดสรรการศึกษาให้เด็กในพื้นที่ตามสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง เพื่อดูแลเฝ้าระวัง แก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดการหลุดออกนอกระบบได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำหรับหวัดราชบุรีที่เป็นโมเดลต้นแบบนั้น มีนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับจำนวน 127,266 คน มีนักเรียนที่ยากจนพิเศษทั้งหมด 3,258 คน คิดเป็น 2.56% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น จากการลงพื้นที่สำรวจเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา, เด็กหลุดออกจากระบบ, เด็กกลุ่มเปราะบาง และเด็กในกระบวนการยุติธรรม ทำให้พบว่า ไม่ใช่แค่ปัจจัยด้านทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ยังพบอีกหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้เช่นกัน อย่างเช่น เด็กกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาด้านกายภาพ ทำให้ไม่พร้อมจะเรียนรวมกับเด็กคนอื่นๆ (กลุ่มออทิสติกและกลุ่มเด็กที่พัฒนาการช้า) หรือเด็กที่ไม่กล้าไปโรงเรียนหรือไม่สามารถไปโรงเรียนได้ (เด็กที่ถูกรังแก, เด็กที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร, เด็กที่ต้องช่วยครอบครัวทำงาน)  

โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โครงการ Zero Dropout ได้รับความร่วมมือจากภาคีต่างๆ หลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานการศึกษาจังหวัด ท้องที่ คุณครู สถาบันวิจัยจากมหาวิทยาลัย รวมไปถึงหน่วยงานอย่าง ตำรวจตระเวนชายแดน เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันและเดินหน้าช่วยเหลือเด็กให้เข้าสู่ระบบการศึกษา หรืออยู่ในกระบวนการดูแลเพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ รวมแล้วกว่า 9,311 คน ผ่านโครงการและกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ค้นหาและให้ความช่วยเหลือเด็กในระบบการศึกษาที่เสี่ยงหลุดหรือหลุดจากระบบไปแล้ว แต่ยังคงมีชื่ออยู่ในระบบหรือที่เรียกว่า ‘เด็กแขวนลอย’ ตามรายชื่อในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, การค้นหากลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษาที่ไม่เคยได้รับโอกาสทางการศึกษามาก่อน ให้ได้รับการศึกษาอีกครั้งด้วยการประเมินและจัดสรรการเรียนที่เหมาะสม, การช่วยเหลือผ่านศูนย์ช่วยเหลือและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา รวมไปถึงการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อป.6 และ ม.3 ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบมากที่สุด

จากการทำงานและเรียนรู้ในช่วงกว่า 1 ปี นอกเหนือจากการสร้างกลไกช่วยเหลือตามที่กล่าวมาข้างต้น ในปี 2566 นี้ โครงการ ‘Zero Dropout’ จะมีการนำร่องสร้างโครงการต้นแบบ ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ และการพัฒนาศูนย์การเรียนต้นแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทางเลือกในการศึกษาที่สอดคล้องเหมาะกับเด็กแต่ละคน 

โครงการนำร่องนี้มีที่มาจากการค้นพบว่า เด็กหลายๆ กลุ่มมีปัญหากับ ‘การเข้าเรียนในห้องเรียน’ ตามปกติที่เราคุ้นชินกัน ซึ่งอาจมาจากปัญหาการเดินทาง ปัญหาการต้องทำงานไปเรียนไป ปัญหาพ่อแม่วัยเยาว์ และอีกหลายปัญหาที่ล้วนมีความละเอียดอ่อนทั้งสิ้น ดังนั้น การสร้างกลไกทางเลือกในการศึกษาที่สอดคล้องกับเด็กแต่ละคนจึงมีความสำคัญมาก เพราะเท่ากับเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดอัตราการออกจากระบบการเรียนกลางคัน ไปจนถึงพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน

นี่จึงเป็นที่มาของการทำงานหนักของคุณครูและสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ เพราะนี่คือแนวคิดในการจัดการศึกษาที่รูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น เสมอภาค และมีส่วนร่วมของเด็กและครอบครัว เกิดเป็น ‘ห้องเรียนโอกาส’ พื้นที่ที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคนตามบริบทที่แตกต่าง โดยเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือตามโมเดลนี้จะลดโอกาสอัตราการออกกลางคัน พร้อมกับเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเทียมยิ่งขึ้น 

จนถึงตอนนี้ ได้มีโรงเรียนต้นแบบ หลักสูตร 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แล้วจำนวน 4 โรงเรียน มีโรงเรียนร่วมเรียนรู้ในหลักสูตรนี้อีก 7 โรงเรียน รวมถึงเกิดพื้นที่เรียนรู้และกลไกการขับเคลื่อนรูปแบบการศึกษาในระดับพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ตำบล/อำเภอ และระดับจังหวัดอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความตั้งใจและความมุ่งมั่นของแสนสิริที่ต้องการจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา โดยมุ่งเป้าว่าโครงการต้นแบบที่ราชบุรีจะสามารถนำไปปรับใช้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในที่สุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งบนพื้นฐานของระบบการศึกษาที่แข็งแรงยิ่งขึ้น 

เป็นการลงทุนในอนาคตที่จะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง แต่พร้อมจะให้เด็กเติบโตไปด้วยกันผ่านโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และเกิดสภาพแวดล้อมที่เป็น ‘Zero Dropout’ ที่แท้จริง

Tags: , ,