จากการสำรวจของ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 18-24 มีนาคม 2567 พบว่า สัดส่วนของรายการประเภท ป (ปฐมวัย) และ ด (วัยเรียน) ใน 21 ช่องดิจิทัลทีวีมีอยู่ร้อยละ 0 ขณะที่รายการประเภท ท (ทุกวัย) มีอยู่ร้อยละ 1.31 นอกนั้นเป็นรายการไม่ระบุประเภทร้อยละ 1.37 และอื่นๆ ร้อยละ 97.32 ขณะที่เวลาออกอากาศของทั้ง 21 สถานีรวม 211,680 นาทีต่อสัปดาห์ มีพบว่ามีรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กออกอากาศเพียง 5,668 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น 

และหากมองลึกลงไปยัง ‘หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการ สำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556’ ซึ่งกำหนดให้ดิจิทัลทีวีแต่ละช่องมีรายการสำหรับเด็กอย่างน้อย 60 นาทีช่วง 16.00-18.00 น.ของทุกวัน และเพิ่มเติมในวันเสาร์และอาทิตย์เวลา 07.00-09.00 น. พบว่า มีเพียงรายการเข้าข่ายสำหรับเด็ก 45 รายการที่ออกอากาศตรงกับช่วงเวลาสำหรับเด็กตามเกณฑ์ของ กสทช.ในขณะที่ผลสำรวจของสื่อสาธารณะ Thai PBS เมื่อปี 2561 พบว่า เด็กอายุ 3-6 ปียังคงใช้โทรทัศน์เป็นช่องการรับสื่อมากที่สุด ในก่อนและหลังไปโรงเรียน

รายการสำหรับเด็กบนโทรทัศน์ที่มีอยู่น้อยนิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุปสรรคด้านกำไร เนื่องจากการประมูลช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัวเป็นการเฉพาะ ยังคงเป็นการประมูลแบบประเภทธุรกิจ ทำให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงกำไรจากการทำรายการ ขณะเดียวกันการโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ยังคงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับช่วงวัยของผู้ชมที่เป็นเด็ก ทำให้รายการสำหรับเด็กไม่ได้เนื้อหอมมากเทียบเท่ากับรายการประเภทอื่นๆ บนโทรทัศน์ 

จากข้อมูลบนหนังสือ ‘5 ปีบนเส้นทางทีวีดิจิทัล บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง’ ที่จัดทำโดย กสทช.ระบุว่า ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น MCOT Family มีรายได้รวมน้อยที่สุดอยู่ที่ 157 ล้านบาท โดยมีเหตุผลว่า กลุ่มช่องหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นช่องที่หารายได้ในเชิงธุรกิจค่อนข้างยาก เพราะมีเนื้อหารายการสำหรับเด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการหารายได้จากโฆษณาที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมดังกล่าว

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การ ‘สูญหาย’ ของรายการของคนในวัยกำลังโต รวมทั้งการหดหายของทางเลือกในการชมของเด็กที่พวกเขาแทบไม่มีพลังในการเรียกร้องสิ่งใดได้เลย ขณะที่ในอีกแง่หนึ่ง วิธีการ ‘รับสื่อ’ ของเด็กก็เปลี่ยนไป เด็กยุคใหม่โตมากับ ‘ไอแพดและยูทูบ’ ขณะที่ ‘ทีวี’ กลายเป็นสิ่งล้าสมัย และอาจตกยุคไปเมื่อพวกเขาโตขึ้น กระนั้นเองมีรายการเด็กหลายรายการที่พวกเราคิดถึง และเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างเราในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ อย่างทุกวันนี้

The Momentum ชวนย้อนกลับไปดู 7 รายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่สูญหายไปจากจอโทรทัศน์ไทย 

ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สูญหายไปเท่านั้น 

หลานปู่ กู้อีจู้ 

รายการสำหรับเด็กที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 7 สีนับตั้งแต่ปี 2551 ในรูปแบบรายการเรียลลิตี้ระหว่างหลานที่ต้องทำภารกิจกับปู่ย่าตายาย เช่น ให้หลานสอนอากงวาดรูปไดโนเสาร์ หรือให้หลานสอนหนังสือยาย จนฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างหลานๆ กับคนในครอบครัวได้อย่างลงตัวและสนุกสนาน กระนั้นเมื่อเข้าสู่ปี 2553 รายการดังกล่าวเป็นอันต้องลาจากจอโทรทัศน์ไปในที่สุด

ถ้าคุณแน่? อย่าแพ้ ป.4!

นับว่าเป็นรายการเกมส์โชว์ฉบับครอบครัวที่มีอายุบนจอแก้วมาอย่างยาวนาน สำหรับรายการ ถ้าคุณแน่? อย่าแพ้ ป.4! ที่เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2534 โดยผู้ใหญ่จะต้องเลือกเด็กชั้นประถมปีที่ 4 มาเป็นผู้ช่วยตอบคำถามที่เป็นความรู้พื้นฐานระดับชั้นประถมปีที่ 1-4 เมื่อตอบถูกก็จะได้รับเงินรางวัลสะสมไปในแต่ละรอบ 

กระทั่งในปี 2560 ถ้าคุณแน่? อย่าแพ้ ป.4! ก็เป็นอันต้องยุติการดำเนินรายการไป ด้วยจำนวนตอนมากถึง 563 ตอน แม้จะพยายามในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรายการเพื่อเพิ่มความสนุกและความท้าทายของผู้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นชื่อรายการที่ตัดคำว่า ‘ป.4’ ออกไป เป็น ถ้าคุณแน่? อย่าแพ้เด็ก (ประถม)! เพื่อให้เด็กชั้น ป.1-6 เข้าร่วมรายการได้ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความยากของคำถามให้เป็นความรู้ถึงระดับ ป.6 แล้วก็ตาม

Disney Club 

สำหรับใครที่อายุอยู่ในช่วง 20 ปี เป็นสายดูการ์ตูนและตื่นเช้า Disney Club อาจจะเป็นหนึ่งในรายการที่คุณคุ้นเคยและนับเป็นรายการขวัญใจในวัยเด็ก เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรวมการ์ตูนจากต่างประเทศ ยังสนับสนุนการเข้าถึงของเด็กไทยด้วยการใช้นักพากย์ไทยประกอบการ์ตูนแต่ละเรื่อง

Disney Club เริ่มออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่ปี 2534 และยุติการดำเนินรายการไปในปี 2564 หรือยาวนานกว่า 30 ปี ท่ามกลางการเข้ามาแทนที่ของสตรีมมิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์และแอปพลิเคชัน Disney Hotstar ที่ทำให้เด็กไทยที่ต้องการดูการ์ตูนของดิสนีย์ต้องย้ายจากโทรทัศน์ไปชมในโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่สามารถชมสตรีมมิงได้แทน

เจ้าขุนทอง

การแสดงที่ใช้คนตัวเป็นๆ เมื่อเวลาผ่านไปรูปลักษณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เติบโตขึ้น แต่สำหรับ เจ้าขุนทอง มีนักแสดงที่เป็นหุ่นมือคนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยในระยะเวลา 30 กว่าปีมานี้ ขณะที่บทเพลงที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นด้วย ‘อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน’ ได้กลายเป็นเสียงทักทายคุ้นหูของแฟนรายการเจ้าขุนทองไปแล้ว

เจ้าขุนทองถือเป็นละครหุ่นมือที่เกิดจากคนไทย กับความตั้งใจที่จะให้รายการนี้เป็นสื่อการเรียนรู้ภาษาไทยนอกห้องเรียน คงกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นชนบทผ่านฉากในรายการ ทั้งยังเปิดให้แฟนรายการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนสามารถส่งจดหมาย เพื่อเป็นกำลังใจแก่ทีมเบื้องหลังรายการได้อีกด้วย

ปัจจุบันเจ้าขุนทองยุติการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่ทีมงานยังคงเดินหน้าทำให้หุ่นมืออย่างเจ้าขุนทองและนักแสดงอื่นๆ ในรายการมีชีวิตต่อไปผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ThaiPBS และยูทูบ ขุนทองและผองเพื่อน Khuntong & Co. 

วิทยสัประยุทธ์

ยกถังน้ำมันเคลื่อนผ่านเส้นด้าย, สร้างคอนโดฯ ด้วยหนังสือพิมพ์รองรับไข่เป็นเวลา 10 นาที หรือให้เหลาดินสอหลักพันภายในระยะเวลาที่กำหนด และภารกิจทั้งหมดนี้มีเด็กเป็นผู้พิชิตในรายการวิทยสัประยุทธ์ รายการประเภทเกมโชว์ที่วัดกึ๋นด้านการวางแผนของเด็กและเยาวชนในการแก้โจทย์สุดหินที่บางครั้งผู้ใหญ่ก็ยากจะทำได้

รายการนี้เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2554 โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ก่อนจะหายจากจอไปในปี 2556 ก่อนหน้าการเข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวีที่ กสทช.กำหนดให้ทุกช่องมีรายการสำหรับเด็กทุกวันอย่างน้อย 60 นาทีในช่วง 16.00-18.00 น. 

คบเด็กสร้างบ้าน 

รายการสำรวจชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว การฉายภาพชีวิตของเด็กต่างจังหวัดของรายการ ได้เผยให้เห็นวัยเด็กที่ยากลำบากและต้องต่อสู้กับความยากจน ขณะเดียวกันก็ได้ทำให้เห็นถึงความสามารถในการอยู่รอดอีกด้วย อย่างไรก็ตามรายการคบเด็กสร้างบ้านยุติการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 และไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อีกทั้งบนโทรทัศน์และในสังคมออนไลน์ 

เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ 

แอนิเมชันสัญชาติไทยกับภารกิจตามหาโน้ตดนตรีในดินแดนแห่งเสียง ที่รวมเอาเหล่าศิลปินทั้งนักร้องและนักแสดง เช่น ธงไชย แมคอินไตย์, วิชญาณี เปียกลิ่น, นาตาชา โจซีฟิน เบลค ฯลฯ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสรรค์สร้างแอนิเมชันเรื่องนี้จนเป็นขวัญใจวัยเด็กของใครหลายคน 

ปัจจุบันเบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ยุติการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ไปเป็นที่เรียบร้อย และสามารถติดตามดูแอนิเมชันย้อนหลังได้เพียงบนโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

รายการเด็กทุกรายการที่หายไปแปลได้ว่า เด็กไทยกำลังมีตัวเลือกในการชมรายการโทรทัศน์อย่างน้อยนิด นี่ไม่เพียงแต่เป็นการผลักเด็กจำนวนมากที่ต้องการชมรายการสำหรับเด็ก ให้หันไปพึ่งพาช่องทางบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า มีคุณภาพเหมาะสมกับพวกเขาหรือไม่

ที่สำคัญ สำหรับเด็กและเยาวชนผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นอกจากโทรทัศน์ นี่จะเป็นการตัดโอกาสการรับรู้ของเด็กกลุ่มนั้นด้วยหรือไม่ 

อ้างอิง 

https://www.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการส-(1).aspx

https://www.prachachat.net/marketing/news-626338

https://www.mcot.net/view/8t1mYej

https://techsauce.co/news/nbtc-paid-compensation-to-3sd-3-family

https://www.thaimediafund.or.th/article-07062024/

https://www.the101.world/end-of-kids-tv-program/

https://so01.tci-thaijo.org/index.php/dpuca/article/view/242609/164757

Tags: , , , , ,