ผลเลือกตั้ง ‘ภาคเหนือ’ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ย่อมสะเทือนคนเหนืออย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ไม่น้อย

เพราะทั้ง 3 จังหวัดเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคไทยรักไทย ตลอดจนพรรคเพื่อไทย และกระแสยิ่งสูงขึ้นไปอีก เมื่อทักษิณกลับมาตุภูมิ เป็นผู้ช่วยหาเสียง อู้กำเมืองในหลากเวทีทั้ง 3 จังหวัด

แต่ผลสุดท้ายทักษิณแพ้ที่เชียงรายให้กับ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ ทักษิณแพ้ที่ลำพูนให้กับ ‘ค่ายสีส้ม’ และแม้จะชนะที่เชียงใหม่บ้านเกิด แต่ก็เป็นการชนะแบบหืดขึ้นคอ 

คำถามคือ ภูมิทัศน์การเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไร อิทธิพลของทักษิณจะยัง ‘เข้มแข็ง’ อยู่หรือไม่ แล้วในอีกด้านพรรคประชาชนที่มีที่มั่น 1 แห่งที่จังหวัดลำพูนจะไปต่ออย่างไร

The Momentum ชวน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคแดงและส้มว่า เขามองเห็นอะไรบ้าง

“หากถามผมว่า ผลลัพธ์การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้ไหม ก็ต้องบอกว่า ผิดจากที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างของพรรคเพื่อไทยที่ทักษิณลงแรงเอามากๆ ผมคิดว่าเขาจะชนะได้ที่นั่ง อบจ.มามากกว่านี้”

ในตอนแรกเขามองว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 16 คน จะได้รับชัยชนะมากกว่า 10 คน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ล่าสุดหลังการเลือกตั้ง

เพราะหากยึดผลการเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2554 พื้นที่ภาคเหนือไล่ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ และอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่เพื่อไทยกวาด สส.ไปมากกว่า 35 ที่นั่ง ยกเว้นเพียงจังหวัดเดียวคือแม่ฮ่องสอน ที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ 

ทว่าในรอบนี้พรรคเพื่อไทยแพ้ที่เชียงรายและลำพูน ขณะที่เชียงใหม่ก็ชนะแบบไม่ทิ้งห่างอันดับที่ 2 มากนัก ซ้ำยังเสียเก้าอี้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ให้กับพรรคประชาชนถึง 16 ที่นั่ง 

กล่าวสำหรับเชียงราย อรรถจักร์อธิบายเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถดึงฐานเสียงกลับมาชนะในจังหวัดเชียงรายได้ว่า เป็นเพราะทักษิณรวมพลังบ้านใหญ่ในจังหวัดได้ไม่มากพอ 

“ทักษิณพยายามจะเอาคนจาก 3 บ้านใหญ่ในเชียงรายมารวมกัน เพื่อรุม อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครคู่แข่ง ซึ่งก็มาจากบ้านใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ผลการเลือกตั้งนั้นชี้ว่า บ้านใหญ่ของวันไชยธนวงศ์ฝ่าวงล้อมการรวมบ้านใหญ่ของทักษิณจนชนะเลือกตั้งได้ ทำให้เห็นว่าการรวมบ้านใหญ่ของทักษิณไม่เหนียวแน่นพอ 

ขณะที่เชียงใหม่ บ้านเกิดอรรถจักร์ เขามองว่า พรรคประชาชนจะแพ้อยู่แล้ว แต่ด้วยจำนวนคะแนน 2 หมื่นคะแนนนั้นเป็นการ ‘สูสี’ แบบที่เขาไม่คาดคิด 

ส่วนที่ผิดคาดและทึ่งมากคือจังหวัดลำพูน ที่พรรคส้มเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

“แต่ส่วนหนึ่งต้องไม่ลืมว่า คุณวีระเดช ภู่พิสิฐ มีฐานเสียงจากการเป็นลูกของนักการเมืองบ้านใหญ่ที่มีอิทธิพลในจังหวัดลำพูนมาอย่างยาวนาน ดังนั้นชัยชนะของพรรคประชาชนในจังหวัดดังกล่าวอย่างน้อยๆ สัก 10% อาจจะมาจากฐานคะแนนเดิม” อรรถจักร์กล่าว

อันที่จริงการเลือกตั้งนายก อบจ.ปีนี้ พรรคเพื่อไทยทำผลลัพธ์ได้ดีกว่าปี 2563 ที่ได้ที่นั่ง อบจ.ไปเพียง 9 คน จากที่ส่งลงเลือกตั้ง 25 คน ขณะที่การเลือกตั้ง อบจ.ในปีนี้ พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งน้อยกว่าปี 2563 จำนวน 16 คน แต่กลับได้ที่นั่ง อบจ.เพิ่มอีกจากปี 2563 มา 1 ที่นั่ง 

หลังเดินสายเป็นผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง นายก อบจ.​ 2568 ทักษิณขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ใน 9 จังหวัด ภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ในความเป็นจริงมีราว 4 จังหวัด ที่ทักษิณ ‘แพ้’ นั่นคือ บึงกาฬ เชียงราย ศรีสะเกษ และลำพูน โดยเฉพาะที่จังหวัดศรีสะเกษที่พรรคแดงแพ้ให้กับเครือข่ายพรรคภูมิใจไทยหมดรูปไปถึง 1.2 แสนคะแนน 

“ทุกคนพูดตรงกันว่า ทักษิณสิ้นมนต์ขลัง หมดพลังไปแล้ว” อรรถจักร์กล่าวกับ The Momentum พร้อมเสริมว่า ผู้มีอิทธิพลจากค่ายแดงรายนี้ไม่ได้นำเสนออะไรที่น่าตื่นเต้น นอกเสียจากการทวงสัญญาและความรัก ซึ่งเขามองว่า ‘ไร้ความหมาย’ 

“นอกจากนี้ผมมองว่า ประชาชนมองเห็นความเป็นพลเมืองของตัวเองมากขึ้น เขารู้ว่าเขาสามารถต่อรองกับนักการเมือง มากกว่าจะรอรับสิ่งต่างๆ ที่นักการเมืองนำมาให้ คนจำนวนหนึ่งจึงเปลี่ยนจากการเลือกทักษิณไปเลือกนักการเมืองคนอื่นๆ”

แต่ในแง่หนึ่ง สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ แล้วเพราะเหตุใดพรรคที่เคยได้ สส.ในเชียงใหม่ 7 จาก 10 เขต กลับยังไม่แข็งแรงนัก หากต้องรวมเสียงสู้ศึกนายก อบจ. 

“สำหรับผม กระแสของพรรคประชาชนยังคงสูง หากพรุ่งนี้มีการเลือกตั้งระดับประเทศ แล้วถามผมว่าพรรคการเมืองใดจะชนะ ผมยังมองว่าพรรคประชาชนยังคงจะมาเหนือ”

ปัจจัยที่ทำให้พรรคประชาชนพลาดเป้า มีอยู่ 2 ข้อหลักๆ 

  1. การเลือก อบจ.ปี 2568 จัดขึ้นในวันเสาร์ (1 กุมภาพันธ์) ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว การเลือกตั้งทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นมักจัดในวันอาทิตย์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่หยุดงาน ขณะที่มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานในวันเสาร์

  2. ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตและการเลือกตั้งนอกเวลา เหมือนกับการเลือกตั้งระดับประเทศ 

กับอีกข้อสำคัญคือ พรรคประชาชนได้พาการเมืองไทยไปยังจุดใหม่ จุดที่ ‘ไม่ซื้อเสียง’

“การที่พรรคประชาชนไม่ซื้อเสียง แต่กลับได้คะแนนการเลือกตั้ง อบจ.หลักหมื่นถึงหลักแสนนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี” 

แต่ในกระแสที่พรรคประชาชนก็อ่อนแอ ขณะที่ทักษิณก็ไม่ได้สดใหม่ ไม่ได้น่าตื่นเต้น ไม่สามารถปลุก ‘แดง’ ให้ฮึกเหิมอย่างที่ใครคาดการณ์ คำถามสำคัญคือ ทั้ง 2 พรรคการเมืองนี้จะเดินเกมอย่างไร ให้ไม่แห้วในการเลือกตั้งระดับประเทศปี 2570 

“การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยทิ้งภาระให้กับทักษิณเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัว ผมมองว่า เขาจะเดินเกมแบบนี้ไม่ได้แล้ว หรือหากจะให้ทักษิณขึ้นนำเหมือนเดิมก็ควรให้คนอื่นเขียนสคริปต์ให้ ไม่ใช่ให้เขาพูดได้ตามอำเภอใจ” อรรถจักร์ระบุและเสริมว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องคำนึงถึงบุคลากรคนอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมลงสนามการเลือกตั้งกับพรรค รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยมีศักยภาพได้ไม่ใช่เพราะการวางระบบโดยผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว 

“ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยจำเป็นจะต้องสร้างนโยบายอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เพราะนโยบายที่รัฐภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยในครั้งหนึ่งมันเคยมีประสิทธิภาพ แต่วันนี้มันลดประสิทธิภาพนั้นลงไปมากแล้ว”

ส่วนพรรคประชาชน การทำงานในพื้นที่ให้หนักขึ้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม อรรถจักร์ไม่ได้พยายามจะแนะนำให้นักการเมืองโผล่ไปให้เห็นหน้าในงานขาว-ดำ หรืองานแต่ง แต่เป็นการทำงานกับท้องถิ่นด้านการศึกษาที่เข้าถึงกลุ่มคนธรรมดาให้มากขึ้่น

“หากหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดี พรรคประชาชนอาจจะต้องลงแรงด้านการศึกษาสู่คนธรรมดาให้มากขึ้น ทำให้เขาได้ตระหนักถึงสิทธิของพลเมือง ไม่จำเป็นว่าเขาต้องเป็นประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองของคุณ 

“ส่วนเรื่องการเลือกตั้งผมเชื่อว่า ถ้าเขาใช้เวลา ทำการเมืองท้องถิ่นให้สำเร็จ การเลือกตั้งใหญ่เขาชนะแน่นอน” อรรถจักร์กล่าวทิ้งท้าย 

Tags: , , , , , ,