‘เหล่าว่าที่หมอฟัน คุณได้รับสิทธิเรียนปริญญาตรีควบโท ภายในเวลา 6 ปี’
ฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่นี่คือเรื่องจริง
เป็นที่น่าสนใจว่า นี่เป็นแพลตฟอร์มการศึกษารูปแบบใหม่ที่มหาวิทยาลัยสร้างสนามกลางให้หลักสูตรต่างๆ สามารถควบข้ามกันได้ เป็นโอกาสให้นิสิตที่สนใจอยากเรียนต่อในศาสตร์ที่ตนเองสนใจ สามารถจบมาด้วยปริญญาตรีควบปริญญาโทไปในเวลาพร้อมกัน ราวกับมีตั๋วเข้ารอบ Fast Track อยู่ในมือ
หลักสูตรควบข้ามระดับ (Dual Degree Program) เป็นหลักสูตรที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้นิสิตทันตแพทย์ในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) แบบควบคู่กันไป โดยสามารถสำเร็จการศึกษาพร้อมกันภายใน 6 ปีการศึกษา
ปัจจุบันมีหลักสูตรควบข้ามที่เปิดให้เรียนไปแล้ว เช่น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ชีววิทยาช่องปาก วิศวกรรมชีวเวช และมีหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ คือพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทันตแพทย์ที่อยากเรียนรู้ข้ามศาสตร์ด้านธุรกิจ
ก่อนหน้านี้ มีงานวิชาการที่ให้ความเห็นกับการเรียนหลักสูตรควบข้ามนี้ว่า การเรียนหลักสูตรควบข้ามจะช่วยให้นักศึกษาประหยัดเงินและเวลา มากกว่าการไปเรียนปริญญาโทแยกกัน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสในการยกระดับฐานเงินเดือน และมีโอกาสทางอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น
ด้วยตัวหลักสูตรที่น่าสนใจคงไม่แพ้ไปกว่าบัณฑิตที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ บ่ายวันนี้เราเดินทางมาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสัมภาษณ์เหล่าบัณฑิตทันตะที่เลือกเข้าร่วมหลักสูตรควบข้ามระดับ เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ภาค-ทันตแพทย์ภาคย์ ริ้วธำรงสฤษฏ์, นนท์-นักศึกษาทันตแพทย์รฐนนท์ กิตติคุณ และอะตอม-รวิสรา สุวรรณนิมิตร
ทันตแพทย์ภาคย์ ริ้วธำรงสฤษฏ์
“การตัดสินใจเริ่มต้นมาเรียนหลักสูตรนี้เป็นมาอย่างไร” เราถามคำถามที่อยากรู้มากที่สุด ภาคเท้าความว่า ตั้งแต่ช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คือ ศ.ทพ.ดร.ธนภูมิ โอสถานนท์ และได้ทำงานร่วมกับอาจารย์มาเรื่อยๆ จนมาถึงตอนที่เขาเรียนปี 4 อาจารย์น่าจะเห็นแววว่า ภาคไปต่อปริญญาโทได้จึงได้ชวนให้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้
“คิดว่าอาจารย์เขาก็น่าจะเห็นอะไรสักอย่างในตัวเรา เขาก็เลยเหมือนมาชวนว่า เดี๋ยวจะมีหลักสูตรเปิดเป็นหลักสูตรควบข้าม ระหว่างทันตแพทย์กับชีววิทยาช่องปาก หรือ Oral Biology ซึ่ง Oral Biology ก็จะเป็น Master of Science หรือปริญญาโท เรียนควบกัน ซึ่งรุ่นผมเป็นรุ่นแรก เพราะว่า หลักสูตรก็เพิ่งอนุมัติออกมาเป็นปีแรกเลย
“อาจารย์ก็อธิบายรายละเอียดต่างๆ ว่า การเรียนปริญญาโทจะเป็นการทําวิจัย เวลาจบก็มีคุณสมบัติครบตามข้อกําหนดทั้งหมดของปริญญาโท เพียงแต่ว่างานหลักจะเน้นที่การทําวิจัยอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะมาทํานอกเวลาได้ ก็คือไม่ได้ไปรบกวนกับการเรียนทันตแพทย์ คือ 8 โมงเช้า-4 โมงเย็น ก็เรียนทันตแพทย์ไปตามหลักสูตรที่เราเรียนมา หลังจากนั้นก็หาเวลามาทําวิจัยให้ได้ออกมาทันกําหนดที่จะจบ”
การเรียนหลักสูตรควบข้าม หมายถึงคุณต้องเตรียมตัวรับมือกับภาระงานจากทั้ง 2 หลักสูตรภายในเวลาเดียวกัน เขาพูดถึงความยากตรงนี้ว่า หลักสำคัญคือต้องบริหารเวลาให้ดีเพื่อทำวิจัยให้เสร็จทันกำหนด และได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดหลักของการจบปริญญาโท
“อย่างน้องๆ ก็น่าจะรู้ว่า การเรียนทันตแพทย์จบ 4 โมงก็จริง แต่ความเป็นจริงไม่ได้จบ 4 โมง บางทีลากยาวไปถึงดึกดื่น ถึงตี 5 ก็มี มันจะต้องมีงานหลังจากจบ หมายถึงว่าหลังจาก 4 โมงเย็น เราลงมาจากคลินิกก็จะต้องมีงานมาทําต่อ โดยปกติแล้ว เราก็จะใช้เวลานั่งทํางานกันเพื่อที่จะมีฟันปลอมไปใส่ให้คนไข้ แต่ทั้งหมดต้องจัดสรรเวลาดีๆ เพื่อที่จะมีเวลาไปทํางานวิจัย ก็เป็นส่วนที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษนิดหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะว่าเหมือนเรียนธรรมดาทั้งวัน มันก็แบบเหนื่อยใช้พลังงานเยอะอยู่แล้ว เราก็ต้องมีแบ่งเวลามาทําอะไรอย่างนี้อีก ทําวิจัยอีก”
การเรียนหลักสูตรทันตแพทย์และชีววิทยาถึงดูจะเป็นคนละแนว แต่ก็คาบเกี่ยวกัน เขาพูดพร้อมอธิบายว่า การเรียนทันตแพทย์เป็นการเรียนเพื่อไปรักษาคนไข้ เน้นนำความรู้มาปรับใช้กับทางคลินิก ในขณะที่การเรียนชีววิทยาจะเน้นการทำวิจัย เน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ เน้นการค้นพบสิ่งใหม่ๆ และผลักดันขีดจํากัดความสามารถของวงการทันตแพทย์ให้ไปข้างหน้าต่อไป แต่พื้นฐานโดยรวมมาจากหลักเดียวกัน คือการให้ความสำคัญกับศาสตร์ทางด้านทันตกรรม
ข้อดีของการได้มาเรียนต่อปริญญาโท ทำให้เขาได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลจากการทำวิจัย ฝึกการตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเขามองว่า เป็นทักษะสำคัญสำหรับทันตแพทย์ที่ต้องอัปเดตความรู้ให้ตัวเองได้ตลอดเวลา
“จริงๆ แล้วการทําวิจัยเพื่อค้นความรู้ใหม่ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่งของทันตแพทย์อยู่แล้ว อีกส่วนก็เป็นการฝึกทักษะ หลักๆ ที่ได้คือทักษะ Critical Thinking ที่ทําให้เราค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่จําเป็นต้องให้ใครย่อยความรู้สรุปมาให้ แต่สามารถคิดวิเคราะห์จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ แล้วก็วิเคราะห์ ทําความเข้าใจได้เองจากตรงนั้น”
การเรียนปริญญาโทในภาควิชาชีววิทยามีค่าธรรมเนียมปกติอยู่ที่เทอมละประมาณ 4 หมื่นบาท ทว่าสามารถขอทุนได้ ภาคได้ทุนที่ชื่อว่า ‘ทุน 72 พรรษาฯ’ ซึ่งเป็นทุนของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเขาก็จะได้ละเว้นค่าเทอม แต่ก็มีเงื่อนไขคือต้องส่งรายงานผลการเรียนกลับไปที่ทางมหาวิทยาลัย
“แล้วการเรียนต่อถือว่ามีส่วนช่วยใน Career Path ของเราในอนาคตมากขนาดไหน” เราถาม
“พอผมจะจบปริญญาโท อาจารย์ธนภูมิคนเดิมก็มาเสนอว่า จะให้มาเป็นเจ้าหน้าที่ที่คณะต่อ ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เพราะฉะนั้น สกิลการวิจัยที่เราได้มาจากตรงนี้ก็ช่วยเต็มๆ เลยตรงที่ว่าจะมีพื้นฐานมาในระดับหนึ่งก่อนเป็นอาจารย์”
ทันตแพทย์ภาคย์ ริ้วธำรงสฤษฏ์ จบปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาช่องปาก (นานาชาติ) ปัจจุบันเป็นทันตแพทย์และมีแผนเรียนต่อปริญญาเอกเพื่อกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ต่อที่มหาวิทยาลัย
นักศึกษาทันตแพทย์รฐนนท์ กิตติคุณ
“นนท์มีอาจารย์มาชวนเหมือนกันหรือเปล่า?”
เราถามแกมหยอก นนท์ยิ้มพร้อมตอบว่า อาจารย์มาเสนอเฉยๆ แล้วก็สนใจ ก่อนเล่าต่อว่า ช่วงที่เรียนซัมเมอร์ตอนช่วงปี 3 ขึ้นปี 4 อาจารย์เข้ามานำเสนอหลักสูตรนี้ ท่ามกลางหลักสูตรทั้งหลาย เขาสนใจหลักสูตรควบข้ามวิศวกรรมชีวเวชที่สุด เพราะเป็นศาสตร์ที่สนใจเรียนมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอมีโอกาสจึงตัดสินใจสมัครทันที
“ผมก็สนใจด้วยความที่ว่า ผมชอบเกี่ยวกับด้านวิศวะเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว พอได้เรียนเกี่ยวกับทันตะมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าทันตกรรมศาสตร์กับวิศวะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ ทั้งเรื่องการประยุกต์การใช้พวกเรื่อง CAD/CAM (ระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสร้างงานทันตกรรมประดิษฐ์) เข้ามาใช้กับงานทันตกรรมก็มีส่วนช่วย แล้วก็การพัฒนาวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในงานทันตกรรม ก็สามารถนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้วยเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าน่าสนใจและก็นําไปต่อยอดในอนาคตได้”
ถ้าถามถึงการเรียนในหลักสูตรควบข้ามวิศวะ นนท์บอกว่า ตอนนี้เขายังไม่ได้เริ่มเรียน แต่อธิบายให้เราฟังคร่าวๆ ว่า การเรียนในหลักสูตรควบข้ามจะมีทั้งการทำวิจัย มีวิชาบังคับอย่างสัมมนา และมีให้ลงเรียนวิชาเลือกเพิ่มเติม เพื่อปรับพื้นฐานความรู้และเสริมทักษะในการทำวิจัย ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรของภาคที่เน้นการทำวิจัยเพียงอย่างเดียว และแน่นอนว่า เกณฑ์การตัดสินว่าจะผ่านปริญญาโทหรือไม่นั้น คือต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติเหมือนกัน
“ตอนนี้มันยังไม่ได้เปิดคลินิกของปี 5 เต็มตัว ก็เลยยังไม่ได้หนักมาก คือต้องพยายามหาเวลามาทําวิจัยเรื่อยๆ ปัจจุบันก็คือยังอยู่ในขั้นทดลองอยู่ ยังไม่ได้แบบว่าสรุปผลอะไรออกมา ผมก็ยังพยายามคลําทางต่อไปเรื่อย เพื่อที่จะทําวิจัยแบบเอาให้เสร็จ”
“แล้วเวลาเรียน 2 วิชามันชนกันไหม” ภาคที่พูดเก่ง ถามด้วยความสงสัย
“ชน! เขาบอกว่าทําคนไข้ไปใส่หูฟังเรียนไปด้วยก็ได้ ผมก็แบบ ฮะ ได้หรอ” นนท์หัวเราะ
“แต่ดูแล้ว เรารู้สึกว่าทางทันตะกับทางวิศวะมันอาจจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไรไหม” เราถามเพิ่ม
“มันเกี่ยวกันมากกว่าที่คิด” ภาคช่วยตอบ
“เกี่ยวกันมากเลย” นนท์กล่าวเสริม
โปรดเตรียมใจว่าหลังจากนี้คุณจะได้เจอศัพท์เทคนิคของนนท์แบบจัดเต็ม “คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันตะเขาเริ่มเอามาใช้ อย่างพวก Digital Intraoral Scanner (เครื่องมือที่ใช้ในการสแกนช่องปากและฟันเพื่อสร้างเป็นไฟล์ 3 มิติ) หรือว่า 3D Printing พวกฟันปลอม หรือว่าการทำทันตกรรมประดิษฐ์ทั้งหลาย มีการเอาความรู้ของวิศวกรรมศาสตร์พวกเรื่อง CAD/CAM อย่างนี้เอามาใช้ด้วย แล้วก็ปัจจุบันมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Ingelligence: AI) ที่กําลังมา ซึ่ง AI ก็คือวิศวะที่เกี่ยวกับการเขียนโค้ด เพื่อเอามาใช้ในการ Detect Caries (การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจฟันผุ) หรือว่าเอามาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เอามาดีไซน์ในตัวของ Prosthetic Dentistry (ทันตกรรมประดิษฐ์) ก็ได้”
หลังจากคุยมาได้สักระยะ เราเห็นความอินวิศวะของนนท์ จึงเกิดความสงสัยว่า ที่จริงแล้วเขาอยากเรียนวิศวะมาตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า
“ใช่” นนท์ตอบอย่างไม่ลังเล
“แล้วยังอยากเป็นหมอฟันอยู่ไหม หรืออยากไปทํางานแบบเชิงวิศวะเลย” เราถามต่อ
“น่าจะอยากเป็นอยู่” เขาหัวเราะ
“คือตอนแรกผมไม่ได้จะเข้าหมอฟันตั้งแต่แรกด้วย จะไปทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ว่าที่บ้านอยากให้มาสายการแพทย์ ก็เลยดูการแพทย์ที่มันแบบมาทางวิศวะนิดหนึ่ง ก็อาจจะเป็นทางหมอฟันด้วยที่แบบมีเรื่องของการใช้อย่างที่คุยไปว่า มีเรื่องของเทคโนโลยีที่เอามาเข้ามาประยุกต์ใช้กับด้านหมอฟันได้”
ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษา นนท์ตอบเช่นเดียวกับภาคว่า ทางคณะมีเปิดให้ขอรับทุนสนับสนุน จึงได้เข้าเรียนแบบที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
เราเปิดโอกาสให้นนท์ได้ขายหลักสูตรควบข้ามนี้อีกสักหน่อยว่า จะได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์หลังเรียนจบไหม
“คิดว่าได้ใช้ เพราะว่าเทรนด์ในอนาคต งานแล็บของทางทันตกรรมปัจจุบัน เป็นงานแฮนด์เมด เป็นงานใช้พวกขี้ผึ้ง ใช้ Composite (วัสดุอุดฟัน) ทั้งหลายที่อาจจะใช้เวลานานกว่าการที่แบบ สแกนช่องปากเสร็จ เราสามารถทำ 3D Print ออกมาเป็นงาน ซึ่งอาจจะจบได้ภายใน 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งก็ได้ การที่เรามีความรู้ตรงนี้ก็จะช่วยย่นเวลาในการทําฟันให้คนไข้คนหนึ่งออกไปแบบง่ายขึ้นมาก”
นักศึกษาทันตแพทย์รฐนนท์ กิตติคุณ ปัจจุบันเป็นนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มีความสนใจด้านวิศวะจึงใช้โอกาสนี้เรียนต่อหลักสูตรควบข้ามวิศวะตามที่ตนเองสนใจ วุฒิที่นนท์จะได้รับเมื่อสำเร็จการศึกษาคือ ปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช
รวิสรา สุวรรณนิมิตร
อะตอมได้รับข้อเสนอจากอาจารย์ เช่นเดียวกับภาคและนนท์ให้รู้จักหลักสูตรนี้ เธอเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะเรียนจบด้วย 2 ปริญญาให้เป็นทางเลือกหลังเรียนจบ เผื่อจะไปต่อยอดในสายอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นทันตแพทย์
“หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตร Non Course Work คือจะไม่มีเนื้อหาเลย แต่จะเน้นในเรื่องการทําวิจัย แล้วก็มีเรียนระเบียบวิธีวิจัยอยู่ประมาณ 2 ตัว ซึ่งจะไม่ได้มีการตัดเกรด แต่จะเป็นแบบผ่านกับไม่ผ่าน แล้วที่เหลือจะเป็นทําวิจัย จากหัวข้อที่ทําต่อมาจากของอาจารย์นิธิมา เสริมสุธีอนุวัฒน์ ที่ทําตอน Undergrad แล้วก็ต่อยอดเป็นวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโท เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องของปัจจัยที่ผู้สูงอายุมาใช้บริการที่คณะทันตกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ถ้าจบได้ก็ต้องตีพิมพ์ให้ผ่าน อย่างที่น้องๆ เมนชันไป
“ตอนนี้ก็จบแล้ว เป็น Data Analyst อยู่ที่ UNICEF”
“ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่เรียนมาเลยใช่ไหม” เราถาม
“ไม่เกี่ยว (หัวเราะ) แต่ว่าเรียกว่าก็ได้ใช้สกิลจากที่ได้ทําวิจัยมา เพราะอย่างที่บอกว่าเป็น Data Analyst มันได้เรียนการตั้งปัญหา วิธีวิจัย วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ถือว่าได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้อยู่ แต่มีเพื่อนด้วยกันอีก 2 คนที่เรียนมาด้วยกัน แล้วเขาก็จบเป็นทันตแพทย์ ข้อดีของการมีวุฒิปริญญาโทก็คือสามารถเพิ่มเงินเดือนได้ด้วย”
“แล้วไปเส้นทางนั้นได้อย่างไร?” เราถามต่อ
“จริงๆ ชอบเรื่องคณิตศาสตร์ ชอบตัวเลข การเขียนโค้ด ก็เลยสนใจในทางนี้มากกว่า”
อะตอมเริ่มเข้าหลักสูตรตอนเรียนปีที่ 6 เท่ากับว่าจะมีเวลาไม่กี่เทอมก่อนทำวิจัยจบ แต่ด้วยความที่มีข้อมูลที่เคยเก็บรวบรวมไว้แล้วตั้งแต่ปริญญาตรี เธอเลยย่นระยะเวลาการทำวิจัยลงไปได้ แต่ความยากที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ การได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ กว่างานวิจัยของอะตอมจะได้รับการตีพิมพ์ก็หลังจากจบปี 6 มาแล้วประมาณ 1 เทอม ซึ่งไม่ได้จบตามเวลาหลักสูตร ทำให้เราเห็นว่า ด่านสุดหินคือการตีพิมพ์วิจัยผ่านนี่เอง
เหมือนกับคนอื่นๆ อะตอมก็ได้ทักษะติดตัวมาจากการทำวิจัย เรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอได้งานเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล
“มีส่วนมาก เพราะเราได้วิธีการวิเคราะห์ทางสถิติที่เป็นเหมือนสกิลที่เราได้มา รวมถึงเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ International Program ซึ่งพวกธีสิสต่างๆ ก็ต้องตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถือว่าได้สกิลตรงนั้นมาพอสมควร”
รวิสรา สุวรรณนิมิตร จบปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (นานาชาติ) อะตอมค้นหาตัวเองเจอจากการเรียนต่อปริญญาโท จนทำให้เธอได้เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในองค์กรระหว่างประเทศดังกล่าว
ปัจจุบัน จุฬาฯ มีหลายหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ ‘ควบข้าม’ เป็นต้นว่า คณะแพทยศาสตร์ ควบข้ามกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช หรือคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ควบข้ามกับคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์
เป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญ ที่ทำให้บัณฑิตยุคใหม่มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ติดอยู่กับสิ่งที่เรียนปริญญาตรีอย่างเดียว แต่สามารถควบข้าม ลื่นไหล ไปยังสาขาอื่นๆ ได้
เพราะสุดท้าย ‘ความรู้’ ยิ่งรู้มากเท่าไร ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น
อ้างอิง
https://www.bridgeport.edu/news/pros-and-cons-of-dual-degree-and-double-majors/
https://grad.md.chula.ac.th/upload/download/37/file_3_5329.pdf
https://www.bangkokbiznews.com/social/979686
https://www.dent.chula.ac.th/programs/43237/
https://www.chula.ac.th/news/148638/
Fact Box
ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-8635
ข้อมูลศึกษาต่อหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต โทร. 0-2218-8653 ถึง 4
ข้อมูลศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา โทร. 0-2218-9016, 0-2218 -9021