“รู้ไหมว่า Drag เป็นมากกว่าวัฒนธรรมที่เรารับมา แต่มันคืออาชีพและวิถีชีวิตของเรา”

 เอ็ม-จักกาย เจิมขวัญ หรือที่หลายคนรู้จักเธอในชื่อ M Stranger FOX นักแสดง Drag Queen มากความสามารถ และเจ้าของร้าน THE STRANGER BAR (House of Drag Queens) กล่าวถึงที่มาของสิ่งที่เรียกว่า ‘Drag’

ช่วงบ่ายของถนนสีลม ท่ามกลางแดดอันร้อนระอุ หนุ่มสาวออฟฟิศต่างออกมาจับจ่ายซื้อของ บ้างก้าวเดินอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงจากรัศมีของแสงอาทิตย์ หลายคนออกมาพักผ่อนจากการทำงาน พื้นที่ใจกลางมหานครแห่งนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยอาคารสูงหลายร้อยชั้น แต่ระหว่างตึกสูงเหล่านั้น นักท่องเที่ยวต่างทราบกันดีว่า นี่คือย่านเริงรมย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นย่านที่มีตัวเลขทางธุรกิจบันเทิงหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละพันล้านบาท

ความมืดที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาตามเวลา ใช่ว่าจะทำให้สถานที่แห่งนี้เงียบสงบ แต่กลับพรั่งพรูไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา พร้อมแสงสีเสียงจากอาคารรอบข้างที่กำลังเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองเข้าไป เพื่อเต้นรำ ร้องเพลง หาความบันเทิงให้ชีวิต 

ไม่นานนัก แสงสีก็ทำให้นักท่องเที่ยวหยุดอยู่ที่หน้าอาคารแห่งหนึ่ง หากดูจากด้านหน้าก็เป็นเพียงร้านขายเครื่องดื่มสำหรับสายปาร์ตี้ทั่วไป แต่สิ่งที่พิเศษคือหน้าร้านแห่งนี้เต็มไปด้วยบรรดาสาวงามในชุดสีสันต่างๆ ทั้งวิบวับ วับแวม ล่อแหลม ที่ต่างออกมาต้อนรับและเชื้อเชิญกันอย่างแข็งขัน

บรรยากาศในร้านค่อนข้างสลัวรางไม่ต่างจากบาร์ทั่วไป ที่นี่มี 2 ชั้น ด้านบนเป็นเวทีขนาดย่อม ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่สำหรับลูกค้า ไม่นานไฟและม่านทั้งหมดก็ถูกปิดลง พร้อมกับเสียงพิธีกรกล่าวต้อนรับแขกทั้งหลายที่เข้ามาสังสรรค์กันในวันนี้ เมื่อพิธีกรกล่าวจบ เสียงไฟและดนตรีดังขึ้นอีกครั้ง ม่านสีแดงสดกำลังเปิดออก ผู้ที่ก้าวออกมาคือหญิงสาวในชุดสีแดงสด เธอเริ่มร้องเพลงและแสดงท่าลีลาสวยงามอลังการ

หากมองให้ดี ทุกคนย่อมรู้ว่านักแสดงในชุดราตรีสีแดงเพลิงคนนี้คือ LGBTQIA+ หาใช่คนที่นิยามเพศตัวเองว่าเป็นชาย และไม่ใช่เพียงเธอคนเดียวที่ได้แสดงบนเวทีนี้ แต่ยังมี Drag Show อีกมากมายที่ออกมาเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำการแสดง 

ก่อนม่านการแสดงจะปิดลง The Momentum ขอพาไปรู้จักกับศิลปะแขนงหนึ่งที่เรียกว่า ‘Drag’ และชีวิตของนักแสดง Drag หลังม่านเวทีและแสงไฟ ที่ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและสีสัน ไม่แพ้กับเสื้อผ้าหน้าผมและการแสดงของพวกเธอ

พื้นที่ศิลปะที่เรียกว่า Drag        

ช่วงเวลาบ่ายในซอยเริงรมย์ ย่านถนนสีลมค่อนข้างเงียบ เรานัดสนทนากับ เอ็ม-จักกาย เจิมขวัญ หรือชื่อในวงการ Drag คือ M Stranger FOX เอ็มมีลักษณะการแต่งตัวที่เป็นผู้ชาย แต่เธอไม่เคยนิยามว่าตัวเองคือชาย หากเป็น LGBTQIA+ 

เอ็มเล่าว่า ศิลปะการแต่งตัว Drag ในประเทศไทยมีมานานแล้ว เพียงแต่ขณะนั้นยังไม่เรียกว่า Drag ส่วนการแสดง Drag Show เพิ่งจะมีได้ไม่นาน ส่วนก่อนหน้านั้นจะเป็นการแสดง นางโชว์ หรือคาบาเรต์โชว์มากกว่า

“คำว่า Drag มาจากคำเต็มว่า Dressed Resembling A Girl ที่หมายถึง ‘แต่งตัวให้เหมือนผู้หญิง’ ซึ่งดูจำกัดกรอบมากเกินไปในเรื่องเพศ เพราะความเป็นจริง Drag ไม่ได้บอกให้คุณต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ปัจจุบันคำนี้กลับมีความหลากหลายมากกว่าที่เราจะนิยามหรือให้ข้อจำกัดกรอบได้ชัดเจน คือการแต่งกายให้กลายเป็นใครสักคน หรือการแต่งกายข้ามเพศจากเพศสภาพร่างกายที่เป็นอยู่

“Drag เป็นสิ่งที่บอกว่าการแต่งกายนั้นไม่มีเพศ คุณจะเป็นชายแต่งเป็นหญิง ก็เรียก Drag Queen ส่วนหญิงแต่งเป็นชายก็เรียก Drag King แต่การนิยามขนาดนี้ก็ตีกรอบเกินไป เรียกรวมว่า Drag อาจจะง่ายกว่า”

เอ็มกล่าวเสริมว่า ถ้าจะนิยามคำว่า Drag คืออะไร อาจต้องนิยามเหมือน อองเดร ชาร์ลส (Andre Charles) หรือรูพอล (RuPaul) เจ้าของรายการ Rupaul’s Drag Race รายการต้นลิขสิทธิ์ของ Drag Race Thailand ที่บอกว่า “เวลาตื่นนอนส่องกระจก นั่นคือตัวตนของเธอที่แท้จริง ส่วนหลังจากอาบน้ำ และตัดสินใจทาปาก แต่งหน้าทำผม ใส่ชุดไปทำงาน นั่นคือเธอกำลังสวมจิตวิญญาณการเป็นอย่างอื่น นั่นคือ Drag”

“ดังนั้นใครๆ ก็เป็น Drag ได้ไม่ต้องแยกว่าหญิงหรือชายก็ยังได้”

นอกจากนี้ การแสดง Drag Show ไม่ใช่แค่การมาแต่งตัวให้ชายแต่งหญิงเท่านั้น แต่เป็นศิลปะที่ต้องประณีตตั้งแต่หัวจรดเท้า

“การแต่งตัวต้องสวย ต้องเลิศและโดดเด่นกว่าใคร นักร้องทั่วไปฝึกร้องเพลงเน้นเสียงอารมณ์ แต่ Drag Show เน้นให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมและการแสดงต้องใหญ่กว่าปกติ ที่สำคัญไม่ว่าเพศไหนก็สามารถแต่ง Drag ได้”

เอ็มสรุปให้เราฟังว่า Drag ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของคนปกติทั่วไปในการดำเนินชีวิตที่วันหนึ่งคุณอยากเป็นแบบนี้ อีกวันคุณอาจจะอยากเปลี่ยนไป ส่วน Drag Show คือศิลปะ ที่เน้นไปที่การสร้างความบันเทิงให้ผู้ชม เป็นการหยิบยืมศิลปะจากหลากหลายแขนงมาหลอมรวมจนกลายเป็นการแสดงที่สมบูรณ์แบบ

ต้นกำเนิดของวัฒนธรรม Drag

หลังการค้นหาข้อมูลพบว่า Drag มีจุดกำเนิดย้อนไปปลายศตวรรษที่ 17 ในยุคสมัยแห่งศิลปะวิทยาการเฟื่องฟู การแสดงละครเวทีนับว่าเป็นการแสดงชั้นสูงที่ทุกคนต่างยอมรับ โดยเฉพาะบทประพันธ์ขึ้นชื่อของเชกสเปียร์ (Shakespeare) ที่ทำการแสดงในโรงละครขนาดใหญ่แสนโอ่อ่า และในบทประพันธ์หนึ่งของเขา มีการนำตัวละครมาสลับเพศและเสื้อผ้าใส่ โดยนักแสดงชายต้องรับบทเป็นผู้หญิงและแต่งกายด้วยชุดนักแสดงหญิงเต็มรูปแบบ แน่นอนว่าในขณะนั้น LGBTQIA+ ยังไม่มีใครเข้าใจและยังไม่เป็นที่ยอมรับ

ในสมัยนั้น การมองเรื่องเพศยังมีเพียง 2 เพศตามเพศกำเนิด (Binary Opposition) อย่างชัดเจน มีเพียงชายและหญิงเท่านั้นที่มีบทบาทในสังคม โดยกลุ่มคนนอกเหนือจากขั้วตรงข้ามทั้ง 2 ฝั่งนี้จะกลายเป็นคนชายขอบทันที ไม่นับถึงเรื่องการมีตัวตนในสังคมระดับใหญ่ แค่สังคมย่อยระดับครอบครัวก็ไม่ได้ให้ความเคารพต่อรสนิยมทางเพศที่แตกต่างแม้แต่น้อย ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพียงในบทประพันธ์ละครเวทีเท่านั้น แต่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะแขนงนี้

อีกด้านหนึ่ง ในช่วงเริ่มต้นยุค 70s ประชาชนมีการเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น จากเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เป็นการแง้มประตูบานแรกสำหรับเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เป็นที่รู้จักและทำความเข้าใจมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการรวมตัวกันของ LGBTQIA+ ในอเมริกาและละตินอเมริกาเพื่อเรียกร้องข้อกฎหมายต่างๆ ที่ไม่มีความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เกิดการแข่งขันกันในสายการแสดง วัฒนธรรมเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า Ballroom Culture และพัฒนาต่อจนวัฒนธรรมนี้แพร่กระจายไปในที่สุด

สำหรับประเทศไทย การแสดงโดยใช้นักแสดงที่ไม่ตรงกับเพศของตัวละครนั้นมีให้เห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขนนางในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือในปัจจุบัน บางขณะละครโขนยังให้ผู้หญิงแสดงตัวละครเอก เช่น พระราม พระลักษณ์ เนื่องจากมีใบหน้าที่หวานและชดช้อยตรงกับลักษณะที่เขียนในบทประพันธ์มากกว่า

วัฒนธรรรม Drag ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาและพัฒนามาเรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นอาจเป็นการแสดงคาบาเรต์โชว์ หรือนางโชว์ แต่เป็นการแสดงที่เป็นคณะใหญ่ เล่นบนเวทีพร้อมแสงสีเสียง มีระยะห่างจากผู้ชมประมาณหนึ่ง แต่ Drag ในปัจจุบันเน้นการให้ผู้ชมมีอารมณ์ ความสนุก ความเศร้า ไปพร้อมกับตัวนักแสดง บางครั้งอาจลงมาแสดงกับผู้ชมในระยะประชิดเพื่อเป็นการเพิ่มความสนุกและความน่าสนใจไปพร้อมกัน

กว่าจะมาเป็นอาชีพ Drag Show 

เอ็มเล่าว่า ในสมัยเด็กเธอรู้ตัวเองมาตลอดว่าร่างกายอาจจะเป็นผู้ชาย แต่ข้างในต้องการเป็นสิ่งที่อยากเป็น แต่ในขณะนั้นการเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่มากนัก ทำให้ช่วงชีวิตในสมัยเด็กอาจต้องปิดบังซ่อนเร้นอยู่บ้าง โดยเฉพาะจากครอบครัว

“พ่อและแม่เป็นทหารทั้งคู่ เรามีพี่น้องห้าคน ด้วยความที่เป็นคนจีน ที่บ้านจึงเน้นไปที่เรื่องของกฎระเบียบ พ่อและแม่ค่อนข้างใจกว้าง ถึงตอนนั้นจะยังไม่รู้ แต่คิดมาตลอดว่าเธอน่าจะรับได้ แต่เรามักจะโดนคนอื่นในครอบครัวโดยเฉพาะญาติล้อเลียนอยู่เสมอ ถ้าเป็นสมัยนี้คงเรียกว่าโดนบูลลี่

“โดนถามว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่าบ่อยมาก แน่นอนว่าคำถามแบบนี้ หากตอบว่าเป็นหรือตอบว่าไม่เป็น ก็เป็นการบูลลี่ไม่ต่างกัน หากตอบว่าไม่ เขาก็จะสงสัยและถามต่อว่า ‘เห็นเธอตุ้งติ้งเหมือนผู้หญิงเลย’ ตอนนั้นเราตอบอะไรไม่ได้เลย ทำให้สมัยเด็กเวลากลับบ้านญาติจะกลัวมากว่าเขาจะถามอีกไหม”

เอ็มเรียนจบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการโรงแรม ด้วยความที่มีความรู้ด้านภาษาจึงได้ทำงานในบริษัทต่างชาติอยู่พักหนึ่งในฐานะนักกฎหมายของบริษัท พอทำได้ไม่นานก็เจอกับแฟน ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่บินไปออกทะเบียนสมรสที่ต่างประเทศและกลับมาใช้ชีวิตคู่ที่ประเทศไทย และตั้งใจว่าอยากเปิดเกสเฮาส์ (Guesthouse) กลางกรุงฯ ปรากฏว่าเกสเฮาส์ดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เอ็มรู้สึกว่า การที่เรานิยามเพศแบบนี้ หลายคนในประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่ให้การยอมรับมากนัก จึงอยากเปิดสถานที่ที่ให้ทุกคนสามารถมาสนุกสนานกันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่สนใจว่าใครเป็นเพศอะไร จึงเป็นที่มาของชื่อร้านว่า THE STRANGER BAR และมีสโลแกนว่า ‘Where Strangers become friends’ คือการที่คนแปลกหน้ามาเจอกันและสนุกด้วยกัน จนกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด

“ช่วงนั้น เราไปเจอแผ่นซีดีที่วางขายอยู่ เป็นการแสดงที่เรียกว่า Drag Queen จากต่างประเทศ พอซื้อมาดูก็ถูกจริตเรามาก เราดูไปหลายแผ่นและเริ่มเอามาทำในร้านเลย แต่ช่วงแรกเราเรียกว่างานคอสตูมปาร์ตี้ เพราะหากเรียกว่า Drag จะไม่มีคนรู้จักว่าคืออะไร ช่วงแรกไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า แต่เมื่อชอบก็จะลงมือทำ หลังจากเริ่มแต่งคอสตูมปาร์ตี้ไปสักพักก็มองเห็นความเป็นไปได้ เและคิดว่าร้านเราน่าจะมาถูกทางแล้ว”

เนื่องจากเป็นสถานที่แรกๆ ของการมีนักแสดง Drag Show ทำให้การได้รับค่าตอบแทนหรือความคุ้มค่าไม่ได้ดีมากเท่าที่ควร และเรื่องค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า วิกผม เครื่องแต่งหน้า ทั้งหมดสวนทางกับค่าใช้จ่าย

“ของทั้งหมดมีราคา ค่าใช้จ่ายที่ว่าคือการต้องเปลี่ยนตัวเราจากผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิง บางที Drag ก็ต้องนำเสนอให้ผู้ชมมองให้ได้ว่าเราคือผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อให้ดูเยอะไปอีกในทางของตัวเอง ทุกอย่างคือเงิน สะโพกปลอม ชุดชั้นใน วิก การเป็น Drag ก็ต้องใช้เงินทั้งหมด ยิ่งแต่งตัวสวยยิ่งได้เงินจากผู้ชม และกว่าจะมาเป็นโชว์ที่สำเร็จหนึ่งโชว์ได้ ต้องฟังเพลง รู้จังหวะ หมั่นฝึกซ้อม”

“ยิ่งเรื่องการแต่งกาย การแต่งหน้า หากมีการแสดงสี่ทุ่ม เราต้องเตรียมตัวแต่งหน้าทำผมตั้งแต่หกโมง ทุกอย่างแลกมาด้วยแรงทั้งหมด”

เอ็มเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญของการเป็น Drag Show มี 5 ปัจจัย คือต้องชอบและมีความมั่นใจในตัวเองก่อนอันดับแรก ต่อมาคือการฝึกฝนและมีระเบียบวินัย ถัดไปคือความตั้งใจและแรงบันดาลใจ ต้องพร้อมที่จะลงแรง สุดท้ายคือต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์    

“Drag Show ดูเหมือนจะเป็นง่ายใช่ไหม แค่ใส่ชุดให้เหมือนคนอื่น ถึงแม้จะไม่มีผิดไม่มีถูก แต่งตัวให้เหมือนผู้หญิงก็ได้แล้ว ความจริงไม่ใช่ ทุกคนอาจเป็น Drag ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็น Drag Show ได้ เพราะการเป็น Drag Show คือการแสดงที่เป็นมืออาชีพจริง ต้องผ่านการฝึกซ้อมการหมั่นเพียรพยายามต่างๆ เราถึงบอกว่า กว่าจะได้มาหนึ่งโชว์มันมีมูลค่า”

มากกว่าวัฒนธรรม เพราะ Drag คือวิถีชีวิต

เอ็มพยายามบอกเสมอว่า Drag เป็นส่วนหนึ่งของ LGBTQIA+ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคน ทำให้การตีความหมายว่า Drag ไม่ต่างจากวัฒนธรรมย่อยๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับสังคมความหลากหลายทางเพศจึงอาจเป็นคำกล่าวที่ผิด

“ถ้าถามว่า Drag เป็นวัฒนธรรมไหม ก็ใช่ แต่เราว่ามันไปได้ไกลกว่านั้นมาก ยิ่งการเรียกร้อง LGBT ในบ้านเราไปได้ไกลแค่ไหน สังคมเดินไปขนาดไหน Drag ก็เดินหน้าไปพร้อมกัน”

ทุกสังคมมีการรวมกลุ่ม และ Drag Show ก็เช่นกัน อย่างที่เอ็มกล่าวก่อนหน้าว่า การมาเป็น Drag อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเรื่องค่าใช้จ่าย การฝึกฝน แต่สิ่งหนึ่งที่เธอเห็นมาตลอดคือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสังคม Drag หรือแม้แต่ LGBTQIA+

“เราว่า Drag เป็นอาชีพและวิถีชีวิตของเรา มากไปกว่าแค่วัฒนธรรมที่รับมาจากต่างประเทศ เห็นได้เลยว่าน้องๆ รุ่นใหม่ที่เริ่มมาเป็น Drag ก็ได้แรงสนับสนุนจากพี่ๆ การให้ชุดเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือการแนะแนวทางในการจัดการแสดง เวลาออกไปข้างนอกเราอาจไม่ได้ใส่ชุดที่อยู่ในการแสดง Drag Show เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ถามว่าตอนอยู่ข้างนอกไม่ได้อยู่บนเวที ไม่ได้ใส่เสื้อสวยยังเป็น Drag อยู่ไหมก็ใช่ เพราะ Drag คือตัวเรา

“หลายคนเข้าใจว่าพอม่านปิด Drag ก็จบลง ไม่ใช่นะ เราคือ Drag ตลอดเวลา We are Drag เรายังหวังให้การเรียกร้องในประเทศไทยในเรื่องความหลากหลายทางเพศไปได้ไกลกว่านี้ ปัจจุบันเหมือนเพิ่งถึงแค่ครึ่งทางของการให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ”

เอ็มเล่าว่า การมาเป็น Drag Show คือความฝันที่ครั้งหนึ่งในสมัยเด็กเธออยากขึ้นเวที เต้นรำโชว์การแสดงและมีผู้ชมปรบมือให้ และวันนี้ความฝันนั้นก็สำเร็จโดยที่เธอลืมไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะระหว่างทางไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ และเธอภูมิใจในความสำเร็จตรงนี้เสมอ

  “มันคือความฝันในสมัยเด็กที่เราลืมไปแล้ว สมัยเด็กจำได้ว่าเคยเห็นนางโชว์ เราก็อยากที่จะไปยืนในจุดนั้น แต่ด้วยงาน ด้วยภาระตรงนั้น ทำให้เราได้ไปทำอย่างอื่นก่อน แต่วันนี้เราได้เป็นทั้ง Drag ได้เป็นเจ้าของร้านด้วย เรามายืนในวงการ Drag เป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งเหมือนเป็นการกรุยทางให้กับน้องๆ คนอื่น แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว บางความสุขวัดเป็นเงินทองไม่ได้หรอก”

ในเรื่องของการแสดง เอ็มเล่าว่าเคยประสบกับการแสดงที่ผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครปรบมือ ไม่มีใครยื่นทิปให้เธอ แต่เธอมองว่าสิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่ทำให้ต้องเดินหน้าต่อไป

“งานเราคือการโดนคนดูตัดสินอยู่แล้ว ดังนั้น การจะเจอวันที่แย่ๆ บ้างจะเป็นอะไรไป ไม่มีใครงานดีทุกวัน แต่ที่สำคัญคือคุณต้องเต็มที่กับงานทุกวันต่างหาก บริตนีย์ สเปียร์ส ศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวว่า เรื่องการแสดง บางวันดีมาก บางวันเฉยๆ บางวันแย่ ให้ปล่อยไป เพราะมันคือการแสดงวันต่อวัน ถ้าหากการแสดงวันนี้คุณไม่มีความสุข แล้วจะส่งต่อความสุขอย่างไร”

ท้ายที่สุด เอ็มบอกว่า ไม่ว่าจะเป็น Drag เป็น Drag Show หรือ LGBTQIA+ ก็ไม่ได้ต่างจากทุกคนในสังคมทั่วไป พวกเราคือส่วนหนึ่งของสังคม พวกเรามีตัวตนจริงๆ สิ่งที่ทุกคนต่อสู้มาคือความเดือดร้อนที่พวกเราได้รับ ดังนั้น จะเป็นไรไปหากรัฐจะเห็นคนเท่ากัน ไม่ได้เห็นเราเป็นคนส่วนน้อยหรือคนชายขอบอีกต่อไป

Tags: , , , , , , , , , ,