เมืองภูเก็ตอาจสมญานามว่า ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’ เต็มไปด้วยบรรดานักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสวยงามของท้องทะเลอันดามันที่รังสรรค์ความสวยงามของโลกท้องทะเล ไปจนถึงอาทิตย์อัสดงของแหลมพรหมเทพและการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศให้ต้องเดินทางมาท่องเที่ยว จนสถานที่แห่งนี้ติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวของโลกในทุกปี
แต่ใครจะรู้ว่าในเมืองแสงสีที่สวยงาม มีสิ่งหนึ่งที่กำลังเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน นั่นคือ ‘วัฒนธรรมเพอรานากัน’ วัฒนธรรมลูกผสมจากบรรพบุรุษของชาวฮกเกี้ยน ที่ฝังรากลึกอยู่ในเมืองภูเก็ตแห่งนี้
มีคำกล่าวกันว่า ‘วัฒนธรรมไม่ต่างจากของไหล’ พร้อมที่จะไหลไปมาตามภาชนะที่บรรจุ วัฒนธรรมเพอรานากันก็เช่นกัน ในห้วงหนึ่งเพอรานากันอาจถดถอยตามช่วงเวลาและสถานการณ์ของโลก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปใครจะรู้ว่า ประวัติศาสตร์เพอรานากันจะกลับมาเป็นที่นิยม พร้อมกับเป็นวัฒนธรรมที่สร้างเม็ดเงินได้ไม่แพ้การท่องเที่ยว ทำให้ผู้คนในภูเก็ตเริ่มตื่นตัวและพยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรม รากเหง้า และจิตวิญญาณของภูเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง
โล้สำเภาจาก ‘ฝูเจี้ยน’ สู่ ‘เกาะภูเก็ต’
“ถ้าจะเล่าว่าวัฒนธรรมเพอนารากันมาจากไหน คงต้องตอบว่าเดินทางมาไกลแสนไกล จากมณฑลฝูเจี้ยนประเทศจีน ข้ามโพ้นทะเลจนมายังคาบสมุทรมลายู ผ่านช่องแคบมะละกา และไหลเข้ามาบริเวณภูเก็ตในปัจจุบัน” นายแพทย์โกศล แตงอุทัย ประธานสมาคมเพอรานากันจังหวัดภูเก็ต เกริ่นถึงจุดเริ่มต้น
เพอรานากันคือคำในภาษามลายู มาจากรากศัพท์คำว่า Peran แปลว่า ‘พื้นบ้าน’ และคำว่า Akan แปลว่า ‘คน’ เมื่อรวมกันหมายถึง ‘คนที่เกิดที่นี่’ ใช้สำหรับเรียกผู้คนที่มีสายเลือดลูกผสมระหว่างมลายูกับจีน ที่ถือกำเนิดและอาศัยในแถบคาบสมุทรมลายู หรือชาติตะวันตกมักเรียกชุมชนในแถบนี้ว่า ช่องแคบจีน (Straits Chinese)
ประธานสมาคมเพอรานากัน เล่าให้ฟังว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ในเกาะภูเก็ตล้วนมีบรรพบุรุษ คือคนจีนฮกเกี้ยนจากมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) ตั้งอยู่ในแถบชายฝั่งทะเล ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 700 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์หมิง ชาวจีนโพ้นทะเลเดินทางเข้ามาในคาบสมุทรมลายูเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการเปิดเส้นทางการค้าในแถบช่องแคบมะละกา ซึ่งนำโดย ‘เจิ้งเหอ’ นักเดินเรือชาวจีน
เมื่อการค้าขายประสบผลสำเร็จ ทำให้ผู้คนจากดินแดนทั้งสองเลือกที่จะปรองดองดั่งทองแผ่นเดียวกัน โดยชาวจีนส่งเจ้าสาวมาแต่งงานกับสุลต่านในมะละกา รวมถึงหนุ่มชาวจีนก็แต่งงานกับสาวมาเลย์ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัฒนธรรมระหว่างจีนกับมาเลย์จึงเริ่มผสมผสานผ่านทายาท
ชุมชนในแถบคาบสมุทรจึงเรียกเหล่าทายาทผู้สืบสกุลสองวัฒนธรรมว่า ‘บาบ๋า-ย่าหยา’ คำว่า บาบ๋า (Baba) ใช้เรียกชาวจีนเลือดผสมที่เป็นเพศชาย ส่วนคำว่า ย่าหยาหรือโญญา (Nyonya) นำมาใช้เรียกชาวจีนเลือดผสมที่เป็นเพศหญิง ซึ่งเป็นคำที่ชาวชวายืมมาจากภาษาอิตาลี แปลว่า หญิงต่างชาติที่แต่งงานแล้ว หรืออาจจะมาจากภาษาโปรตุเกสที่แปลว่าคุณผู้หญิง
ต่อมาเมื่อชุมชนดังกล่าวเริ่มเติบโตขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของอังกฤษและโปรตุเกสในยุคการล่าอาณานิคม ทายาทของชาวเพอรานากันล้วนกลายเป็นพ่อค้า-แม่ค้ามือฉมัง เนื่องจากมีความได้เปรียบในเชิงภาษาที่สามารถพูดได้ 2 ภาษา ทั้งจีนและมลายู
แต่คำถามที่น่าสนใจจากประวัติศาสตร์ข้างต้น คือทำไมชาวจีนต้องลำบากออกเดินทางข้ามทะเลมาเช่นนี้ ประเทศจีนในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะทำมาค้าขายแล้วหรือ
คำตอบเรื่องนี้คือ ใช่ เนื่องจากในช่วงปี 2343 เกิดความระส่ำระสายของราชวงศ์จีน รวมถึงสงครามฝิ่นที่เกิดขึ้นในประเทศ
“สงครามฝิ่นเกิดหลังเมื่ออังกฤษไม่ยอมรับสถานะทางการค้ากับจีน ทำให้เอาเรือมาปิดปากอ่าวทางตอนใต้ของจีน เพื่อบีบบังคับให้จีนต้องเปิดเสรีการค้าให้กับชาติตะวันตก สงครามกินเวลายาวนานจนทำให้เกิดสภาวะอดอยากไปทั่วประเทศ ประชาชนไม่มีที่ทำกิน และหลังจากนั้นไม่นานราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนก็ล่มสลายลงในที่สุด” นายแพทย์โกศลเล่า
ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลให้ชาวจีนเลือกที่จะเสี่ยงโชคฝากดวงชะตาไว้กับท้องทะเล และเดินอพยพไปยังประเทศต่างๆ ช่องแคบมะละกา คือหมุดหมายสำคัญ เพราะมีพ่อค้าชาวจีนหลายคนเคยมาตั้งรกรากและวางรากฐานไว้เรียบร้อย ที่สำคัญในบริเวณนี้ยังมีทรัพยากรล้ำค่า คือภูเขาหินแกรนิต สามารถนำไปถลุงเป็น ‘แร่ดีบุก’
“ชาวจีนหลายคนเดินทางมาเป็นคนเหมืองในบริเวณคาบสมุทรมลายู และเมืองที่ถลุงแร่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะปีนัง หรือที่คนไทยเรียกว่าเกาะหมาก คนจีนส่วนใหญ่ที่อพยพมาจึงอาศัยอยู่ที่นั่นเพราะมีงานให้ทำ”
เมื่อชาวจีนพูดกันปากต่อปากว่า การย้ายมาเกาะปีนังทำให้พวกเขามีชีวิตที่สุขสบาย ทำให้ชาวจีนอพยพหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากเกินกว่าที่ทรัพยากรของเกาะจะรองรับได้ ทำให้ชาวจีนบางส่วนตัดสินใจเดินเรือไปข้างหน้า ไปยังหมุดหมายถัดไปนั่นคือ ‘เมืองภูเก็จ’ (ชื่อสะกดดั้งเดิมของภูเก็ต ซึ่งมีความหมายว่า ภูเขาที่ประดับไปด้วยแก้วและอัญมณี เนื่องจากตามภูมิศาสตร์ พื้นดินในบริเวณนี้มีลักษณะหลากหลาย แต่ที่มีค่ามากคือหินแกรนิตเช่นเดียวกับที่ปีนัง)
ในช่วงเวลาเดียวกันเกาะภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือในเส้นทางระหว่างจีน-อินเดีย เพราะภูเก็ตเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ขนาดว่า ปโตเลมี (Ptolemy) นักปราชญ์ชาวกรีก ยังจดบันทึกและเรียกเมืองท่าแห่งนี้ว่า ‘จังซีลอน’ หมายถึงดินแดนแห่งความมั่นคั่ง
นั่นทำให้ชาวจีนอพยพส่วนหนึ่งเดินทางมายังเมืองภูเก็ตแห่งนี้ และตั้งรกรากอาศัย พร้อมกับทำอาชีพเป็นกุลีในเหมือง ร่อนแร่ดีบุกตามสายน้ำ เพื่อรวบรวมส่งขึ้นเรือและนำไปถลุงต่อที่ปีนัง
นายแพทย์โกศลยังเล่าปิดท้ายประวัติศาสตร์การเดินทางของชาวจีนสู่ความเป็นเพอรานากันว่า
“ในช่วงนี้ที่ทำให้แรงงานจีนทะลักเข้าสู่เกาะภูเก็ตเป็นจำนวนมาก แม้ว่านายเหมืองจะเป็นชาวฝรั่ง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือกุลีชาวจีน จึงอาจเรียกได้ว่า เศรษฐกิจของภูเก็ต การสร้างบ้านแปงเมืองต่างๆ เริ่มต้นด้วยชาวจีน และเริ่มคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยคนไทย มาเลย์ และอื่นๆ ทำให้ชาวเพอรานากันในภูเก็ตเริ่มสืบเชื้อสายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
แม้ว่าวัฒนธรรมเพอรานากันในภูเก็ตจะมีความคล้ายคลึงกับที่ปีนัง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เนื่องจากในภูเก็ตยังมีสัดส่วนของคนไทยอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ในปัจจุบัน วัฒนธรรมของชาวเพอรานากันล้วนกลมกลืนและหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทยไปโดยปริยาย จึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมเพอรานากันในภูเก็ตเกิดจากการรวมของ 3 วัฒนธรรม ประกอบด้วยจีน มาเลย์ และไทย
ซึ่งตรงตามที่ กัปตันฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) ผู้ก่อตั้งเมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) ในปีนัง เขียนไว้ในบันทึกว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตมีลักษณะทางเชื้อชาติที่ผสมผสานกัน โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว
วัฒนธรรมก่อร่างสร้างเมืองภูเก็ต
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2369 เมืองภูเก็ตร่ำรวยจากค้าแร่ดีบุกมาก จากการที่สยามทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ ทำให้ภูเก็ตสามารถทำการค้าโดยตรงกับเมืองปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องผ่านเมืองหลวง ยิ่งเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 เศรฐกิจที่เคยผูกขาดในตอนนั้นก็กลายเป็นการค้าเสรีมากขึ้น มีนายฝรั่งหัวทองเข้ามาตั้งบริษัทค้าเหมืองแร่กันเป็นล่ำเป็นสัน ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้คนจีนหลายคน จากที่เคยเป็นกุลีก็สามารถตั้งตัวได้จนกลายเป็นพ่อค้า รวมตัวกันกลายเป็นตระกูลใหญ่ทำการค้าแบบกงสี
กระทั่งในปี 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลในภาคใต้ก็เกิดขึ้น พร้อมกับการก่อตั้งมณฑลภูเก็ตอย่างเป็นทางการ ต่อมาจึงแต่งตั้งให้ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ข้าหลวงใหญ่ชาวฮกเกี้ยนจากเมืองระนองมาดูแลและจัดการเมือง เนื่องจากข้าหลวงใหญ่ผู้นี้มีความสามารถมาก อีกทั้งยังพูดได้ถึง 9 ภาษา ทั้งไทย มลายู ฮินดี อังกฤษ และจีนอีก 5 ภาษา จึงเหมาะแก่การมาดูแลเมืองที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากหลากหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นทายาทของชาวฮกเกี้ยน จึงเข้ากับพ่อค้าชาวจีนและดูแลจัดการแก้ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งให้เบาลงได้
ในช่วงนี้เองที่เมืองภูเก็ตเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จากเมืองเหมืองแร่ที่มีลำคลองตื้นเขิน จึงต้องมีการขุดลอกและวางผังเมืองใหม่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับเมืองปีนัง คือมีลักษณะเป็นบล็อกตามแบบยุโรป ซึ่งหากราชการจะลงมาจัดการก็ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ แต่ข้าหลวงใหญ่ทายาทชาวฮกเกี้ยนผู้นี้กลับใช้วิธีเรียกเก็บค่าคอมเพนเซชัน (Compensation) คือการเกณฑ์แรงงานจากเจ้าของเหมืองต่างๆ เพื่อทำสาธารณประโยชน์แก่ภูเก็ต ชดเชยการสัมปทานเหมือง รวมถึงชดเชยที่ทำคลองตื้นเขินจากการขุดแร่ ให้มาเป็นการลงทุนสร้างถนนหนทางเพื่อให้การค้าขายและการขนส่งดียิ่งขึ้น
ถนนสายสำคัญในเมืองเก่าภูเก็ตก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง ไม่ว่าจะเป็นถนนเยาวราช ถนนนคร ถนนโกมารทัต ถนนไปอำเภอกะทู้ รวมถึงปรับปรุงถนนสายสำคัญอย่างถนนถลางและถนนกระบี่
ยิ่งได้รับการจัดสรรดูแลที่ดี ทำให้เหมืองภูเก็ตยิ่งต้องการแรงงานมากขึ้นเป็นเท่าตัว กล่าวกันว่า ต้องว่าจ้างเรือกลไฟวิ่งรับ-ส่ง ชาวฮกเกี้ยนจากจีนมาที่ภูเก็ตปีละ 3 เที่ยว จึงจะพอกับความต้องแรงงานในช่วงนั้น
ในเวลาเดียวกันเหล่าตระกูลใหญ่ พ่อค้าและนายเหมืองผู้มีอันจะกินแห่งเกาะภูเก็ต จึงทยอยสร้างบ้าน อาคารตึกแถว (เตี้ยมฉู่) และคฤหาสน์ (อังม่อหลาว) ขึ้นหลังจากการสร้างถนนเสร็จสิ้น
อาคารรูปร่างสวยงามเหล่านี้เรียกว่า อาคารในรูปแบบชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) เป็นอาคารทรงยุโรปผสมผสานกับความเป็นจีนได้อย่างลงตัว
แม้จะมีการถกเถียงกันในปัจจุบันว่า อาคารในลักษณะหน้าตาเช่นนี้เรียกว่าอะไร ชิโน-ยูโรเปียน, ชิโน-โปรตุกีส หรือชิโน-โคโลเนียล แต่สำหรับ ชนะชนม์ ตัณฑวณิช ทายาทรุ่นที่ 5 ของพระพิทักษ์ชินประชา (ตัน ม่าเสียง) ต้นตระกูลตัณฑวณิช นายเหมืองผู้ล่ำซำในเมืองภูเก็ต ให้ความเห็นว่า ควรเรียกตามบรรพบุรุษว่า ‘ชิโน-โปรตุกีส’ มากกว่า เนื่องจากคำว่า ชิโน-โปรตุกีส
คือการเรียกเพื่อให้เกียรติชาวโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ที่เป็นเจ้าของอาณานิคมดินแดนปีนัง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอังกฤษในเวลาต่อมา
สำหรับบ้านในลักษณะนี้คือการอธิบายรากเหง้าวัฒนธรรมเพอรานากันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการผสมผสานลวดลายปูนปั้นประติมากรรมนูนต่ำแบบจีนบนผนังด้านนอกตึกคฤหาสน์แบบฝรั่ง โดยเฉพาะบริเวณเหนือซุ้มโค้งระหว่างช่วงหัวเสาที่มีลายใบไม้ซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบคอรินเทียน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกส ผสานกับลวดลายปูนปั้นจากช่างฝีมือชาวจีนที่แกะลวดลายตามคตินิยมแบบจีน
อีกหนึ่งลักษณะเด่นของบ้านเพอรานากันคือต้องมี ‘หน้าบ้านแคบแต่ตัวบ้านยาว’ เนื่องจากในอดีตชาวเพอรานากันที่สร้างบ้านในเมืองปีนังจะถูกเก็บค่าภาษีบ้านและที่ดินตามความกว้างของตัวบ้าน จึงทำให้ชาวจีนนิยมสร้างหน้าบ้านแต่ชดเชยให้ตัวบ้านมีขนาดที่ยาวขึ้น พร้อมกับด้านหน้าของบ้านชั้นล่างจะมีทางเท้าเปิดโล่งขนาด 5 ฟุต เรียงเป็นช่องประตูโค้งสอดรับกับประตูบ้าน หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ‘หง่อคาขี่’ ที่สำคัญคือในบริเวณดังกล่าวต้องประดับประดาทางเท้าด้วยการใช้กระเบื้องหินสีจากปีนัง
“วัฒนธรรมของเพอรานากันแทรกอยู่ในทุกมิติของคนภูเก็ต อาคารที่นักท่องเที่ยวถ่ายรูปสวยงามในเมืองล้วนมาจากรากเหง้าของบรรพบุรุษเพอนารากัน จากจีนช่องแคบสู่มาเลเซียและมายังภูเก็ตแห่งนี้”
นอกจากนี้ อาคารตึกแถว (เตี้ยมฉู่) ยังเรียกอีกชื่อว่า ‘บ้านรูปมังกร’ อันหมายถึงลักษณะเด่นของตัวบ้านเพอรานากันที่มีความยาว ทว่าลวดลายและการตกแต่งบ้านไม่นิยมใช้รูปมังกร เพราะชาวจีนฮกเกี้ยนเชื่อว่าเป็นของสูง โดยมักนิยมใช้ลวดลายประเภทน้ำเต้า ไข่มุกไฟ ดอกไม้ 4 ฤดู ประแจจีน เมฆ (ลายยู่อี่) ไปจนถึงหงส์ หรือเพิ่งฮว่าง (Peng Huang) สัญลักษณ์ของความงามและความอบอุ่น รวมถึงลายดอกท้อที่บริเวณประตู เพราะเชื่อว่าจะอยู่เย็นเป็นสุขและไร้ภูติผีรบกวน
แม้ตัวบ้านจะมีความเป็นยุโรป แต่ในความเป็นจริงมีการดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่ของสถานที่นั้นๆ ดังที่บ้านของชาวเพอรานากันทุกหลังจะต้องมีส่วนที่เรียกว่า ‘จิ่มแจ้’ ลานหลังคาเปิดโล่ง ส่วนบริเวณพื้นจะเป็นบ่อเก็บน้ำอยู่กลางบ้าน
การสร้างจิ่มแจ้เป็นความฉลาดหลักแหลมของชาวเพอรานากันอย่างแท้จริง เพราะลานโล่งนอกจากจะช่วยเพิ่มแสงสว่างเข้าสู่ตัวบ้าน ยังเป็นสถานที่ทำให้ตัวบ้านมีลมพัดและนำพาความเย็นเข้ามา ไม่ให้ในตัวบ้านร้อนเกินไป อีกทั้งหากมีการทำอาคารที่มีควัน ช่องเปิดโล่งดังกล่าวก็ทำหน้าที่ระบายควันไม่ให้รบกวนคนในบ้าน
ทั้งนี้ ลานโล่งแห่งนี้ยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ที่สำคัญการมีบ่อน้ำกลางบ้านยังเป็นการเสริมฮวงจุ้ยของบ้าน ให้อยู่เย็นเป็นสุขอีกด้วย
ชนะชนม์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในวัฒนธรรมเพอรานากันคนที่เป็นใหญ่ที่สุดในบ้านคือ ‘ผู้หญิง’ ผู้ชายจะเป็นเพียงผู้ตามเท่านั้น เพื่อเป็นการให้เกียรติระหว่างกัน โดยเฉพาะในห้องครัวถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน คำสั่งของสตรีคือประกาศิตบนโต๊ะอาหาร
“แม้ตัวบ้านพูดไม่ได้ว่าใครสร้างหรือมาจากไหน แต่สิ่งที่บ่งบอกประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของเพอรานากัน ความผสมผสานของวัฒนธรรมส่วนหนึ่งคืออาคารบ้านเรือน เพราะเมื่อมีคนก็ต้องมีบ้าน และบ้านคือสิ่งที่บ่งบอกวิถีชีวิตของพวกเขา” ชนะชนม์ทิ้งท้าย
เครื่องแต่งกายผสมผสานวัฒนธรรม
เครื่องนุ่งห่มคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากเครื่องนุ่งห่มช่วยปกป้องร่างกายจากสภาวะอากาศและสภาพแวดล้อม ยังเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของมนุษย์ในการสะท้อนภาพวัฒนธรรม เครื่องแต่งกายของชาวเพอรานากันก็เช่นกัน
แม้ว่าชาวจีนฮกเกี้ยนจะเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเลแสนไกลมายังช่องแคบมะละกาจนถึงเกาะภูเก็ต พวกเขาก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบจีนเพอรานากันไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในชุดของสตรีย่าหยา ที่สะท้อนวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่าง จีน มาเลเซีย และอังกฤษ อย่างครบถ้วน ทั้งผ่านเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
“วัฒนธรรมการแต่งกายของเพอรานากันจะสะท้อนผ่านชุดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงจะใส่ทั้งเครื่องประดับและชุดที่หรูหราเพื่อแสดงความงดงาม และทุกเครื่องประดับแฝงคติพจน์และความหมายไว้ทั้งหมด แต่เมื่อเข้ามาภูเก็ตก็มีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่” ภัทร สุวัณณาคาร ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลทวีสุวัณณ์ ร้านขายเครื่องประดับเก่าแก่ของภูเก็ต และกรรมการผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน จังหวัดภูเก็ต อธิบายความสำคัญของเครื่องนุ่งห่มชาวเพอรานากัน
ย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงเพอรานากันนิยมใส่เพียงกระโจมอกเพราะอากาศเมืองไทยค่อนข้างร้อน แต่เมื่อออกนอกบ้านจะแต่งกาย นุ่งโสร่งผ้าปาเต๊ะคาดเข็มขัดเงิน-ทอง แล้วสวมเสื้อตัวในที่เรียกว่า ‘เสื้อกา’ ซึ่งตัดรัดรูปเต็มตัวสีเดียวกับเสื้อตัวนอก หรือใส่ชุด ‘เคบายา’ (Kebaya) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชุดสตรีมาเลเซีย แต่หากเป็นงานพิธีมงคลใหญ่ๆ ก็จะใส่ชุดครุยยาวแบบจีน แต่สำหรับผู้ชายส่วนใหญ่จะใส่ชุดสูทตามแบบอังกฤษทั่วไป
“เครื่องแต่งกายที่ผู้คนในอดีตใส่ สามารถบ่งบอกได้ทันทีว่า เขามาจากไหน อย่างเพอรานากันของผู้หญิงจะชัดเจนมาก เสื้อหากไม่ใส่เป็นชุดกี่เพ้าแบบจีนก็จะใส่เสื้อเคบายา หรือที่เรียกว่าชุดญาญ่า ส่วนกางเกงจะนุ่งผ้าปาเต๊ะซึ่งรับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย แต่เครื่องแต่งกายผู้ชายจะเป็นยูนิฟอร์มที่เป็นทางการทั่วไป เนื่องจากต้องออกไปติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ทำให้การใส่ชุดแบบจีนอาจไม่เหมาะสม จึงต้องใส่ชุดแบบชาติตะวันตก”
ทว่าชุดที่สำคัญและขาดไปไม่ได้สำหรับชาวเพอรานากัน คือชุดแต่งงาน บ่าว-สาว โดยผู้ชายมีการแต่งตัว 2 แบบ คือชุดแบบจีนและชุดสูทแบบตะวันตก ส่วนผู้หญิงในอดีตจะเป็นชุดที่มีลักษณะเหมือนชุดเจ้าสาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีลักษณะเหมือนชุดงิ้ว การแต่งกายเน้นความอลังการตระการตา
“จะเห็นได้ว่าทุกภาพถ่ายแต่งงานของชาวเพอรานากัน ผู้ชายจะใส่สองชุด ส่วนผู้หญิงมีแค่ชุดเดียวที่สวยงามและอลังการที่สุด โดยผู้หญิงจะอยู่ข้างซ้ายหมายถึงหงส์ฟ้า ส่วนผู้ชายจะอยู่ข้างขวาหมายถึงมังกร”
ทว่าเมื่อเดินทางมาในแถบช่องแคบมลายูจนถึงภูเก็ต การแต่งตัวของเจ้าสาวก็เปลี่ยนไปเป็นชุด ‘เกล้ามวยใหญ่’ เพื่อให้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับอุณหภูมิแบบไทย โดยชุดดังกล่าวมีลักษณะคล้ายชุดเสื้อครุย แต่ต่างตรงที่ชุดเป็นผ้าลูกไม้โปร่งมีสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดงซึ่งเป็นสีนำโชคสำหรับชาวจีน พร้อมด้วยเครื่องประดับเพชรและทองอย่างอลังการตามกำลังทรัพย์ของเจ้าบ่าวสาว
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของชุดแต่งงานสำหรับสตรีเพอรานากัน คือฮั่วก๋วน หรือมงกุฎดอกไม้ไหว ในอดีตใช้ปิ่นปักผมทั้งหมด 144 ชิ้นจากญาติและพี่น้องมาปักเกล้ามวยผม ตามขนบธรรมเนียมวันแต่งงานแบบโบราณ ซึ่งพอมาในไทยก็มีการเติมดอกไม้ไหวข้างบน และลดการแต่งกายให้ง่ายขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม”
ภัทรยังเล่าให้ฟังอีกว่า มงกุฎดอกไม้ไหว นอกจากเป็นตัวแทนของมงกุฎเจ้าสาวยังหมายถึง หัวใจที่สั่นไหวของสตรีในวันแต่งงาน เพราะมงกุฎดอกไม้ไหว สตรีเพอรานากันจะสามารถใส่ได้ครั้งเดียวในชีวิต คือวันแต่งงานนั่นเอง
ส่วนเครื่องประดับสำคัญเรียกว่า ปิ่นตั้ง แปลว่าดาว นิยมทำในลักษณะทรงกลมนูนเป็นรูปดาว 6 หรือ 8 แฉก มีความหมายถึงการเจิดจรัสดั่งดวงดาวบนฟากฟ้า ติดได้ทั้งชุดเจ้าบ่าวและเจ้าสาว มักประดับด้วยเพชรเพื่อบ่งบอกยศถาบรรดาศักดิ์ของบ่าว-สาว อีกชิ้นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กอรอสัง เครื่องประดับ 3 ชิ้นมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ตรงส่วนปลายของเครื่องประดับจะเอียงชี้ไปทางซ้ายเล็กน้อย คือชี้ไปที่หัวใจของผู้สวมใส่ ซึ่งหมายถึงประเพณีที่ต้องใช้หัวใจเป็นเครื่องนำทาง”
สำหรับเครื่องประดับกอรอสัง ภัทรเชื่อว่า เป็นคำเรียกที่เพี้ยนเสียงมาจากรากศัพท์ภาษาโปรตุเกส คำว่า กูราซู (Coração) หรือโคราซอน ที่หมายถึงหัวใจนั่นเอง
นอกจากชุดแต่งกายยังมีพิธีสำคัญในงานแต่งงานคือ ‘การยกน้ำชา’ ที่ต้องทำให้ถูกระเบียบประเพณีโบราณ
ด้วยความยุ่งยากของการแต่งตัวและประเพณี ทำให้คู่บ่าว-สาวหลายคนเลือกใส่ชุดแต่งงานแบบตะวันตก ตามแบบฉบับปัจจุบัน ทำให้ในช่วงหนึ่งการแต่งงานแบบบาบ๋า-ย่าหยา หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของภูเก็ต
“ต้องบอกก่อนว่า การแต่งงานแบบบาบ๋า-ย่าหยา เพิ่งถูกรื้อฟื้นไม่ถึง 10 ปี ในสมัยที่ผมยังเด็ก ผมเรียนตามตรงไม่มีการแต่งงานแบบบาบ๋า-ย่าหยาให้เห็นเลย ส่วนการใส่เครื่องประดับสำคัญยังพอมีให้เห็นบ้างเพราะเป็นการส่งต่อระหว่างรุ่นแม่-ลูก จึงทำให้ต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมกันยกใหญ่”
แม้ว่าในปัจจุบันการแต่งกายในรูปแบบเต็มยศของชาวเพอรานากัน จะพบได้เพียง ‘พิธีมงคล’ เท่านั้น แต่ก็มีบางส่วนที่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประยุกต์นำชุดต่างๆ มาใส่เพื่อให้เข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่มากขึ้น เช่น ผ้าปาเต๊ะที่มีลวดลายสวยงามแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของลวดลายแบบมาเลเซียหรือผ้าเคบายา
ในปัจจุบันองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำลังพิจารณาผ้าเคบายา ในฐานะมรดกร่วมทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์
ภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมเพอรานากันบางส่วนอาจจะหายและแปรเปลี่ยนไปตามเวลา แต่เชื่อว่าไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังคงฝังอยู่ในรากเหง้าของคนภูเก็ต และแปรเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมในปัจจุบันเท่านั้นเอง
ซึ่งตรงกับสิ่งที่นายแพทย์โกศลกล่าวอธิบายถึงการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเพอรานากันว่า
“ผมเชื่อเสมอว่าวัฒนธรรมเพอรานากันไม่มีวันตาย ถ้าจะตายก็ตายแค่คนรุ่นเก่าแก่อย่างผม แต่ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมมันฝังรากอยู่ในภูเก็ตหมดแล้ว ต้องขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงช่วยกันรื้อฟื้นสิ่งต่างๆ ออกมาทำให้เป็นปัจจุบัน”
การเดินทางต่อของ ‘เพอรานากัน’
มีคำกล่าวกันว่า ‘วัฒนธรรมไม่ต่างจากของเหลว’ พร้อมที่จะไหลไปมาตามภาชนะที่บรรจุ วัฒนธรรมเพอรานากันก็เช่นกัน ในห้วงหนึ่งเพอรานากันอาจถดถอยตามช่วงเวลาและสถานการณ์ของโลก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปใครจะรู้ว่า ประวัติศาสตร์เพอรานากันจะกลับมาเป็นที่นิยม พร้อมกับเป็นวัฒนธรรมที่สร้างเม็ดเงินได้ไม่แพ้การท่องเที่ยว ทำให้ผู้คนในภูเก็ตเริ่มตื่นตัวและพยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรม รากเหง้า และจิตวิญญาณของภูเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง
ตรงกับการยืนยันของ เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศส่วนหนึ่งให้ความสนใจในเรื่องของเมืองเก่าและประวัติศาสตร์ ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองที่ครบเครื่องด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเชิงความสวยงามของท้องทะเล และเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยรากเหง้าของคนภูเก็ต แม้ว่าวัฒนธรรมเพอรานากันบางส่วนอาจจะสูญหายไป แต่โชคดีที่ภูเก็ตมีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรื้อฟื้นเมืองเก่าวัฒนธรรมเพอรานากัน ให้กลับมาและนำมาประยุกต์กับความเป็นสมัยใหม่ เปลี่ยนเกาะภูเก็ตให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ในอนาคต
ภัทรกล่าวว่า สาเหตุที่เขากลับมารื้อฟื้นวัฒนธรรมเพอรานากัน ด้วยการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต (Peranakan Phuket Museum) เนื่องจากเขาเกิดและเติบโตในตระกูลทำเครื่องประดับ อีกทั้งเป็นลูกหลานของชาวฮกเกี้ยนภูเก็ต เขารับรู้เพียงว่ามีเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเพอรานากัน แต่เขาไม่รู้ว่า วัฒนธรรมเพอรานากันคืออะไร
จากการเริ่มศึกษาทำให้เขาพบว่า วัฒนธรรมเพอนารากันแฝงอยู่ในทุกมิติของภูเก็ต จนอาจเรียกได้ว่า คือ ‘วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต’
นอกจากการรื้อฟื้นจะทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเดินไปข้างหน้า ยังช่วยในการต่อยอดธุรกิจของที่บ้าน นั่นคือเครื่องประดับ ทว่าหากรื้อฟื้นเพียงเครื่องประดับก็ไม่สามารถในคนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยวเข้าใจได้ว่า เพอรานากันคืออะไรและเกี่ยวกับวิถีชีวิตอย่างไร
ภัทรเดินนำเราเข้าสู่ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์จัดแสดงที่ครบวงจร ตั้งในเรื่องของอาคาร อาหาร โดยอาภรณ์เครื่องประดับและเสื้อผ้าของชาวเพอรานากัน เป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
“เราอยากจะนำเสนอในเรื่องของวิถีชีวิตของคนภูเก็ตท้องถิ่นดั้งเดิมจากเมื่อก่อนจนถึงปัจจุบัน จากเรื่องของเครื่องประดับ เราแตกออกมาเป็นวิถีชีวิต ร้านกาแฟ อาหาร ที่อยู่อาศัย และการใช้ชีวิตทั่วไป”
ในช่วงแรกของการรื้อฟื้นวัฒนธรรม ความท้าทายคือเอกสารที่พูดถึงเพอรานากัน ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย แต่เป็นการบอกเล่าปากต่อปากเสียมากกว่า ทำให้เขาต้องเดินทางไปค้นหาถึงต้นตอของรากเหง้า นั่นคือที่ปีนัง มะละกา จนถึงคาบสมุทรมลายู เพื่อนำมาเรียบเรียงและวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพอรานากันในภูเก็ตกับสถานที่อื่นๆ
“ถ้าเราอยากหาความรู้เรื่องเพอรานากัน ต้องรีบเข้าไปคุยกับคนเฒ่า คนแก่ เพราะคนภูเก็ตเจเนอเรชันใหม่เริ่มกลับมาปะติดปะต่อวัฒนธรรมได้ยาก การกลับมาค้นหารากเหง้าในอดีตไม่ใช่เรื่องง่าย”
ขณะเดียวกันเขาเชื่อว่า ในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่นำรากเหง้าและจิตวิญญาณของชาวเพอรานากันมาสานต่อ
“ไม่อยากให้มองว่าพิพิธภัณฑ์คือการรวบรวมของเก่า เราอยากให้คนที่มาที่นี่ได้ความรู้ สองคือมาแล้วได้สัมผัสจริงๆ เปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ ให้กลายเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ ส่งเสียงและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ชม ข้อสุดท้ายคืออยากเก็บความรู้ความเป็นภูเก็ต ที่หากเราไม่อนุรักษ์ในวันนี้ก็อาจจะหายไป เราจึงพยายามที่จะนำเสนอตรงนี้ขึ้นมา”
อีกด้านหนึ่ง สัจจ หงษ์หยก ทายาทตระกูลหงษ์หยก ผู้เปลี่ยนอังม่อหลาวของตระกูล ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในชื่อ ‘บ้านอาจ้อ’ พร้อมกับนำเมนูอาหารในอดีตมารื้อฟื้น จนอาหาร ‘ร้านโต๊ะแดง’ กลายเป็นร้านที่ได้รางวัลระดับมิชลิน
“บ้านอาจ้อ ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็คือ ทวด ซึ่งทวดของผมเป็นชาวฮกเกี้ยน ส่วนผมเป็นฮกเกี้ยนและไทย ผมคือชาวจีน บาบ๋า-ยาหย่า”
ก่อนที่จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านอาจ้อคืออังม่อหลาวของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ หรือ จิ้นหงวน หงษ์หยก ตั้งอยู่ถัดจากหาดไม้ขาว ไม่ไกลจากสะพานสะพานสารสิน ซึ่งห่างไกลจากเมืองเก่าภูเก็ตพอสมควร เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสวนมะพร้าวและแหล่งปลูกยางพารา แต่เนื่องจากไกลจากตัวเมือง ทำให้ทวดตัดสินใจปิดบ้านหลังนี้ และไปก่อสร้างบ้านหลังใหม่ในตัวเมืองภูเก็ต
จนกระทั่งในช่วงที่ อากง ทายาทรุ่นถัดมาของบ้านไม่สบาย ทำให้เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพวิศวกรจากเมืองหลวงเดินทางสู่เมืองภูเก็ต และเริ่มคุยกับพี่น้องเพื่อแปลงโฉมอังม่อหลาวแห่งนี้ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งเพื่อเป็นของขวัญให้อากง
ในที่สุดอังม่อหลาว ก็แปลงโฉมเป็นบ้านอาจ้อ พิพิทธภัณฑ์ที่มีชีวิต และแฝงไปด้วยจิตวิญญาณของเพอรานากันอย่างเต็มเปี่ยม จากความตั้งใจจะกลับมาดูแลอากงแปรเปลี่ยนให้ สัจจ เริ่มลงลึกกับวัฒนธรรมเพอรานากันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเขาตัดสินใจว่า จะสานต่อประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมเพอรานากัน เท่าที่จะทำได้ โดยใช้บ้านของอาจ้อเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้
“ในช่วงที่เราปรับปรุงบ้าน ในฐานะที่เราเป็นสถาปนิค ยิ่งเราเรียนรู้กับบ้านเรายิ่งทึ่งว่า บ้านหลังนี้มีมนต์เสน่ห์ เต็มไปด้วยวิถีชีวิตของความเป็นเพอรานากัน ตั้งแต่ตัวอาคารบ้าน เสื้อผ้าที่อากงและทวดเคยใช้ จนเมนูอาหารที่ย่าเก็บไว้” สัจจ อธิบายเพิ่มเติม
ในช่วงแรก การท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ทำให้เขาตัดสินใจต้องเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้นโดยนำเมนูเก่าของครอบครัวมาปรับปรุงให้เข้ากับปัจจุบัน จนกลายมาเป็นเมนูยอดฮิตไม่ว่าจะเป็น ผักลิ้นห่านไฟแดง ซึ่งคือผักพื้นเมืองของหาดไม้ยาว แกงคั่วมอต๊านหมูย่าง ใช้เงาะมาปรุงเป็นแกงเพิ่มรสหวาน หรือยำยานัดสับปะรดภูเก็ต และที่ขาดไม่ได้คือ
ทว่าไม่นานหลังจากสร้างร้านอาหาร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็เริ่มโด่งดังขึ้น พร้อมกับชื่อของ ‘วัฒนธรรมเพอรานากัน’ ทำให้ บ้านอาจ้อ เริ่มมีผู้คนไหลเวียนมาไม่ขาดสาย
“ผมกลับมาหารากเหง้าทางวัฒนธรรม ค้นลึกลงไปจนเจอว่าแท้จริงแล้วจิตวิญญาณของคนภูเก็ต เติบโตมาจากไหน พร้อมกับเสริมความเป็นตัวตนของผมในโลกปัจจุบัน จนกลายเป็นบ้านอาจ้อแห่งนี้”
สุดท้าย สัจจ เชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไรวัฒนธรรมเพอรานากัน คงไม่ตายและไม่หายไปไหน ตราบใดที่ลูกหลานภูเก็ตและคนรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจ ถ้าถามเขาว่าเพอรานากันคืออะไร สำหรับเขาตอบได้ทันที ว่าคือเขาเอง
“เพอรานากันคือผม ผมเกิดและโตที่นี้ ยังมีอีกหลายคนที่เหมือนผมและพวกเรากำลังช่วยกันสานต่อลมหายใจของเพอรานากันให้อยู่คู่กับเกาะภูเก็ตต่อไป” สัจจ ทิ้งท้าย
ไม่รู้ว่าในอนาคตเกาะภูเก็ตจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าวัฒนธรรมเพอรานากัน รากเหง้า และจิตวิญญาณภูเก็(จ)ต คงจะเดินทางต่อและตราบใดที่มีคนหยัดยืนเพื่อสานต่อ เพอรานากันคงไม่มีวันหลับใหลอย่างในอดีตที่ผ่านมา
อ้างอิง
– ภูเก็ต เหมืองดีบุกและวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเล, สำนักพิมพ์สารคดี
– ภูเก็ต ศูนย์กลางการท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามัน, สำนักพิมพ์สารคดี
– วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดภูเก็ต
– เปอรานากัน: บาบ๋า-ย่าหยามรดกทางวัฒนธรรมสายเลือดลูกผสมมลายู-จีน, มหาวิทยาลัยศิลปากร
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/162171
– มนต์เสน่ห์แห่ง “เพอรานากัน” มรดกทางวัฒนธรรมสู่ผลงานเครื่องประดับ, มหาวิทยาลัยศิลปากร https://sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/9763895c-0054-434d-ba5a-8b55fc876309/Chofa_Hongsittichaikul_ba.pdf
Tags: วัฒนธรรม, Feature, ประวัติศาสตร์, ภูเก็ต, เพอนารากัน, คอซิมบี้, ปิ่นตั้ง, มงกุฎดอกไม้ไหว