“ยังมีหมู่บ้านที่เข้าถึงไม่ได้ พวกหมู่บ้านที่อยู่ลึกๆ ในป่าของอำเภอแม่ฟ้าหลวงใกล้เขตดอยตุง เพราะมีดินสไลด์ปิดทับถนนชาวบ้านออกมาข้างนอกไม่ได้ เราไม่มีเฮลิคอปเตอร์ก็เข้าพื้นที่ไม่ได้ เลยอาศัยนัดชาวบ้านออกมาตามจุดแจกของ ซึ่งก็ค่อนข้างไกล” สุวรรณี พรสกุลไพศาล ประธานวิสาหกิจในตำบลแม่ฟ้าหลวง อธิบายถึงสถานการณ์บนพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย 

สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองที่อยู่ระหว่างเก็บกวาดและทำความสะอาดดินโคลน หลังแม่น้ำกกลดระดับต่ำกว่าตลิ่งแล้ว

แต่สถานการณ์บนดอยเป็นอีกเรื่อง นับตั้งแต่เกิดเหตุอุทกภัย พื้นที่บนดอยสูง พื้นที่เขาลาดชัน เต็มไปด้วยปัญหาดินถล่ม บางส่วนทับถนนซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรเพียงไม่กี่เส้นทางของชาวบ้าน

เมื่อถนนถูกปิดลง คนบนดอยจึงเหมือนถูกปิดตาย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันตามปกติได้ หลายหมู่บ้านเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำดื่ม ในขณะที่ไฟฟ้าและน้ำประปาถูกตัด ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายลงไปอีก 

The Momentum ชวนฟังเสียงของคนเชียงรายบนที่สูง ในวันที่สถานการณ์พื้นราบกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อกระจายการรับรู้ว่า พวกเขาต้องการสิ่งใดในยามนี้ 

อาหารหมด ไร้น้ำ-ไฟฟ้า 

“หากจะซื้อกับข้าว เราต้องเดินทางกว่า 30 กิโลเมตรผ่านตำบลห้วยไคร้ของแม่สาย ดอยตุงและดอยช้างมูบไป แต่ตอนนี้เราไปได้เฉพาะในหมู่บ้าน เพราะเส้นทางจากหมู่บ้านเราไปคือโดนปิดหมดจากดินสไลด์”

วิภาพร วิเศษงามจรูญ ชาวบ้านจะลอ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านบนดอยสูง ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายไป 74 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง บอกเล่าถึงสถานการณ์ภายในหมู่บ้าน หลังฝนตกหนักและเกิดดินถล่มปิดเส้นทางไปยังหมู่บ้านผาฮี้ อำเภอแม่สาย และเส้นทางไปดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง หมู่บ้านจะลอจึงตกอยู่ในสถานการณ์ถูกปิดตายและ ‘ตัดขาดจากโลกภายนอก’

“ตอนนี้อยู่กันตามมีตามเกิด ถ้าคนแก่มีโรคประจำตัวแล้วหมอนัด เขาก็ต้องเดินเท้าข้ามดินสไลด์ไป แล้วก็จ้างรถจากข้างล่างมารับ ตรงที่ดินถล่มนั่นเลย แต่ช่วงก่อนหน้านี้คือเราออกหมู่บ้านไม่ได้เลย ดีที่ชาวบ้านช่วยกันเคลียร์ดิน ทำกันเองแบบนั้นทุกวันตั้งแต่เกิดพายุเข้า แต่พอเคลียร์เสร็จแล้วฝนมาอีก ดินสไลด์ปิดเหมือนเดิม”

วิภาพรระบุว่า ถนนที่ทับถมด้วยหินและดินโคลน ได้แรงชาวบ้านช่วยขจัดคนละไม้คนละมือ แต่ด้วยกำลังคนที่มีกับเครื่องมือขนาดเล็กที่ติดอยู่ตามแต่ละบ้าน ไม่เพียงพอสำหรับยกหินก้อนใหญ่ หรือชะล้างโคลนหนาเพื่อเปิดเส้นทางสัญจรได้ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งอาจมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเปิดเส้นทางยังไม่เข้ามาในพื้นที่ เธอชี้แจงว่า ติดต่อไปหลายหน่วยงานแล้ว ทั้งเพจกันจอมพลัง ช่วยสู้, บุ๋ม ปนัดดา และหน่วยงานจังหวัดเชียงราย

“เราติดต่อไปหลายหน่วยงานแล้ว ที่ติดต่อไปก็ยังไม่ได้รับคำตอบ อย่างที่โทรไปในส่วนของจังหวัดเชียงรายก็โทรไปแล้ว แต่เขาบอกว่า พื้นที่ที่เราอยู่ตรงนี้มันอยู่นอกเขตดูแลของเขา ขอให้เราโทรไปแจ้งที่เขตตัวเองก่อน เราก็เลยโทรไปที่เขตแม่สาย แต่ก็ติดต่อไม่ได้

“เราไม่รู้ว่า ระบบการจัดการของเขาเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าต้องติดต่อไปทางไหน เพราะเรามีแต่เบอร์ที่โทรไปยังจังหวัดเชียงราย ไม่แน่ใจว่าทำไมเขาถึงไม่ประสานการติดต่อให้เลย ทำไมต้องให้ชาวบ้านติดต่อเอง” วิภาพรเสริมว่า เธอเข้าใจว่า อาจเป็นเพราะหน่วยงานรัฐกำลังช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เมืองก่อน แต่บนดอยก็ไม่สามารถหากินตามป่าเองได้ในขณะนี้ เพราะหากฝนตกอีกครั้งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มซ้ำตลอดเวลา 

“ตอนนี้มีอะไรก็ประทังชีวิตไปก่อน คนที่มีลูกน้อยก็ค่อนข้างลำบากหน่อย เพราะว่าแพมเพิร์สเริ่มจะหมด นมผงก็เริ่มจะไม่มีกันแล้ว

“อย่างพี่มีลูกน้อยกำลังจะ 1 ขวบ พอไฟฟ้าไม่มี บรรยากาศมืดๆ เด็กมันก็อยู่กันยาก สิ่งสำคัญคือ น่าจะมีเทียนหรือไฟฉายเอาไว้ส่องดูแลเด็ก หรือนมผงกับแพมเพิร์ส เราไม่ได้ขออะไรเยอะเลย แต่ส่วนใหญ่เขาจะให้เป็นข้าวสาร-อาหารแห้งก่อน เพราะบางครอบครัวเขาก็ไม่ได้ตุนอาหารไว้ ข้าวสารก็ไม่มี เริ่มไปขอหยิบยืมจากข้างบ้าน หรือว่าชาวบ้านที่มีเยอะหน่วยก็ตักแบ่งกัน”

สิ่งที่วิภาพรและชาวบ้านจะลอต้องการในฐานะผู้ประสบภัยคือ ขอให้หน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชนนำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ชาวบ้านมีอยู่ มาขจัดดินโคลนและสิ่งปฏิกูลที่ขวางถนนจากเหตุดินถล่ม เพื่อเปิดเส้นทางสัญจรตามปกติ ชาวบ้านจึงจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ 

อย่างไรก็ตาม เธอรู้สึกน้อยใจที่ในยามภัยพิบัติ คนบนที่สูงกลับถูกหลงลืมและได้รับความช่วยเหลือทีหลังเสมอ 

“คิดในใจว่า หรือเพราะอยู่บนดอย เพราะเป็นคนดอยหรือเปล่าเขาเลยไม่ช่วย แต่ก็พยายามเข้าใจว่า ในเมืองก็น้ำท่วม เขาอาจจะเดือดร้อนกว่า แต่ก็อยากให้เขาเห็นใจคนดอย เราไม่สามารถไปหาอาหารเองได้ในตอนนี้ หากไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเคลียร์ทางก็ควรจะมีกับข้าวหรือข้าวสารมาช่วยหมู่บ้านเราหน่อย ถ้าชาวบ้านไม่ดิ้นรนก็คือเหมือนไม่มีใครมองเห็นเลย”

ระบบการเตือนภัยที่ยังไม่เข้าถึงคนบนที่สูง

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีใครอยากจะออกจากเคหสถาน จากบ้านเรือนของตัวเอง บางทีก็เอานั่นหน่อย เอานี่หน่อย น่าจะเอาอยู่ อาจจะท่วมถึงฟุตบาทถึงหน้าแข้ง”

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกกับนักข่าวที่สอบถามถึงระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าแก่ประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติว่า ระบบการเตือนภัยและอุปกรณ์การตรวจวัดข้อมูลเช่นเครื่องวัดระดับน้ำ มีครบทุกอย่าง

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ระบุว่า ส่วนของระบบเตือนภัยล่วงหน้าของประเทศเรียกว่า ‘Earny Warning’ ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรร่วมกับห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังเตือนภัยน้ำหลากและดินถล่ม สำนักงานทรัพยากรน้ำภาคที่ 1-11 

ขณะที่สถานีเตือนภัยล่วงหน้ามีอยู่ใน 63 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,159 สถานี ครอบคลุม 5,954 หมู่บ้านจากทั้งหมด 75,142 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.92 เท่านั้น และไม่พบสถานีเตือนภัยล่วงหน้าในจังหวัดนครปฐม ชัยนาท นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด พิจิตร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สิงห์บุรี อำนาจเจริญ และอ่างทอง

แม้ว่าเชียงรายจะไม่ใช่จังหวัดที่ไร้สถานีเตือนภัยล่วงหน้า แต่เมื่อสอบถามกับวิภาพรถึงการแจ้งเตือนภัยในหมู่บ้านจะลอ กลับพบว่า ชาวบ้านต้องอาศัยข้อมูลพยากรณ์อากาศจากโทรทัศน์และเฝ้าดูการแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย 

“ไม่มีการแจ้งเตือนภัยหรือบอกให้เราตุนอาหารไว้เลย ขนาดที่รู้ๆ กันว่า พายุจะเข้า ก็มีแต่ชาวบ้านติดตามกันเอง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้

“พอไม่มีการแจ้งเตือน ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ตุนอาหารเอาไว้”

เช่นเดียวกันกับ มนัส พรถาวรทรัพย์ ชาวบ้านผาฮี้ อำเภอแม่สาย ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่สายไป 24 กิโลเมตร ผู้ประสบภัยพิบัติที่ระบุว่า ตนก็ไม่ได้รับการเตือนภัยเช่นเดียวกัน 

“ผมไม่รับรู้เรื่องการเตือนภัยพิบัติจากที่ไหนก็ตาม ไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ติดตามข่าวที่เขาโพสต์กันตามโซเชียลฯ ทั่วไป รู้ว่าพายุยางิจะเข้า ทำให้ฝนตกสัก 5-6 วันติดต่อกัน”

คนบนที่สูงยังคงช่วยเหลือตนเอง

“ผมและชาวบ้านติดอยู่ที่นี่ 1 สัปดาห์แล้ว เลยขอความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อนๆ เพราะพวกผมเป็นประชาชนธรรมดา ผมเลยขอเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชน เพราะบ้านเราเจอกับภัยพิบัติอยู่ ถ้ามีเพื่อนหรือใครอยากช่วยเรา ก็ขอให้ช่วยเหลือหน่อย วันนี้ผมดีใจมากๆ เพราะว่ามีหลายๆ คนเอาข้าวกับสิ่งของขึ้นมาให้” 

เมื่อไม่สามารถเดินทางจากหมู่บ้านบนภูเขาสูงเข้าสู่เขตเมือง ชาวบ้านบนที่สูงจึงตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก ไปหากินตามป่าเขาในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติซ้ำ อย่างไรก็ตามสำหรับมนัสที่ใช้โซเชียลฯ และมีแบตเตอรีเพียงพอให้ใช้งานในยามที่ไฟฟ้าดับ ก็ยังติดต่อขอความช่วยเหลือจากประชาชนด้านนอกได้

“สำหรับหน่วยงานรัฐ ในเชียงรายอาจเพราะผู้ประสบภัยมีมากเกินไป เลยกระจายความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง อีกอย่างคืออยู่บนดอย การสื่อสารก็ลำบาก ไฟฟ้าก็ดับ การเข้าถึงมันเลยช้า ผมเลยขอเป็นเสียงส่วนหนึ่งแทนชาวบ้าน เพื่อโพสต์ขอความช่วยเหลือออกไป”

หลังพายุผ่านพ้นไป ทิ้งเศษหิน ดินโคลน และต้นไม้เอาไว้บนผิวถนนทางเข้า-ออกหมู่บ้าน มนัสติดอยู่ภายในพร้อมกับชาวบ้านผาฮี้กว่าร้อยหลังคาเรือนนานนับสัปดาห์ เมื่อไม่มีวี่แววว่าเส้นทางจะเปิดใช้งานได้เมื่อไร ประกอบกับสถานการณ์ภายในหมู่บ้านที่ผู้คนเริ่มขาดแคลน เขาจึงโพสต์ข้อความ พร้อมภาพชาวบ้านที่กำลังช่วยกันทั้งขุดตักดินที่ถล่มขวางถนน เป็นสื่อขอความช่วยเหลือ 

อย่างไรก็ตามเขาไม่คาดหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากมองว่า ที่ที่ตนอาศัยอยู่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ 

“ผมไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น เพราะว่าหมู่บ้านของพวกผมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อะไรที่เราพอช่วยเหลือตัวเองได้ก็จะทำเต็มที่ อย่างเปิดถนน แรงงานหลักๆ คือชาวบ้าน มีจอบก็เอาจอบ เอามีดมาช่วยกัน เราพยายามจะช่วยเหลือตัวเองกันก่อน สถานการณ์เราเลยดีขึ้น”

ไม่แตกต่างจากสุวรรณีที่อธิบายถึงสถานการณ์บนพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย โดยใช้เพจสำหรับเผยแพร่งานฝีมือหัตถกรรมชนเผ่า ขอรับความช่วยเหลือส่งถึงคนบนภูเขาที่ประสบภัยรุนแรงไม่แพ้กับคนในเมือง

“เราเห็นในเฟซบุ๊กของเพื่อนที่เราเคยทำงานด้วยกันบอกว่า มีดินสไลด์ปิดทางเข้า-ออก เขาไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ เราเห็นความลำบากของเขา อยากให้มีหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ เพราะเห็นเขาไปในเมืองกันเยอะ แต่ว่าบนดอยก็มีคนเดือดร้อนอยู่ เราก็เลยโพสต์ขอความช่วยเหลือไป”

ของบริจาคที่ได้รับมีตั้งแต่อาหารพร้อมรับประทาน น้ำดื่ม ถุงยังชีพ ไปจนถึงอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาถูพื้นและน้ำยาล้างจาน เหล่านี้ล้วนได้รับมาจากประชาชนทั่วสารทิศทั้งใน-นอกจังหวัดเชียงราย และจะแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ 13 หมู่บ้านบนดอย 

“เราส่งคำขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เขาเคยทำงานกับเรา รวมถึงกู้ภัยจากจังหวัดหรืออำเภออื่นๆ ก็มีติดต่อขอให้ความช่วยเหลือเยอะมาก แต่พวกเรายังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก”

มนัสและสุวรรณีต่างพยายามช่วยเหลือจากทรัพยากรที่มีจนสุดความสามารถ เพราะเข้าใจและมองเห็นความลำบากของคนบนที่สูงว่า ไม่ได้น้อยไปกว่าคนในพื้นที่อื่น ยามประสบกับภัยพิบัติ 

ฤดูน้ำหลากภาคเหนือของไทยยังคงดำเนินต่อไปอีก 1-2 เดือน หากว่าระบบเตือนภัยพิบัติใช้งานได้และประกาศเตือนภัยอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยให้คนบนที่สูงเตรียมพร้อมรับมือกับฝนที่อาจถล่มหนัก หรือน้ำป่าที่มีโอกาสไหลหลากได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญคือ พวกเขาจะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการพึ่งพาและช่วยเหลือตนเองได้ในยามวิกฤตได้ดีกว่าเดิม

Fact Box

ช่องทางการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยบนภูเขา จังหวัดเชียงราย เพจเฟซบุ๊ก I am Lahu งานฝีมือหัตถกรรมชนเผ่า งานปักมือ งานจิกมือ  ผู้ใช้งานเฟสบุ๊ก มนัส พรถาวรทรัพย์ 

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,