การเลือกเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นเพื่อตกแต่งบ้าน นอกจากรูปลักษณ์ที่สวยงามน่าใช้ แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงสไตล์หรือรสนิยมของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ แต่จะดีกว่านั้นหากเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้สะท้อนแนวคิดรักษ์โลกและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการนำวัสดุรีไซเคิลจากขยะกลับมาใช้ใหม่
‘กล่องนม’ เป็นหนึ่งในขยะที่หลายคนทิ้งขว้าง ทว่าบริษัท เอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด (S.P. Paper and Tube) เล็งเห็นคุณค่า จึงนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูปเป็นเอ็นไวโรบอร์ด (Enviro Board: EVB) หรือแผ่นคอมโพสิต (Composite Board) วัสดุทดแทนไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายใน
The Momentum พูดคุยกับ เพรส-ธนัชพร พิทักษากร ทายาทของโรงงานที่มีแนวคิดรักษ์โลก ตั้งแต่ที่มาที่ไปในการเริ่มต้นนำกล่องนมมาทำเป็นวัสดุทดแทน คุณสมบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปลายทางของเอนไวโรบอร์ดหลังจากไม่ใช้งานแล้ว
จากธุรกิจรีไซเคิลกระดาษสู่ ‘เอ็นไวโรบอร์ด’ รักษ์โลก
เดิมทีบริษัทเอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด เป็นโรงงานรีไซเคิลกระดาษ โดยซื้อขายกระดาษมือสองทั้งกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าและกระดาษอื่นๆ มาตัดตามขนาดแล้วส่งขายให้กับบริษัทที่ต้องการใช้งาน
“พอเราทำธุรกิจรีไซเคิลกระดาษ และรู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว จึงลองมองหาวัตถุดิบใหม่ที่คล้ายกระดาษเพื่อนำมาต่อยอด โดยใช้องค์ความรู้ด้านกระดาษที่เรามีอยู่แล้วผลิตออกมาเป็นสินค้าของตัวเอง” ธนัชพรกล่าว
ด้วยความเชี่ยวชาญเรื่องกระดาษ ประกอบกับคลุกคลีในวงการรีไซเคิล ทำให้บริษัทเริ่มมองหาวัสดุหรือขยะที่มีส่วนผสมของกระดาษ ที่สามารถนำกลับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อใช้ซ้ำได้ ทำให้พบว่า ยังมีขยะอย่างกล่องเครื่องดื่มหรือกล่องนม ที่มักไปจบที่หลุมฝังกลบเป็นจำนวนมาก จึงเกิดไอเดียนำมาทำเป็นเอ็นไวโรบอร์ด ซึ่งเป็นแผ่นคอมโพสิตที่ใช้แทนไม้อัดในอุตสาหกรรมต่างๆ
โดยทั่วไปแผ่นคอมโพสิตที่ใช้ในการก่อสร้างและการตกแต่งภายใน เกิดจากการนำส่วนประกอบมากกว่า 2 อย่างมาอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น จำแนกเป็นทั้งแผ่นคอมโพสิตพลาสติกเสริมใยแก้ว แผ่นคอมโพสิตไม้พลาสติก และแผ่นคอมโพสิตที่ประกอบด้วยโลหะและอะลูมิเนียม โดยแผ่นคอมโพสิตเหล่านี้ มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ธนัชพรเล่าว่า หากชำแหละกล่องเครื่องดื่มออกมา จะพบกระดาษเป็นส่วนประกอบสำคัญมากถึง 70% เพราะฉะนั้น การอัดกล่องนมให้กลายเป็นแผ่นคอมโพสิตจึงขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี หรือกาว แผ่นคอมโพสิตดทุกแผ่นจึงมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปราศจากสารเคมีและสารฟอร์มาลดิไฮด์ (Formaldehyde) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และการผลิตไม้อัด
องค์กรสากลของประเทศสหรัฐฯ จัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogen) โดยมีงานวิจัยทางสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียระบุว่า สารชนิดนี้เป็นมลพิษที่พบได้ในอากาศภายในอาคาร (Indoor Air) สามารถสัมผัสผ่านการหายใจ ทางผิวหนัง และทางการกิน โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงาน แลกเกอร์เคลือบพื้นไม้ เครื่องเรือนที่ใช้ไม้อัดและพาร์ทิเคิลบอร์ด (Particle Board) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำตู้ โต๊ะ และเครื่องเรือนต่างๆ
วัสดุเพื่อความยั่งยืน
ไม้อัดในตลาดมีหลายเกรด โดยเอ็นไวโรบอร์ดได้รับมาตรฐานเดียวกับไม้อัดเอชเอ็มอาร์ (High Moisture Resistance: HMR) ที่ได้รับการรับรองว่า เป็นไม้อัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตจากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสนำมาสับและบดจนเป็นเส้นใยละเอียด แล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษ เหมาะสำหรับใช้ในบริเวณพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำและห้องครัว
เมื่อเปลี่ยนกล่องนมเป็นเอ็นไวโรบอร์ด และนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุในการก่อสร้าง การเลือกใช้เอ็นไวโรบอร์ดในครัวเรือนจึงมั่นใจได้ว่า ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เนื่องจากประกอบด้วยกระดาษ โพลีเอททีลีน (Polyethylene) และอะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminum Foil) ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม
“ถ้าไม้อัดใช้ทำอะไรได้ เอ็นไวโรบอร์ดก็ใช้งานได้เหมือนไม้อัด” ธนัชพรกล่าวถึงข้อดีของวัสดุทดแทนชนิดนี้
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้เอ็นไวโรบอร์ดมีทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ และผู้จัดอีเวนต์ รวมถึงบริษัทที่ต้องการจัดกิจกรรม เพื่อรณรงค์และรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม หรือการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ขณะเดียวกันยังมีลูกค้าบางส่วนนำเอ็นไวโรบอร์ดไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัยเล็กๆ เพราะคุณสมบัติของเอ็นไวโรบอร์ดมีความยืดหยุ่นสามารถดัดโค้งได้ มีความแข็งแรง ทนต่อความชื้นสูง และเป็นฉนวนกันความร้อนได้
“หากลูกค้าถามว่า ใช้งานภายนอกได้ไหม ความจริงแล้วสามารถใช้สร้างบ้านน็อกดาวน์ได้ แต่อยากแนะนำว่า ถ้ามีวัสดุที่สมเหตุสมผลกว่าก็ควรใช้วัสดุอื่น เนื่องจากต้นทุนของเอ็นไวโรบอร์ด และการเคลือบเพื่อกันน้ำซึมมีราคาสูง อีกทั้งยังมีส่วนผสมกระดาษ หากใช้งานกลางแดดกลางฝนทำให้เสื่อมสภาพได้รวดเร็วภายในระยะเวลา 2 ปี จึงแนะนำให้ใช้เป็นกึ่งภายนอก อย่างพวกเฟอร์นิเจอร์หรือเป็นฝาผนังภายในมากกว่า”
สำหรับการใช้งานเป็นฝาผนัง คุณสมบัติสำคัญคือ สามารถดูดซับเสียงได้ถึง 70% ทำให้เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เสียงดัง เพราะสามารถปิดกั้นเสียงไม่ให้ออกไปข้างนอกได้ แม้ไม่ใช่ฉนวนกันเสียงก็ตาม
ธนัชพรกล่าวว่า การดูดซับเสียงนี้ได้รับการรับรองจากศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (The Center of Building Innovation and Technology: CBIT) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนวัตกรรมอาคารและเทคโนโลยีอาคาร ครอบคลุมการคุ้มครองงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสนับสนุนการออกแบบเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste To Energy)
แม้เอ็นไวโรบอร์ดจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานหากใช้งานภายในอาคาร หรือสามารถอยู่ได้ถึง 10 ปีเมื่อทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ข้อเสียของวัสดุชนิดนี้คือเมื่อเสื่อมสภาพแล้วจะไม่สามารถนำมาผลิตซ้ำได้อีก เนื่องจากกระดาษจะเสื่อมสลายตามอายุการใช้งาน
แต่อย่างไรก็ตาม เอ็นไวโรบอร์ดที่เสื่อมสภาพแล้ว จะไม่ถูกทิ้งไว้เป็นขยะในหลุมฝังกลบอีกต่อไป เพราะสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณขยะอย่างยั่งยืน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การใช้เอ็นไวโรบอร์ดสามารถช่วยโลกได้ตั้งแต่กระบวนการนำขยะมารีไซเคิล จนกระทั่งกลายไปเป็นพลังงาน โดยไม่เหลือชิ้นส่วนไว้ทำลายโลก
อ้างอิง
– ธนาวุฒิ สุราษฎร์มณี. (2561). อันตรายจากฟอร์มาลดีไฮด์ในสำนักงานและที่พักอาศัย (Hazard of Formaldehyde in Office and Residential Buildings). วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2.
– http://www.cbit.arch.ku.ac.th/home/
– https://www.agrofiber.com/th/
– https://webkc.dede.go.th/testmax/node/2108
Tags: วัสดุทดแทนไม้, Feature, Business, EnviroBoard, เอ็นไวโรบอร์ด