โครงการส่งเสริมการออมของประชาชนอย่าง ‘หวยเกษียณ’ ที่พรรคเพื่อไทยเคยนำเสนอมาตั้งแต่สมัยเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ใกล้ถึงความจริงมากขึ้นทุกที เมื่อที่ประชุมสมาชิกผู้แทนราษฎรในวันนี้ (23 กรกฎาคม 2568) มีมติ ‘เห็นชอบ’ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในวาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 427 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ต้องขอเท้าความของที่มานโยบายนี้กันก่อนว่า ‘หวยเกษียณ’ เกิดขึ้นมาด้วย 2 Pain Point สำคัญคือ คนไทยมีนิสัยชอบเล่นหวยเป็นชีวิตจิตใจ โดยจากรายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันปี 2565 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีคนไทยกว่า 32 ล้านคนเล่นทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน ซึ่งมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบกว่า 1.39 แสนล้านบาทต่อปี
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยคือ ในยุคที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) และมีปัญหา ‘ออมเงินน้อย’ ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า กว่าร้อยละ 90 ของบัญชีคนไทย มีเงินเก็บไม่ถึง 5 แสนบาท
เมื่อนำ 2 ปัจจัยสำคัญมาผนวกเข้าด้วยกัน ‘หวยเกษียณ’ จึงกลายเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของสังคมไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านการออมในยุคสังคมผู้สูงอายุ โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2567 ของสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย พบว่า ร้อยละกว่า 67 ของกลุ่มตัวอย่าง ‘เห็นด้วย’ กับโครงการนี้ ขณะที่อีกร้อยละ 34 ยังไม่แน่ใจ
สำหรับรายละเอียดของโครงการหวยเกษียณ จะเป็น ‘สลากขูดดิจิทัล’ ที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเลขได้ตนเอง มีราคาอยู่ที่ 50 บาท ทั้งนี้ประชาชนสามารถซื้อต่อเดือนได้ไม่เกิน 3,000 บาท (หรือคิดเป็น 60 ใบ)
โดยรางวัลจะแบ่งออกเป็น 2 รางวัลย่อย ได้แก่ รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 1 หมื่นรางวัล โดยออกสลากฯ ทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. หากผู้ซื้อถูกรางวัล เงินจะถูกโอนเข้าไปยังบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) ของผู้ซื้อโดยตรง
ข้อดีของหวยเกษียณคือ จะช่วยให้ผู้ซื้อสลากมีเงินเก็บสะสมไว้สำหรับการเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี ขณะที่ยังได้ลุ้นรางวัลสนุกๆ ด้วยนั่นเอง
ด้าน ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่า โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 780 ล้านบาท และจะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณให้ประเทศได้ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้าน Thai PBS Policy Watch มองว่าโครงการ ‘หวยเกษียณ’ ยังมีข้อท้าทายอยู่อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
1. แนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุน ที่จะเพิ่มขึ้นจากการจำหน่าย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของผลตอบแทนที่ต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
2. ความยั่งยืนของโครงการที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนการออมรูปแบบอื่นๆ ด้วย
3. ปัญหาการกระจายตัวของข้อมูลและผลิตภัณฑ์ออมเงินสำหรับคนวัยเกษียณ ที่ยังไม่มีระบบกลางในการรวมข้อมูล ทำให้ประชาชนไม่สามารถวางแผนได้อย่างครบถ้วนเป็นระบบ ดังนั้นหวยเกษียณควรถูกพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินวัยเกษียณ เพื่อเชื่อมโยมกับการออมและการลงทุนอื่นๆ
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าโครงการหวยเกษียณจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างพฤติกรรมการออมให้กับคนไทย แต่ในเวลาเดียวกัน คนไทยอาจจำเป็นต้อง ‘มองหา’ ผลิตภัณฑ์การออมให้หลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างความสมดุลและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นตามเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง
อ้างอิง
– https://theactive.thaipbs.or.th/news/welfare-20240606
– https://www.benarnews.org/thai/news/th-saving-shortfall-03102025053334.html
– https://www.forbesthailand.com/news/finance-and-investment/nsf-th-lotto-for-retirement-july-2025
– https://policywatch.thaipbs.or.th/article/finance-8
Tags: Feature, สังคมผู้สูงอายุ, การออม, เพื่อไทย, หวย, เกษียณ, หวยเกษียณ