ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 นับเรื่อยไปอีก 9 คืน คือห้วงเวลาแห่งเทศกาล ‘นวราตรี’ เทศกาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาพระนางทุรคาเทวีในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวของอนุทวีป อันปูราดด้วยฉากหลังทางเทวตำนานที่กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างพระเทวีกับอสูรควาย (มหิษาสูร) ก่อนจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายธรรม แต่แท้จริงแล้วเทศกาลนี้มีความหมายซ่อนเร้นชวนให้ขบคิดอยู่มาก แถมยังเป็นเทศกาลที่เรียกได้ว่าเป็น ‘งานรวมตัวกะเทย’ เพราะบรรดาผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วทั้งสิบทิศของแผ่นดินไทยจะมารวมตัวกันที่วัดแขกสีลม เพื่อร่วมฉลองคืนวันที่สิบ หรือ ‘วิชัยทศมี’ กันอย่างคับคั่ง จนมีคำกล่าวกันเล่นๆ ว่า ‘หากมีระเบิดเกิดขึ้นที่นั่นกะเทยคงหายไปครึ่งประเทศ’
ว่าแต่ทำไมกัน?
นวราตรี
แปลความตามความหมาย ‘นวราตรี’ แปลว่า 9 คืน (นวะ แปลว่า เก้า และราตรี แปลว่าคืน) หมายถึงการบูชาพระเทวีเป็นเวลา 9 คืน ชาวอินเดียเชื่อกันว่า ในระยะเวลา 9 วัน 9 คืนนี้ คือช่วงเวลาที่เทวีทุรคาต่อสู้กับมหิษาสูร (อสูรควาย) ซึ่งก่อความวุ่นวายให้กับโลก ซึ่งพระเทวีได้อวตารแบ่งเป็นปางต่างๆ 9 ปาง เพื่อต่อสู้กับอสูร ก่อนจะฉลองชัยชนะในคืนที่สิบซึ่งเรียกว่า ‘วิชัยทศมี’ (วันแห่งชัยชนะ)
เรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับนวราตรี คือ “หนึ่งปีมีนวราตรีเพียงหนึ่งครั้ง” แต่จริงๆ แล้ว ในหนึ่งปีตามปฏิทินเทศกาลทางศาสนาของศาสนาฮินดู มีด้วยกัน 4 ครั้งต่อปี ตามช่วงฤดูตั้งแต่ปลายหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูฝน และเริ่มฤดูหนาว โดยนวราตรีที่เราคุ้นเคย คือศารทิยะนวราตรี (Shardiya Navratri) หรือนวราตรีในเดือนศารทะ (เริ่มฤดูหนาว) บางครั้งนวราตรีในช่วงปลายปีนี้ถูกเรียกว่า ‘มหานวราตรี’ เพราะมีตำนานสัมพันธ์กับการปราบอสูรมหิษาของพระนางทุรคา
แต่สำหรับมหานวราตรีในอีกเชิงหนึ่ง เป็นการฉลองฤดูเพาะปลูกข้าวบาเลย์สุดท้ายของปีก่อนหนาวจัด โดยเฉพาะในเขตอินเดียภาคเหนือ โดยสิ่งหนึ่งที่สามารถเห็นได้ คือชาวอินเดียนิยมการสถาปนาหม้อกลศะพร้อมเมล็ดพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ให้สมกับคำว่า ‘ปูรณฆฏะ’ หรือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ หากแปลหยาบๆ ในจุดนี้แสดงให้เห็นว่า ในเทศกาลนวราตรีมีเศษซากของเทศกาลโบราณซ่อนอยู่
กล่าวคือสำหรับมนุษย์ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฤดูหนาว พวกเขาย่อมรู้สึกว่าฤดูหนาวช่างน่ากลัวและทรมาน ผลผลิตตาย เพาะปลูกยากลำบาก ไหนจะอาการป่วยไข้ทั้งหลายที่เข้ามาพร้อมกับความเย็นด้วย ผู้คนจึงให้ความยำเกรงต่อความหนาวเย็นมาก ยิ่งในสังคมเกษตรกรรม การจะต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุดก่อนฤดูหนาวจะมาถึงนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การฉลองความอุดมสมบูรณ์ (หม้อกลศะ) จึงเป็นภาพสะท้อนของความมุ่งหมายที่จะไม่อดตายในหน้าหนาวของสังคมเกษตรกรรมโบราณ ทว่าแล้วนางทุรคาเกี่ยวข้องอะไรกับการเพาะปลูกหรือ?
เจ้าแม่ทุรคาคือใคร
‘ทุรคาเทวี’ เป็นรูปปรากฏของพระเทวีซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดรูปหนึ่ง เนื่องจากเป็นภาคที่แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจอย่างสูงสุดของพระศักติ-เทวี ดังที่นิกายศักติฝ่ายทักษณาจารนิยมเรียกพระนางด้วยพระนาม ‘มหาเทวี หรือองค์อาทิศักติ’ อันหมายถึง ‘องค์ต้นกำเนิดแห่งพลังทั้งหลาย’ คำเรียกเหล่านี้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของพระนางอย่างเต็มที่ ทั้งยังสะท้อนความนิยมที่ชาวฮินดูมีให้พระนางอีกด้วย
คำว่า ทุรคา มีความหมายว่า เข้าถึงได้ยาก พระนางทรงอาวุธมากมายหลากหลายประเภท (คัมภีร์เทวีมหาตมยะระบุว่า รับถ่ายทอดพระพลังมาจากเทพยาดาทั้งเทวโลกจึงมีหลายกรและทรงอาวุธจำนวนมาก) มีพระฉวีสีดำ สวมอาภรณ์สีเหลือง ประดับเครื่องประดับมากมาย สวมกรัณฑมกุฎ มี 4-8 กร พระหัตถ์หน้าขวาอยู่ในปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหน้าทำกฏกมุทรา พระหัตถ์อื่นๆ ถือสังข์ จักร ตรีศูล และธนู
ประติมากรรมของพระนางมักประทับยืนเหยียบย่ำบนควาย แสดงท่วงท่าสังหารอันเป็นที่มาแห่งพระนาม ‘มหิษาสุรมรรทินี’ แปลว่า เทวีผู้เหยียบบน หรือย่ำยี (มรรทินี) อสูรควาย ด้วยรูปปรากฏที่ดุดันแต่เปี่ยมด้วยเมตตา พระนางจึงได้รับการนับถือว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการป้องปราบสิ่งชั่วร้าย การทำลาย การก้าวข้ามจากความตายไปสู่ชีวิตใหม่
หากอธิบายขยายความทางปรัชญาแบบเร็วๆ ในศาสนาฮินดูมีความคิดเรื่อง ‘พลังฝ่ายแม่’ (ปรกฤติ) หรือพลังที่สร้างสรรค์สรรพชีวิตอันแทนด้วยเทวี แต่ในอีกเชิงหนึ่ง พลังฝ่ายสร้างนี้ก็เป็นพลังที่สามารถขจัดซึ่งอำนาจเบียดเบียนอย่างอสูรร้าย ซึ่งอาจหมายถึง ‘ความหนาว’ (หากมองว่า นวราตรีเป็นเทศกาลฉลองการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวก่อนฤดูหนาว) ที่จะทำลายผลผลิตอันแทนด้วยอสูรควาย การที่พลังฝ่ายเกิดทำลายพลังฝ่ายตายก็จะได้เป็นชีวิตอันเรืองรอง
พระนางผู้เข้าถึงได้ยากยังสะท้อนว่า การหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ใช่สิ่งง่าย ต้องฝ่าฟันคืนวันยาวนานของความเป็นแม่ (สกันทมาตา) ความมืดมิดและซับซ้อน (กาลราตรี) เป็นหญิงครองเรือน (มหาเคารี) กว่าจะถึงซึ่งความสำเร็จอันอุดม (เมล็ดข้าว – โมกษะ) ในพระนามสุดท้ายของทั้ง 9 พระนาม คือ ‘สิทธิธาตรี’ (ผู้สมบูรณ์แบบ)
ในอีกแง่หนึ่ง พระนางทุรคาทรงครองพระนาม ‘ศากัมภรี’ ผู้ร้องไห้จนน้ำตาท่วมท้นแผ่นดิน พระนางทรงฟื้นคืนแผ่นดินอันแห้งแล้งให้สดชื่น หลังพระนางทุรคาปราบแล้วซึ่งอสูรร้าย นี่จึงเป็นประหนึ่งการเกิด การแตกงอก และความอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกสุดท้ายของปี สุดท้ายพระนางจะเป็นข้าวบาเลย์หรือไม่ เป็นความตื่นรู้ส่วนบุคคล พระนางอาจเป็นมหามายาผู้ชี้ทางไปสู่มหาโมกษะก็ได้ ดังนั้นหากจะกล่าวว่า 9 วัน 9 คืนอันยาวนานอาจเป็นการต่อสู้ทางจิตวิญญาณเพื่อไปสู่ปลายทางแห่งธรรมะ ก็ไม่ผิด พระแม่จะเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับใจปรารถนาของเราอย่างแท้จริง
เจ้าแม่ วัดแขก และพื้นที่เปิด (ทางเพศ)
กระโดดข้ามมาสู่หัวข้อน่าสนใจเรื่องเพศที่สาม เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า ‘งานแห่วัดแขกคืองานรวมตัวกะเทยไทย’ ที่ยิ่งมองจะยิ่งสังเกตเห็นว่า กระแสของกะเทยที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเทวสถานฮินดูกลางย่านธุรกิจแห่งนี้ก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์ตุล-ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ศาสนาฮินดูสามารถดึงดูดผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาในพื้นที่ทางศาสนาได้ ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
1. สีสัน มีอุปกรณ์และเครื่องบูชามากมาย ซึ่งตรงกับความสนใจและความชอบ (ความเยอะ) ของกลุ่มเพศที่สาม
2. ระบบชายเป็นใหญ่ในระบบศาสนาไทย (พุทธ) ซึ่งกีดกันและครอบงำสังคมผ่านองค์กรและนักบวชผู้ชาย
เกี่ยวกับประเด็นที่สอง อาจารย์ตุลกล่าวต่อไปอีกว่า “งานวัดแขก เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้าไปสร้าง ‘พื้นที่’ ของตัวเองในด้านพิธีกรรม จะทำพิธี จะจัดตกแต่งซุ้มของตนอย่างไรก็ได้ และยังไม่รังเกียจอัตลักษณ์ทางเพศ เพศที่สามจึงแสดงออกและมีบทบาทได้มากกว่า”
ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์ตุลในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก และผู้เขียนอยากขอลองเพิ่มเติมมุมมองส่วนตัวชวนขบคิดเล็กน้อย คือหากมองย้อนเข้าไปในศาสนาไทยก่อนพุทธ ภาพที่เราเห็นคงหนีไม่พ้น ‘ศาสนาผี’ และ ‘ร่างทรง’ ซึ่งทั้งสองสิ่งสะท้อนภาวะความ ‘ก้ำกึ่ง’ บางอย่าง คือศาสนาไทยก่อนพุทธนับถือวิญญาณบรรพชน วิญญาณธรรมชาติ ซึ่งมีพลังให้คุณให้โทษและวิญญาณเหล่านี้จะติดต่อกับผู้มีชีวิตผ่านร่างทรง ซึ่งการทรงจะเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายอยู่ในภาวะครึ่งคนตายครึ่งคนเป็นหรือกึ่งเป็นกึ่งตาย อันเป็นภาวะเหนือธรรมชาติและมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่
ร่างทรงในวัฒนธรรมโบราณมักเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงถือครองอำนาจบางอย่างคล้ายผี คือให้คุณ (คลอดลูกได้) ผู้หญิงจึงมีความสำคัญในระบบศาสนาคนทรงเป็นอย่างมาก ในบางครั้งการจะทรงผีหากผู้ทรงเป็นผู้ชายแต่ผีที่ลงทรงเป็นผู้หญิง ชายผู้นั้นจะต้องแต่งตัวเป็นหญิง หรือกลายเป็นชายที่มีลักษณะคล้ายหญิง และนี่คือภาวะก้ำกึ่งว่า ทำไมกะเทยถึงมักยุ่งวุ่นวายกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาจเพราะกะเทยก็ถือครองภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ขณะที่งานแห่วัดแขกลีลม วัดก็มีคนทรงของวัดด้วย คนทรงเหล่านี้ก็เข้าสู่ภาวะก้ำกึ่ง และมีความเหนือธรรมชาติเฉกเช่นกะเทย อัตลักษณ์ทางเพศของเพศที่สามจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงภาวะบางอย่างหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ไม่กลายเป็นบาปโทษหรือคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ของศาสนาฮินดู เพราะศาสนาฮินดู โดยเฉพาะวัดแขกสีลมเปิดโอกาสให้กับภาวะก้ำกึ่งนี้
ตัดภาพมาที่วัดฮินดูอื่นๆ ที่มีภูมิทางวัฒนธรรมแบบอินเดียเหนือ เช่น วัดเทพมณเฑียร และวัดวิษณุ ปฏิสัมพันธ์ของกะเทยต่องานแห่พระของวัดทั้งสองกลับต่างออกไป พวกเขาไปเข้าร่วมแต่ไม่แสดงตัวอย่างเปิดเผยเท่างานของวัดแขกสีลม อาจเพราะวัดไม่มีคนทรง ไม่มีภาวะก้ำกึ่ง มีแต่พราหมณ์ คนอินเดีย และพระแม่ แม้ว่าเขาจะเปิดกว้างและยินดีให้เราไปร่วมงาน แต่ก็ยังรู้สึกเก้ๆ กังๆ อยู่ในใจ ต่างกับวัดแขกสีลมที่เปิดมากกว่า
อีกปัจจัยที่ควรนำมาร่วมพิจารณา คืองานแห่วัดแขกสีลมมีความเป็น ‘ไทย’ สูงมาก ลองสังเกตดูจะเห็นว่า ซุ้มพระต่างๆ ผู้คนที่เข้ามาร่วมงาน แทบจะมีแต่คนไทย หาคนอินเดียคนอื่นนอกจากพราหมณ์แทบจะไม่เจอแล้ว สิ่งนี้จึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อนุญาตให้ความหลากหลายทางเพศของไทยเข้ามามีที่ทางในงานแห่พระแม่ก็เป็นได้
สุดท้ายขอสรุปด้วยคำของอาจารย์ตุลว่า “แม้ (กะเทย) ไม่อาจกลายเป็น ‘คนใน’ อย่างพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีในเทวสถาน แต่ภายใต้ความอิสระของพื้นที่ที่ได้รับ เพศที่สามสามารถประกอบพิธี และเป็นผู้นำทางศาสนาภายในพื้นที่และชุมชนของตัวได้ โดยไม่ต้องซ่อนเร้นอัตลักษณ์ทางเพศ”
“ขอพระแม่แห่งจักรวาลอวยพรทุกคนครับ”
อ้างอิง:
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. นวราตรีกับงานแห่วัดแขก พื้นที่ และเพศที่สาม, ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 ตุลาคม 2559
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประติมากรรมฮินดู – พุทธในศิลปะอินเดียกับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2559.
ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.
Bhagwant Sahai. Iconography of Minor Hindu and Buddhist deities. New Delhi: Abhinav publication, 1975.
Hillary Rodrigues. Ritual Worship of the Great Goddess: The Liturgy of the Durga Puja with Interpretations, Albany: State University of New York Press, 2003.
James G. Lochtefeld. The Illustrated Encyclopedia of Hinduism, Volume 1, New York: Rosen Publishing Group, 2002.
T.A. Gopinatha Rao. Elements of Hindu Iconography, Volume 4, Delhi: Motilal Banarsidass, 1968.
Thomas B. Coburn. Devi Mahatmya: The Crystallization of The Goddess Tradition, Delhi: Motilal Banarsidass, 1997.
Tags: วิชัยทัสมิ, งานประจำปี, นวราตรี, วัดแขก, วัดพระศรีมหาอุมาเทวี