แผ่นไม้เรียบบางซ้อนเป็นกำแพง ไม้แข็งใช้ปูพื้นรับน้ำหนัก ภายในกว้างพอให้ได้เหยียดแข้งขาในเวลาพัก หากพื้นที่ยังพอมีเหลืออาจเพิ่มห้องสุขภัณฑ์ และส่วนอื่นๆ เช่น พื้นที่ประกอบอาหาร แต่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพียงตั้งวางเครื่องปรุงกับเตาแก๊สไว้สักจุดภายในเพิงคงพอทำอาหารได้ 

“ส่วนหลังคาไม่ต้องหรอก ลองเงยหน้ามองสิ เรามีหลังคาที่แพงที่สุด ราคาเป็นพันๆ ล้าน”

ป้าติ๋ม ประธานชุมชนบ้านกล้วยพูดขึ้น เธอเงยหน้ามองคอนกรีตหนาทึบเหนือศีรษะ 

ชาวบ้านชุมชนบ้านกล้วย เขตคลองเตย ได้รับการดูแลจากป้าติ๋ม บ้านหลายหลังริมถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำตั้งอยู่บนที่ดิน ‘เช่า’ จากการท่าเรือ ทว่าบางส่วนกลับเข้าไม่ถึงที่ดินเช่าเหล่านี้ เช่นนั้นใต้ทางด่วนติดชุมชนจึงเป็นทางเลือกน้อยนิดสำหรับบางชีวิตให้ได้หลับพ้นไปแต่ละคืน

“ลุงเขาอยู่ใต้ทางด่วนมาเกือบ 30 ปีแล้ว อยู่ตั้งแต่ภรรยายังไม่เสีย ตอนนี้เสียแล้วแกก็อยู่คนเดียว”

ความเป็นอยู่ของชายชราใต้ทางด่วนได้รับการบอกเล่าผ่านป้าติ๋ม ประโยคที่เธอว่า “หลังคาที่แพงที่สุด” ไม่ได้หมายถึงโครงไม้ปูกระเบื้องทั่วไปที่ใช้กันแดดกันฝน หากแต่เป็นโครงสร้างท้องทางด่วนที่ห่มคลุมทุกชีวิตในเพิงพักเหล่านี้

สภาพแวดล้อมบริเวณใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร

ริมถนนคืองาน ใต้สะพานคือสิ่งที่หลงใหล

ถนนข้างทางรถไฟสายเก่าปากน้ำนั้นคึกคักตลอดเวลา แม้เป็นช่วงบ่ายรถรายังไม่ขาดสาย เป็นผลดีกับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารริมถนน 2 ฝั่ง ร้านค้าขายของจิปาถะราคาถูก และร้านซ่อมรถ ทุกอาชีพที่ทำแล้วได้เงินมากองรวมอยู่ริมถนนตลอดทั้งเส้น พื้นที่นี้คนในชุมชนบางส่วนสร้างที่พักอาศัยบนที่ดินเช่าจากการท่าเรือ แต่คนบางส่วนไม่อาจเข้าถึงที่ดินเหล่านั้นได้

เราเดินมาถึงบ้านของกร หากเดินลึกเข้าไปจนสุดตัวบ้านจะพบว่า ด้านหลังยังมีอีกชีวิตเคลื่อนไหวขนานกับการค้าขายด้านนอก แม้ไม่คึกคักเท่า แต่ความสงบที่มีก็พอเป็นสมาธิกับคนทำงาน เช่นที่กรทำอยู่ใต้ทางด่วนขณะนี้

กร ขณะเลื่อยไม้อยู่หลังบ้าน

 

“ผมทำเฟอร์นิเจอร์เอาไว้ใช้เองครับ” กรเล่าปนมากับเสียงเลื่อยไม้

หลังบ้านกรมีทางด่วนเป็นฉากหลัง เขาแปรสภาพพื้นที่ใต้หลังคาราคาแพงเป็นโรงเลื่อยไม้ขนาดย่อมๆ 

โต๊ะ เก้าอี้รอบข้างคือชิ้นงานที่กรทำเสร็จแล้ว ส่วนไม้บนเครื่องเลื่อยเตรียมพร้อมรับการรังสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ 

“ปกติผมขายก๋วยเตี๋ยวกับแฟนอยู่หน้าบ้าน พอขายเสร็จก็กลับมาทำเฟอร์นิเจอร์อยู่ด้านหลัง”

โต๊ะและเก้าอี้บางตัว อาจถูกขายไปบ้างเมื่อมีคนซื้อแต่ไม่มากนัก เพราะในที่ลับตาคนใต้ทางด่วน น้อยคนนักจะเดินทะลุตัวบ้านผ่านมาเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่กรทำ งานไม้จึงไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้สำหรับกร เป็นเพียงสิ่งที่เขาทำเพราะความหลงใหล และความชอบส่วนตัวเท่านั้น 

“มันเป็นงานอดิเรกและสิ่งที่ผมชอบทำ แต่เราต้องช่วยภรรยาขายของ เลยมีแต่ช่วงเวลาว่างๆ เราถึงจะได้เข้ามาทำงานที่เราชอบ”

ริมถนนที่คึกคัก กรมีอาชีพเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวด้วยความจำเป็น โดยจัดลำดับสิ่งที่เขารักและหลงใหลไว้ท้ายขบวน หรืออาจเก็บไว้ใต้สะพานที่นานครั้งยามเขาว่างจึงจะกลับมาทำอีกครั้ง

 

เราอยู่กันอย่างครอบครัวใหญ่

“เรามีบ้านใต้สะพานทั้งหมด 3 หลัง เป็นญาติกันหมด อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่” หญิงวัยกลางคนพูดขึ้น พลางชี้เหล่าคนที่ทั้งนั่งทั้งยืนเพื่อระบุตำแหน่งในเครือญาติ 

ครอบครัวใหญ่ใต้ทางด่วน

ถึงครอบครัวจะใหญ่ มีสมาชิกมากมาย แต่ทั้งหมดยังต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน ตั้งแต่เครื่องซักผ้าที่ต้องแบ่งกันใช้เพราะมีอยู่เพียงถังเดียว แม้แต่วัตถุดิบประกอบอาหาร เช่นผักใบเขียวยังต้องใช้ร่วมกัน

“ผักกวางตุ้งเก็บมาจากตลาด เอามาทำอาหารกินเย็นนี้แล้วก็แจกจ่ายให้พี่น้องเรากินกัน”

ผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารในแต่ละมื้อ ไม่ได้มีที่มาจากแปลงปลูกผักสวนครัว หรือหาซื้อ แต่เป็นผักเหลือจากการขายในตลาดสดคลองเตยเพื่อเตรียมทิ้ง เมื่อเห็นว่าผักยังกินได้ จึงเก็บใส่ถุงกลับบ้านก่อนหน้ารถขยะจะมาเก็บไป

“ลูกชายเราจะไปประจำที่ตลาดคลองเตย คนขายผักเขาก็จะเอาผักที่เตรียมทิ้งให้ พอเขาเอากลับมาที่บ้าน ตัวเราก็มานั่งเลือกว่าผักกองไหนยังกินได้ ก็เก็บไว้กินและแจกจ่ายบ้านข้างๆ

“เราไม่เก็บผักไว้คนเดียวหรอก แบ่งๆ คนอื่นเขาไป บางคนเขาตกงาน ไม่ใช่แค่คนไทยนะ คนเมียนมาเราก็แจก”

เปรียบเทียบครอบครัวในเพิงพักใต้ทางด่วนแต่ละหลัง ครอบครัวนี้ดูจะอบอุ่น และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ผนังไม้สร้างอย่างมั่นคงปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย มีห้องน้ำไว้ใช้สอย และมีสิ่งของอำนวยความสะดวกพอประมาณ ขณะที่ใต้ท้องทางด่วนซึ่งเป็นหลังคาของครอบครัวนี้ถูกทาด้วยสีขาว เพิ่มความเป็น ‘บ้าน’ ได้มากโข

เจ้าของเพิงพักมัดรวมผัก เตรียมแจกจ่ายให้เพิงข้างเคียง

 

หญิงสาว

ในซอยข้างบ้านป้าติ๋ม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากการท่าเรือ เป็นทางที่เดินลึกไปได้ถึงใต้ทางด่วน นำไปสู่เพิงพักขนาดเล็กตั้งอยู่ริมน้ำ ตัวเพิงหุ้มด้วยกระเบื้องสีขาวขุ่นมัว บางแผ่นแตกหักจนมองเห็นภายในเพิงพักได้

นี่เป็นที่นอนของนิว วัย 21 ปี กับลูกสาวตัวน้อย วันนี้ลูกของเธอไม่อยู่ มีเพียงนิวพักผ่อนอยู่ด้านใน เตรียมออกไปทำงานที่ท่าเรือช่วงค่ำ 

นิว หญิงวัย 21 ปี

“เราทำงานอยู่ในคลังสินค้า ช่วงกะกลางคืน งานหนักเหมือนกัน”

นิวเรียนจบชั้นมัธยมสายวิทยาศาตร์-คณิตศาสตร์ เธอเลือกไม่ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน และเดินหน้าทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและลูกน้อย ซึ่งอีกไม่กี่ชั่วโมงนิวจะเริ่มแต่งตัวเตรียมออกไปทำงานจนถึงรุ่งเช้าอีกวัน

“งานเราเริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่ม ยาวไปจนถึงเช้าเลย งานส่วนใหญ่ของเราก็เป็นพวกจัดทำของอยู่ในคลังสินค้า”

แม้ภาระงานของผู้หญิงคนนี้จะหนักหนาเพียงใด อยู่ในเวลางานจนกินเวลาใช้ชีวิตขนาดไหน ค่าแรงของนิวยังไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในครอบครัว เธอเล่าให้ฟังว่ารายได้จากการทำงานสูงสุดต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเราเห็นด้วยกับสิ่งที่นิวสะท้อนว่า “ไม่ถึง 15,000 บาท แค่จะกินยังไม่พอเลย”

รายได้ที่น้อยนิดจนไม่พอกิน มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของนิว หลายครั้งเธอตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาลเพราะกังวลค่าใช้จ่ายในการรักษา การซื้อยาจากคลินิกรับประทานเองจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

“ตอนเราป่วย เราไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เลยหายารักษาเอาเอง ส่วนสิทธิบัตรทองก็ไม่ได้ช่วยอะไรเรามากเลย”

พื้นที่ประกอบอาหารของนิว

 

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือความปลอดภัยของผู้หญิงใต้ทางด่วน ด้วยบ้านที่ผุพังไม่สามาถปกป้องพวกเธอได้อย่างเต็มศักยภาพ เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับคนในชุมชนซึ่งมีเพิงพักไม่ห่างจากนิวมาก 

“มีครั้งหนึ่งคนจากฝั่งคลองว่ายน้ำข้ามมาขึ้นฝั่งใต้ทางด่วน มันเดินไปเคาะประตูบ้านเขาพยายามจะข่มขืน

“เราหลับๆ ตื่นๆ อยู่เป็นอาทิตย์ เพราะระแวงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นิวด้วยน้ำเสียงอ่อน

ภายในเพิงพัก ห้องขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นทั้งที่นอน ที่กินข้าว และเล่นกับลูกๆ ห้องน้ำแยกออกไปด้านข้างเพิง สิ่งที่สะดุดตาคือสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งวางอยู่อย่างเจียมตัว เราถามต่อถึงเหตุผลของการมีสิ่งนี้อยู่ในห้อง 

“เราตั้งใจซื้อไว้เผื่อจะถูกบ้าง เราก็หวังเงิน 12 ล้านเหมือนกัน ถ้าเกิดเราถูกหวยเราจะออกไปซื้อบ้านอยู่กับพ่อ และเราจะเปิดร้านไวนิลที่บ้าน” เสียงของนิวฝากความหวังไว้ในกระดาษสลากกินแบ่งรัฐบาล

สลากกินแบ่งรัฐบาลของนิว

การพัฒนาที่ต้องรับฟังผู้อื่น

ไม่มีใครในชุมชนใต้ทางด่วนไม่รู้จักกับป้าติ๋ม เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิดวงประทีปการันตีกับเรามาอย่างนั้น ซึ่งเป็นความจริง ผู้คนริมถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำต่างรู้จักชื่อนี้ จำได้กระทั่งว่า ผ่านไปกี่ร้านค้าจึงจะถึงบ้านของป้าติ๋ม 

ป้าติ๋มอาศัยอยู่ภายในชุมชนบ้านกล้วยโดยเช่าที่ดินจากการท่าเรือ ปลูกบ้านอยู่กับลูกหลานมานานหลายปี ชุมชนของป้าติ๋มเป็นชุมชนที่ได้รับการ ‘จดแจ้ง’ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคนในชุมชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าชุมชนที่ไม่ได้จดแจ้ง

เหตุผลที่คนย่านนี้รู้จักมักคุ้นป้าติ๋มเป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นประธานชุมชนริมถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงสิ้นลมหายใจของสมาชิกภายในชุมชนได้เรี่ยวแรงป้าติ๋มดูแลให้ เช่นเดียวกับที่เธอกำลังทำอยู่หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวขณะนี้

ป้าติ๋ม 

“ป้ากำลังทำเอกสารรับของบริจาคจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ก่อนหน้านี้เขาโทรมาถามกับป้าว่าที่ชุมชนมีผู้สูงอายุไหม มูลนิธิจะบริจาคของให้ 50 คน ป้าเลยบอกว่าผู้สูงอายุฝั่งบ้านเรามี 30 คน อีกฝั่งหนึ่งของชุมชนมี 20 คน ส่วนคนในชุมชนคนไหนเป็นผู้พิการเราจะให้เขานำบัตรมาด้วย 

ภายในถุงยังชีพประกอบด้วยของกินและเงินอีกจำนวนหนึ่งตามแต่มูลนิธิจะจัดสรร 

“อย่างงวดที่แล้วในถุงมีเงินให้พันหนึ่ง มาม่าหนึ่งกล่อง แต่ตอนนั้นเขาให้มาแค่ 18 ชุด พอมาวันนี้ให้ตั้ง 50 ชุด ป้าก็เลยเดาไม่ถูกว่าเขาจะเพิ่มหรือลดของ ส่วนคนพิการมูลนิธิจะจัดของให้ต่างหาก แตกต่างกับถุงยังชีพของผู้สูงอายุ”

เมื่อการช่วยเหลือตัวเองของผู้สูงอายุและผู้พิการเป็นเรื่องยาก ป้าติ๋มจึงอาสาเป็นธุระให้คนในชุมชน ทั้งติดต่อขอรับถุงยังชีพมอบให้ผู้ยากไร้ ดูแลการศึกษาและดำเนินการทางเอกสารให้เด็กเกิดใหม่ กระทั่งเก็บข้อมูลของชุมชนเพื่อดูว่า มีปัญหาใดต้องจัดการบ้าง เช่นกรณีล่าสุดที่ป้าติ๋มเก็บข้อมูลว่าที่พักอาศัยใดในชุมชนยังไม่มีทะเบียนบ้าน ด้วยเกรงว่าจะทำให้ผู้อยู่ใต้ชายคาจะไม่ได้รับรับถุงยังชีพหรือสิทธิ์อื่นๆ

“จริงๆ ในเขตคลองเตยยังมีหลายชุมชนที่ไม่ได้จดแจ้ง ป้าก็เคยเดินทางเพื่อจะไปจดแจ้งแต่เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าหากจะจดแจ้งเพื่อจัดตั้งชุมชนต้องมีบ้านอยู่ในพื้นที่ 100 หลังคาเรือนขึ้นไป บางชุมชนที่ไม่ครบตามเป้า มีแค่ 50 หรือ 60 ครัวเรือนจึงไม่ได้จดแจ้ง

“แต่สำหรับชุมชนนี้ พอขอจดแจ้งเขาก็บอกว่าทำได้ แต่อาจไม่มีงบประมาณให้ เราเลยตั้งคำถามว่าแล้วจะจดไปทำไมในเมื่อจดไปก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะเราตั้งใจจะจดแจ้งเพื่อของบประมาณมาพัฒนาคนและชุมชน ในเมื่อจดแจ้งแล้วสุดท้ายปล่อยคนในชุมชนอยู่ตามเวรตามกรรม สู้อยู่แบบนี้ต่อไปดีกว่า”

ชาวบ้านริมถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

อีกหนึ่งปัญหาที่สะท้อนจากเสียงของผู้นำชุมชนอย่างป้าติ๋มคือการถูกรัฐไล่ที่ ซึ่งสำหรับเธอการพัฒนาสามารถทำได้ ทว่าหากพื้นที่นั้นทับซ้อนกับที่อาศัยของผู้คน การพัฒนาต้องมองเห็นพวกเขาด้วย 

“ชุมชนนี้เป็น 1 ใน 26 ชุมชนที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะไล่ แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะไล่นะ เขาบอกว่าขอใช้พื้นที่และมีของมาล่อใจ เช่น เงิน หรือคอนโด ครั้งหนึ่งเขามีโครงการปูถนนใต้ทางด่วน 4 เลน ขนานกับเขตชุมชนบ้านของคนในชุมชนนี้จะโดนรื้อหมด ป้าเลยไปชวนคนจากชุมชนต่างๆ พากันไปสำนักงานที่ออกแบบถนน เพราะในแบบไม่มีบ้านของคนในชุมชนเลย มีแต่ถนนสวยเชียว คนในชุมชนนี้ต้องการการพัฒนา แต่ไม่ต้องการการพัฒนาที่สั่งลงมา

“คนที่รวยหน่อยเขาอาจจะอยากได้ แต่คนไม่มีจะกินเขาจะไปได้อย่างไร คนจนสมัยนี้แก่แล้ว จะให้เขาไปนั่งนับหนึ่งบ่อยๆ เหรอ” ป้าติ๋มว่า

ป้าติ๋ม ขณะเดินออกจากเพิงพักของลุงสุข

Tags: , , , , , , , , , , ,