1
หากให้จินตนาการว่า ‘รัฐเผด็จการ’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร หนึ่งในภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวคงหนีไม่พ้นบรรยากาศงานเดินขบวนแสดงแสนยานุภาพของกองทัพตามวันสำคัญต่างๆ ที่เต็มไปด้วยทหารแต่งกายเต็มยศจำนวนนับไม่ถ้วนเดินสวนสนามคู่กับขบวนยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดอันน่าเกรงขาม โดยมีท่านผู้นำสูงสุดและพวกพ้องอยู่ร่วมในขบวนหรือไม่ก็ยืนดูอยู่ห่างๆ อย่างภาคภูมิใจบนเวทีสั่งทำพิเศษหรืออาคารประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ
ถ้าหากพูดว่าภาพจินตนาการดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงก็คงจะไม่ถูกนัก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผ่านมาและสภาพการเมืองในปัจจุบันสอนให้เรารู้ว่ารัฐเผด็จการกับกองทัพแทบจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ‘อาวุธ’ คือหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่สามารถทำให้คนกลุ่มเล็กๆ หรือแม้แต่คนเพียงคนเดียวสามารถคุมสังคมได้อย่างอยู่หมัด และ ‘กองทัพ’ เป็นหนึ่งในไม่กี่สถาบันที่เต็มไปด้วยคนถืออาวุธ
อย่างไรก็ตาม การบอกว่ากองทัพของรัฐเผด็จการมีความแข็งแกร่งมากกว่าใครก็คงจะไม่ถูกเช่นกัน เพราะประวัติศาสตร์ยังชี้ให้เราเห็นว่า รัฐเผด็จการมักแพ้และเสียท่าให้กับรัฐที่ไม่ใช่เผด็จการหรือรัฐประชาธิปไตยเมื่อพวกเขาทำสงครามกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามอ่าว
แล้วทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมรัฐประชาธิปไตยที่มักถูกมองว่านิ่งเฉยต่อการพัฒนากองทัพถึงมีศักยภาพทางการรบดีกว่ารัฐเผด็จการที่วันๆ เอาแต่โอ้อวดถึงความทรงพลังของตน The Momentum มีคำอธิบายที่น่าสนใจให้คุณ
2
ก่อนลงลึกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเผด็จการ รัฐประชาธิปไตย และกองทัพของรัฐนั้นๆ เราต้องทำความรู้จักกับตัวแสดงทางการเมืองที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลในการกำหนดและจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าวก่อน
งานวิจัยโดย บรูซ บูเอโน เดอ เมสกิตา (Bruce Bueno de Mesquita) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันและผู้เขียนหนังสือ The Dictator’s Handbook จัดกลุ่มตัวแสดงในระเบียบการเมืองภายในประเทศไว้ 5 หมวดหมู่
หมวดหมู่แรกคือ ‘ผู้นำ’ (Leader) หมายถึงคนหรือกลุ่มคนที่กำลังอยู่ในตำแหน่งที่สามารถควบคุมดูแลกลไกทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ และความเป็นไปของสังคมในประเทศได้อย่างชอบธรรมตามระเบียบกฎหมายหรือความจำยอมของคนในชาติ
หมวดหมู่ถัดมาคือ ‘ผู้ท้าชิง’ (Challenger) เป็นคนหรือกลุ่มคนที่พยายามเข้ามามีอำนาจแทนผู้นำเดิมผ่านวิธีการที่ถูกกฎหมายหรือได้รับการยอมรับในสังคมนั้นๆ อย่างในกรณีของประเทศไทย ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้ท้าชิงสามารถเข้ามาแทนที่ผู้ทำได้ผ่านการเลือกตั้ง การรัฐประหาร และการแต่งตั้ง
หมวดหมู่ที่ 3 คือ ‘ประชาชน’ (Resident) หมายถึงทุกคนที่อยู่ในประเทศ รวมถึงคนที่อาจอยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ เช่น ชนกลุ่มน้อยหรือผู้ลี้ภัย
หมวดหมู่ที่ 4 คือ ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ (Selectorate) เป็นผู้ที่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับระบบการเมืองของประเทศอย่างถูกกฎหมายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเลือกตั้ง โดยกระบวนการกำหนดว่าประชาชนคนไหนจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งบ้างมักขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง โครงสร้างทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา และจารีตประเพณีของประเทศดังกล่าว
หมวดหมู่สุดท้ายคือ ‘กลุ่มผู้ชนะ’ (Winning Coalition) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนการดำรงตำแหน่งของผู้นำเพื่อแลกกับผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ เช่น เงิน อำนาจทางการเมือง หรืออภิสิทธิ์เหนือคนธรรมดา โดยกลุ่มผู้ชนะในระบอบประชาธิปไตยมักมาจากกลุ่มการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่กลุ่มผู้ชนะในระบอบเผด็จการส่วนมากจะมีที่มาจากการแต่งตั้งหรือความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพวกเขากับกลุ่มผู้นำ
นอกจากนี้ เดอ เมสกิตายังพูดถึง 2 ตัวแปรที่เป็นตัวขับเคลื่อนและหล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวแสดง 5 หมวดหมู่ที่ว่ามา
ตัวแปรแรกคือ ‘ความอยู่รอดทางการเมือง’ (Political Survival) หมายถึงความอยู่รอดของผู้นำในด้านการรักษาอำนาจทางการเมืองของตน กล่าวคือความอยู่รอดทางการเมืองของผู้นำจะถูกบั่นทอนลงเมื่อรัฐบาลต้องเผชิญกับข่าวฉาว สถานการณ์คับขัน หรือการประท้วงครั้งใหญ่ และจะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อพวกเขาหลุดออกจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ผู้นำในทุกระบอบการปกครองมักยอมทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอาไว้อย่างถึงที่สุด
ตัวแปรอีกอย่างคือ ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ (Affinity) หมายถึงระดับความสัมพันธ์ที่เป็นตัวกำหนดระดับและความเหนียวแน่นของความร่วมมือระหว่างตัวแสดงต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาพการเมืองภายในของประเทศนั้นๆ เช่น รัฐบาลจะมีความมั่นคงสูงและผู้นำจะสามารถรักษาความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเองได้สะดวกถ้าผู้นำและกลุ่มผู้ชนะมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในระดับที่สูง
3
ในระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีขนาดใหญ่ ระดับที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีสิทธิเลือกตั้งและสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มผู้ชนะของรัฐบาลประชาธิปไตยมีขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง และมีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการบริหารประเทศ
ดังนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำกับกลุ่มผู้ชนะของประเทศประชาธิปไตยจึงถูกกำหนดด้วยศักยภาพและระดับความนิยมต่อตัวผู้นำหรือคณะรัฐมนตรีในหมู่ประชาชน กล่าวคือหากผู้นำไม่สามารถแสดงศักยภาพให้คนรอบข้างและประชาชนเห็นว่าเขามีความสามารถมากพอสำหรับการบริหารประเทศ ผู้นำคนนั้นจะถูกกลไกทางการเมืองกดดันให้ลาออกหรือสอบตกในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ตัวอย่างเช่น บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและสูญเสียความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเองไปหลังรัฐมนตรีและคนใกล้ชิดในรัฐบาลของเขาต่างพากันลาออก เพราะตัวจอห์นสันนั้นถูกรุมล้อมไปด้วยข่าวฉาวและไม่สามารถแสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (รวมถึงประชาชน) เห็นว่าตนเป็นผู้นำที่มีศักยภาพ
หากจะให้สรุป เรามองได้ว่าชีวิตการเมืองของผู้นำ ผู้ท้าชิง และกลุ่มผู้ชนะในระบอบประชาธิปไตยจะถูกควบคุมโดยความสามารถส่วนบุคคลและความพอใจที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนมีต่อพวกเขา
ประเด็นที่เกี่ยวกับการทหารจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสงครามคือภัยต่อความอยู่รอดทางการเมืองของผู้นำและเสถียรภาพของกลุ่มผู้ชนะ เพราะคงไม่มีใครอยากเลือกนักการเมืองที่ส่งลูกหลานของตัวเองไปตายในสนามรบอย่างไร้คุณค่า หรือดันประเทศให้เข้าร่วมสงครามที่ไม่มีทางชนะให้เข้าไปเป็นรัฐบาลอีกสมัย
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำ กลุ่มผู้ชนะ หรือแม้แต่ผู้ท้าชิงในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้กองทัพมีศักยภาพ ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความพร้อมและปลอดคอร์รัปชัน เพื่อเสริมศักยภาพทางทหารของประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นหากต้องทำสงครามจริงๆ
นอกจากนี้ รัฐประชาธิปไตยจะทำสงครามอย่างระมัดระวังและเป็นระบบ โดยเฉพาะในด้านการสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามและการวางแผนยุทธศาสตร์การรบ เพื่อรับประกันว่าการทำสงครามครั้งดังกล่าวจะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนและไม่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายตัวเอง
4
ในทางกลับกัน รัฐบาลเผด็จการมักห้ามไม่ให้ประชาชนมีสิทธิทางการเมืองใดๆ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มผู้ชนะของระบอบเผด็จการมักมีขนาดเล็ก ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมหรือความต้องการของประชาชน
ดังนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำกับกลุ่มผู้ชนะในรัฐเผด็จการจึงไม่ได้ถูกกำหนดด้วยความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่ถูกบงการด้วยความสัมพันธ์ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม การกระจายความมั่งคั่งที่มาจากการขูดรีดตัวแสดงที่เหลือให้เฉพาะกับคนบางกลุ่ม และการบังคับขู่เข็ญด้วยกำลัง
ตัวอย่างเช่น ในเกาหลีเหนือ ผู้นำตระกูลคิม แม่ทัพ และสมาชิกระดับสูงของพรรคแรงงานเกาหลี (Workers’ Party of Korea) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวของประเทศ สามารถเกาะกลุ่มกันได้อย่างแน่นหนาและครองอำนาจเหนือประชาชนเกาหลีเหนือมาได้มากกว่า 70 ปี เพราะผู้นำตระกูลคิมมอบสิทธิประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้แก่แม่ทัพและสมาชิกระดับสูง แลกกับการที่พวกเขาจะต้องปกป้องตระกูลคิมและระบอบจูเช (Juche) อย่างถึงที่สุด
รัฐบาลเผด็จการจึงไม่กังวลเรื่องการทหารหรือการทำสงครามมากนัก เนื่องจากในมุมมองของพวกเขา สงครามเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมืองชิ้นหนึ่งที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถปล้นทรัพยากรของชาติอื่นๆ กวาดล้างศัตรูทางการเมือง และส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมในประเทศที่จะถูกเอามาใช้เมื่อไรก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะรัฐเผด็จการจะรบแพ้หรือชนะ ผู้นำและกลุ่มผู้ชนะก็ยังสามารถครองอำนาจต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่พวกเขายังมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันในระดับที่สูง (เรียกง่ายๆ ก็คือยังเกาะกลุ่มกันอยู่)
ด้วยเหตุนี้ เงินและทรัพยากรที่ผู้นำเผด็จการมีจึงมักถูกใช้ไปกับการซื้อใจกลุ่มผู้ชนะ กำจัดผู้ท้าชิง และสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องความอยู่รอดทางการเมืองของตน ไม่ใช่การลงทุนเพื่อดูแลและพัฒนากองทัพของประเทศ เราจึงมักเห็นข่าวพลทหารของประเทศเผด็จการต้องทนอยู่กับสภาพความเป็นอยู่อันน่าอดสู ในขณะที่นายพลหรือนักการเมืองระดับสูงของประเทศกินหรูอยู่สบายอยู่เป็นประจำ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทหารของรัฐเผด็จการจะอ่อนแอทุกหน่วย เพราะปกติแล้ว รัฐบาลเผด็จการมักทุ่มทรัพยากรบางส่วนเพื่อสร้างกองกำลังที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และจงรักภักดีเอาไว้ประจำการตามจุดยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อเตรียมปราบปรามการลุกฮือของประชาชนหรือเป็น ‘ไม้กันหมา’ ไว้ข่มขู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพราะอย่างที่ว่าไว้ตอนต้น รัฐเผด็จการแพ้ต่างชาติได้ แต่ห้ามแพ้ประชาชนเด็ดขาด
5
ในหนังสือ The Dictator’s Handbook เดอ เมสกิตายกชัยชนะของอิสราเอลเหนือชาติอาหรับใน ‘สงครามหกวัน’ (Six-Day War) เมื่อปี 1967 มาเป็นตัวอย่างสนับสนุนแนวคิดข้างต้น
โดยเดอ เมสกิตาอธิบายว่า อิสราเอลสามารถเอาชนะอียิปต์ ซีเรีย และจอร์แดนที่มีกำลังทหารรวมกันมากกว่าตนเกือบ 5 เท่าได้เพราะระบอบประชาธิปไตยของอิสราเอลบีบให้ เลวี เอชโคล (Levi Eshkol) ประธานาธิบดีอิสราเอลในเวลานั้น ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตทหาร การพัฒนากองทัพ และการมีชัยเหนือชาติอาหรับ ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่สามารถรักษาฐานเสียงและปกป้องความอยู่รอดทางการเมืองของตนไว้ได้
แต่ในทางกลับกัน กลไกดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นกับระบบการเมืองหรือผู้นำของกลุ่มชาติอาหรับ เพราะประเทศเหล่านั้นถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น ญะมาล อับเดล นาสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ผู้นำเผด็จการแห่งอียิปต์ในเวลานั้น ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจกับการดูแลและการพัฒนากองทัพอียิปต์ เพราะความอยู่รอดทางการเมืองของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอียิปต์ แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชนะจำนวนหยิบมือซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารเพียงไม่กี่คนที่สนแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จำนวนทหารที่มากกว่าของชาติอาหรับจึงไม่มีค่าอะไรมากนัก เนื่องจากคุณภาพของทหารและความมุ่งมั่นของผู้นำในการการทำสงครามแย่กว่าฝ่ายอิสราเอลเป็นอย่างมาก
6
อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อชี้ว่าระบอบการปกครองคือตัวแปรเดียวที่มีผลต่อประสิทธิภาพของกองทัพ หรือโน้มน้าวให้ทุกคนคิดว่ารัฐประชาธิปไตยจะมีศักยภาพทางการทหารมากกว่ารัฐเผด็จการเสมอ
เพราะในความเป็นจริง พัฒนาการและศักยภาพของกองทัพคือสิ่งที่ถูกหล่อหลอมและกำหนดด้วยตัวแปรจำนวนนับไม่ถ้วน เช่น นิสัยส่วนตัวของผู้นำและผู้เกี่ยวข้อง คุณลักษณะของสถาบันการเมืองในประเทศ สถานการณ์การเมืองโลก ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ และประวัติศาสตร์ร่วมของคนในชาติ
เพียงแต่บทความนี้อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจถึงหมวดหมู่ของตัวแสดงทางการเมือง ตัวแปรที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับผลของรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน เพื่อเปิดมุมมองให้เห็นว่าพลวัตทางอำนาจทางการเมืองมีที่มาและกลไกอย่างไร และเหล่าบรรดา ‘เผด็จการ’ ผู้ถืออาวุธและกองทหารเป็นจำนวนมากนั้น ‘เปราะบาง’ กับเรื่องอะไรได้บ้าง
เนื่องจากความรู้ดังกล่าวคือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เห็นว่าประเทศของเรากำลังถูกครอบงำด้วยกลไกทางการเมืองแบบใด และเราควรทำอย่างไรเพื่อจัดการกับความเปราะบางเหล่านั้น
ที่มา:
The Dictator’s Handbook, Bruce Bueno de Mesquita and Alastair Smith
https://www.researchgate.net/publication/227458612_The_Logic_of_Political_Survival
https://www.cfr.org/backgrounder/north-koreas-power-structure
Tags: Feature, เผด็จการ, Analysis, The Momentum ANALYSIS, รัฐเผด็จการ