เช้าทำงาน เย็นกลับบ้าน อาบน้ำ กินข้าว และพักผ่อน ขับรถส่งของในช่วงค่ำคืนจรดเช้า
นี่คือวัฏจักรชีวิตส่วนใหญ่ของ ‘ไรเดอร์’ คนทำงานบริการรับ-ส่งทั้งคน และสินค้า บรรเทาความเหนื่อยล้า และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ โดยรับผลตอบแทนเป็น ‘ค่ารอบ’ ที่ผ่านการหักภาษี และหักเปอร์เซ็นต์รายได้จากบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานบนท้องถนนของไรเดอร์เสี่ยงพบเจออันตรายหลายรูปแบบทั้งอุบัติเหตุ อาชญากรรม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่นับรวมสุขภาพร่างกายของคนทำงานกินเวลาพักผ่อน
แต่แม้ไรเดอร์จะทำงานหนักจนสุขภาพทรุดโทรม และเสี่ยงอันตรายขนาดไหน ไรเดอร์ก็ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘พนักงาน’ ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ไรเดอร์ไม่เข้าสูตรรับสวัสดิการใดๆ จากบริษัท ยังคงข้อเท็จจริง
เมื่อไม่มีสถานะพนักงาน อาชีพไรเดอร์ไม่ว่าขึ้นตรงต่อแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเจ้าใด ล้วนไร้ซึ่งความมั่นคงในการทำงาน ที่สำคัญคือพวกเขาจะถูก ‘ตัดหางปล่อยวัด’ จากบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันเมื่อไรก็ได้
“อยู่ๆ เขาก็ปิดแอปฯ ลอยแพพวกผมทั้งหมดเลย”
ไรเดอร์ชายคนหนึ่งพูดขึ้น ขณะรอรับออเดอร์จากร้านค้าในซอยอาร์ซีเอ
ท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฝน กับสีหน้าเคร่งเครียดของ กร หลังผู้เขียนเอ่ยถามกรณีการปิดกิจการโรบินฮูด แพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหาร และผู้โดยสาร ชุดไรเดอร์ของเขามีสีม่วง-เหลืองชัดเจน เป็นเหตุผลให้เราสอบถามกร
“เขาไม่บอกเหตุผลกับไรเดอร์เลยว่า เลิกให้บริการโรบินฮูดเพราะอะไร ผมต้องเข้าไปดูในเฟซบุ๊กที่เขาประกาศปิดตัว อยู่ๆ อยากจะปิดก็ปิดเลย”
25 มิถุนายน 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในกำกับของเอสซีบี เอกซ์ (มหาชน) ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
“ตัวผมไม่อยากขับโรบินฮูดแล้ว เพราะเขาจะปิดระบบ”
แม้ในวันนี้ ไรเดอร์โรบินฮูดยังรับ-ส่งออเดอร์ได้จนถึงค่ำคืนของวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. แต่สำหรับกรที่ไร้กะจิตกะใจในการทำงานต่อ ได้ตัดสินใจไม่รับออเดอร์จากโรบินฮูดอีก ด้วยมองว่า การตัดสินใจของบริษัทเจ้าของแอปฯ มองไม่เห็นคนทำงานในสมการ
กรเล่าว่า การขับโรบินฮูดสร้างรายได้มากกว่าแพลตฟอร์มเจ้าอื่น เงินส่วนหนึ่งที่กรได้รับส่วนหนึ่ง เขาจะนำไปหักค่าเช่ายานพาหนะไฟฟ้าจากโรบินฮูด อีกส่วนแบ่งชำระค่ารถจักรยานยนต์ส่วนตัวที่ยังค้างผ่อน แต่ตอนนี้ตนตกที่นั่งลำบากเนื่องจากสูญเสียรายได้หลังโรบินฮูดปิดตัวลง
“มันกระทบกับรายได้ของผมอยู่แล้วครับ เพราะส่วนใหญ่ผมรับออเดอร์จากโรบินฮูด ผมควบคุมรายได้ของผมได้ ไม่เหมือนกับแอปฯ อื่นที่ทำไม่ได้”
ในบรรดาผู้ประกอบอาชีพรับ-ส่งสินค้า หลายคนเป็นไรเดอร์ที่ทำงานมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม แต่สำหรับผู้เข้าร่วมเพียงแพลตฟอร์มเดียว การปิดตัวโรบินฮูดไม่เพียงรายได้ที่สูญหาย มากกว่านั้นคือความมั่นคงในการใช้ชีวิตที่น้อยลง
เราพบเจอกับ พจน์ ไรเดอร์หนุ่มที่กำลังมารับออเดอร์จากร้านเย็นตาโฟกลางซอยอาร์ซีเอเพื่อส่งให้ลูกค้า
พจน์ร่วมเป็นไรเดอร์โรบินฮูดก่อนการประกาศปิดกิจการเพียง 1 เดือน รถสำหรับรับ-ส่งออเดอร์ ไปจนถึงกล่องบรรจุอาหาร กระทั่งเสื้อที่เขาสวมใส่ พอเป็นข้อมูลที่บอกได้ว่า พจน์เป็นไรเดอร์โรบินฮูดเพียงแพลตฟอร์มเดียว
หลังเปิดแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเมื่อปี 2564 โรบินฮูดมีไรเดอร์กว่า 2.6 หมื่นคน แม้ปัจจุบันไรเดอร์หนึ่งคนสามารถทำงานให้กับหลายแพลตฟอร์ม แต่ยังมีบางส่วนใน 2.6 หมื่นคน ที่เป็นไรเดอร์เพียงแพลตฟอร์มเดียว
พจน์เป็นหนึ่งในนั้น
“ถามว่ารายได้ของผมได้รับผลกระทบไหม มันกระทบแน่นอน แต่สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้คือ การไปหาขับไรเดอร์ให้แอปฯ อื่นต่อ” พจน์พูดขึ้นก่อนที่ ชัย ไรเดอร์ซึ่งอยู่ข้างกับพจน์จะพูดเสริม
“แต่มันก็เปิดรับไม่เยอะหรอกครับ หากจะหาทำงานไรเดอร์ตอนนี้ก็หายาก”
ชัยเล่าต่อว่า การสมัครเป็นไรเดอร์ในยุคนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนช่วงคนนิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน หากสมัครใหม่ในแพลตฟอร์มอื่นอาจใช้เวลา 2-3 เดือน ประกอบกับภาวะเศรษกิจที่ฝืดเคือง 2-3 เดือน คงเป็นเวลาที่มากจนเกินไปสำหรับคนขาดรายได้
“เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นไรเดอร์โรบินฮูดแอปฯ เดียว เขากังวลว่าสมัครแกรบกับไลน์แมนเอาไว้ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะปิดระบบรับสมัครตอนไหน มันไม่มีอะไรการันตี”
อาชีพไรเดอร์ไม่มีสถานะ ‘แรงงานในระบบ’ บริษัทเดลิเวอรีให้นิยามไรเดอร์ว่าเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ไม่ใช่ ‘พนักงานประจำ’ จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับบริษัท เป็นเหตุผลว่าเหตุใด ไรเดอร์จึงไม่มีสวัสดิการใดๆ แม้สังกัดบริษัทที่ใหญ่โต
ที่สำคัญเมื่อไม่ใช่แรงงานในระบบ จึงเป็นเรื่องง่ายที่ไรเดอร์จะถูกเขี่ยออกจากระบบ
“ผมว่านายทุนเขามองไม่เห็นเราหรอก ทำแล้วขาดทุนก็ปิด ตัวผมมีหนี้เงินกู้อยู่ด้วยแล้ว เขาให้ผมรีบจ่ายให้หมดภายในสิ้นเดือนนี้ ใครจะจ่ายไหว แล้วใครจะมีจ่าย”
ในแถลงการณ์ยุติการใช้แอปพลิเคชันโรบินฮูดของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ระบุเหตุผลของการปิดกิจการว่า เป็นเพราะ “แอปพลิเคชัน Robinhood ได้ดำเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว”
ขณะเดียวกัน ข้อมูลงบการเงินระหว่างปี 2563-2566 ของบริษัทแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า Robinhood มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ขาดทุนตั้งแต่ให้บริการในปีแรก โดยปี 2566 มีผลประกอบการขาดทุนถึง 2,155 ล้านบาท และปัจจุบันผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องสะสมถึง 5,500 ล้านบาท
เราจึงถามคำถามสุดท้ายกับชัยว่า เชื่อหรือไม่ว่า เหตุผลการปิดตัวของ Robinhood เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทบอกต่อสาธารณะ
“ผมไม่เชื่อเขาหรอก เขาปิดเพราะแพลตฟอร์มขาดทุนนั่นแหละ ไม่ได้ปิดเพราะช่วยคน” ชัยปิดท้าย
Tags: Rider, ไรเดอร์, SCBX, การเงิน, เศรษฐกิจ, food delivery, Robinhood