‘หมอลำแบงค์’ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เปรียบจังหวะชีวิตของเขาเป็นเหมือนลาย (mode) ของหมอลำที่เรียกว่า ‘กาเต้นก้อน’ ซึ่งมีลำจังหวะสูงต่ำสลับไปมา

“ชีวิตเฮาหาอยู่หากินเหมือน ‘กาเต้นก้อน’ มีขึ้นมีลง เปรียบเสมือนท่วงทำนองของกาที่มันไปหากินเขี่ยกินตามก้อนขี้ไถขึ้นๆ ลงๆ หาอะไรกินได้ก็กินอย่างนั้นครับ”

‘ขี้ไถ’ คือดินที่ถูกพลิกขึ้นมาหลังการไถนาเพื่อกลับหน้าดินต้นฤดูฝน ซึ่งพลิกเอาอาหารอันพูนล้นติดขึ้นมาพร้อมดินที่ม้วนเป็นก้อนโตด้วย ‘หอยเข้าไง’ หรือชื่อเรียกหอยหลายชนิดหนึ่งซึ่งจำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูแล้ง ทั้งหอยจูบ หอยกาบ หอยโข่ง ไม่อาจซุกซ่อนตัวได้อีกต่อไป ไส้เดือนและแมลงนานาชนิด จิ้งหรีด แมงดา แมงก้องแขน แมงข้าวสาร แมงตับเต่า แมงระงำ ฯลฯ ที่เคยอยู่ใต้ดินผุดโผล่ให้ล่าไล่ แปลงนาที่เต็มไปด้วยก้อนขี้ไถนั้นเหมือนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงขนาดใหญ่ ซึ่งมนุษย์และนกกามาเป็นแขกของงานเลี้ยงนี้

ท่าทางการโลดเต้นหากินตามก้อนขี้ไถของนกกากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปะของชาวอีสานหลายแขนง ทั้งหมอลำลาย ‘กาเต้นก้อน’ ที่นิยมในภาคอีสานตอนกลางและตอนเหนือ โดยเฉพาะแถบกาฬสินธุ์ ท่ารำมวยโบราณของชาวสกลนครชื่อท่า ‘กาเต้นก้อนขี้ไถ’ ท่าฟ้อน ‘กาเต้นก้อน’ ของชาวภูไทในจังหวัดนครพนม และดังที่แบงค์กล่าว ชีวิตเขาเป็นดั่งกาเต้นก้อนเช่นกัน

เช่นเดียวกับทุกงานเลี้ยงที่มีวันเลิกรา การไม่พบเจอสิ่งใดเลยในก้อนขี้ไถเป็นชะตากรรมของกาเช่นกัน กาเต้นก้อนจึงไม่ใช่ท่วงทำนองแห่งอิ่มและสุขเท่านั้น แต่ท้วงทักด้วยว่าการดิ้นรนและผจญการทุบกระแทกของโชคชะตาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเช่นกัน ท่วงทำนองชีวิตหมอลำแบงค์ยืนยันเรื่องนี้ได้ดี

หนุ่มลุ่มน้ำก่ำ

แบงค์เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ มีทั้งยายและป้าเป็นแม่ครัวหลัก เด็กชายจึงไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการหุงหาอาหารมากนัก เขาวิ่งเล่นรอบบ้านพอได้เฉียดครัว และเห็นภาพยายและป้าเก็บผักหวานมาแกงกับไข่มดแดง หาเห็ดตะไคหรือเห็ดหอมป่ามาย่างไฟให้หอมแล้วทำเป็นเครื่องจิ้มที่เรียกว่า ‘ซุบเห็ดตะไค’ หรือเก็บเห็ดตาโล่มาทำ ‘ซั่วเห็ดตาโล่’ โดยคลุกเคล้าเห็ดดิบๆ เข้ากับน้ำปลาร้าและเครื่องลาบ และนำปลาตองที่ลุงหาจากลุ่มน้ำก่ำมาทำ ลาบเหนียวปลาตอง

“บ้านผมใกล้ลุ่มน้ำก่ำ เขตสกลนคร บางครั้งถ้าโชคดี นานๆ ที ลุงของผมจะจับปลาตองมาได้ ถึงจะได้ทำลาบเหนียวปลาตองกินกันทั้งครอบครัว ถือว่าเป็นของดี หากินยาก นานๆ จะได้กินที เวลากินจะแกล้มกับผักอะไรต่อมิอะไรที่หากินได้ไปทั่ว หาผักอะไรได้ก็กินอันนั้น”

“หาอะไรได้ก็กินอันนั้น” ดูจะเป็นปรัชญาประจำตัวแบงค์ไปแล้ว ซึ่งดูตรงข้ามกับแผนชีวิตของเขาที่เลือกอย่างตั้งใจ ไม่ซัดส่าย นั่นคือมุ่งตรงมาเพื่อเป็นศิลปิน

ลุ่มน้ำก่ำมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านหลายอำเภอในจังหวัดสกลนคร ก่อนไหลลงสู่หนองหาร อ.เมืองสกลนคร และไหลรวมสู่แม่น้ำโขงตอนบนหรือ ‘แอ่งสกลนคร’ ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ลุ่มน้ำก่ำจึงมีทั้งปลายทางอันยิ่งใหญ่คือแม่น้ำที่เป็นดั่งมารดาเลี้ยงดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีต้นทางอันถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองหลายครั้งสำคัญของไทยอย่างภูพาน

ทศวรรษที่ 2480 มีเสรีไทยสายอีสานผู้มุ่งปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการฝึกแล้วอยู่สกลนครกว่า 3,500 คน โดยมีภูพานเป็นแหล่งเก็บเสบียงกรังและอาวุธ ทศวรรษที่ 2490 ภูพานเป็นที่ซ่อนตัวของ เตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ซึ่งขึ้นมาสะสมกำลังเพื่อทวงคืนอำนาจฝ่ายพลเรือนจากฝ่ายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2500 ภูพานกลายเป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร สำหรับประชาชนรายรอบภูพาน คอมมิวนิสต์คือที่พึ่งที่ปกป้องพวกเขาจากอำนาจรัฐที่กดทับได้

สกลนครจึงเป็นจังหวัดที่มีความตึงเครียดระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเสมอมา เหตุการณ์ที่ตำรวจจับกำนันผู้ใหญ่บ้านมาซ้อม ข่มขืนลูกเมียชาวบ้าน เผายุ้งข้าว ยิงสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านมาประกอบอาหารโดยพลการ และซ้อมทรมานชาวบ้านปางตายเพื่อให้บอกที่ซ่อนตัวของนายเตียง ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน ซากโรงพักเก่าถูกเผาและทิ้งร้างมาหลายสิบปีละแวกบ้านของแบงค์เป็นพยานถึงความตึงเครียดนี้เป็นอย่างดี

“แต่เป็นเด็กน้อย เฮาเห็นซากสถานีตำรวจภูธรตำบลเหล่าโพนค้อ เลยถามแม่ใหญ่ (ยาย) ว่ามันเป็นอิหยังคือถืกเผาเหลือแต่ซาก เลยได้ฮู้ว่ามันมีการต่อสู้กันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ สหายลงมาเผาโรงพัก สหายไม่ได้ฆ่าชาวบ้าน แต่ชาวบ้านต้องพึ่งสหาย ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยอยู่”

แบงค์กล่าวว่าสถานีตำรวจแห่งนั้นในอดีตอยู่ในเขต อ.เมือง จ.สกลนคร ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ อ.โคกศรีสุพรรณ จังหวัดเดียวกัน โดยมีจุดสังเกตคืออยู่หลังโรงเรียนบ้านเหล่าโพนค้อเหล่าราษฎร์วิทยา

สถานีตำรวจแห่งนั้นทำให้แบงค์สนใจประวัติศาสตร์ของบ้านเกิด ชื่อของ ครอง จันดาวงศ์ และ เตียง ศิริขันธ์ อยู่ในความสนใจของแบงค์ตั้งแต่เยาว์วัย พร้อมๆ กับชื่อของหมอลำยอดนิยมบนคลื่นวิทยุที่เขาชื่นชอบ และบรรยากาศแห่งความสุขความบันเทิงที่เสียงเพลงหมอลำจากงานบุญงานเทศกาลต่างๆ มอบให้ จนยากจะตัดสินว่าเขารักชื่อไหนมากกว่ากันระหว่าง ‘ขุนพลภูพาน’ กับ ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’

“ผมมักพรศักดิ์ ส่องแสง เฉลิมพล มาลาคำ และสาธิต ทองจันทร์ เพิ่นเป็นนักร้องหมอลำที่ดังมากตอนเราเป็นเด็ก เกิดมาก็ได้ยินชื่อพวกเขาแล้ว ก็นั่นแหละคือการให้ความสุขกับคนฟังผ่านหน้าปัดวิทยุ เฮาเกิดมาเฮาก็เห็นแล้ว เราก็โตมากับมันและซึมซับไปโดยอัตโนมัติ”

แบงค์ฟูมฟักเส้นทางศิลปินจากการเข้าชมรมดนตรีพื้นบ้าน และเป็นนักดนตรีของโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปี พัฒนาฝึกฝนจนมีทักษะทั้งการเป่าแคน ดีดพิณ ตีโปงลาง นอกเหนือจากนั้น เขานิยามว่าเขาก็เป็นเด็กไทบ้านทั่วไป ดื่มเหล้า ร้องเพลงจีบสาวเช่นเดียวกับเด็กหนุ่มร่วมหมู่บ้านคนอื่นๆ เขาเข้าถึงเสียงดนตรี ขณะเดียวกันเขาสดับเสียงคนบ้านเดียวกันพรั่งพรูความอุกอั่งทั่งเทต่อการล้อมปราบคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 และเห็นการแพร่สะพัดของนิตยสาร Voice of Taksin ในหมู่บ้าน แต่การเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาสนใจ เส้นทางศิลปินรอเขาอยู่

สืบค้นเมนูลาบปลา (ລາບປາ) จากเพลงหมอลำของ สปป.ลาว

พ.ศ. 2555 แบงค์สอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกดนตรีและการแสดงพื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรอบสอบสัมภาษณ์เขาร้องเพลง เกี่ยวข้าวคอยนาง ของ สมจิตร  บ่อทอง เป็นใบผ่านเพื่อไปเรียนสิ่งที่เขารักได้สำเร็จ

ในมหาวิทยาลัย แบงค์พบกับ กฤตภพ สมมิตร หรือต่อมามีชื่อในวงการว่า ‘หมอแคนบัวตอง’ ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนสนิทและหมอแคนประจำตัวผู้อยู่เคียงข้างแบงค์ในทุกเหตุการณ์ รวมถึงเมื่อครั้งไปเที่ยวหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองได้กินอาหารอันน่าจดจำด้วยกัน

“พวกเราได้กินลาบเหนียวปลาตองที่อร่อยมากๆ ครั้งสุดท้ายตอนไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง ช่วงอากาศเย็นๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่อร่อยคงเพราะเราไม่ได้กินกันนานแล้ว และปลาสดจากแม่น้ำโขง ยิ่งกินกับผักสดหลายๆ อย่างของที่นั่นยิ่งอร่อย” หมอแคนบัวตองเล่า

ฝั่งลาวมีเพลงหมอลำชื่อว่า ລຳເຕີ້ຍ ລາບປາຕອງ (ลำเต้ย ลาบปลาตอง) โดย ຄຽງໃຈ ສະໃບພອນ (เคียงใจ สะใบพอน) หมอลำหญิงจากแขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ซึ่งฟังผาดอาจเป็นเพลงที่ชวนมากินลาบปลาตองธรรมดาแต่ถ้าฟังพิศน่าจะเป็นเพลงแฝงการเกี้ยวพาตามสไตล์ลำเต้ย ทั้งการกล่าวถึงปลาค่อใหญ่ซึ่งเป็นอุปมาถึงอวัยวะเพศชาย หรือการย้ำว่าปลาตองที่เชิญชวนให้กินแล้วจะติดใจกอดเอวไม่ปล่อยนี้ “บ่แม่นปลาห้วยปลาของ นี่แม่นปลาตองแม่น้องเลี้ยงไว้” นี่ไม่ใช่ปลาจากลำห้วยหรือแม่น้ำโขง แต่เป็นปลาที่แม่น้องเลี้ยงไว้  ซึ่งน่าจะหมายถึงลูกสาวของแม่นั่นเอง

เพลงของเคียงใจยังแฝงไว้ด้วยเรื่องถิ่นที่อยู่ปลาตอง ลาบเหนียวปลานับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการกินของคนที่อาศัยใกล้ลำน้ำลำห้วยสาขาต่างๆ แถบลุ่มน้ำโขง ปลาแม่น้ำโขงที่เหมาะจะมาทำลาบเหนียวมีหลายชนิด เช่น ปลาตอง ปลาตองกรายหรือปลากรายซึ่งมีจุด 6-7 จุดข้างลำตัว ปลาตองลายซึ่งมีลายพร้อยทั้งตัวสมชื่อ ปลาเคิงหรือปลาคัง ปลาเพี้ยหรือปลากา และปลาเนื้ออ่อนอื่นๆ เช่น ปลาเค้าหรือปลาเค้าขาว บางครั้งผู้คนเรียกรวมลาบปลาเหล่านี้ว่า ‘ลาบปลาน้ำของ’ หากตำจนแหลกออกเหลวจะเรียกว่า ‘ลาบแหลว’ หรืออาจเรียก ‘ลาบปลาดำ’ กระทั่ง ‘ลาบดำ’ ตามสีสันเมื่อคลุกเคล้ากับน้ำปลาร้า อีกทั้งผ่านการตำอันยาวนานแล้ว ดังเพลงที่เคียงใจร้องไว้ว่า “เฮ็ดลาบดีๆ สีดำฮุ่ยๆ” ทำลาบดีๆ สีดำ โชยกลิ่นหอมกระทบจมูก

ส่วนถิ่นที่อยู่ของแบงค์ที่นับเป็นอีสานเหนือหรือจังหวัดที่อยู่ในแอ่งสกลนครนั้น หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์จะพบว่าเฉพาะเส้นทางอันคดเคี้ยว 129 กิโลเมตรของลุ่มน้ำก่ำซึ่งถือว่าเป็นลำน้ำสายสั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีปลาอพยพจากแม่น้ำโขง ทั้งปลาบึก ปลาหูมาด ปลายอน ปลาคัง ปลาคูณ ปลานาง ฯลฯ มารวมตัวกับปลาพื้นถิ่นในลุ่มน้ำก่ำอย่างปลาบู่ ปลาดอกงิ้ว ปลาเซือม ปลากะแยงโพธิ์ ปลากดดำ ปลากดแค้แดง ปลาหูหมาด ปลาฝักพร้า ปลากระบอกสร้อย ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการศึกษาพบว่า คนในแอ่งสกลนครหรืออีสานเหนือจะนิยมกินก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ และปลาส้มดิบ มากกว่าคนอีสานใต้หรือจังหวัดที่อยู่ในแอ่งโคราช1

ทว่าพื้นที่แถบลุ่มน้ำก่ำและหลายพื้นที่ในสกลนครเป็นเหมือนหลายแห่งในภาคอีสานที่เกิดความพยายามลบรอยประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์แล้วแทนที่ด้วยโครงการรัฐต่างๆ ในนามของการพัฒนา ประตูระบายน้ำบริเวณลุ่มน้ำก่ำถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งส่งผลให้ปลาพื้นถิ่นและปลาอพยพจากลุ่มแม่น้ำโขงหลายชนิดสูญพันธุ์จากลุ่มน้ำ แต่มีปลาที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ปลาจีน ปลาทับทิม ปลายี่สกเทศ และที่สำคัญคือ ‘ปลาตองกราย’ หรือปลาตองในอาหารจานโปรดของแบงค์ จากการสืบค้นไม่พบการอธิบายถึงสาเหตุที่ปลาตองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่พบว่ารัฐได้นำปลาจำนวนหนึ่งมาปล่อยในลุ่มน้ำก่ำเพื่อให้ขยายพันธุ์2

กลับมาที่ลำเต้ยของเคียงใจ สะใบพอน การเกี้ยวพาในเพลงของเคียงใจยังแฝงอยู่ในอากัปกิริยาของการกิน เช่นท่อนที่ว่า “ลาบปามีสองสไตล์ ลาบปามีสองสไตล์ ถ้าซี้นบ่หลาย ต้องเฮ็ดน้ำใสๆ ถ้าแม่นปาตองโต้นใหญ่ต้องจัดกันไว้แบบฝ้าตั้งโง่น ข้าวเหนียวลงโตนจนแง้นพื้นหลัง” หากได้ปลาตัวเล็ก หั่นได้ไม่กี่ชิ้น ให้ทำลาบปลาแบบใสๆ ไม่เข้มข้น แต่หากได้ปลาตองตัวใหญ่มาให้ทำลาบเหนียวแบบเข้มข้น แล้วจ้วงข้าวเหนียวลงลึกแนบพื้นถ้วย ซึ่งกิริยาอันแนบชิดนี้คลับคล้ายบทอัศจรรย์ระหว่างขุนช้างกับนางวันทองที่ว่า “กุ้งปลาดีใจไล่ผุดโผล่ แต่ล้วนตัวโตโตเข้าเคล้าหิน เทโพเทพาเที่ยวหากิน ว่ายวารินชำแรกแทรกถึงพื้น” จากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งคุ้นเคยกันดี

อีกท่อนที่น่าสนใจในเพลงของเคียงใจคือ “ข้าวเหนียวลงคุ้ย ตุ้ยขึ้นเบิดแฮง” สำหรับกิริยา ‘ตุ้ย’ หมอลำแบงค์อธิบายไว้ว่า  “ลาบปลาตองนั้นต้องกินกับข้าวเหนียว แล้วมันก็มีวิธีการพิเศษไปเบิ่ดเนาะ ไม่ใช่ว่าปั้นแล้วจ้ำลงในลาบปลาตอง มันก็ไม่ขึ้นใช่ไหมล่ะ คนอีสานจะรู้ว่าถ้ากินลาบเหนียวจะต้องปั้นข้าวให้มันกลมก่อนแล้วบิให้มันออกให้มันแปๆ (แบนๆ) เนาะ แล้วตุ้ย (ปาดแบบมีจังหวะเพื่อไม่ให้ของเหลวหล่นร่วง) นั่นล่ะวิธีการกิน”

ทุกวัฒนธรรมมีท่ากินอันมีเหตุผลรองรับ เช่น ท่ากินทาโก้ของชาวเม็กซิกันที่ต้องก้มและเอียงศีรษะจรดหาทาโก้ราวกับกำลังก้มจูบอย่างทะนุถนอม ช่วยให้กินทาโก้โดยไม่มีเศษร่วงหล่นได้ ส่วนการตุ้ยข้าวเหนียวนั้นช่วยโอบอุ้มเครื่องจิ้มไว้โดยไม่ต้องพึ่งช้อน ซึ่งทำให้จ้ำกินทันใจได้รสชาติยิ่ง

ปัจจุบันคนลาวที่ไปอยู่ต่างประเทศพลิกแพลงทำลาบเหนียวปลาจากปลาค็อด โลกตะวันตกเชื่อมโยงลาบเหนียวปลาเข้ากับทาทาร์ทูน่า ส่วนสถานะทางอาหารจานนี้ในไทย เมื่อเขื่อนจีนขนาดใหญ่เข้าคุมขังสั่งการแม่น้ำโขง ‘ปลาน้ำของ’ จึงไม่ใช่วัตถุดิบหาง่ายอีกต่อไป ปลาที่พบในธรรมชาติมากกว่าอย่างปลาสร้อยหรือปลาขาว ปลาจากลุ่มแม่น้ำสงครามอย่างปลาคุยลามและปลาอิไท ปลาเศรษฐกิจอย่างปลานิลและปลาตะเพียน นับว่าเป็นตัวเลือกในการทำลาบเหนียวได้เช่นกัน แต่ปลาตองซึ่งมีการปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติและเพาะพันธุ์ขายทั่วไป ครองตำแหน่งปลายอดนิยมคู่ลาบเหนียวเสมอมา ปัจจุบันนี้หากอยากกินปลากรายก็ไปตลาดและรอแม่ค้าขูดเนื้อให้ แน่นอนว่าไม่อร่อยเท่าปลาที่หาเองดังที่แบงค์เคยกิน

“ตัวผมไม่เคยทำลาบเหนียวปลาตอง แค่ผ่านตาตอนเด็กๆ ที่ยายกับป้าทำให้กิน ถ้ามีโอกาสผมคิดว่าน่าจะทำได้ เพราะลาบมันก็ใส่เครื่องปรุงแบบลาบทั่วไป แต่ปลาตองนี่แหละต้องพิถีพิถัน ต้องไปหาตามฤดูกาลมาสดๆ ใหม่ๆ ถึงจะได้กินกัน ไม่ใช่ว่าอยากกินก็ไปตลาดไปเอาโลดเหมือนตอนนี้” แบงค์กล่าว

เพลงลาวแพนและชีวิตสุดแค้นแน่นอั่ง

เส้นทางชีวิตของแบงค์ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด เขาเข้าสู่การเรียนในมหาวิทยาลัยและได้พบกับครูศิลปินชื่อดังของวงการหมอลำ คือ หมอลำอุดมศิลป์ และ หมอลำจำนงค์ ลือชา ที่ฝึกทักษะร้อง รำ คิด และเขียนกลอนลำให้ หลังฝึกฝนกับครูไม่นาน แบงค์สามารถแสดงจริงบนเวทีที่ติดตามครูไปเล่น สะสมทักษะการใช้จิตวิทยามวลชนหรือการเอาคนดูให้อยู่ จนเชี่ยวชาญรับงานเอง มีเงินพอส่งตัวเองเรียน เขามีพรสวรรค์ร้องรำด้วยลีลาคารมอันดีและเปี่ยมปฏิภาณ ลีลายั่วล้อยียวนบนเวทีก็ทำได้ไม่ขาดพร่อง กระทั่งมีฉายาว่าในวงการหมอลำว่า ‘บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา’

เขาเปลี่ยนผ่านจาก ‘แบงค์’ เป็น ‘หมอลำแบงค์’ เมื่อใด ไม่มีใครทันสังเกต เหมือนหน่ออ่อนปริแตกจากเมล็ดพืชเมื่อใดไม่มีใครรู้

การเรียนหมอลำไม่ได้ให้เพียงศิลปะการแสดงแก่หมอลำแบงค์ แต่ยังสอนให้เขาเข้าใจประวัติศาสตร์และรากของคนอีสาน ดังที่หมอลำบัวตอง เพื่อนร่วมเรียนของเขาเล่าว่า

“การได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์หมอลำทำให้เราได้รู้จักหมอลำคนสำคัญของชาวอีสานอย่างหมอลำโสภา พลตรี และหมอลำน้อยชาดา ในกบฏผีบุญ ซึ่งผมกับแบงค์ก็พากันทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสืบสานหมอลำและสนใจอ่านหนังสือหาความรู้อื่นๆ ด้วย พอช่วงมีเหตุการณ์คนเสื้อแดง ทั้งสิ่งที่เราอ่านและเรื่องหมอลำกบฏผีบุญที่เราเคยเรียนมา ทุกอย่างมันต่อเข้ากับเรื่องคนเสื้อแดง ทำให้เราเห็นภาพการกดขี่ การข่มเหง การถูกเอารัดเอาเปรียบชัดขึ้น เลยทำให้เราต้องการความเท่าเทียม”

สังคมอีสานในอดีต หมอลำเป็นเสมือนผู้นำทางความคิด เนื่องจากเป็นผู้เห็นสภาพสังคมที่กว้างขวางจากการตระเวนแสดง จึงเป็นที่นับถือศรัทธา และกลายเป็นผู้นำต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน เช่น หมอลำน้อยชาดา ผู้กล่าวถึงโลกพระศรีอาริย์ที่คนจะเสมอกัน และหมอลำโสภา ซึ่งต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมจากส่วนกลางและการกดขี่ของทางราชการผ่านกลอนลำ ซึ่งต่อมานำไปสู่การเกิด ‘กบฏผู้มีบุญ’ (กบฏผีบุญ) ในที่สุด

การใฝ่ฝันถึงความเท่าเทียมอยู่ในความคิดคำนึงของหมอลำแบงค์เช่นกัน พ.ศ. 2555 หมอลำแบงค์พบกับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกันต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ซึ่งทำให้ค่าเทอมสูงขึ้นถึงเทอมละ 18,000 บาท ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนหมดโอกาสเรียนต่อ

พ.ศ. 2556 หมอลำแบงค์เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชน ซึ่งทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้ง ‘กลุ่มประกายไฟการละคร’ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งชักชวนเขาแสดงละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า ละครเวทีที่จัดแสดงเนื่องในงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมอลำแบงค์ซึ่งชอบช่วยเหลือเพื่อนฝูงตกลงรับแสดง เขารับบทเด่นเป็นปุโรหิตเจ้าเล่ห์ผู้คอยยกยอพระราชา บทบาทของเขาคล้ายขุนนางสอพลอในนิทานพื้นบ้านของตะวันตกเรื่อง ชุดใหม่ของพระราชา (The Emperor’s New Clothes) มากทีเดียว

การแสดงครั้งนั้นผ่านพ้นด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองช่วงพ.ศ. 2555-2556 ที่การรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือ ม.112 ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด เกิดการรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ในวงกว้าง ประเด็นถกเถียงว่าควรแก้ไข ม.112 หรือไม่อยู่ในพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อนการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 จะปิดฉากการเคลื่อนไหวเหล่านี้ลง

 

“ถูกจับใส่ตรวนขึง แล้วทั้งดึงทั้งลาก พรากน้องอ้ายจากแม่พ่อ พรากทั้งกอทั้งเหง้า

เข้าทัณฑ์โทษที่โหดหิน กลางวันมันขืน กลางคืนมันข่ม ตกค่ำนอนซม คือข้อยสิตาย

จากไปเป็นผีแล้วหนอ ในคุกขังกำแพง เสื้อผ้าก็ขาดเขิน ทุกข์เหลือเกินหมดสิ้น

ข่มตาหลับกลับไหลริน กัดกินจนจ่อยผอม ปาดน้ำตาที่ไหลตก ซะตาดั่งนกพรากเรือนรัง

เสียงแคนฟังก็บ่มีกล่อม ปลาแดกปลาจ่อมก็บ่มีจ้ำ

ถืกใส่โทษได้จองจำ ช่างทุกข์ระกำซ้ำหนัก ข้าวแดงแกงผัก ก็บ่เต็มปากยากแนวกิน…”

ลาวแพน, 2558 ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

 

นี่คือกลอนลำที่หมอลำแบงค์พรรณนาไว้ถึงชีวิตตนเอง หลังการแสดงเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า จบลง ประเทศไทยเกิดรัฐประหาร เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าแจ้งความคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือ ม.112 ต่อทีมงานละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า นักวิชาการและนักศึกษา 6 คนกลายเป็นผู้ลี้ภัย รวมทั้ง ‘สยาม ธีรวุฒิ’ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอย ส่วน ‘ภรณ์ทิพย์ มั่นคง’ นักแสดงนำและผู้กำกับ รวมทั้งแบงค์ ต้องติดคุกอยู่ 2 ปีครึ่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรศิลปวัฒนธรรมทั่วโลก

หากใครเคยฟังเพลง ลาวแพน ดั้งเดิม จะทราบดีว่าเป็นเพลงที่พรรณนาถึงชีวิตเชลยชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนและได้รับความทุกข์ทรมานนานัปการ ลาวแพน ของหมอลำแบงค์คงทำนองและแบ่งองก์การเล่าเรื่องอย่างลงรอยล้อ ลาวแพน ที่มาก่อน แต่รวดร้าวแผกต่างเพราะพ้องตรงกับชีวิตของเขาเอง

ในเพลง ลาวแพน ของหมอลำแบงค์กล่าวถึงอาหารในคุกอันไร้ปลาแดกปลาจ่อมให้จ้วงจ้ำ และภาวะ “ก็บ่เต็มปากยากแนวกิน หรือกินอาหารได้ไม่เต็มอิ่มซึ่งเขาพบเจอมา ในเรือนจำ ตารางรายการอาหารในรอบ 30 วัน ระบุชื่อเมนูไม่ซ้ำ แต่วัตถุดิบนั้นมีไม่กี่อย่างวนเวียนกัน แบงค์เล่าว่าอาหารดีที่สุดในคุกสำหรับเขามีสองอย่าง คือปลาทูเค็มและต้มจืดหัวไชเท้า

“จุดประสงค์ในการกินอยู่ในคุกคือเลี้ยงมันให้รอด ให้มันจบแล้วออกไปจากคุก รู้ว่ามันไม่อร่อยก็กิน มันหิวมันก็ต้องกินแม่นบ่ล่ะ ตำบักหุ่งก็บ่ได้แซ่บ เพราะว่ามันแยกน้ำแยกหยังมาแล้ว อาหารพื้นๆ ที่กินแล้วรู้สึกว่าอร่อยก็ปลาทูเค็มจังซี่หนา ต้มหัวไชเท้าเราก็เอามาปรุงเอามาใส่น้ำปลาน้ำตาลได้”

การได้ ‘ปรุง’ อาหารอันจืดชืดในคุกนั้นนับว่ามีความหมายต่อเขาอย่างยิ่ง ในชีวิตของเขา ‘รสชาติ’ เป็นสิ่งสำคัญเสมอ และไม่ได้มีแค่เปรี้ยว เผ็ด หวาน มัน เค็ม แต่ยังมีรสแทรกซ่อนดังที่เขากล่าวถึงรสของการกินลาบเหนียวปลาตองกับผักเคียงว่า

“ลาบเหนียวปลาตอง ถ้ากินอย่างคนภูไท คือกินแบบรสชาติ ‘นัวๆ’ รสไม่เผ็ดไม่จัดมาก รสนัวนี่ล่ะบ้านเฮา ส่วนผักเคียงน่ะ อะไรก็ได้ ยิ่งเยอะยิ่งดี มีบักพริกผักกะเทียมหรืออะไรก็ได้ที่คุณกินได้ ให้มี ‘รสหวานหอม’ ดับคาว ถ้ากินกับผักกะเดา (สะเดา) มันก็ ‘ขมอ่ำหล่ำ’ จังซี่หนา กินกับผักกะโดนจะออกหอมๆ ‘ส่มๆ’ (เปรี้ยว) เนาะ กินกับมะเขือเปราะได้ ‘รสขื่นๆ’ มันก็เป็นรสที่ต่างกันไป”

จากคำกล่าวของหมอลำแบงค์ที่กล่าวว่าลาบเหนียวปลาตองที่ดีต้องไม่เผ็ดมากนั้น สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าอาหารลาวแท้มีรสเบา ไม่จัดจ้าน ไม่มีพริกแกง3 ซึ่งรสนี้เป็นรสที่แบงค์ชอบเสมอมา และเขายังเล่าถึงกระสายหวานหอมในผักที่คนทั่วไปแทบไม่สังเกตพบ รสส่ม รสขื่น และภาวะความ ‘อ่ำหล่ำ’ หรือความกลมกล่อมลุ่มลึกที่เกิดขึ้นเมื่อกินลาบเหนียวปลาตองเมื่อคู่กับผักกลิ่นหอมฉุนหลากชนิดที่ให้รสชาติต่างกันไป

หลังหมอลำแบงค์ได้รับอิสรภาพเมื่อสิงหาคม 2559 สภาพจิตใจของเขาทรุดถอย แต่ได้หมอลำอุดมศิลป์ที่เขาถือเป็นแม่อีกคนเตือนสติให้กลับมาเป็นหมอลำต่อ หมอลำแบงค์รวบรวมพลังปัญญารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ‘ภาษาอีสานใหม่’4 ให้วรรณกรรมแปลระดับโลกอย่าง ท่งกุลาลุกไหม้ (El Llano en Llamas) รวบรวมหมอลำและนักดนตรีรุ่นใหม่ก่อตั้งสตูดิโอชื่อ ‘ซี้น2ต่อน’ ที่แปลว่า ‘เนื้อคู่’ ขึ้น มีอยู่ช่วงหนึ่งหมอลำแบงค์ออกผลิตภัณฑ์หมูทอดแดดเดียวภายใต้แบรนด์ซี้น2ต่อนออกมาด้วย โดยโฆษณาว่าหมูทอดนี้มีรส ‘นัวเลิ่ก’ หรือรสอร่อยกลมกล่อมเกินสาธยาย

“ซี้น2ต่อนมีกันประมาณ 20-30 คนครับ แต่ที่ทำประจำจริงๆ มี 15 คน เป็นหัวจริงๆ ประมาณ 7-8 คน ฝ่ายการแสดง มีผู้กำกับ ตัวตลก พระเอก นางเอก ฝ่ายดนตรี มีหัวหน้าดนตรี นักดนตรี ฝ่ายเวที มีฝ่ายแสงสีเสียง ไฟ มัลติมีเดีย กราฟิก รปภ. เหมือนบริษัทออร์แกไนซ์” หมอลำแบงค์แนะนำสตาร์ทอัพของเขา

หมอลำแบงค์เป็นศิลปินทั้งเนื้อทั้งตัว และเขาได้พยายามเต็มที่เพื่อจะสร้างชีวิตศิลปินขึ้นมาใหม่ หากบ้านเมืองปกครองด้วยครรลองประชาธิปไตย หากรัฐบาลควบคุมโรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้ และหมอลำแสดงได้ตามปกติ หากผู้คนอยู่ดีกินดีไม่ต้องผจญความขาดแคลน ก็ไม่น่ามีสิ่งใดหยุดยั้งอนาคตศิลปินอันรุ่งโรจน์ของเขาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนตรงกันข้าม ชีวิตเขาพลันเหมือน ‘กาเต้นก้อน’ ที่มือของโชคชะตาพรากภักษาหารออกจากก้อนขี้ไถอีกครั้ง

หมอลำผู้ทายท้าสามัญสำนึก

 

“ไม่มีประโยชน์จะโทษฟ้าดิน อย่ามาเล่นลิ้น อ้างบุญอ้างกรรมนำส่ง

เท่าเทียมได้ไหม ปันแบ่งตามที่ตกลง แถนไท้แปงให้มั่นคง คือเท่าเทียมศักดิ์ศรีเท่ากัน

อย่าอ้างสวรรค์ แล้วยกตนว่าเป็นสิทธิ์ขาด มีความสามารถ ก็เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน

อย่าอ้างกำแพง เพื่อแสดงเงื่อนไขขวางกั้น ไม่มีสวรรค์เข้าข้างใครถ้าถือเท่าเทียม”5

 ลำเพลินฟ้าบ่กั้นหยังคือว่าห่างกัน, 2558 ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

 

พ.ศ. 2563 ขบวนการนักศึกษาก้าวออกมามีบทบาทนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง ในเวลานี้กลอนลำของหมอลำแบงค์กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการต่อสู้กับอำนาจรัฐและระบบที่เอารัดเอาเปรียบ กัดกินประชาชน กรกฎาคม 2563 เขาขึ้นเวทีในการชุมนุม ‘อีสานสิบ่ทน’ ที่จังหวัดมหาสารคาม และการชุมนุม ‘อีสานบ่ย่านเด้อ’ ที่จังหวัดขอนแก่น สิงหาคม 2563 เขาขึ้นเวที ‘ไทบ้านสิบ่ทน คนอีสานสิปลดแอก’ ที่จังหวัดขอนแก่น กันยายน 2563 เขาขึ้นเวที ‘ร้อยเอ็ดปลดแอก’ ที่ จังหวัดร้อยเอ็ด และ 19 กันยายน 2563 เขาปรากฏตัวขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร’ ในการปราศรัยรอบกลางวันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หมอลำแบงค์ได้เดินตามรอยหมอลำน้อยชาดาและหมอลำสมบัติ ทั้งคำปราศรัยและกลอนลำของเขาขับเน้นความสำคัญของการมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม การไม่แบ่งชนชั้น หนึ่งในกลอนลำที่จับใจผู้ฟังคือ ‘ลำเพลินฟ้าบ่กั้น’ ที่เขาลำในเวที ‘อีสานสิบ่ทน’ ซึ่งหมอลำแบงค์ช่วงชิงวาทกรรมเรื่อง ‘แถน’ หรือเทพผู้กำเนิดของคนหลายเผ่าพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำโขงมาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องราวของ ‘แถน’ มักถูกเล่าด้วยสองโครงเรื่องหลัก ในที่มาของเทศกาลบุญบั้งไฟบนเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมเล่าเรื่องแถนว่าเมื่อใดมนุษย์จุดบั้งไฟ แถนผู้ยิ่งใหญ่ปรานีจะทำให้เกิดน้ำฝนตกลงมายังโลกมนุษย์

ส่วนการเล่าเรื่องบุญบั้งไฟด้วยโครงเรื่องกระแสรอง เท้าความถึงตอนแถนไม่ปล่อยน้ำฝนลงมา เพราะไม่พอใจที่มนุษย์ไปนิยมพญาคันคากแล้วไม่ส่งบรรณาการแถนเหมือนก่อน พญาคันคากซึ่งเมื่อตอนเกิดมามีรูปลักษณ์เป็นคางคก แต่พระอินทร์มอบร่างมนุษย์อันงดงามให้ จึงสวมเกราะกลับร่างเป็นคางคกอีกครั้ง แล้วร่วมมือกับสรรพสัตว์นานาชนิดรบจนชนะแถน ก่อนบังคับให้แถนทำสัญญาว่า เมื่อใดที่มนุษย์ต้องการน้ำ จะให้พญานาคขี่บั้งไฟมาบอกแถนบนสวรรค์ กลายเป็นฝนตกลงในที่สุด

ในโครงเรื่องแรกตัดเรื่องพญาคันคากออกไปสิ้นเชิง และเน้นถึงความเมตตาและฤทธาของแถน ส่วนโครงเรื่องที่สองเน้นย้ำว่าเทวดาอย่างแถนก็อาจไม่เป็นธรรมได้ และหากคนธรรมดารวมตัวกันต่อสู้ก็มีสิทธิจะชนะ ทว่าการกล่าวถึงแถนของหมอลำแบงค์ไม่ได้ใช้ทั้งสองโครงเรื่องข้างต้น เขาอรรถกถาว่าแถนสร้างทุกคนมาอย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมาถึงโลกมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งหน้าตาและฐานะ เกิดความเหลื่อมล้ำ กลับอ้างว่าเป็นเพราะบุญกรรมและแถนบันดาล ดังนั้นทุกคนโปรดสำนึกว่า จริงๆ แล้วทุกคนเท่าเทียมกันดังที่แถนสร้างมาแต่แรก

 

“โอ๊ย น้อคน แถนอยู่ฟ้าเพิ่นปันมาเทียมท่อ

มาเถิงเมืองคนแล้วบ่คือกี้เก่าหลัง

ฝั่งใจโค้งผัดว่าโตดีกว่า

หาว่าเป็นพี่น้องแถนไท้อยู่เทิง”

 

การกล่าวถึงแถนของหมอลำแบงค์ไม่ต่างจาก โธมัส เพนน์ กล่าวถึงพระเจ้าในหนังสือ สามัญสำนึก (Common Sense) ซึ่งเพนน์ช่วงชิงพระเจ้ามาเป็นคำสนับสนุนการปลดแอกของอเมริกาจากสถานะอาณานิคมอังกฤษ เพนน์ย้ำว่าพระเจ้าสร้างทุกคนให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีใครพิเศษหรือมีศักดิ์กว่าใครแม้แต่กษัตริย์ นั่นนับเป็นการเลาะสายใยสุดท้ายของชาวอาณานิคมให้ทบทวนเรื่องการส่งภาษีและมอบชีวิตให้ราชวงศ์อังกฤษปกครอง

หลังการปราศรัย ณ สถานที่แห่งเดียวกับที่เขาเคยมาแสดงละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า หมอลำแบงค์กลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งในข้อหาเดิม เขาต้องละทิ้งสตูดิโอซี้น2ต่อนที่ตั้งขึ้นมาด้วยความหวังเจิดจ้า รวมทั้งทิ้งทีมงานมากมายให้เคว้งคว้าง และในปี 2563 เขายังสูญเสียแม่ และไม่อาจติดตามไปประเทศอังกฤษเพื่อจัดการธุระเรื่องการตายของแม่ได้ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นทำให้การหาลู่ทางไปต่างประเทศของเขาต้องสะดุดและยิ่งเป็นไปได้น้อยลง

ชีวิตดั่งกาเต้นก้อนของเขามาถึงฤดูฝน ทว่าพญาแถนไม่ยอมให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์ น้ำจึงไม่กระฉอกมาเป็นฝนให้มนุษย์ได้หว่านไถ ฤดูฝนถูกแทนที่ด้วยความแล้งนานยาวราวแถนพิโรธเขา

รสนัวจากการถูก ‘ขูด สับ ตำ ขยำ บี้’

“แต่ก่อนผมมีความฝันเยอะแยะ แต่ตอนนี้บ้านเมืองแบบนี้มันฝันอะไรไม่ได้แล้ว แต่ความฝันสูงสุดตอนนี้ก็คือว่า ตัวเองจะชนะคดี และพิสูจน์ให้เห็นว่าเราคือผู้บริสุทธิ์”

หลังถูกคุมขังอยู่ราว 2 เดือน หมอลำแบงค์ได้รับการประกันตัวแบบมีเงื่อนไข ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การขึ้นเวทีปราศรัยทุกครั้งในปี 2563 ตามมาด้วยคดีความอันรุงรังใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อสู้คดีมากเป็นพิเศษสำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างเขา แม้เขาจะได้รับการประกันตัว ได้มีอิสรภาพบนเงื่อนไข มีเพื่อนฝูงมารอรับทำพิธีสู่ขวัญให้อย่างอบอุ่น แต่ในวันทำขวัญนั้นทั้งประกายตาและขวัญของเขาดูคล้ายลืมติดตามร่างกายออกมาจากเรือนจำด้วย ความตั้งใจดีต่อเพื่อนและต่อสังคมเปลี่ยนแววตาคนหนุ่มผู้เคยมั่นใจในชีวิตตนเองไปอย่างทารุณ

ในห้วงเวลาอันเป็นทุกข์ การเบิกจ่ายความสุขที่สะสมไว้จากความทรงจำเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ผ่านวันคืนอันลำบากมาได้ เช่นเดียวกับหมอลำแบงค์ที่เมื่อใดเขากล่าวถึงอาหารของโปรดรสอร่อย น้ำเสียงเขาจะสดใสแววตามีประกายและผ่อนคลายขึ้นมาบ้าง

“สำหรับการกินมันก็บ่มีเศร้าดอกเนาะ ก็มีกินแบบมีความสุขนั่นล่ะ จริงๆ ฤดูกาลนี้แหละ (ฤดูฝน) ที่เห็ดตาโล่มันออก ทุกปีป้าของผมจะส่งเห็ดตาโล่มาทางรถ บขส. จากสกลฯ มาให้ที่ขอนแก่นเลย แล้วผมมาทำซั่วเอง ตอนนี้ผมก็ยังอยากกินอยู่ ส่วนลาบปลาตองคือมันเป็นอาหารที่เฮามีความสุข มันไม่ได้พิสดารแต่ว่าผมมัก ปีหนึ่งกิน 3-4 เที่ยก็ถือว่าดีแท้ คือวิเศษแท้น่ะ เครื่องหอม เครื่องลาบ เครื่องเทศที่ใส่ลงไป ข้าวคั่ว พริก หัวหอม ผักชีลาว มันสิได้กลิ่นภาคอีสานเลย นี่คือความรู้สึกเฮา”

“ลาบเหนียวมันต้องทำหลายขั้นตอนกว่าจะได้กินอร่อย นานกว่าจะได้กินแต่ละที มันพิถีพิถันยากไปหมด ทั้งขูดเนื้อ ฟัก (สับ) ตำไปจนมันเป็นเนื้อเดียวกัน บางสูตรไม่ตำก็ใช้มือ ต้องนวด ต้องบี้จนมันได้ที่ ให้เนื้อมันนุ่มเหนียว แล้วก็ใส่เครื่องปรุง ผมพอจะจำได้ว่ามันมีนิทานก้อมที่เล่าเกี่ยวกับลาบปลาตองอยู่นะ ที่พูดถึงว่าต้องใช้เวลาตำนานมากจนกว่าจะได้กิน”

‘นิทานก้อม’ คือเรื่องเล่าหรือนิทานแบบสั้นของวัฒนธรรมอีสาน มีเนื้อหาหลากหลาย ไว้เล่าเพื่อความสนุกขบขัน ประชัดประชัน บางครั้งมีเนื้อหาทะลึ่งทะเล้น มักเล่าผ่านเรื่องราววิถีชีวิตคนสามัญ และยังบรรจุเรื่องของอาหารอีสานและเคล็ดข้างครกไว้ สำหรับนิทานก้อมเรื่องลาบปลาตองเล่าว่า มีลูกสะใภ้กำลังทำลาบเหนียวปลาตองให้พ่อตากิน ในขณะค่อยๆ ตั้งใจตำและคนปลาตองพร้อมหยอดน้ำต้มปลาร้าลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้เนื้อปลาตองเหนียวฟู นานเข้าพ่อตาก็เริ่มหิวและถามไถ่ว่าเมื่อไหร่กับข้าวจะเสร็จ ฝ่ายลูกสะใภ้บอกพ่อว่าให้ใจเย็นๆ การทำลาบเหนียวนั้น ‘ยิ่งตำยิ่งขึ้น’ หมายถึงยิ่งตำเนื้อปลาก็ยิ่งเหนียวฟู ทันใดนั้นฝ่ายพ่อตาก็คว้าครกกับสากที่ลูกสะใภ้นั่งตำอยู่โยนลงบ่อน้ำ แล้วประชดประชันลูกสะใภ้ให้ลงไปตำและคนลาบเหนียวในบ่อน้ำซึ่งจะได้ ‘ยิ่งตำยิ่งขึ้น’

การตีให้ขึ้นฟูเป็นวิธีที่คุ้นเคยในโลกตะวันตก เมื่อต้องตีไข่ขาวให้ขึ้นยอดสำหรับการทำเบเกอรี ซึ่ง ‘ลาบเหนียวปลาตอง’ จะขาดกระบวนการนี้ไปไม่ได้ การ ‘ยิ่งตำยิ่งขึ้น’ ถือเป็นเกร็ดเคล็ดลับในการทำปลาเหนียวปลาตองให้อร่อย ยิ่งตำเนื้อปลากรายยิ่งฟูขึ้นครก จากเนื้อปลากรายสัดส่วนก้นครก จะถูกตำและถูกปรุงให้ได้ที่จนกระทั่งเนื้อลาบปลากรายขึ้นฟูจนได้ปริมาณถึงครึ่งครกเลยทีเดียว

การขูด สับ ตำ ขยำ บี้ และโขลกตำเนื้อปลาตองนั้น คล้ายชีวิตของหมอลำแบงค์ที่ถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมาโดยรัฐถมทับด้วยภาวะความซบเซาของเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งความเจ็บปวดบอบช้ำที่ทำให้ยากฟื้นคืนสภาพเดิม หรือแรงผลักดันที่ช่วยบีบเคล้าให้ทุกข์สุขผสานรสลุ่มลึกเป็นพลังให้ใช้ชีวิตและพิสูจน์ต่อความฝันสูงสุดของเขา

 

“โอ๊ย… ล่ะฝนเอ๊ย

ฝนตุลาพาเศร้า น้ำตาเฮาไหลโห่งหน่วย…

ย้อนควมซวยมันหากมาแล่นตำต้อง

จนฮนฮ้องไห้แข่งฝน คนเฮาน้อ…

บัดนี้ อวสานซั่วเส้นแล้วเป็นบ่มีหน่าย

ห่าก้อมตายวายวอดซ้อน จั่งหมองเศร้าบ่ส่วงเซา

เหงาหัวใจซึมเซ่อ ทนละเมอเพ้อจ่ม

อกระทมปวดร้าว เจ็บจ้าวบ่หาย

คือจั่งตายถึกปืนต้อง ตนโตเลือดสาด…

ลมหายใจล่ะแม่งม้อย สะหวอยล้มหว่างเว6

ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’, 2563 ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

 

แม้เขาจะรู้สึกร้าวรานครั้งแล้วครั้งเล่ากระทั่งกลั่นลำล่องหรือกลอนลำที่มีท่วงทำนองโศกที่สุดในบรรดากลอนลำทั้งหมดออกมาได้ แต่เจ้าของซี้น2ต่อนสตูดิโอมองแนวโน้มของการประกอบอาชีพหมอลำไว้ชัดเจน และเขาตั้งใจจะใช้อาชีพหมอลำเลี้ยงชีพตัวเองต่อไปให้ได้ เขากับเพื่อนๆ กำลังพัฒนาใช้รูปแบบหมอลำพื้นฐานแบบขนบประเพณีเดิมมาผสมผสานกับเทคโนโลยีและดนตรีสมัยใหม่เพื่อสร้างสรรค์และประยุกต์ดนตรีหมอลำให้เกิดความน่าสนใจ

“กลุ่มเป้าหมายของเราคือทุกคน คนทั่วไป ฝั่งไหนก็ได้ผมไปหมด จะเป็นเจ้าหน้าที่หรือจะเป็นชาวบ้าน หรือจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเราตอบตกลงเขา เราก็รับงานได้ เราก็ไปแสดงได้นะครับ”

22  สิงหาคม 2564 ซี้น2ต่อนสตูดิโอออกแสดงและถ่ายทอดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยตั้งชื่อการแสดงว่าตอน ‘อสม. หาปราบโควิด’ โดยมีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งตลกหน้าม่าน การแสดงละคร การเดี่ยวโปงลาง และขับร้องหมอลำ ทั้งยังตั้งโรงทาน ‘ปันใจให้สุข’ ถึง 3 จุดในจังหวัดขอนแก่น คือหน้าซี้น2ต่อนสตูดิโอ ริมรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในที่สาธารณะซึ่งคนไร้บ้านอยู่

“ซี้น2ต่อนสตูดิโอทำโรงทานทุกครั้งที่แสดงอยู่แล้วครับ เป็นอาหารเย็น คนเข้ามาดูการแสดงในสตูดิโอจะได้นั่งดูไปด้วยอิ่มท้องไปด้วย หรือจะห่อกลับบ้านไปให้ลูกให้เมียให้ผัวกิน บางทีก็เป็นแกงเขียวหวานไก่ จะได้กินกับขนมจีนก็ได้ กินกับข้าวก็ได้ บางทีก็เป็นก๋วยเตี๋ยว เพราะอย่างน้อยคนในสตูดิโออิ่มท้อง สังคมรอบข้างเราได้รับประทาน แล้วเราก็ได้รับประทานกับสังคมด้วย” หมอลำแบงค์กล่าว และเร็วๆ นี้เขากำลังจะออกผลงานใหม่ชื่อเพลง เอิ้นกันกินข้าว

ยากจะกล่าวว่าขณะนี้ชีวิตของหมอลำแบงค์อยู่ช่วงไหนในจังหวะสูงต่ำของลายกาเต้นก้อน จริงๆ แล้วเสียงสูงต่ำในลายกาเต้นก้อนนั้นประชิดกันมากจนยากแยกขาด ต่างจากการร้อยเรียงดนตรีอื่นๆ ที่แม้มีท่วงทำนองต่างกันมากมายในเพลงเดียวแต่มีระยะห่างและการผสานรอยต่อพอควร ทว่าทุกข์สุขและสูงต่ำที่ไล่ตามอย่างกระชั้นกระชากนี่เองทำให้กาเต้นก้อนเป็นงานศิลปะอันงดงามตามแบบฉบับของตนเอง

 

บรรณาธิการต้นฉบับ: อนุสรณ์ ติปยานนท์

ขอขอบคุณ: ร้านลุงแก้วโคลัมโบ จ.ขอนแก่น

 


เชิงอรรถ

1สันต์ศิริ ศรมณี และคณะ. (2541). โรคพยาธิใบไม้ตับ รายงานทางวิชาการฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพ ฯ: กระทรวงสาธารณสุข.

2นิพนธ์ มุลเมืองแสน และคณะ. (2549). โครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและระบบนิเวศจากการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนกลาง กรณีศึกษาจากการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนกลาง กรณีศึกษาการสร้างประตูควบคุมน้ำหนองบึง ตำบลเชียงสือ อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

3พรรษชล แข็งขัน และคณะ. (2562). รายงานผลการดำเนินโครงการบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ไทยอีสาน ลาว เวียดนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อุดรธานี

4อ่านที่มาถึงภาษา ‘อีสานใหม่’ ของวรรณกรรม ท่งกุลาลุกไหม้  โดยพีระ ส่องคืนอธรรม ได้ที่ https://bookrepubliconweb.wordpress.com/2019/02/27/อ่านการเมืองเรื่องภาษา/

5รับฟัง ลำเพลินฟ้าบ่กั้น ได้ที่ https://youtu.be/swfTwy7HDvM และ https://youtu.be/2eNeieot5YE?t=600

6อ่าน ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ฉบับเต็มทาง https://tinyurl.com/y5ggoocn ถอดความและแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยพีระ ส่องคืนอธรรม

Fact Box

สูตรลาบเหนียวปลาตองของครอบครัวหมอลำแบงค์

หมอลำแบงค์ถ่ายทอดลาบเหนียวปลาตองตำรับนี้จากภาพความทรงจำเมื่อเขายังเป็นเด็ก ด้วยลักษณะของลาบอีสานที่มีส่วนผสมและเครื่องปรุงคู่ครัวที่ทุกบ้านมีอยู่แล้ว และวิธีการที่ไม่ซับซ้อน หัวใจของการปรุงลาบอีสานคือพริกและข้าวคั่วหอมๆ พร้อมกับผักหอมฉุนและมะนาวสด

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ปลาตอง หรือปลากรายสด
  • น้ำปลาร้าต้ม
  • เกลือ
  • น้ำปลา
  • พริกป่น
  • ข้าวคั่วป่น
  • หัวข่าซอย
  • มะนาว
  • ผงชูรส
  • ผักที่มีกลิ่นหอมฉุน เช่น ต้นหอม ใบสะระแหน่ ใบมะกรูดซอย ผักชีใบเลื่อย ใบขิง
  • ผักต่างๆ ตามฤดูกาล เช่น สะเดา กระโดน ผักแพว มะเขือเปราะ กระเทียม พริกสด พริกลูกโดดเพิ่มความเผ็ด เป็นต้น

วิธีทำ

การเตรียมเนื้อปลาตอง      

นำปลาตองหรือปลากรายที่มีความสด ใช้ช้อนขูดเกล็ดปลาเล็กๆ ออก แล่เนื้อที่ติดมากับหนังออกจากส่วนก้าง แล้วขูดเอาเฉพาะเนื้อลู่ไปตามแนวล้มของก้าง ห้ามทวนแนว แล้วนำเนื้อมา ‘ฟัก’ หรือสับให้ละเอียดเพื่อให้ก้างเล็กๆ ที่ติดมากับเนื้อปลาเนียนไปด้วยกัน

การตำเนื้อปลาตอง

ในขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ตำ โขลก นวดไปเรื่อยๆ และคอยหมุนครก จนกระทั่งเนื้อปลาตองเหนียว แล้วค่อยๆ เติมและปรุงด้วยน้ำปลาร้าต้มที่ใส่ตะไคร้ ใบมะกรูดลงไป ต้มให้เดือด แล้วแยกตักออกมาทิ้งไว้ให้เย็น ตำเนื้อปลากรายไปเรื่อยๆ ให้เนื้อและน้ำเคล้ากันจนมีความเนียนและเหนียวนุ่ม ระหว่างที่ตำค่อยๆ เติมน้ำปลาร้าต้มไปเรื่อยๆ ประมาณ 20-30 นาที กระทั่งเนื้อปลาขึ้นฟู ได้สัมผัสเหนียวเนียนจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน มีเคล็ดลับคือน้ำปลาร้าต้มจะต้องไม่ร้อน หากร้อนจะทำให้ปลาสุกและกลายเป็นตำป่นปลา (น้ำพริกปลา) ไปในที่สุด

การปรุง

ค่อยๆ ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว หรือปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา ข่าซอย และหอมแดง ดังที่แบงค์กล่าวว่า “การทำลาบคือเครื่องอะไรที่มันหอมใส่ให้มันหมดเลย ข้าวคั่ว พริกคั่ว พวกเครื่องดับกลิ่นคาว เพราะเรากินแบบดิบ”

ยิ่งตำยิ่งคนก็ยิ่งเหนียว จากเนื้อปลาที่เนียนละเอียดสีขาวอมแดงเหนียวติดครกติดสาก เมื่อถูกโขลกผสมกับเครื่องปรุงต่างๆ จะกลายเป็นสีน้ำตาลจากการเคล้าไปกับสีของพริกป่นและข้าวคั่ว ตำและปรุงไปเรื่อยๆ จนเนื้อเหนียวและเหลวขึ้นหน่อยๆ เนื้อสัมผัสที่พอดิบพอดีของลาบเหนียวปลาตองนั้นต้องลองใช้นิ้ว ‘ตุ้ย’ หรือป้ายลาบเหนียวในครกขึ้นมาสังเกตดูว่าเนื้อปลาเหลวเหนียวติดนิ้วหรือไม่

จากนั้นเติมผงชูรส บีบมะนาว ชิม ให้รสหลักคือรสเค็มนำตามด้วยเปรี้ยวของมะนาว ส่วนความหวานจะตามมาจากเนื้อปลาที่สดและผักต่างๆ ปิดท้ายผักกลิ่นฉุนหอมที่หั่นไว้ สูตรที่หมอลำแบงค์เล่าใส่ใบขิงอ่อนเป็นผักหอมลงไปด้วยเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว เคล้าให้เข้ากันอีกรอบ แล้วตักใส่ถ้วย บ้างจะแบ่งลาบเหนียวปลาตองส่วนหนึ่งไปคั่วให้สุกสำหรับเด็กที่มักถูกกันไม่ให้กินดิบ ส่วนหมอลำแบงค์เขากินตามแบบที่ผู้ใหญ่ร่วมครอบครัวกิน

 กลับมาที่น้ำปลาร้าต้มซึ่งนำส่วนที่เหลือจากหัว หาง พุง หนัง ทั้งก้างที่ติดเนื้อบางส่วนมาต้ม และปรุงด้วยเครื่องปรุงอย่างเดียวกันกับลาบ ต่างตรงเพิ่มน้ำซุปพิเศษจากเศษของปลาที่เหลือมาต้มเพิ่มเป็นเมนูอีกจานไว้ซดให้คล่องคอระหว่างเปิบลาบเหนียวปลาตอง

Tags: , , , , , ,