เล่ากันว่า หากพระครูอินถา พระประจำวัดบ่อสร้าง ไม่ได้ไปธุดงค์ในดินแดนไทลื้อใกล้ชายแดนเมียนมา เมื่อ 200 กว่าปีก่อน ภาพจำของอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ก็อาจไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้
ข้อมูลจากศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง (Umbrella Making Centre) ระบุถึงเรื่องเล่าที่พระครูอินถาได้เห็นการทำร่มจากชุมชนไทลื้อที่นั่น และเกิดแรงบันดาลใจให้ชาวบ่อสร้าง ชุมชนใกล้เคียงได้ทำร่มถวายเป็นพุทธบูชาและใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อกลับจากการธุดงค์เมื่อปี 2300 ท่านจึงชักชวนชาวบ้านบ่อสร้างหาวัสดุอุปกรณ์และทำร่มตามที่ได้บันทึกวิธีการไว้กลับมา ก่อนจะกระจายชิ้นส่วนต่างๆ ให้ชาวบ้านในชุมชนอื่นแบ่งกันไปทำ จนเกิดเป็นเครือข่ายช่างทำร่ม ที่ครอบคลุมหลายชุมชนในอำเภอสันกำแพงและดอยสะเก็ดมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังชุมชนต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ผลิตชิ้นส่วนของร่ม ชาวบ้านยังต่อยอดทักษะงานไม้ การทอผ้าไหม การทำกระดาษสา ไปจนถึงงานจิตรกรรมและอื่นๆ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง นั่นทำให้สันกำแพง หาได้ขึ้นชื่อแค่แหล่งผลิต ‘ร่มบ่อสร้าง’ แต่ยังรวมถึงงานหัตถกรรมอื่นๆ อย่างครอบคลุม จนราวทศวรรษ 2520 สันกำแพงก็ได้รับการจดจำในฐานะเมืองท่องเที่ยวด้านศิลปหัตถกรรม ผ่านร้านจำหน่ายสินค้า โรงงาน และศูนย์สาธิตการผลิตไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดีเมื่อกาลเวลาผ่านผัน เทคโนโลยีสมัยใหม่นำพาองค์ความรู้และทักษะการผลิตสินค้าหัตถกรรมขยายออกไปเบ่งบานนอกพื้นที่ และภายหลังที่ E-commerce เข้ามามีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจในช่วงทศวรรษ 2540 ภูมิทัศน์ของเมืองท่องเที่ยวเชิงศิลปหัตถกรรมของสันกำแพงก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
หากคุณขับรถไปบนทางหลวงหมายเลข 1006 ถึงถนนสันกำแพงสายเก่า (หรือที่รู้จักในแวดวงการท่องเที่ยวว่า ‘ถนนสายหัตถกรรมสันกำแพง’) นอกจากจะเห็นต้นจามจุรีสูงใหญ่เรียงรายขนาบ 2 ข้างทาง คุณจะพบโรงงานขนาดเล็กและกลางที่เคยเป็นฐานการผลิตสินค้าหัตถกรรมถูกทิ้งร้างไปไม่น้อย
“สมัยก่อนคนกรุงเทพฯ ขึ้นมาทางเหนือต้องมาหาซื้อผ้าฝ้ายที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แล้วแวะสันกำแพงเพื่อซื้อผ้าไหม หรือร่มบ่อสร้างไปเป็นของฝาก เพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งค้าขายงานหัตถกรรมสำคัญของเชียงใหม่ ชาวบ้านหลายคนเลยเห็นโอกาสในการพัฒนาทักษะเชิงช่าง เพื่อหารายได้จากความเฟื่องฟูของงานหัตถกรรมในพื้นที่
“แต่นั่นละ ทุกวันนี้ แหล่งผลิตมันกระจายตัวไปหมด นักท่องเที่ยวก็ไม่จำเป็นต้องมาที่สันกำแพงที่เดียวอีกแล้ว” สล่าเพชร วิริยะ สล่าแกะสลักไม้ชาวสันกำแพงกล่าว
แล้วถ้าสันกำแพงไม่ใช่ศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมอีกต่อไป แล้ว สันกำแพงจะเป็นอย่างไร?
คำตอบนี้อาจถูกอธิบายได้จาก ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปจาก 2 ข้างทางของถนนสันกำแพงสายเก่า เมื่อโรงงานหลายแห่งปิดร้าง สวนทางกับการผุดขึ้นของโครงการบ้านจัดสรร และกิจการใหม่ๆ อย่างตลาดนัดสินค้าหัตถกรรมร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ศิลปะ สตูดิโอของนักออกแบบและศิลปิน ร้านรวงสมัยใหม่ที่สอดรับกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่
จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของสันกำแพง อาจดูไม่ต่างจากเมืองท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ ในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานจากการเป็นแหล่งรวมสล่ามากฝีมือ รวมถึงการเข้ามาของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ของสันกำแพงจึงมีความโดดเด่นกว่าเมืองไหนๆ โดยเฉพาะกับการเป็นย่านสร้างสรรค์ที่มีกลิ่นอายเก่า-ใหม่คละเคล้ากันอย่างน่าสนใจ
เพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนผ่าน บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักเมือง ผ่านเจ้าของกิจการในพื้นที่ตั้งแต่ยุคเก่า กลาง และใหม่ และคำถามถึงทิศทางต่อไปของเมืองที่ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในต้นแบบของย่านสร้างสรรค์ของเชียงใหม่และเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ไปพร้อมกัน
ยุคที่หนึ่ง: งานช้าง
เราปักหมุดแรกของหนึ่งในแลนด์มาร์กแห่งยุคหัตถกรรมเฟื่องฟูในสันกำแพงที่ ‘บ้านจ๊างนัก’ ในตำบลบวกค้าง ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สตูดิโอ และโรงงานผลิตงานไม้แกะสลักของ สล่าเพชร วิริยะ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทเครื่องไม้ (แกะสลักไม้) ผู้เริ่มต้นวางรากฐานความเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ แห่งแรกๆ ของเมืองเชียงใหม่ จากการเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 2528
“งานไม้เป็นหนึ่งในทักษะอันดับต้นๆ ที่สล่าท้องถิ่นในภาคเหนือมีความเชี่ยวชาญ เพราะก่อนที่เทคโนโลยีในการก่อสร้างจะเกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ เราก็ตัดไม้มาสร้างบ้าน สร้างวัดของเราเองแล้ว เช่นเดียวกับการทอผ้าเพื่อสวมใส่ หรืองานเครื่องเขิน เครื่องเงิน และอื่นๆ ที่ทำไว้เป็นสิ่งของเพื่อพุทธบูชา” สล่าเพชรกล่าว
เริ่มต้นจากการนำไม้สัก ซึ่งแต่เดิมเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายทั่วจังหวัดมาใช้ในงานแกะสลัก ก่อนจะกลายเป็นสล่าคนแรกๆ ที่เปลี่ยนมาใช้ไม้ขี้เหล็กและไม้ขนุนมาเป็นวัสดุทดแทน ภายหลังที่ทางการประกาศขึ้นทะเบียนให้ไม้สักเป็นไม้หวงห้าม สล่าเพชรก็เริ่มสร้างชื่อเสียงจากการแกะสลักประติมากรรมช้าง สัตว์ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเชียงใหม่และประเทศไทย ด้วยความวิจิตรและพิถีพิถัน เป็นทั้งงานศิลปะและสินค้าที่ระลึก จนสตูดิโอของเขาอัดแน่นไปด้วยประติมากรรมช้าง ที่มีรูปลักษณ์และขนาดที่แตกต่างกันหลายพันเชือก ดังชื่อ บ้านจ๊างนัก (บ้านช้างเยอะ)
สล่าเพชร เล่าย้อนถึงยุคเริ่มต้นของเมืองหัตถกรรมสันกำแพงว่า ภายหลังที่เมืองเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นแหล่งจำหน่ายของฝากอย่าง ร่มบ่อสร้าง ผ้าไหม และไม้แกะสลัก ในช่วงทศวรรษ 2520 ชาวสันกำแพงก็เห็นโอกาสในวิชาชีพ จึงมีการไปขอถ่ายทอดวิชาจากสล่ารุ่นก่อนหน้ากันมากขึ้น พร้อมๆ กับที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาฝึกวิชาชีพแก่ชาวบ้าน
ทั้งนี้ในจำนวนเครือข่ายสล่าไม้ สล่าเพชรถือเป็นหนึ่งในศิษย์ที่โดดเด่นที่สุด จากการสร้างสรรค์ผลงานไม้แกะสลักที่แตกต่างไปจากขนบของล้านนา เช่นลายเครือเถา ช้างติดกระบะท้ายเกวียน ไปจนถึงลวดลายจากวัฒนธรรมอินเดียนแดง และแน่นอน การทำประติมากรรมช้างที่สะท้อนความละเอียดประณีตเหมือนจริงระดับ HD
“ผมกับเพื่อนสล่าเริ่มทำงานแกะสลักไม้ในปี 2528 จนราวปี 2531 ก็ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า บ้านจ๊างนักจากการที่เรามีทิศทางในการทำงานประติมากรรมช้างที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามภายหลังที่สินค้าหัตถกรรมของสันกำแพงไม่ได้เป็นสินค้าขายดีเหมือนเมื่อก่อน เราก็พยายามปรับตัวเองมาตลอด ซึ่งความที่เราได้ทำงานแกะสลักช้างสะสมมาเรื่อยๆ และมีกลุ่มสล่าที่ต้องแกะสลักกันอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เราจึงหันมาเปิดพิพิธภัณฑ์ ให้นักท่องเที่ยวมาดูผลงาน และเป็นแหล่งเรียนรู้งานแกะสลักไม้ควบคู่ไปด้วย กลุ่มเราก็สามารถทำงานต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ นั่นคือที่มาของการเปิดพิพิธภัณฑ์” สล่าเพชรเล่า
กล่าวได้ว่า บ้านจ๊างนักนับเป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการเป็นเมืองหัตถกรรมของสันกำแพง เพราะภายหลังที่พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนักเปิดทำการ แหล่งผลิตหัตถกรรมแห่งอื่นก็เริ่มปรับรูปแบบมาเป็นศูนย์แสดงสินค้ามากขึ้น อันนำมาสู่การสร้างเครือข่ายนักสร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่เชิงกิจกรรมสร้างสรรค์ตามชุมชนต่างๆ ในเวลาต่อมา
ทายาทรุ่นที่ 2: หัตถอุตสาหกรรม
ริมถนนสันกำแพงสายเก่า ในตำบลต้นเปา สยามศิลาดล (Siam Celadon) ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดย นิตย์ วังวิวัฒน์ และเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ผู้ต่อยอดภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของสันกำแพงอย่างศิลาดล ที่มีเอกลักษณ์จากการเคลือบด้วยน้ำเคลือบธรรมชาติจากขี้เถ้าไม้ จนเกิดเป็นงาน Stoneware สีเขียวละมุนตา พร้อมพื้นผิวที่มีการแตกลายงาเปี่ยมเสน่ห์
สยามศิลาดลเริ่มต้นจากการเป็น Home Studio ผลิตด้วยเตาขนาดเล็ก สร้างชื่อเสียงแบบปากต่อปากในยุคแรก ก่อนที่นักธุรกิจชาวต่างชาติมาร่วมลงทุน และผลักดันผลิตภัณฑ์สู่สินค้าส่งออกในที่สุด
ปัจจุบัน ไม่เพียงสยามศิลาดลจะขยายกำลังการผลิตสู่โรงงานขนาดกลาง ที่ส่งศิลาดลจากไทยไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่ยังเป็นธุรกิจที่เป็นภาพสะท้อนของยุครุ่งเรืองในงานหัตถกรรมสันกำแพงและเมืองเชียงใหม่ กระทั่งราวทศวรรษ 2540 ที่สันกำแพงมีเค้าว่า จะสูญเสียอำนาจนำในฐานะศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรม ความท้าทายจึงมาตกอยู่ที่ ปอนด์-อนุสิทธิ์ มานิตยกุล ทายาทรุ่นที่ 2
“ตอนเราเข้ามารับช่วงต่อใหม่ๆ เมื่อสักราว 20 ปีที่แล้ว ทิศทางของสันกำแพงเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัว เราจึงเห็นว่า แหล่งผลิตหัตถกรรมหลายแห่งหันมาเปิดพื้นที่กิจกรรมสาธิตกระบวนการผลิต ให้นักท่องเที่ยวมาชมและซื้อของฝากกลับไป
“สยามศิลาดลก็หันมาสนใจกับทิศทางนี้ ขณะเดียวกันเราก็ใช้ระบบอุตสาหกรรมเข้ามาอำนวยความสะดวกด้านการผลิต เช่นเครื่องช่วยเทพิมพ์ เพื่อลดเวลาในการผลิต ซึ่งสอดรับกับกลุ่มลูกค้าของเราที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น โรงแรมเชนระดับนานาชาติ สปา และร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลักๆ ในการผลิตของเรา ยังคงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของช่างฝีมืออยู่” ปอนด์เล่า
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมงานหัตถกรรม สยามศิลาดลยังตระหนักในการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่เป็นจุดขาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนเอง และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำตราสัญลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) หรือร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ มาออกแบบงานศิลาดลให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
“เราพยามยามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และศึกษาสีสันธรรมชาติหลากหลาย เช่น สีครีมจากน้ำเคลือบฟางข้าว สีกาแฟจากน้ำเคลือบกากกาแฟ หรือทดลองเล่นกับเฉดสีเขียวดั้งเดิมให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้าถึงได้และมองลูกค้าในกลุ่มที่แตกต่างออกไป มันเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดของสยามศิลาดล” ปอนด์กล่าว
เช่นเดียวกับทิศทางของสยามศิลาดล ปอนด์ยังเล่าถึงภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านของสันกำแพง จากแหล่งผลิตงานหัตถกรรมสู่การที่ผู้ประกอบการในพื้น ที่เริ่มยกระดับเป็นแหล่งผลิตเชิงหัตถอุตสาหกรรม พร้อมกับเปิดรับเทคโนโลยีและมุมมองใหม่จากคนรุ่นใหม่ มาช่วยพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พื้นที่เรียนรู้ และจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ การเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ยังสร้างโอกาสให้เกิดการผุดขึ้นของธุรกิจขนาดเล็กใหม่ๆ มากมาย รวมถึงการเกิดพื้นที่และย่านธุรกิจสร้างสรรค์ที่เกิดจากเครือข่ายความร่วมมือของคนในย่าน ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดสินค้ายั่งยืน Bamboo Family Market, สังกะดี สเปซ, โหล่งฮิมคาว ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่จัดแสดงผลงานของศิลปินระดับโลก (และยังตั้งอยู่ตรงข้ามสยามศิลาดล) อย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม
สันกำแพงเทอมสาม: สู่ย่านสร้างสรรค์ยุคใหม่
จาว-จาวรี ทองดีเลิศ คือเจ้าของร้าน มีนา มีข้าว หนึ่งในธุรกิจของคนคืนถิ่น (Homecoming) ที่ปอนด์แห่งสยามศิลาดล ยกเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านของสันกำแพง เพราะไม่เพียงมีนา มีข้าว จะเป็นร้านอาหารริมทุ่งนาที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ข้าวและวัตถุดิบพื้นบ้านสู่เมนูที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และทุกเพศทุกวัย
กระนั้นร้านอาหารแห่งนี้ยังจุดประกายโอกาสใหม่ๆ ให้กับย่าน ผ่านการจัดตลาดสินค้าหัตถกรรมที่กลายเป็นแลนด์มาร์กที่พลาดไม่ได้เมื่อมาสันกำแพง นั่นคือ ตลาดฉำฉา หรือที่รู้จักในชื่อ ‘โหล่งฮิมคาว’
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงที่จาวเริ่มต้นธุรกิจ เธอเล่าว่า ตอนนั้นสันกำแพงไม่ได้คึกคักเหมือนภาพที่เธอคุ้นเคยในวัยเด็ก ร่มบ่อสร้างและธุรกิจกระดาษสาซบเซาลง ในทางกลับกันก็เริ่มมีธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดรับกับตลาดของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น
นั่นทำให้จาวและลูกพี่ลูกน้องอีกคน เห็นโอกาสในการเปลี่ยนพื้นที่ในซอยเข้าร้านมีนา มีข้าว แห่งตำบลสันกลาง ให้กลายเป็นตลาดสินค้าหัตถกรรมร่วมสมัย พื้นที่จัดเวิร์กช็อปงานคราฟต์และเกษตรอินทรีย์ และโหล่งฮิมคาวกลายเป็น Community space ที่เป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ไปโดยปริยาย
“พอเชื่อมโยงกันจนเป็นเหมือนชุมชนท่องเที่ยว เรารู้สึกว่า นิเวศของสันกำแพงมันเอื้อกันไปหมดเลย เช่น เวลามีกรุ๊ปทัวร์มากินอาหารที่ร้าน เราก็จะนำเสนอเขาว่า ถ้ากินเสร็จแล้ว สนใจลองไปทำเวิร์กช็อปในชุมชนของเราต่อไหม หรือบางบ้านที่เขารับเวิร์กช็อปก็จะแนะนำลูกค้ามากินอาหารที่นี่ เราอยู่กันแบบนี้ แล้วช่วงหลังๆ เศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ลักษณะนี้ก็กระจายไปยังชุมชนรอบข้าง มีคุณป้าเอาผักมาขาย หรือบ้านของคุณด้านหน้าซอยมีพื้นที่ว่างอยู่ แกก็ทำบริการรับจอดรถ ใครมีอะไรอยู่ก็เอามาจอย เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน”
ไล่เลี่ยกับที่จาวปักหมุดมีนา มีข้าว ลงบนแผนที่ย่านสันกำแพงยุคใหม่ เป็นจังหวะเดียวกันกับการกลับบ้านมาดูแลกิจการเต็มตัวของ ไหม-ปิยะกมล วาณิชย์มงคล ทายาทร้านผ้าไหมยุคบุกเบิก Thai Silk Village และอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่หันมาเปิดร้านเบเกอรี่สไตล์ฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อจากการทำครัวซองต์อบใหม่ที่รสชาติราวกับไปกินที่ปารีส ร้าน Chez Nous ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสยามศิลาดล
“ตอนคิดว่า จะเริ่มทำร้านเมื่อ 7 ปีก่อน ช่วงนั้นธุรกิจคาเฟ่ในเชียงใหม่กำลังมา แต่เรายังไม่เห็นคาเฟ่ที่เน้นเบเกอรี่จริงจังเท่าไร ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวแม่กำปองที่ได้รับความนิยมมากๆ ทำให้ถนนเส้นนี้มีนักท่องเที่ยวผ่านค่อนข้างเยอะ เราจึงมองว่า ด้วยจังหวะเวลาและทำเลตรงนี้ น่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่จะลงมือทำ Chez Nous” ไหมเล่า
การนำเสนอทางเลือกใหม่ คุณภาพ และรสชาติของอาหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นอานิสงส์จากทางผ่านสู่แม่กำปองและอำเภอแม่ออน หลังจาก Chez Nous เปิดตัวไม่นาน ร้านของไหมก็ปักหมุดเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พลาดไม่ได้ของนักท่องเที่ยวสาย Café Hopper
อย่างไรก็ตาม แม้ไหมจะไม่ปฏิเสธว่า เศรษฐกิจของสันกำแพงในวันนี้ขับเคลื่อนด้วยนักท่องเที่ยวเป็นหลัก กระนั้นการดูแลลูกค้าท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่เธอเห็นว่า ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
“ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดเลยว่า ผู้ประกอบงานหัตถกรรมสันกำแพงลำบากมากๆ เพราะไม่มีลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คุณพ่อของไหมเคยบอกว่า เพราะเรามัวแต่เน้นลูกค้าชาวต่างชาติเกินไป จนลืมใส่ใจลูกค้าท้องถิ่น เราจึงต้องสร้างความเข้าใจให้คนในท้องถิ่นและคนไทยด้วยกันเองเห็นคุณค่าของงานศิลปะ วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมมากกว่านี้ เพื่อให้สันกำแพงไม่ได้เป็นแค่ชื่อ แต่เป็นสถานที่ที่คนรู้ว่า จะมาเพื่อชื่นชม ซึมซับ หรือได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าอะไรกลับไป แล้วเศรษฐกิจของเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ไหมกล่าว
ไม่เพียงภาพจำใหม่จากการเป็นที่ตั้งของตลาดนัดสินค้าหัตถกรรมร่วมสมัย พื้นที่ศิลปะ ร้านอาหาร และคาเฟ่ ด้วยพื้นฐานจากการเป็นเมืองสล่า สันกำแพงจึงมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะ ไปจนถึงการเป็นที่ตั้งของสตูดิโอของคนทำงานสร้างสรรค์อีกไม่น้อย เช่นที่ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ นักออกแบบมือรางวัล ที่เลือกย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาเปิด ‘ชามเริญ สตูดิโอ’ ในตำบลต้นเปา ด้วยมองเห็นถึงศักยภาพในการทำสตูดิโองานเซรามิกของเขาในบ้านเกิด รวมถึงมีแผนจะขยายพื้นที่หน้าสตูดิโอให้กลายเป็น Creative space แห่งใหม่อย่าง ‘มหาชามเริญ’ ที่รวมเอาทั้งแกลเลอรีศิลปะ ที่พำนักของศิลปิน (Artist’s Residence) ร้านจำหน่ายงานออกแบบ บาร์ และร้านรวงของเพื่อนพ้องเอาไว้ด้วยกัน
“สันกำแพงมีทรัพยากรและบุคลากรสายงานสร้างสรรค์มากพอที่เราพอจะมั่นใจในการทำคอมมูนิตี้ได้ ซึ่งพบว่า ย่านมันยังขาดพื้นที่แสดงงาน และร้านจำหน่ายงานของนักออกแบบอยู่ เรามีพื้นที่หน้าสตูดิโอพอดี เลยอยากทำตรงนี้ให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่กลางให้คนได้มาดูงาน มาซื้อของ และเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ได้มาพบปะ และแลกเปลี่ยนผลงานกันดูไปพร้อมกัน” มิกเล่า
เช่นเดียวกับ เท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม สถาปนิกรุ่นใหม่ที่เลือกตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง ให้เป็นฐานที่มั่นของ ‘ยางนา สตูดิโอ’ สตูดิโอสถาปัตยกรรมที่มีลายเซ็นชัดในการต่อยอดภูมิปัญญาเชิงช่างพื้นถิ่นให้ร่วมสมัย และได้รับการยอมรับระดับสากล
“เราเป็นคนลำปางที่มาเรียนต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเป็นนักศึกษา เคยได้ยินชื่อสันกำแพงนะ แต่ไม่ค่อยได้มาเที่ยวสักเท่าไร เพราะรู้สึกว่าไกล จนได้มาจริงๆ ก็ตอนมีลูกค้าให้มาออกแบบวางผังภูมิทัศน์ พอมาเห็นก็รู้สึกว่า ตอบโจทย์แผนการพัฒนาสตูดิโอ ประกอบกับมองว่า เมืองฝั่งตะวันตกไม่อาจขยายตัวได้ต่ออีกแล้ว เพราะติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และที่ดินก็ราคาสูงมาก แต่บริเวณนี้เป็นฝั่งตะวันออกเชื่อมอำเภอดอยสะเก็ด จึงมีโอกาสที่ในอนาคตเมืองจะขยายตัวมา เราจึงปรึกษาลูกค้าถามหาที่ทาง แล้วย้ายออฟฟิศมาอยู่ที่นี่
“ขณะเดียวกันศักยภาพของสันกำแพง มันยังเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเราด้วย เราชอบทุ่งนา ผู้คนไม่จอแจ และมีพื้นที่สีเขียวอยู่เยอะ ถึงแม้ว่า มันจะอยู่ไกลเมืองสักหน่อย แต่ด้วยข้อดีของทำเลตรงนี้ กลับทำให้ลูกค้าอยากมาหาเรามากขึ้น มาพูดคุย มาดูออฟฟิศ หรือดูบ้านสไตล์พื้นถิ่นประยุกต์ที่เราใช้ชีวิตอยู่จริงๆ ซึ่งคนที่มาส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างประทับใจ” เท่งเล่า
ทั้งมิกและเท่งต่างมองตรงกันว่า ข้อจำกัดของสันกำแพงคือ เรื่องระบบการคมนาคมขนส่ง ที่ถูกวันนี้มีเพียงรถสองแถวประจำทางสีขาววิ่งอยู่บนถนนสันกำแพงสายเก่าเพียงเส้นทางเดียว ขณะที่การใช้บริการแพลตฟอร์มรถรับ-ส่งจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก็มีค่าบริการที่ค่อนข้างสูง พวกเขามองว่า หากมีการพัฒนาให้ระบบขนส่งมวลชนมีทางเลือกหรือความคล่องตัวกว่านี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและเกิดการกระจายได้รายสู่ชุมชนได้อีกมากมาย
สถานีต่อไปของสันกำแพง
ไม่เพียงมิกและเท่ง ที่มองเห็นข้อจำกัดของสันกำแพง ในเวทีการประชุมของเครือข่ายชาวสันกำแพง ‘วาระเชียงใหม่ : วาระสันกำแพง’ โดยกลุ่มวาระเชียงใหม่ (Chiang Mai Agenda) กลุ่มนักพัฒนาเมืองชาวเชียงใหม่ ที่เชื่อในการขับเคลื่อนและหาทางออกให้ปัญหาของเมือง ด้วยการให้ภาคประชาชนมาร่วมกำหนดนโยบาย ซึ่งได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง และเครือข่ายวิจัยในระดับพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดตั้งเวทีเสวนานี้ขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอสันกำแพง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567
โดยประเด็นเรื่องการคมนาคมขนส่งยังเป็นความท้าทายสำคัญ ที่ชาวสันกำแพงผู้ร่วมประชุมเห็นตรงกันว่า ควรมีการพัฒนา หากต้องการให้สันกำแพงเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมสร้างสรรค์ที่มีความยั่งยืน
“เราพบว่า สันกำแพงมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ดีพร้อมอยู่แล้ว และคณะทำงานของเราก็ได้ทำโครงการขยายเครือข่ายภาคท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมย่านต่างๆ ในสันกำแพงเข้าด้วยกัน แต่เส้นทางทั้งหมด มันก็มีข้อจำกัดในด้านการเดินทาง หากนักท่องเที่ยวไม่ได้มีรถส่วนตัว” ดร.ศศิพัชร์ ชัยสิริบดินทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
และไม่เพียงขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลักของอำเภอสันกำแพง แต่มันยังช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในพื้นที่ในการสัญจรระหว่างชุมชน และการเชื่อมต่อเข้าอำเภอเมืองเชียงใหม่ด้วย
นอกจากข้อเสนอดังกล่าว วงเสวนายังได้สรุปข้อเสนอในการพัฒนาเมืองออกมาทั้งหมด 9 ข้อ เฉพาะเจาะจงในด้านการสร้างแผนท้องถิ่นและโครงการ เพื่อฟื้นฟู สนับสนุน การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมืองเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่ ไปจนถึงการผสานงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น เป็นต้น
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นเมืองท่องเที่ยวจากแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายชุมชน น่าคิดไม่น้อยว่า เมื่อเวลาผ่านไป สันกำแพงจะมีโฉมหน้าเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต แม้เมืองทางเล็กๆ แห่งนี้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวร่วมสมัยที่มี ‘ของดี’ ซ่อนอยู่ทั่วทั้งอำเภอ และเชื่อว่า ด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่พร้อมปรับตัว ต่อยอด และสร้างสรรค์ เสน่ห์ของเมืองสันกำแพงจะได้รับการยกระดับไปได้มากกว่านี้อีกเยอะ
ที่มา
– ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม (Umbrella Making Center) https://www.handmade-umbrella.com/
– สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ (CEA Chiang Mai) https://www.facebook.com/TCDCChiangMai
– วาระเชียงใหม่ (Chiang Mai Agenda) https://www.facebook.com/profile.php?id=61556678381070
ภาพ
– โหล่งฮิมคาว https://www.facebook.com/LoangHimKao
– Bamboo Family Market https://www.facebook.com/bamboofamilymarket