นับถอยหลังอีกเพียงไม่นานก็จะได้เวลาเริ่มนับศักราชใหม่ตามปฏิทินจีน ใน ‘เทศกาลตรุษจีน’ หรือ ‘วันขึ้นปีใหม่จีน’ โดยปีนี้ (2566) ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม ซึ่งก่อนที่จะถึงวันไหว้ ประชาชนคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนจะออกมาจับจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สำหรับเตรียมตัวเฉลิมฉลอง สักการะบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ เพื่อขอพรให้เกิดสิริมงคลตลอดทั้งปีตามความเชื่อในวันสำคัญดังกล่าว
นอกจากของไหว้และของประดับตกแต่ง เครื่องแต่งกายอย่าง ‘กี่เพ้า’ และ ‘ฉางซาน’ ถือเป็นอีกสิ่งที่ลูกหลานชาวจีนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากการสวมใส่ชุดดังกล่าวตามธรรมเนียมและความเชื่อของคนจีน ถือเป็นการเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้สวมใส่ และแสดงออกถึงการเชิดชู ให้เกียรติชุดประจำชาติในการเฉลิมฉลองวันปีใหม่จีน
นอกจากนี้ กี่เพ้าและฉางซานยังถูกนำมาสวมใส่เพื่อความสวยงาม ทั้งยังถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ ให้มีความหลากหลาย ผสมผสานกับลวดลายบนผ้าที่มาจากการปักภาพดอกไม้ ลายมังกร นก และภาพอื่นๆ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมจีนหลายแขนงเอาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว กี่เพ้าในปัจจุบันจึงไม่ได้มีไว้สำหรับขายให้ผู้ที่ไหว้เจ้าในเทศกาลสำคัญเท่านั้น แต่ยังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมแฟชั่นของคนทั่วไปและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แม้ว่าที่ผ่านมา ตลาดการซื้อขายกี่เพ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเป็นไปอย่างคึกคัก ทว่าการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นวงกว้าง พ่อค้าแม่ขายกี่เพ้าถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทีมงาน The Momentum ลงพื้นที่สำรวจใน ‘ย่านเยาวราช’ เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงกระแสการจับจ่ายเสื้อผ้าสำหรับเทศกาลสำคัญที่กำลังจะมาถึง
เยาวราชในยามบ่ายแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวและลูกค้า ‘แป๊ม’ ชาวไทยเชื้อสายจีน หนึ่งในกลุ่มลูกค้ากล่าวว่า เธอมาเลือกซื้อกี่เพ้าให้กับลูกหลาน แต่เนื่องจากเด็กเป็นวัยกำลังโต รูปร่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จึงทำให้ต้องกลับมาซื้อขนาดใหม่ให้ทุกปี โดยเธอมองว่าบรรยากาศในเยาวราชดูคึกคักกว่าปีที่แล้ว ผู้คนออกมาเที่ยวมากขึ้น เธอจึงหวังว่าตรุษจีนในปีนี้จะไม่จะเงียบเหงาเหมือนอย่างที่ผ่านมา
ขณะที่ ชาญชัย ตันติสว่างวงศ์ หรือ ‘เฮียชัย’ เจ้าของร้านกี่เพ้าริมถนนเยาวราช กลับมองว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้จะค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยอดขายและจำนวนลูกค้ากลับเงียบเหงาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
“ปีที่แล้วขายดีกว่า ส่วนปีนี้ขายไม่ดีเลย คนซื้อหายไปประมาณ 30-40% ถึงแม้จะเปิดประเทศและมีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น แต่ก็ช่วยไม่มาก เพราะคนไม่ค่อยออกมาใช้เงิน ที่ผ่านมาคนจะล้นถนนตลอด ขายดีตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตรุษจีนด้วยซ้ำ แต่ปีนี้อาทิตย์สุดท้ายแล้วคนยังน้อยอยู่เลย”
ชาญชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจของตนว่า กี่เพ้าและฉางซานของที่ร้านรับมาจากโรงงานที่ผลิตในประเทศจีน เนื่องจากการปักลายของจีนมีความละเอียด พิถีพิถัน และออกแบบลวดลายใหม่ในทุกปี ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้ชุดที่รับมาขายมีลวดลายที่สวยงาม หลากหลาย และราคาถูก
ลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายที่ร้านมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ บ้างซื้อฝากลูกหลาน บ้างซื้อสวมใส่เอง กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยมากที่มาซื้อจะเป็นคนจีน ส่วนนักท่องเที่ยวโซนอื่นๆ แวะเวียนเข้ามาประปราย และเนื่องจากปัจจุบันกี่เพ้าที่ร้านมีมากถึง 30 ลาย การลงทุนจึงสูงตาม โดย 1 ลาย จะต้องสั่งหลากหลายขนาดมาสต็อกเตรียมไว้ แต่ใช่ว่าจะขายออกทั้งหมด ประกอบกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงามาจนถึงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันไหว้ในปีนี้ ทำให้พ่อค้ากี่เพ้าต้องก้มหน้ารับชะตากรรม โดยไม่กล้าแม้กระทั่งหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐ
“เราอยากทำมาค้าขายแบบสบายใจ ไม่อยากมีปัญหาอะไร แต่เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ทำให้ไม่กล้าคาดหวังอะไรกับภาครัฐอยู่แล้ว”
Tags: ตรุษจีน, โควิด-19, กี่เพ้า, Feature, เยาวราช