หม้อประกอบอาหารจากชิ้นส่วนสรรพาวุธ ฝักมีดที่ดัดแปลงจากชิ้นส่วนระเบิดลูกปราย (Cluster Bomb) ห้อยแขวนอยู่ในบ้านจักสานไม้ไผ่จำลองภายใน COPE (Cooperative Orthotic & Prosthetic Enterprise) หน่วยงานช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และอวัยวะเทียมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิด
ข้าวของเครื่องใช้จิปาถะที่จัดแสดงภายในหน่วยงาน ได้รับมาจากทั่วสารทิศของประเทศลาว โดยมากมีต้นกำเนิดจากชิ้นส่วนทุ่นระเบิดระหว่างสงครามเวียดนาม ผลผลิตจากการดัดแปลงระเบิด สะท้อนว่า ชาวลาวมีความใกล้ชิดกับสงคราม จนสามารถเปลี่ยนอาวุธอันเต็มไปด้วยพิษสงกลายเป็นของใช้มีประโยชน์ขึ้นได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สงครามตัวแทนระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์คือเวียดนามเหนือ สนับสนุนโดยจีนและฝ่ายเสรีนิยมอย่างเวียดนามใต้ สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา สร้างความปั่นป่วนไปทั่วอุษาคเนย์ ระเบิดมากกว่า 270 ล้านลูกของสหรัฐฯ ตกลงสู่แนวชายแดนเวียดนาม รุกล้ำเข้าไปในลาวมากถึง 14 แคว้นจากทั้งหมด 17 แคว้น และในระเบิดจำนวนนี้มีมากถึงกว่าร้อยละ 30 หรือราว 80 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด หากแต่รอเพียงสิ่งมีชีวิตมากระทบสักเล็กน้อยก็พร้อมทำงาน กัดกินแขน ขา หรือพรากเอาชีวิตของชาวบ้านผู้เผชิญไปอย่างไม่ทันตั้งตัว
ทุกสิ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ COPE จึงแตกต่างจากชิ้นส่วนประวัติศาสตร์เลวร้ายที่สิ้นสุดพิษสงลงไป แต่เป็นประวัติศาสตร์และเป็นปัจจุบันที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ความสูญเสียที่มีพื้นหลังเป็นสงครามซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้ก่อ
COPE สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของ บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวลาวที่ได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้ากับระเบิด กระสวยระเบิดผ่านการใช้งานมาแล้วในยุคสงครามเวียดนาม รวมถึงระเบิดลูกปรายที่ชาวลาวคุ้นเคยว่า ‘บอมบ์บี้’ ในวันนี้กลายเป็นชิ้นส่วนจัดแสดงภายใน COPE
“หากผู้คนทั่วไปไม่รู้ว่ามีบริการขาเทียม พวกเขาจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ตนสามารถเดินได้ ซึ่งขาที่ทำขึ้นด้วยตัวเองเหล่านี้ ได้รับมาจากผู้เคราะห์ร้ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
ป้ายกำกับข้อมูลบอกเล่าที่มาของขาเทียม บัดนี้กลายเป็นประติมากรรมของพิพิธภัณฑ์ อุปกรณ์เทียมสำหรับผู้พิการที่แขวนอยู่ บ้างวางตั้งกับพื้นเหล่านี้ล้วนมีเจ้าของเก่า เมื่อผ่านการใช้งานหนักจนสิ้นสภาพ จึงอุทิศแด่พิพิธภัณฑ์หวังสร้างความตระหนักรู้ และให้สรรพอุปกรณ์เทียมต่างๆ เป็นทูตส่งข้อความแก่นานาชาติถึงฤทธิ์เดชสงครามแทนประชาชนลาวผู้เคราะห์ร้าย
นับแต่ปี 1964-2022 มีประชาชนชาวลาวได้รับบาดเจ็บกระทั่งเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและสรรพาวุธสงครามไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นราย จำนวนนี้ยังคงเพิ่มขึ้นทวีคูณในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่กว่าร้อยละ 40 ของผู้เคราะห์ร้ายเป็นเด็ก
หนึ่งในนั้นคือ แบง เด็กผู้มีประสบการณ์เลวร้ายด้วยอายุเพียง 16 ปี ขณะออกช่วยครอบครัวอยู่ในท้องนา ตอไม้ใกล้แหล่งที่เด็กชายทำงานบดบังสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิด (UXO) ลูกหนึ่ง เพียงแบงขยับตอไม้ เสียงตูมก็ดังขึ้นพร้อมกับความอลหม่านของครอบครัวกับการส่งตัวแบงถึงมือหมอ และถูกปฏิเสธมากกว่า 2 ครั้ง เนื่องจากเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอกับความสาหัส
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1963-1974 อุษาคเนย์เผชิญกับสงครามแนวคิด ระหว่างผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์กับฝ่ายเสรีนิยม มหาอำนาจจาก 2 แนวคิดทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตส่งทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และบุคลากร ดันหลังประเทศในแถบภูมิภาคนี้ทำสงครามตัวแทน ลาวที่มีภูมิประเทศชิดใกล้เวียดนามสมรภูมิหลัก กับการให้ความร่วมมือของขบวนการภายในประเทศ เปิดเส้นทางลำเลียง และส่งกำลังบำรุงช่วยเหลือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ หรือ ‘เวียดกง’ ได้ส่งไฟสงครามอันร้อนแรงแผดเผาชาวลาวเกือบทั้งภูมิภาค และในเส้นเวลาเดียวกัน ไทยในยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร ยังมีส่วนในฐานะผู้ร่วมรบในสงครามลับ (Secret War) ของลาวจากการหนุนหลังของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA)
คลัสเตอร์บอมบ์ (Cluster Bomb) คืออาวุธหลักที่สหรัฐฯ ใช้ในสงคราม กระสวยระเบิดขนาดใหญ่แยกตัวออกกลางอากาศปล่อยระเบิดลูกเล็กภายในกระสวยจำนวน 700-800 ลูกลงสู่ผืนดินลาว ทำเช่นนี้ร่วม 9 ปี เที่ยวบินกว่า 5.8 แสนเที่ยวบิน ทิ้งระเบิดแบบปูพรมรวม 270 ล้านลูกในทุก 8 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง 14 แคว้นจากทั้งหมด 17 แคว้นของลาวกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด
ที่สำคัญร้อยละ 30 เป็นจำนวนบอมบ์บี้อีกราว 80 ล้านลูก ไม่ได้ระเบิดทันทีเมื่อแตะพื้น แต่ซ่อนตัวเรี่ยผิวดินเป็นมัจจุราชเงียบรอพรากแขน ขา หรือกลืนกินชีวิตใครสักคนที่ผ่านมาเหยียบย่ำ
ในปี 2004 ผ่านไป 29 ปีหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ต้า ออกจากบ้านพร้อมลูกน้อยวัย 8 ขวบ และ 10 ขวบ มุ่งไปยังบึงเพื่อจับปลา เขาพบว่า มีระเบิดนอนนิ่งอยู่บนพื้นระหว่างทาง จึงให้เหล่าลูกน้อยหากำบังภัยและตั้งใจใช้ระเบิดนั้นจับปลา แต่เพียงสัมผัสระเบิดก็เริ่มทำงาน ฉีกทึ้งแขนทั้ง 2 ข้างและดวงตาข้างหนึ่ง การสูญเสียของต้าไม่ได้จบเพียงอวัยวะบางส่วนที่หายไป แต่วัว ควาย ปศุสัตว์ทั้งหมดที่เลี้ยงไว้จำต้องถูกขายทอดตลาดแลกเงินรักษาชีวิต
เรื่องราวของต้าถูกแขวนอยู่ภายใน COPE พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ความตั้งใจสนับสนุนชีวิตใหม่ของผู้เคราะห์ร้ายจากทุ่นระเบิด และอวัยวะเทียมนี้เองที่ทำให้เขา หวังนำตนเองเป็นหนึ่งในนักรณรงค์ห้ามใช้คลัสเตอร์บอมบ์ และเดินทางไปยังกรุงออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ เพื่อชมการลงนามสนธิสัญญา
ไม่เพียงเรื่องราวของต้าเท่านั้นที่อยู่ในอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวแห่งนี้ แต่อีกนับร้อยถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ แปะทับบนฝาผนังพร้อมรูปภาพเจ้าของเรื่องราว และเป็นปกติที่เรื่องราวจากหลากหลายที่มาย่อมให้ความรู้สึกแตกต่างกัน บ้างอาจสิ้นหวังเมื่อได้อ่าน หรืออาจสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บกพร่องทางกายจากระเบิด หรือผู้มีอวัยวะครบ 32 ประการได้รับรู้และตระหนักถึงพิษภัยของสงครามที่ไม่จบสิ้นในลาวจวบจนปัจจุบัน
มุมหนึ่งของ COPE มีบางเนื้อหาที่ล่อแหลมต่อสภาพจิตใจ เป็นภาพวาดพร้อมคำบรรยายที่อาจมีเจ้าของเป็นเด็กวัยเรียนสักคน หรือชาวไร่ชาวนาสักคนที่อยู่ร่วมยุคสงคราม ลายเส้นภาพวาดโย้เย้แต่แข็งแกร่ง เต็มไปด้วยเนื้อหาที่กรองจากความทรงจำ เป็นตัวอักษรรวมกันเป็นประโยคและบทความแต่ละชิ้น ดังที่จะเล่าไปทีละส่วน
“เมื่อก่อนหมู่บ้านของฉันมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นบ้านที่ดีสำหรับชาวนาในลาว ความรุ่งเรืองนำมาซึ่งความก้าวหน้าในพื้นที่แห่งนี้ ทว่าเมื่อเราถูกโจมตีโดยเครื่องบิน บ้านของเราถูกไฟไหม้ ทรัพย์สินของเราสูญสลายไปทั้งหมด คิดกลับไปแล้วฉันอยากจะร้องไห้ออกมา แต่น้ำตาฉันนั้นไม่เหลือแล้ว ตอนนี้ฉันหนีออกจากหมู่บ้านของฉันแล้ว
“สมัยก่อน หมู่บ้านของฉันมีแต่โชคลาภ ไม่มีสิ่งใดทำให้เรารู้สึกหวาดกลัว หรือมีอันตราย ชีวิตชาวนาแบบพวกเราก็เหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ ของลาว แต่ในปี 1965 เครื่องบินเริ่มทิ้งระเบิดใส่เชียงขวางจนมีคนตายอยู่ในหลุม ฉันมองเห็นเพียงหัว ขา และมือเท่านั้น ทันใดนั้นมีชายคนหนึ่งขุดเอาลูกและเมียของฉันไปฝังไว้อยู่ข้างในหลุม
“โรงเรียนของฉันมีไฟไหม้อยู่ ภายในนั้นมีคนตายมากมาย แต่ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครบ้าง เพราะฉันไม่กล้ามอง ตอนนั้นฉันแค่กลัวว่า เครื่องบินพวกนั้นจะยิงฉัน”
เจ้าของบทความไม่เปิดเผยใบหน้า มีเพียงประสบการณ์ส่งต่อผ่านลายมือ แม้จะผ่านสงครามมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ชาวลาวมิเคยลืมเลือนว่า ครั้งหนึ่งชีวิตในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ต้องพบเจอกับความเลวร้ายอย่างไร
สำหรับสหรัฐฯ ในฐานะผู้ร่วมก่อความวินาศแก่ลาวในอดีต คงมิอาจปฏิเสธความรับผิดรับชอบต่อทุกชีวิตที่ถูกพรากแขน ขา และลมหายใจของชาวลาว
แน่นอนว่า หน่วยงานช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และอวัยวะเทียมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิด สนับสนุนโดยสหรัฐฯ อย่าง COPE เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดนั้น ความรับผิดชอบถูกส่งผ่านค่าบริการสำหรับการผ่าตัด และการรักษาสำหรับผู้ยากไร้ในลาว ทั้งยังสร้างการรับรู้แก่ผู้เคราะห์ร้ายว่า พวกเขายังมีหลักพักพิงและพร้อมสร้างชีวิตใหม่จากแขน ขา หรืออุปกรณ์เทียมอื่นใดที่หน่วยงานเหล่านี้จะจัดหาให้ได้
อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบของสหรัฐฯ ที่มีฉากหน้าเป็นพิพิธภัณฑ์หลังเล็กๆ อย่าง COPE นั้นอาจไม่เพียงพอในปัจจุบัน แม้สหรัฐฯ เพิ่มเงินสนับสนุนในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็น 2 เท่าจำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากเทียบกับระเบิดที่ยังตกค้างรอวันทำงานกว่า 80 ล้านลูก คงอีกหลายปีกว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้จะฟื้นตัว และกล้าที่จะเดินโลดแล่นอย่างอิสระทั่วทั้งประเทศอีกครั้งก่อนที่สงครามจะรุกคืบมาถึง
“ผมทราบว่า ร่องรอยสงครามนั้นยังคงทำลายชีวิตผู้คนในประเทศลาว ระเบิดหลายลูกที่ถูกทิ้งลงสู่แผ่นดินลาวหลายลูกยังไม่ระเบิด หลายปีหลังสงครามสิ้นสุด ประชาชนลาวนับพันๆ คนต้องเสียชีวิต และบาดเจ็บเพราะอนุภาพของระเบิดดังกล่าว บ้างเป็นเกษตรกรทำนา บ้างเป็นเด็กๆ ที่กำลังเล่นกัน พวกเขาขาขาดบ้าง แขนขาดบ้าง ทั้งหมดล้วนเป็นบาดแผลที่มีผลกระทบไปชั่วชีวิต
“ดังนั้น ผมในฐานะประธานาธิบดีจึงออกนโยบายเพิ่มเงินสนับสนุน เพื่อช่วยจัดการกับระเบิดที่ยังไม่ระเบิดพวกนี้ ให้ลาวกวาดล้างระเบิดได้มากขึ้น จำนวนประชาชนที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บก็ลดลง และเราสามารถร่วมกันช่วยเหลือชีวิตผู้คน
“อย่างไรก็ตาม ยังมีหน้าที่ให้ทำอีกมาก วันนี้ผมจึงภูมิใจที่จะเรียนให้ทุกท่านทราบถึง การเพิ่มความพยายามในการกวาดล้างระเบิดครั้งใหญ่ ประเทศสหรัฐฯ จะเพิ่มเงินสนับสนุนเป็น 2 เท่า เท่ากับ 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือการขยายการกวาดล้างระเบิดของรัฐบาลลาว ในช่วง 3 ปี ต่อจากนี้” โอบามากล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปี 2016
Tags: กับระเบิด, COPE, ทุ่นระเบิด, UXO, สรรพาวุธ, สงครามลับ, เวียงจันทน์, เชียงขวาง, สงครามเวียดนาม, ทุ่งไหหิน, ลาว, Ho Chi Minh trail