“ค่าไฟขึ้นอีกแล้ว เดือนนี้หนักกว่าเดือนก่อนอีก”
แม่ค้าคนหนึ่งจากร้านขายข้าวราดแกงที่ซอยรามคำแหง 29 พร่ำบ่น ขณะที่มือตักแกงราดข้าวให้ลูกค้าไปด้วย ก่อนจะหยิบบิลค่าไฟจากการไฟฟ้านครหลวงที่วางไว้หลังตู้มาให้เราดู
“เดือนนี้ป้าจ่าย 4,900 เดือนที่แล้วจ่ายแค่ 2,500 เอง มันขึ้นอะไรขนาดนั้น”
สอดคล้องกับที่พักอาศัยหลายแห่งในย่านรามคำแหง ที่ค่าไฟเดือนนี้แพงกว่าเดือนก่อน บ้างแพงขึ้นสองเท่าจากเดือนมีนาคม บ้างก็แพงจากเดิมไปถึงสามเท่าตัว จนคนทำงานหาเช้ากินค่ำต้องระบายออกมาเป็นคำพูด หรือใช้ค่าไฟเป็นตัวเปิดบทสนทนากับคนในซอย
ทุกอย่างมีสาเหตุ ค่าไฟแพงก็เช่นกัน
แน่นอนว่านี่คือค่าไฟในช่วงฤดูร้อนกลางเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิของประเทศไทยสูงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ‘แอร์’ เพราะเมื่ออากาศร้อนมากขึ้น ย่อมหมายความว่า เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น ยิ่งเมื่อโครงสร้างค่าไฟไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า หมายความว่าใช้ไฟมากหน่วยมากขึ้น ค่าไฟก็จะยิ่งแพง
แต่ที่มากไปกว่านั้นคือปัญหาเชิง ‘โครงสร้าง’ ปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 4.20 บาท โดยเป็นเพดานที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ‘ยั้ง’ ไว้ ไม่ให้แพงขึ้นกว่าเดิม ทั้งที่หากว่ากันตามจริง ด้วยราคาพลังงาน ราคาก๊าซ รวมถึงโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ประเมินกำลังการผลิตเกินจริง และมีกำลังการผลิตเกินจริง ปัจจุบัน ค่าไฟจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก
บทความ กลไกค่าไฟที่ทำให้คนไทยกลายเป็น ‘นักแบก’ โดยรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัยประจำ Climate Finance Network Thailand ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Momentum กล่าวถึง ‘กลไกทำค่าไฟแพง’ ว่า มีเหตุจากการที่รัฐเป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ที่ 35% และในส่วนที่เหลือเป็นการผลิตจากภาคเอกชน เท่ากับว่าไฟฟ้าส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่) มาจากการผลิตของภาคเอกชน ที่ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อ ขณะที่ กฟผ.ก็ผลิตไฟฟ้าเองด้วยเช่นกัน
“เปอร์เซ็นต์กำลังการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในมือเอกชนมากกว่ารัฐ การเป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.กับเอกชน ส่งผลให้ กฟผ.ต้องสูญเงินไปกับค่าพร้อมจ่าย และค่าพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ค่าดำเนินการ ต้นทุน ค่าซ่อมบำรุง กระทั่งจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น แม้โรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จจะยังไม่เริ่มจ่ายไฟก็ตาม เพื่อเป็นค่า ‘พร้อมจ่าย’ ให้กับโรงผลิตไฟฟ้า”
ตัดกลับมาที่ถนนรามคำแหง พ่อค้าแม่ขายยังคงทำงานหนักเพื่อจ่าย ‘ค่าไฟ’ ต่อไป
“ไม่ไหวหรอกมันแพงเกิน”
“เราค้าขาย แต่ของแพงมันก็ไม่ไหว”
เสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้า ณ ซอยรามคำแหงในวันนี้ สะท้อนความลำบากจากค่าไฟแพงเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่ค่าไฟที่สูงลิ่ว แต่ราคาวัตถุดิบทำมาหากินของคนหาเช้ากินค่ำก็สูงตาม และเพื่อเป็นปากเสียงให้คนทำงาน บทความชิ้นนี้จึงเกิดขึ้น ผ่านการนั่งฟัง นั่งพูดกับพ่อค้าแม่ค้า และคนทำมาหากินในย่านรามคำแหง เพื่อดูว่าพวกเขาลำบากอย่างไร
“ขึ้นอีกแล้วนะเดือนนี้”
ป้าณีพูดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 2 พฤษภาคม ขณะตักแกงให้ลูกค้าที่อยู่ด้านหน้าร้าน
“เดือนนี้จ่ายค่าไฟเท่าไรเหรอป้า” เราถามป้าณีอย่างคนเคยกัน
“เดือนนี้ 4,900 อีกไม่กี่สตางค์ก็จะ 5,000 แล้วหนู”
ข้าวราดแกงป้าณีอยู่ใต้ตึกแถวในซอยรามคำแหง 29 ภายในดูคลาสสิก เครื่องใช้ไฟฟ้ามีอยู่น้อยชิ้น เท่าที่เห็นด้วยตาเปล่ามีแต่เพียงพัดลมแขวน และทีวีตู้เก่าๆ ทว่าเดือนนี้ป้าณีกลับต้องเสียค่าไฟเฉียด 5,000 บาท เพิ่มจากเดือนก่อนที่จ่ายเพียง 2,500 บาท เกือบเท่าตัว แม้ไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือนที่ผ่านมาก็ตาม
“ห้องนอนเรามีแอร์อยู่ตัวหนึ่ง กลางคืนก็เปิดนอนแค่นั้นเอง เดือนที่แล้วก็เปิดเดือนนี้ก็เปิดเท่ากัน แต่ค่าไฟมันขึ้นเกิน มันโหดเกิน”
เมื่อค่าไฟขึ้น ทุกอย่างก็ขึ้นตาม ป้าณีอธิบายกับเราว่า วัตถุดิบทำมาค้าขายของป้าณีที่ซื้อมาจากตลาดมีราคาสูงขึ้น แต่ด้วยซอยรามคำแหง 29 แห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของร้านป้าณี เป็นย่านอาศัยของเหล่าแรงงานหาเช้ากินค่ำเสียส่วนใหญ่ และเป็นที่นอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ จึงเลี่ยงที่จะขึ้นราคาข้าวแกงซึ่งเป็นขุมพลังของคนทั้งซอย
“เราขายของก็ไม่ใช่ว่าขายแพงมากมาย ในซอยนี้ขายแพงมากก็ไม่ได้นะ
“พนักงานบางคนตกงาน คนไม่มีสตางค์บางคนเดินมาขอเซ็น ขอกินก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง เราเลยบอกเขาว่าอย่าเซ็นเลย เราเองขายแค่ 20 บาท แค่นี้ก็แทบจะไม่ได้อะไรแล้ว บางคนติดค่าข้าวก็ไม่ได้กลับมาจ่ายนะ ทำเฉยใส่ เราก็ไม่ได้อะไรหรอก เพราะเขาอาจจะไม่มีจริงๆ” ป้าณีพูดพลางถอนหายใจ
หากจะเทียบราคาร้านขายอาหารในมหานคร ข้าวราดแกงป้าณีจัดว่าราคาถูก ด้วยเงิน 45 บาท สามารถเลือกกับข้าวได้ถึง 3 อย่าง พร้อมข้าวสวยพูนจาน สั่งเป็นกับแยกก็จ่ายเพียงจานละ 20 บาทเท่านั้น
ขณะที่ราคาข้าวแกงของป้าณีหยุดนิ่ง ค่าไฟกลับพุ่งสูงทะลุจนป้าณีถึงกับใช้คำว่า “โหดมาก
“เราก็อยากวอนขอเขา ค่าไฟแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป คุณควรมาตรวจสำรวจดูว่าที่เขาขายของกันมันเป็นอย่างไร มันเป็นที่แบบไหน รากหญ้าจะตายอยู่แล้ว เราเองก็เช่าที่เขา ไม่ใช่ว่ามันเป็นบ้านของเรา เราก็ต้องเสียค่าที่ แล้วยังมาเจอค่าไฟอีก ก็อ้วกสิทีนี้” ป้าณีบ่นก่อนจะขอทิ้งท้ายกับเรา “รัฐบาลใช้ไฟเยอะ ไม่เหมือนประชาชน ประชาชนมันประหยัดจริงๆ แต่มันก็ไม่ได้อะไรเลย แล้วทำไมถึงเก็บประชาชนมากมายขนาดนี้ ประชาชนก็จะตายอยู่แล้ว”
ไม่ทันเดินออกจากปากซอย เราพบกับบ้านที่มีเครื่องซักผ้าเรียงรายอยู่ด้านหน้า พร้อมป้าย ‘ซัก-อบ-รีด’ ที่แขวนไว้บริเวณรั้วลูกกรง ข้างกันมีชายวัยกลางคนกำลังนั่งกรึ๊บเบียร์มองเด็กๆ วิ่งเล่นกันอยู่บนถนน
เราไม่รีรอ รีบเข้าไปชวนคุยถึง ‘ค่าไฟ’ ด้วยมั่นใจว่าคำตอบที่ได้คงไม่ผิดไปจากคนอื่นๆ
“เดือนนี้เสีย 5,800 บาท” ชายหน้าร้านซักรีดเอ่ย ก่อนจะซดเบียร์ไป 1 รอบ
“มันแพงเกินไป เดือนที่แล้ว 5,000 เดือนนี้มา 5,800 เดือนก่อนนู้นที่ยังไม่ร้อน 3,000 กว่าบาท”
เช่นเดียวกันกับผู้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ร้านซักอบรีดยังคงมีค่าไฟที่สูงขึ้น แม้ลูกค้าที่มาใช้บริการจะบางตาในช่วงหลังโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ชายตรงหน้าดูเหมือนจะเข้าใจว่าเป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น จึงทำให้ค่าไฟฟ้าแพงลิ่ว ทว่าเจ้าตัวยังคงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดค่าไฟแพงขนาดนี้ รัฐบาลจึงยังเงียบเฉย ไร้การดูแล
“ค่าไฟแพงเป็นเรื่องธรรมชาติ อากาศร้อนมันก็ต้องแพงทุกที่ ไม่ใช่แพงแค่บ้านเราหลังเดียว แต่รัฐบาลทำไมไม่ช่วยอะไรเลย อย่างน้อยๆ มาตรึงราคาค่าไฟสักสองเดือนให้มันยังพอบรรเทาเราได้ รู้ว่าร้อนก็เอาเงินตรงนั้นมาสนับสนุนเรานิดนึง มาเบรกให้ค่าไฟเราเบาลงหน่อยสิ”
การลดค่าน้ำไฟ เป็นอีกจุดขายในนโยบายของรัฐบาลช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เราจึงถามกลับไปยังลุงเจ้าของร้านซักรีดว่า ได้เห็นความคืบหน้าอย่างไรในนโยบายดังกล่าวที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้บ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้คือ “ยังไม่เห็นอะไร” ขณะเดียวกันก็ตำหนิติติงรัฐบาลที่เพ่งเล็งนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ต ‘เงินหมื่น’ มากไป เพราะโดยส่วนตัวคุณลุงมองว่า นโยบายที่ควรทำมากที่สุดในเวลานี้คือช่วยเหลือประชาชนจากภาระค่าไฟ
“ผมอยากให้รัฐบาลทำตามคำพูดว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะลดค่าน้ำ ค่าไฟ รัฐก็ลดจริงๆ แหละ แต่ลดแปปเดียว แล้วก็ไม่แตะ เงียบหายไปเลย พฤษภาคม เมษายน มีนาคม มันเป็นเดือนวิกฤต รัฐต้องมาช่วยตรงนี้สิ แล้วจะปรับขึ้นมาเหมือนเดิมก็ไม่ได้ว่า แต่รัฐต้องมาช่วยประชาชนก่อน คนตัวเล็กตัวน้อยที่เขารู้สึกว่าลำบาก” คุณลุงร้านซักรีดพูดห้วนๆ ปิดท้าย
“ก่อนหน้านี้เราจ่ายแค่ 1,700 บาท ไม่เกิน 1,900 บาท ตอนนี้ขึ้นมา 3,000 บาท เกือบจะ 4,000 บาท แล้ว แต่ใช้ไฟเท่าเดิมนะ” เป็นคำพูดของชายหนุ่มเจ้าของร้านตัดผมที่กำลังบรรจงเล็มผมของลูกค้าสองคนสุดท้ายในร้านวันนี้ พร้อมกับบ่นเรื่องค่าไฟไปด้วย
“ค่าไฟผมก็ขึ้นเหมือนกันครับ” ลูกค้าบนที่นั่งรอตัดผมพูดเสริม
สำหรับช่างตัดผมที่ต้องจ่ายค่าไฟเองอยู่หลายเดือนนับตั้งแต่เข้ามาทำร้านตัดผม การได้เห็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปของค่าไฟเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ช่างตัดผมชายจึงรู้ได้ทันทีว่า ค่าไฟเดือนนี้แตกต่างจากค่าไฟเมื่อหลายเดือนก่อนอย่างไร
“ร้านนี้อยู่มาห้าปีแล้ว แต่ผมเพิ่มเข้ามาอยู่ได้ปีกว่า
“ค่าไฟแตกต่างกันครับ เดือนนี้แพงกว่าปกติ ขึ้นมาสองเท่าเลย” ช่างตัดผมชายว่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ ชายช่างตัดผมรายนี้เพิ่งเข้ามาเป็นช่างในร้านแห่งนี้เพียงปีเศษ แต่การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าไฟกลับพุ่งขึ้นรวดเร็วจนน่าตกใจ จากเดิมที่จ่ายอยู่เพียงพันกว่าบาทเมื่อปีก่อนๆ มาตอนนี้ขึ้นเป็น 3,000 บาท จนเจ้าตัวรู้สึกว่ารายได้จากการเป็นช่างตัดผมไม่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย
“เรารู้สึกว่า งานที่เราทำมันไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสมกับค่าไฟจริงๆ ค่าไฟควรอยู่ที่ 1,800-1,900 ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่เราจ่ายไหว
“ผู้ใหญ่ 150 เด็ก 100” คือราคาค่าตัดผมที่แปะอยู่บนป้าย
ถึงวันนี้ ชายช่างตัดผมยังไม่คิดจะเพิ่มราคาค่าบริการ ด้วยมองว่าพื้นที่ที่ตนอยู่เป็นแหล่งอยู่กินของคนทำงานและนักศึกษา อีกทั้งยังมองว่าร้านใช้ราคานี้มานานแล้ว ถ้าหากขึ้นราคา ลูกค้าก็หาย อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวมองว่าเมื่อค่าไฟแพงรายได้จากการเป็นช่างตัดผมก็ลดลงตามไปด้วย
ก่อนจากกัน ช่างตัดผมชายทิ้งท้ายเป็นการขอความช่วยเหลือจากคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ “ช่วยลดค่าไฟหน่อย ไม่อยากให้ขึ้นมากกว่านี้ ตอนนี้เราลำบาก ร้านเราต้องใช้ไฟ ขอให้รัฐเข้ามาช่วยลดหน่อย”
ออกจากร้านซักอบรีด เดินลึกเข้ามาท้ายซอยรามคำแหง 29 เราพบกับแม่-ลูกเจ้าของร้านอาหารตามสั่ง กำลังทำอาหารอย่างขะมักเขม้นอยู่ภายในบ้านพัก ขณะที่ไฟนีออนจากบ้านแผ่ความสว่างไสวคลุมถนนทั้งเส้น
“ค่าไฟแพงมาก ปกติจ่ายแค่ 1,600-1,700 เอง พอเดือนที่แล้วขึ้นเป็น 2,400 แล้วมาเดือนนี้ขึ้นเป็น 2,790 แล้ว ค่าไฟมันขึ้นมาเรื่อยๆ” เจ้าของร้านอาหารตามสั่งกล่าว
ค่าไฟที่แพงขึ้น ไม่ได้มีผลต่อภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวนี้เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ของคนในบ้าน ที่พยายามสุดความสามารถให้ค่าไฟทุเลาลง เด็กชายที่นั่งอยู่ข้างๆ บอกว่า จากเดิมที่เริ่มเปิดแอร์ตอน 20.00 น. และปิดตอนตี 4 ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเป็นตี 1 เพื่อช่วยที่บ้านประหยัดไฟ
“แต่ค่าไฟก็ไม่ได้ลดลง ทั้งที่เราลดการเปิดแอร์แล้ว” เด็กชายพูด
ภาระที่แบกรับไม่ได้มีเพียงค่าไฟ เจ้าของร้านอาหารตามสั่งผู้มีสถานะเป็นแม่บอกกับเราว่า อีกไม่กี่วันจากนี้ลูกชายก็จะเปิดเทอม ค่าใช้จ่ายคงตามมาอีกเป็นพรวน และแน่นอนว่าค่าไฟกำลังเบียดเบียนรายได้ของครอบครัวนี้ กับการนำไปจุนเจือสิ่งอื่นที่จำเป็นเช่นกัน ดังที่เจ้าของร้านว่า
“รายได้มันสวนทางกับค่าไฟมานานแล้ว”
นอกจากเป็นผู้ประสบภัยค่าไฟแพงด้วยตัวเอง การเปิดร้านอาหารที่มีคนเข้าออกตลอดวันก็ทำให้ครอบครัวนี้รับรู้ปัญหาค่าไฟจากลูกบ้านหลังอื่นในละแวกใกล้เคียง เช่น ลูกค้าที่พักอาศัยอยู่ในแมนชันด้านหน้าร้านอาหารตามสั่งของเธอ ที่มักบ่นพึมพำว่าเดือนนี้จ่ายหนัก รวมค่าไฟและค่าที่พักแทบจะเท่าราคาเช่าบ้านอยู่
“ตามหอนี่บ่นกันทุกคนนะ มีห้องหนึ่งจ่ายทั้งค่าไฟค่าห้อง 8,000 บาท ราคาเหมือนกับเช่าบ้านเป็นหลังอยู่เลยนะ ค่าไฟอยู่ที่ 3,500 อะ”
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเธอไม่ได้มุ่งจะถามหน่วยงานใดให้เข้าแก้ไขค่าใช้จ่ายครัวเรือนอย่างค่าไฟฟ้า เธอเพียงถามกับเราว่า หากเขียนบทความนี้ไปแล้วค่าไฟฟ้าจะลดหรือ ซึ่งเราเองคงตอบได้แต่เพียงว่า เราเองก็หวังให้ลดลงเช่นเดียวกัน
ทว่าในเดือนนี้ คงสายเกินไปที่จะลด เพราะบิลค่าไฟมาถึงปากประตูบ้านชาวรามคำแหงแล้ว กลุ่มคนทำงานคงต้องกล้ำกลืนจ่ายค่าไฟที่สูงลิ่วดังที่เคยทำต่อไปอย่างไม่อาจเลี่ยงหลีก
Tags: Feature, ค่าไฟ, อากาศร้อน, ค่าไฟแพง, รามคำแหง, คนทำงาน