เป็นที่รู้กันดีว่าในช่วงปลายปี ประเทศไทยตั้งแต่ตอนกลางถึงบนจะเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวเต็มตัว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนเมืองหลวงและภาคกลางตอนล่างได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านเข้ามา ทำให้ได้รับมวลอากาศเย็นเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสภาพอากาศล้วนเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ ‘โลกเดือด’ ที่อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกสูงเกินจนเข้าสู่จุดวิกฤต ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราที่ต้องเผชิญปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ หรือการที่กระแสน้ำทะเลในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาพอากาศ และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจนำมาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังกับการรับมือภัยพิบัติดังกล่าว และจะดีกว่าไหมหากประเทศไทยมีระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชน (Emergency Alert) ในการเตือนประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือภัยพิบัติที่อาจเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และในขณะนี้ ประเทศไทยเดินหน้าไปขนาดไหนในเรื่องดังกล่าว

จากหน้าหนาวที่หายไปสู่หน้าแล้งในปีหน้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากคนไทยจะรู้ข่าวร้ายจากกรมอุตุนิยมว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวช้า มิหนำซ้ำยังต้องรับมือกับสถานการณ์น้ำรอระบายจากฝนถล่มกรุงฯ ติดต่อกัน  สำหรับชาวกรุงฯ ย่อมรู้กันดีว่า หากฝนถล่มติดต่อกันสัก 2 วัน ความโรแมนติไซส์ (Romanticize) สายฝนก็จะหายไปทันที  แทนที่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองที่สะท้อนออกมาพร้อมกับสายฝน ทั้งน้ำท่วมจุดต่างๆ ขยะอุดตัน ฯลฯ 

โดยเฉพาะในปลายปีนี้ ที่มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม ปะทะกับลมตะวันออกที่พัดเอาความชื้นจากอ่าวไทยและจากทะเลจีนใต้จนส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำเอาหลายคนโอดครวญว่า ปีนี้ได้รับลมฝนสลับน้ำรอการระบายแทนลมหนาว

ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงฤดูร้อนปี 2567 ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นกว่าปกติถึง 1.5 องศาเซลเซียส สาเหตุมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนักในหลายพื้นที่

การคาดการณ์ดังกล่าวตรงกับงานวิจัยในวารสาร Science ที่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังทำให้น้ำในซีกโลกใต้แห้งเหือดอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วิกฤตนี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลก ซ้ำร้ายยังส่งผลโดยตรงถึงปริมาณน้ำที่สำหรับใช้อุปโภคและบริโภคในซีกโลกเหนือเช่นกัน ครั้นปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง อาจส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรรวมถึงราคาและความต้องการน้ำสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

หนาวทีไรทำไมหมอกควันถล่มกรุงฯ

ช่วงปลายปีประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องฝุ่นควัน จากรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2565 ของ IQAir ระบุว่า คุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่า คนไทยไม่น้อยกว่า 90% กำลังสูดหายใจเอาอากาศที่มีค่าสะอาดต่ำเกินกว่ามาตรฐานสากลเข้าไปในร่างกาย ยิ่งในช่วงปลายปีค่า PM 2.5 ในเมืองกรุงฯ พุ่งสูงอย่างมีนัยสำคัญ 

ปัญหาข้างต้นเกิดจากในช่วงหน้าหนาว ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือของทวีปเคลื่อนตัวลงมาปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ต่ำลง และส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นอากาศโดยเคลื่อนตัวจากจุดที่มีอุณหภูมิสูงไปสู่เย็น ขณะเดียวกัน บริเวณเมืองกรุงฯ ล้วนเต็มไปด้วยป่าคอนกรีตไม่ต่างจากจุดกักเก็บความร้อน อากาศในเมืองจึงเคลื่อนที่จากจากผิวดินเคลื่อนสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมพัดพาฝุ่นละออง หมอกควัน สารแขวนลอยภายในอากาศขึ้นไปด้วย และเมื่อตกกลางคืนพื้นดินที่สภาพอากาศที่เย็นลง ฝุ่นควันดังกล่าวก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่านอากาศย้อนกลับลงสู่ป่าคอนกรีตดังเดิม ที่สำคัญป่าคอนกรีตขนาดยักษ์ยังเป็นตัวกั้นทิศทางลมไม่ให้ระบายฝุ่นควันออกไปอีกด้วย

ดังนั้น ป่าคอนกรีตในเมืองกรุงฯ จึงไม่ต่างจากโดมขนาดยักษ์ที่กักเก็บฝุ่นพิษไม่ให้ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งผลให้คนในบริเวณดังกล่าวต้องหายใจเอาฝุ่นดังกล่าวเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจตามมา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และอาจส่งผลให้เกิดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับ ‘ระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชน’

ระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชน คนไทยต้องรออีกนานแค่ไหน

ที่ผ่านมาระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชน (Emergency Alert) ได้รับการกล่าวถึงจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจรัฐ ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนและกลายเป็นข่าวระดับประเทศ

แต่สำหรับหลายประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีระบบเตือนภัยฉุกเฉินจากภาครัฐสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

   ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติใหญ่หรือเล็ก ตั้งแต่พายุเฮอริเคน ทอร์นาโด ไปจนถึงสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น รถไฟตกราง น้ำท่วมขังทำการจราจรคับคั่ง ประชาชนภายในรัฐต่างๆ จะได้รับการแจ้งเตือนไปที่การเตือนภัยพิบัติผ่านโทรศัพท์มือถือหรือที่เรียกว่า ‘โครงการทำเทคโนโลยีแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน’ (Wireless Emergency Alerts: WEA) เพื่อทำการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ หรือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ดังกล่าว โดยโครงการดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2551 และพัฒนาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับมามองในทวีปเอเชีย ในปี 2550 ประเทศญี่ปุ่นได้ออกแบบระบบสำหรับเตือนภัยจากรัฐบาลสู่ประชาชนในชื่อว่า J-Alert ที่ใช้การกระจายข้อมูลผ่านดาวเทียมไปยังอุปกรณ์ที่ส่งเสียงเตือนพร้อมติดตั้งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ล้วนมีระบบเตือนภัยประเภทที่ว่าทั้งสิ้น แล้วคำถามคือระบบเตือนภัยของไทยอยู่ตรงไหน?

แม้ประเทศไทยจะมีการทำโครงการนำร่องเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในเมืองใหญ่ แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่เคยนำเสนอออกมาถึงมือประชาชนเลยสักครั้ง

ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่เขย่าขวัญคนไทยทั่วประเทศ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจัดทำระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินผ่านข้อความโดยสรุปได้ว่า 

“ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการทำ Emergency Mobile Alert ซึ่งทดลองใช้ในบริเวณทำเนียบรัฐบาลก่อน หากประสบความสำเร็จจะพัฒนาให้ระบบดียิ่งขึ้น และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ประชาชนจะได้รับข้ออพยพในทันที อย่างไรก็ตามการจะทำได้นั่นต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อขออนุมัติโครงการ และใช้เวลาพัฒนาไม่เกินหนึ่งปี”

ต่อมาในเวลาไล่เรี่ยกัน พ่อเมือง กทม.แจงสื่อว่า มีการหารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction: UNDRR) และผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNDRR Regional Office for Asia and the Pacific) ถึงระบบเตือนภัยที่ประเทศไทยขาดหาย 

โดยคาดว่า กทม.จะมีระบบเตือนภัยเป็นของตัวเองภายในปีงบประมาณนี้ โดยจะสามารถแจ้งเตือนผ่าน Line Alert และ Line OA รวมถึงกำลังพัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy Fondue Plus ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรับข้อมูลเรื่องภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่พักอาศัยได้โดยตรง ซึ่งเป็นการต่อยอดแผนแม่บท (Road Map) การบริหารจัดการเมืองในสถานการณ์วิกฤต ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องน้ำท่วมและฝุ่นควัน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการประเมินข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ แต่ยังลงมือทดลองใช้เฉพาะในหน่วยงานภายใต้สังกัดใดสังกัดหนึ่งเท่านั้น และยังคงมีการพัฒนาแบบแยกส่วน จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นข้อจำกัดที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของหน่วยงานรัฐในประเทศไทยก็เป็นได้

สุดท้ายประเทศไทยต้องเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอีกสักกี่ครั้ง ถึงจะทำระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ประชาชนไม่ต้องตามข่าวจากโซเซียลฯ หรือรู้จากคนรอบข้าง และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ยังคงหวังว่าระบบเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชนจะไม่หายไปดังน้ำรอระบาย ที่ไหลลงท่อโดยไร้ความสนใจ และที่สำคัญในอีกหลายปีข้างหน้า โลกของเรายังคงอยู่ในสภาวะโลกเดือด ดังนั้น การหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าเรื่องไหนๆ ในสังคม

อ้างอิง

https://www.science.org/doi/10.1126/science.adh0716

https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2020/01/e-Book_Stay-Safe-in-the-PM2.5-EN.pdf

https://www.greenpeace.org/thailand/press/26754/climate-airpollution-pr-iqair-2022/

https://www.infoquest.co.th/2023/341961

https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2730754

การออกแบบเมืองเพื่อรับมือภัยพิบัติในเขตกรุงเทพมหานคร, กลุ่มงานวิจัยผังเมือง 2 กองนโยบายและแผนงาน สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง พ.ศ. 2565

Tags: , , , ,