“เพิ่งได้เอสเอ็มเอสว่ะ”
“ขอบคุณมากที่ส่งมาตอนนี้ เข้านอนไปแล้ว”
หนึ่งในสิ่งที่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ชี้ช่องโหว่ให้เห็นคือ ระบบ ‘เตือนภัย’ ที่ควรจะทำงานได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่เกิดรอยเลื่อนบนรอยแยกสะกาย ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย
แต่กลายเป็นว่าเอสเอ็มเอสเตือนภัย กลับเพิ่งแจ้งเตือนในเวลาดึกของวันเดียวกัน ขณะที่อีกจำนวนมากไม่เคยได้รับเอสเอ็มเอสเลย ไม่มีทางรู้ว่าเกิดเหตุอะไร หากไม่ถามเพื่อน หากไม่เปิดโซเชียลมีเดีย หากไม่เปิดทีวี
เช้าวันนี้ (29 มีนาคม 2568) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกอาการ ‘ฉุน’ ที่ระบบนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Cell Emergency หากแม้แต่ SMS ที่เป็นขั้นพื้นฐานก็ไม่สามารถส่งได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงคนไทยได้รับ SMS ไร้สาระกันเต็มไปหมด
แล้วปัญหาของระบบเตือนภัยพิบัติครั้งนี้อยู่ตรงไหน ใครควรเป็น ‘คนรับผิด’ The Momentum จะค่อยๆ ไล่เรียงให้ฟัง
1. การเตือนภัยขั้นรวดเร็วสุด อาจทำได้ทันที
จริงอยู่ แผ่นดินไหวเป็นภัยที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เวลาในการ ‘แจ้งเตือน’ ก็ไม่ควรทอดยาวไปหลายชั่วโมง
อันที่จริงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แทบจะได้ข้อมูลเรียลไทม์ นับแต่เกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกายที่แมกนิจูด 7.7 (ตามประกาศของ USGS) เมื่อไปถึงจุดนี้ สิ่งที่ควรทำงานได้รวดเร็วสุดคือ ระบบ Cell Emergency ที่สามารถส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในประเทศไทย ให้คนไทยได้เตรียมพร้อม ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาเพียง 5-10 นาที
ก่อนหน้านี้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เคยประกาศว่าระบบ Emergency Alert พร้อมตั้งแต่เหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อเดือนตุลาคม 2566 และเริ่มต้นพัฒนาระบบ Cell Emergency ตั้งแต่วันนั้น ทำทันที ทว่าเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกันยายน 2567 ระบบนี้ยังคงไม่พร้อมใช้งาน
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศว่าระบบนี้จะพร้อมก็ช่วงกลางปี 2568 เพราะฉะนั้นระบบ Cell Emergency จึงยังใช้งานไม่ได้จริง
2. ระบบ ‘ส่งหนังสือ’ ที่ช้าเกินไป
ระบบ Cell Emergency จบไปเพราะยังไม่พร้อม แต่หากฟังจากคำพูดนายกฯ ข้อสำคัญคือ มีการสั่งการไปตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00 น. ให้แจ้งความคืบหน้าและแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ไปยังมือถือของประชาชน แน่นอนว่า ‘เจ้าภาพ’ ในเรื่องนี้คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือ ‘ด่วนที่สุด’ ตามระบบราชการ ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน
แต่หากเทียบกับเวลาเกิดเหตุ หนังสือเหล่านั้นก็ล่าช้ามาก เพราะหนังสือฉบับแรกส่งไปเวลา 14.20 น. ราว 1 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ อีก 2 ฉบับส่งไปยัง กสทช. ในเวลา 16.00 น. และอีกฉบับส่งไปยังเวลา 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ประชาชนในกรุงเทพฯ เริ่มเดินทางกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม หนังสือทั้ง 2 ฉบับ ส่งถึง กสทช. แต่กลับไม่มี SMS ออกมาจาก กสทช.
3. กสทช.เกียร์ว่าง? นายกฯ สั่งไม่ได้?
เย็นวันที่ 28 มีนาคม ถนนบนกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยการจราจรติดขัด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดทำการ อาคารสำนักงานหลายแห่งให้พนักงานกลับบ้าน เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนเส้นเลือดใหญ่ รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ต่างก็ปิดให้บริการทุกสาย ทว่าสิ่งที่ประกาศจากภาครัฐยัง ‘นิ่ง’
มีเพียงคนไม่กี่คนที่ได้ SMS ในช่วงเย็น ด้วยข้อความ “ตามที่เกิดแผ่นดินไหวบนบก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ปัจจุบันได้รับการประสานจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ผู้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถเข้าอาคารได้ด้วยความระมัดระวัง สอบถามโทร.1784” แต่ส่วนใหญ่ ไม่ได้รับข้อความใดๆ รับข้อความเพียงจากสื่อมวลชน
ถึงตรงนี้เริ่มมีเสียงจากประชาชนวิพากษ์ไปยังรัฐบาลแรงๆ ว่า เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารตรงไหน ฝ่ายรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า ได้สั่งการไปแล้ว แต่ กสทช.ซึ่งเป็น ‘องค์กรอิสระ’ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำตาม
อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ระบุชัดว่า นายกฯ หรือรองนายกฯ ซึ่งมอบหมายมีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจ ‘สั่งการ’ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกฯ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
ฉะนั้นนายกฯ จึงมีอำนาจเต็มๆ ในการสั่งการและ ‘ลงดาบ’ หากใครไม่ทำตาม
ถึงตรงนี้ เวลาราว 23.00 น. กสทช.ออกเอกสารข่าวชี้แจง ระบุตอนหนึ่งว่า หาก ปภ.ส่งข้อความมาล่าช้าหรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 2 แสนเลขหมาย
พร้อมกับระบุว่า หลังเกิดเหตุ สำนักงาน กสทช.ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้ส่งไปได้เพียงไม่กี่หมายเลขเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีปัญหาตั้งแต่ระดับรัฐบาล ตั้งแต่ นายกฯ ที่สั่งการแล้ว แต่ไม่มีใครทำตาม, หน่วยงานราชการที่ ‘โยน’ อำนาจหน้าที่กันไปมา และระบบการส่ง SMS ที่ราวกับไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุใหญ่ๆ ไว้ล่วงหน้า
ขณะเดียวกัน บทบาทของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แทบจะอันตรธานหายไป…
4. ระบบ ‘เตือนภัย’ ที่ควรจะเป็น
หากเรื่องแบบนี้เกิดในประเทศญี่ปุ่นหรือในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบ ‘เตือนภัย’ ควรเริ่มงาน ณ ทันที นับตั้งแต่เริ่มจับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมาได้ ณ เวลา 13.20 น. เพราะแรงสั่นสะเทือนในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มจับได้ในเวลา 13.26 น. นับว่ามีเวลาราว 6 นาที ในการแจ้งเตือน บอกวิธีปฏิบัติหากเกิดแผ่นดินไหวหรือเกิดอาฟเตอร์ช็อก
อย่างไรก็ตาม หากอยู่ใน 30 นาทีแรกหลังเกิดเหตุคือ ราว 13.45-14.00 น. ก็ยังไม่เสียหาย อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า ประเทศนี้มีระบบเตือนภัย ไม่ได้ปล่อยให้อยู่ไปตามยถากรรม อยู่ด้วยความตื่นตระหนก
เพราะต้องไม่ลืมว่า หลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน อินเทอร์เน็ตเกิดล่มชั่วขณะ ขณะที่ระบบโทรศัพท์ก็เกิดติดขัด เนื่องจากมีประชาชนใช้งานมากจนเกินไป
ขณะเดียวกันต้องตั้งความหวังไปที่ระบบ Cell Emergency ที่รัฐบาลประกาศว่า จะเริ่มใช้งานได้จริงในเดือนมิถุนายน ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด แล้วถึงเวลาเกิดเหตุจะใช้งานได้จริงหรือไม่
หรือจะเป็นเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่หลังเกิดเหตุการณ์ ทิ้งเวลาไปสักระยะก็ทำเป็นลืมๆ กันไปอีกครั้ง
Tags: แผ่นดินไหว, กสทช., การเตือนภัย, เตือนภัยพิบัติ