สถานการณ์โควิด-19 ระลอกล่าสุดที่กำลังแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เพราะมีทั้งปัญหาคนว่างงานสะสมจากกิจการต่างๆ ที่ปิดตัวมาต่อเนื่องยาวนานต่อเนื่องจากรอบแรก และคลัสเตอร์ใหม่ที่ขยายตัวไปในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ลูกจ้างโรงงาน และชุมชนต่างๆ ทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมหาศาล ทั้งที่ถูกนับเป็นตัวเลขในระบบ รวมถึงคนบางกลุ่มที่ไม่เคยถูกระบุชื่ออยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ ของภาครัฐ เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ
ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนเดือดร้อน กลุ่มคนทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอดอย่าง ‘ปอ’ – ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง ‘บาร์นอร์ทเกต’ (North Gate Jazz Co-Op) และ YoRice Amazake, ‘มะเป้ง’ – พงษ์ศิลา คำมาก นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมผู้ก่อตั้ง Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนด้านอาหารเพื่อคนและสิ่งแวดล้อม รวมถึง ‘ลี’ – อายุ จือปา เจ้าของธุรกิจกาแฟ Akha Ama จึงได้จัดตั้งโครงการ Chiang Mai Food Bank ขึ้น โดยใช้พื้นที่หน้าร้าน North Gate Jazz CO-OP เป็นจุดรับบริจาควัตถุดิบส่วนเกินจากครัวเรือน เพื่อนำมาแบ่งปันแจกจ่ายให้กับพี่น้องแรงงานและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
ที่ทำการ Chiang Mai Food Bank
เมื่อ ‘บาร์แจ๊ซ’ ต้องแปรสภาพเป็น ‘ธนาคารอาหาร’
จากบาร์แจ๊ซที่โด่งดัง มีลูกค้าหนาแน่นทุกค่ำคืน วันนี้ร้านนอร์ทเกตถูกใช้เป็นที่ตั้งของ ‘Chiang Mai Food Bank’ หรือ ‘ธนาคารอาหารของเมืองเชียงใหม่’ เวทีที่เคยติดตั้งเครื่องดนตรีแปรเปลี่ยนเป็นจุดวางเสบียงอาหารกองพะเนิน มุมที่เคยมีผู้ชมนั่งดื่มด่ำบรรยากาศ กลายเป็นจุดตั้งโต๊ะรับของบริจาค
เวทีดนตรีของร้าน Northgate กลายเป็นจุดวางเสบียงอาหาร
“ไหนๆ ร้านเหล้า ผับบาร์ ก็เปิดไม่ได้อยู่แล้ว เราก็อยากให้นอร์ทเกตได้เป็นพื้นที่ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม”
‘ปอ’ – ภราดล พรอำนวย เล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง Chiang Mai Food Bank
“โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมงานเครือข่ายหลายแห่งที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนชายขอบ แรงงานข้ามชาติ และคนตกหล่นต่างๆ โดยร่วมกันให้ข้อมูลและคิดกระบวนการในการช่วยเหลือขึ้น เราเชื่อว่าชุมชนขับเคลื่อนด้วยความสัมพันธ์ คนในชุมชนเท่านั้นที่จะรู้ว่ามีใครเดือดร้อนตรงไหนบ้าง และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน เราเลยออกแบบระบบให้ชุมชนจัดการกันเอง มีการทำ ‘ครัวกลาง’ โดยเราส่งวัตถุดิบไปให้คนในชุมชนทำอาหารแจกกันเอง บางแห่งต้องเอาภาชนะมาเองด้วยเพื่อลดปัญหาขยะ แต่ถ้าชุมชนไหนทำครัวกลางเองไม่ได้ ก็ต้องไปแตะมือกับชุมชนข้างเคียง ยิ่งชุมชนที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ บางทีเราก็สื่อสารลำบาก เขาก็จะติดต่อประสานกัน โดยมีตัวแทนติดต่อเรามาอีกที ผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั้งเครือข่ายสิทธิ แรงงานต่างด้าว”
สามผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Food Bank
‘ลี’- อายุ จือปา เคยทำงานคลุกคลีกับกลุ่มประชาสังคมทั้งกลุ่มคนไร้สัญชาติและพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขามีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงต้นตอปัญหาที่ชุมชนและพี่น้องแรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ ข้อมูล และบริการสาธารณะต่างๆ
“พี่น้องแรงงานส่วนมากเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ต้องมองในระยะยาว สร้างรูปแบบการจัดการในการช่วยเหลือที่มองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ตอนนี้มันมีช่องว่างของความไม่เท่าเทียมอยู่มาก ถ้าเราลดตรงนี้ได้ มีความเท่าเทียมกัน คิดทำในสิ่งที่ดี สังคมก็จะดีได้”
“จริงๆ งานหลักของโครงการเราคือการสื่อสารผ่านเครือข่ายและคอนเนกชันต่างๆ ที่เรามี งานนี้คือความร่วมมือของคนมากมายมหาศาลที่จะมาร่วมกันทำ เพราะมีหลายคนที่อยากช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหน อย่างไรดี Chiang Mai Food Bank จะเป็นตัวกลางในการจัดการระบบตรงนี้ให้”
ขณะที่ ‘มะเป้ง’ – พงษ์ศิลา คำมาก ผู้ทำธุรกิจด้านอาหารโดยตรง เล่าว่า “เรามีโครงการหลายอย่างที่จะหาเงินทุนมาหมุนเวียน โดยเรามองไปที่ Food Waste คืออาหารที่เหลือทิ้งหรือขายไม่ได้ อาจจะมาจากบางร้านที่ไม่ได้เปิดขายแล้ว ก็จะมีวัตถุดิบที่เหลือค้างอยู่ในร้านแต่ยังใช้ได้ หรือพวก Ugly Fruits คือพวกสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่ผ่านเกณฑ์แล้วโดนตีกลับมาจากห้าง หรือร้านค้า ถ้ามีของพวกนี้ คุณส่งมาให้เราเลย ผมเองมีโครงการ Sansaicisco ที่ทำเรื่องนี้อยู่ เราจะจัดการแปรรูปแล้วเอาไปขาย กำไรจากการขาย เราก็จะนำไปใช้สำหรับจัดการซื้ออาหารให้แก่กลุ่มเป้าหมายของ Chiang Mai Food Bank”
“ที่ผ่านมา คนงานในแคมป์ก่อสร้างเดือดร้อนกันมากที่สุด เพราะมีข้อกฎหมายไปบังคับเขาเยอะมาก ทั้งเรื่องการลงทะเบียนกับนายจ้าง หรือเรื่องไม่มีบัตร แต่โครงการของเราไม่สนใจว่าเขาจะเป็นคนไทยหรือไม่ ถือบัตรสีอะไร Chiang Mai Food Bank จะช่วยทุกคนที่ลำบากอย่างเท่าเทียมกัน”
ทีมงาน Chiang Mai Food Bank ลงเก็บข้อมูลชุมชน
ปอเล่าถึงการนำทีมลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนว่า ทีมงานจะลงพื้นที่ไปรวบรวมข้อมูลเพื่อจะได้รู้จำนวนคนและสิ่งของที่ชุมชนต้องการ ทุกชุมชนไม่ได้ต้องการแค่อาหาร แต่มีของอย่างอื่นด้วย เช่น บางชุมชนอยากได้ถ่าน เพราะไม่มีถ่านก็ปรุงอาหารไม่ได้ หรือบางครั้งได้วัตถุดิบมา แต่ใช้ไม่ได้กับชุมชน เช่น แป้งขนมปัง ก็จะส่งต่อไปที่ Sansaicisco และเครือข่ายต่างๆ ให้ช่วยกันแปรรูปอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปขาย แล้วเอาเงินกำไรกลับมาซื้ออาหารให้แก่ชุมชนต่อไป
“ตอนนี้ นอกจากที่ร้านนอร์ทเกต เรายังมีจุดกระจายอาหารอีกที่หนึ่งคือ วัดกู่ม่านมงคลชัย อำเภอดอยสะเก็ด โดยกลุ่มแรงงานหญิงเพื่อความยุติธรรม ซึ่งเป็นพี่น้องชาวไทใหญ่มารวมตัวกันเป็นคนจัดตั้ง ทำให้เราเห็นพลังของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ว่าทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน ตอนนี้พวกเราประชาชนกำลังพยายามช่วยเหลือกันเอง เรารอความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ได้ เพราะมันไม่ทันกับสถานการณ์แล้ว”
‘ครัวงาน’ รับสมัครคนในชุมชนเพื่อมาทำงานรับจ้างต่างๆ
“นอกจากเรื่องอาหารแล้ว เรายังมีการทำโครงการ ‘ครัวงาน’ โดยให้คนที่ตกงานส่งเรซูเมมาให้ที่ผู้นำชุมชนแล้วส่งต่อมาที่เรา บอกว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เช่น ทาสีได้ ทำสวนได้ เราก็จะประสานหางานให้ แต่ปัญหาที่เราพบคือคนเหล่านี้ไม่มีเครื่องมือเป็นของตัวเอง เพราะไม่ใช่อาชีพหลักของเขา จุดนี้เองทำให้เรายิ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ภาคที่พังไปก่อนคือภาคแรงงาน แต่เวลาที่จะฟื้นฟู การจ้างงานกลับได้รับการฟื้นฟูที่หลังสุด”
โควิดก็หนัก บ้านก็จะถูกไล่รื้อ แล้วจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน?
รัตนา นันตาราช และ จำลอง จักษุธารา ตัวแทนชุมชนสามัคคีพัฒนา ฉายภาพชีวิตอันยากลำบากที่พวกเธอต้องเผชิญในช่วงโควิดให้ฟังว่า
“ป้าขายข้าวไข่เจียวที่ข้างธนาคารตรงปากทางเข้าชุมชนนี่เอง พอโควิดมา แทบไม่ได้ขายเลย ไม่มีลูกค้า แล้วนี่ชุมชนของเรากำลังจะถูกไล่รื้อ แถมยังมาเจอโควิดอีก เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาก” รัตนากล่าวด้วยน้ำเสียงอัดอั้นตันใจ
ขณะที่จำลองก็มีสีหน้าอมทุกข์ เพราะต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่แพ้กัน
“ป้าก็ขายของอยู่ที่โรงเรียนโกวิทธำรง พอโควิดมา โรงเรียนปิด ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีรายได้ ของก็ขายไม่ได้ หนี้ก็ไม่มีไปจ่าย เงินจะซื้อข้าวปลาอาหารก็ไม่มี ตอนนี้ได้แต่รอรับของบริจาค”
ตัวแทนชุมชนสามัคคีพัฒนา
รัตนาและจำลองเล่าต่อว่า ชุมชนสามัคคีพัฒนามีอยู่ราว 68 ครัวเรือน อยู่อาศัยกันมาเกินครึ่งชีวิต วันนี้เมื่อรัฐประกาศจะไล่ที่ขอเวนคืนเพื่อนำไปทำโครงการคืนน้ำใสให้คลอง แล้วคนในชุมชนจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในตอนนี้ คือ การเข้าไปขอความร่วมมือจากโครงการบ้านมั่นคง ที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาช่วย ชาวชุมชนจึงรวมตัวกันทำโครงการออมทรัพย์ เพื่อรวบรวมเงินไปหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ ในกรณีที่เมื่อสู้กันจนหยดสุดท้ายแล้วต้องย้ายออกไปจากที่นี่ โดยวางแผนไว้ว่า อาจจะไปขอเช่าที่ของกรมธนารักษ์บริเวณในเมืองสักแปลง แต่กรณีแย่ที่สุดคือ ต้องไปหาซื้อที่ดินนอกเมืองแทน
“ถ้าเลือกได้ ก็อยากอยู่ที่เดิมหรือในเมืองนี่แหละ จะให้ไปอยู่ไกลๆ ก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร คนในชุมชนอายุ 50-60 ปีกันทั้งนั้น จะให้ไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ หรือไปทำเกษตรทำอะไรก็ไม่ไหวกันแล้ว
“ช่วงแรกที่โควิดระบาด เทศบาลก็มาแจกอาหารให้เรานะ แต่ให้เป็นข้าวกล่องซึ่งก็ไปแบ่งจากที่ได้รับบริจาคมาอีกที แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนในชุมชนจะได้นะ บางบ้านมีกัน 3-4 คน ได้มาแค่สองกล่อง จะให้กินกันยังไง บางทีได้มาเป็นผัดมาม่า แต่บ้านเราคนเฒ่าคนแก่เขาก็กินไม่เป็น กินเป็นแต่ข้าว โชคดีที่ได้กลุ่ม Chiang Mai Food Bank มาช่วย เลยได้ข้าวสาร ปลากระป๋อง ไข่ ผัก มาเก็บไว้ เราก็ทำอาหารกินกันได้ไปประมาณ 2-3 วัน พอประทังชีวิต แล้วเขาก็มาส่งทุกๆ สามวัน ถ้าไม่ได้กลุ่มนี้ พวกเราคงต้องลำบากมาก เพราะตอนนี้ได้ความช่วยเหลือจากที่นี่ที่เดียวเลย”
เมื่อชุมชนลำบาก วัดก็ลำบาก
พระมหามนตรี อนุตตโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโป่งน้อย และรองผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลสามเณร 16 รูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์จากพื้นที่ชายแดน เช่น อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พ่อแม่ส่งมาให้บวชเรียน
“ช่วงโควิดระลอกแรก ชาวบ้านแถวนี้แตกตื่นกันมาก คนตกงานกันหมด พอญาติโยมลำบาก ทางวัดก็ลำบากไปด้วย ออกไปบิณฑบาตไม่ได้เลย โยมก็กลัวพระ พระก็กลัวโยม อาหารไม่พอสำหรับพระและเณรในวัดที่มีรวมแล้วมากกว่า 20 รูป จะไปขอจากคนในชุมชนก็เกรงใจศรัทธาวัด เพราะชุมชนที่วัดตั้งอยู่ ก็มีแต่คนเฒ่าคนแก่ ยิ่งเจอสถานการณ์โควิด จากเคยออกไปบิณฑบาตได้ทุกเส้นทางในแต่ละวันก็ต้องงดไป เพราะมีคนติดเชื้อ วันธรรมดาที่ปกติมีญาติโยมมาทำบุญที่วัดน้อยอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยิ่งไม่มีเลย วันเสาร์อาทิตย์เดิมที่มีคนมาทำบุญที่วัดกันมาก ตอนนี้เหลือเพียงวันละ 2-3 คน”
แม้แต่พระเณรเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ตื่นมาทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว เวลาประมาณหกโมงเช้า ต้องแบ่งสายกันออกไปบิณฑบาต สามเณรส่วนหนึ่งต้องอยู่ปรุงอาหารที่วัด โดยทำเผื่อไปถึงมื้อเพล เดิมทีในวันธรรมดา สามเณรจะต้องไปเรียนที่โรงเรียนบาลีสาธิตฯ ก็จะฉันเช้าที่วัดมื้อเดียว ส่วนมื้อกลางวันจะไปฉันที่โรงเรียน ซึ่งมีงบประมาณมื้อเพลให้ แต่พอโควิดระบาด สามเณรก็ต้องเรียนออนไลน์ที่วัดตลอด ทางวัดจึงต้องจัดเตรียมอาหารไว้วันละสองมื้อ ทั้งเช้าและเพล
สามเณรวัดโป่งน้อยระหว่างปรุงอาหารเช้า
“อาหารเรามีไม่พอ เพราะเดิมทีไม่ได้มีของแห้งอยู่ในวัดมากนัก เพราะเราเป็นวัดเล็กๆ ศรัทธาที่เคยตักบาตรหรือมาทำบุญเป็นประจำหายไปมากกว่าครึ่ง ยิ่งล่าสุดมีแคมป์คนงานติดโควิด หมู่บ้านโดนปิด บางวันเรามีมาม่าเหลือแค่ห่อเดียว ต้องต้มแล้วใส่ผักเยอะๆ แบ่งกันฉันกับข้าว สุดท้ายเราเลยต้องไปแจ้งหมู่บ้านว่า ‘อย่าลืมวัดนะโยม’ ถ้ามีใครมาบริจาคของหรืออาหารที่แคมป์คนงาน ก็อยากรบกวนขอแบ่งให้ทางวัดบ้าง ก็เลยได้ข้าวสารอาหารแห้งมาบ้างนิดหน่อย แต่ส่วนมากจะได้เป็นข้าวกล่องที่คนเอามาส่งให้ที่แคมป์… นี่เรารอดเพราะอานิสงส์จากแคมป์คนงานแท้ๆ”
พระมหามนตรีได้พยายามติดต่อไปทางคนรู้จักทางเฟซบุ๊ก จนได้รับการประสานต่อไปที่กลุ่ม Chiang Mai Food Bank ซึ่งหลังจากแจ้งข่าวไปเพียงวันเดียว วันรุ่งขึ้นก็มีของมาส่งให้ทันที ทำให้ทางวัดมีอาหารสำรองได้อีกกว่าสองสัปดาห์
“มาทำบุญกันได้นะโยม วัดเรามีมาตรการความปลอดภัยอย่างดี ส่วนมากคนตักบาตรจะคิดว่าพระปลอดภัย เพราะอยู่แต่วัด แต่จริงๆ พระก็มีความเสี่ยงนะ เพราะศรัทธาที่มาก็ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหนกันบ้าง เราก็เลยต้องป้องกันตัวเองไว้ด้วย เพื่อญาติโยมจะได้ไม่เดือดร้อน คิวฉีดวัคซีนทางวัดก็ยังไม่ได้ เพราะเป็นวัดเล็กๆ พระในวัดก็ต้องไปลงทะเบียนจองวัคซีนตามโควตาเหมือนกัน”
‘กิจการเพื่อสังคม’ เป้าหมายระยะยาวของ Chiang Mai Food Bank
สำหรับกลุ่มผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Food Bank ทุกคนต่างมีกิจการเป็นของตนเอง แล้วธุรกิจเดิมที่พวกเขาทำอยู่นั้น มีเป้าหมายสอดคล้องกับงานจิตอาสาที่ทำกันอยู่หรือไม่อย่างไร?
ลีเล่าถึงกิจการกาแฟ Akha Ama ว่าเป็นกิจการที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมและมีภารกิจที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม
“คนส่วนมากไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงิน Akha Ama จึงสนับสนุนการปลูกกาแฟในชุมชน รวมทั้งอาชีพเสริม เช่น เลี้ยงผึ้ง ปลูกชา เมื่อชาวบ้านมีรายได้ ก็จะส่งลูกให้เรียนหนังสือได้ ช่วยลดปัญหายาเสพติดในชุมชนได้ ขณะเดียวกัน กาแฟก็ต้องปลูกใต้ร่มไม้ ทำให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คนจะได้เลิกตีตราว่าชาวเขาเป็นผู้ทำลายป่า”
ขณะที่ Sansaicisco ของมะเป้งก็ดำเนินกิจการธุรกิจที่มุ่งมั่นในทิศทางเดียวกัน โดยมะเป้งมองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนแล้วแต่เกิดจากอาหาร ทุกวันนี้ ระบบการผลิตอาหารจึงเน้นให้การสนับสนุนเกษตรอุตสาหกรรม แต่ไม่เอื้อกับคนทั่วไป
“ผมเคยพาเชฟลงพื้นที่เกษตรกรรมชุมชน เชฟก็อยากได้ผลผลิตเหล่านี้ไปใช้ แต่ระบบของโรงแรมก็ไม่เอื้อ อ้างว่าไม่มีระบบการเสนอราคา ใบเรียกเก็บเงินต่างๆ มันเหมือนคนศีลไม่เสมอกัน สุดท้ายเราเลยต้องกลับมาที่ระบบ Small farm ที่จะทำให้เกิด Small Food Processer ที่ลดการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรลง และเน้นการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มากขึ้น เราถึงจะอยู่รอด”
บรรยากาศการส่งมอบอาหารให้ตัวแทนชุมชน
งานจิตอาสา ที่ถูกรัฐมองว่าเป็นพวก ‘Outlaw’
“ตั้งแต่มีการระบาดรอบแรก ร้านอาหารทั้งหมดโดนล็อกดาวน์ ทุกคนต่างช็อก เพราะไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน พวกเราเลยรวมตัวกันทำที่แจกอาหาร แต่กลายเป็นว่าโดนหน่วยงานรัฐมองว่าเป็นพวก Outlaw ทำผิดกฎหมาย จะแจกอาหารต้องเอาไปให้ที่หน่วยงานรัฐก่อน ถึงจะแจกได้ แล้วถ้าเรารอทำให้ถูกกฎหมาย เราจะช่วยคนที่เดือดร้อนได้ทันเวลาได้อย่างไร”
ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนของ Chiangmai Food Bank กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมายทั้งที่กำลังทำและวางแผนจะทำต่อไปในอนาคต แต่ในระยะยาวก็ต้องกลับมาคิดกันว่าจะเดินหน้าไปต่อในรูปแบบไหน อาจต้องตั้งตัวเองให้เป็นองค์กรจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นรูปแบบของกิจการเพื่อสังคมเหมือนงานที่พวกเขาทำ เพื่อให้เข้าไปมีบทบาทในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ชัดเจน โปร่งใส และไม่ถูกมองเป็นหน่วยงานผิดกฎหมาย
“ถ้าหน่วยงานรัฐประกาศตัวเองว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้ Law ตอนนี้เราก็อาจจะเป็นแค่ Response Team แบบ Outlaw แต่เราก็ยังยินดีที่จะทำงานอย่างเต็มที่ต่อไป เพราะเรามองว่า คนทุกคนไม่ว่าเป็นใคร ชาติพันธุ์ไหน ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต้องให้ความช่วยเหลือทุกคน ในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน”
Fact Box
หากต้องการร่วมสมทบทุนอาหาร สามารถติดต่อทางเพจ Chiangmai Trust หรือโทร. 09-8156-1519