‘ไม่มีความรู้สึกรัก หรืออยากมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย นี่เราผิดปกติหรือเปล่า?’
เชื่อว่าหลายคนที่มีความรู้สึกนี้ คงคิดว่าตัวเองผิดปกติไปจากคนอื่นๆ และอาจจะต้องได้รับการรักษา แต่รู้หรือไม่ ในสังคมของคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่นอย่างกลุ่ม ‘Asexual/Aromantic’ ตัวอักษร ‘A’ จากคำว่า LGBTQA+ ภาวะดังกล่าวคือเรื่องปกติสำหรับพวกเขา
แม้ว่าในปัจจุบันสังคมจะยังคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Asexual และ Aromantic น้อยมากก็ตาม แต่คุณก็ไม่ได้แปลกประหลาดหรือผิดปกติแต่อย่างใด
เนื่องในเทศกาลวาเลนไทน์ ผู้คนต่างออกมาแสดงความรักโรแมนติกกับคนรักของตน The Momentum เปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่ไม่มีความรักแบบโรแมนติกอย่าง ‘ปาร์คเกอร์’ – ภารวี อากาศน่วม ผู้ชายข้ามเพศที่นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual-Aromantic และผู้ก่อตั้งเพจ AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และความรู้สึกของการเป็น Asexual-Aromantic ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นใคร และมีความรู้สึกต่อความรักในรูปแบบใด
พร้อมกับไขข้อกังขาของสังคมว่า ‘ในเมื่อไม่รู้สึกรักใคร่’ แล้วความรักในมุมมองของพวกเขาคืออะไรกันแน่
นิยามตัวเองไว้ว่าอะไร
เราเรียกตัวเองว่า aromantic-asexual trans masculine เรามีเพศกำเนิดที่หมอกำหนดให้เป็น ‘ผู้หญิง’ แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงเลย เราจึงนิยามตัวให้เข้าใกล้ความเป็นชายมากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นผู้ชาย เรายังเป็น aromantic-asexual หรือผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร และแรงดึงดูดทางใจกับใคร
ได้ ‘ทำความรู้จัก’ กับตัวเองตั้งแต่เมื่อไร
ตอนรู้ว่าตัวเองเป็นทรานเจนเดอร์ (คนข้ามเพศ) ตั้งแต่ช่วงมัธยมฯ ปลาย เราไม่รู้สึกตัวว่าเราเป็นผู้หญิงเลย บวกกับเห็นในต่างประเทศว่ามีคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เราก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งทีเราน่าจะเป็นได้เช่นกัน
ส่วนการเป็น Asexual-Aromantic เรามารู้ตัวตอนเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว ก่อนหน้านี้ก็รู้สึกว่าตัวเองมีมุมมองเรื่องความรักไม่เหมือนเพื่อน แต่คิดแค่ว่า เราคงเด็กอยู่ หรือยังไม่โต แต่พออายุได้ 20 ปี เราก็ยังคงไม่รู้สึกอะไรอยู่ เลยเริ่มคิดว่า คงไม่ใช่ว่าเราไม่โตแล้วล่ะที่เราเป็นแบบนี้
เราเริ่มสังเกตเห็นว่าเพื่อนสมัยมัธยมฯ เริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็จะมีอารมณ์แอบชอบรุ่นน้อง แอบรักรุ่นพี่ หรือแอบชอบเพื่อนตัวเองมากขึ้น เราไม่เคยมีความรู้สึกแบบนั้นเลยว่ากำลังชอบหรือรักใคร รู้สึกแค่ว่าการมีเพื่อนก็ทำให้มีมีความสุขดี ไม่มีแฟนเราก็อยู่ได้ โดยเฉพาะกับเรื่องเซ็กซ์แทบจะไม่ใช่เรื่องที่เราเอามาคิดในหัวเลย
พอมีคนพูดเรื่องเพศศึกษาหรือเรื่องเซ็กซ์ขึ้นมา เพื่อนในห้องจะตื่นเต้นมาก แต่เรากลับรู้สึกเฉยๆ และสงสัยว่าทำไมทุกคนถึงต้องตื่นเต้นกับมันขนาดนี้
หลังได้รู้จักตัวเอง ปาร์คเกอร์บอกครอบครัวอย่างไร แล้วคนที่บ้านมีปฏิกิริยาแบบไหน
จริงๆ เราไม่ได้บอกที่บ้านโดยตรง แต่เรามาบอกหลังโพสต์ในเฟซบุ๊กไปแล้วว่าเราเป็น Aromantic-Asexual ทุกคนในบ้านก็เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊กอยู่ดี เวลาโพสต์อะไรไปเขาก็รู้หมด
แม่ของปาร์คเกอร์บอกกับ The Momentum ว่า ที่บ้านพยายามที่จะไม่แสดงความตื่นตกใจอะไร เพราะเราไม่อยากที่จะกดดันปาร์คเกอร์ และจริงๆ ครอบครัวก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจเพราะก่อนหน้านี้ ปาร์คเกอร์เคยบอกว่าตัวเองเป็นทรานส์มาก่อน และมองว่าการเป็นคนข้ามเพศน่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าการเป็น Asexual-Aromantic ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนอะไร ใช้ชีวิตกันต่อไป เพราะที่บ้านไม่ได้กดดันให้ปาร์คเกอร์ต้องมีลูก ต้องแต่งงาน
เพราะว่าแม่กับปาร์คเกอร์สนิทกันมาก ตอนที่ปาร์คเกอร์ออกมาประกาศตัวว่าเป็นทรานส์ แม่ก็ช่วยเป็นตัวเชื่อมกับคนอื่นในบ้าน ส่วนตัวแม่ไม่มีปัญหาว่าปาร์คเกอร์จะเป็นอะไร แต่แม่จะแค่สงสัยมากกว่าว่า ‘แล้ว Asexual-Aromantic แปลว่าอะไรลูก?’ เพื่อที่ว่าจะได้อธิบายให้คนอื่นในครอบครัวเข้าใจ
เพราะพื้นฐานการสั่งสอนจากที่บ้านที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้ปาร์คเกอร์ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องเซ็กซ์
ตัวผมและแม่ไม่ได้คุยเรื่องเพศกันขนาดนั้น เรียกได้ว่าน้อยเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกันมากกว่า อย่างเพื่อนรอบตัวอาจมีความสงสัยเรื่องเซ็กซ์หรือเรื่องเพศมากกว่า เลยทำให้มีการพูดคุยกับครอบครัว แต่ตัวเราไม่ได้มีความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ใดๆ เลย
เคยดูคลิปวิดีโอหรือหนังสือโป๊บ้างไหม
เคยดูเพราะแค่สงสัยว่า ทำไมคนอื่นเขาชอบดูกัน (หัวเราะ) และเราก็ไม่เข้าใจว่าคนดูหนังโป๊กันเพราะอะไร ตอนเด็กๆ เรามีความเข้าใจว่าที่คนดูหนังโป๊ ดูเพราะอยากเชิงวิทยาศาสตร์ว่าการมีเซ็กซ์เป็นอย่างไร แต่ก็ได้มารู้ทีหลังว่าเขาดูกันเพราะเรื่องอื่น
พอรู้ว่าตัวเองเป็น Aromantic-Asexual รู้สึกว่าใช้ชีวิตในสังคมยากขึ้นหรือเปล่า
ยากตรงที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงสนใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และทำไมสังคมถึงต้องให้ค่ากับความรักแบบโรแมนติกหรือเซ็กซ์มากขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ ก็คือเรื่องธรรมดา แต่เรากลับรู้สึกมีปัญหากับสังคม ตั้งคำถามว่าทำไมต้องยกให้ความรักแบบโรแมนติก ‘สูงส่ง’ กว่ารักแบบอื่น ทำไมคนถึงต้องให้ค่าขนาดนั้น ทั้งที่คนเราก็รักกันในแบบอื่นได้ ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่ากัน นี่คือจุดที่เรามองว่ามันยาก แต่เพื่อนก็คงเข้าใจเรายากเหมือนกัน ว่าทำไมถึงไม่สนใจอะไรแบบนี้เลย
ต้องเป็นความรู้สึกแบบไหนสำหรับปาร์คเกอร์ จึงจะเรียกอีกฝ่ายว่า พาร์ตเนอร์ (Partner) หรือคู่ชีวิต?
ถ้าถามว่าจะเป็นต้องมีไหม เราคงตอบว่าไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่าคนแบบไหนที่อยากอยู่ด้วย เราคิดว่าเป็นเพื่อนกันก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ คนที่สนิทอยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ อยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย เป็นบ้านให้แก่กัน เราคิดว่าคู่รักโรแมนติกเขาจะอยู่ด้วยกันได้ก็คงต้องรู้สึกแบบนี้ด้วย แต่ก็คงจะเป็นความรักที่ต่างออกไป เขาอาจจะรักอีกแบบหนึ่ง แต่เราจะมีความรู้สึกกับคนที่เราอยู่ด้วยอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้โรแมนติกเหมือนกับคนรัก
เอาจริงๆ เพื่อนกันก็รักกันได้ แต่อาจจะเป็นความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าเพื่อนก็เป็นพาร์ทเนอร์ให้กันได้ อยู่ที่ว่าทั้งคู่จะตกลงเข้าใจกันว่าแบบไหน
ในสังคมมี Aromantic ที่มีแฟนและแต่งงาน หลายคนมีพาร์ทเนอร์และอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งเป็น Aromantic และอีกคนไม่ได้เป็นก็มีให้เห็น มันอยู่ที่การสื่อสารของแต่ละคู่ว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างไร เขาพึงพอใจกับความรู้สึกที่มีให้กันอย่างไร ถ้าจะบอกว่า Aromantic มีแฟนไม่ได้คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
อยากจะบอกอะไรกับครอบครัวที่มีลูกเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ Asexual-Aromantic บ้างไหม
เราว่าต้องเปิดใจกว้างๆ มองว่าการที่คนเราเกิดมา ไม่มีใครที่จะเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงสองคนเกิดมา แม้จะมีความชอบในเพศชายเหมือนกัน แต่สองคนนั้นก็ไม่เหมือนกันทุกอย่าง เราคิดว่าการที่คนหนึ่งเกิดมามีความหลากหลายทางเพศ การที่เขาเกิดมาเขาก็เป็นแบบนั้นเอง ถ้าคนเราเกิดมาและเหมือนกันทุกคน แบบนั้นจะน่ากลัวมาก เหมือนว่าเราทุกคนกลายเป็นหุ่นยนต์มากกว่า เราคิดว่าความแตกต่างหลากหลายทำให้เรา ‘เป็นมนุษย์มากขึ้น’ ได้เติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้กับผู้คน
ปาร์คเกอร์เคยมีเซ็กซ์ไหม และเซ็กซ์ของคนที่เป็น Asexual แตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร
คนที่เป็น Asexual ไม่ได้แปลว่ามีเซ็กซ์ไม่ได้ เขาแค่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่นเฉยๆ แต่เขาสามารถมีเซ็กซ์ได้ มีอารมณ์ทางเพศได้ ร่างกายของเขาไม่ได้ผิดปกติ
แรงดึงดูดทางเพศอาจหมายถึงการที่เรารู้สึกตอบสนองต่อผู้อื่น แต่อาารมณ์ทางเพศเป็นกลไกของร่างกายที่สร้างให้เกิดขึ้นมา หรือบางครั้งหากโดนกระตุ้นก็สามารถที่จะรู้สึกขึ้นมาได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้หวังให้มันเกิดก็ตาม
การที่ Asexual จะมีเซ็กซ์ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหลายๆ คนก็มีเซ็กซ์ บางคนในต่างประเทศเป็น Sex Worker ก็มี เราต้องแยกกันก่อนว่าการมีเซ็กซ์ กับการมีแรงดึงดูดทางเพศเป็นคนละส่วนกัน
โดยประสบการณ์ส่วนตัวเราก็เคยมี แต่ถามว่าทำไมตอนนั้นถึงมี เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นคนที่โอเค แต่ถามว่าเรารักเขาไหม เราก็ไม่ได้รักเขา และเรามีแรงดึงดูดกับตัวเขาไหม เราก็ไม่ได้มี มันเป็นอารมณ์ ณ ตอนนั้นที่ถูกกระตุ้นขึ้นมา หากถามว่ามีเซ็กซ์ได้ไหม ก็มีได้ แต่ถ้าเลือกได้คิดว่าไม่มีน่าจะดีกว่า
เราไม่จำเป็นที่จะต้องตรงกับคำนิยามที่คนเขาให้มาร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่เราแฮปปี้กับการนิยามตัวเองว่าอะไรมากกว่า
อะไรที่ทำให้สังคมมีปัญหากับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เราคิดว่าบางคนก็มีปัญหากับทุกอย่างที่ไม่เหมือนกับตัวเอง คนพวกนี้คงรู้สึกว่าความหลากหลายทางเพศจะมาทำลาย ‘ความปกติ’ ของการเป็น ‘ชายจริงหญิงแท้’ สิ่งที่เขาคิดว่าตัวเองปกติมาตลอด ทุกวันนี้ความหลากหลายทางเพศแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่อาจจะมีบางอย่างที่ไปล้ำเส้นพวกเขา จนทำให้รู้สึกว่าพวกเขาอาจไม่ปกติก็ได้ แต่แท้จริงแล้วทุกคนก็ปกติกันหมดหรือเปล่า
นิยามความรักของคน Aromantic คืออะไร
ความรักของคน Aromantic เป็นได้หลายอย่างมาก เราคิดว่าความรักมันมีหลายแบบมาก เราสามารถมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคนรอบตัว โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนก็ได้ เราเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงชอบจำกัดความรักให้อยู่ในกรอบของคนรักอย่างเดียว คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรักในรูปแบบโรแมนติกเป็นรักรูปแบบเดียวในชีวิตอยู่แล้ว
ถ้าวันวาเลนไทน์มีการชูความรักในรูปแบบอื่นขึ้นมาบ้างก็คงดีเหมือนกัน หรือคนเราจะไม่มีความรักเลยก็ได้ เพราะเขาอาจจะมีความรู้สึกลึกซึ้งกับอย่างอื่นมากกว่า เราควรที่จะถามตัวเองให้ได้ว่านิยามความรักของตัวเองว่าอย่างไร แล้วสิ่งที่รู้สึกตรงกับความรักที่เรานิยามไหม
ความรู้สึกเป็นเรื่องที่ปัจเจกมากๆ คนข้างนอกไม่มีทางจะรู้เลยว่า ตัวของเรานิยามความรู้สึกไว้อย่างไรกันแน่
อยากบอกอะไรกับคนที่เป็น Aromantic-Asexual คนอื่น
เรารู้ว่าการเป็น Aromantic หรือว่า Asexual ในโลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น และก็ไม่ได้พยายามที่จะทำความเข้าใจนั้น ‘ยาก’ เพราะสังคมพยายามหาคำนิยามและผลักให้เรากลายเป็นคนที่ผิดปกติอยู่ตลอดเวลา แต่เราอยากจะบอกว่าบนโลกใบนี้ไม่มีใครผิดปกติหรอก ทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือว่าการเป็น Aromantic
ถ้ากำลังคิดว่าตัวเอง ‘ผิดปกติ’ อยากให้พยายามล้มเลิกความคิดนั้น เพราะคุณไม่ได้เป็น Aromantic หรือ Asexual คนเดียวในโลก ในประเทศไทยอาจจะหายาก แต่ในต่างประเทศมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อวิจัยและขับเคลื่อนกฎหมายเกี่ยวกับ Aromantic-Asexual อย่างจริงจัง
ในบริบทประเทศไทยอาจดูสิ้นหวังหรือว่าโดดเดี่ยวมาก แต่เราก็ยังคงหาเพื่อนได้อีกเยอะ เพราะบางคนที่เป็นและไม่รู้ตัวก็มีอยู่มากเช่นกัน
Tags: ความรัก, เซ็กซ์, Feature, LGBTQ, Asexuality, Aromantic, รักActually, The Proud of Pride