‘เผด็จการ’ ระบอบการปกครองที่อำนาจถูกรวมศูนย์อยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว หรือกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียว อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของสังคมมนุษย์ และพบอยู่บ่อยครั้งในวัฒนธรรมต่างๆ ตามประวัติศาสตร์ ถึงระดับที่ว่า ในบางช่วงเวลา ระบอบเผด็จการคือระบบการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่า ‘เป็นธรรมชาติ’ และมีประสิทธิภาพที่สุด

อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แนวคิดเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมโลกในยุคปัจจุบัน และทำให้ความคิดเห็นที่บรรดาเหล่าผู้นำประเทศมีต่อสถานะเผด็จการเปลี่ยนไป ตอนนี้การถูกตีตราว่าเป็นเผด็จการไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีอีกต่อไป กลับกัน มันคือหายนะที่นำไปสู่แรงต่อต้านจากประชาชน หรือการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ซึ่งอาจทำให้ผู้นำคนดังกล่าวสูญเสียอำนาจไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำประเทศทั้งหลายจึงมักพยายามชี้ว่า ตนและประเทศที่ตัวเองปกครองกำลังยึดถือในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าความเป็นจริงจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ตาม ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างชัดเจนอย่างเกาหลีเหนือยังมีระบบ ‘เลือกตั้ง’ (ที่ท่านผู้นำสูงสุดชนะทุกครั้ง) และมีคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อยู่ในชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี)

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ผู้นำทุกคนที่ให้ความสนใจว่าถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการหรือไม่ ในทางกลับกัน พวกเขากลับภูมิใจในความเป็นเผด็จการหรือความไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวเองด้วยซ้ำ นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) แห่งเอลซัลวาดอร์ ผู้เถลิงอำนาจเป็นประธานาธิบดีคนที่ 43 ของประเทศเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา คือหนึ่งในคนประเภทดังกล่าว

นี่คือเรื่องราวของเอลซัลวาดอร์และบูเคเล

1

เอลซัลวาดอร์หรือสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) เป็นประเทศขนาดเล็กๆ ในทวีปอเมริกากลาง มีพรมแดนติดกับกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว ดินแดนเอลซัลวาดอร์อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ (Geothermal Energy) ปิโตรเลียม และป่าไม้ 

ด้วยประชากรกว่า 6 ล้านคน เอลซัลวาดอร์คือหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นประชากรมากที่สุดในภูมิภาค เป็นประเทศที่มีบุคลากรมากพอที่จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟู และจุดหมายปลายทางอันน่าค้นหาของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้เป็นที่รู้จักในสังคมนานาชาติ กลับกลายเป็นการที่มันคือแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งอาชญากรรมอย่าง ‘Mara Salvatrucha’ (MS13) และ ‘18th Street’ ที่ขึ้นชื่อว่ามีเครือข่ายใหญ่โต มีสมาชิกเยอะ และมีความโหดเหี้ยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ด้วยสมาชิกมากกว่า 2 หมื่นคน อาชญากรเหล่านี้เปลี่ยนเอลซัลวาดอร์จากประเทศที่กำลังก่อร่างสร้างตัว กลายเป็นแหล่งมั่วสุม ตลาดยาเสพติด และสนามรบของสงครามระหว่างแก๊ง ในปี 2015 เพียงปีเดียว เอลซัลวาดอร์ต้องประสบกับคดีฆาตกรรม 6,656 คดี เทียบเท่ากับ 103 คดีต่อประชากร 1 แสนคน ถือว่าเป็นหนึ่งในอัตราฆาตกรรมที่สูงที่สุดในโลกในตอนนั้น

สงครามกลางเมืองในเอลซัลวาดอร์ ที่เป็นการรบกันระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์ (Farabundo Martí National Liberation Front: FMLN) กับกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่นำโดยคณะรัฐประหาร (Revolutionary Government Junta: JRG) เกิดขึ้นระหว่างปี 1979-1992 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนราย เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เอลซัลวาดอร์ตกอยู่ในวังวนแห่งอาชญากรรม

นอกจากสงครามกลางเมืองจะก่อให้เกิดปัญหาความยากจนในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เข้าสู่เส้นทางอาชญากรรมแล้ว ความขัดแย้งดังกล่าวยังส่งผลให้รัฐบาลและสถาบันการเมืองของเอลซัลวาดอร์ในยุคหลังสงครามไร้ซึ่งประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน ทำให้แก๊งอาชญากรขึ้นมามีอำนาจและมีบทบาทในสังคมของเอลซัลวาดอร์ได้อย่างง่ายดาย

นักการเมืองและประธานาธิบดีจาก 2 พรรคใหญ่ของประเทศ คือพรรค FMLN (ที่เป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมือง) และพรรค Alianza Republicana Nacionalista (ARENA) พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็ต้องประสบความล้มเหลวหรือถูกหยุดกลางคันเพราะปัญหาคอร์รัปชันแทบทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น แผน ‘Mano Dura’ (Iron First หรือ ‘หมัดเหล็ก’) ซึ่งให้สิทธิเจ้าหน้าที่ในการจับกุมใครก็ได้ที่ ‘ดูเหมือน’ จะเป็นสมาชิกของแก๊งอาชญากร ที่อดีตประธานาธิบดี ฟรานซิสโก ฟลอเรส (Francisco Flores) จากพรรค ARENA พยายามใช้ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะแทนที่จะลดอัตราการเกิดอาญากรรม แผนดังกล่าวกลับทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนเอลซัลวาดอร์จึงหมดศรัทธาในระบบการเมืองแบบเก่า และเรียกร้องหาผู้นำคนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ บุคลิก และวิธีการบริหารต่างไปจากเดิม

นายิบ บูเคเล คือผู้นำคนนั้น

2

นายิบ บูเคเล เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1981 ในครอบครัวนักธุรกิจฐานะดี ที่อพยพมาจากปาเลสไตน์ พ่อของเขา อาร์มานโด บูเคเล (Armando Bukele) เป็นผู้ที่มีบทบาททางสังคมการเมืองของเอลซัลวาดอร์ เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมัสยิดแห่งแรกของเอลซัลวาดอร์แล้ว เขายังคอยสนับสนุนกลุ่มนักรบฝ่ายซ้ายที่รบเพื่อต่อต้านกับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และภายหลังสงครามการเมืองจบลง เขายังใช้บริษัทโฆษณาของตนเป็นปากเสียงให้กับพรรค FMLN ด้วยเหตุนี้ ชีวิตการเมืองของบูเคเลในช่วงแรกจึงเกี่ยวพันกับพรรค FMLN ไปโดยปริยาย

ความมุ่งมั่นและพรสวรรค์ด้านการใช้สื่อของบูเคเล โดยเฉพาะในเรื่องการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วยให้เขากลายเป็นที่ถูกใจของสมาชิกระดับสูงของพรรค FMLN เป็นอย่างมาก จนพรรคเลือกที่จะสนับสนุนอาชีพทางการเมืองของบูเคเล และทำให้เขาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีของนิวโวคัสเคตลัน (Nuevo Cuscatlan) ชุมชนเล็กๆ ชานเมืองซานซัลวาดอร์ (San Salvador) เมืองหลวงของเอลซัลวาดอร์ ในปี 2012 

บูเคเลไม่ปล่อยให้โอกาสทางการเมืองนี้สูญเปล่า เขาเปลี่ยนชุมชนนิวโวคัสเคตลัน ให้กลายเป็นหนึ่งในย่านที่น่าอยู่ที่สุดในประเทศ ผ่านการสร้างห้องสมุด พัฒนาศูนย์ชุมชน และมอบสวัสดิการประเภทต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาให้กับประชาชน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขาตัดสินใจลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ เมืองซานซัลวาดอร์ ในปี 2015 บูเคเลจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนเอาชนะคู่แข่งจากพรรค ARENA ที่ครองตำแหน่งผู้ว่าฯ ติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปีได้

เมืองซานซัลวาดอร์ภายใต้การดูแลของบูเคเลได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่ เหมือนกับที่เขาเคยทำไว้กับชุมชนนิวโวคัสเคตลัน โดยนอกจากเขาจะปฏิรูประบบการบริหารเมืองแล้ว เขายังจัดการกับปัญหาอาชญากรรมอย่างเด็ดขาด โดยผลงานชิ้นโบแดงของเขาคือการเปลี่ยนย่านเมืองเก่าของเมืองซานซัลวาดอร์ จากชุมชนที่เต็มไปด้วยอาชญากรและความรุนแรง ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองหลวง

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเขากับพรรค FMLN ก็จบลงหลังจากที่บูเคเลได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ เพราะนอกจากบูเคเลจะถูกกล่าวหาว่าไม่ทำตามมติพรรคในหลายๆ ครั้งแล้ว โซชิตล์ มาร์เชลลี (Xóchitl Marchelli) เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของเมืองซานซัลวาดอร์ ยังออกมาเผยว่าบูเคเลมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเขาเคยด่าเธอว่าเป็น ‘นางแม่มด’ และปาแอปเปิลใส่เธอในการประชุมสภาเมือง

จนท้ายที่สุด พรรค FMLN ก็ได้ตัดสินใจลงมติขับบูเคเลออกจากพรรคในปี 2017

สำหรับนักการเมืองทั่วไป การถูกไล่ออกครั้งนี้คือสัญญาณว่าอาชีพการเมืองของพวกเขากำลังมาถึงจุดจบ แต่ไม่ใช่สำหรับบูเคเล เขารู้จักการใช้สื่อและเขารู้ดีว่าคนเอลซัลวาดอร์กำลังอยากได้ผู้นำแบบไหน

ในปี 2018 บูเคเลไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กและประกาศว่าเขาจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีของเอลซัลวาดอร์ภายใต้พรรค Nuevas Ideas (New Ideas) พรรคการเมืองที่เขาเพิ่งตั้งขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ หลังจากถูกไล่ออกจาก FMLN โดยเขาพยายามตั้งตนว่าเป็น ‘คนนอก’ ที่ไม่เคยยุ่งกับการเมืองแบบดั้งเดิม และชูนโยบายหลักเรื่องการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่จะกวาดล้างอาชญากรรม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน และล้มล้างระบอบการเมืองเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพ

“เงินมีพอสำหรับทุกคน ถ้าไม่มีใครขโมย” หนึ่งในคำคมที่บูเคเลใช้ในไลฟ์ประกาศการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันของเขา

พรรคเก่าแก่อย่าง FMLN และ ARENA พยายามต่อต้านการลงสมัครครั้งนี้อย่างสุดความสามารถ ถึงขนาดที่ว่าพวกเขาใช้อิทธิพลทางการเมืองที่มีเพื่อยุบพรรค Nuevas Ideas และพรรค Cambio Democrático (Democratic Change) ที่บูเคเลย้ายไปสังกัดหลัง Nuevas Ideas ถูกยุบ จนท้ายที่สุด บูเคเลต้องหนีมาลงหลักปักฐานกับพรรค Gran Alianza por la Unidad Nacional (Grand Alliance for National Unity) โดยเหลือเวลาเพียง 6 เดือนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่สำหรับบูเคเลแล้ว 6 เดือนก็เกินพอสำหรับแผนหาเสียงของเขา เพราะนอกจากเขาจะมีประวัติการทำงานอันดีเลิศแล้ว ความสามารถด้านการใช้สื่อของบูเคเลยังช่วยให้เขามีความโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างมาก

แทนที่เขาจะติดป้ายโฆษณา เดินสายหาเสียง หรือเข้าร่วมเวทีอภิปรายอย่างที่นักการเมืองทั่วไปทำเมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง บูเคเลเลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลักในการหาเสียงแทน เพราะมันทำให้เขาสามารถติดต่อกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างทันทีทันใจ และช่วยให้เขาหลีกเลี่ยงคำถามนักข่าวหรือการแข่งอภิปรายกับคู่แข่งทางการเมือง ที่อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเขาได้อย่างแยบยล

นอกจากนี้ ด้วยอายุเพียง 37 ปี ตอนชิงตำแหน่ง บูเคเลยังใช้ความหนุ่มของตนเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยแสดงว่าตัวเองนั้นมีหัวที่ทันสมัยและเข้าถึงง่าย เป็น ‘บุคคลแห่งความหวัง’ ท่ามกลางเวทีการเมืองที่ปกติแล้วเต็มไปด้วยคนแก่ที่วันๆ จ้องแต่จะโกงบ้านกินเมือง หรือชิงดีชิงเด่นกันในเวทีสภา

และด้วยเหตุนี้เอง นายิบ บูเคเล จึงคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปได้อย่างถล่มทลายด้วยคะแนน 53.10 เปอร์เซ็นต์ของผลโหวตทั้งหมด (มากกว่าคะแนนของผู้ชิงตำแหน่งอีกสามคนที่เหลือรวมกันด้วยซ้ำ!) และเริ่มดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 43 ของเอลซัลวาดอร์นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2019 เป็นต้นมา

3

บูเคเลรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนเลือกตั้ง โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่าเขาจะนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่เอลซัลวาดอร์

ไม่นานหลังจากรับตำแหน่ง เขาก่อตั้ง Comisión Internacional contra la Impunidad en El Salvador (International Commission Against Impunity in El Salvador) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีไว้เพื่อสืบหาและจัดการกลุ่มผู้ทำผิดกฎหมาย พร้อมกับจัดตั้งองค์กรต่อต้านการทุจริตขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

สำหรับเรื่องการจัดการกับปัญหาอาชญากรรม บูเคเลคิดค้น ‘แผนยึดครองพื้นที่’ (Territorial Control Plan) ที่มีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับแก๊งอาชญากรอย่างเด็ดขาด แผนดังกล่าวมีขั้นตอนหลักๆ คือการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าบุกยึดพื้นที่ที่แก๊งกำลังควบคุม งดไม่ให้นักโทษสื่อสารกับโลกภายนอกเพื่อลดอิทธิพลที่แก๊งมักมีในเรือนจำ สร้างโอกาสให้เยาวชนเพื่อลดความเสี่ยงที่พวกเขาจะไปพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย และปฏิรูประบบตำรวจและทหารผ่านการมอบอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพให้กับพวกเขา

แม้แผนยึดครองพื้นที่จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นและเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป แต่บูเคเลประกาศว่าอัตราการฆาตกรรมที่ลดลงจาก 103 คดีต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2015 เหลือเพียง 20 คดีต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1992 เป็นตัวบ่งชี้ว่าแผนการของเขานั้นใช้งานได้จริง

ในด้านการเงิน บูเคเลอนุมัติให้บิตคอยน์ (Bitcoin) กลายเป็นสกุลเงินถูกกฎหมายสำหรับเอลซัลวาดอร์ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อให้ชาวเอลซัลวาดอร์ทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียให้บริษัทการเงินต่างชาติและความยุ่งยากในการโอนเงินในระบบปกติ

แม้ว่านโยบายดังกล่าวกำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อมูลค่าของบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ร่วงไม่เป็นท่า การที่บูเคเลดึงเงินลงทุนต่างชาติได้จากทั้งโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และจีน ก็ช่วยให้ชื่อเสียงของเขาในเรื่องการจัดการเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพที่ดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการบริหารของเขาจะได้รับเสียงตอบรับหรือส่งผลดี-ผลเสียเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือการแสดงออกของบูเคเลต่อสาธารณชน ตลอดเวลาที่เป็นประธานาธิบดี เขาแทบไม่เคยพยายามทำตัวเป็นคนที่เรียบร้อย เขร่งขรึม และเก็บเนื้อเก็บตัวตามแบบที่นักการเมืองควรจะเป็น กลับกัน บูเคเลมักออกสื่อในชุดลำลอง ใช้อุปกรณ์ไฮเทคในการสื่อสาร บริหารงานและพูดจาด้วยท่าทีที่เป็นกันเอง หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ บูเคเลอยากเป็นประธานาธิบดีที่ ‘คูล’ ในสายตาประชาชน

หนึ่งในเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความ ‘อยากคูล’ ของบูเคเล คือตอนที่เขาขึ้นพูดในเวทีสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2019 เพราะก่อนที่เขาจะเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ที่เตรียมมา บูเคเลควักมือถือออกจากกระเป๋ากางเกง เพื่อถ่ายเซลฟี่กับโลโก้ของสหประชาชาติในห้องประชุม และโพสต์ลงทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน

“รูปไม่กี่รูปในอินสตาแกรมสามารถสร้างผลกระทบได้มากกว่าสุนทรพจน์ใดๆ ที่เคยถูกกล่าวในสมัชชาแห่งนี้” บูเคเลกล่าว

รวมๆ แล้ว จากข้อมูลที่ว่ามาทั้งหมดในตอนนี้ บูเคเลดูเหมือนจะเป็นประธานาธิบดีที่มีคุณภาพคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะดูอวดดีและบ้าบิ่นบ้างในบางเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบูเคเลสามารถจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันและปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดของประธาธิบดีที่ชื่อบูเคเล

4

ถึงแม้บูเคเลจะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เขากลับไม่ได้เคารพธรรมเนียมของระบอบประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย กลับกัน บูเคเลพยายามใช้ทุกวิธีการเพื่อบั่นทอนกลไกประชาธิปไตยของประเทศและแทนที่ด้วยระบอบอำนาจนิยมที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยลายเผด็จการของบูเคเลเริ่มออกหลังเขาเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

เพราะเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 บูเคเลได้พาตำรวจและทหารบุกเข้าห้องประชุมรัฐสภา เพื่อกดดันและข่มขู่ให้ ส.ส. โหวตรับแผนกู้เงิน 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะนำมาใช้กับ ‘แผนยึดครองพื้นที่’ ของเขา ก่อนที่ตัวบูเคเลเองจะเดินออกจากห้องเพื่อไปพบกับผู้สนับสนุนที่มาชุมนุมให้กำลังใจเขาที่นอกอาคารรัฐสภา

“เราจะมารวมตัวกันอีกถ้าพวกเวรในสภาฯ ไม่ยอมโหวตรับแผนใน 1 อาทิตย์ ขอพระเจ้าทรงเมตตาและมอบความอดทนให้กับพวกลูกๆ ด้วย” บูเคเลกล่าวกับผู้สนับสนุนที่มาชุมนุม

ต่อมา เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่มาถึงเอลซัลวาดอร์ บูเคเลก็เริ่มผ่านกฎหมายต่างๆ ที่มอบอำนาจฉุกเฉินให้เขาโดยเฉพาะ และลดขั้นตอนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที

การขยายอำนาจครั้งนี้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากฝ่ายค้านและเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายภาคส่วน แต่บูเคเลก็ไม่สนใจ สั่งปลดอัยการสูงสุดและผู้พิพากษาระดับอาวุโสของประเทศหลายคนที่ออกมาต่อต้านหรือวิจารย์แผนของเขา ก่อนแต่งตั้งให้คนที่จงรักภักดีต่อเขาเข้ารับตำแหน่งแทน เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2021

และต่อมาในเดือนกันยายน ศาลรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยพันธมิตรของบูเคเลก็เปลี่ยนกฎให้ประธานาธิบดีสามารถรับตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 สมัยได้ เป็นการส่งสัญญาณว่าบูเคเลจะไม่หายไปจากเวทีการเมืองเอลซัลวาดอร์ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

“บูเคเลอยากอยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสถาบันการเมืองของเอลซัลวาดอร์ก็อ่อนแอเกินไปที่จะหยุดเขา” โลเปส เบอร์นาล (López Bernal) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเอลซัลวาดอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian

สหรัฐฯ ไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ออกความเห็นเชิงลบต่อการกระทำดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะผ่านคำแถลงการณ์จากกระทรวงต่างประเทศ หรือผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวของนักการเมืองคนสำคัญหลายคน อย่าง คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ทวีตแสดงความเป็นห่วงต่อระบอบประชาธิปไตยของเอลซัลวาดอร์ อย่างไรก็ดี บูเคเลออกมาตอบโต้แรงกดดันเหล่านั้นด้วยการทวีตข้อความสั้นๆ ว่า “ด้วยความเคารพนะครับ เรากำลังจัดการเรื่องในบ้านของเรา ซึ่งไม่ใช่ธุระอะไรของคุณ”

นอกจากนี้ ผลงานชิ้นโบแดงของบูเคเลอย่างการลดอัตราการฆาตกรรมก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่การหลอกตาประชาชน เพราะงานวิจัยและสถิติชี้ว่าอัตราฆาตกรรมของเอลซัลวาดอร์กำลังอยู่ในขาลงมาตั้งแต่ก่อนที่บูเคเลจะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก หนำซ้ำ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลของบูเคเลได้ทำการเจรจากับแก๊งอาชญากรอย่างลับๆ เพื่อขอร้องให้พวกเขาลดการก่อคดีลงแลกกับเงินและการมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกของแก๊งนั้นๆ ในคุก

หลายฝ่ายจึงมองว่า ‘แผนยึดครองพื้นที่’ และแผนการเสริมอาวุธให้ตำรวจและทหารของบูเคเลไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับแก๊งอาชญากร แต่มีไว้เพื่อสร้างฐานเสียงในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และข่มขู่คุกคามประชาชน โดยเฉพาะคนจนและศัตรูทางการเมืองต่างหาก

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะมองการบริหารของบูเคเลอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างต้องยอมรับคือความจริงที่ว่าระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของเอลซัลวาดอร์ในปัจจุบัน อันประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งควรจะเป็นกลไกที่คอยปกป้องระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบูเคเลและพวกพ้องอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย หรืออีกนัยหนึ่ง เอลซัลวาดอร์ได้กลายเป็นประเทศเผด็จการในคราบประชาธิปไตยไปแล้วนั่นเอง

5

แต่อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น บูเคเลไม่เหมือนผู้นำคนอื่นที่พยายามสร้างภาพว่าตนฝักใฝ่ในประชาธิปไตย เพราะบูเคเลภูมิใจในความเป็นเผด็จการของตนและระบอบเผด็จการที่เขาสร้างขึ้น

ด้วยความที่เขาใช้โซเชียลมีเดียเป็นและอยู่กับมันแทบจะตลอดเวลา บูเคเลมักโพสต์ข้อความต่างๆ เพื่อตอบโต้กับชาวเอลซัลวาดอร์ที่ไม่พอใจในการปกครองของเขา คล้ายกับที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยทำเมื่อเขาดำรงตำแหน่ง

หนึ่งในเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงความภูมิใจของบูเคเลที่มีต่อการบริหารแบบเผด็จการของตนได้ดีที่สุด คือการที่เขาเปลี่ยนประวัติย่อในทวิตเตอร์ของตนเป็นคำว่า ‘เผด็จการที่เจ๋งที่สุดในโลก’ (The Coolest Dictator in the World) เพื่อล้อเลียนฝ่ายค้านและประชาชนที่ออกมากล่าวหาว่าเขากำลังทำตัวเป็นเผด็จการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2021 แสดงให้เห็นว่าบูเคเลรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู และเขาภูมิใจกับมัน

6

อย่างไรก็ดี ความเป็นเผด็จการกับความอวดดีที่บูเคเลแสดงออกมาก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนรังเกียจเขาไปเสียทั้งหมด กลับกัน นิสัยดังกล่าวกลับทำให้คนจำนวนมากรักบูเคเลมากขึ้น เพราะทำให้พวกเขาเชื่อว่าบูเคเลคือ ‘รัฐบุรุษ’ ที่จะมาล้างบางระบอบเก่าและพาเอลซัลวาดอร์ไปสู่อนาคตได้จริงๆ

ถึงระดับที่ว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวยอมปิดตาข้างหนึ่ง ไม่ก็ออกตัวสนับสนุน เมื่อบูเคเลใช้วิธีเผด็จการในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี การใช้ทหารข่มขู่ฝ่ายค้าน หรือการเล่นพรรคเล่นพวก

“บูเคเลเปลี่ยนประเทศจากหลังเท้าเป็นหน้ามือ ทุกวันนี้ประชาชนไม่ต้องทนทุกข์อีกต่อไปแล้ว เพราะพวกนักการเมืองฉ้อฉลที่ชอบทำตัวอยู่เหนือกฎหมายกำลังถูกกำจัด” รามอส ซิเกวนซา (Ramos Siguenza) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวของเอกซัลวาดอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian

เรียกได้ว่า บูเคเลคือหนึ่งในผู้นำที่สามารถเอาแนวคิดประชานิยม (Populism) มาใช้และพัฒนาได้อย่างถึงที่สุด เพราะไม่ว่ารัฐบาลของบูเคเลจะต้องเจอกับมรสุมทางการเมืองขนาดไหน คะแนนความนิยมของเขาก็ยังคงลอยตัวอยู่ที่ 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

7

หากถามว่าเรื่องราวของเอลซัลวาดอร์และบูเคเลให้ข้อคิดอะไร คำตอบที่ได้ก็คงต่างไปตามมุมมองและการตีความของแต่ละคน คนบางกลุ่มอาจมองว่าคือเรื่องราวการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจเชื่อว่า ‘ความสำเร็จ’ ของบูเคเลคือหลักฐานว่าระบอบเผด็จการคือระบอบการปกครองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเรามองว่านี่คือเรื่องราวสอนใจที่มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ องค์กรทางการเมือง แนวคิดประชาธิปไตย แนวคิดเผด็จการ และประชาชน โดยสามารถสรุปออกมาได้ 3 ข้อ

ข้อแรก พลวัตทางการเมืองเป็นสิ่งละเอียดอ่อนและประกอบไปด้วยตัวแปรจำนวนนับไม่ถ้วน จากทั้งอดีตและปัจจุบัน เช่น สภาพการเมืองของเอลซัลวาดอร์ในปัจจุบัน รวมถึงการผงาดขึ้นมาของบูเคเล ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายได้ผ่านการมองประวัติศาสตร์ระยะสั้นเท่านั้น กลับกัน พัฒนาการดังกล่าวต้องวิเคราะห์จากบริบทางการเมืองและสงครามกลางเมืองของเอลซัลวาดอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน ดังนั้น หากเราต้องการทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันหรือทำนายอนาคตของประเทศ หนึ่งในสิ่งที่เราควรทำ คือศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศจากแหล่งที่มีข้อมูลเป็นกลางและครบถ้วนอย่างถี่ถ้วน เพื่อทำความคุ้นเคยกับกระแสการเมืองและสร้างความรู้จักกับตัวแสดงสำคัญของประเทศ

ข้อสอง วาทกรรมเป็นสิ่งอันตรายในวงการการเมืองและเป็นสิ่งที่ต้องถูกวิพากษ์อย่างลึกซึ้งก่อนนำไปประกอบการตัดสินใจหรือออกความเห็นทางการเมือง ไม่เช่นนั้น เราอาจตกเป็นเหยื่อของคำพูดสวยหรูและถูกหลอกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่กำลังทำลายบูรณภาพของสังคมหรือถ่วงความเจริญของประเทศได้ อย่างที่ชาวเอลซัลวาดอร์บางส่วนยอมทิ้งระบอบประชาธิปไตยและความหลากหลายทางการเมือง เพื่อแลกกับ ‘ความก้าวหน้า’ และ ‘ความเด็ดขาด’ ที่บูเคเลสัญญาว่าจะมอบให้

และข้อสุดท้าย ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เสร็จสมบูรณ์ กลับกัน มันเป็นเพียงกระบวนการทางการเมืองชนิดหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนและบำรุงรักษาด้วยความร่วมมือจากภาคประชาชนและกลไกทางการเมืองที่เป็นมิตร ดังนั้น หากเราต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตย เราต้องคำนึงถึงการสร้างจิตสำนึกเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม พร้อมทั้งปฏิรูปสถาบันต่างๆ ให้พร้อมรับกับระบอบที่ให้ความสำคัญกับการถ่วงดุลอำนาจ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เช่นนั้น ประชาธิปไตยที่เราใฝ่หาอาจล่มสลายกลายเป็นระบอบเผด็จการอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับเอลซัลวาดอร์ในทุกวันนี้ก็เป็นได้

 

ที่มา

https://www.reuters.com/world/salvadoran-president-declares-himself-dictator-apparent-joke-2021-09-20/

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/02/el-salvador-human-rights-violations-bukele-amnesty

https://www.theguardian.com/world/2021/sep/26/naybib-bukele-el-salvador-president-coolest-dictator

https://www.france24.com/en/americas/20211018-thousands-protest-in-el-salvador-against-dictator-president-bukele

https://edition.cnn.com/2019/02/09/americas/el-salvador-president-bukele-profile-intl/index.html

https://digital.sandiego.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1100&context=ilj

https://www.cfr.org/in-brief/why-has-gang-violence-spiked-el-salvador-bukele

https://www.aljazeera.com/news/2022/4/21/all-salvadorans-at-risk-inside-el-salvadors-gang-crackdown

https://apnews.com/article/caribbean-el-salvador-a08341e381055b2602fe1b335c1ff706

https://www.dplf.org/sites/default/files/apuestasalvador_resumen_en_v1.pdf

https://www.npr.org/2019/02/04/691254733/el-salvador-elects-new-president-breaking-decades-long-control-by-two-parties

https://elsalvadorinfo.net/nayib-bukele/

https://www.nytimes.com/2019/02/03/world/americas/salvador-bukele-election.html

https://elsalvadorinfo.net/homicide-rate-in-el-salvador/

https://elsalvadorinfo.net/nayib-bukeles-security-plan/

https://apnews.com/article/nayib-bukele-el-salvador-gangs-c378285a36d55c18f741c3f65892f801

Tags: , , , , , , , , , ,