27 เมษายน 2565 ศาลมีคำสั่งคืนพื้นที่บ้านป่าแหว่ง โดยให้กรมธนารักษ์เป็นผู้รับมอบ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและประชาชนได้เข้าไปฟื้นฟูป่าต่อไป นับเป็นชัยชนะของประชาชน หลังจากต่อสู้มากว่า 4 ปี 

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงชัยชนะส่วนแรกเท่านั้น เพราะการส่งมอบดังกล่าวเป็นเพียงพื้นที่ราชพัสดุและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 45 หลัง ซึ่งอยู่บริเวณด้านบนของบ้านป่าแหว่ง แต่ยังมีส่วนที่สอง ซึ่งเป็นบ้านพักคอนโดมิเนียม จำนวน 9 จาก 13 หลัง ที่ยังล้ำอยู่ในส่วนของเขตป่า แม้จะมีมติของกรรมการจังหวัดให้ย้ายออก เพื่อไปสร้างศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชียงราย แต่ก็ยังติดขัดเรื่องการก่อสร้างที่ทำให้ปัญหาส่วนนี้ยังคงอยู่

ยังไม่นับเรื่อง ‘โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ’ คอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น จำนวน 8 หลัง บนพื้นที่ 15 ไร่ ที่กรมธนารักษ์เตรียมจะสร้างบริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งอาจทำให้มีความแออัดเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ในเวลานี้ ภาคประชาชนยังคงเดินหน้าส่งเสียง จนทำให้ผลการประชุมคณะกรรมการ EIA จังหวัดเชียงใหม่ มีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  

แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะทางโครงการยังสามารถนำเสนอรายงานใหม่ที่แก้ไขให้สมบูรณ์ได้ นั่นหมายถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อาจกลับมาอีกครั้งในวันใดวันหนึ่ง ที่สำคัญ ยังอาจซ้ำรอยกับบ้านป่าแหว่งได้

กรณีการรุกป่าของภาครัฐต่อพื้นที่ดอยสุเทพในครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่ความย่ำแย่ของภาครัฐที่ล้มเหลวในการทำโครงการใหญ่ โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือขอความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ในจังหวัด เพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้ยังกระทบจิตใจของชาวบ้านและประชาชนในจังหวัดที่มองว่า พื้นที่ดอยคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

หนึ่งในเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง และเดินหน้าทวงคืนพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ 4 ปีก่อน คือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งนำโดย ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่าย บุคคลที่เรามักเห็นทุกครั้งตามหน้าสื่อเมื่อทางเครือข่ายมีการเคลื่อนไหว ซึ่ง The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับเขา ในวันที่ภาคประชาชนได้รับมอบบ้านพัก 45 หลังคืน ซึ่งเขามองว่า นี่คือชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

“ตัวผมเองมีเจตนาที่ดีต่อดอยสุเทพ และสิ่งแวดล้อมบ้านเรา ถึงวันนี้เรามีมวลชนที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจมาตลอด กลุ่มพวกเรา รวมถึงตัวผมเอง ไม่ได้หวังอะไรมาก เพียงแต่ขอให้ได้ป่าดอยสุเทพกลับคืน จนวันนี้เราได้พื้นที่คืน เราก็ขอบคุณทุกฝ่าย และก็ยินดีที่การต่อสู้ของประชาชนสำเร็จมาส่วนหนึ่งแล้ว”

ย้อนกลับไปในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 หรือเกือบ 4 ปีก่อน มีการเคลื่อนไหวของทางเครือข่ายเพื่อขอมติให้รื้อย้ายบ้านป่าแหว่ง จนประมาณปี 2563 ประธานศาลฎีกาให้สัมภาษณ์ว่า ได้คืนพื้นที่บ้านป่าแหว่งแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องการรับพัสดุภัณฑ์ภายในบ้านพักหรูกว่า 1,800 รายการไม่ได้ จนในที่สุด ศาลก็ส่งเรื่องไปปรึกษาฝ่ายกรมบัญชีกลางเป็นกรณีพิเศษว่าให้รับคืนได้ กระทั่งทางกรมธนารักษ์พร้อมที่จะรับคืนอาคาร และมีการส่งมอบดังกล่าวเรียบร้อย

ธีระศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่การรับส่งคืนบ้านพักช้า เป็นเพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองกรณีป่าแหว่งเป็นของร้อนและไม่มีใครอยากรับ เบื้องต้น ศาลก็ไม่รับบ้าน 45 หลังนี้ ทางกรมธนารักษ์ก็ไม่อยากเอามาดูแล เพราะหากรับมาแล้วเกิดกรณีของหาย ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องตามแก้ จึงมีการพยายามยื้อกัน จนในที่สุดเมื่อทางเครือข่ายกดดันหนัก ธนารักษ์จึงยอมรับคืน

“เราวางแผนกันว่า ถ้ายังไม่มีการรับคืน 29 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบสี่ปีพอดี เราเคลื่อนไหวใหญ่แน่ ในที่สุด ธนารักษ์ก็เลยยอมรับคืน” ธีระศักดิ์เล่า

แม้กรมธนารักษ์จะได้รับคืนอาคารบ้านพัก 45 หลัง และมีการจำหน่ายจ่ายแจกอุปกรณ์คุรุภัณฑ์ 1,800 กว่ารายการ เช่น ทีวี ตู้เย็น เตียงนอน เฟอร์นิเจอร์ ไปให้หน่วยงานอื่น เช่น เหล่ากาชาด จนเหลือแต่ตัวอาคารบ้านพักเปล่าๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถรื้อตัวอาคารได้ เนื่องจากธนารักษ์มีกติกาเยอะในการรื้ออาคาร เช่น ต้องสร้างมาแล้ว 10 หรือ 25 ปี เพราะกรณีป่าแหว่งถือเป็นเงื่อนไขที่ถือว่าเป็นของหลวงไปแล้ว

 

 

“ตอนนี้ทางเครือข่ายก็จะไปจี้กับกรมธนารักษ์ว่า มีทางให้รื้อไหม ถ้าไม่ได้เราก็จะฟ้องธนารักษ์ผ่านศาลปกครอง เพราะในเมื่อมติกรรมการจังหวัดให้รื้อแล้ว มันก็ต้องมีช่องกฎหมายให้รื้อ แต่ถ้าไม่รื้อก็ให้มันเป็นอนุสาวรีย์ป่าแหว่ง เป็นรอยด่างของดอยสุเทพ ให้คนเข้ามาศึกษาว่า นี่คือการที่ทางรัฐเข้าไปรุกรานป่าโดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านชาวเมืองก่อน

“จะทำอะไรก็คิดว่าถูกกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วมันไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ตัวเองเป็นศาลแท้ๆ ก็ยังไปรุกป่า แล้วคุณจะไปตัดสินคดีป่าไม้ได้อย่างไร ในเมื่อป่าแหว่งมันปรากฏภาพบุกรุกเข้าไปเช่นนี้ มันเป็นภาพไม่ถูกต้อง” ธีระศักดิ์กล่าว

หลังจากนี้ ประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทางเครือข่ายจะเข้าไปดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูบริเวณพื้นที่ของบ้านพัก 45 หลัง ที่ได้คืนมา ซึ่งเป็นส่วนด้านบนของบ้านป่าแหว่ง โดยจะมีพิธีคล้องขวัญดอยสุเทพและพิธีปลูกป่า และจะเชิญประชาชนคนเชียงใหม่มาร่วมด้วย ซึ่งหากถึงเวลานั้น แล้วยังไม่มีการรื้อบ้านพักออก ธีระศักดิ์กล่าวว่า เบื้องต้นจะปลูกต้นไม้คลุมบริเวณดังกล่าวไปเลย หรือไม่ก็ระบายสีบ้านให้เป็นสีเขียว

“เรากำลังหาทางปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่ามันน่าจะมีทางรื้อ แต่ถ้าเขาไม่ยอมรื้อจริงๆ ก็ถือว่าเป็นการประจานแล้วกัน”

กรณีนี้ถือเป็นชัยชนะของประชาชนในส่วนแรก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่ทางเครือข่ายและประชาชนต้องเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่ การต่อสู้ยังไม่จบ 

 

อธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย บริเวณพื้นที่บ้านป่าแหว่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนด้านบนซึ่งเป็นบ้านพัก 45 หลัง ได้รับคืนเรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนด้านล่างซึ่งเป็นคอนโดมิเนียม 13 หลัง ยังคงติดปัญหาอยู่ เพราะคอนโดมิเนียม 9 จาก 13 หลังดังกล่าวอยู่ในเขตล้ำแนวป่า ซึ่งมติกรรมการจังหวัดระบุว่า ส่วนนี้ต้องย้ายออกไป ซึ่งในขณะนั้นก็มีมติว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะย้ายไปสร้างใหม่ในงบประมาณ 700 ล้านบาท ที่จังหวัดเชียงราย และมีกำหนดสร้าง 3 ปี โดยจะครบกำหนดในวันที่ 7 กันยายน 2565 นี้

แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างมีปัญหา หลังจากสร้างไปได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีการว่าจ้างกันเป็นทอดๆ จนในที่สุดผู้รับเหมาสุดท้ายไม่ได้เงิน ซ้ำศาลยังไปสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 59 ล้านบาท โดยระบุว่า ผู้รับเหมารายแรกไปทำโดยไม่ได้แจ้งให้ศาลทราบ แต่ผู้รับเหมาสุดท้ายก็ไม่มีเงินเสียค่าปรับ เพราะพอส่งงานไปก็ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ทำให้ทุกอย่างยังคงติดขัด

“สรุปคือ โครงการที่จะย้ายไปยังติดขัด เขาอาจจะต้องหาผู้สร้างรายใหม่ แต่ผมดูแล้วมันเป็นเกมยื้อของศาลอุทธรณ์ ที่ไม่อยากจะย้าย” ธีระศักดิ์เล่า “ความจริงเราบอกเขาแล้วว่า เราไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ย้ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพราะอาคารศาลด้านล่างพร้อมคอนมิเนียมโดอีกสี่หลังที่เหลือมันไม่ได้อยู่ในเขตป่า เราไม่ได้ไปยุ่ง เราไม่เคยมีข้อเรียกร้องที่จะให้ท่านย้ายตัวอาคารศาลหรือที่ทำงานศาล

“เราเพียงแต่บอกว่า คนที่อยู่อาศัยในคอนโดเก้าหลังที่ล้ำเขตป่า ซึ่งมีอยู่สามสิบครอบครัว ให้ย้ายออก โดยเรากำหนดให้ประมาณสี่เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงที่ครบกำหนดการสร้างบ้านพักศาลใหม่ที่เชียงราย แล้วเราจะขอพื้นที่ส่วนนี้คืน ไม่รู้เขาจะยินยอมไหม แต่ถ้ายังไม่คืน เราก็จะมีการเคลื่อนไหวในเดือนกันยายนอีกครั้งหนึ่ง มันนานเกือบสี่ปีแล้ว เราให้เวลาคุณมากพอแล้ว”

แม้ตอนนี้ กรณีการเรียกร้องขอคืนพื้นที่บ้านป่าแหว่งจะสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ธีระศักดิ์เล่าว่า ตอนนี้กรมธนารักษ์กำลังวางแผน ‘โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ’ สร้างคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น จำนวน 8 หลัง บนพื้นที่ 15 ไร่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้กับพื้นที่ป่า ซึ่งเดิมมาจากการที่กรมธนารักษ์จะไปสร้างในพื้นที่ใกล้กับโรงเรียนเรยีนา เชียงใหม่ แต่ในเวลานั้นก็โดนคัดค้าน จนปัจจุบันที่ดังกล่าวกลายเป็นสวนสาธารณะ กรมธนารักษ์จึงย้ายโปรเจกต์มาร่วมกับโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะการก่อสร้างอาจทำให้มีความแออัดเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าเรียกร้องของภาคประชาชนจึงทำให้ผลการประชุมคณะกรรมการ EIA จังหวัดเชียงใหม่รอบแรก มีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ทางโครงการก็ยังสามารถกลับมานำเสนอรายงานที่แก้ไขใหม่ได้อีก ซึ่งธีระศักดิ์เล่าเสริมว่า พื้นที่ของกรมธนารักษ์เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่มีแผนแม่บทในการสร้างอย่างชัดเจน

“ตอนนี้ที่ราชพัสดุในเขตเชียงใหม่ โดยเฉพาะทางด้านตอนเหนือในเขตแม่ริม จำนวนสองหมื่นไร่ บริเวณศูนย์ราชการยาวไปจนถึงอำเภอแม่ริม ด้านซ้ายมือของถนน 108 เป็นพื้นที่ของทหาร  แล้วก็คลุมไปถึงดอยสุเทพครึ่งดอย ซึ่งมันเป็นพื้นที่สีขาว เราก็จะไปคุยกับทหารว่า ขอให้มีการจัดทำแผนแม่บท ให้อยู่ภายใต้ผังเมือง เช่น หากจะสร้างอะไร อาคารควรสูงไม่เกินสิบสองเมตร หรือพื้นที่ที่เป็นป่าดั้งเดิมก็อย่าไปสร้างอะไรเลย

“ทหารเขายังไม่ได้ทำอะไรนะ แต่เราคาดว่าโปรเจกต์ต่อไปคือจะไปคุยกับเขา เพราะเราอยากให้แผนมันครอบคลุมถึงส่วนของดอยสุเทพ ซึ่งมันเป็นที่ของทหารครึ่งดอยเลย ทหารเขาก็รู้อยู่ว่าเป็นป่า เขาก็ระวัง แต่เราอยากจะให้เขากำหนดเป็นแผนแม่บทชัดเจนเลยว่า ต่อไปไม่ควรจะมาสร้างอะไรอีก พื้นที่ป่าก็ขอให้เป็นป่า โดยเฉพาะเราถือว่าป่าดอยสุเทพเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นดอยสุดท้ายแล้ว เราก็ไม่สมควรที่จะมีใครมาสร้างอาคารสูงใหญ่โตบนดอย หรือแม้แต่เชิงดอย

“ถ้ายังดื้อดึงทำอยู่ มันก็จะเหมือนป่าแหว่ง ที่พอสร้างไปแล้วก็ไม่ยอมรื้อ” ธีระศักดิ์กล่าว “เราอยากให้ป่าดอยสุเทพคงถาวรสำหรับลูกหลาน ป่าแหว่งก็ควรจะฟื้นฟูกลับไปเป็นป่าดังเดิม ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นรอยแผลเป็นของชาวเชียงใหม่ แล้วก็จะเป็นบาดแผลระหว่างราชการกับประชาชนตลอดไป ถ้าเราไม่ปลูกป่าให้สมบูรณ์แล้วคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”

 

 

อย่างที่ทราบกันดี ในประเทศไทย การเปิดหน้าสู้กับภาครัฐโดยเฉพาะในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยง ทั้งความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย และความไม่มั่นใจว่าจะสามารถเรียกร้องได้มากขนาดไหน 

การต่อสู้ในครั้งนี้ เราโชคดีที่มีคนเชียงใหม่และอีก 55 เครือข่ายคอยสนับสนุน แม้ว่าตัวผมจะโดนสำนักงานศาลฟ้องสองคดีที่กรุงเทพฯ เหมือนเขาพยายามจะรั้งเรา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่อึดอัดและลำบากที่เราต้องเดินทางไปกลับเชียงใหม่-กรุงเทพ เพื่อรายงานตัว ทำให้ชะงักไปบ้าง แต่ในที่สุดเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีก็หลุดไป

“ผมไม่กลัวนะ เพราะผมถือว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง ผมทำเพื่อป่า ผมไม่ได้มีนักการเมืองสนับสนุน มันคงไม่มีอะไรจะเสีย (หัวเราะ) มันจำเป็นต้องมีคนอย่างผมสักคน ถ้าไม่มีคนอย่างผมที่จะไปสู้ โดยเฉพาะสู้กับศาล มันก็เหนื่อย อย่างน้อยผมถือว่า คนรุ่นผมก็ได้บันทึกแล้วว่าได้สู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราก็ยินดีที่จะเสียสละ เพื่อลูกหลานเราจะได้มีป่าไม้ มีอากาศบริสุทธิ์อยู่ต่อไป” ธีระศักดิ์กล่าว

 

ขอบคุณรูปภาพจาก: เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

Tags: , ,