คนกรุงเทพฯ หรือชาวต่างชาติอาจเคยสงสัยว่า คนต่างจังหวัดเดินทางใช้ชีวิตประจำอย่างไร เมื่อไม่มีรถสาธารณะ ไม่มีรถประจำทาง คนต่างจังหวัดก็คิดเช่นกันว่า เหตุใดระบบขนส่งสาธารณะไม่เคยหลุดออกมาจากกรุงเทพฯ เลย 

กล่าวสำหรับเชียงใหม่ ปัจจุบันมีขนส่งมวลชนหลากหลายรูปแบบ ที่เป็นเอกลักษณ์คงเป็นรถสองแถวหลากสี มีทั้งสีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีฟ้า รถขนส่งเหล่านี้เป็นรถเอกชน โดยมีรถประจำทางที่ส่วนใหญ่รถให้บริการแถวนอกเมือง และรถแดงซึ่งเป็นรถไม่ประจำทางวิ่งในเมืองและรอบเมือง

ทว่าขนส่งเชียงใหม่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ขนส่งสาธารณะ’ เพราะในแง่หนึ่งไม่ได้มีระเบียบชัดเจน ‘รถแดง’ ถูกมองภาพในแง่ลบ ทั้งเรื่องการให้บริการ ค่าโดยสารที่ไม่เป็นระบบ คนท้องถิ่นจึงไม่นิยมใช้บริการ เชียงใหม่ก็เหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่ ‘รถส่วนตัว’ ถือเป็นช่องทางสัญจรหลัก มากกว่าระบบขนส่งมวลชน

หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายรอบ รถเมล์เชียงใหม่ก็กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปลายปี 2566 นำร่อง 2 สาย ได้แก่ สาย 24A จากสนามบิน-ขนส่งช้างเผือก- ตลาดวโรรส-ประตูเชียงใหม่-ถนนวัวลาย-สนามบิน และ 24B จากสนามบิน-นิมมาน-ขนส่งช้างเผือก-สนามบิน ซึ่งตอนนี้มีการทดลองเส้นทางเพิ่มเติม นั่นคือเส้นทางใหม่สายสีเขียว Express สนามบิน-ประตูท่าแพ-อาเขต-เซ็นทรัลเชียงใหม่เฟสติเวิล-สถานีรถไฟ-ประตูเซ็นทรัลแอร์พอร์ต-สนามบิน ให้บริการโดยบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) 

เคยขึ้นรถเมล์เชียงใหม่ของ RTC ไหม

“ยังไม่เคยครับ แต่เคยได้ยินและเห็นภาพในเฟซบุ๊ก”

“ยังไม่เคยค่ะ ไม่เคยเห็นเลย ไม่รู้วิ่งเส้นไหน”

“เคยค่ะ แต่ตอนขึ้นก็ใช้เวลานานหน่อย เพราะวนไกล”

“เคยครับ ขึ้นมาจากสนามบิน ไปแถวนิมมาน”

“No, I haven’t used the service yet. But I saw it at the airport.”

“No, I haven’t seen it. But I want it to be there.”

คำตอบจากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว พูดถึงรถเมล์เชียงใหม่ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเปิดให้บริการช่วงปี 2560-2563 ก่อนที่จะปิดให้บริการเนื่องจากโควิด-19 และกลับมาให้บริการอีกครั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566

รถเมล์เชียงใหม่มีอัตราค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 50 บาท นักเรียน-นักศึกษา 25 บาท ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ขึ้นฟรี และผู้สูงอายุ 25 บาท หากมีกระเป๋าใบใหญ่ขนาด 22 นิ้วขึ้นไป ต้องเสียค่าชาร์จกระเป๋าใบละ 30 บาท ทั้งนี้หากใครเป็นทาสหมา-แมวสามารถนำขึ้นรถมาได้ แต่ต้องอยู่ในกระเป๋าเท่านั้น เพื่อความสะดวกแก่ผู้โดยสารท่านอื่นๆ

การกลับมาครั้งนี้หลายภาคส่วนคาดหวังและประชาชนล้วนตั้งคำถามว่า รถเมล์เชียงใหม่จะ ‘ล้มเหลว’ อีกไหม

เส้นทางเหมาะสม-ตั้งใจเชื่อมเครือข่ายรถสาธารณะ

“คนอื่นอาจจะมองว่า RTC ยังไม่พร้อม แต่เราพร้อมแล้วในส่วนของการให้บริการ แต่ในเรื่องของเส้นทางและรถ ไม่สามารถที่จะทุ่มทีเดียวได้ เพราะผู้โดยสาร ยังไม่รู้ว่ามีรถและไม่คุ้ม รวมถึงสิ้นเปลืองในการบริหาร จึงเห็นการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด” ศุภสิริ ไพรศุภา Marketing Manager ของ RTC ตอบคำถามถึง ‘ความพร้อม’ ของรถเมล์เชียงใหม่

การกลับมาครั้งนี้ RTC ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ การให้บริการ อัตราค่าโดยสาร รวมถึงลดขนาดของรถ เนื่องจากรถคันเก่ายาว 12 เมตร ซึ่งไม่ฟังก์ชันกับถนนเชียงใหม่ การติดเครื่องมือ และอาวุธใหม่ พร้อมทั้งทำการทดลองวิ่งใหม่ เนื่องจากระยะเวลาที่หยุดให้บริการนานถึง 3 ปี และหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่เก่าเกินไป จึงจำเป็นที่จะต้องทดลองวิ่ง เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนใหม่ ส่วนนี้จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนมองว่ารถเมล์เชียงใหม่ยังไม่พร้อมนัก 

นอกจากการติดเครื่องมือใหม่ให้กับการบริการแล้ว RTC ยังเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ทันสมัย ใช้หลักคิดของสตาร์ทอัพในการบริหารกิจการ พร้อมทั้งตั้งใจเชื่อมต่อเครือข่ายรถสาธารณะภายในจังหวัดเชียงใหม่และรถภูมิภาคโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่คนในจังหวัด รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถลดค่าใช้จ่าย ยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นที่โดยรอบ และช่วยลดปริมาณความหนาแน่นในท้องถนน ทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ

ในด้านของขนส่งที่มีอยู่แล้ว ทาง RTC ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกัน เนื่องจากรถสองแถวแต่ละเจ้าก็มีสัมปทานเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว ประชาชนควรจะได้วิ่งในเส้นที่อยากวิ่ง เส้นทางรถที่ไม่ใช่ในส่วนของสัมปทานอย่างรอบนอก RTC ไม่วิ่งและจะไม่ไปวิ่งทับ 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รถสองแถวหลากสี คือภาพจำขนส่งของเชียงใหม่ รถขนส่งเหล่านี้เป็นรถเอกชน ที่ประชาชนมีการสัมปทานมาวิ่ง มีทั้งที่เป็นรถประจำทางและไม่ประจำทาง ภาพจำเกี่ยวกับรถเหล่านี้ มีทั้งดีและไม่ดี แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของเชียงใหม่ 

รถสองแถวหลากสี ภาพจำขนส่งเชียงใหม่ ที่อาจเปลี่ยนไป

เมื่อมาเชียงใหม่ เราจะเห็นรถสองแถวหลากสีให้บริการอยู่เกือบทั่วทั้งเมือง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวหรือคนในพื้นที่คุ้นตา แต่ภาพจำที่ว่านี้ก็มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไปทางด้านลบ ด้วยปัญหาด้านราคาที่อาจไม่ตรงตามที่ได้ระบุไว้ โดยเฉพาะรถแดงที่เป็นรถวิ่งไม่ประจำทาง ภาพลักษณ์ของรถแดงถูกมองในแง่ลบมากขึ้น อีกทั้งมีขนส่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งรถเมล์ 

ถึงอย่างนั้น มานพ แก้วตุ้ย คนขับรถแดง มองว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางเลือกมากขึ้น แต่รถเมล์อาจไม่สอดคล้องต่อพฤติกรรมของคนท้องถิ่นในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จึงมีแค่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีเยอะแค่ช่วงเทศกาล

“รถเมล์เชียงใหม่อยู่ยาก คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัว จะมีก็แต่นักท่องเที่ยวที่มาจากสนามบินและต้องการไปในตัวเมืองเท่านั้น จริงๆ แล้วการเกิดขึ้นของรถเมล์ในตอนนี้แทบจะไม่มีผลกระทบต่อรถสองแถวเลย”

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่เชียงใหม่ ส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภูเขาหรือน้ำตกต่างๆ น้อยมากที่นักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่แล้วเที่ยวแต่ในเมือง และเมื่อจุดท่องเที่ยวคือนอกเมือง รถเมล์เข้าไม่ถึง ดังนั้น ส่วนใหญ่ที่ใช้รถเมล์ คือไป-กลับระหว่างสนามบินกับในตัวเมือง แม้กระทั่งรถสองแถวทุกวันนี้อยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยวเหมาทัวร์

“รถเมล์ไปจุดอับได้ยาก และการท่องเที่ยวหากเป็นแหล่งธรรมชาติ ขนส่งสาธารณะ คือค่อนข้างใช้ยาก เพราะเข้าไปไม่ได้ อย่างไรก็ต้องใช้รถสองแถว นักท่องเที่ยวจึงเหมารถสองแถวมากกว่าที่จะใช้บัสต่างๆ”

นอกจากรถเมล์จะไม่ตอบโจทย์แล้ว ตอนนี้บริบทเมืองเปลี่ยนไปเยอะมาก หลังจากวิกฤตโควิด-19 คนในเมืองน้อยมาก แม้กระทั่งรถแดงก็สามารถอยู่ได้ด้วยนักท่องเที่ยว เพราะคนท้องถิ่นไม่ใช้บริการ 

“คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่นอกจากความสะดวกคือการตอบโจทย์ต่อการใช้งานในเมือง เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่เล็กและจุดอับค่อนข้างมาก การเดินทางด้วยรถส่วนตัวจึงสะดวกที่สุด ทำให้การจะเปลี่ยนผ่านไปใช้ขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่ท้าทาย”

ด้าน ชนิกานต์ เงินเลิศสกุล หนึ่งในผู้โดยสารที่เคยใช้บริการรถเมล์ กล่าวว่าการมีรถเมล์เปิดให้บริการที่เชียงใหม่เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น แต่เนื่องด้วยตอนนี้อาจยังเป็นช่วงทดลองให้บริการทำให้การใช้บริการไม่สะดวกเท่าที่คิด และเห็นด้วยว่าคนเชียงใหม่ใช้รถส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยเพราะเมืองไม่เอื้อให้ใช้ขนส่งสาธารณะ 

“ถ้ามีรถเมล์ มีขนส่งสาธารณะที่ดี และราคาถูกก็คงใช้ ตอนนี้ราคายังแรงไปและมองว่ามันไม่ฟังก์ชันกับตัวเมืองเท่าไร เมื่อเทียบกับการใช้รถส่วนตัว”

เมื่อเมืองไม่เอื้อให้เกิดขนส่งสาธารณะ

การขับเคลื่อนให้เกิดขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนพยายามแก้ปัญหา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ พฤติกรรมของคน รวมถึงเรื่องใหญ่อย่างบริบทของเมือง

ฟ้าใส-สิตานันท์ กันทะกาศ เยาวชนจากกลุ่มขนสุขสาธารณะ กลุ่มเยาวชนที่สนับสนุนการสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้เมือง มองว่า ด้วยระบบ โครงสร้าง และการเดินทาง ‘ระยะสั้น’ ในเมือง ไม่ได้เอื้อให้คนใช้รถเมล์หรือนั่งรอที่ป้ายรถเมล์ ขณะเดียวกัน ด้วยจุดเชื่อมที่คนจะเดินทางไปที่ป้ายรอขึ้นรถเมล์ไม่ได้ปลอดภัย และไม่ได้เอื้อให้คนเดินไปด้วยสภาพถนนและตัวเมือง 

อย่างไรก็ตาม อาจมีคนพร้อมใช้บริการ แต่ทั้งหมดยังต้องสร้างความคุ้มเคยให้กับคนท้องถิ่นต่อไป

“นักท่องเที่ยวพร้อมที่จะขึ้นรถเมล์อยู่แล้ว แต่คนท้องถิ่นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการปรับตัว สร้างความคุ้นชิน ถ้า RTC ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่น คนจะกล้าขึ้นมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน รัฐยังต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนขนส่งสาธารณะ เพราะด้วยอำนาจและเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องช่วยแก้ไขปัญหาขนส่งสาธารณะที่เรื้อรังมานาน

“เอกชนมีงบฯ แต่จะอยู่ในระยะยาวได้อย่างไรหากรัฐไม่สนับสนุน

“อะไรก็ตามที่เรียกว่า ‘สาธารณะ’ มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง หรือด้วยระบบทุนที่เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ตัวแทนจากเยาวชนกลุ่มขนสุขสาธารณะระบุ

สิตานันท์ย้ำว่า การจะสร้างขนส่งสาธารณะที่ดีได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ โดยรัฐควรจะเข้ามาช่วยจัดการในส่วนของระบบสัมปทาน ระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับขนส่งที่มีอยู่แล้ว และร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างขนส่งที่มีประสิทธิภาพและฟังก์ชันสำหรับทุกคน

เช่นเดียวกับ RTC ที่สิตานันท์เห็นว่าควรได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการจัดการและสร้างมาตรการในเรื่องของการบริหารจัดการเมือง ผังเมือง ขนาดถนน จุดจอด มีผลต่อการเติบโต และคงอยู่ขนส่งสาธารณะ 

แล้วรถเมล์เชียงใหม่จะหายไปอีกไหม?

“50-50 เพราะจริงๆ แล้วคิดว่า ไม่น่าอยู่รอดได้นาน หากไม่มีรัฐ และเมืองเชียงใหม่เองไม่เอื้อให้คนมีพฤติกรรมที่สอดคล้องต่อการตัองใช้ขนส่งสาธารณะ เพราะขนส่งเหล่านี้คือเอื้อให้คนต้องเดิน” คือคำตอบของสิตานันท์ เมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ ที่ขนส่งสาธารณะรูปแบบรถประจำทางจะหายไปอีก

ขณะที่ อิง-มณฑิรา คำสอน เยาวชนกลุ่ม Sync Space กล่าวว่า การกลับมาของ RTC รอบนี้ทำการบ้านเยอะมาก และมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างจริงจัง มีการวางแผนและโปรโมตที่ดีมาก แต่กระนั้นก็คิดว่าการปรับพฤติกรรมของคนเชียงใหม่เป็นสิ่งที่ยาก

“60% หายเพราะคนเชียงใหม่ชินกับการใช้รถส่วนตัว รถมอเตอร์ไซค์ หรือจะเป็นรถสองแถว 40% อยู่รอด เพราะรอบนี้ RTC เอาจริง มีการวางแผน ประเมิน และเก็บข้อมูลอย่างหนัก ในเรื่องข้อมูลทำงานลึกมาก

“ระบบขนส่งสาธารณะควรเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกคน ซึ่งเอกชนไม่สามารถจัดสรรระบบขนส่งมวลชนได้โดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐ และไม่ควรเกิดขึ้นเพราะคำว่าสาธารณะ ไม่ควรเกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องร่วมกันหลายภาคส่วน” 

ขณะเดียวกัน ในมุมของมณฑิรา ระบบขนส่งมวลชนไม่ควรเป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ควรต้องได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลส่วนกลาง และต่อให้ตายอย่างไร รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีอำนาจมากพอในการจัดการ 

ส่วนคำถามที่ว่า ‘รถเมล์เชียงใหม่จะหายไปไหม…’ คำถามนี้ไม่อาจตอบได้ด้วยคนจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในที่สุด 

Tags: , , , ,