ถนนหลายสายในเมืองเชียงใหม่ว่างโล่ง แต่การจราจรทางอารมณ์ของผู้คนกลับติดขัด พวกเราไม่สามารถสัญจรได้โดยสะดวก ติดชะงักอยู่ในห้วงของการระบาดอันยาวนานไม่รู้สิ้น เสียงแตรรถกลางเดือนกรกฎาคมดังระงมไปทั้งนครพิงค์ ชาวเวียงขับรถออกมาฮอมกันบนถนนรอบคูเมือง ก่อนจะเคลื่อนคาราวานไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เสียงแตรบนถนนเป็นรูปธรรมความรู้สึกของผู้คนในห้วงแห่งการระบาด

อาคารพาณิชย์หลายคูหาบนถนนนิมมานเหมินท์ต่างบอกกล่าวร้องทุกข์แทนผู้คนผ่านคำประกาศ ‘ให้เช่า’ บาร์เบอร์ช็อปบางแห่งลดค่าบริการลงมามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โรงแรมหลายแห่งเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวที่ไม่มีอยู่จริงด้วยราคาหลักร้อย

เวทีแสดงดนตรีในศูนย์การค้าย่านตลาดรวมโชคคลุมด้วยพลาสติกกันฝุ่น เช่นเดียวกับเวทีแสดงดนตรีในผับ บาร์ ลานเบียร์สด ห้องอาหาร เวทีคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี คล้ายกับว่าไม่มีเสียงเพลงบรรเลงในเมืองเชียงใหม่ เงียบไปหมดทั่วทั้งนครแห่งเสียงดนตรี และบางทีอาจรวมถึงในห้องน้ำของนักดนตรีบางคน

ดนตรีในกระบอกเสียง กระบอกเสียงในดนตรี

ต้นเดือนกรกฎาคม ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ดีเจ และบาร์เทนเดอร์ รวมตัวกันในนาม ‘สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย’ ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยแนบ 8 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนและเยียวยาให้กับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจบันเทิงและธุรกิจกลางคืน เพราะเกือบ 2 ปีของการระบาด ตัวตนของพวกเขาเป็นเหมือนเสียงเพลงลอยเคว้งในอากาศของศูนย์การค้า ฟรี และไม่มีใครมองเห็นต้นทุนที่มีรายจ่าย

“ธุรกิจบันเทิงเป็นฟันเฟืองหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ หลายคนอาจจะลืมไปว่ามันมีการจ้างงานตามมา ธุรกิจดนตรีไม่ได้มีแค่นักดนตรี แต่ยังมีซาวด์เอนจิเนียร์ คนให้เช่าแสงสีเสียง รวมไปถึงน้องๆ ที่ใช้สันมือสับนวดต้นคอให้ท่านตอนเข้าห้องน้ำ เขาเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบ และเข้าไม่ถึงการได้รับการเยียวยา บางคนเข้าไม่ถึง soft loan บางคนต้องหาเงินกู้นอกระบบ ผมอยากขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าไปร่วมผลักดันเศรษฐกิจ เพราะพวกเราคือฟันเฟืองหนึ่งของเศรษฐกิจไทย”

ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องและนักเขียนเพลงแห่งคณะอพาร์ตเมนต์คุณป้า เป็นผู้กล่าวประโยคชวนจับใจนี้ เขาฉายภาพให้เห็นผลกระทบที่วิชาชีพดนตรีได้รับอย่างถ้วนทั่ว ตั้งแต่นักดนตรีบนเวทีไปจนถึงพนักงานนวดต้นคอนักท่องเที่ยวหน้าโถปัสสาวะ

กลางเดือนกรกฎาคม คณะผู้บริหารหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ ออกแถลงการณ์ถึงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ล้มเหลวของรัฐบาล พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาและลาออก

“ทางเราละอายใจและเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ละเลยการเป็นกระบอกเสียง จนเกิดความสูญเสียทั้งแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของคณะหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ ทำให้เราได้ยินเสียงขอโทษของศิลปินและศักยภาพของเสียงดนตรี

ในห้วงเวลาที่พวกเขาไม่สามารถตระเวนไปเปิดการแสดง คณะหมอลำระเบียบวาทะศิลป์มองว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นประหนึ่งกระบอกเสียงในการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน mRNA มาฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเยียวยาทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการของรัฐบาล เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ

ปลายเดือนกรกฎาคม ป้ายผ้าระบุข้อความ ‘พักก่อนประยุทธ์’ ถูกขึงตึงบริเวณสถานีตำรวจนางเลิ้ง ‘พักก่อน’ เป็นชื่อเพลงยอดนิยมของ MILLI ศิลปินวัย 19 ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา จากการที่เธอวิจารณ์การบริหารจัดการของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 หลังจากเสียค่าปรับเป็นจำนวน 2,000 บาท ‘มิลลิ’ – ดนุภา ธนาธีรกุล ยืนยันที่จะ “ทำต่อไปในสิ่งที่หนูได้ทำมาตลอด ขอให้พวกเราสู้ไปโต้ยกันนะคะ เราจะไม่ยอมแพ้ เย้! เบิ้บบู”

กรกฏาคมเป็นประหนึ่งเดือนที่ดนตรีถูกกระทบจนก่อให้เกิดสรรพสำเนียง แม้นักดนตรีจะไม่ได้แสดงดนตรี แต่ ‘เสียง’ ก็ไม่ได้หมายถึง Sound เพียงอย่างเดียว ‘เสียง’ ยังมีความหมายอื่น บางเสียงดื้อดึงพยายามจะเป็นอิสระต่อเมโลดี้ ที่โดยธรรมชาติมักบีบบังคับให้ถ้อยคำต้องคล้อยตาม

เฟนเดอร์’ – ธนพล จูมคำมูล นักร้องนำแห่งวง Solitude Is Bliss

ขอเสียงหน่อย เมื่อคนข้างล่างขอเสียงศิลปินบนเวที

“เมื่อศิลปินสามารถสร้างตัวได้จากมหาชน ฉะนั้นในเวลาที่สมควร มหาชนก็สามารถที่จะขอเสียงหรือขอความสามารถของศิลปินมาใช้ประโยชน์กับสังคมได้”‘

เฟนเดอร์’ – ธนพล จูมคำมูล นักร้องนำแห่งวง Solitude Is Bliss มองปรากฏการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาด้วยมุมมองของกฎแห่งการแลกเปลี่ยน

ปรากฏการณ์ (คาดหวังให้ศิลปิน) Call out ย่อมเป็นเรื่องสมเหตุผล หากมองจากมุมของศิลปินผู้ที่แสดงออกทางการเมือง ในฐานะนักเขียนเพลง เพลง Call Out จึงอาจเป็นเสียงอ้อนวอนของเขาที่มีต่อวิชาชีพนักดนตรี

แต่การไปยืนเฉยๆ ที่สี่แยกรินคำหรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ย่อมเป็นเสียงวิงวอนที่มีต่อตนเองในฐานะพลเมือง

“แต่ผมกังวลว่ามันจะเป็นแค่เรื่องโควิด จนสังคมละเลยที่จะพูดถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง”

เฟนเดอร์เอ่ยถึงกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในห้วงแห่งความล้มเหลวของการบริหารจัดการสถานการณ์ระบาด แต่ศักยภาพของยุคสมัยในการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นเหมือนยาต้านโรคอัลไซเมอร์ของสังคม

หากเป็นโลกก่อนยุคโซเชียลมีเดีย กระแสสังคมจะหายไปพร้อมกับพื้นที่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ “ตอนนี้ถ้ามันมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นมา ข้อมูลที่กองรวมกันอยู่ก็พร้อมจะถูกยกกลับมา ผมหวังว่าการขุดความทรงจำมาย้ำเตือนจะทำให้คนไทยไม่ลืมง่ายเหมือนเมื่อก่อน กัดไม่ปล่อยมากขึ้น”

ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ ประโยคนี้เคยจริงมาก่อน ก่อนจะถูกศักยภาพของการเข้าถึงข้อมูลขโมยข้อเท็จจริงไป เพราะทุกครั้งที่คุณคลิกหรือแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ คุณได้ทิ้งร่องรอยที่จะไปดักรออยู่ในวันพรุ่งนี้ digital footprint จะหวนกลับมาแสดงข้อเท็จจริงของเมื่อวาน

‘คลี’ – ณัฐวุฒิ ธุระวร จาก  Thepoe – เด๊อะโพ

ในฐานะโปรดิวเซอร์และเจ้าของค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อ Thepoe – เด๊อะโพ ‘ คลี’ – ณัฐวุฒิ ธุระวร ศิลปินชาวปกาเกอะญอแห่งวงคลีโพ (Klee Bho) ไม่ได้ผลิตงานเพลงให้ศิลปินแนวอินดี้โฟล์กในเมืองเชียงใหม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะศิลปินที่เคยส่งงานเพลงให้เขาโปรดิวซ์ต่างก็ไม่มีงานแสดงดนตรี เมื่อไม่มีงานแสดงดนตรี พวกเขาก็ชะลอการผลิตเพลงใหม่

ก่อนการระบาดของโควิด-19 คลีและเพื่อนศิลปินเพลงแนวโฟล์กในเมืองบนภูเขา กำลังจะยกภูเขาไปกรุงเทพมหานคร เมื่อกระแสเพลงโฟล์กได้รับความนิยมในคนฟังกลุ่มเล็กๆ ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวธรรมชาติ เทรนด์การแคมป์ปิ้ง การทำ VLOG แนวเดินทางท่องเที่ยว ได้ผสมกลมกลืนไปกับเพลงโฟล์ก

“ภูมิศาสตร์ที่เราอยู่คือภูเขาและยอดดอย ซึ่งเพลงโฟล์กมันทำงานกับภูมิศาสตร์แบบนี้”

คลีบอกอย่างเสียไม่ได้ เพราะในช่วงก่อนการระบาด เขาเริ่มทัวร์ไปได้ 4 จังหวัด ก่อนที่ทุกอย่างจะหยุดลงหลังการระบาดในเดือนเมษายน

ในห้องบันทึกเสียงขนาดเล็กที่เพิ่งติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นใหม่ ยังไม่ได้ถูกใช้งานเต็มศักยภาพ เห็นได้ชัดว่าเขาประเมินสถานการณ์คลาดเคลื่อน เมื่อตัดสินใจลงทุนซื้ออุปกรณ์การบันทึกเสียง ก่อนที่มาตรการของรัฐบาลจะทำให้บทเพลงหยุดบรรเลง

“เก็บเงินมา 2 ปี ทำห้องอัดเพื่อจะเปิดเพลงให้ข้าวสารฟัง จะทำให้ข้าวผ่อนคลาย นิ่ม น่าทาน” เป็นตลกร้ายของคลี ข้าวสารในห้องบันทึกเสียงคือข้าวบือแกล ข้าวไร่ปลอดสารของชาวปกาเกอะญอในอำเภอกัลยานิวัฒนา บ้านเกิดของเขา เขานำข้าวไร่สีกล้องของพ่อแม่มาช่วยทำการตลาดขาย ในช่วงที่วิชาชีพดนตรีต้องรักษาระยะห่างจากผู้ฟัง

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมที่เราต้องสร้างร่วมกัน จึงจะได้รับประสบการณ์และอรรถรส การที่มนุษย์อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะเราปรับตัว พวกเรารู้วิธีปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะอยู่รอด นักดนตรีก็เหมือนกัน”

ก่อนที่เราจะได้พูดคุยกับคลี เขาคอยประกบลูกชายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ให้ความสนใจเพลง อยากกินหมูกระทะ ที่ขับร้องโดย ‘เทที’ เด็กชายวัยห้าขวบผู้เป็นลูกชายของเขา

“วันนี้ผมยังไม่ได้กินข้าวเลย ผมรู้ว่ากระแสมันมาเร็วไปเร็ว ผมมีผู้จัดการของผมคอยดูแลน้องอยู่ แต่ด้วยความที่เป็นพ่อ เราก็ปล่อยไม่ได้”

สินค้าหลากหลายประเภท เช่น น้ำจิ้ม ชาบู หมูกระทะ ต่างติดต่อเข้ามาเพื่อขอนำคลิปเพลง อยากกินหมูกระทะ ไปประกอบการโฆษณาขายของ กระทั่งสินค้าในเครือบริษัทการเกษตรและอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ติดต่อมาให้ลูกชายรีวิวสินค้า คลีเลือกปฏิเสธ ก่อนจะแชร์ข้อความนี้ไปบนโลกออนไลน์ นี่คือการ Call out ในแบบของเขา

“คุณต้องออกมาเพราะคุณคือศิลปิน” คลีกล่าวกับศิลปินในค่ายเพลงเล็กๆ ของเขาเช่นนี้

“พูดเถอะ ต่อให้มันทำให้เราต้องตาย ตายที่แปลว่ามันทำให้เราไม่มีคนฟังเพลงเรา คนไม่ชอบเรา คนอันเฟรนด์เรา แต่ถ้ามันคือความจริง เราต้องพูดด้วยเหตุผล และใช้วิธีการสื่อสารที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องด่ากราดก็ได้” คลีบอก สำหรับเขา การออกมาแสดงจุดยืนทางสังคมของศิลปินเป็นเรื่องจำเป็น เหมือนที่ต้นไม้ต้องได้รับแสงแดด

เชียงใหม่ในเดือนกรกฎาคมค่อยๆ เปลี่ยนจากพื้นที่สีเหลืองเป็นสีแดง หากติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จะพบว่าตัวเลขมีแต่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาพรวมการติดเชื้อของทั้งประเทศ ผู้ติดเชื้อรายวันทะลุหลักหมื่น มีคนนอนตายข้างถนน ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ระบบสาธารณสุขล้มเหลว เมรุเผาศพพัง ผู้คนต้องปรับตัว รวมถึงนักดนตรีในเมืองแห่งนี้

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่พีกที่สุดแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรย่ำแย่กว่านี้แล้ว”

เฟนเดอร์ติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในทุกวันที่ลืมตาตื่นขึ้นมา แต่จิตใจของเขาดื้อยาตั้งแต่ยังไม่ได้รับวัคซีน

“ถ้าเป็นเรื่องความกังวลหรือความเครียด มันทำอะไรผมไม่ได้แล้ว” เขาหัวเราะ เป็นเสียงหัวเราะที่มีหลายความหมาย “แต่ก็มีความเศร้าในแง่ของความพังที่มันเพิ่มขึ้นในสังคม แต่ถามว่ามันเพิ่มความเสียหายให้ใจผมมั้ย ก็ไม่ได้เพิ่มมากไปกว่าเดิม เพราะใจมันพังมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด มันพังมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557”

กว่า 7 ปีในยุค คสช. คำถามระเบิดขึ้นในตัวของเขาอย่างเงียบๆ ว่า ทำไมเพื่อนร่วมสังคมจำนวนมากจึงมองไม่เห็นหายนะจากการรัฐประหารในครั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ในฐานะปัจเจกบุคคลผู้เห็นต่างไปจากกระแสความคิดหลักในตอนนั้น ก็คือการเฝ้ามองสังคมที่ตนเติบโตมาค่อยๆ พังลง จนกระทั่งการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงเวลาของการระบาด ซึ่งทำให้อารมณ์ของสังคมไทยหันเหไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นกว่าเมื่อ 7 ปีก่อน กระทั่งเสียงแตรรถดังระงมไปทั่วประเทศ

“ผมคิดว่าถ้าประเทศเรา decentralize ได้เมื่อไรก็จะสนุกมากๆ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นซีนอื่นๆ ด้วย ซีนดนตรี ซีนวัฒนธรรมก็จะสนุก ก็จะเกิดการแข่งขันกันระหว่างหัวเมือง หัวเมืองไหนคึกคักมีศักยภาพ ก็จะสามารถดึงเอาทรัพยากรเข้าไปในเมืองนั้นได้ มันคงจะเป็นระบบนิเวศที่ดี” เฟนเดอร์กล่าว

บรรยากาศคอนเสิร์ตของวง Solitude Is Bliss

เพลงเป็นไข้ ผีเสื้อปีกหัก วัคซีนอยู่ในห้องทดลองของนักดนตรี

“ทันทีที่ เดฟ โกรล ตีคอร์ด D ในเพลง Everlong ที่เมดิสันสแควร์การ์เดน มันไม่ใช่การเล่นเพลงหนึ่งเพลงเหมือนทุกครั้ง หากคือการแสดงแสนยานุภาพของประเทศ ไม่ใช่เสียงของปืนใหญ่ ไม่ใช่เสียงของเครื่องบินเจ็ต ไม่ใช่เสียงของเรือดำน้ำ ที่จะบอกว่าประเทศไหนมีความก้าวหน้าหรือพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก”

คำคมกึ่งปาฐกถาระหว่างรับหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีจากคณะศิลปินในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของ พิธา ลิ้มเจริญวัฒนา หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความจริงในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สินค้าเชิงวัฒนธรรม ปรัชญาความมั่นคงของประเทศในศตวรรษที่ 21 และสุนทรียศาสตร์

การแสดงของคณะดนตรี Foo Fighters สร้างความหวังให้แก่นักดนตรีและผู้คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นการแสดงแสนยานุภาพของระบบสาธารณสุข เพราะผู้ชมกว่า 15,000 คน ต้องฉีดวัคซีนและแสดงหลักฐานก่อนถึงจะเข้าไปชมคอนเสิร์ตได้

เกือบสองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวของอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก เทคโนโลยีสตรีมมิงกลายเป็นทั้งช่องทางหลักและห้องทดลองของอุตสาหกรรมดนตรี Travis Scott แร็ปเปอร์ชาวอเมริกัน แสดงดนตรีในการสตรีมมิงเกม Fortnite มีผู้เข้าชมถึง 12 ล้านคน

ถ้าเชียงใหม่อยู่ในสถานการณ์ปกติ ผีเสื้อราตรีจะออกมาบินว่อนบนถนนกลางคืนของเมือง

‘ผีเสื้อราตรี’ เป็นคำนิยามนักดนตรีกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ของเฟนเดอร์ นอกจากสร้างผลงานออริจินัลในฐานะนักร้อง มือกีตาร์ และนักแต่งเพลงกับวงดนตรี Solitude Is Bliss ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เขายังเล่นดนตรีกลางคืนเป็นงานประจำ

7 คืนต่อสัปดาห์ที่เขาตระเวนเล่นดนตรีกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ ในหนึ่งคืนเล่นดนตรี 2-3 แห่ง หลังจากเพลงสุดท้ายจบลง เขาเก็บกีตาร์ใส่กระเป๋า แบกกระเป๋าสะพายไว้บนหลัง ขี่รถมอเตอร์ไซค์เดินทางไปอีกร้าน ระหว่างทางเขาจะพบเจอนักดนตรีที่มีบุคลิกเหมือนเขาทุกประการ ขี่มอเตอร์ไซค์ สะพายกระเป๋ากีตาร์ ลมพัดหูกระเป๋าสะบัดพึ่บพั่บ ดูคล้ายปีกผีเสื้อราตรี ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนเวลาในการเล่นกลางคืนลง หลังจากที่วงดนตรีของเขาเริ่มมีงานแสดงดนตรีในต่างจังหวัด การล็อกดาวน์และมาตรการภาครัฐ 4 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเล่นดนตรีกลางคืนทั้งหมด

“เหลือไว้เพียง 1 ร้าน ไม่ให้เหงามือจนเกินไป”

ไม่กี่วันก่อน เขาเพิ่งได้กลับไปเล่นดนตรีที่ร้าน My Secret Cafe In Town หลังจากหยุดไปตั้งแต่เดือนเมษายน แม้ว่าวงดนตรี Solitude Is Bliss จะไม่สามารถเดินทางไปแสดงดนตรีในเมืองต่างๆ ได้ แต่รายได้ยังเดินทางกลับมาหาเขาผ่านช่องทางสตรีมมิงและสินค้าที่ระลึกของวง

สำหรับนักดนตรีที่เล่นดนตรีกลางคืนเพียงอย่างเดียว ย่อมประสบปัญหาในการหารายได้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่มีเพลงของตัวเอง รายได้ที่จะเข้ามาย่อมไม่มากับเสียงดนตรี ในการระบาด 4 ระลอกที่ผ่านมา นักดนตรีต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนอาชีพ บางคนทำอาหาร บางคนเป็นพนักงานส่งอาหาร บางคนปรับตัวไม่ทัน ไม่มีเงินเก็บ ก็ต้องเดินทางกลับบ้านเกิด หากมีปีกและสามารถบินได้ คุณจะพบเศษซากปีกผีเสื้อแห้งกรังเกรอะผิวถนนหลายสายในเมืองเชียงใหม่

สุพิชา เทศดรุณ และวง Harmonica Sunrise

“ก็เพราะพวกเราเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ แล้วมันสะดวก ก็จะเจอกันตามสี่แยกรินคำ จังหวะเปลี่ยนร้าน ก็จะเป็นอย่างนั้น” สุพิชา เทศดรุณ เอ่ยถึงห้วงเวลาที่ผีเสื้อยังสามารถโบยบินได้ตามปกติ เขาเป็นนักดนตรีผู้ก่อตั้งเพจ Chiangmai Original สนับสนุนศิลปินที่ทำเพลงในเมืองเชียงใหม่ และเป็นผู้จัดงานดนตรีต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ นอกจากเล่นดนตรีกลางคืน สุพิชาสร้างผลงานเพลงของตนเองในนาม Harmonica Sunrise แต่ดนตรีไม่อนุญาตให้เขาอยู่ลำพังกับมัน จึงต้องรับสอนพิเศษและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่เขาเล่นดนตรีกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ ค่าแรงเริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 80 บาท กระทั่งได้ค่าแรงชั่วโมงละ 350 บาท ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดที่ผีเสื้อตัวนี้บินไปถึง ก่อนที่โควิดจะรั้งปีกของเขาตรึงไว้กับบ้าน

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สุพิชาเล่นดนตรีวันละ 4 แห่ง เขาเริ่มร้องเพลงแรกตั้งแต่ห้าโมงเย็น “ไปเปิดหมวกก่อนด้วยนะ เปิดหมวก 5 โมงครึ่ง” เขาเดินทางไปถึงบาร์แห่งแรกของค่ำคืนเพื่อแสดงดนตรีตอนหนึ่งทุ่ม ร้องเพลงสุดท้ายตอนสองทุ่ม เก็บกีตาร์ใส่กระเป๋า สะพายไปบนหลัง ขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที กระทั่งเที่ยงคืนจึงได้กลับบ้าน “กว่าจะได้ตังค์พันกว่าบาท” สายตาของเขามีเครื่องหมายคำถามยามเมื่อมองไปที่ค่าแรงรายชั่วโมงของนักดนตรีกลางคืนในกรุงเทพฯ “เท่าที่ผมทราบ นักดนตรีกรุงเทพฯได้ค่าแรง 800 บาทต่อการเล่นดนตรี 1 ชั่วโมง 30 นาที”

เสียงเพลงในนาม Harmonica Sunrise ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตในช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถออกไปเล่นดนตรีกลางคืนได้

“ผมยังมีรายได้จาก Spotify, Apple Music รวมๆ กันทุกแพลตฟอร์มเดือนละ 6-7 พัน มันไม่ได้เยอะ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลย”

การไลฟ์สตรีมมิงคือช่องทางหนึ่งของนักดนตรีกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ แต่มีรายงานจากอุตสาหกรรมดนตรีสหรัฐว่า การเติบโตของกิจกรรมทางดนตรีในโลกดิจิทัล ไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่แท้จริงของอุตสาหกรรมดนตรีเสมอไป เพราะการแสดงดนตรีสดผ่านช่องทางออนไลน์อาจพึ่งพิงรายได้จากโฆษณาและยอดวิวมากกว่าการเก็บค่าเข้าชมจากผู้ฟังโดยตรง

“ผมมีลางสังกรณ์มาสักพักแล้ว” สุพิชาไม่ได้หมายถึงลางสังหรณ์ว่าโควิดจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เขาหมายถึงการเป็นผีเสื้อราตรีจะนำพาชีวิตนักดนตรีของเขาไปสู่จุดใด จะย้อนกลับไปเป็นดักแด้ หนอน หรือไข่ “อีกสองปีผมคงไม่อยากขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปเล่นตามร้านต่างๆ เล่นวันละสี่ชั่วโมง”

นักดนตรีกลางคืนจำเป็นต้องผันตัวเองมาเป็นครีเอเตอร์ นำผลงานเข้าสู่ระบบสตรีมมิง ถ้าทำแบบนั้นได้ก็หมายความว่า คุณได้หย่อนเมล็ดพันธุ์ลงไปแล้ว

“มันจะเติบโตหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ แต่ยังดีกว่าการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนคนอื่น” สุพิชาเปรียบเทียบได้น่าฟัง นักดนตรีกลางคืนเป็นเหมือนเกษตรกรรับจ้าง ไม่มีความมั่นคงในปัจจัยการผลิต ซึ่งในวันที่เดินทางออกไปเก็บผักในสวนของคนอื่นไม่ได้

“กลายเป็นว่าเราไม่มีต้นไม้ของเราเอง เราไม่มีผลผลิตของเราเองก็จบเลย”

นักดนตรีเป็นอาชีพที่น่าพิศวง เพราะคำกิริยาที่ใช้กับการประกอบวิชาชีพดนตรีคือคำว่า ‘เล่น’ ในขณะที่หลายอาชีพ การทำงานคือ Work not play แต่กิริยาของวิชาชีพดนตรีคือการเล่น ผู้เล่นย่อมมีความสุขสนุกอยู่เป็นนิจ? เมื่อเล่นก็แสดงว่าไม่ได้จริงจัง? เมื่อเล่นก็แปลว่ามีความสุข? จะได้เงินหรือไม่ได้เงินบ้างก็ไม่ใช่สาระสำคัญ?

ไม่ต้องออกแรงหาคำตอบ ก็จะพบว่ามันไม่ใช่

กลุ่มสมาคมดนตรีคืนชีพ

สมาคมดนตรีคืนชีพ

ทุกบ่ายวันอาทิตย์ ที่สตูดิโอแถวสี่แยกรินคำ คนหนุ่มสาวประมาณสิบคนกำลังระดมข้อมูลและความคิดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดกับนักดนตรีและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ในเมืองเชียงใหม่ ‘สมาคมดนตรีคืนชีพ’ เป็นชื่อลำลองที่เราใช้เรียกการรวมตัวกันของนักดนตรี ซาวด์เอนจิเนียร์ โปรดิวเซอร์ ผู้ประกอบการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ศิลปิน ครีเอทีฟ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อหาทางออกจากวิกฤต นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พวกเขายังหาแนวทางระยะยาวให้วิชาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และทำให้ศิลปินมีอำนาจในการต่อรอง

“ผมมองว่าเมืองดนตรีเหมาะกับโลกหลังโควิด” บฤงคพ วรอุไร เอ่ยขึ้นกลางวงประชุม เขาเป็นหัวเรือใหญ่ของการรีแบรนดิ้งทีมงานในนามสมาคมนักดนตรี นักร้อง นักแสดง เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวในการสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลสวัสดิการให้นักดนตรี ซึ่งแผนนี้ถูกพับเก็บไปก่อนในช่วงที่การระบาดได้ส่งผลกระทบต่อนักดนตรีในเมืองเชียงใหม่ “โจทย์ระยะสั้นก็คือเราจะเอาตัวรอดเฉพาะหน้ากันอย่างไร”

ธุรกิจบันเทิงหรือสถานบันเทิงกลางคืนในเชียงใหม่อยู่ในช่วงหยุดชะงัก “เราไม่แน่ใจว่ามันจะกลับมาไหม ถ้ากลับมาได้ก็ต้องซ่อม แต่ถ้ากลับมาไม่ได้ ก็ต้องมาคิดกันว่าฟังก์ชันนักดนตรีกับสังคมจะไปต่ออย่างไร มันก็จะเป็นทั้งเรื่องการซ่อมของเก่า และพยายามสร้างทางออกใหม่ๆ ที่นักดนตรีสามารถทำงานต่อได้ ซึ่งพวกเราคุยกันถึงเรื่องสร้างใหม่เยอะมาก ว่าหลังยุคโควิด พวกเราจะไปต่อกันยังไง” บฤงคพบอกเล่าถึงการสมาคมในบ่ายวันอาทิตย์

“ทุกครั้งที่โลกมันหมุนไป จะมีบางอย่างถูกดิสรัปเสมอ” ธนัทคุณ สุสุข มือเบสวงเชียงใหม่ บูลส์ เชื่อว่าดนตรีมีเวทีเสมอ แม้ว่าผู้คนจะไม่สามารถมารวมตัวกันตะโกนใส่หน้ากันเหมือนเช่นวันเก่าก่อน

“แต่ใจความมันยังอยู่เหมือนเดิม เราต้องการส่งข้อมูล ดนตรีก็ยังอยู่ในชีวิตทุกคนเหมือนเดิม” พลอยไพลิน เกษมสุข กล่าวเสริมถึงแก่นที่คงเดิมและรูปแบบที่อาจเปลี่ยนไปของดนตรี

“เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์มีขนาดเท่าตู้เย็น ตอนนี้คอมพิวเตอร์เล็กเท่าฝาทัพเพอร์แวร์” ธนัทคุณมองไปที่ตู้แช่น้ำอัดลม พลางคิดไปถึงรูปแบบการแสดงดนตรีแบบใหม่ที่อาจทำลายความคุ้นชินเดิมๆ ที่ว่าดนตรีคู่กับกลางคืน “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นโจทย์ของทีมงานเรา ที่กำลังจะสร้างมันขึ้นมา”

บฤงคพ วรอุไร

หลายข้อเสนอถูกระดมมาจากหลายมุมมอง การแสดงดนตรีสดในเมืองเชียงใหม่หลังยุคโควิดอาจจะเกิดขึ้นตอนกลางวัน การแสดงดนตรีอาจเกิดขึ้นในไลฟ์เฮาส์ที่มีโปรดักชันคุณภาพสูง และเสียงเพลงนั้นก็เป็นผลงานออริจินัลของศิลปิน เป็นดอกผลที่เป็นกรรมสิทธิ์ในสวนของศิลปินเอง

“สมมติร้านเหล้าผับบาร์ในเมืองเชียงใหม่ไปต่อยากแล้ว” สุพิชา แห่งคณะ Harmonica Sunrise วาดภาพเชียงใหม่หลังยุคโควิด ก่อนจะระบายสีลงไปในภาพอนาคต “ถ้าคุณจะดำรงชีพด้วยการเป็นศิลปิน นั่นแปลว่าคุณก็ต้องทำเพลงเอง ไลฟ์เฮาส์จะเป็นพื้นที่แสดงสดของคุณ ขายบัตรให้คนที่ฟังและเห็นคุณค่าในเพลงของคุณมาชม”

วัฒนธรรมการชมดนตรีในไลฟ์เฮาส์มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น เป็นสถานที่ที่คนไปชมการแสดงดนตรีเป็นหลัก มากกว่าที่จะไปดื่มกินอย่างผับบาร์ที่เหมือนมีดนตรีเป็นแค่ของแถม แต่ธุรกิจไลฟ์เฮาส์ในประเทศญี่ปุ่นต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจต้องปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโควิดของรัฐบาล เช่น ห้ามชุมนุม ห้ามคนเยอะในห้องปิด หรือการจำกัดเวลาเปิดปิดร้าน

ความหลากหลายของทีมงานน่าจะสร้างระบบนิเวศทางดนตรีที่ดีได้ เหมือนที่นักร้องแห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้ากล่าวไว้ ในอุตสาหกรรมดนตรีไม่ได้มีเฉพาะนักดนตรี “ลำโพงมันเกิดมาเพื่อทำให้ทุกคนที่มารวมตัวกันได้ยินเหมือนกัน พอคนมารวมตัวกันไม่ได้ ลำโพงก็ไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร การที่เรามาคุยกันนี้ เรากำลังพูดถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงนี้ทั้งหมด ไม่เฉพาะนักดนตรี” พิชญ์ เอกมหาชัย Professional Solutions Manager แห่งบริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด (สาขาเชียงใหม่) กล่าวถึงปรัชญาของลำโพงและผลกระทบที่ธุรกิจให้เช่าเครื่องเสียงได้รับ

เขาเป็นหนึ่งในทีมงานรุ่นใหม่ของสมาคมฯ ด้วยพื้นฐานการเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ คลุกคลีอยู่ในธุรกิจเครื่องเสียงสำหรับการแสดงดนตรี พิชญ์จึงมุ่งเน้นไปที่บทบาทของ Live sound ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักดนตรี เพราะการไลฟ์สตรีมมิงช่วยทำให้นักดนตรีสามารถหารายได้จากการแสดงสด

“ในระยะสั้น เรามุ่งเน้นด้านไลฟ์สตรีมมิง เพราะเราไม่สามารถทำคอนเสิร์ตแบบเดิมได้ แต่แผนระยะยาว เราก็อยากมีเฟสติวัลใหญ่ๆ ในเมืองเชียงใหม่ เราอยากได้เทศกาลดนตรีที่เป็นเชียงใหม่เป็นหลัก นำเสนอผลงานของเชียงใหม่ ไม่ต้องไปง้อเวทีที่กรุงเทพฯ เรามีเวทีของเรา มีคอมมูนิตี้ของเรา เราจะต้องทำให้คนทุกภูมิภาคมุ่งมาที่เชียงใหม่ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้หลังโควิด”

แต่การที่จะทำให้เมืองเชียงใหม่สร้างระบบที่เอื้อให้เกิด Music tourism ได้ ข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่ คมสัน ไชยวงค์ ให้ความสำคัญ เขาเป็นครีเอเตอร์ดิจิทัลผู้ทำเพจ CM Town และ เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ ที่เข้ามาเป็นส่วนผสมสำคัญในสมาคมที่กำลังจะสร้างเสียงใหม่ๆ ให้วิชาชีพดนตรี

“ผมพยายามผลักดัน Ecosystem ของดนตรี ถ้าเรามีข้อมูลที่ดีและมากพอ เราสามารถจับคู่ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจดนตรีได้ เราสามารถ optimize เมืองให้เกี่ยวกับดนตรีได้มากขึ้น”

พลอยไพลิน เกษมสุข

นักดนตรีเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบในระบบนิเวศทางดนตรี ที่มีทั้งโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง คนบันทึกเสียง คนมิกซ์เสียง ผู้ให้เช่าระบบแสงสีเสียง ซึ่งพิชญ์กำลังเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายนักดนตรีในเมืองเชียงใหม่ โดยข้อมูลเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีที่ต้องการทำเพลงสักเพลง หรือผู้จัดเทศกาลดนตรีที่ต้องการสร้างเทสกาลดนตรีขึ้นมา

“ถ้าเรามีระบบที่ดีและแข็งแรง คนจะเข้ามาเติม แล้วเมืองดนตรีจะยั่งยืน” พิชญ์บอก

“เมื่อระบบแข็งแรง คนเข็มแข็ง ก็จะทำให้เกิดอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดความแฟร์และความยั่งยืนกับคนทำงาน” พลอยไพลิน เกษมสุข กล่าวเสริม ดูจากภายนอก เราไม่มีทางรู้ว่าเธอเรียนจบเทคนิคการแพทย์ ก่อนจะผันตัวมาทำงานครีเอทีฟและร้องเพลง

“ที่ผ่านมา ศิลปินเป็นเหมือนลูกจ้างในลูกจ้างอีกที” ซึ่งเมื่อเจ้าของกิจการล้ม คนที่อยู่ล่างสุดก็ถูกทับลงมา พลอยไพลินบอกว่า “นักดนตรีและศิลปินไม่มีอำนาจต่อรองตั้งแต่แรก เมื่อเกิดวิกฤติที่ไม่เคยมีใครมองมุมนี้ไว้ นักดนตรีจึงตายไปคนแรก”

เพลงเป็นสินค้าที่น่าพิศวง มันเป็นสินค้าที่ผูกพ่วงกับห้วงอารมณ์ ยุคสมัย บาดแผล รอยเย็บ ความทรงจำส่วนบุคคล คุณจำเพลงแรกที่ร้องได้ไหม จำเพลงแรกที่จีบคนรักได้ไหม หรือการอกหักครั้งแรก เหมือนเราฝากประสบการณ์และความทรงจำไว้ในบทเพลง เมื่อเสียงเพลงนั้นดังขึ้น เราจึงระลึกถึง

“เพลงอยู่ในทุกช่วงชีวิตของคน แต่สังคมกลับไม่มีพื้นที่ให้นักดนตรี เราต้องหาทางขยายอำนาจเพื่อต่อรอง มันอาจะไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มันอาจจะเป็น world citizen เป็นเครือข่ายระดับโลก เพราะในหลายๆ ประเทศ ดนตรีถูกใช้ในการเรียกร้องประเด็นทางสังคม ส่งเสียงแทนประชาชน และยกระดับจิตใจผู้คน” พลอยไพลินกล่าวถึงศักยภาพและความอาภัพของดนตรี

บรรยากาศการเล่นคอนเสิร์ตในเชียงใหม่

กายวิภาคของชีวิตนักดนตรี ราษฎรครึ่งขั้น นักฝันเต็มขั้น

“เบื่อกับการต้องปรับตัว” เฟนเดอร์บอกถึงสาเหตุที่ลาออกจากการเล่นดนตรีกลางคืน

“ผมเริ่มรู้สึกแบบนี้มาสักพัก เพราะผมเริ่มชีวิตนักดนตรีมาด้วยความไม่เต็มใจเท่าไร” เขาหยุดคำตอบไว้ชั่วขณะ เหมือนเครื่องหมายพักเสียง (Rest) บนบรรทัด 5 เส้น ก่อนจะเริ่มเอ่ยเสียงออกมาเหมือนคำร้องท่อนใหม่ แสดงความรักในดนตรีและรสขมของชีวิตผู้บรรเลงมันออกมา

“ผมชอบดนตรี อย่าเข้าใจผมผิดนะ ผมรักดนตรี แต่ผมไม่อยากเป็นนักดนตรีอาชีพ เพราะพ่อผมก็เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงบางแง่มุมของนักดนตรี” เฟนเดอร์เล่าถึงครอบครัวนักดนตรีของเขาว่า มีสมาชิกถึง 4 คนในครอบครัวที่ประกอบอาชีพเล่นดนตรีกลางคืน “บางคนเล่นโฟล์ก บางคนเล่นกับวง บางคนต้องอาศัยวง บางคนโซโล่เดี่ยว” และครอบครัวก็เอ่ยปากตักเตือนไว้แล้วว่า อย่าเป็นนักดนตรี เพราะเป็นอาชีพของคนไส้แห้ง ซึ่งเขาพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นแล้วว่า เส้นทางที่เขาเดินเป็นทางคนละสายกับพ่อและลุงป้าน้าอาที่เป็นนักดนตรีกลางคืน

ในสถานการณ์ของการระบาด พ่อของเขาพยายามที่จะเล่นดนตรีอยู่ “พ่อก็เริ่มหางานยากแล้ว แม้ว่าพ่อยังหาที่เล่นได้อยู่ ยังไม่ถอนตัวเองออกจากอาชีพนี้ แต่พอถึงวันที่หมดยุคหมดวัย ชีวิตของเขาไม่ได้มีพื้นที่ให้กับสิ่งอื่น เขาไม่ได้ใช้เวลาเพื่อขัดเกลามุมอื่นๆ ของชีวิต” เฟนเดอร์กล่าวถึงพ่อ

การหลงทางเป็นภาวะที่มองไม่เห็นเส้นทางที่จะพาเรามุ่งไปข้างหน้า บางครั้งการหลงทางคือการมองไม่เห็นเส้นทางที่เราใช้เดินมาตลอด “มันเป็นความกลัวลึกๆ ในใจผมเลย” เฟนเดอร์บอก เขากลัวที่จะต้องเริ่มนับหนึ่งในสิ่งไม่คุ้นชิน

“ความจริงแล้ว อายุ 50 กว่าก็น่าจะเอาต์ได้แล้วนะ ผมรู้สึกว่าตัวเองอายุเท่านี้ก็เอาต์แล้วนะ ด้วยความที่ผมเล่นเพลงจำเพาะเจาะจงด้วย” เขาหมายถึงในพาร์ตที่เป็นนักดนตรีกลางคืน “ผมเล่นคัฟเวอร์แนวเพลงที่จำกัด มีบาร์ที่จำกัด อายุยังไม่แตะสามสิบก็รู้สึกเริ่มเอาต์แล้ว”

มีนักร้องใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ มีสไตล์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแล้วดับลงไป หมุนวนไม่รู้สิ้น “แต่พ่อก็ยังสู้อยู่นะ เขายังคิดว่าต้องมีร้านที่ต้องการคนวัยอย่างเขาบ้างสิ ร้านอาหารที่ต้องการแนวเพลงเก่าๆ อย่างเขา ความจริงผมว่าถ้าเศรษฐกิจดีมันก็คงมีแหละ ดีมานด์มันก็คงสูงเพียงพอให้คนรุ่นพ่อ ให้สไตล์เพลงที่พ่อเล่นได้ทำงานต่อ แต่ถึงมีดีมานด์ พ่อก็เกษียณอยู่ดี อายุมันไปแตะที่เกษียณ แล้วอาชีพนักดนตรีมันไม่ได้มีสวัสดิการหรือบำนาญใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นประกันสังคม”

“พ่อของผมเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวมากกว่า” คลีเล่าถึงพ่อของเขา ทั้งเฟนเดอร์และคลีต่างมีพ่อเป็นนักดนตรี แต่นักดนตรีผู้เป็นบิดาของศิลปินหนุ่มสองคนยืนอยู่คนละเวที “ตอนแรกพ่อก็อยากทำเพลง เป็นศิลปินชนเผ่า แต่ชาวปกาเกอะญอไม่นิยมซื้อเทปซื้อซีดี” แต่เสียงเกิดจากการกระทบให้สั่นสะเทือน พ่อของคลีจึงยังเป็นนักดนตรี ในช่วงที่นโยบายของรัฐกดทับเอาเปรียบคนที่ใช้ชีวิตบนที่สูง นโยบายที่ขีดเส้นว่าคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่า ศิลปินกับนักปราชญ์คือกระบอกเสียงของชุมชน “ศิลปินกับนักปราชญ์จะพูดภาษาไทยได้ และสามารถวิเคราะห์ผลของนโยบาย คนสองกลุ่มนี้จะออกไปเล่าเรื่องและสื่อสาร พ่อก็เป็นหนึ่งในนั้น”

พ่อของเขาใช้ดนตรีสื่อสารถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น “การเป็นศิลปินแล้วลุกขึ้นพูดก็จะมีน้ำหนัก ไม่ว่าจะพูดกับคนในชุมชนหรือพูดกับคนนอกที่เข้ามา พ่อก็จะทำหน้าที่ตรงนั้น”

6 เมษายนที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้ายที่เฟนเดอร์ได้เล่นดนตรีในนาม View From The Bus Tour ที่ร้านสุดสะแนน ในวันนั้น คลีกับเพื่อนศิลปินจัดงานดนตรี ‘คิดถึงใจแผ่นดิน – Kid Tueng Jai Pan Din’ ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องบางกลอย ที่ต้องต่อสู้คดีบุกรุกที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเหมือนเพลงหนึ่งในอัลบั้มที่บรรเลงมายาวนานและยังไม่มีเพลงจบ

ธนัทคุณ สุสุข มือเบสวงเชียงใหม่ บูลส์

อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่น่าพิศวง เหมือนคนไข้ที่ถูกเลี้ยงไข้ว่า สักวันหนึ่ง ผู้คนจะมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ เราถามเฟนเดอร์ที่เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี เติบโตมากับการเล่นดนตรีเลี้ยงชีพ กระทั่งสร้างผลงานเพลงของตนเองทั้งในนามวง Solitude Is bliss และผลงานเดี่ยวอย่าง View From The Bus Tour ว่า เขามองเห็นอะไรจากการเป็นนักดนตรีในประเทศนี้ และมองเห็นชีวิตของนักดนตรีเป็นอย่างไรในการอยู่ในครอบครัวนักดนตรี คำตอบของเขาเผยให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ ของปัจเจกบุคคล และโครงสร้างสังคมที่ครอบชีวิตพวกเขาอยู่

“ผมรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่อาศัยใจรักนำมากๆ อย่างที่เราพูดกันถึงเรื่องสวัสดิการของวิชาชีพ มันไม่ได้ดีเลยครับ ไหนจะคุณภาพในพื้นที่การทำงาน เครื่องไม้เครื่องมือสภาพแวดล้อมต่างๆ นานา ไหนจะค่านิยมที่คนข้างนอกมองเข้ามาอีก พูดได้ว่าเป็นนักฝันกันเสียส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ”

เฟนเดอร์เล่าว่า มีนักดนตรีที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้วิชาชีพของตนได้จากการสร้างผลงานของตนเอง สร้างมูลค่าให้ผลงานตนเองได้ พิสูจน์ตัวกับผู้ฟังได้ แต่เป็นส่วนน้อย

“นักดนตรีส่วนใหญ่ห้อยอยู่บนสลิงกันหมดเลย ผมคิดว่าลึกๆ แล้ว พวกเขาก็คงฝันถึงวันที่ผมพูดถึงอยู่เหมือนกัน วันที่สังคมเห็นคุณค่างานของเขา มี avenue ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการที่ดีขึ้น มีค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ทำให้เขาสามารถก่อร่างสร้างตัวได้”

เราถามเขาอีกว่า คำที่ครอบครัวเตือนว่า ‘เป็นนักดนตรีแล้วไส้แห้ง’ จริงสำหรับเขาหรือไม่ เมื่อมองมาจากหน้าต่างรถบัสที่ใช้เดินทางเพื่อแสดงดนตรี เฟนเดอร์บอกว่า “จริง ณ เวลานี้” เขาเห็นเหตุผลของความไส้แห้งที่เกิดกับวิชาชีพ

“แต่เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่เปลี่ยนได้ เปลี่ยนในทางโครงสร้าง เปลี่ยนด้วยการสร้าง Value ให้ดนตรี แล้วทำให้คนที่ได้รับสารนั้นมองเห็นคุณค่าในทางวัฒนธรรม”

 

          ภาพหน้าปกคอลัมน์: งานเปิดตัวอัลบั้ม passed ศิลปินวง Sirimongkol

 

 

Tags: , , ,