‘น้องคนสุดท้องของชาวทะเล’ คือชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย เรียกแทนกันเองในหมู่ยิปซีทะเล หรือนักพเนจรผู้อาศัยและหากินบนเรือบริเวณแถบทะเลอันดามัน รวมทั้งหมู่เกาะทางตอนใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน ก่อนมีการจัดสรรที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ครอบครัวพักรอตามริมหาดระหว่างที่ชายหนุ่มออกไปจับปลา ภายหลังการมาถึงของ ‘เขตแดน’ จึงแบ่งชนเผ่าพื้นเมืองให้แยกย้ายกันไปตามเส้นทาง 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย
เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งห่างจากผืนแผ่นดินกว่า 80 กิโลเมตร กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ครอบครองโดยพฤตินัยของน้องคนสุดท้องของชาวน้ำ แต่แม้จะอาศัยติดทะเลมากว่า 100 ปี สิ่งหนึ่งที่พวกเขายังไม่เคยลืม โดยพิสูจน์ได้จากทั้งประเพณี ความเชื่อ และการบอกเล่า คือการตั้งมั่นว่าพวกตนคือ ‘ยิปซีทะเล’ นักเดินเรือผู้เชื่อในการนำทางของท้องฟ้าและดวงดาว
สุราษ หาญทะเล ในวัย 63 ปี อดีตเด็กชายไร้สถานะและนามสกุล เล่าว่า “วันนี้เราจะปฏิเสธความเป็นยิปซี แต่ถ้าย้อนไปก่อนนี้ ทุกปีเราจะมีการทำบากั๊ต หรืออพยพหลบลมมรสุม คือย้ายเรือจากตรงหน้าหาด ไปจอดบริเวณหลังเกาะอื่น แล้วปลูกขนำนอน โดยหลักจะวนอยู่สามเกาะ คือ อาดัง ราวี พออพยพไปทีก็อยู่สองสามเดือน มาสมัยนี้บ้านเราถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เราไปได้แค่เกาะอาดังใกล้ๆ นี้ ทำให้หลายบ้านไม่ได้บากั๊ตกันแล้ว แต่ยังพอเหลือประเพณีนอนเรือหรือบาจ๊ะแทน แม้จะบอกว่าเป็นประเพณี แต่ความจริงคือพากันไปเตรียมตัวให้พร้อม เผื่อมีกระแสลมแรงจะได้พร้อมอพยพ”
ปัจจุบัน จุดจอดเรือประมงพื้นบ้านบนเกาะหลีเป๊ะมีสองแห่ง คือบริเวณหน้าหาดซันไรซ์ ใกล้โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ และหาดดาหยาหรือคนพื้นถิ่นเรียกว่า ‘ปันดาหยา’ แต่พื้นที่หลักซึ่งใช้ทั้งการขนถ่ายอุปกรณ์หาปลา และลำเลียงขึ้นลงผลผลิตจากทะเลอยู่บริเวณใกล้กับโรงเรียน โดยมีสภาพแวดล้อมเป็นทางเดินทรายกว้างราว 5-7 เมตร ลึกลงมาจากชุมชน 200 เมตร เลียบคู่ไปกับอาณาเขตด้านหนึ่งของโรงเรียน
จากคำบอกเล่าของ มฮะ เส้นหลี หญิงชราวัย 91 ปี ผู้เคยมีสถานะเป็นนักการภารโรงคนแรกของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ) ชี้ให้เห็นว่า จุดจอดเรือตอนเธอโตขึ้นมาเป็นสาวนั้นจะเรียงรายกันไปริมหาด ไม่ใช่เข้าแถวตอนดิ่งลงไปในน้ำเหมือนวันนี้ ส่วนเส้นทางเดินข้างโรงเรียนไม่ใช่แค่เส้นทางลงทะเลของคนหาปลา แต่เคยมีแหล่งชุมชนอาศัยอยู่ใต้แนวต้นมะพร้าวยาวจรดไปตัดกับป่าสนริมหาด แต่จากการที่บ้านเรือนของชาวอูรักลาโว้ยจะถูกทำให้เคลื่อนย้ายง่าย ภายหลังมีเรื่องของกรรมสิทธิ์ บริเวณหน้าหาดเริ่มมีเจ้าของ คนพื้นถิ่นได้รับการขอร้องให้ยกบ้านถอยร่นสู่ภูเขามากขึ้น จนชุมชนต้องขยับห่างไปไกลจากทะเลตามที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งผิดจากวิถีชีวิตในความทรงจำของเธอเป็นอย่างมาก
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นอาศัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยิปซีทะเลชาวอูรักลาโว้ยไม่เคยขาด คือการทำพิธีกรรมตามความเชื่อ หรือ ‘ประเพณีลอยเรือ’ พวกเขาทั้งหมู่บ้านทุกเพศวัยจะมารวมตัวกันปีละสองครั้ง ครั้งละ 3 วัน 2 คืน ตรงบริเวณชายหาดด้านหน้าโรงเรียน วันแรกคือการทำพิธีกราบไหว้ขอขมาบรรพบุรุษ รุ่งเช้าต่อมาจะส่งผู้ชายหนึ่งกลุ่มออกไปหาไม้ระกำมาให้เพียงพอต่อการทำเสาเอก และสร้างเรือจำลองขนาดราว 2 หน้าตัก ระหว่างนั้นแต่ละบ้านจะแยกย้ายกันไปนำเศษเล็บ เศษผม ของชำรุดแหลมคม หรือของเสียในบ้านมาใส่เรือ เพื่อรอประกอบพิธีลอยสู่ทะเลในวันสุดท้าย
สินธุชัย หาญทะเล หนึ่งในสองของผู้ประกอบพิธีกรรมผู้ยังหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้าน เล่าให้ฟังถึงประเพณีลอยเรือว่า
“ทุกปีเราทำพิธีกันในชุมชน ตรงริมหาด แต่พอหลังสึนามิมา หาดเริ่มมีเจ้าของและแคบลงเรื่อยๆ ชุมชนเองก็ถอยเข้าไปอยู่บนแผ่นดินเยอะขึ้น เราเลยยึดเอาตรงหน้าโรงเรียนเป็นหลัก มันกว้างและเป็นของสาธารณะ เพราะเราไปทำหน้ารีสอร์ตคนอื่นไม่ได้ พิธีนี้เป็นความสนุกประจำปี เป็นโอกาสดีของทุกคนที่จะได้ตัดสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิต ถ้าเทียบคงเหมือนงานลอยกระทง
“เราจะลงแรงกันทุกขั้นตอน ทั้งเข้าป่าหาไม้ ตั้งขบวนแห่เสาเอก พอเราหาไม้ระกำได้ ก็พากันแห่ออกมาจากป่า เข้าหมูบ้าน ผ่านทางเดินข้างโรงเรียน แล้วออกสู่หาด ก่อนนำมาตั้ง พวกเราเชื่อว่าทุกพิธีกรรมต้องเริ่มด้วยการลงเสาเอก ปักเอาไว้อย่างนั้นไม่ล้ม ไม่จำเป็นต้องถอน”
เป็นที่ปรากฏแก่สายตาของนักท่องเที่ยว ผู้มีโอกาสผ่านไปเยี่ยมเยือนเกาะหลีเป๊ะในทุกฤดูกาล บริเวณชายหาดด้านหน้าโรงเรียนจะมีเสาไม้ระกำตั้งตระหง่านชวนตั้งข้อสงสัย ไม่ต่างอะไรกับความฉงนในใจเรื่องหนึ่งของตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองผู้ทำพิธีเอง ซึ่งได้แต่ส่ายหัวไปมาเมื่อถูกถาม…
จากกรณีพิพาทเรื่องเอกชนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์กินบริเวณทางเดินสู่หาด ประกาศปิดเส้นทางเข้าสู่โรงเรียน และมีแผนปิดกั้นรั้วเหล็กจากด้านหน้า นั่นเท่ากับว่า ขบวนแห่ในพิธีลอยเรืออาจถึงคราวต้องเปลี่ยนเส้นทางเป็นครั้งแรกนับจากมีการดำเนินมาหรือไม่พิธีลอยเรือบนเกาะหลีเป๊ะในปี พ.ศ. 2565 อาจถูกบันทึกเป็นพิธีกรรมสุดท้ายของน้องคนสุดท้องแห่งท้องทะเล?
Tags: อูรักลาโว้ย, มอแกน, มอแกลน, ยิปซีทะเล, Feature, พิธีกรรมสุดท้าย