โดยปกติแล้วการประเมินราคาที่ดินโดยกรมธนารักษ์จะเปิดเผยและปรับเปลี่ยนทุก 4 ปี ให้เข้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ที่สอดคล้องกัน แต่ 3 ปีที่ผ่านมา มีความจำเป็นต้องเลื่อนการปรับออกไป เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดและภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงทั่วโลก ทำให้จำเป็นต้องใช้การอ้างอิงราคาจากการประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2559-2562 เป็นเกณฑ์ในบางพื้นที่

กรมธนารักษ์ได้จัดทำราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ในบางพื้นที่เสร็จก่อนเกิดโควิด-19 โดยนำบัญชีเดิมที่มีการประเมินเสร็จแล้วเมื่อปี 2562 กลับมาทบทวนใหม่ พบว่าราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์จากราคาที่ดินทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าการประเมินราคาที่ดินในรอบปี 2566-2569 อย่างเป็นทางการจะเปิดเผยประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้ และมีผลบังคับใช้จริงวันที่ 1 มกราคม 2566

ราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯ ของกรมธนารักษ์ พบว่า ทำเลที่มีราคาแพงที่สุดและครองแชมป์มาอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นถนนสีลม มีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา ส่วนทำเลที่มีราคาประเมินที่ดินถูกที่สุด คือบริเวณหมู่บ้านราชาวดี เขตหนองจอก มีราคาอยู่ที่ 4,300 บาทต่อตารางวา

ภายในระเวลากว่า 3 ปี ที่กรมธนารักษ์ไม่ได้ปรับราคาที่ดิน บางพื้นที่อาจมีราคาสูงกว่าฐานข้อมูลนี้ได้ โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (www.area.co.th) ในฐานะผู้ที่สำรวจราคาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในพื้นที่ กทม. และเขตปริมณฑล เพิ่มตั้งแต่ในปี 2561-2562 ในอัตรา 7.9 เปอร์เซ็นต์ และ 14 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เนื่องจากมีการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ยิ่งใกล้ศูนย์กลางความเจริญยิ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้ราคาที่ดินทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และในปี 2565 ราคาที่ดินก็คงจะขยับตัวสูงขึ้นอีก เพราะการเปิดใช้งานของรถไฟฟ้าที่มีโครงข่ายทั่วเมือง ส่งผลให้มีการขยับตัวของราคาที่ดินชัดเจนกว่าเดิม และคาดการณ์ว่าราคาที่ดินในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา

แม้ว่าราคาประเมินที่แพงที่สุดของกรมธนารักษ์ คือตารางวาละ 1 ล้านบาท อยู่ในย่านสีลมและเพลินจิต แต่สำหรับงานวิจัยของบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด เห็นต่างว่าที่ดินที่น่าจะมีราคาแพงที่สุดในปัจจุบันคือ บริเวณสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต ถนนวิทยุ และบริเวณใกล้เคียงกันราคาอาจพุ่งไปแตะ 3.3 ล้านบาทต่อตารางวา เนื่องจากเป็นแหล่งของสำนักงาน โรงแรมขนาดใหญ่ และสามารถเดินทางเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่ายกว่า

ข้อมูลนี้ตรงกับการประเมินผลงานของผู้ว่าฯ ในแต่ละปี โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) พบว่าการใช้เงินของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อพัฒนาเมืองส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่แต่ภายในเมือง เน้นศูนย์กลางและใกล้ย่านการค้าสำคัญ ทำให้ในพื้นที่รอบนอกและปริมณฑลขาดการดูแลพื้นที่สาธารณะเท่าที่ควร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างส่งผลต่อราคาประเมินที่ดินในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการอัปเดตราคาประเมินที่ดินกรุงเทพฯ ที่จะใช้ในปี 2565 หากต้องการรู้ถึงราคาประเมินที่ดินปี 2565 ในพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ สามารถตรวจสอบราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ที่เว็บไซต์กรมธนารักษ์ โดยใช้เลขที่โฉนดที่ดิน และเลขหน้าสำรวจเพื่อสืบค้นข้อมูลจากหลักฐานที่แน่นอน แต่ถ้ายังไม่มีเลขโฉนดที่ดิน สามารถเช็กราคาที่ดินกรุงเทพฯ แบบไม่เจาะจงแปลงได้จากรายการสรุปราคาประเมินที่ดิน ซึ่งมีประกาศในเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเช็กราคาประเมินที่ดินแบบไม่มีเลขโฉนด-เลขที่ดินได้ทาง https://landsmaps.dol.go.th/

หมายเหตุ: ราคาประเมินที่ดิน 2565 ตามสรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินนี้เป็นเพียงการประเมินที่ดินรายถนนที่หน่วยงานกรมธนารักษ์จัดทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถอ้างอิงกับราคาขายที่ดินรายแปลงในแต่ละเขตพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาที่ดินรายแปลงจะขึ้นอยู่กับราคาในการตกลงซื้อขายตามราคายุติธรรมหรือตีราคาสินทรัพย์ใหม่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ที่มีการยินยอมซื้อขายและพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย และในระหว่างนี้การทำนิติกรรมทั้งโอนที่ดิน ทั้งการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ยังคงใช้ฐานราคาประเมินที่ดินเดิมซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่รอบปี 2559-2562 มาใช้ต่อไปเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงโควิด-19

Tags: ,