คำว่า ‘ชายชาติทหาร’ ถือเป็นประโยคที่คุ้นเคยในสังคมไทย ทำหน้าที่เชื่อมโยงการเป็นทหาร เข้ากับภาพลักษณ์ของความเป็นชาย สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องแสดงถึงการจำกัดบทบาท ให้ทหารต้องอยู่ในกรอบของความเป็นบุรุษเพียงเท่านั้น

ทว่าความจริงนั้นมนุษย์มีความหลากหลายกว่าเพียงแค่ชายและหญิง ทำให้ผู้ที่มีวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงตามลักษณะความเป็นชาย เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร ก็มักถูกยัดเยียดความเป็นอื่นเข้าไป จนนำมาสู่การแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะผ่านการกระทำหรือคำพูด โดยที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ก็อาจเป็นการนำเหล่าทหารเพศทางเลือกมาสร้างความบันเทิง และมองด้วยความขบขัน ซ้ำร้ายอาจลุกลามไปถึงการทารุณกรรมทางเพศ

ในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เราสามารถเห็นคลิปวิดีโอของเหล่าทหารเพศทางเลือกตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่พวกเขาเปิดเผยความเป็นตัวเองและใช้ชีวิตสนุกสนานในกองทัพได้ สิ่งนี้อาจทำให้ผู้คนคิดว่า ด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การยอมรับความหลากหลาย การใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหารนั้นอาจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าในอดีต 

ถึงแม้จะมีส่วนที่จริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องละเลยเพศทางเลือกอีกกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกว่า ค่ายทหารเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับพวกเขาเท่าไรนัก 

เพราะภายใต้ระบบสังคมแบบปิดของค่ายทหาร ค่านิยมชายเป็นใหญ่ และการมีอคติทางเพศก็ไม่ได้เจือจางลงจากในอดีตสักเท่าไรนัก เพียงแต่คนกลุ่มนี้กลับเลือกที่จะแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศให้โจ่งแจ้งน้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าของสังคม ซึ่งท้ายที่สุดค่านิยมเหล่านั้นก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมค่ายทหารไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นในวันนี้การจับได้ใบแดงของเหล่าเพศทางเลือกยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย เพราะจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในค่ายทหารที่ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า ตัวเองจะตกเป็นเหยื่อเมื่อไร และต้องทำอย่างไร หากจะอยู่รอดในสังคมค่ายทหาร

The Momentum ชวนผู้อ่านสำรวจเรื่องราวของ เอก (นามสมมุติ) อดีตทหารเกณฑ์ LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญกับอคติและความไม่เป็นธรรมทางเพศในค่ายทหาร พร้อมถอดบทเรียนการเอาตัวรอด ท่ามกลางสภาวะสังคมที่มีผู้ชายหลายคนมองว่า พวกเขาคือเพศที่อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

 

อยู่รอดเพราะความกลัว

“ประสบการณ์ของเรา เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีใครอยากพบเจอ และไม่น่าจะต้องมีใครมาพบเจอ” เอกกล่าวก่อนจะเริ่มต้นพูดคุยถึงชีวิตในค่ายทหาร ที่เขาไม่อยากจะย้อนกลับไปสัมผัสอีกครั้ง 

สำหรับชีวิตในค่ายทหารของเอก เริ่มต้นขึ้นหลังการจับได้ใบแดงเป็นคนแรกของอำเภอ โดยก่อนหน้าที่เขาจะเข้าไปเผชิญกับสังคมด้านใน ความกลัวและความกังวลต่อการใช้ชีวิตในค่ายทหาร ทำให้เอกได้ไปปรึกษากับเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งมีประสบการณ์การเป็นทหารมาก่อนหน้า

“ตอนนั้นเราคุยกับเพื่อน เขาก็บอกว่า ในตอนแรกอย่าเพิ่งไปเปิดตัวให้ใครรู้ เลยทำให้ตอนนั้นเราพยายามปกปิดตัวตนเอาไว้ เจอใครก็พูดแต่คำว่าครับตลอด”

ในความคิดของเอก เขามองว่า ความกลัวเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เขาตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้ง จึงเลือกที่จะไม่แสดงออกถึงจุดยืนของตนเอง เพราะในตอนนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในค่ายทหารก็เป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่มักจะถูกพูดถึง ซึ่งทำให้เอกกังวลว่า หากมีคนรู้ว่า เขาเป็นเพศทางเลือก จะต้องเจอกับประสบการณ์แย่ๆ อย่างการถูกพูดจาหยอกล้อเชิงแทะโลม หรือการถูกจับเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม เพียงเพราะเห็นพวกเขาเป็นความตลกขบขัน หรือเป็น ‘ของเล่น’ ที่จะทำอย่างไรก็ได้

“ทหารรุ่นพี่ตอนนั้นเขาก็จะสรรหาวิธีมาทำอย่างไรก็ได้ ให้คนต้องเปิดตัวออกมา แต่เราก็กลัวว่า ถ้าเปิดตัวออกไปอาจจะเกิดเรื่องไม่ดีกับตัวเอง”

อย่างไรก็ตามหลังจากการขึ้นกองร้อย ทำให้เอกได้แยกตัวไปอยู่หน่วยใหม่ แล้วเจอผู้คนหลากหลายมากขึ้น หลายคนยอมรับความหลากหลายทางเพศและไม่ได้มองเขาแปลกแยกหรือแตกต่าง ดังนั้นเอกจึงเริ่มเปิดเผยตัวตนออกมา

ขณะเดียวกันคนบางกลุ่มกลับมีการแสดงออกเปลี่ยนไปทันที หลังจากได้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของเอก โดยเอกให้ความเห็นว่า การตอบสนองของคนเหล่านั้น แสดงออกถึงการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ผ่านทั้งทางคำพูดและการกระทำ บางคนจากที่เคยพูดจากันเป็นปกติ กลับกลายเป็นไม่ยอมคุยด้วย เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า เขาไม่ได้เป็นเพศชายอย่างที่คิดมาก่อนหน้า

แม้ในกรณีของเอก การกลั่นแกล้งจะมาในลักษณะคำพูดและการแสดงออกเท่านั้น แต่เขาเล่าต่อว่า เพื่อนของเอกที่เป็นเพศทางเลือกเหมือนกันกลับถูกกระทำย่ำยีทางร่างกาย ซึ่งเอกเปิดเผยว่า คนส่วนใหญ่ที่กลั่นแกล้งก็คือพลทหารด้วยกันเอง 

แม้ผู้ใหญ่ในกองทัพยินยอมที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เพื่อนของเขาก็ไม่กล้าไปฟ้องผู้ใหญ่ เพราะกลัวพลทหารด้วยกันเองมากกว่า 

ทำให้การพูดคุยกันของเหล่าเพศทางเลือกในกองทัพแทบทุกครั้ง ไม่ใช่การสนทนาทั่วไป หรือการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบอะไร แต่เป็นการปรึกษาหารือกันว่า ทำอย่างไรให้พวกเขารอดจากเรื่องราวต่างๆ ไปได้ 

“เพศทางเลือกที่อยูในค่ายทหารจะคุยกันว่า เราจะเอาตัวรอดกันอย่างไร ปรึกษากันว่า ใครโดนแบบไหนมา แล้วแบ่งปันว่า จะมีวิธีแก้ไขกันอย่างไร”

ดังนั้นการทำตัวอ่อนน้อม รวมถึงยินยอมพร้อมใจกับทุกการข่มเหงของเหล่าทหารที่มากลั่นแกล้ง จึงเป็นอีกวิธีเอาตัวรอด ขณะเดียวกันวิธีนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาดูอ่อนแอ จึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่เอกเล่าว่า ทหารบางคนที่ใช้สารเสพติด ก็พยายามบีบบังคับให้กลุ่มเพศทางเลือกร่วมกันเสพด้วย เพื่อทำให้กลายมาเป็นพวกเดียวกัน

“ด้วยเพศสภาพเราที่เป็นแบบนี้ เขาก็พยายามบีบบังคับเราทุกเรื่องเลย หรือแม้แต่เรื่องอะไรที่เขาไม่อยากทำ เขาก็จะโยนให้เรามาหมดเลย พอโดนกดขี่มากๆ เราก็กลัว เขาให้ไปซ้าย เราก็ต้องไปซ้าย เขาให้ไปขวา เราก็ต้องไปขวา ถ้าไม่ไปเราก็กลัวตาย”

 

อคติทางเพศที่ยัดเยียดว่า เพศทางเลือก ต้องชอบผู้ชายมากกว่าปกติ

เหล่าทหารในกองทัพหลายคนมักมองว่า การที่เหล่าเพศทางเลือกชอบผู้ชายด้วยกัน ก็แปลว่า พวกเขาต้องชอบผู้ชายทุกคนรวมถึงตนเองด้วย ดังนั้นการบังคับขืนใจที่เกิดขึ้นภายในค่ายทหาร พลทหารเหล่านั้นก็จะพยายามเปลี่ยนความผิดให้เป็นถูก โดยยัดเยียดว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้น กลุ่มเพศทางเลือกจะต้องชอบและยินยอมอยู่เสมอ

จนนำไปสู่การที่พลทหารบางคนจะใช้ให้เพศทางเลือกทำอะไร ก็มักจะพ่วงมาด้วยข้อเสนอที่ไม่น่าตอบสนองอย่างการเสนอตนเองให้ พร้อมระบุว่า สิ่งนี้เป็นบุญคุณสำหรับพวกเขา

“เวลาเขาใช้ให้เพศทางเลือกไปคุยต่อรองอะไรกับเจ้านาย ก็ชอบพูดประมาณว่า จะให้ตุ๋ย (การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก) เป็นการตอบแทน ถ้าไปคุยกับเจ้านายให้”

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่าอัปยศอดสูไปมากกว่าคำพูดคือ การกระทำชำเรา เช่นเดียวกับในเคสของเพื่อนเอก ที่ถูกเหล่าทหารนับสิบนาย อุ้มออกไปจากที่นอนกลางดึก เพื่อทำการล่วงละเมิดทางเพศ และยังมีการจัดคิวของทหารแต่ละนาย ให้เข้ามามีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนของเอกอีกด้วย 

“เราจะได้ยินเสียงแทบทุกคืนเลย เวลาพวกพลทหารด้วยกันมาพาเพื่อนคนนั้นออกไป แต่ถามว่า เวลานั้นมันปฏิเสธอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้”

และเมื่อไม่มีการตอบโต้กลับ ยิ่งทำให้เหล่าทหารที่มาเรียงคิวกันเพื่อมีเพศสัมพันธ์ยิ่งรู้สึกว่า การกระทำของพวกเขาเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่การไม่ปฏิเสธก็ไม่ได้แปลว่ายินยอม เพียงแต่เป็นเพราะเพื่อนของเอกกลัวต่อทหารกลุ่มนั้น จนไม่กล้าต่อสู้หรือขัดขืนมากกว่า

ตัดภาพกลับมาที่เอกที่รอดจากประสบการณ์ในลักษณะนี้ เอกให้ความเห็นว่า เป็นเพราะเมื่อเขาอยู่ไปได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มคิดว่า ตนเองต้องสู้

“เราเป็นคนที่เกิดอะไรขึ้นจะเสียงดังให้คนรู้ไว้ก่อน ถ้าโดนแบบเพื่อนคนนั้น รับรองว่า ได้ตื่นกันทั้งกองร้อย”

ในค่ายที่เอกอยู่หัวหน้ามีมาตรการลงโทษพลทหารที่มีการคุกคามทางเพศ หากนำเรื่องราวไปฟ้อง คนใหญ่คนโตในค่ายทหารก็จะสามารถช่วยได้ แต่สำหรับบางคนอย่างเพื่อนของเอก สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่เหล่าผู้บังคับบัญชา แต่เป็นพลทหารด้วยกันเองมากกว่า เพราะพลทหารส่วนใหญ่จะต้องอยู่ด้วยกันทุกเวลา ด้วยระบบสังคมแบบปิด สุดท้ายก็อาจเกิดการกลั่นแกล้งได้ไม่รู้จบ

นอกจากนี้การกระทำอันแปลกประหลาดของทหารอย่างการ ‘ตรวจน้ำ’ ที่ให้ผู้ชายทุกคนมายืนกันแล้วทำการสำเร็จความใคร่ตนเอง ก็ทำให้เหล่าทหารที่เป็นเพศทางเลือกต้องอดทนยืนดู แล้วถูกคำพูดเชิงหยอกล้อแกมบังคับให้ไปช่วยสำเร็จความใคร่ให้ผู้ชาย ทั้งที่พวกเขาไม่ได้อยากทำ แต่คนสั่งกลับคิดว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เพศทางเลือกชอบ ทั้งที่ความเป็นจริง LGBTQ+ ก็เป็นมนุษย์ปกติทั่วไป ที่ไม่ได้อยากถูกบีบบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศต่อหน้าธารกํานัลจำนวนมาก 

 

ลดทอนความเป็นปัจเจกด้วยการเรียกลักษณะเพศสภาพ

‘คนสวย’ เป็นคำเรียกที่อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม อารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟังอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อคำนี้ถูกใช้เรียกในค่ายทหาร เพราะการเรียกชื่อคือสิ่งที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเราต้องการระบุตัวตนคนอื่น แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ผู้พูดใช้คำบ่งบอกลักษณะเพศสภาพมาเรียกคนอื่น ก็อาจแปลได้ว่า เขาไม่ได้เห็นถึงความสำคัญในปัจเจกของบุคคล แต่สนใจและจดจ้องไปที่เพศสภาพเท่านั้น

“คำที่เราไม่ชอบถูกเรียกในค่ายทหารเลยคือคำว่า ‘คนสวย’ ในที่ตรงนั้นไม่ได้มีใครสวยอยู่ และเรามั่นใจว่า เราไม่ใช่คนสวย ทำไมคุณต้องมาดัดจริตเรียกแบบนั้น”

ซึ่งการเรียกว่าคนสวยในบริบทนี้ ไม่ได้เป็นไปในเชิงชื่นชม แต่อยู่ในลักษณะของการแซว หรือล้อเลียนมากกว่า เช่น การพูดว่า “คนสวยจะไปไหนจ๊ะ”

คำเรียกแบบนี้เหมือนเป็นการแปะป้ายไว้ชัดเจนแล้วว่า คนคนนี้แตกต่างจากพลทหารชายคนอื่น เพราะคำว่าคนสวยไม่ได้ถูกใช้เรียกทุกคน ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า คนที่เรียกเอกแบบนั้น มีอคติทางเพศ และไม่เคารพในอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งที่ควรทำไม่มีอะไรมากกว่าการแค่เรียกชื่อของคนที่เราต้องการสื่อสารด้วยเท่านั้น

นอกจากการล้อเลียนจากคำพูดแล้ว อัตลักษณ์ทางเพศของเขายังถูกตั้งคำถาม

 

ถูกมองเป็นความอ่อนแอของกองทัพ

จากการที่ผู้ใหญ่ในกองทัพมองว่า ทหารต้องเข้มแข็ง แล้วความเข้มแข็งนี้พ่วงมากับความรู้สึกที่ว่า ทหารต้องมีลักษณะสำคัญคือการเป็นผู้ชายเท่านั้น ทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้ชายจะถูกมองว่า เป็นความอ่อนแอของกองทัพ

“ในค่ายทหารจะมีที่อยู่สำหรับกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งเวลาฝึกเราก็จะอยู่ตรงนั้น เผื่อว่า เวลานายมาตรวจ เขาจะเอาพวกเราไปหลบทัน เพราะนายจะได้เห็นแต่ทหารที่เข้มแข็ง”

การเหมารวมว่า LGBTQ+ เป็นผู้ป่วยก็ส่งผลให้ทหารบางคนมองว่า พวกเขาเป็นสิ่งผิดปกติ จนเกิดคำถามเชิงเสียดสี-ล้อเลียน เพื่อสร้างความตลกขบขัน โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวของเอก เขาเคยถูกตั้งคำถามว่า

“คิดอย่างไรถึงเป็น LGBTQ+”

อย่างไรก็ตาม คำถามที่แท้จริงที่ควรจะตั้งคำถามคือ การเป็นเพศทางเลือกไม่เข้มแข็งอย่างไร ทำไมกองทัพยังคงมองว่า LGBTQ+ เป็นผู้ป่วยอยู่ แม้ท้ายที่สุดจะมีการเปลี่ยนคำเรียกขานในใบรับรองแพทย์จากเดิมที่เขียนว่า เพศทางเลือกเป็นผู้ป่วยแล้ว แต่ความคิดของผู้คนยังไม่เปลี่ยนไปตามสังคมอีกหรือ

 

อยากให้คนในกองทัพได้มาอ่าน เพราะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางอคติทางเพศ ความรุนแรง และการเลือกปฎิบัติที่เกิดขึ้นในสายตาของเอก ทำให้เขาเลือกที่จะออกมาพูดถึงสิ่งที่เคยเผชิญ แม้ว่าในความคิดของเอก ปัญหาเหล่านี้จะฝังรากลึกจนไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย แต่เอกยังมีความหวังว่า หากใครสักคนในกองทัพได้มาเห็นบทความนี้ ก็อาจสร้างแรงกระเพื่อมแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่พวกเขาก็อาจตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้

สุดท้ายนี้เอกยังฝากถึงคนที่อาจประสบปัญหาเดียวกับเขาในอดีตว่า ถึงแม้ในวันนี้อาจยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของใครหลายคนได้ แต่สิ่งที่ทำให้อยู่ต่อไปได้คือ การคิดถึงความสุขของตนเอง มากกว่าใส่ใจในคำพูดของคนอื่น 

“สุดท้ายที่เราพาตัวเองให้ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้คือ การมีความสุขกับตัวเอง แล้วคิดว่า พรุ่งนี้ก็จะได้ออกจากตรงนี้แล้ว” อดีตนายทหารกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , ,