“ทำไมชีวิตถึงไม่เหมือนคนอื่น”

ใต้เงาสะพานพระพุทธยอดฟ้าและริมถนนสายวุ่นวาย โลกอีกใบที่เด็กหลายคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับคำถามซึ่งไร้คำตอบ พวกเขาต้องสู้เพื่อความอยู่รอดทุกวันและเรียนรู้โลกในมุมที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยเห็น

ในขณะที่เด็กบางคนวาดฝันถึงของเล่นใหม่ มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ฝันเพียงแค่มีบ้านให้พักพิง ได้มีอาหารกิน หรือมีการศึกษาให้ได้เรียนรู้ ฝันของพวกเขาเรียบง่ายแต่วิถีชีวิตกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค

ทว่าท่ามกลางความลำบากนั้น ยังมีแสงสว่างเล็กๆ จากผู้คนที่เชื่อในความหวังและการเปลี่ยนแปลง พวกเขาคือเสียงที่กำลังรอให้ใครสักคนรับฟัง The Momentum ชวนทุกคนอ่านเรื่องราวของเด็กกลุ่มเปราะบางใต้สะพานพุทธ ภาพสะท้อนของความหวัง ความฝัน และความเป็นจริงที่โหดร้ายของสังคมไทย ในวันเด็กแห่งชาติปี 2568

ความฝันที่ไม่กล้าฝัน

“เราไม่อยากอยู่แบบนี้เหมือนกัน”

“เราอยากมีบ้านอยู่เหมือนคนอื่น”

คำพูดของ พระพาย และพะแพง ทองหล่อ สองพี่น้องที่เริ่มต้นชีวิตก่อนฟ้าสาง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปเรียน และเมื่อกลับมาถึงพื้นที่เล็กๆ เชิงสะพานพุทธ ที่เป็นเสมือนบ้าน พวกเธอมักจะช่วยย่าขายของและร้อยมาลัย เพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ หลังจากนั้นเมื่อค่ำแล้วทั้งสองต้องไปนอนพักอยู่ที่อื่นที่ปลอดภัยกว่านี้

เมื่อถามถึงบ้านในฝัน พะแพง เด็กสาววัย 14 ปี ผู้เป็นน้อง ตอบคำถามด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่า บ้านแบบไหนก็ได้ ขอแค่มีครอบครัวทุกคนอยู่กันครบ บ้านในนิยามของเธอไม่ใช่หลังคาสีสวยหรือผนังแข็งแรง หากเป็นเพียงสถานที่ที่ทุกคนในครอบครัวได้อยู่รวมกัน

พระพาย เด็กสาววัย 15 ปี ผู้เป็นพี่ ย้อนเล่าถึงวันเก่าๆ ด้วยแววตาที่ฉายความคิดถึง เมื่อครั้งที่เธอยังมีบ้าน ก่อนที่โชคชะตาพลิกผันเมื่อปู่เสียชีวิตและที่ดินถูกยึด เธอและครอบครัวจึงต้องจากบ้านเดิมตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 มาใช้ชีวิตเชิงสะพานจนถึงวันนี้ ซึ่งเธอไม่ได้คิดว่ามาก่อนหน้าว่าครอบครัวของเธอจะต้องมาอยู่ในที่แบบนี้

พะแพงกล่าวต่อว่า ตลอดเวลากว่า 6 ปีที่ใช้ชีวิตที่นี่ เธอต้องขนของย้ายเข้าย้ายออกอยู่หลายครั้ง ในน้ำเสียงนั้นแฝงไปด้วยความเหนื่อยล้า ชีวิตของเธอต้องแบกรับภาระเกินตัวในขณะที่ยังอายุน้อย ทว่าสิ่งที่เธอภูมิใจมากที่สุดคือ การใช้ชีวิตจนอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ 

“เวลาที่มีเทศกิจมาบอกให้เก็บของ เราต้องขนของทั้งหมดย้ายไปอยู่โกดังฝั่งตรงข้ามที่เราอยู่ เราขนของย้ายเข้าออกจนนับไม่ถ้วน” พะแพงกล่าว

พระพายเล่าถึงความฝันที่เคยสดใสเมื่อครั้งยังเด็ก เธอเคยอยากเป็นหมอ แต่วันนี้เมื่อเติบโตขึ้น ความฝันนั้นดูเหมือนจะถูกปิดกั้นไว้ด้วยความเป็นจริงที่ยากลำบาก พะแพงเสริมว่า เธอเองเคยอยากเป็นครู แต่เมื่อโตขึ้นเธอเลือกที่จะลดความฝันลงให้ใกล้ความจริงมากที่สุด โดยขอแค่มีงานทำ ดูแลครอบครัวได้ก็พอ

สำหรับพระพายและพะแพง อนาคตเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ลางๆ พวกเธอเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน เพราะบางครั้งแค่การมีชีวิตรอดในแต่ละวัน ก็นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทั้งสองแล้ว

ความฝันที่ยังไม่มีรูปร่าง

ไอซ์-พรจิราย์ บัวมาศ เด็กหญิงอายุ 12 ปีที่ภูมิใจในสิ่งเล็กๆ อย่างการอ่านหนังสือได้ หลังเลิกเรียนเธอจะมาอยู่กับยายที่เชิงสะพานพุทธ นี้ และทุกวันช่วงเย็นจะมีคนมารับไปพักอีกที่หนึ่งเพื่อความปลอดภัย เธอต้องใช้ชีวิตในที่พักชั่วคราว โดยต้องย้ายไปย้ายมาในแต่ละวัน 

“อยากได้ที่อยู่ที่ดีกว่านี้ แบบไหนก็ได้ที่ดีกว่าที่อยู่ตอนนี้”

สิ่งที่เธอต้องการคือ ‘ที่อยู่’ ที่มั่นคง เธออยากมีที่อยู่ที่ดีกว่านี้ เพื่อที่จะไม่ต้องย้ายไปกลับระหว่างพื้นที่ชั่วคราว แต่นั่นคือสิ่งที่เธอไม่มีโอกาสเลือก

พรจิราย์ เคยฝันอยากเป็นอะไรสักอย่าง แต่วันนี้เธอเลือกที่จะยังไม่คิดและหวังให้น้อยลง อาจฟังดูเรียบง่าย แต่กลับสะท้อนความจริงอันหนักหน่วง เด็กหญิงคนนี้ยังไม่กล้าฝัน เพราะชีวิตที่เธอเผชิญทำให้คำว่า ‘อนาคต’ ดูเลือนรางจนยากจะจินตนาการ

“หนูไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไรได้ ถ้ามีโอกาสหนูอยากเรียนสูงที่สุดเท่าที่ทำได้”

แต่ถึงอย่างนั้น เธอยังคงมีความหวังเล็กๆ หลบซ่อนอยู่ในคำพูดของเธอ การเรียนอาจเป็นเพียงทางเดียวที่เธอมองเห็นว่า สามารถพาเธอออกจากวัฏจักรของความลำบาก และสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่า แม้วันนี้เธอจะยังไม่มีภาพชัดเจนว่าตัวเองจะเดินไปทางไหน แต่เธอก็รู้ว่าการศึกษาอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเปิดทางให้เธอเลือกเส้นทางชีวิตที่ภูมิใจ แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ

ความฝันที่ยังไม่ได้เลือก

กัส-พลอยไพรลิน เสถียรเพียร เด็กวัย 13 ปีที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเรียบง่าย เธอใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเด็กทั่วไป ไปโรงเรียน กลับมาเตะบอลกับเพื่อน ความสุขของเธออยู่ในสนามฟุตบอลเล็กๆ และลูกฟุตบอลที่กลายเป็นของรักที่เธอชอบที่สุด ไม่ใช่เพียงเพราะมันทำให้เธอเล่นสนุก แต่เพราะมันพาเธอออกจากความวุ่นวายของชีวิตจริงได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

ในมุมของพลอยไพรลิน ชีวิตไม่ได้มีคำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ ให้ได้สัมผัสตั้งแต่เกิด พ่อแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก ทำให้ต้องเติบโตมากับพ่อเพียงลำพัง แม้ในใจจะรู้สึกน้อยใจที่ครอบครัวไม่ได้เหมือนคนอื่น แต่เธอก็ยังภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี เพราะสำหรับเธอ พ่อคือโลกทั้งใบ

“หนูทำได้หมด เพราะหนูไม่เลือกงาน”

พลอยไพรลินไม่เคยเลือกฝันใหญ่โต แม้ตอนนี้เธอจะยังไม่แน่ใจว่า เส้นทางชีวิตข้างหน้าควรเป็นแบบไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เธอมุ่งมั่นคืออยากเรียนต่อจนถึงมหาวิทยาลัย เธอไม่ได้ฝันถึงอนาคตที่ไกลเกินเอื้อม แต่ตั้งใจเดินไปในทุกก้าวที่ชีวิตมอบโอกาสให้

ความฝันที่ไม่หยุดยั้ง

ใต้สะพานพุทธ ในยามเย็น เสียงขลุกขลักของแผงขายของผสมผสานกับเสียงหัวเราะของครอบครัวที่ช่วยกันทำมาหากิน โอปอ-ศุภกิจ สวัสดิ์นที เด็กชายวัย 13 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ในพื้นที่เล็กๆ ใต้สะพานแห่งนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงที่พักพิง แต่เป็นทั้งแหล่งรายได้และความหวัง เขาไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่หลังเลิกเรียนก็กลับมาใช้เวลาที่นี่

ศุภกิจมีความสุขกับ 2 สิ่งที่แตกต่างกันสุดขั้วคือ การร้องเพลงและการต่อยมวย เพลงทำให้เขาได้ปลดปล่อยความรู้สึก ส่วนมวยทำให้เขารู้จักความเข้มแข็ง เขาเคยฝันอยากเป็นนักมวยในอนาคต แต่ปัจจุบันความตั้งใจของเขาชัดเจนในคำพูดง่ายๆ เพียงแค่ว่า อยากเป็นคนดี มีงานทำ และช่วยเหลือครอบครัวได้ 

นอกจากนั้นเขายังรักการศึกษา เพราะมันทำให้เขาได้พบเพื่อนและเปิดโลกความรู้ เขาใฝ่ฝันอยากเรียนต่อในระดับสูง แต่ก็รู้ดีว่าความฝันนี้ต้องแลกมาด้วยความพยายามและโอกาสที่ยังต้องวิ่งตาม

ศุภกิจหวังว่า สักวันหนึ่งเขาจะหลุดพ้นจากชีวิตใต้สะพานแห่งนี้ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวเองและครอบครัว

ความฝันที่ยังรอการสานต่อ

ในย่านสะพานพุทธ ที่หลายคนมองข้ามไปแห่งนี้ ครูนาง-นริศราภรณ์ อสิพงษ์มา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) กำลังทำหน้าที่เป็น ‘ครูข้างถนน’ ผู้คอยดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคม ตั้งแต่เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้ง ไปจนถึงครอบครัวที่ไม่มีบ้านและต้องใช้ใต้สะพานเป็นที่พักอาศัย การทำงานของครูนางไม่ได้จำกัดแค่ในศูนย์เมอร์ซี่ แต่ยังขยายไปถึงการลงพื้นที่ดูแลเด็กและครอบครัวใต้สะพานแถวสะพานพุทธ ซึ่งเธอเริ่มต้นทำงานในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2542 

ครูนางไม่ได้สอนเพียงความรู้ในห้องเรียน แต่สอน ‘ทักษะชีวิต’ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเอาตัวรอด เช่น วิธีหลีกเลี่ยงการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนไม่หวังดี และการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้เด็กๆ ที่มักถูกสังคมมองข้าม

เมื่อพูดถึงเด็กกลุ่มเปราะบางที่ครูนางดูแล เธอเล่าถึงชีวิตของพวกเขาว่า เด็กบางคนต้องใช้ผ้าเก่าๆ ปูเป็นที่นอน มีสะพานเป็นหลังคา ครอบครัวของพวกเขาต้องดิ้นรนทุกวันเพื่อแค่ให้มีข้าวกินไปวันๆ เด็กกลุ่มนี้มีความฝันเหมือนเด็กทั่วไป บางคนอยากมีบ้าน บางคนอยากได้โทรศัพท์เพื่อใช้เรียน และบางคนอยากเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ความเป็นจริงที่พวกเขาเผชิญอยู่ทำให้ฝันเหล่านั้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องต่อรอง

“เด็กหลายคนอยากมีชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป อยากไปโรงเรียน อยากมีบ้าน เราเองก็อยากเห็นพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ครูนางกล่าว

ครูนางเล่าต่อถึงเด็กบางคนที่เธอดูแลจนเติบโตขึ้น หลายคนสามารถหางานทำ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง บางคนมีครอบครัวเป็นของตัวเองและยุติการเร่ร่อน ซึ่งเธอภูมิใจที่เห็นพวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่การที่เขาสามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้ มันถือเป็นความสำเร็จของคนที่เป็นครู 

แม้บทบาทของครูนางอาจดูเหมือนเล็กน้อยในมุมมองของสังคม แต่สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง เธอคือความหวัง คือคนที่ทำให้พวกเขามองเห็นว่า อนาคตอาจไม่มืดมนเหมือนที่พวกเขาเคยเจอ

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะฝัน

เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดมาโดยอยากเป็น ‘เด็กชายขอบ’ แต่พวกเขาคือผลผลิตจากระบบที่ทอดทิ้ง หลายคนเกิดมาในครอบครัวที่เปราะบาง ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา และความมั่นคงในชีวิต เด็กเหล่านี้ไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาในชีวิตแบบนี้ แต่พวกเขากลับต้องใช้ชีวิตในแบบที่สังคมบังคับให้พวกเขารับมือ

เราอาจไม่สามารถให้บ้านหรือชีวิตใหม่กับพวกเขาได้ในทันที แต่เราให้โอกาสได้ เราสามารถสร้างระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมเด็กทุกคน เราสามารถสนับสนุนให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่ต้องต่อรองกับชะตากรรม

ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ หวังว่าสังคมจะหยุดมองเด็กกลุ่มเปราะบางเป็นเพียง ‘ปัญหา’ แต่ให้มองพวกเขาเป็น ‘อนาคต’ ที่เราต้องช่วยกันปลูกฝัง เพราะพวกเขาไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าการมีชีวิตที่ดีขึ้น

Tags: , , , , , , ,