ถนนแห่งความหลัง

“สองปีก่อนผมนั่งรถประจำทางจากบ้านเข้าเมืองร้อยเอ็ดเพื่อจะต่อรถไปทำคดีที่ขอนแก่น ไม่น่าเชื่อว่าลุงคนขับรถเมล์สายเสลภูมิ-ร้อยเอ็ด ยังจำเราได้ แกบอกว่าไม่ได้เจอตั้งนานตั้งแต่จบมัธยมปลาย เห็นในทีวีเป็นทนายดังแล้วนึกว่าจะมีรถขับแล้ว แกจำชื่อเล่นผมได้ เพราะตอนเรียนที่โรงเรียนมัธยมเคยพูดกันบ่อยๆ ในสายตาลุงแกเหมือนจะรู้สึกว่าเรายังเป็น ด.ช.อานนท์ เด็กจากบ้านหวายหลึมที่ตื่นเช้านั่งรถแกไปเรียนในเมือง 20 ปีผ่านไป ทุกความทรงจำยังเหมือนเดิม มีเพิ่มมาคือลุงแกถามว่าเมื่อไหร่จะได้เลือกตั้งสักที”

ความทรงจำเมื่อกลับบ้านของอานนท์ครั้งนั้นเป็นสิ่งสามัญสำหรับคนเติบโตมาในที่ห่างไกล และพบว่าการศึกษาที่ดีมักจำกัดอยู่ในเมืองใหญ่ โรงเรียนในพื้นที่ชนบทนั้นมีครอบคลุม แต่เพื่อการฟันฝ่าขึ้นไปให้อยู่บนยอดของสังคม มันแทบไม่มีทางเลือกเลยที่จะต้องเข้าหาสิ่งที่เรียกว่า–ความเจริญ

ภาพ: อานนท์ นำภา

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับบ้านเกิดของ อานนท์ นำภา ทนายหนุ่มผู้เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะของนักสู้ นักกิจกรรม และทนายฝั่งประชาธิปไตย อาจนึกภาพไม่ออกว่าบ้าน ‘หวายหลึม’ อันเป็นบ้านเกิดของเขาอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเพียงใด บ้านหวายหลึม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อยู่บนเส้นทางถนนสายร้อยเอ็ด-ยโสธร ห่างจากจังหวัดร้อยเอ็ดราว 20 กว่ากิโลเมตร หากเดินทางโดย ‘รถส้ม’ รถประจำทางในดินแดนอีสานแล้ว การเดินทางอาจกินเวลานับเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว

ประธานนักเรียนโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ใช้เวลาเดินทางผูกมิตรกับคนขับจนทำให้เขาเป็นหนุ่มน้อยที่ชายคนขับไม่มีวันลืม

‘แม่น้อย’ มารดาของอานนท์เล่าว่า ในช่วงมัธยมปลาย แม้ชีวิตนักเรียนของอานนท์จะเต็มไปด้วยกิจกรรม (หนึ่งในกิจกรรมสำคัญหนึ่งของเขาคือการนำนักเรียนประท้วงการจัดสอนพิเศษที่ไม่เป็นธรรม) แต่อานนท์กลับบ้านตรงเวลาเสมอ ทุกเย็น อานนท์พร้อมด้วยน้องชายของเขาจะกลับมากินอาหารเย็นร่วมกันกับทุกคนอย่างพร้อมหน้า ในมุมมองของแม่น้อย การที่ลูกชายคนโตเดินทางไปกลับกว่า 40 กิโลเมตรต่อวันโดยไม่บกพร่องอาจแสดงให้เห็นถึงความมีวินัย แต่สำหรับอานนท์อาจมีเหตุผลมากกว่านั้น นั่นคือเขาชอบกินอาหาร ‘รสมือแม่’ เป็นที่สุด

รสแห่งวัยเยาว์กับข้าวปลา

“แม่ผมเป็นคนทำอาหารอีสานได้อร่อยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่อมฮวก (อ่อมลูกอ๊อด) แกงหน่อไม้ หรือส้มตำ อ่อมฮวกของแม่จะใส่ใบแมงลักกับตะไคร้ลงไปให้กลิ่นหอม อ่อมฮวกคล้ายแกงคั่ว แต่รสชาติไม่ออกเผ็ด ออกเค็มๆ หน่อย คนแถวบ้านผมชอบกินฮวกเพราะกินง่าย ฮวกที่มีขนาดพอกินคือถ้ามีขาคือเริ่มกินได้ มันจะอร่อย นิ่มๆ เคี้ยวได้ทั้งตัว”

ถ้อยคำเหล่านี้ของอานนท์เป็นการยืนยันคำที่แม่น้อยบอกพวกเราเมื่อถามถึงอาหารจานโปรดของอานนท์คือ ‘ลูกอ๊อด’ ไม่ว่าจะเป็นหมกหรืออ่อม อานนท์จะชอบมาก ถ้ากลับมาบ้านจะต้องให้แม่ทำให้กินเสมอ

ที่เตาเชิงกรานในครัวของบ้านอานนท์มีฟืนปะทุลูกไฟดังเปรี๊ยะๆ เปล่งประกายสีแดงกระเด็นกระดอนส่งสัญญาณการหุงหาเสมอ ในยุ้งข้าวใต้ถุนสูงฝาขัดด้วยไม้ไผ่ฉาบด้วยขี้วัวเต็มไปด้วยข้าวสารที่พ่อแม่และตายายของเขาปลูกเอง บ่อซีเมนต์ 2-3 บ่อใกล้บ้านมีกบที่เลี้ยงไว้นับร้อยตัว รอบบ้านปลูกผักไว้พอกิน ทั้งเห็ดปลวกที่สะพรั่งเมื่อฝนแรก รอให้นำไปใส่ในแกงชะอมหรือลวกกินกับป่นเห็ด มีผักพื้นฐานอย่างข่า ตะไคร้ ผักชี มะนาว ผักกาดตีนหมีส่งกลิ่นหอมฉุนเข้ากันกับป่นปลาน้ำพริกของชาวอีสาน มีหน่อไม้ ยอดมะขามอ่อน ผักกะแยงไว้เก็บแกงใกล้มือ

ตามตำนานเก่าแก่เล่าว่า ภาคอีสานหรือถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้นั้นแล้งจนแม้แต่ชาวกุลาซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความอดทน ใจสู้ ทว่าเมื่อเหยียบย่างเข้ามาบนผืนดินแห่งนี้ยังไม่วายต้องหลั่งน้ำตาให้ความแห้งแล้งเหลือทน แต่ภาคอีสานในสายตาของอานนท์ไม่ใช่พื้นที่แห้งแล้งไปทั้งหมด แต่เป็นดังกล่องข้าวที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยอาหารตามฤดูกาลจากป่าทาม ข้าวจากทุ่งกุลาฯ และปลาจากแม่น้ำชี

อานนท์เติบโตมาด้วยการกินอาหารหลากหลายที่หาได้ในท้องถิ่น ปลาเป็นอาหารที่อานนท์คุ้นเคยตั้งแต่เด็กจนโต อาหารที่ทำด้วยปลาในความทรงจำของอานนท์มีมากมาย เช่น ลาบปลาตอง (ลาบปลากราย) กับดอกข่าและผักกลิ่นฉุน, อุซุเอี่ยน (ต้มส้มปลาไหล) หรืออีกชื่อหนึ่งคือน้ำใต้ต่อน, หมกปลาลูกคอก (ลูกปลาช่อน) ใส่ผักอีตู่ หรือใบแมงลัก, แป๊ะซะปลาช่อนอีสานที่ใช้วิธีนึ่งกินกับผักกาดหอมและน้ำจิ้มสูตรพิเศษ, กระทั่งส้มปลาน้อยที่เป็นวิธีหนึ่งในการปรุงรสและถนอมเนื้อปลาให้เก็บได้นาน ฯลฯ

“ตอนเด็กๆ ปลาเป็นอาหารประจำของผม ตาของผมติดสิบอันดับแรกของคนหาปลาเก่งที่สุดในหมู่บ้าน ทุกเช้าแกจะออกไปหาปลา กลับมาบ้านแกจะได้ปลาทั้งปลาช่อน ปลาบู่ ปลาหลด ใส่ถังน้ำใหญ่ๆ มาทีละ 2-3 กิโลฯ เป็นเรื่องปกติ ถ้าทำกินวันนั้นไม่ทัน แกจะเอาปลาที่เหลือมาคลุกเกลือ ใส่รำข้าว ทำเป็นปลาร้าเก็บไว้ สำหรับคนกรุงเทพฯ เห็นปลาช่อนอาจคิดว่าเป็นของดี แต่ผมโตมากับการกินปลาช่อนตัวโตๆ จนเบื่อ”

บ้านของอานนท์อยู่ห่างจากแม่น้ำชีเพียงหนึ่งกิโลเมตร ชาวหวายหลึมมีวิธีขอแบ่งปันปลาจากแม่น้ำชีหลายวิธี เริ่มจากทุกหมู่บ้านจะขุดหนองน้ำขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอลไว้เลี้ยงปลา และชาวบ้านมักขุดบ่อเล็กๆ ไว้ในนาของตนเพื่อดักปลาที่มากับแม่น้ำชีในฤดูฝน สำหรับบ้านอานนท์บ่อของเขามีพื้นที่ราว 30 ตารางเมตร เขาเล่าว่าพอหมดฤดูฝนน้ำในทุ่งนาจะแห้งขอด สิ่งที่พบคือปลาหลายชนิดกองอยู่ในบ่อนั้น อีกแหล่งหาปลาสำคัญของชาวหวายหลึมคือคลองดิน ซึ่งแหล่งหาปลานี้เองที่จุดไฟการเป็นนักกฎหมายในตัวเขา

เนื้อดิบแห่งนิติภาวะ

“สิ่งที่ทำให้ผมอยากเรียนกฎหมายคือ ตอนผมเด็กๆ จะมีคลองส่งน้ำเป็นคลองดินผ่านที่นาบ้านเรา คลองดินจะมีต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตรงตลิ่งคลอง และในคลองจะมีโคลนปน ทำให้ปลามาอยู่ เราก็จะไปหาปลาได้ แต่รัฐต้องการจะทำคลองนี้ให้เป็นคลองซีเมนต์ ตอนนั้นผมเด็กมาก ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย ตาพาผมไปล่ารายชื่อตามบ้านของชาวบ้านที่คลองนี้ผ่าน เพื่อจะบอกว่าไม่เอาคลองซีเมนต์ ต้องการคลองดิน แล้วมันสำเร็จ เราก็งง เฮ้ย! ทำแบบนี้ได้เหรอวะ ทำให้เห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยถ้ารวมตัวกันสามารถยันกับรัฐได้ มันเป็นการต่อสู้และคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้มันมีโอกาสชนะ”

การติดตามตาไปล่ารายชื่อเพื่อปกป้องแหล่งอาหาร ทำให้อานนท์เริ่มสนใจกฎหมายตั้งแต่ยังเด็ก เขาเข้าแข่งตอบปัญหาทางกฎหมายต่างๆ และคว้าชัยชนะมาหลายรางวัลตอนมัธยม และตัดสินใจเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าตาเป็นบุคคลสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของเขา และตานี่เองที่พาอานนท์เข้าสู่พื้นที่ของผู้ใหญ่อย่างพื้นที่เชือดวัว พื้นที่ของคมมีดและกองไฟ พื้นที่ซึ่งคนปรุงก้อยคาซี่โครงวัวที่เพิ่งเชือด และพื้นที่แล่เนื้อสดจากวัวที่เพิ่งผ่านการชำแหละมาใหม่ นำมาฝานหรือซอยให้มีขนาดพอดีคำและนำไปกินคู่เคียงกับน้ำจิ้มหรือผักต่างๆ เป็นอาหารที่เรียกว่า ‘ซอยจุ๊’

“ผมกินซอยจุ๊ครั้งแรกตอนเป็นเด็ก ในอีสานพอมีเทศกาลหรือประเพณีสำคัญ เขาจะล้มวัวกัน โดยชาวบ้านจะรวมเงินกันไปซื้อวัวมาเชือดแล้วมาแบ่งเป็นกองๆ ตามจำนวนเงิน บางทีมากถึง 20-30 กอง ตอนนั้นผมจะไปดูตอนที่เขาเชือดวัวกับตา พอเขาเชือดเสร็จ ตาจะเฉือนชิ้นเนื้อให้ผมชิมดู เนื้อที่ตาเฉือนมาให้มันจะดิบขนาดเต้นตุบๆ อยู่ในมือ จริงๆ แล้วสำหรับเด็กผู้ใหญ่เขาก็จะเอาไปลวกให้กิน คือเวลาเชือดวัวเขาจะทำตอนหัวรุ่งหรือรุ่งสาง มันต้องมีการก่อกองไฟไล่ยุงอยู่แล้ว ผู้ใหญ่เขาจะเอาไปอังไฟให้มันสุก ผมก็เริ่มกินอย่างนั้น หลังๆ พอเราไปบ่อย ผู้ใหญ่จะเรียกเลย เอ้า ชิมๆ หำน้อย ก็ได้ลองกินตอนนั้น แต่ไม่ได้กินเป็นกิจลักษณะ เป็นแค่การชิมเฉยๆ แต่ตอนนั้นผมก็รู้สึกแล้วว่าเนื้อที่สดมันจะอร่อยกว่าเนื้อสุกมากทีเดียว”

‘ซอยจุ๊’ เป็นอาหารที่ ‘ดิบ’ ทั้งในแง่วัตถุดิบและ ‘ดิบ’ ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์และวิธีการบริโภค ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กคนหนึ่งในอีสานที่จะลุกขึ้นอิ่มเอมกับอาหารสำรับดังกล่าวนี้ จากเรื่องราวของอานนท์ การกินซอยจุ๊ดูแทบไม่ต่างจากพิธีกรรมแรกรับหรือพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในทางมานุษยวิทยาให้ความหมายของพิธีนี้ไว้ว่า เป็นพิธีที่แสดงถึงหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนผ่านของวัยที่เทียบได้กับการบรรลุนิติภาวะทางกฎหมายในปัจจุบันนั่นเอง

สุนทรียแห่งความดิบและรสขม

อานนท์ นำภา เกิดในปี 2527 ซึ่งเป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ในตับอย่างจริงจังในภาคอีสาน จากการสำรวจในปี 2523-2524 โดยกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ในตับมีจำนวนสูงที่สุดในภาคอีสานถึงจำนวนร้อยละ 34.6 ของจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศ ทำให้ในปี 2527-2534 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ในตับ รวมทั้งการดำเนินการด้านสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์อย่างหนัก เพื่อรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็นปลาดิบ เนื้อดิบ และอาหารดิบอื่นๆ โดยกล่าวว่าอาหารดิบเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับจนถึงโรคมะเร็งตับ

ผลพวงจากการโหมโฆษณาให้การกินอาหารปรุงสุกเป็นมาตรฐานในชีวิตประจำวันได้สร้างภาพจำอย่างหนึ่งให้แก่อาหารอีสาน ไม่ว่าจะเป็นปลาร้าและเนื้อดิบ ว่าอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่ปราศจากการปรุงอย่างประณีตเหมาะสมจนพอจะเทียบชั้นขึ้นเป็นอาหารรสเลิศในสำรับคนส่วนกลางได้ ภาพจำนี้ขัดต่อสิ่งที่อานนท์บอกเล่าอย่างมาก ซอยจุ๊ในมุมมองของอานนท์ดูเป็นอาหารที่น้อยแต่มาก ง่ายแต่ยากอย่างแท้จริง

“หลักสำคัญของซอยจุ๊คือต้องเป็นเนื้อที่สด ไม่ใช่ไปซื้อมาตามตลาดที่เขาแช่เย็นแล้วเอามาทำ มันคนละเรื่อง ซอยจุ๊ต้องเป็นเนื้อที่แทบจะไปเฉือนออกมาจากวัวเป็นๆ เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นการกินซอยจุ๊ควรต้องกินตอนหัวรุ่ง คือปกติวัวนี่เขาจะเชือดกันตอนตี 1-2 พอเชือดเสร็จประมาณตี 3 ตี 4 เขียงเนื้อก็จะรับไปขาย อย่างเวลาผมออกจากกรุงเทพฯ ก็จะกะเวลาถึงร้อยเอ็ดประมาณตี 3-4 ก็จะได้เนื้อใหม่เอามาทำซอยจุ๊ ซึ่งจะเหมาะมาก และเวลากินก็ต้องมีผักอย่างต้นหอมที่มันฉุนๆ เอามากินประกอบด้วยก็จะขับรสชาติมากขึ้น และถ้ามีเหล้าก็ต้องเป็นเหล้าขาวเพียวๆ นะ จะทำให้รสชาติของเนื้ออร่อยขึ้นอีก”

อานนท์มีร้านขายเนื้อหรือเขียงเนื้อเจ้าประจำอยู่ที่บ้านอุ่มเม้า ไม่ไกลจากบ้านหวายหลึม เป็นเขียงเนื้ออีกแห่งที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง วัฒนธรรมเขียงเนื้อของอีสานเต็มเปี่ยมไปด้วยความคึกคัก หลายแห่งเปิดบริการแบบครบวงจร ทั้งขายเนื้อสด ปรุงเนื้อดิบ และมีที่ให้นั่งกินพร้อม ในจานซอยจุ๊ เนื้อวัวดิบจะถูกฝานบางจัดเรียงกับเครื่องในวัวส่วนอื่นไม่ว่าจะเป็นตับวัว ผ้าขี้ริ้ว เอ็น ที่สดพอกัน หากเป็นซอยจุ๊รสเลิศ ผู้ชิมมักสัมผัสได้ถึง ‘รสหวาน’ ของเนื้อดิบที่ปลายลิ้นได้ รสอื่นๆ มาจากผักกลิ่นหอมฉุนหรือมีรสซ่าที่กินเคียงกัน เช่น ต้นหอม ผักชี ดีปลาหมอ ผักกาดหิ่น (วาซาบิอีสาน) ยอดมะระขี้นก และสะเดา ฯลฯ อีกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เนื้อดิบที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเลยมีรสลึกเคลือบชิ้นเนื้อคือ ‘แจ่ว’

“ถ้ากินเนื้อดิบ แจ่วต้องใส่ดี ใส่ขี้เพี้ยด้วย ดีเป็นน้ำใสๆ สีเขียว ดีที่ดีคือดีที่ขม หอมกลิ่นดี มันจะมีกลิ่นเฉพาะของมันอยู่ ส่วนขี้เพี้ยจะขมๆ เป็นขี้อ่อนวัวที่ผ่านน้ำย่อยมาแล้ว จริงๆ ถ้าให้เลือกระหว่างดีกับขี้เพี้ย ผมชอบขี้เพี้ยอ่อนๆ มากกว่า ถ้าคนไม่ชอบ เขาจะบอกว่ามีกลิ่นเหม็น แต่สำหรับผม ขี้เพี้ยมันเป็นกลิ่นหอมของหญ้าและฟางที่ละเอียด แต่ถ้าคนที่เขาทำขายเยอะๆ เขาจะเอาขี้เพี้ยจากลำไส้ที่แก่ๆ มันจะมีกลิ่นเหม็นๆ แต่ถ้าเอาขี้เพี้ยจากลำไส้ที่อ่อนที่สุดของวัวจะหอมกลิ่นหญ้า เพี้ยเป็นของสกปรก ไม่ได้สะอาด ต้องกินด้วยความใจกล้าด้วย ขี้เพี้ยที่ดีที่สุดคือขี้เพี้ยที่ไม่ต้องผ่านการต้ม สะอาด สดใหม่ จะอร่อยหอม แต่ถ้าซื้อขี้เพี้ยในกรุงเทพฯ มาทำแล้วไม่สะอาดก็ต้องต้มก่อน”

แจ่วที่ใส่ดีมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘แจ่วขม’ ส่วนแจ่วขมที่ใส่ขี้เพี้ยเรียกว่า ‘แจ่วเพี้ย’ อานนท์กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ถ้าต้องให้เลือกส่วนประกอบของแจ่วเพียงอย่างเดียว มักชอบดีมากกว่าขี้เพี้ย เพราะ ‘ดี’ นั้นคนมองว่าเป็นของหายาก วัวตัวหนึ่งให้ดีได้ในปริมาณเท่ากับไข่ไก่ 1 ฟองเท่านั้น ดังนั้นจารีตของอีสานคือใครที่ฆ่าวัวจะได้ส่วนดี ตับ หัว หนัง และหาง ซึ่งอย่างหลังสุดเขาบอกว่านิยมนำไปตากแดดหรือหมักกับรำและเกลือก่อนเผาไฟกินแกล้มเหล้า

รสชาติเด่นของซอยจุ๊คือรสขมที่มากับแจ่วที่กินเคียงข้างซอยจุ๊ ตามปกติแล้ว คนเรามักจะปฏิเสธรสขม หลายครั้งรสขมมักถูกนำไปผูกติดกับความยากไร้และทุกข์ยากในชีวิต รสขมถูกผูกติดเป็นส่วนหนึ่งของคลังคำที่มีความหมายลบ เช่น รสของยาพิษ ความขมขื่น หรือสภาวะที่หวานอมขมกลืน แต่สำหรับอานนท์แล้ว รสขมสะท้อนถึงการเข้าถึงสุนทรียรสที่ซับซ้อนและบ่งบอกถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ลาบ, ก้อย, ซอยจุ๊ แห่งมิตรสหาย

ในอดีต คำคุณศัพท์จำพวก ‘นัว’ และ ‘แซ่บ’ แทบไม่เคยเป็นคำอธิบายรสชาติที่คนภาคกลางใช้กัน โดยเฉพาะ ‘ปลาร้า’ จากดินแดนแห่งที่ราบสูง ชื่อเสียงด้านลบของอาหารอีสานในสายตาคนส่วนอื่นในประเทศไทยยามนั้น เปรียบเทียบได้ว่าเป็นช่วง ‘ปลาร้าอีสานยังไม่หอม’ ในยามนั้น ซอยจุ๊เองประสบชะตากรรมไม่ต่างจากปลาร้าเท่าใดนัก คือการเป็นอื่นจากรัฐส่วนกลาง ซึ่งมุมมองเช่นนี้ได้ถูกใช้ในการมองคนอีสานไปด้วยโดยปริยาย

ปัจจุบัน อาหารอย่างซอยจุ๊กลับมามีพื้นที่ในอาหารไทยอีกครั้ง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นด่านหน้าของอาหารจากครัวอีสานอีกด้วย มีคลิปในโลกออนไลน์ที่พูดถึงซอยจุ๊มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำ วิธีกิน แทบครบทุกมิติของความเป็นซอยจุ๊ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับกระแส ‘อีสานเรเนอซองส์’ โดยมีอานนท์ นำภา เป็นส่วนหนึ่งในการใช้อาหารเป็นสัญลักษณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลทหารออกกฎอัยการศึกห้ามรวมตัวชุมนุมเกิน 5 คน อานนท์เลือกใช้การกิน ‘ลาบ’ เป็นเหตุผลในการรวมตัวกันที่ร้านลาบริมถนนราชดำเนิน ซึ่งมองเห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (อานนท์นิยามร้านนี้ว่า รสชาติได้–คนขายเป็นคนร้อยเอ็ด) เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารภายใต้ข้อจำกัดทางการแสดงออกและการกดดันจากภาครัฐ ต่อมาซอยจุ๊เริ่มปรากฏตัวในโซเชียลมีเดียของอานนท์บ่อยครั้งจนเข้ามาแทนที่ลาบในที่สุด

หนึ่งในภาพบนโซเชียลมีเดียของอานนท์ที่น่าจดจำ คือภาพถ่ายรุ่งเช้า บริเวณหน้าเพิงเล็กๆ ในจังหวัดมุกดาหาร ที่ครอบครัวหนึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยระหว่างมาทำงานเป็นยามเฝ้าหมู่บ้านจัดสรร และติดตามคดีของสมาชิกในครอบครัวที่ต้องคดีทางการเมืองและถูกจำคุกกว่า 7 ปี หนุ่มใหญ่คนหนึ่งยกถุงพลาสติกในมือหลายใบขึ้นอวดอานนท์ ถุงเหล่านั้นบรรจุวัตถุดิบในการทำซอยจุ๊ไว้ครบเครื่อง ทั้งเนื้อสด เลือด ขี้เพี้ย เครื่องใน รอยยิ้มกว้างของเขาเต็มเปี่ยมด้วยความภูมิใจที่แปลความได้ว่า วันนี้ล่ะ เขาจะได้เลี้ยงดูทนายผู้ว่าความให้น้องชายของเขาด้วยอาหารชั้นดีอย่างซอยจุ๊

“อาหารที่ดีที่สุดของคนอีสานคือเนื้อ ปลาเราหากินได้ง่ายใช่ไหมครับ คนอีสานถ้าเขาไม่รักไม่ชอบจริงๆ เขาจะไม่เอาเนื้อมาทำให้กิน การที่เขาทำให้ นั่นคือเขารู้สึกดีกับคุณ”

อานนท์กล่าวถึงเรื่องราวข้างหลังภาพที่เป็นทั้งมิตรภาพและการเมือง เพราะนอกจากเป็นภาพที่ดูแล้วฟีลกู๊ด ยังทำให้คนในสังคมหันมาสนใจคดีของคนเล็กๆ ที่แทบไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักด้วย เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เขาอัดคลิปทำซอยจุ๊ แล้วฝากไปยังตำรวจปราบจลาจลที่ปราบปรามผู้ชุมนุมว่า “ขอให้คิดถึงการเป็นคนอีสานด้วยกัน เป็นคนธรรมดาด้วยกัน เราก็กินลาบกินซอยจุ๊เหมือนกัน” ซอยจุ๊ค่อยๆ มีหน้าที่มากไปกว่าการเป็นอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ

“จริงๆ ผมเริ่มเอาวัฒนธรรมการกินซอยจุ๊มาใช้ในงานกิจกรรมตั้งแต่ช่วงปลายๆ ยุค 5 ปี คสช. ช่วงคดีคนอยากเลือกตั้ง จุดเริ่มของความคิดนี้มาจากทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมเสร็จ เราจะไปจบที่ร้านลาบเสมอ หรือเวลาไปทำคดีต่างจังหวัดผมกับเพื่อนๆ ทนายและลูกความจะชอบกินลาบดิบ-ซอยจุ๊ มันเป็นอาหารของมิตรภาพ ถ้าใครกินลาบกินก้อยด้วยกันจะนับเป็นเพื่อนกัน เราคนบ้านเดียวกัน

“แต่ตอนเอามากินกับนักกิจกรรมที่กรุงเทพฯ มันกลายเป็นการท้าทาย อย่างหลังตอนปราศรัย 19 กันยายน 2563 ที่ไปปักหมุดคณะราษฎรตรงสนามหลวง ตอนตี 3 เราก็บอกน้องว่าไปซื้อเนื้อมาซอยจุ๊กัน ผมหั่นซอยจุ๊มาแล้วท้าพวกนักศึกษาว่า “เฮ้ย! มึงกล้ากินกันหรือเปล่า ลองกินแบบชาวบ้านไหม” เราทำให้ซอยจุ๊กลายเป็นอาหารที่ทำให้ผูกพัน สนุก ครึกครื้น และท้าทายจริตจะก้าน ถ้าคุณกล้ากินลาบ กินก้อย กินดิบ คุณจะเข้าสู่จุดเปลี่ยน-จุดแบ่งของวัยระดับหนึ่ง คุณจะเปลี่ยนจากการเป็นคุณหนู เด็ก หรือคนในเมือง มาอยู่กับชาวบ้านได้”

ถึงตอนนี้แล้วดูเหมือน ‘ซอยจุ๊’ สำหรับทนายอานนท์ ได้ทำหน้าที่ทางพิธีกรรมถึงสองประการ หนึ่ง คือการย้ำเตือนว่ามันคือเครื่องมือที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ของตัวอานนท์เอง สอง คือเป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านความแปลกหน้าของนักกิจกรรมหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐให้กลายเป็นเพื่อนมิตร

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอานนท์ไม่ได้ตั้งใจคือผู้คนมากมายได้รับเอาการกิน (Internalized) ซอยจุ๊ของอานนท์ไปปรับแต่งและผลิตซ้ำใหม่ ส่งผลให้ซอยจุ๊มีพลวัตของความหมายและสัญญะเป็นของตนเอง กระทั่งการลิ้มรสเนื้อดิบได้กลายเป็นการร่วมสนับสนุนอัตลักษณ์ของความเป็นคนอีสานที่ไม่ยอมแพ้ต่อการครอบงำจากดินแดนส่วนกลางและกลายเป็นอาหารแห่งการต่อต้านในที่สุด

คำเชิญชวนไปเฮ็ดช่วย ไปชิมซอยจุ๊

“…ว่าจะไปขายซอยจุ๊หน้ารัฐสภาวันที่ 17 นี้ ชุดละ 112 บาท จะมีใครซื้อมั้ยครับ #คณะลาบจงเจริญ”

ข้อความข้างบนคือข้อความที่ อานนท์ นำภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเชิญชวนผู้คนไปร่วมวงอาหารกับเขาในการชุมนุมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้ารัฐสภาอันโอ่อ่าที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเกียกกาย

ภาพกลุ่มชนผู้ประท้วงโดนฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสีใส่จากรถปราบจลาจล ภาพผู้ชุมนุมที่ตาระคายเคืองจากสารเคมีที่วิ่งไปหลบทางนั้นทีทางนี้ที ภาพที่ปรากฏจากสื่อต่างๆ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมทั้งผู้ชุมนุมและอานนท์ถึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับภาครัฐขนาดนั้น การฉีดน้ำผสมสารเคมีสีเข้มที่มีสีคล้ายสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่พบอยู่เสมอในชักโครกหรือบนฉลากของน้ำยาล้างห้องน้ำ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าหรือรัฐไทยจะมองอานนท์เป็นสิ่งปฏิกูล? ทำไมรัฐบาลถึงต้องการ ‘ล้าง’ อานนท์และพรรคพวก รวมทั้งอาหารดิบอย่าง ‘ซอยจุ๊’ ราวกับเป็นพาหะของโรคร้าย? เป็นไปได้หรือไม่ว่าทั้งอาหารและความคิดของอานนท์ได้ถูกอำนาจและความคิดจากส่วนกลางมองว่าเป็นโรคร้าย พยาธิ ปรสิต เป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการกำจัด?

คณะลาบ: การต่อต้านบนจานเนื้อดิบ

“ผมรู้สึกว่าลาบถูกใช้เป็นคำนิยามในการด่าผู้คนว่ามีชนชั้นต่ำกว่า อย่างเช่น พวกไอ้หน้าลาบ และถูกทำให้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่รัฐไม่ได้มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยตั้งแต่แรก มองว่าเป็นพวกลาว ดูถูกว่าเขาต่ำกว่าเรา คนอีสานถูกโจมตีว่าพวกมึงต้องเข้าโรงพยาบาลเนี่ย เพราะพวกมึงไปกินดิบๆ แบบนั้นนั่นแหละ หรือไม่ยอมไปโรงเรียน มัวแต่ไปเต้นรถแห่”

เฉลิมชัย วัดจัง หรือ ‘เพชร’ ตัวแทนจาก ‘คณะลาบ’ ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวถึงนัยของลาบ และการก่อตั้งคณะลาบที่ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคณะราษฎร และอานนท์ นำภา

“จุดเริ่มต้นของคณะลาบจริงๆ มาจากวงสนทนาทางสังคม-การเมือง ส่วนใหญ่ของเราเกิดขึ้นที่ร้านลาบ บรรยากาศของการกินลาบคือบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนพูดคุย ด้วยความที่คำว่าลาบกับคำว่าราษฎร์มันใกล้เคียงกัน ผมและเพื่อนๆ เลยคิดว่า เฮ้ย! งั้นเรามาตั้งคณะลาบกันดีกว่า

“คอนเซ็ปต์คืออยากเอาประเด็นที่เราคุยกันในร้านลาบไปคุยกันในพื้นที่สาธารณะ เราได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากอานนท์ด้วย ด้วยความที่เราเห็นอานนท์ชอบกินลาบก้อยซอยจุ๊อย่างไม่เคอะเขิน ออกจากคุกกลับบ้านก็ไปเล่นหมอลำ”

‘คณะลาบ’ ทำให้ลาบก้อยซอยจุ๊แหลมคมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับสังคมการเมืองโดยใช้องค์ประกอบต่างๆ ของลาบ (เช่น โพสต์ว่าเราเป็นเพียงข้าวคั่วไม่ใช่ฝุ่นธุลีใดๆ) มีการชี้เป้าว่าถ้าจะไปชุมนุมที่นี่จะไปกินลาบได้ที่ไหน แต่กิจกรรมที่นับว่าผู้คนตอบรับอุ่นหนาฝาคั่งที่สุดคือการตั้งซุ้มแจกลาบก้อยและซอยจุ๊ที่ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งคณะลาบทำไปแจกมากถึง 500-600 ชุด และมีคนต่อแถวรอกินยาวเหยียด

“คณะลาบไม่ได้ต้องการแค่กระจายลาบออกไปนะครับ แต่เรากระจายความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ถูกเก็บซ่อน ลาบส่วนใหญ่ที่เราทำแจกวันนั้นเป็นลาบดิบและซอยจุ๊ ถ้าใครจะกินสุกเราถึงจะเอาลาบดิบไปทำสุกให้ พื้นที่ห้าแยกลาดพร้าวเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางในเมือง มีห้างสรรพสินค้าหลักของชนชั้นกลางตั้งอยู่ตรงนั้น มี BTS ซึ่งเป็นวิธีโดยสารของชนชั้นกลาง กลุ่มคนที่ไปร่วมชุมนุมในพื้นที่ก็คือชนชั้นกลาง แต่ทุกคนแวะเข้ามากินลาบเฮฮากัน บางคนถือโอกาสลองชิมซอยจุ๊ครั้งแรก คนที่มาเข้าคิว ถ้าพูดกันแบบไม่ PC ไม่ใช่คนหน้าลาบหน้าลาวนะครับ มีแต่อาตี๋อาหมวยทั้งนั้นที่มาลองแล้วบอกว่า เฮ้ย! อร่อยมาก ครั้งหน้ามาอีกหรือเปล่า ผมคิดว่าในม็อบมีสภาวะต่อต้านโครงสร้าง (anti-structure) มากอยู่แล้ว ทำให้คนกล้าคิดกล้าลองทำอะไรหลายๆ อย่างครับ”

เพชรกล่าวว่ากิจกรรมครั้งนั้นทำให้คณะลาบมีบทสนทนากับคนมากมายและเขาพบเหตุผลของการไม่กินดิบน่าสนใจจากคนที่มารับก้อยและซอยจุ๊ไปกิน เหตุผลนั้นไม่ใช่การกลัวพยาธิหรือมองว่าอาหารดิบต่ำต้อยแต่คือ ‘การไม่มีเวลา’ เพราะคนเมืองเหล่านี้มองว่าการจะกินดิบได้ต้องใช้เนื้อสดที่หาได้ยาก และมีขั้นตอนการเตรียมที่ใช้ทักษะ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อานนท์บอกเล่าถึงความง่ายแต่ยากของซอยจุ๊

“วัฒนธรรมอีสานมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีแรงขัดขืนต่อต้านบางอย่างที่ถูกฝังลึกอยู่ตั้งแต่ยุคกบฏผีบุญมาจนถึงยุคคนเสื้อแดงซึ่งผมมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ทันสมัยและก้าวผ่านเขตแดนที่เรียกว่ารัฐไทยไปแล้วมากมาย คนอีสานมองข้ามขั้นไปแล้วว่ารัฐหรือคนภูมิภาคอื่นคิดกับเขายังไง เขามีพื้นที่ที่ชื่นชมวัฒนธรรมของเขา มีผู้กำกับหนังที่ดังระดับโลก มีช่อง YouTube ที่ทำเพลงหมอลำ 3 ร้อยล้านวิวได้ มีตลาดชัดเจน ไม่มีอะไรต้องเคอะเขินในความเป็นลาว การทำอาหารแบบลาวคนภาคกลางไม่ยอมรับอย่างการกินอาหารดิบมีลักษณะร่วมในระดับสากลอยู่แล้ว ก้อยนี่แค่ตกแต่งให้ดูดี กินได้จบในหนึ่งคำหรือหนึ่งช็อต กินเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยในคอร์สแบบ fine dining ได้สบาย”

เพชรนิยามคณะลาบว่า “เป็นพื้นที่ของการเคลื่อนไหวอีกรูปแบบหนึ่งที่สนุกสนาน” อย่างกิจกรรมชี้เป้าร้านลาบรอบที่ชุมนุมนั้น เพชรกล่าวว่าทำเพื่อ “หลังม็อบเสร็จจะได้มีพื้นที่แฮงก์เอาต์กันต่อได้” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่ามากกว่านั้น เพราะผู้คนเชื่อมโยงตนเองเข้ากับคำว่าลาบอย่างลุกลาม อาจเป็นด้วยเพราะทุก 5-10 กิโลเมตร ไม่ว่าต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ เราจะพบร้านลาบ อาหารที่เป็นตัวแทนของคนธรรมดา อาจกล่าวได้ว่าความหมายของลาบก้อยซอยจุ๊ขยายวงมาอีกขั้น จากตัวแทนการต่อสู้ของชาวอีสาน มาเป็นตัวแทนการต่อสู้ของคนธรรมดาทั่วไปที่กินลาบ

“มีน้องกลุ่มหนึ่งไปนั่งกินลาบอยู่ที่หน้าเรือนจำ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ติดคุกจากคดี ม.112 โดยที่ในนั้นไม่มีคนจากคณะลาบสักคนเดียวเลย แต่เขามาขอเราก่อนว่าอยากใช้ชื่อคณะลาบทำกิจกรรม มีน้องนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งเขาอยากทำร้านอาหารอีสานที่ภาคใต้ เขาก็มาขอใช้ชื่อคณะลาบไปตั้งชื่อร้าน มีการตั้งคณะลาบษฎรขึ้นมา ผมรู้สึกดีมากและมองว่าเป็นความสำเร็จ ผมไม่อยากให้คำนี้มีเจ้าของ แต่เป็นไอเดียที่ต่อยอดกันไปมากมาย”

รถเมล์ส้มกับการเดินทางไกล

รถเมล์ส้ม เสลภูมิ-ร้อยเอ็ด ส่งเด็กชายอานนท์ที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ที่นั่นเองเขาได้พบกับนักสู้ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลายคนที่เขายังไม่รู้จักดีนัก

“ตอนเราเรียน ม.ปลายในห้องเกียรติยศของโรงเรียน โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เราก็เข้าไปในห้องนั้นแล้วเจอชื่อแปลกๆ มีถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, ปรีดี เกษมทรัพย์ เราก็สงสัย คนพวกนี้มันคือใครวะ เราก็ไม่รู้นะ มารู้จักจริงๆ หลายปีหลัง ตอนเข้ามหา’ลัย ตอนเราสนใจเรื่องจิตร ภูมิศักดิ์ และเห็นว่าคนอีสานหลายคนก็สู้ในแนวทางเดียวกับจิตร มันทำให้เรารู้สึกว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ไกลเกินกว่าที่เราจะไปได้”

เส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนของอานนท์พาตัวเขาเดินไปในเส้นทางเดียวกับกลุ่มบุคคลในห้องเกียรติยศของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย นั่นคือในช่วงชีวิตหนึ่งได้ลิ้มรสขมจากการติดคุก

เวลาเที่ยงตรงของวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิ 18 พฤษภาคม ของประเทศเกาหลีใต้ได้ทำพิธีมอบรางวัล ‘ควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน’ (Gwangju Prize for Human Rights) อันเป็นรางวัลแด่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่ทนายอานนท์ นำภา ผู้กำลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม อันเป็นผลจากการต้องคดีอาญามาตรา 112  แม้เขาไม่อาจไปร่วมงานอันทรงเกียรตินี้ แต่ชื่อของเขาได้รับการจารึกไว้ในห้องเกียรติยศ เช่นเดียวกับกลุ่มนักสู้ชาวอีสานที่เขาเคยเฝ้ามอง รถเมล์ส้มคันนั้นพาเขามาไกลทีเดียว

หากอานนท์ได้เดินทางไปรับรางวัลที่เกาหลีใต้ เขาอาจได้ลิ้มรส ‘ยุคฮเว’ (육회) ที่มีความหมายตรงตัวว่า ‘เนื้อดิบ’ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์หลากชนิดหั่นเส้นปรุงรส แต่โดยทั่วไปแล้วยุคฮเวจะใช้เรียกเนื้อวัวดิบปรุงรสเป็นส่วนใหญ่ เทียบได้กับซอยจุ๊และลาบของชาวอีสาน รัฐบาลเกาหลีใต้มีวิธีและข้อแนะนำในการจัดการเนื้อดิบให้บริโภคได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเปิดเผยเส้นทางการผลิตและที่มาของเนื้อวัว ทำให้ยุคฮเวกลายเป็นอาหารจากเนื้อวัวดิบจานเด็ดที่เชิดหน้าชูตาของเกาหลีใต้

ขณะนี้อานนท์ยังคงถูกคุมขัง ครั้งหนึ่งเขาฝากข้อความจากในเรือนจำผ่านเพื่อนทนายมาว่า “คิดถึงซอยจุ๊และเบียร์เย็นๆ” และผู้คนข้างนอกเมื่อพูดถึงอานนท์จะคิดถึงซอยจุ๊เช่นกัน ซอยจุ๊ยังคงเป็นอาหารซิกเนเจอร์ของเขา ยืนเด่นโดยท้าทายต่อนโยบายอุดมคติและการรณรงค์ “ไม่กินดิบ” และเป็นภาพตรงข้ามของการมีสุขภาวะที่ดีตามอุดมคติของรัฐไทย

สื่อและคลิปในโลกออนไลน์ที่ถูกผลิตขึ้นไล่เลี่ยกับคลิปกินเนื้อวัวดิบจิ้มแจ่วเพี้ย ส่งคำเตือนถึงอันตรายจากการกินเนื้อดิบ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบปีก็ตาม สายตาอันระแวดระวังของภาครัฐที่มองมายังการกินดิบในอาหารอีสานก็ไม่เคยหายไป เช่นเดียวกับการจับตามองการเคลื่อนไหวของอานนท์ นำภา และอาหารของเขาท่ามกลางเหล่ามิตร

หากด้วยความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา สายตานั้นอาจเปลี่ยนไปเป็นสายตาที่เห็นศักยภาพและคุณค่าของคนอย่างอานนท์ เช่นเดียวกับที่เนื้อยุคฮเวได้รับการสนับสนุนเป็นอาหารวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ถึงวันนั้นเราคงได้สัมผัสถึงสุนทรียรสของรสขม เนื้อดิบ และประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

Fact Box

ซอยจุ๊สูตรอานนท์

“ตาผมจะสอนนะว่าส่วนไหนของวัวที่อร่อย จะมีส่วนที่อยู่ระหว่างหนังกับเนื้อ เขาเรียกว่าเนื้องอกหรือเนื้อหนอก มีมันแทรกขึ้นมาอร่อยมาก เคี้ยวแล้วจะขาดจากกัน จะไม่เป็นเส้นเนื้อที่เหนียวในปาก เคี้ยวแล้วได้อารมณ์” – อานนท์ นำภา

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เนื้อวัว ให้ไปซื้อที่เขียงเนื้อก่อน 10 โมงเช้า จะได้เนื้อที่สด ใช้เนื้อหนอกหรือเนื้อเสือร้องไห้ หากไม่มีให้ใช้เนื้อสันในหรือเนื้อลาบ
  • เครื่องในวัว จำพวกผ้าขี้ริ้ว (กินสดอร่อยมาก)
  • พริกป่น ข้าวคั่ว ผงชูรส น้ำปลา ดีวัวแท้ขมหอม ขี้เพี้ยอ่อน ต้นหอม ผักชี สำหรับทำแจ่วขม
  • ผักเคียง เช่น ต้นหอม ผักชี ดีปลาหมอ ผักกาดหิ่น (วาซาบิอีสาน) ยอดมะระขี้นก สะเดา หรือผักรสหอมฉุนอื่นๆ ตามใจชอบ

ขั้นตอนการทำ

  1. ทำแจ่วขม โดยนำพริกป่น ข้าวคั่ว ผงชูรสใส่ถ้วยเพื่อเตรียมทำน้ำจิ้ม ขณะเดียวกันต้มขี้เพี้ยให้สุกจนเดือด จากนั้นนำขี้เพี้ยมาเทใส่พริกข้าวคั่วชูรสที่เตรียมไว้ ใส่ดีวัวเล็กน้อยให้มีรสขมเข้มข้นตามใจชอบ จากนั้นเติมรสเค็มด้วยน้ำปลา เมื่อได้รสที่ชอบแล้วค่อยใส่ต้นหอมและผักชีสับ
  2. นำเนื้อวัวหรือเครื่องในมาฝานเป็นชิ้นพอดีคำ บางคนชอบหั่นเนื้อเป็นลูกเต๋า แต่อานนท์ชอบกินแบบฝานบางๆ
  3. จัดวางตกแต่งพร้อมผักเคียง
Tags: , , ,